/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

อุปกิเลส ๑๖ อย่าง

อุปกิเลส ๑๖ อย่าง

อุปกิเลส 16







---การพิจารณาจิต คือ ตามรู้จิตตลอดกาล ตลอดเวลา ทั้งเมื่ออยู่ในอิริยาบถตามปกติและเมื่อตั้งใจปฏิบัติ เมื่อเราตั้งใจพิจารณา ตามดูจิตแล้ว เราจะมองเห็นอาการของจิตต่าง ๆ ทำให้เข้าใจจริต นิสัยของตัวเองมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง ก็จะเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง คือ เมื่อรู้สึกตัวแล้ว ก็จะไม่หลงไปตามอามรณ์ จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่กิเลสเป็นอาคันตุกะ ที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกัน แล้วก่อตัวขึ้นมา เป็นอุปนิสัยต่าง ๆ มี 16 ลักษณะ เรียกว่า "อุปกิเลส 16"  ได้แก่


---๑.อภิชฌมวิสมโลภะ คือ ความละโมภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น อย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว


---๒.พยาบาท คือ ความคิดร้าย มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มี ซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ


---๓.โกธะ คือ ความโกรธ มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้ว ก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือ ไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ


---๔.อุปนาหะ คือ การผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธ แล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกัน คิดทวนเรื่องในอดีต ว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ


---๕.มักขะ คือ การลบหลู่คุณท่าน ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณ กลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น


---๖.ปลาสะ คือ การตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้


---๗.อิสสา คือ ความริษยา เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริง เราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี


---๘.มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ขี้เหนียว เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร


---๙.มายา คือ เจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้ว เรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ขอคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น


---๑๐.สาเถยยะ คือ การโอ้อวด หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข


---๑๑.ถัมภะ คือ ความดื้อ ความกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง


---๑๒.สารัมภะ คือ การแข่งดี มุ่งแต่จะเอาชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่น เมื่อพูดเถียงกัน ก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้


---๑๓.มานะ คือ ความถือตัว ทะนงตน


---๑๔.อติมานะ คือ การดูหมิ่นท่าน ความถือตัว ว่าเราดียิ่งกว่าเขา ทำให้ดูถูก ดูหมิ่นคนอื่น


---๑๕.มทะ คือ ความัวเมา หลงว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ยังไม่ตาย หลงในอำนาจ หลงในตำแหน่ง คิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปแล้วทำอะไรเกินเหตุ


---๑๖.ปมาทะ คือ ความประมาท เลินเล่อ ไม่คิดให้รอบคอบ อาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา.


*วิปัสสนูปกิเลส คือ อะไร


---วิปัสสนูปกิเลส หรืออุปกิเลส ๑๐ แห่งวิปัสสนา หมายถึง สิ่งที่ทําให้ใจขุ่นมัวหรือหลง จึงทําให้รับธรรมไม่ได้ หรือเป็นไปได้อย่างยากลำบากยากยิ่ง  เป็นสิ่งเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติสมถวิปัสสนานั่นเอง กล่าวโดยย่อก็คือ กิเลสที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติธรรมนั่นเอง จึงหมายรวมถึง สมาธิและฌาน อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมด้วย   เป็นกิเลสชนิดที่ทําให้ติดได้อย่างเหนียวแน่นและยาวนานและให้โทษรุนแรงได้  ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงญาณหรือความเข้าใจยังไม่พร้อมบริบูรณ์  จึงไปติดอยู่ในผลของสมาธิหรือฌานอย่างผิดๆ คือ ติดเพลิน หรือมิจฉาญาณ ด้วยความเข้าใจยังไม่ถูกต้องหรืออวิชชาเป็นเหตุนั่นเอง และถ้าไม่รู้ระลึกเลย โดยไม่แก้ไขแล้ว ก็จักติดอยู่ที่นี่ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปถึงปัญญาชอบ (สัมมาญาณ) อย่างแท้จริงได้เลย  และเมื่อไม่แก้ไข ย่อมส่งผลร้ายตามมา คือ ก่อให้เกิดผลร้ายทั้งทางจิต เช่น หดหู่  วิกลจริต วิปลาส และทางกาย เช่น เจ็บปวด, เจ็บป่วยต่างๆ ตามมา ได้อย่างคาดคิดไม่ถึง (อ่านรายละเอียดของอาการต่างๆ ได้ใน "ติดสุข")  และเมื่อเกิดผลร้ายขึ้น ก็ยังไม่รู้ตัวอีกเสียด้วยว่า เป็นเพราะปฏิบัติผิดด้วยอวิชชา



---แต่พึงระลึกว่าเกิดแต่การปฏิบัติผิด อย่างไม่ถูกต้อง,ไม่แก้ไขนั่นเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติพระกรรมฐานโดยตรง  จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปโทษหรือไปกลัวในการปฏิบัติธรรมหรือพระกรรมฐานแต่อย่างใด  แต่เป็นเพราะอวิชชาจึงไปติดเพลิน, เพลิดเพลินเสียแต่ในผล คือ ความสุข,สงบ,สบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากฌาน, สมาธิ  จึงยังให้เกิดวิปัสนูปกิเลสเหล่านี้ขึ้นนั่นเอง กล่าวคือ ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "ติดสุข"  ติดนิมิตหรือติดโอภาส  ติดปีติ  ติดสงบ  ติดสบาย  ติดผู้รู้  ติดแช่นิ่ง อยู่ภายในหรือจิตส่งในโดยไม่รู้ตัว ฯ. ขึ้นนั่นเอง


---ถ้ากล่าวกันอย่างเน้นชัดแล้ว ก็กล่าวได้ว่า วิปัสสนูปกิเลส มักเกิดจากการปฏิบัติพระกรรมฐานหรือก็คือ การปฏิบัติสมถวิปัสสนานั่นเอง  แต่ไปหลงเน้นปฏิบัติแต่ฝ่ายสมถะหรือสมาธิจนเสียการ โดยขาดการวิปัสสนาเท่าที่ควรเสียนั่นเอง  จึงเกิดการไปติดเพลินในผลของสมถะที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งด้วยความไม่รู้ด้วยอวิชชานั่นเอง   และเพราะเมื่อขาดการวิปัสสนาย่อมขาดนิพพิทาอีกด้วย  จึงขาดการปล่อยวาง จึงมีแต่ความฮึกเหิม ราวกับว่าจิตแกร่งจนกำเริบเป็นอวดเก่ง ฯ.  


---ดังนั้น นักปฏิบัติที่นั่งแต่สมาธิประจำหรือเสมอๆ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าได้ถึง ความสุข, สงบ, สบายได้บ้างแล้ว แต่ขาดการวิปัสสนาพิจารณาในธรรมหรือโยนิโสมนสิการอย่างจริงจัง ก็เป็นกันทุกราย มากน้อยต่างกันไปเท่านั้นเอง และเป็นไปโดยไม่รู้ตัวเสียด้วย  ต้องพิจารณาสำรวจตัวเองโดยแยบคายจริงๆ  ถ้าไม่แยบคายแล้วถึงพิจารณาอย่างไร ก็ไม่เกิดปัญญาเข้าใจขึ้นได้   จนถึงขั้นเสียผู้เสียคน  เป็นไปดังที่หลวงปู่เทส เทสก์รังสี และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวไว้


---"อุปกิเลส ๑๐ นี้ มิใช่จะเป็นโทษแก่วิปัสสนาเท่านั้น  ยังสามารถทำให้เกิดวิปลาสต่างๆ จนต้องเสียผู้เสียคนไปก็ได้ เรื่องทั้งนี้เคยมีมาแล้วในอดีต  หากอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจ มุ่งส่งเสริมศิษย์ให้ยึดเอาเป็นของจริงแล้ว ก็จะทำให้ศิษย์เสียจนแก้ไม่ตก........"  (จาก โมกขุบายวิธี   โดย หลวงปู่เทส เทสก์รังสี)



---"อาจารย์ผู้สอนก็ดี  ลูกศิษย์ผู้เจริญภาวนาก็ดี  เมื่อเข้าใจวิถีจิตที่เข้าเป็นฌานแล้ว  จงระวังอุปกิเลส ๑๐ จะเกิดขึ้น  ถ้าจิตเข้าถึงฌานแล้ว อุปกิเลสไม่ทั้งหมด ก็อย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเกิดขึ้น........."  (จาก โมกขุบายวิธี   โดย หลวงปู่เทส เทสก์รังสี)


---"เจ้าวิปัสสนูปกิเลสนี้ มีอิทธิและอํานาจ จะทําให้เกิดความน้อมใจเชื่อ (webmaster-น้อมใจเชื่อชนิด อธิโมกข์) อย่างรุนแรงโดยไม่รู้เท่าทันว่า เป็นการสําคัญผิด  ซึ่งเป็นการสําคัญผิดอย่างสนิทสนมแนบเนียน  และเกิดความภูมิใจในตนเองอยู่เงียบๆ บางคนถึงสําคัญตน ว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วยซํ้า  บางรายสําคัญผิดอย่างมีจิตกําเริบยโสโอหัง  หรือถึงขนาดที่เรียกกันว่า เป็นบ้าวิกลจริตก็มี"  (จาก อตุโล ไม่มีใดเทียม   หน้า๑๑๙ )

       

---วิปัสสนูปกิเลส หรือ อุปกิเลส ๑๐ นี้  ดูจากหัวข้อทั้ง ๑๐ แล้ว ดูอย่างไม่พิจารณา  ดูแต่เพียงจากสภาพของชื่อ เมื่อดูแล้วรู้สึกราวกับว่าน่าชื่นชมน่ายินดี  ชื่อไปเหมือนข้อธรรมสําคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา   แต่กลับหมายถึง การปฏิบัติแบบผิดๆ ที่เป็นโทษ  ความหมายตรงข้ามกับข้อธรรมนั้นๆ  เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งการปฏิบัติสมถวิปัสสนา  ซึ่งเกิดแก่ผู้ได้สมถวิปัสสนาอ่อนๆ แล้วเกิดความหลงผิด, เข้าใจผิดคิดว่า ตนประสพความสําเร็จ หรือบรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว  อันมักเกิดขึ้นจากผลของการปฏิบัติสมถสมาธิหรือฌานอย่างผิดๆ เป็นเหตุ ปัจจัย คือ เน้นปฏิบัติแต่สมาธิหรือฌาน แต่ขาดการวิปัสสนาให้เกิดปัญญา  จึงพาให้เกิดการทะนงตน (มานะ) และหลงผิด หลงยึดด้วยทิฏฐุปาทานหรือสีลัพพตุปาทานโดยไม่รู้ตัว  และบังเกิดผลร้ายบางประการ ทั้งต่อกายและจิตตน ตลอดจนบุคคลรอบข้างอย่างรุนแรง  และทำให้ไม่สามารถดําเนินก้าวหน้าต่อไปใน "วิปัสสนาญาณ" อันถูกต้องดีงามได้


*อุปกิเลส๑๐แห่งวิปัสสนา อันมี ๑๐  มีดั่งนี้


---๑.โอภาส - แสงหรือภาพ  เห็นแสงสว่างสุกใสหรือนิมิต  เห็นแสงต่างๆ ภาพต่างๆ เห็นแสงสว่างรอบๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น พระพุทธรูปที่เป็นกสิณ หรือเห็นเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว หรือแสงออกจากร่างกายตน,  รูปนิมิตต่างๆ  แล้วไปน้อมเชื่อ ด้วยอธิโมกข์อย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่าเป็นจริงอย่างนั้นจริงแท้แน่นอน  สิ่งเหล่านี้ ความจริงแล้วต้องเกิดขึ้นอันเป็นปกติตามธรรมชาติของจิตเมื่อเป็นฌานสมาธิ จึงเกิดภวังค์ขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะในระยะแรกๆ   แต่เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดไปน้อมเชื่อในความตื่นตา ตื่นใจ จึงน้อมคิดปรุงแต่งไปต่างๆ นาๆ ว่าเป็น บุญ  อิทธิปาฏิหาริย์  อันตื่นตา ตื่นใจ ไม่เคยประสบมาก่อน  เลยไปยึดมั่นหมายมั่น พึงพอใจ หรือน้อมเชื่ออย่างรุนแรง ด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริงในโอภาสหรือนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ด้วยอวิชชาจึงทําให้ติดเพลิน (นันทิ-อันคือตัณหา) อยู่ในวังวนของความตื่นตาตื่นใจ  เมื่อเกิดนันทิ อันคือตัณหา ย่อมเกิดอุปาทาน  ภพ (รูปภพ) ชาติ  คือ การเกิดขึ้นของกองทุกข์ตามมาโดยไม่รู้ตัว และเกิดความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ นาๆ ไปทางฤทธิ์ ทางเดช ทางบุญ ทางกุศลโดยไม่รู้ตัว  ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า "ติดนิมิต" กล่าวคือ เกิดการไปน้อมดู, น้อมทำ, น้อมเชื่อในนิมิต คือ ในภาพเหล่านั้นอย่างงมงายเป็นที่สุด


---๒.ปีติ - ความอิ่มใจ  ความอิ่มเอิบ ซาบซ่าน อันเกิดขึ้นทั้งต่อกายและใจ อันได้จากการปฏิบัติสมถะหรือสมาธิ  ปีติมีอยู่ ๕ แบบ ซึ่งก่อให้เกิดความอัศจรรย์ ความสุข ความสบาย ความพิศวง พึงพอใจ หรือลุ่มหลง แปลกใจ ทําให้หลงใหลอยู่ในเวทนาของสังขารขันธ์ ชนิดนี้ว่าเป็นของดีของวิเศษ โดยลืมตัวเพราะอวิชชาความไม่รู้ว่าเป็นธรรมชาติธรรมดาๆ อันพึงเกิดแก่ผู้ปฏิบัติถูกต้องทั่วๆไปเป็นธรรมดา  จึงเกิดการติดเพลิน ไปยึดไปอยากด้วยอธิโมกข์,  จริงๆ แล้วองค์ฌานต่างๆ อันมี วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกคตา อุเบกขา ล้วนเป็นเพียงแค่ทางผ่านของฌานสมาธิ อันบังเกิดแก่ทุกผู้นาม ทุกเผ่าพันธ์ ทุกชาติ ทุกศาสนา อันมีมาแต่ก่อนพุทธกาลเสียอีก (ดู ติดปีติ,สุข ในฌาน)  ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า "ติดปีติ"  กล่าวคือ มีอาการจิตส่งไปภายในตน ไปคอยจ้องเสพความอิ่มเอิบต่างๆ เสมอๆ อยู่เนืองๆ ทั้งโดยรู้ตัวและที่สำคัญยิ่งก็คือ โดยไม่รู้ตัว


---๓.ญาณ - ความรู้หรือปัญญา  แต่ญาณในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึงเป็นมิจฉาญาณนั่นเอง คือเป็นความรู้หรือความเข้าใจแบบผิดๆ เป็นเพียงความรู้สึกว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมหรือความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆหรือธรรมต่างๆแจ่มแจ้งดีแล้ว ถูกต้องถ่องแท้แล้ว  หรือเกิดแต่นามนิมิต(ความคิดหรือความรู้ที่ผุดแสดงขึ้นในใจ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ มิได้เกิดแต่ปัญญาหรือเป็นไปตามหลักเหตุผล) เสียงนิมิต(เสียงที่ผุดขึ้นได้ยินแต่นักปฏิบัติ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ)  แต่เกิดแต่ความเข้าไม่ถูกต้องหรือมิจฉาญาณ แล้วน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์  ดังนั้นเมื่อคิดว่ามีความรู้ความเข้าใจจากมิจฉาญาณดังกล่าว จึงทำให้เข้าใจผิด หรือหยุดการพิจารณาด้วยปัญญาเสียกลางคัน ก่อนที่จะไปถึงจุดหมายด้วยคิดว่าเข้าใจดีถูกต้องแล้ว หรือคิดว่าได้มรรคผลใดแล้ว จึงทําให้เกิดทิฏฐิ


---ไม่รับฟังความคิดความเห็นจากผู้รู้หรือผู้อื่นที่แนะนําข้อผิดพลาดได้ เพราะหลงคิดและเข้าใจไปว่าตนเองเข้าใจถูกต้องแล้วอย่างแรงกล้าด้วยอธิโมกข์, เมื่อผู้ใดพูดก็โกรธหรือไม่รับฟังไปพิจารณา ทําให้การเจริญวิปัสสนาในธรรมต้องสะดุดหยุดชงักไปโดยไม่รู้ตัว  และเพราะญาณความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง อันยิ่งทำให้การปฏิบัติผิดไปจากแนวทางและจุดมุ่งหมายอันคือนิโรธ  อันมักเกิดขึ้นเป็นประจําในการปฏิบัติ,  หรือไปยึดติดแต่ปัญญาความรู้ความเข้าใจ(ญาณ)ที่เกิดขึ้นจนขาดการปฏิบัติ,  หรือเมื่อญาณความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้องและไปยึดปฏิบัติตามเข้า จึงเกิดการออกนอกลู่นอกทางเป็นโทษโดยไม่รู้ตัว ด้วยอวิชชา (อ่านประกอบการพิจารณา ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น)   ทำให้เกิดอาการติดผู้รู้ หรือมิจฉาญาณ คือยึดมั่นเชื่อถือในความเชื่อหรือปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆขาดปัญญา และเป็นอย่างงมงายถอนตัวไม่ขึ้น


---๔.ปัสสัทธิ - ความสงบกายและจิต  จึงเกิดอาการที่เรียกกันว่าติดสงบ มีความรู้สึกสงบกาย สงบใจ อันเนื่องจากจิตเป็นสมาธิหรือฌาน  จิตย่อมไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดการผัสสะกับสิ่งต่างๆนาๆให้เกิด เวทนาต่างๆขึ้น  จึงย่อมเกิดการผ่อนคลายทั้งกายและใจ จึงไม่ทุกข์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อันเป็นไปตามหลักเหตุและผล หรือเหตุปัจจัยอันย่อมต้องเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นธรรมดา  แต่ไปติดอยู่ในความสงบสบายเหล่านั้นด้วยเข้าใจผิดว่าสมบูรณ์ดีแล้ว  ทําให้หยุดการปฏิบัติด้วยคิดว่า สงบกาย สงบใจดีแล้ว พอใจแล้ว พอพ้นทุกข์แล้ว หรือมีปัญญาแค่นี้ จึงจมแช่อยู่เยี่ยงนั้น  ทําให้ตัดทอนโอกาสอันดีงามในการก้าวต่อไปข้างหน้า


---เกิดการหยุดชงักงัน ไม่ภาวนาให้เจริญต่อไป  และเกิดการติดเพลินจมแช่อยู่ในความสงบ ซึ่งในบางครั้งเกิดจากการจดจ้อง จดจ่อ คือหมกมุ่นหรือแช่นิ่งอยู่กับความสงบที่เกิดขึ้นในกายหรือในจิตตน หรือก็คืออาการจิตส่งในอย่างหนึ่งนั่นเอง  จนไม่สังเกตุรู้สภาวะรอบข้างใดๆอย่างมีสติเท่าที่ควร  และทำให้ธาตุขันธ์แปรปรวน  เป็นผลของฌานสมาธิอันไม่เที่ยง ซึ่งมีการแปรปรวนเป็นธรรมดา  เกิดการครอบงําโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา  ที่คิดว่าดีแล้ว ถูกแล้วจนขาดการพิจารณา  อาการนี้มักเป็นมากในผู้ที่ปฏิบัติไปในทางมิจฉาสมาธิต่างๆ เช่น นั่งเอาแต่ในความสงบ หรือสวดมนต์หรือบริกรรมซ้ำซ้อนยาวนานแต่อย่างเดียว แต่ขาดการเจริญปัญญา  เมื่อถูกกระทบจนความสงบหวั่นไหว ก็มักมีโทสะ หรืออ่อนเปลี้ยทันทีที่จิตหวั่นไหวเลื่อนไหลหลุดออกจากความสงบ แม้ความสบาย



---๕.สุข - ความสบายกายสบายจิต  ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดสุข เพราะมีความรู้สึกเป็นสุข ความสบาย ทั้งทางใจและทางกาย  สบายกาย สบายใจล้วนแต่เป็นผลจากสมถะอันยังให้เกิดสารคัดหลั่ง  จึงทำเกิดการติดเพลิน(นันทิ-ตัณหา)ไปยึดในความพึงพอใจในผลของสุข อันเกิดแต่ฌานและสมาธินี้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเพราะความไม่รู้  จึงทําให้ก่อเกิดโทษต่างๆตามมา อันเป็นผลเสียทั้งต่อกายและต่อจิตอย่างรุนแรง  ทําให้การปฏิบัติธรรมต้องหยุดชงักงัน เพราะหลงติดด้วยจิตส่งในไปเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ  (ติดปิติ,สุข,อุเบกขา ในฌาน)  และย่อมเกิดอาการของจิตส่งในไปคอยเสพความสุขความสบายที่เกิดขึ้นจากอำนาจของฌานสมาธิเช่นเดียวกับปัสสัทธิ


---๖.อธิโมกข์ - ความน้อมใจเชื่อ  เป็นศรัทธาจึงน้อมใจไปเชื่อแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือขาดเหตุผลหรืองมงาย ไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่มีเหตุมีผลนั่นเอง   เนื่องจากประสบผลสําเร็จบางส่วนในการปฏิบัติ ทำให้เกิดผลบางสิ่งขึ้น หรือเกิดความเชื่อตามที่ได้ยินเขาร่ำลือกันต่อๆมา ฯลฯ. จึงทําให้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ซาบซึ้ง เลื่อมใส  จิตสว่างเจิดจ้าที่หมายถึงหมดความเศร้าหมอง จึงเกิดการหมายยึดเป็นที่พึ่งทางใจโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นไปแบบขาดปัญญา หรืออย่างงมงาย กล่าวคือเป็นไปอย่างขาดเหตุผล ดังเช่น หมายยึดอย่างผิดๆใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนครูบาอาจารย์  เจ้าลัทธิ  ตลอดจนการน้อมเชื่อในนิมิตต่างๆ  อย่างแรงกล้า  แต่เป็นไปอย่างผิดๆคืออย่างงมงายขาดปัญญา


---เกิดแต่ความเชื่อ มิได้เกิดแต่ความเข้าใจขั้นปัญญา เช่น อยากสร้างโบสถ์วิหารใหญ่เกินตัวเพื่อทดแทนพระคุณพระศาสนา  อยากสอนธรรมะผู้อื่นตามแนวทางตน, อยากให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติบ้างเหมือนตน  อยากทําบุญทําทานต่างๆเกินฐานะ  ทําบุญสะเดาะเคราะห์กรรมต่างๆ  น้อมเชื่อในนนิมิตที่เห็นอย่างแน่นแฟ้น  น้อมเชื่อปฏิบัติตามคำสอนแต่อย่างงมงายคือน้อมเชื่อโดยขาดการพิจารณาและความเข้าใจ เช่นน้อมเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ อย่างขาดปัญญา คือเชื่ออย่างเดียวว่าถูก โดยขาดการพิจารณาด้วยปัญญา ซึ่งล้วนแต่เป็นไปในลักษณะของทั้งทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทานคืออุปาทานชนิดยึดมั่นในกิเลสเพื่อความพึงพอใจในความคิดความเชื่อของตน แบบผิดๆหรืออย่างงมงาย ขาดปัญญาในการไตร่ตรองว่าถูกหรือผิด,  ศรัทธาที่ถูกนั้นเป็นสิ่งจําเป็นในการปฏิบัติ แต่ต้องไม่เป็นไปอย่างงมงาย ประกอบด้วยเหตุผล จึงดําเนินไปด้วยปัญญา(สัมมาปัญญา)จึงจักถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยอธิโมกข์


---๗.ปัคคาหะ - ความเพียรที่พอดี  แต่ในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึง เพียรมากจนเกินพอดี เกินเหตุชนิดมุทะลุ จึงย่อมตึงเครียดต่อการปฏิบัติมักเนื่องจากปฏิบัติผิดวิธี หรือติดตรึงใจในผลความสุขความสงบความสบาย  หรือมีความเข้าใจแล้วต้องการให้บรรลุหรือสมประสงค์โดยไวด้วยความเพียร  แต่ลืมทางสายกลาง ทําให้เกินพอดี ทําให้เกิดอาการเครียดต่างๆทั้งต่อจิต และกาย   และมักเกิดจากผลที่ดีที่บังเกิดขึ้นในระยะแรกๆจากการปฏิบัติสมถสมาธิอันเกิดแต่อำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ  จึงเป็นแรงขับดันให้เพียรปฏิบัติอย่างมุทะลุลืมตัว โดยไม่รู้ตัว


---๘.อุปัฏฐานะ - สติชัด  แต่ที่นี้หมายถึง สติแก่กล้าเกินพอดี  สติมากเกินพอดีไปในการปฏิบัติ เช่น จดจ้อง จดจ่อ อย่างต่อเนื่อง อย่างแรงกล้าแต่เฉพาะในสิ่งที่ยึดเป็นอารมณ์ หรือเฉพาะการปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่แต่เท่านั้น  กล่าวคือ สติจดจ่อแช่นิ่งในอารมณ์เดียว แต่ไม่มีสติหรือขาดสติในสิ่งอื่นๆอันควรแก่การใช้งาน กล่าวคือ ขาดสัมปชัญญะความมีสติต่อเนื่องสัมพันธ์ในสิ่งอื่น   เพ่งจดจ่อแต่สิ่งที่ปฏิบัติแต่เกินพอดี ทําให้สติล้าตึงเครียด  จนเกิดอาการต่างๆเพราะความตึงเครียดจากการปฏิบัติผิดมากเกินไป  ขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้ในสิ่งที่ถูกหรือผิด


---ควรหรือไม่ควร กล่าวโดยย่อก็คือเป็นมิจฉาสติ,   สตินั้นก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีการเกิดดับๆๆเป็นธรรมดา จึงเป็นไปในลักษณะรู้เท่าทันแล้วเกิดขึ้นจนชำนาญอย่างยิ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจคล้ายดั่งมหาสติแต่กอบด้วยอวิชชานั่นเอง  กล่าวคือ ตั้งจิตอยู่กับสติตลอดเวลาในอารมณ์เดียวอย่างจดจ้องจดจ่อ  จนในที่สุดเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทที่ประกอบด้วยอวิชชา จึงทำเองโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย  สติจึงชัดเกินไป จนขาดสัมปชัญญะ  รู้แต่สิ่งที่สติหรือจิตไปกำหนด(ยึดอารมณ์ หรือวิตก)แต่อย่างเดียวจนเป็นไปในลักษณะสมาธิควบไปด้วย จนไม่รับรู้ในสิ่งอันควรอื่นๆด้วยนั่นเอง จนในที่สุดสติอยู่แต่กับสิ่งนั้นๆที่เป็นอารมณ์จนถอนไม่ขึ้น

 
---๙.อุเบกขา - ความวางจิตเป็นกลาง ยังให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดอุเบกขา ติดแช่นิ่ง เพราะติดแช่นิ่งอยู่ภายในเป็นกลางวางเฉยอย่างขาดปัญญา,  เป็นกลางวางเฉยแต่อย่างงมงายผิดๆ,  วางเฉยเสียสิ้นโดยขาดปัญญา  แต่ย่อมรู้สึกสงบ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงไปเข้าใจผิดว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะแช่นิ่งอยู่ภายในจิต อย่างติดเพลิน  เฉื่อยชา ใจลอย ไม่ยินดียินร้าย ไม่นิ่มนวลควรแก่การใช้งาน  ขาดความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เวลาจิตหวั่นไหวหลุดจากองค์ฌานก็จะโกรธได้ง่ายๆ,   แล้วไปเข้าใจผิดว่าเป็นอุเบกขาในโพชฌงค์


---ที่หมายถึงการวางเฉยหรือใจเป็นกลางอัน ดีงาม คือรู้เห็นตามความเป็นจริงทั้งในคุณในโทษของสภาวะธรรมนั้นๆ แล้ววางใจเป็นกลางอุเบกขา คือวางทีเฉยดูโดยการไม่เอนเอียงไม่แทรกแซงไปปรุงแต่งทั้งในด้านดีหรือด้าน ร้าย,ดีหรือชั่วเช่น เราดี หรือเขาชั่ว, เราถูก หรือเขาผิด,   แต่กลับกลายเป็นอุเบกขาที่เกิดจากการปล่อยแช่นิ่งอยู่ในความสงบของมิจฉา สมาธิหรือฌานแบบผิดๆทั้งในสภาพที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือเกิดจากการปฏิบัติชนิดกดข่มไว้ มิได้เกิดแต่ปัญญาที่เข้าใจ  ล้วนแต่เป็นผลของการปฏิบัติสมถะสมาธิและวิปัสสนาผิดวิธีอย่างแน่นอน


---๑๐.นิกันติ - ความพอใจ มีความพึงพอใจในการปฏิบัติต่างๆของตนที่ผ่านมา พอใจในผลขององค์ฌานหรือสมาธิ เช่น ปีติ สุข อุเบกขา อันยังให้เกิดความสุข ความเบาสบาย, หรือโอภาส-ความสว่าง แสงสีต่างๆ หรือนิมิต, หรือมิจฉาญาณที่ เข้าใจผิดไปว่าได้บุญได้กุศล  ตลอดจนพอใจในนิมิตหรือปาฏิหาริย์ต่างๆที่เกิดขึ้น หรือคิดขึ้นภายใต้อํานาจของสมถะที่ปฏิบัติและสารคัดหลั่งบางตัวที่มากเกิน ขนาดจากการปฏิบัติไปติดจมแช่อยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี  จึงทําให้เกิดผลร้ายต่อการปฏิบัติอย่างรุนแรง ทั้งต่อกายอันจะเกิดการเจ็บป่วยได้และต่อจิต,   จึงก่อให้เกิดความพยายามปฏิบัติในสิ่งต่างๆเหล่านั้น  เพื่อให้คงอยู่  ทำให้เป็นขึ้น  อยู่ตลอดเวลา


---นักปฏิบัติใหม่ ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติจึงควรมีความเข้าใจในฌานสมาธิอย่างถูกต้อง ต้องรู้ว่าเมื่อปฏิบัติไปถูกต้องทางฌานสมาธิแล้ว จักมีอาการหรือผลขององค์ฌาน หรือผลของสมาธิเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จึงต้องมีความเข้าใจอย่างแน่วแน่ว่านั่น เป็นอาการของจิตตามธรรมชาติธรรมดาๆ อันต้องเป็นเช่นนั้นเองเมื่อจิตมีอาการรวมตั้งมั่นขึ้น จึงอย่าได้ไปหลงใน แสง สี เสียง โดยเฉพาะภาพนิมิต เสียงนิมิต นามนิมิต ไม่ว่าจะเป็นนิมิต รูปของพระพุทธเจ้า อรหันต์ เทวดา สวรรค์ วิมานต่างๆ ตลอดจนความรู้สึกใดๆ,  สมาธิหรือฌานเป็นเพียงทางผ่าน หรือแค่ขั้นบันได(บาทฐาน)เป็นเครื่องสนับสนุนเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าใน วิปัสสนาญาณเท่านั้น คือใช้กําลังของจิตและความสงบไม่ซัดส่ายที่เกิดขึ้นนั้น  อันย่อมมีกำลังมากกว่าปกติธรรมดา ไปพิจารณาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาญาณ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมอย่างถูกต้องถึงแก่นถึงแกน


---วิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาอันต้องมีสมาธิหรือฌานเป็นบาทฐานนั่นเอง แต่สมาธิหรือฌานนั้นเป็นมิจฉาสมาธิเสีย จึงเกิดการติดขัดไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้ จนเกิดผลเสียร้ายแรงได้ ก็เพราะอุปกิเลสทั้ง ๑๐ แห่งวิปัสสนาเหล่านี้  นั่นเอง กล่าวคือ มิได้เกิดขึ้นเพราะธรรม  จริงๆแล้วสามารถกล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นเหตุคือเกิดขึ้นจากการปฏิบัติเบี่ยงเบนผิดแนวทางด้วยอวิชชาไปในแนวทางมิจฉาสมาธินั่นเอง จึงส่งผลให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้น


---ผลของอุปกิเลสนี้อาจเป็นข้อใดข้อหนึ่งรุนแรง แต่มักเกิดหลายๆข้อ และบางข้อเมื่อเป็นแล้วก็ส่งผลให้เกิดอุปกิเลสในข้ออื่นๆด้วย  อย่างผู้เขียนเองเคยเกิดเคยเป็นครบทุกข้อ แทบเอาตัวไม่รอด  จึงควรหมั่นตรวจสอบตนเองเป็นครั้งคราว โดยต้องเห็นตามความเป็นจริง ยอมรับตามความเป็นจริง เพราะโดยปกตินั้นมายาจิตของตัวตนทำให้หลง โดยการโกหกหรือหลอกลวงแมเตัวตนเอง จึงไม่ยอมรับหรือไม่เห็นเป็นไปตามความเป็นจริง โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวกับตัวตนเอง(ทิฏฐุปาทาน) โดยการเลี่ยงไปไม่คิดให้เห็นตามความเป็นจริงบ้าง


---เพราะปัญญายังไม่แก่กล้าพอบ้าง   หมั่นสังเกตุว่ามีวิปัสสนูปกิเลสใดเกิดขึ้น และเพียรพยายามแก้ไขเสียแต่ต้นๆมือ หรือปรึกษาผู้รู้ ก่อนที่จะสายเกินแก้หรือติดปลักอยู่กับสิ่งไร้สาระที่ให้โทษนี้ เป็นเวลานานๆ อันทําใจให้เศร้าหมองในที่สุด และทําให้รับคุณธรรมได้ยาก ตลอดจนส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อกายและจิตของผู้ปฏิบัติเอง ตลอดจนบุคคลรอบข้างอันเป็นที่รัก


---ผู้เขียนขอเน้นวิปัสสนูปกิเลสนี้ ในหัวข้อทั้ง ๑๐ ชื่อเหมือนกันกับหลักธรรมอันสําคัญยิ่ง อันฟังดูน่าปฏิบัติ แต่หมายถึงเป็นไปอย่างผิดๆ ผู้เขียนมีความรู้จากการอ่านในเรื่องนี้มาเกือบปีก่อนเข้าใจในธรรมบ้าง และครั้งนั้นก็ได้พิจารณาตนเองในอุปกิเลส ๑๐ นี้ แต่กลับมองไม่เห็น คือคิดว่าน้อยมากจนไม่ต้องใส่ใจ เพราะไม่ได้วางใจเป็นกลางด้วยอำนาจของทิฏฐุปาทานอันต้องมีในปุถุชน   กาลต่อมาเมื่อเข้าใจในธรรมดีขึ้น แล้วมองย้อนระลึกขันธ์หรือชาติภพที่เคยเกิดเคยเป็น  จึงรู้ตัวว่าผู้เขียนหลงจมปลักอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสอย่างงมงายหรืออวิชชานั่นเอง


---ต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้รู้จักวิปัสสนูปกิเลสดีแล้ว ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและที่สําคัญที่สุดคือใจเป็นกลาง  วางความเชื่อความยึดลงสักชั่วขณะ  พิจารณาตามความเป็นจริง อย่าให้เป็นไปตามแต่ความเชื่อความคิดของตนเองแต่ฝ่ายเดียว คือ ไม่ถูกครอบงําโดย "ทิฏฐุปาทาน" ในความเชื่อ, ความเข้าใจ หรือทฤษฎีของตน, แล้วพิจารณาเพื่อจักได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติ อันส่งผลร้ายแก่นักปฏิบัติเอง ดังที่เกิดมาแล้วกับผู้เขียน  ข้อสำคัญ วิปัสสนูปกิเลสนี้เกิดขึ้นตลอดสายของการปฏิบัติ 


---ถึงแม้ว่าปฎิบัติวิปัสสนาอย่างถูกต้อง วิปัสสนูปกิเลสนี้ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เบาบางและเป็นไปในลักษณะลดน้อยถอยลงไปทุกขณะตามภูมิรู้ภูมิญาณที่เกิดขึ้น จึงควรมีความระมัดระวังเสียแต่แรกๆด้วย,  แต่เมื่อใดที่การปฏิบัตินั้นเป็นไปอย่างผิดๆหรือเป็นมิจฉาสมาธิ  เมื่อนั้นวิปัสสนูปกิเลสจะรุนแรงและเฟื่องฟูขึ้นตลอดเวลาในลักษณะเพิ่มพูนสะสมจนเป็นอันตรายต่อตนเองอย่างรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เพราะการถูกครอบงำของจิต


---มีพระอรรถกถาจารย์ ได้กล่าวไว้ว่า "วิปัสสนูปกิเลสนี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเกิด อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรือญาณที่ ๔ใหม่ๆ  อันเป็นญาณเกี่ยวกับการเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕ หรือสังขารในปัจจุบันจิตหรือปัจจุบันธรรม ในขณะที่เริ่มเกิดขึ้นใหม่ๆนี้ เรียกย่อยลงไปว่า ดรุ วิปัสสนา(วิปัสสนาญาณอ่อนๆ) ถ้ารู้เท่าทันผ่านพ้นไปได้ ไม่ไปติดไปยึดในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเช่นโอภาส สุข ปีติ ฯลฯ. อันแสนเย้ายวน ชวนให้หลงผิดและติดใจอยู่ในวังวนของความพิศดาร  ก็ถือว่าพ้นวิกฤติของวิปัสสนูปกิเลสไปได้"


---ข้อสังเกตุง่ายๆอีกประการหนึ่งคือ ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดอาการกระหยิ่มยิ้มย่องว่า ข้ารู้แล้ว ข้าเข้าใจแล้ว ข้าดีแล้ว มีมานะและทิฏฐิ  จิตเก่ง จิตกล้า คิดเข้าใจว่าได้มรรคได้ผลทั้งๆที่ไม่ได้วิปัสสนาจนเกิดความเข้าใจเกิดนิพพิทา หรือไปยึดหมายใดๆ ตลอดจนการฝักใฝ่หรือสนใจในอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นั่นล้วนเป็นอาการของวิปัสสนูปกิเลสล้วนสิ้น  เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นต้องเกิดนิพพิทา คือเกิดความหน่ายคลายกำหนัด คลายความชื่นชมความยินดี เนื่องจากไปรู้ตามความเป็นจริงของธรรม จึงคลายความยึดความอยากหรือตัณหาในสังขารอันหมายถึงสิ่งต่างๆเหล่านั้น  จึงไม่ใช่อาการของเหล่าผู้มีจิตเก่ง จิตกล้า มีมานะทิฏฐิสูง


         
---ผู้เขียนขอกราบอารธนาคําสอนของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ในเรื่องโทษของอุปกิเลส๑๐  จากหนังสือโมกขุบายวิธี โทษของอุปกิเลส ๑๐


---ลักษณะอาการและการละกิเลส เป็นต้น ของฌานและสมาธิ  ผิดกันดังแสดงมา ฌานมีความน้อมเชื่อมาก วิริยะและปีติแรง กำลังใจกล้า โลดโผนทุกๆ อย่าง สรุปแล้ว เมื่อจิตน้อมไปตามอารมณ์ของฌาน ถ้าผู้ติดฌาน หลงฌานอย่างหนักหน่วงแล้ว จิตของตนแทบจะไม่เป็นตัวของตัวเองเสียเลยก็ว่าได้ ที่จริงฌานเมื่อเกิดขึ้นเป็นของน่าตื่นเต้น ผู้ฝึกหัดใหม่จึงชอบนัก แต่ฌานเป็นของได้ง่ายพลันหาย เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม๘


---ส่วน(สัมมา)สมาธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นไปอย่างเรียบๆ เพราะมีสติรอบคอบตามภูมิของตน และยึดเอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์ (webmaster - หมายถึง จิตตั้งมั่นแล้วพิจารณาอยู่ในธรรมดังพระไตรลักษณ์ได้อย่างแนบแน่น) ไม่หลงลืมตัว ค่อยได้ค่อยเป็นไปละเอียดลงโดยลำดับ ได้แล้วไม่ค่อยเสื่อมเป็นโลกุตตรธรรม บางคนจะไม่รู้สึกตื่นเต้นในเมื่อตนได้สมาธิ เพราะไม่ได้คำนึงถึงอาการที่ตนได้มี แต่ตั้งหน้าจะทำสมาธินั้นให้มั่นและละเอียดถ่ายเดียว  ฌานเป็นของน่าสนุกสนาน มีเครื่องเล่นมาก มีเรื่องแปลกๆ ทำให้ผู้ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงหลงติดจมอยู่ในฌาน อาการที่จิตหลงติดจมอยู่นั้นคือโทษ ของอุปกิเลส๑๐ พึงสังเกตต่อไป


---[webmaster - สมาธิและฌานต่างเป็นอาการของจิตหรือเจตสิกอย่างหนึ่ง  ซึ่งคล้ายดั่งการกำมือและการแบมือ ต่างล้วนเป็นอาการหรือกิริยาของ"มือ"ที่แปรเปลี่ยนไปได้  ดังนั้นจึงควรทำความรู้จักไว้ทั้งสอง เพราะย่อมต้องมีกริยาของการแบมือบ้าง,กำมือบ้างเป็นธรรมดา  กล่าวคือบางครั้ง, บางสถานการณ์จึงมีการสลับเปลี่ยนกันบ้างโดยธรรมคือธรรมชาติได้เป็นธรรมดา


---ส่วนสมาธินั้น  ถ้าไม่เป็นสัมมาสมาธิ คือไม่ได้นำไปพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ก็จะเกิดอุปกิเลสเช่นกัน มักติดในความสงบ(ปัสสัทธิ)  ติดแช่นิ่ง(อุเบกขา) ]


---โอภาส แสงสว่างย่อมปรากฏในมโนทวารวิถี ขณะเมื่อจิตเข้าถึงฌาน (ภวังค์) เมื่อจิตน้อมเชื่อไปตามแสงสว่าง และแสงสว่างนั้นก็ขยายวงกว้างออกไป มีอาการแปลกๆ ต่างๆ เหลือที่จะพรรณา


---ญาณ ความรู้สิ่งต่างๆ บางทีจนกำหนดตามไม่ทัน ไม่ทราบว่ารู้อะไรบ้าง ทั้งสิ่งที่เคยรู้เคยเห็น ทั้งสิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็น มิใช่รู้อยู่กับสิ่งที่รู้ ยังสอดส่ายไปตามอาการตลอดถึงคนอื่น สัตว์อื่น ทีแรก จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง นานๆ เข้าก็เหลว


---ปีติ ทำให้อิ่มใจจนลืมตัว


---ปัสสัทธิ ทำให้สงบจากอารมณ์ภายนอก กลับเข้ามายุ่งอยู่กับอารมณ์ภายในจนไม่เป็นอันกินอันนอน เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า ธาตุย่อมกำเริบ จิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ


---สุข ทำให้สบายอยู่ด้วยอาการทั้งหลายดังกล่าวมา ถึงกับไม่ต้องรับประทานข้าวน้ำก็มี


---อธิโมกข์ ทำให้เกิดจิตน้อมเชื่อไปในนิมิตและแสงสว่าง ความรู้มีมากเท่าไร อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ก็ยิ่งมีกำลังรุนแรงทวีขึ้น


---ปัคคาหะ ทำให้เพียรกล้าไม่หยุดหย่อนท้อถอย มีญาณความรู้คอยกระซิบตักเตือนให้ทำอยู่เสมอ


---อุปัฏฐาน ช่วยให้สติแข็งแกร่งอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้น แต่ขาดสัมปชัญญะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร


---ถ้าอุปกิเลสทั้ง ๘ ตัวดังกล่าวมาหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งยังเกิดมีอยู่  อุเบกขา(ในวิปัสสนูปกิเลส)ก็จะไม่เกิด ถ้าทั้ง ๘ นั้นสงบลงแม้ชั่วขณะหนึ่ง อุเบกขา และ นิกันติ จึงจะเกิดขึ้น


---อุปกิเลส ๑๐ นี้มิใช่จะเป็นโทษแก่วิปัสสนาเท่านั้น ยังสามารถทำให้เกิดวิปลาสต่างๆ จนต้องเสียผู้เสียคนไปก็ได้ เรื่องทั้งนี้เคยมีมาแล้วในอดีต หากอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจ  มุ่งส่งเสริมศิษย์ให้ยึดเอาเป็นของจริงแล้วก็จะทำให้ศิษย์เสียจนแก้ไม่ตก เมื่อมีเรื่องวิปลาสเกิดขึ้นเช่นนั้น ผู้รู้เท่าและเคยผ่านมาแล้วจึงจะแก้ได้



*วิธีแก้วิปลาส


(Webmaster - หมายถึง อาการติดสุข ติดนิมิต ฯ. ด้วย)


---อาจารย์ผู้สอนก็ดี ลูกศิษย์ผู้เจริญภาวนาก็ดี เมื่อเข้าใจวิถีจิตที่เข้าเป็นฌานแล้ว จงระวังอุปกิเลส ๑๐ จะเกิดขึ้น ถ้าจิตเข้าถึงฌานแล้ว อุปกิเลสไม่ทั้งหมดก็อย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นสำหรับนิสัยของบางคน แต่บางคนก็ไม่มีเลย(Webmaster - หมายถึงปฏิบัติอย่างถูกต้องจริงๆ มีน้อยมาก) ถ้ามันเกิดขึ้นเราควรปฏิบัติดังต่อไปนี้



---๑.เมื่ออุปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว พึงทำความรู้เท่าว่า นี่เป็นอุปกิเลสเป็นอุปสรรคแก่วิปัสสนาปัญญา และอุปกิเลสนี้เกิดจากฌาน  หาใช่อริยมรรคไม่ ถึงแม้วิปัสสนาญาณ ๙ แปดข้อเบื้องต้นก็เช่นเดียวกัน อย่าได้น้อมจิตส่งไปตามด้วยเข้าใจว่าเป็นของจริงของแท้ พึงเข้าใจว่านั่นเป็นแต่เพียงภาพอันเกิดจากมโนสังขาร คือจิตปรุงแต่งขึ้นด้วยอำนาจของฌานเท่านั้น พึงหยิบยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสินว่า อุปกิเลสทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะฌาน ฌานก็เป็นโลกิยะ อุปกิเลสก็เป็นโลกิยะ โลกิยะทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรนั้นแหละเป็นทุกข์


---เพราะทนต่อความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ แล้วก็แตกสลายดับไปตามสภาพของมันเอง ซึ่งไม่มีใครจะมีอำนาจห้ามปรามไม่ให้มันเป็นเช่นนั้นได้ ซึ่งเรียกว่า อนัตตา เมื่อยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสิน ถ้าจิตเกิดปัญญาน้อมลงเห็นตามพระไตรลักษณะแล้ว จิตก็จะถอนออกจากอุปาทานที่เข้าไปยึดอุปกิเลสนั้น แล้วจะเกิดปัญญาญาณเดินตามทางอริยมรรคได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าแก้อย่างนั้นด้วยตนเองไม่ได้ผล คนอื่นช่วยแก้ก็ไม่สำเร็จ   เพราะผู้เป็นหลงเข้าไปยึดมั่นสำคัญเอาเป็นจริงเป็นจังเสียแล้ว   บางทีจนทำให้ซึมเซ่อมึนงงไปหมดก็ดี จึงควรใช้วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย


---๒.เมื่อรู้เท่าทันและเห็นโทษอย่างนั้นแล้ว จงคอยระวังจิตอย่าให้จิตน้อมเข้าสู่ความสุขเอกัคคตารวมเป็นหนึ่งได้  และอย่ายึดเอาอารมณ์ใดๆ อันเป็นความสุขภายในของใจ  แล้วจงเปลี่ยนอิริยาบถ ๔ ให้เสมอ  อย่ารวมอินทรีย์อันเป็นเหตุจะให้จิตรวม(เป็นสมาธิหรือฌานได้ - webmaster) แต่ให้มีการงานทำเพื่อให้มันลืมอารมณ์ความสุขสงบเสีย (แต่ไม่ควรเป็นแบบซ้ำซ้อนและต่อเนื่อง - webmaster)  แต่ถ้าจิตรวมลงไปจนเกิดวิปลาสขึ้นแล้ว จิตเข้าไปยึดถือจนแน่นแฟ้นจนสำคัญตัวว่าเป็นผู้วิเศษไปต่างๆ นานา  มีทิฐิถือรั้นไม่ยอมฟังเสียงใครๆ ทั้งหมด เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ยากที่จะแก้ตัวเองได้ ถึงแม้อาจารย์หากไม่ชำนาญรู้จักปมด้อยของศิษย์ หรือไม่เคยผ่านเช่นนั้นมาก่อนแล้ว ก็ยากที่จะแก้เขาได้ ฉะนั้น จึงควรใช้ ...


---วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย คือใช้วิธีขู่ขนาบให้กลัวหรือให้เกิดความโกรธอย่างสุดขีดเอาจนตั้งตัวไม่ติดยิ่งดี แต่ให้ระวังอย่าให้หนีได้ ถ้าหนีไปแล้วจะไม่มีหนทางแก้ไขเลย เมื่อหายจากวิปลาสแล้วจึงทำความเข้าใจกันใหม่ วิธีสุดท้ายนี้ โดยมากมักใช้กับผู้ที่ติดในภาพนิมิตได้ผลดีเลิศ


---ผู้ที่หลงติดในภาพนิมิต มีหัวรุนแรงกว่าความเห็นวิปลาส ฉะนั้น วิธีแก้จึงไม่ค่อยผิดแผกกันนัก..


---พระศาสดาได้เสด็จอุบัติขึ้นในภพในขันธ์ และสาวกก็เช่นนั้นเหมือนกัน แต่คำสอนของพระองค์สอนให้ละภพละขันธ์อันเป็นโลกิยะจนเข้าถึงโลกุตตระ ดังนั้นธรรมอุบายที่จะให้ละจึงมีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ แม้ปัญญาซึ่งเกิดแต่การฝึกหัดนั้นก็มีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเหมือนกัน จึงเป็นการยากแก่ผู้ที่มีภูมิ (คือฌานและสมาธิ) ไม่เพียงพอ ปัญญาไม่ละเอียดพอ จะเฟ้นเอาสาระประโยชน์จากชีวิตอันนี้ได้ ถ้าหลงเข้าใจผิดยึดเอาสิ่งที่มิใช่สาระว่าเป็นสาระแล้ว ก็ลงเอวังกันเลย
 
---ผู้ปฏิบัติพึงระลึกเสมอว่า ภพกายหลงง่ายละยาก  ภพจิตหลงยากละยาก  นิมิตและญาณที่เกิดแต่ฌานก็หลงง่ายละยาก  แต่ที่เกิดแต่สมาธิหลงยากละง่าย เพราะเกิดแต่สมาธิเป็นอุบายของปัญญาเพื่อให้ละถอนอุปธิเข้าถึงสารธรรมโดยตรง.





........................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 20 กันยายน 2558



ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท04/08/2023
ผู้เข้าชม6,580,833
เปิดเพจ10,319,795
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view