/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com
 

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

อานิสงส์ของการสร้างอุโบสถ

 อานิสงส์ของการสร้างอุโบสถ

 อานิสงส์ของการสร้างอุโบสถ






---สมัยนี้ การสร้างวัด ต้องอาศัยกำลังทรัพย์และกำลังคนมหาศาล เพราะต้องสร้างวัดให้เพียบพร้อมด้วยสถานที่ร่มรื่น มีอาคารโรงเรือนมากมาย โดยเฉพาะมีโรงอุโบสถ หรือโบสถ์ สถานที่ที่จะต้องใช้ เพื่อการทำสังฆกรรมสำคัญๆหลายอย่าง อาทิ การให้การอุปสมบทแก่กุลบุตร การสวดทำอัพภานกรรม การสวดญัตติทุติยกรรมวาจา การสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา ฯลฯ ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา


 
---เนื่องจากโบสถ์ ที่สร้างขึ้นทุกวันนี้ คณะสงฆ์สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่างคือ เป็นอาคารอเนกประสงค์ รวมทั้งใช้เป็นที่ประชุมที่แสดงธรรม ที่ฝึกอบรมสมาธิภาวนา ที่สวดมนต์ ทำวัตรเช้าค่ำ และที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับต้อนรับพระอาคันตุกะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่สร้างโบสถ์ถวายพระสงฆ์ จึงได้บุญกุศลมากมาย ทั้งชาตินี้และชาติหน้า กล่าวคือ



---ชาตินี้ ผู้มีศีลเป็นพื้นฐาน ที่ถวายโรงอุโบสถ ย่อมได้ความปลื้มปีติสุขอย่างสูง เมื่อได้ทราบว่า พระสงฆ์ได้ใช้โรงอุโบสถที่ตนสร้างถวายอย่างคุ้มค่า เกียรติคุณของผู้ถวายย่อมฟุ้งขจรไกล ผู้ถวายย่อมได้ สดับพระธรรมเทศนา เพิ่มพูน ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบสุขได้มากขึ้น แม้จะสิ้นชีพก็ไม่หลงทำกาลกิริยา(ตาย) ย่อมมีอารมณ์ยึดมั่นในกุศล เป็นอาสันนกรรมที่ดี



---ชาติหน้า ถ้าผู้ถวายโรงอุโบสถ ยังมีกิเลสอยู่ถึงแก่กรรมลง เขาย่อมได้ไปเกิดในกำเนิดที่ดี มีความสะดวกสบายที่เรียกว่า สุคติโลกสวรรค์ อันเพียบพร้อมด้วยสิ่งที่ประเสริฐ ที่พึงพอใจ อันเป็นฝ่ายโลกิยสมบัติและจะได้บรรลุคุณธรรมต่างๆ อาทิ ฌาน อภิญญา อริยมรรค อริยผล และกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุด



*การผูกพันธสีมา และฝังลูกนิมิต



---เมื่อมีตัวอาคาร หรือโรงอุโบสถ อันมีขนาดใหญ่พอสมควร มีเสนาสนะอื่นๆ ที่พระสงฆ์ใช้พักอาศัย อำนวยความสะดวกและใช้ประกอบศาสนกิจ ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของสงฆ์ และได้รับอนุญาตจากทางราชการบ้านเมืองแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายพระสงฆ์ ที่จะต้องมีพิธีผูกพัทธสีมา อันรวมถึงการเตรียมลูกนิมิตไว้พร้อมสรรพ ซึ่งชาวบ้านมัก เรียกว่า "งานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต" ทั้งนี้ จำเป็นต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามพระวินัยพุทธบัญญัติก่อน พระสงฆ์จึงกระทำสังฆกรรมที่กำหนดไว้ในพระวินัยได้



*บุญสร้างโบสถ์ หาทำยาก บุญหนักศักดิ์ใหญ่ ที่วัดนี้ไม่เคยมีโบสถ์มาก่อนเลย   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบท้าวสักกเทวราชและเทวดาทั้งหลายที่มาทูลถามว่า


---" การให้อะไร          ชนะการให้ทั้งปวง


---รสแห่งอะไร          ชนะรสทั้งปวง


---ความยินดีในอะไร          ชนะความยินดีทั้งปวง


---ความสิ้นไปแห่งอะไร          ชนะทุกข์ทั้งปวง"

       

*พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบว่า........

    
---สพฺพทานํ          ธมฺมทานํ          ชินาติ


---สพฺพรสํ          ธมฺมรโส          ชินาติ


---สพฺพรตึ          ธมฺมรติ          ชินาติ


---ตณฺหกฺขโย          สพฺพทุกฺขํ          ชินาติ   

    
                               
---การให้ธรรมทาน          ชนะการให้ทั้งปวง


---รสแห่งธรรม          ชนะรสทั้งปวง


---ความยินดีในธรรม          ชนะความยินดีทั้งปวง


---ความสิ้นไปแห่งตัณหา          ชนะทุกข์ทั้งปวง


---ผู้ใดให้ธรรมเป็นทาน          ผู้นั้นชื่อว่าให้พระนิพพานแก่คน....


*อานิสงส์การถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน


---“ถวายทานกับพระอรหันต์ 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับ ถวายทานกับพระพุทธเจ้า 1 ครั้ง


---ถวายทานกับพระพุทธเจ้า 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน 1 ครั้ง


---และถ้าถวายสังฆทาน 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายวิหารทาน 1 ครั้ง คือ สร้างวิหาร มีการก่อสร้าง เช่น สร้างสุขา ศาลาการเปรียญ กุฏิ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น"


---การถวายสังฆทาน 1 ครั้งในชีวิต และถวายด้วยจิตที่บริสุทธิ์ มีศรัทธาแท้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผลของสังฆทานนี้ จะดลบันดาลให้แก่บุคคลผู้ถวาย เกิดไปทุกชาติ ขึ้นชื่อว่า ความยากจนเข็ญใจ ไม่มี ในแดนใดที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากขัดสน คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะไม่เกิดในที่นั้น ผลที่ให้ไปไกลมาก


---ท่านกล่าวว่า แม้แต่พระพุทธญาณเอง ก็ยังไม่เห็นผลที่สุดของการถวาย สังฆทาน คำว่า”ไม่เห็นที่สุดของการถวายสังฆทาน“ หมายความว่า แม้แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของสังฆทาน บำเพ็ญบารมีแล้ว แล้วเกิดไปอีกกี่แสนชาติก็ตาม จนกระทั่งเข้าพระนิพพาน อานิสงส์นั้นก็ยังไม่หมด นี่เป็นอำนาจของการถวายสังฆทาน“


---การทำบุญ ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญมาก ต้องทำบุญถูกที่ ถูกเวลา ตรงกับความต้องการ และสิ่งที่ทำบุญ จะต้องเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนมาก วัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นศูนย์รวมจิตใจ ในการทำความดี การทำบุญเพื่อสร้างวัด จึงได้อานิสงส์เป็นอย่างมาก เพราะเงินที่ทำบุญ มีส่วนให้วัดสำเร็จได้ ถ้าไม่มีเราวัดคงจะสำเร็จไม่ได้ และที่สำคัญเป็นการสืบทอดพุทธศาสนาให้คงอยู่ ไปอีกนานเท่านาน 


*ผลแห่งการทาน จะสมบูรณ์ได้อย่างไร


---ผลแห่งการบำเพ็ญทาน จะมีอานิสงส์ไพศาลนั้น จำต้องเกิดจากศรัทธาอันบริสุทธิ์ ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย สภาพจิตใจของผู้ให้ทานจะต้องมีความสดใส ปีติยินดี ไม่กังวล ไม่เสียดาย แม้ก่อนและหลังขณะให้ทาน จิตใจของผู้นั้นยังมั่นคงยินดีสดใสอยู่ทุกเมื่อ ไม่หวั่นไหวแปรปรวน

 

*วิถีแห่งการบำเพ็ญทาน ควรทำดังนี้


---1.บุคคลใดที่ให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคทรัพย์ แต่จะไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิด


---2.บุคคลที่ไม่ได้ให้ทานด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ


---3.บุคคลใดที่ไม่ได้ให้ทานด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ และไม่ได้บริวารสมบัติ เป็นบุคคลเที่ยวกินเดน


---4.บุคคลที่ได้ให้ทานด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นด้วย ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติสมบูรณ์ บริบูรณ์

 

*ทานที่เห็นผลในปัจจุบัน



---สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ ผมฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี   ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า



*สีหเสนาบดี 


---“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันหรือหนอ ”



*พระผู้มีพระภาค 


---“สามารถ  ท่านสีหเสนาบดี” แล้วจึงตรัสต่อไปว่า “ท่านสีหเสนาบดี  ทายกผู้เป็นทานบดี (เจ้าของทาน) ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง    อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบ (คนดี) ย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง   อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีหรือสมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขิน เข้าไป แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง     อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ”



*สีหเสนาบดี  


---ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือ ข้าพระองค์ ก็เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของชนเป็นอันมาก สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาข้าพระองค์ ผู้เป็นทายกเป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมขจรทั่วไปว่า สีหเสนาบดี เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใด คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี หรือสมณะ ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป


---ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่พึงเห็นเอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ย่อมทราบดี ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง (ข้อที่ ๕) ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้”



*พระผู้มีพระภาค  


---“อย่างนั้นท่านสีหะเสนาบดีๆ  คือ ทายกผู้เป็นทานบดีเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์” นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชนเป็นอันมากย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้น ย่อมได้เกียรติ มียศ เจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเข้าสู่ที่ประชุมชน



---เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือ ความตระหนี่แล้ว ให้ทาน บัณฑิตเหล่านี้ ย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน บัณฑิตเหล่านั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้ว จุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปในอุทยานชื่อ นันทวัน ย่อมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เพลิดเพลิน รื่นเริง บันเทิงใจอยู่ในนันทวัน   สาวกทั้งปวงของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ ฯ

 

*อานิสงส์สร้างศาลา 


---นันทิยะได้ถวายศาลาแก่พระบรมศาสดา ความว่า นันทิยะ เป็นมหาทานบดี สร้างวิหารที่ป่าอิสิปตนะ พร้อมด้วยเครื่องเสนาสนะ แล้วทำมหกรรมการฉลองอย่างมโหฬาร ถวายแก่ พระภิกษุสงฆ์ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้หลั่งน้ำทักขิโณทก ตกลงเหนือฝ่าพระหัตถ์พระบรมศาสดาในขณะนั้น ปราสาทอันเป็นทิพย์สำเร็จแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ใหญ่ ๑๒ โยชน์ สูง ๑๗ โยชน์ เพียบพร้อมไปด้วยนางเทพธิดา ก็อุบัติขึ้นในเทวโลก รอคอยนันทิยะ อยู่ “กาลํ กตฺวา” ครั้น นันทิยะสิ้นชีพ ทำลายขันธ์แล้ว ก็ได้ไปเสวยสมบัติในเทวโลก อันรอคอยอยู่นั้น มีนามปรากฏว่า นันทิยะเทพบุตร บริโภคทิพย์สมบัติ อันมีนางฟ้าเป็นบาทบริจาริกา แวดล้อมบำเรออยู่ทุกทิพราตรีกาล สุขเกษมสำราญอยู่ในทิพย์วิมานนั้น อย่างไม่มีเวลาสร่างซา

 

*อานิสงส์สร้างกุฎี


---ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม พระองค์เที่ยวโปรดเวไนยสัตว์ ให้ได้มรรค ๔ ผล ๔ ในครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ได้ครองราชสมบัติ ที่กรุงราชคฤห์ ก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แล้วก่อสร้างกุฎีวิหาร ในพระราชอุทยานเวฬุวัน สวนป่าไม้ไผ่ ให้เป็นวัดแรก ในพุทธศาสนา ถวายแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พร้อมกับถวายภัตตาหาร เป็นสังฆทาน


---สมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมกับภิกษุสงฆ์เสร็จภัตตากิจแล้ว พระเจ้าพิมพิสาร ทูลถามว่า ภนฺเต  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาธุชนทั้งหลาย มีใจศรัทธาปสันนาการ เลื่อมใสมาก่อสร้างกุฎี วิหารถวายเป็นสังฆทานนั้น จะได้ผลานิสงส์เป็นประการใด ขอให้พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ให้ข้าพุทธเจ้าพร้อมบริษัททั้งหลาย ให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ว่า "ดูกรมหาบพิตร พระราชสมภาร บุคคลผู้ใดมีจิตศรัทธาเลื่อมใสพระรัตนตรัย แล้วก่อสร้างกุฎี วิหาร ศาลา คูหาน้อยใหญ่ ถวายเป็นทาน จะประกอบด้วยผลอานิสงส์มาก เป็นอเนกประการนับได้ถึง ๔๐ กัลป์"



---พระองค์ ทรงนำอดีตนิทาน มาเทศนาต่อไปว่า 


---ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว พระพุทธเจ้า ยังมิได้อุบัติบังเกิดในโลกยังศูนย์เหล่าอยู่สิ้นกาลช้านาน ในระหว่างนั้น พระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งหลาย ก็ได้บังเกิดตรัสรู้ในโลกนี้ เมื่อพระปัจเจกโพธิเจ้า ก็อาศัยในป่าหิมพานต์ อยู่มาวันหนึ่ง มีความปรารถนา เพื่อจะมาใกล้หมู่บ้าน อันเป็นว่านแคว้นกาสิกราชมา อาศัยอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง แถบใกล้บ้านนั้น มีนายช้างคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านนั้น ก็ไปป่ากับลูกชายของตน เพื่อจะตัดไม้มาขายกินเลี้ยงชีพตามเคย ก็แลเห็นพระปัจเจกโพธิเจ้า นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ พ่อลูกสองคนก็เข้าไปใกล้น้อมกายถวายนมัสการ แล้วทูลถามว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จะไปไหน จึงมาอยู่ในสถานที่นี้" พระปัจเจกโพธิจึงตอบว่า "ดูกรอาวุโส บัดนี้จวนจะเข้าพรรษาแล้ว อาตมาเที่ยวแสวงหากุฏีวิหาร ที่จะจำพรรษา" นายช่าง ก็อาราธนาให้อยู่จำพรรษาในที่นี้ พระปัจเจกโพธิ ทรงรับด้วยการดุษณียภาพ สองคนพ่อลูกก็ดีใจ จึงขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าเข้าไปสู่เรือน ถวายบิณฑบาตทาน แก่พระปัจเจกโพธิ สองคนพ่อลูกก็เที่ยวตัดไม้แก่นมาทำสร้างกุฎี วิหาร ที่ริมสระโบกขรณีใหญ่ และทำที่จงกรม เสร็จแล้วขออาราธนา พระผู้เป็นเจ้าจงอยู่ให้เป็นสุขเถิดพระเจ้าข้า



---ครั้น พระปัจเจกโพธิได้รับนิมนต์แล้ว สองคนพ่อลูก ตั้งปฏิธานความปรารถนา "ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ยากไร้เข็ญใจ และขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้ประเสริฐองค์หนึ่ง เถิด" พระปัจเจกโพธิก็รับอนุโมทนาซึ่งบุญ นายช่างสองคนพ่อลูก อยู่จนสิ้นอายุขัยแล้วก็ทำกาลกริริยาตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองเป็นที่รองรับ และเทพอัปสร แวดล้อมเป็นบริวาร เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในสวรรค์สิ้นกาลช้านาน จุติจากสวรรค์นั้นแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นราชบุตร ของพระเจ้าสุโรธิบรมกษัตริย์ ในเมืองมิถิลามหานคร ทรงพระนามว่า "มหาปนาทกุมาร" ๆ เจริญวัยขึ้น ได้เสวยราชสมบัติ เป็นพระยาจักรพรรดิราช


---ด้วยอานิสงส์ที่ได้สร้างกุฎีวิหาร ถวายเป็นทานแก่พระปัจเจกโพธิ ครั้นตายจาก ชาติเป็นพระยามหาปนาทแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ แล้วก็มาเกิดเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฎิอยู่ในภัททิยนคร ชื่อว่า "ภัททชิ" ก็ได้ปราสาท ๓ หลัง อยู่ ใน ๓ ฤดู ครั้นเจริญวัย ได้บวชในศาสนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในศาสนาของตถาคตดังนี้แล


---ส่วนเทพบุตรองค์พ่อนั้น ยังเสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในสวรรค์ช้านานจนถึงศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ ลงมาตรัส สัพพัญญู เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษย์โลก ได้จุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ พระอัครมเหสีสมเด็จพระเจ้ากรุงเกตุมวดี ทรงพระนามว่า "สังขกุมาร" ครั้นเจริญวัยแล้วก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมกษัตริย์" มีทวีปน้อยใหญ่เป็นบริวาร พระองค์จึงได้สละราชสมบัติบ้านเมือง ออกไปบรรพชา ในสำนักพระศรีอริยเมตไตรย์ กับทั้งบริวาร ๑ โกฎิ ก็ได้ถึงอรหันต์ ได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ทรงพระนาม "อโสกเถระ" ก็ด้วยอานิสงส์ได้สร้างกุฎีให้เป็นทานนั้นแล อันเป็นบุญให้ถึงความสุข ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ

 

*อานิสงส์สร้างเวจกุฏี (ห้องน้ำ)



---ใจความว่า พระศาสดาได้เสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร แห่งกรุงสาวัตถี มีมาณพคนหนึ่ง เป็นช่างทอง ทำการขายทองรูปพรรณ อยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น จนมั่งมีโภคทรัพย์สมบัติมาก อยู่มาวันหนึ่งมาณพนั้น มาคิดว่า เราค้าขายทอง ก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ทรัพย์ที่หามาได้โดยยาก ก็ไม่อยากจะให้สูญหายไปโดยเร็ว ตริตรองหาวิธี ที่จะเก็บทรัพย์ให้ได้อยู่นาน ก็ไม่พบวิธีที่จะป้องกันความเสื่อมเสียของทรัพย์ได้ เพราะว่าทรัพย์เป็นของกลางเป็นเครื่องอาศัยของคนทุกคน สุดแล้วแต่ใครจะขยันหมั่นเพียรหามาได้เท่านั้น ถึงแม้จะหามาได้มากก็ดี ถ้าขาดปัญญาเป็นเครื่องรักษาทรัพย์แล้ว ทรัพย์นั้นก็ไม่คงทนอยู่ได้ แม้จะอยู่ได้ตลอดไป ตนเองก็มีชีวิตยืนนานที่จะบริโภค ต่อไปไม่ได้ เพราะความตาย ย่อมมาพรากตนให้หนีไปเสียจากทรัพย์ เมื่อสิ้นชีพแล้วทรัพย์เหล่านั้น ก็ไม่ติดตามตนไป ปล่อยไว้ให้คนอื่นเขาใช้สอยอย่างสบาย เห็นมีอยู่แต่อย่างเดียวเท่านั้น ที่จะติดตามตัวไป ในอนาคต คือ ฝังทรัพย์ไว้ในพุทธศาสนา เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว ก็คิดดูว่าจะทำอะไร สิ่งอื่น ๆ ก็มีผู้ทำไว้หมดแล้ว ก็เห็นแต่ "เวจกุฎี"เท่านั้น ที่ยังไม่มีใครทำเลย



---เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว จึงได้สร้างขึ้นเมื่อสำเร็จแล้ว ยังได้สร้างโรงไฟ แลที่สำหรับอาบน้ำอีกด้วย เมื่อเสร็จสรรพดีแล้ว ก็ทำการฉลองอย่างมโหฬารและมอบถวายแก่ ภิกษุสงฆ์ มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประธาน แล้วตั้งปฏิธานความปรารถนาว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้ายังไม่ถึงพระนิพพานตราบใด ขึ้นชื่อว่า ความทุกข์อันเกิดแต่โรคต่าง ๆ อย่าได้มาแผ้วพานต่อข้าพเจ้าเลย อิมินาทาเนน ด้วยอำนาจผลทานนี้


---พระสารีบุตรก็อนุโมทนาว่า ขอให้ความปรารถนา จงเป็นผลสำเร็จเถิดมาณพนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในผลทาน ให้สมาทานศีล ครั้นทำกาลกิริยาตายไปแล้ว ไปเกิดบนสวรรค์เทวโลก มีสมบัติวิมานทอง มีเทพอัปสรเป็นยศบริวาร


---อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนา ถึงมาณพผู้นั้นอยู่ พระศาสดาเสด็จมาถึงในที่นั้น แล้วตรัสถามว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร" ภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบ



---พระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรชนทั้งหลายเกิดมา ได้พบพระพุทธเจ้าและในขณะที่พุทธศาสนายังประดิษฐานอยู่ จะเป็นผู้เศร้าโศกในอบายภูมิ เป็นจำนวนมาก มาณพที่เป็นช่างทองนี้ ได้พบทั้งสองประการแล้วไม่เป็นผู้ประมาท ได้สร้างเวจกุฎีถวายบูชาพระรัตนตรัย ด้วยศรัทธาเลื่อมใส ได้เสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์ และเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระนิพพาน


---แม้ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "ตัณหังกร" เราตถาคตก็เคยสร้างเวจกุฎี และที่สำหรับอาบน้ำ แก่พระภิกษุสามเณรได้ตั้งสัตยธิษฐานว่า "ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล ด้วยผลแห่งอานิสงส์ ที่ข้าพระองค์ได้สร้างเวจกุฎีให้เป็นสาธารณะทานนี้"


---ตถาคต ครั้นทำลายขันธ์แล้ว ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ เสวยทิพย์สมบัติอยู่ชั้นดุสิต ครั้นจุติจากชาตินั้นแล้ว ได้ท่องเที่ยวอยู่สังสารวัฎฎ์ จนบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว จึงตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตถาคตนี้เอง ก็สมดังคำปรารถนาในกาลครั้งโน้นทุกประการ เมื่อตรัสพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ชนทั้งหลายเป็นอันมาก ได้ดวงตาเห็นธรรม ต่างก็รื่นเริงบันเทิงใจ ในเวจกุฎี เป็นยิ่งนัก.





........................................................................




ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

ที่มา...หนังสือพระไตรปิฏก

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว ป.)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 22 กันยายน 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท09/04/2024
ผู้เข้าชม6,620,049
เปิดเพจ10,366,958
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view