/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

วิธีสังเกตคนที่มีจิตวิญญาณแทรกแฝง

วิธีสังเกตคนที่มีจิตวิญญาณแทรกแฝง

 วิธีสังเกตคนที่มีจิตวิญญาณแทรกแฝงในกายสังขาร







 

---กายสังขารของคนไม่ใช่ตัวกูของกู จึงไม่อาจห้ามหวงไม่ให้มีสิ่งใดแตะต้องหรือเข้าออกได้ จิตวิญญาณมากมายเร่ร่อนอยู่บนโลกมนุษย์ อาศัยกายสังขารของคน ด้วยการเข้าแทรกแฝงอยู่ร่วมกัน ทำให้คนทั้งหลายมี “พฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากธรรมชาติ” ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นธรรมชาติตามยุคสมัย คือ ยุคของเทพ, พรหม, อสูร, มาร จะลงมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะดีหรือเลวไปเสียหมด ดีก็มี เช่น คนเลวถูกจิตวิญญาณดีๆ เข้าแทรก กลับมาทำความดี, เลวก็มี เช่น คนดีถูกจิตวิญญาณไม่ดีเข้าแทรก ทำสิ่งผิดก็ได้ โลกยุคนี้ หาคนดีที่แท้จริงจะไม่พบ, หาคนเลวที่แท้จริง ก็ไม่มีเหมือนกัน จิตวิญญาณทั้งหลายเข้าแทรกในกายสังขารมนุษย์อยู่ร่วมกับมนุษย์ ก่อให้เกิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ คือ มนุษย์สองมิติ มิติหนึ่งมีกายสังขารปกติ


---มิติหนึ่งมีแต่จิตวิญญาณ สามารถเข้าออกจากร่างกายไปทำกิจต่างๆ แล้วกลับมาอีกก็ได้ คนที่เราเห็นบนโลกต่อไปในภายภาคหน้าจะไม่ใช่ “มนุษย์” คนที่มีจิตวิญญาณเป็นมนุษย์จะเริ่มลดลง แต่เป็น “กึ่งคนกึ่งจิตวิญญาณ” มากขึ้น เมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ คนมากมายจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากธรรมชาติ เช่น ผู้ชายไม่ค่อยเหมือนผู้ชาย, ผู้หญิงไม่ค่อยเหมือนผู้หญิง, เด็กแก่แดด เก่งหรือรู้เกินวัย, ผู้ใหญ่ทำตัวเหมือนเด็ก, คนแก่ไม่ยอมแก่ทำตัวเป็นคนหนุ่มสาว, พระสงฆ์ทำตัวเหมือนฆราวาส, ฆราวาสทำตัวเหมือนพระสงฆ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เบี่ยงเบนไปจากธรรมชาติที่ควรจะเป็นเพราะ “จิตวิญญาณแฝง” ดังจะได้อธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป


*ทำไมจิตวิญญาณแฝงจึงทำให้คนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้


---๑)เลือกกายสังขารที่ไม่สอดคล้องกับจิตวิญญาณ เพราะเหตุจำเป็นด้วยผลกรรม เช่น จิตวิญญาณที่เป็นเพศหญิงมาอยู่ร่วมในกายสังขารของมนุษย์เพศชาย หรือ จิตวิญญาณเทวดาที่อายุน้อยเหมือนเด็ก แต่ต้องมาอยู่ในกายสังขารคนแก่


---๒)อายุของจิตวิญญาณยาวนานกว่าอายุขัยมนุษย์ เช่น อายุเทวดามีพันปีทิพย์ ผ่านไปร้อยปีเขาอาจยังถือว่าเป็น “เด็ก” อยู่ ทว่า มนุษย์กลับแก่ลงแล้ว ทำให้ไม่ยอมแก่ ทำตัวเหมือนเด็ก เพราะ “จิตวิญญาณ” ที่เข้าแทรกนั้น ยังอายุขัยน้อยนั่นเอง


---๓)จิตวิญญาณกับกายสังขารแตกต่างกัน เช่น จิตวิญญาณที่เข้ามาแทรกอาจเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น หมู คนๆ นั้นก็ไม่สนใจอะไร เหลวไหล เอาแต่กินกับนอน บ้างเป็นจิตวิญญาณเสือ คนๆ นั้นก็ดุ ทำตัวเหมือนผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมายไป


---๔)จิตวิญญาณมีฤทธิ์เดชมาก เช่น เป็นพญามาร ทำให้แค่อยู่เฉยๆ คนก็มาลุ่มหลงเอาเงินทองมาให้มากมายผิดปกติ บางคนทำสิ่งผิดสิ่งเลวร้ายอยู่ ปราบอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ไม่ได้เสียที เพราะจิตวิญญาณที่แทรกอยู่นั้น มีฤทธิ์เดชคุ้มครองอยู่


---๕)จิตวิญญาณมีกรรมสัมพันธ์กับผู้อื่นมาก่อน เช่น ชายบางคนมีภรรยาแล้ว แต่มีจิตวิญญาณที่รักหญิงคนหนึ่งมาแทรกในกาย ทำให้กระทำชู้กับหญิงที่จิตวิญญาณดวงนั้นรักอยู่ก็ได้ ทั้งๆ ที่อาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พอเจอกันกลับรักกันเลย


*วิธีสังเกตผู้ที่มีจิตวิญญาณแฝงอยู่ในกายสังขาร


---๑)เป็นผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ไม่ใช่โดยกำเนิด ไม่ใช่โดยกรรมกำเนิด ไม่ใช่เพราะพันธุกรรม แต่มาเป็นภายหลังอย่างหาเหตุปัจจัยอธิบายอย่างอื่นไม่ได้ เช่น อดีตก็เป็นผู้ชายปกติรักผู้หญิง แต่พอวันหนึ่งกลับเปลี่ยนไป ชอบผู้ชายด้วยกัน


---๒)เป็นผู้มีอะไรบางอย่างที่เหนือกว่าตาเห็น อธิบายสาเหตุไม่ได้ เช่น ไม่เคยเรียนเรื่องการดูดวงมาก่อน แต่ทำไมทำนายแม่นยำ ทักทายเรื่องอนาคตได้ถูกต้อง หรือเป็นคนธรรมดา แต่ทำไม คนทั่วๆ ไป ถึงได้รุมรักรุมหลงกันมากผิดปกติ


---๓)เป็นผู้มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากคำว่า “มนุษย์” แฝงร่วมในพฤติกรรมปกติ เช่น นิยมกินของหมักเน่ามากกว่าของที่ไม่เน่า (ผิดปกติ), เป็นผู้หมกตัวเก็บตัวไม่ยอมออกไปไหน (ผิดปกติ), เป็นผู้วันๆ ไม่ทำอะไรเลย เอาแต่เล่นเกม (ผิดปกติ)


---๔)อื่นๆ เช่น ถูกทักว่ามีองค์, เพ่งด้วยตาทิพย์แล้วเห็นจิตวิญญาณหลายดวงอยู่ ไม่เคยเป็นก็เป็น เช่น ไม่เคยชอบสีชมพู (เกลียดมาก) แต่วันหนึ่งเกิดชอบมากๆ


*ประเภทของจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในกายสังขารมนุษย์


---จิตวิญญาณประเภทต่างๆ แฝงเข้ามาในร่างกายแล้ว ทำให้เราจับสังเกตได้ดังนี้

---๑)จากเบื้องบน (สิ่งศักดิ์สิทธิ์)


  • จากสุขาวดี          อยู่เฉยๆ ก็มีกิน, มีมากมายพอเหลือแบ่งให้สังคม


  • จากพรหมโลก          อยู่เฉยๆ ก็มีกิน, แต่มีกินไม่มาก อาศัยสมถะก็อยู่ได้


  • จากโลกมาร          อยู่เฉยๆ ก็มีกิน, แถมร่ำรวย ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยหรูหรา


  • จากเหล่าเทพ          อยู่เฉยๆ ก็มีกิน, มีตำแหน่ง, หน้าที่สำคัญต้องทำ


  • จากชั้นเทวดา          อยู่เฉยๆ ก็มีกินมีใช้ แม้ไม่มากมาย คล้าย พระสงฆ์


---๒)จากเบื้องล่าง (เจ้ากรรมนายเวร)


  • จากเดรัจฉาน          ต้องหากินด้วยการ “ล่า” กดขี่ เอากับคนที่ด้อยกว่า


  • จากเทพอสูร          ต้องหากินยากลำบาก ถูกบีบให้โกง แต่ก็ไม่ถูกจับ


  • จากเปรตอสุรกาย          ต้องหากินยากลำบากมากขึ้น ถูกบีบให้โกงมากขึ้น


  • จากเปรต          ต้องหากินยากลำบากฝืดเคือง ได้ก็เหมือนสูญหมด


  • จากสัตว์นรก          ต้องทรมาน ต้องโทษ รับการลงทัณฑ์ หรือป่วยไข้


*ข้อสังเกตบุคคลที่มีจิตวิญญาณแฝง


---๑)พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กล่าวคือ อาหารของจิตวิญญาณแต่ละชนิดจะถูกกำหนดโดยกรรม เช่น เปรตกินไฟก็จะกินแต่ไฟ เมื่อมาอยู่ในร่างมนุษย์มันจะสูบบุหรี่จัดมาก, เทพชั้นสูงจะไม่หิวข้าว กินแต่ผลไม้สด, พรหมจะชอบกำยาน ฯลฯ


---๒)พฤติกรรมการอยู่อาศัยเปลี่ยนไป กล่าวคือ การอยู่อาศัย, การนอน หรือที่พัก จะเปลี่ยนไป เช่น พวกที่มีมังกรฟ้าจะอยู่ไม่ติดที่ จะย้ายไปมาดั่งโบยบิน, พวกที่มีมังกรดิน จะขุดโพรงใหญ่ เช่น สร้างตึกหลายชั้นมากมาย เพื่อนอนขดในตึกนั้น


---๓)พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์เปลี่ยนไป กล่าวคือ เดิมอาจเคยมีเพศสัมพันธ์เหมือนคนปกติ แต่ภายหลังมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย, หญิงมีเพศสัมพันธ์กับหญิง (ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน) หรือนิยมความรุนแรง


---๔)พฤติกรรมตามอายุขัยเปลี่ยนไป กล่าวคือ วัยเด็กสมควรชอบ กิน, นอน, เล่น วัยรุ่นสมควรชอบเรียนรู้, ทดลองของใหม่ๆ และเรื่องเพศ วัยผู้ใหญ่สมควรชอบการงาน, วัยแก่ควรชอบธรรมะ แต่ถ้าพฤติกรรมไม่ตรงกับวัย นี่คือ สิ่งที่น่าสงสัย


---๕)พฤติกรรมการมีปฏิสัมพันธ์เปลี่ยนไป กล่าวคือ คนที่ไม่เคยรู้จัก กลับทำเหมือนสนิทคุ้นเคยราวกับรู้จักกันดี, คนเคยรู้จักกลับทำเหมือนห่างเหินราวกับคนไม่รู้จักกัน คนเคยรักกลับเฉย, คนแปลกหน้ากลับรักทันทีที่แรกเห็น เป็นต้น


---๖)พฤติกรรมด้านรสนิยมส่วนตัวเปลี่ยนไป กล่าวคือ เคยมีรสนิยมเฉพาะตัว เช่น การชอบและไม่ชอบอะไร ก็เปลี่ยนไป เช่น ไม่เคยชอบปลาร้ากลับชอบได้, เคยชอบเที่ยวกลางคืนกลับไม่ไปเลย, ชอบกินเหล้ากลับมาเกลียด ฯลฯ เป็นต้น


---นี่เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น ที่ผู้อ่านซึ่งไม่มีตาทิพย์หูทิพย์จะใช้ในการสังเกตพฤติกรรมของคนได้ แต่อย่าใช้ในการระแวง, จับผิด, เพ่งโทษกัน ใช้เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติเท่านั้น 


*การต่ออายุขัยสำหรับผู้หมดอายุขัยทำได้หรือไม่


---สรรพสิ่งมีวาระเกิดแล้วดับลงไปเป็นธรรมดา ไม่มีผู้ใดหลุดพ้นจากกฎนี้ มนุษย์ทุกคนมีอายุขัยต่างกัน ถูกกำหนดแล้วโดย “ส่วนบุญส่วนกรรม” ตั้งแต่ก่อนเกิด จะมีเทพสององค์ดูแลบัญชีนี้อยู่ คือ เทพองค์หนึ่งจะดูแลเรื่องการเกิด, เทพอีกองค์จะดูแลเรื่องการตาย เทพทั้งสององค์จะปิดบัญชีของตนเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้กันและกันทราบ ในขณะที่เทพอีกองค์หนึ่งจะทราบเรื่อง “อายุขัย” ของมนุษย์ทุกคน โดยไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการเกิด (เช่น จะเกิดมาได้ครอบครัวมีฐานะหรือไม่) และการตาย (จะตายตอนไหนเวลาใด ใครเป็นผู้มาฆ่าหรือไม่) ทั้งหมดนี้ มีความแน่นอนระดับหนึ่ง กำหนดแล้วไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ยกเว้น สามกรณี ที่สามารถต่ออายุขัยให้ยืนยาวต่อไปได้ คือ


---๑)บรรลุเซียน     สามารถยืดอายุตัวเองได้  เพราะเซียนได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนือกฎบางอย่าง เซียนสามารถอยู่บนโลกได้โดยไม่กระทำกรรมมากและประคองตนให้อยู่ในกรอบได้ จึงได้รับการผ่อนปรนให้สามารถยืดอายุขัยตนเองได้ เช่น พวกเซียนเต๋า ที่นิยมทำยาอายุวัฒนะทั้งหลาย เซียนเต๋าบางท่านมีอายุหลายร้อยปี


---๒)บรรลุโพธิสัตว์ สามารถยืดอายุตัวเองได้ เพราะโพธิสัตว์เมื่อบรรลุแล้ว ไม่หวังนิพพาน แต่จะอยู่เพื่อโปรดสัตว์ต่อไป ดังนั้น การยืดอายุก็มีผลดีต่อมวลสรรพสัตว์ และการไม่หวังนิพพานก็ไม่ต้องกังวลว่าอยู่อายุยืนยาวไปแล้วกรรมจะพอกพูนมากเกินไปจนไม่ได้นิพพานหรือไม่ เพราะไม่ได้หวังนิพพานนั่นเอง


---๓)บรรลุอรหันต์   สามารถยืดอายุตัวเองได้ เพราะพระอรหันต์เป็นผู้มีปัญญาฝึกมาดี รู้จักอยู่บนโลกได้อย่างไม่ประมาท ระมัดระวัง ก่อกรรมน้อย และสามารถชดใช้กรรมได้หมดในชาตินั้นๆ จึงได้รับอนุญาตจากสวรรค์ให้ยืดอายุขัยตัวเองได้


*ถ้าถูกทักว่าชะตาขาดจะทำอย่างไร


---เร่งปฏิบัติจิตให้บรรลุอย่างน้อยระดับเซียนขึ้นไป หรือถ้าให้ดี คือให้บรรลุโพธิจิต เป็นพระโพธิสัตว์ ก็จะสามารถทำพิธีขอต่ออายุได้ด้วยวิธีต่างๆ ที่มีครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้สอนวิธีทิ้งไว้ เช่น บางท่านมีพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ, พิธีเรียกขวัญ ฯลฯ เหล่านี้ ก็ต่ออายุขัยได้ทั้งสิ้น สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่พิธีหรือผู้ทำพิธี แต่อยู่ที่ตัว “ผู้ขอต่ออายุ” เอง คือ จะต้องมีบารมีธรรมในตัวเอง ระดับเซียนหรือโพธิสัตว์ขึ้นไปเป็นพื้นฐาน ถ้าทำได้ สวรรค์ก็อนุญาตให้ต่ออายุได้ โดยไม่ต้องไปให้ความสำคัญกับพิธีมากเกินไป คนทำพิธีไม่ว่าเก่งหรือไม่เก่งไม่ได้สำคัญนัก ต่อให้เก่งล้นฟ้าแต่ถ้าฝืนลิขิตฟ้าเรื่องการต่ออายุขัยนั้น ก็ไม่อาจทำได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว จึงสำคัญที่ตัวผู้ขอต่ออายุมากกว่า ส่วนผู้ทำพิธีนั้น ก็ได้ลาภสักการะไปในฐานะผู้ให้บริการในการทำพิธีนั้นๆ เป็นการหล่อเลี้ยงกันให้อยู่รอดในสังคมในฐานะผู้ทำพิธีเท่านั้น สรุปง่ายๆ คือ อายุขัยต่อได้ด้วยการทำพิธีอะไรก็ได้ ไม่สำคัญนัก สำคัญที่ผู้ขอต่ออายุนั้น สวรรค์พิจารณาแล้วว่าสมควรให้ต่อได้หรือไม่ ซึ่งก็คือ สำเร็จธรรมขั้นไหนเท่านั้นเอง ในที่นี้คือ ต้องสำเร็จธรรมตั้งแต่เซียนขึ้นไป


*การต่ออายุขัยทำได้อย่างไร


---ในทางเทคนิคนั้น มนุษย์จะมีอายุขัยยืนยาวมากเมื่อมีดวงจิตในกายมาก แต่จะมีอายุขัยน้อยลงเมื่อดวงจิตในกายเหลือน้อย หรือกล่าวง่ายๆ คือ จิตทั้งหมดในกาย ๘๙ ดวงนั้น ค่อยๆ ทยอยจุติออกไปจากกายสังขารเรื่อยๆ จนเมื่อเหลือดวงจิตสุดท้ายดวงเดียว ก็คือ ใกล้ตายแล้ว ที่เรียกว่า“ชะตาขาด” แต่ถ้าเอาดวงจิตที่จุติออกจากร่างกายเข้าไปอยู่ในร่างกายต่อได้ ทำให้ดวงจิตมีจำนวนมากขึ้นได้ ก็สามารถต่ออายุขัยให้ยืนยาวต่อไปได้อีก แม้ว่าร่างกายจะดูไม่ดีนัก มีโรคภัยเบียดเบียนอยู่ประจำก็ตาม หากกายสังขารนั้นยังพอใช้ได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ากายสังขารนั้นไม่เหลือสภาพแล้ว ก็ต่ออายุขัยไม่ได้ ทว่า เมื่อต่ออายุขัยแล้วต้องทนอยู่ในร่างกายที่เต็มไปด้วยโรคนั้น ท่านยังอยากจะต่ออีกไหม


*ยุคมังกรฟ้า ยุคแห่งบุบผาชน อิสระชน เสรีชน (เซียน)


---หลังกึ่งพุทธกาล อสูร, มาร, เทพ, พรหม ผู้มีฤทธิ์เดชมาก ลงมาดูแลพระพุทธศาสนา แต่ต่างไม่ยอมเคารพกัน ไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครฟังใคร ต่างสอนกันไม่ได้ อันจะนำไปสู่ภัยแก่เหล่าสรรพสัตว์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดภัยมากไปกว่านี้ จึงต้องใช้อุบายสี่เสาหลักค้ำสามภพ คือ จับพญาสัตว์สี่เหล่า ตรึงเป็นเสาค้ำสามภพ หลอกล่อด้วยลาภยศ, สรรเสริญ, ตำแหน่ง, เงินทอง ให้เขาเหล่านี้ไป “ติดกับ” เมื่อติดกับแล้ว ถูกกลร้อยห่วงบ่วงรัดไม่อาจดิ้นหลุดไปไหนได้ ต้องปักหลักตรึงตัวเองอยู่เพื่อทำกิจต่างๆ ไม่อาจถอนตัว บางท่าน เริ่มรู้ตัว อยากหนี อยากออกไปเสียจากตำแหน่งเดิมของตน เริ่มเบื่อหน่าย ทว่า หากยังไม่หมดเวรหมดกรรม


---ก็ไม่อาจเอาตัวออกไปได้ บริวารคุมเจ้านาย เจ้านายกระดิกตัวหนีก็ไม่ได้ เจ้านายเคยใช้บริวาร ยามนี้ บริวารใช้เจ้านายเป็นดังเสาค้ำบ้านให้ต้องอยู่เพื่อนำสิ่งต่างๆ มาให้แก่ตน เช่น พระสงฆ์ดังๆ ถูกบริวารจับตรึงไว้ ไม่ให้หลุดรอด แล้วเป็นตัวดึงเงินเข้าท้องถิ่น มีแต่เรื่องวุ่นวาย ทำงานไปอย่างไม่สงบสุข บริวารแก่งแย่งแข่งขันกัน น่าเบื่อหน่าย แต่ไปไหนไม่รอด ไปไหนไม่พ้น ต้องปักหลักติดหล่มอยู่ในวังวนนั้น ดังนั้น แม้ได้ดี มีตำแหน่งเงินทอง แต่ไม่มีความสุข ผู้มีความสุขกลับเป็นอิสระชน เสรีชน และปัจเจกชนทั้งหลาย (ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ชอบชีวิตอิสระ มีใจเพื่อมวลสัตว์) เหล่าเซียนจะเกิดขึ้นมากมาย และเป็นผู้ที่อยู่บนโลกอย่างมีความสุขมากกว่าคนเหล่าอื่น นอกนั้น ไม่ได้ความสุขที่แท้จริง (เซียน คือ พวกบรรลุเอง แต่ไม่นิพพาน เพราะไม่ได้ตัดกิเลสทั้งหมด และบ้างก็มีความปรารถนาพุทธภูมิ) ดังจะกล่าวต่อไป


*เสียใจด้วยกับผู้มียศใหญ่แต่หาความสุขไม่ได้


---เมื่อพวกอสูร, มาร, เทพ, พรหม ได้รับพุทธานุญาติ แล้วจากพระพุทธเจ้าให้มาดูแลพุทธศาสนา ดังนั้น จึงไม่อาจปราบหรือทำลายพวกเขาได้ เพื่อไม่ให้ผิดต่อพันธะสัญญานั้นๆ จึงต้องปล่อยให้เขาครองอำนาจและความเป็นใหญ่ในสังคม แต่พวกเขานั้นต่างไม่ถูกกัน ต่างแก่งแย่งแข่งขันกันไม่สิ้น วิธีเดียว คือ “ตรึงกำลัง สร้างค่ายกลร้อยห่วง” มัดตรึงเอาพวกเขาไว้ ให้อยู่ในสภาพ “สมดุล” ต่อให้มีเรื่องราว กระทบกระทั่งกัน แต่ก็ไม่ล่มสลาย พวกเขาจึงตกอยู่ในสภาพ “มีอำนาจ แต่หาความสุขไม่ได้” เพราะไม่อาจจะแก้ “กลร้อยห่วง” นี้ได้ พวกมีหน้าที่สร้าง ก็มาสร้างความเจริญในถิ่นที่ขาดแคลน พวกมีหน้าที่รักษา ก็รักษาสิ่งสำคัญจำเป็น พวกมีหน้าที่ทำลาย ก็คอยเป็นบ่อนทำลายกระตุ้นให้เกิดสภาพแช่แข็ง เป็นบ่วงผูกรัดกัน ตรึงกำลังกันเอง ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ แต่คนที่แข่งขัน ล้วนแพ้ทุกคน ผู้ชนะกลับเป็นผู้ “ไม่แข่งขัน” นี่คือ “บ่วงกลร้อยห่วง” ที่ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่มีจบสิ้น ผู้ที่ต้องการปลดตัวเอง ต้องยอมแพ้ออกมาเอง จึงออกมาอยู่อย่างอิสระเสรีได้


---เพื่อตรึงอำนาจของอสูร, มาร, เทพ, พรหม ให้อยู่ร่วมกันอย่างเหมาะควร และพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ถูกทำลาย เดินหน้าต่อไปได้ จำต้องใช้กลอุบายนี้ บ่วงมัดผูกเขาไว้ แล้วใช้การกระทบกระทั่งกันเองของพวกเขา บีบให้ “ผู้ที่พร้อม” เอาตัวออกมาจากบ่วงนี้ เมื่อเขาออกมาแล้ว เหล่าผู้มีธรรมก็จะโปรดให้เขาหลุดพ้น เหล่าผู้บ้าอำนาจนั้น กลับถูกอำนาจผูกมัดและต้องทำกิจต่างๆ ไป ไม่อาจหลุดออกมาได้ จนกว่าเขาจะต้องการอยากหลุดพ้นจริงๆ ก็จะ “ยอมจำนน” และพร้อมที่จะรับธรรม ออกมาจากกลร้อยห่วงแล้ว ก็ได้ธรรมในที่สุด นี่คือวิธีเดียวที่จะรักษาสมดุลสามภพ และรักษาพระพุทธศาสนาพร้อมกัน


*ยุคแห่งอิสระชนเป็นไฉน


---บุคคลผู้แสวงหาความเป็นอิสระ ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าแล้ว จึงอยู่ได้ในสังคมอย่างอิสระเสรี มีความสุขสงบแท้จริง ไม่ถูกบ่วงกลร้อยห่วงผูกรัด วังวนแห่งอำนาจ, ลาภยศสรรเสริญ จะเป็นพันธนาการที่ทำให้บุคคลไม่มีความสุข มีแต่ความวุ่นวาย ไม่มีใครทำให้พวกเขาสงบได้ และไม่จำเป็นต้องมี พวกเขาจะไม่ยอมฟังใคร และแก่งแย่งแข่งขันกันต่อไปไม่มีใครชนะ ไม่มีใครแพ้ เพราะต่างก็ไม่มีใครยอมแพ้เลย จะให้ใครชนะเป็นไม่ได้ เมื่อเบื่อหน่ายทางโลกอย่างแท้จริงเมื่อใด ย่อมแสวงหาทางหลุดพ้น เมื่อนั้น อิสระชนก็บังเกิด

*รู้จักกับความหมายของเซียนกันอีกครั้ง (อิสระชน, บุบผาชน)


---เซียน คือ ผู้บรรลุหลุดพ้นทุกข์ได้ด้วยตัวเอง วิธีของตัวเอง แต่ไม่ถึงนิพพาน เช่น การหลุดพ้นจากความโลภที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองได้ด้วยตนเอง ไม่มีครูสอน ถ้าบรรลุแล้วถึงนิพพานจะเรียกว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” ส่วนเซียนท่านใด ที่เมื่อยามมีชีวิตยังไม่นิพพาน แต่พอจะละสังขารเกิดปลงตก แล้วละสังโยชน์ตัวสุดท้ายได้พอดี ก็ดับขันธปรินิพพานตอนนั้น เรียกท่านนั้นว่า “เซียนผู้นิพพานแล้ว” ซึ่งในสภาวะของนิพพาน นับท่านนี้ว่าเป็น “พระปัจเจกพุทธเจ้า” พระองค์หนึ่ง แต่ยามมีสังขารบนโลก จะเรียกว่า “เซียน” เท่านั้น ดังนั้น ยุคนี้ บนโลกไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงอยู่ได้เพราะปัจจัยไม่เอื้ออำนวยก็จริง แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เกิดขึ้นได้จากการดับขันธปรินิพพานของ “เซียน” หรือการกำหนดจิตพิจารณาละสังโยชน์ขณะตายซึ่งเป็นวิธีเข้าถึงธรรมแบบหนึ่ง


---ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธหนัก จนไม่มีพระภิกษุรูปใดให้การช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าทรงโปรดแล้วตรัสให้กำลังใจว่าท่านผู้นี้จะไม่ไปสู่ความทุกข์ ท่านมีศรัทธาเต็มกำลัง จึงได้เชือดคอตัวเองตายแล้วเหล่ามารเข้ามาหากลับไม่พบ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่าท่านนี้ได้นิพพานแล้ว อันเป็นที่มาของ “การทำโพวะ” หรือ การตั้งจิตตาย ถ้าตั้งจิตตายโดยปรารถนาพุทธภูมิก็จะได้อย่างนั้น ถ้าตั้งจิตตายเพื่อนิพพานก็ได้เหมือนกัน ยุคสมัยปัจจุบัน จะมีผู้ที่สำเร็จเซียนเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นคนไม่สังคมโลกมากขึ้น แต่อยู่ได้ในแบบของเขาเอง เพราะเบื่อหน่ายเรื่องราวทางโลก พวกเขาเหล่านี้จะบรรลุเซียน คือ ละความยึดถือบางประการได้ด้วยตัวเอง แต่ไม่ทั้งหมด เมื่อจะตายลงนั้นเองได้พิจารณาไม่เหลืออะไรอีกแล้ว ก็จะละสังขารด้วยอาการ “ดับขันธปรินิพพาน”ไป แม้บุคคลจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่หลายคนไม่เข้าใจอย่างแท้จริง แต่กลับพบวิธีด้วยตนเอง ทราบแต่เพียงว่าต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ไม่รู้ว่าปล่อยอย่างไร ทำอย่างไร แต่กลับพบวิธีด้วยตนเอง เหล่านี้ ล้วนถือเป็น “เซียน” ทั้งสิ้น


---เซียนเมื่อยามมีชีวิตอยู่บนโลก จะพิจารณาว่าตนปรารถนาอะไร ปรารถนาหลุดพ้นไม่ต้องมาช่วยเหลืออะไรใครอีกเอาตัวเองรอดไปก็พอ หรือตั้งความปรารถนาไปตรัสรู้เอง แล้วช่วยเหลือมวลสัตว์ข้างหน้าในฐานะ “พระปัจเจกพุทธเจ้า” ก็ดี “พระพุทธเจ้า” ก็ดี ล้วนได้ทั้งสิ้น เพราะผู้บรรลุเซียนแล้ว จะมี “ญาณประมาณกำลังตนได้” เมื่อถึงจุดหนึ่ง คือ เมื่อบรรลุเซียนแล้ว บางท่านออกสู่สังคม สังคมไม่ต้อนรับ ขับไล่เพราะไม่เข้าใจ ก็รู้ตัวแล้วว่าตนเอง ต้องเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่บางท่านเข้าสู่สังคมกลับได้รับการต้อนรับพอสมควร พอไปได้ โปรดสัตว์ได้บ้าง แต่โปรดวงกว้างไม่ได้เพราะสัตว์ในยุคนี้มีกรรมมาก


---จะทำให้เกิดกรรมพัวพันตนมากเกินไป และจะต้องไปเกิดชดใช้ชำระกรรมกันอีกหลายชาติกว่าจะได้ลงมาตรัสรู้ ก็จะประมาณตน ประมาณกรรม ไม่พัวพันกรรมมากเกินไป แต่ก็ต้องพัวพันบ้าง เข้าหาสังคมบ้าง ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป แบบนี้มีโอกาสสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แต่ถ้าไม่ประมาณตนหลงตน แล้วถูกลูกศิษย์ใช้แนวทางอาจาริยวาท คือ ปั้นอาจารย์ของตนเองขึ้นเป็นเจ้านิกายใหม่ ก็จะเกิด “อนันตริยกรรม” ทำพระพุทธศาสนาแตกแยกทันที ส่วนที่ทำไปเพื่อมวลสัตว์นั้นก็เป็น“อนันตริยบุญ” ทั้งส่วนกรรมและบุญที่เป็นอนันต์ นำพาสู่สุขาวดีในที่สุด แบบนี้ จะไม่ใช่เพียงเซียนอีกต่อไป เพราะการทำบุญบารมีไปเรื่อยๆ นั้นนำถึงยูไลได้


---ดังนั้น ขอเพียงละความยึดมั่นถือมั่นได้ด้วยตนเองก่อนที่จะมีอาจารย์มาสอน ก็นับเป็นเซียนในเบื้องต้น แต่จะปฏิบัติธรรมต่อไปจากเซียนที่ไม่ใช่โสดาบันให้กลายเป็นโสดาบัน จนถึงอรหันต์ก็ได้ เพราะพระธรรมในพุทธศาสนายังเหลืออยู่ เซียนแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ มีในพระพุทธศาสนามานานแล้ว อย่างท่านสุภัททะนั่นก็ใช่ เพราะไม่มีใครมาบอกตอนบรรลุธรรม (อรหันตสาวกองค์อื่นจะมีพระพุทธเจ้ามาช่วยตอนใกล้บรรลุธรรม) อันนี้ก็จัดว่าบรรลุด้วยตนเองแต่อาศัยพระพุทธศาสนาช่วยเหมือนกัน เป็นเซียนในพระพุทธศาสนา เหล่าท่านที่บรรลุเองเหล่านี้จะมีญาณอย่างหนึ่ง ที่ระวังตัว ระวังกรรมมาก ต่างจากท่านที่มีครูช่วยให้บรรลุ ดังนั้น เซียนจึงไม่นิยมทำตัวคลุกคลีกับหมู่คนเกินไป กรรมจึงน้อยมาก


*ระดับความเป็นอยู่ของเซียนกับสังคม


---๑)ระดับแยกขาดจากสังคมโดยสิ้นเชิง


---แบบนี้จะทำให้ได้เป็น “พระปัจเจกพุทธเจ้า” แต่จะได้เมื่อจะละสังขารเท่านั้น ก่อนหน้านี้ที่ต้องมีสังขารอยู่บนโลกจะได้ไม่ได้ ถ้าได้จะตาย คือ ละสังขารภายในเจ็ดวัน ไม่ใช่ตายทันที ตายทันทีไม่มี เพราะธาตุทั้งสี่จะต้องใช้เวลาในการแยกสลายตัวออกจากกันก่อน จนร่างกายมีพยาธิสภาพแล้วจึงค่อยตาย จึงต้องกินเวลาหน่อย แต่จะไม่เกินเจ็ดวัน ส่วนท่านที่ไม่ทำตัวแยกขาดจากสังคมเด็ดขาด ก็จะเหลือบุญกรรมพัวพันกับคนอยู่มากน้อยตามกำลังความยุ่งเกี่ยว ส่งผลให้เหลือกรรมไปต่อบนภพสวรรค์อีกเล็กน้อยตามนั้น


---๒)ระดับที่เกี่ยวข้องกับสังคมบางส่วน


---แบบนี้จะส่งผลให้มี “บุญกรรมพัวพันกับคนบนโลก” ซึ่งถ้าพัวพันมาก ก็มีบุญกรรมผูกมัดกันมาก คนที่เข้าไปลากเซียนออกมานั้น กายสังขารของพวกเขาไม่รู้ว่าเซียนคือเซียน แต่จิตวิญญาณจะรู้ เพราะจิตเป็นธาตุรู้ ส่วนสมองเต็มไปด้วยเครื่องปรุงแต่ง ดังนั้น พวกเขาจึงทำไปโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่อาจอธิบายได้ แต่ทำโดยอัตโนมัติ เช่น ไปลาก ไปดึง ไปควานหาเหล่าคนที่เก็บตัวนั้นออกมาจากสังคม คนที่ไปลากมานี้


---ก็ไม่ได้เป็นคนเลว แต่ทำโดยสัญญาใจ ที่ต้องลงมาทำกิจเช่นนี้ เช่น “รายการคนค้นคน” ทำไมรายการนี้ต้องเกิดมาและมีอยู่ในประเทศไทย แสดงว่า “มีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการค้นคน” ต้องมีคนบางจำพวกที่สมควรถูกค้นหาเพราะไม่ใช่คนที่สังคมรู้จักหรือรุมล้อมว่าเป็นผู้มีบุญบารมีเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น นี่ธรรมชาติสร้างมาพร้อมแล้ว เหตุปัจจัยสัมพันธ์กันหมด ไม่มีอะไรไร้เหตุไร้ผล สำหรับเซียนที่ถูกลากออกไปมั่วสุมกับคนในสังคมนั้น ก็เป็นไปตามกรรมเก่าของตนที่ทำมาแล้วยังชำระกับเจ้ากรรมนายเวรไม่หมด แม้จิตใกล้จะได้นิพพานจริง ไม่ใช่นิพพานเก๊ แต่เพราะเวรกรรมไม่หมดสิ้น ก็ต้องถูกลากออกมาสู่สังคมในที่สุด หนีไม่ได้ ไม่มีใครหนีกรรมได้เลย เซียนเหล่านี้จะพัวพันกรรมกับคนระดับหนึ่ง เป็นเครื่องต่อชาติสืบภพของตนออกไป ถ้าพัวพันมากกับคนไม่ดี ชาติภพก็ยาวออกไปมาก


---๓)ระดับที่เกี่ยวข้องกับสังคมเต็มตัว


---แบบนี้จะส่งผลให้การปฏิบัติเลยเถิดออกไป กลายเป็น “บุญกรรมใหม่” ทั้งสืบชาติต่อภพ และเสริมบารมีกันเข้าไป จนในที่สุด เลยเถิดเกินนิพพาน ต้องไปค้างเติ่งอยู่ที่สุขาวดี เรียกว่ากรรมและบุญมากจัด นิพพานไม่ได้ นิพพานไม่ลง ต้องตั้งความปรารถนากันชนิดไม่มีที่สิ้นสุดเลย เช่น จะโปรดสัตว์ไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นต้น เพราะกรรมมาก เป็น “อนันต์” พวกที่เข้าร่วมสังคมเต็มตัว คือ พวกที่รับตำแหน่งใดๆ ก็ตามทั้งทางโลกทางธรรม เช่น ตำแหน่งทางราชการก็ดี, ตำแหน่งพราหมณ์ประจำสำนักไหนก็ดี, ตำแหน่งสังฆราชก็ดี


*พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าธรรมแม้น้อยนิด ปฏิบัติยิ่งยวด อรหันต์จะไม่หมดสิ้น


---พระอรหันต์จะไม่หมดสิ้นไปจากโลกนี้ ขอเพียงปฏิบัติอย่างยิ่งยวด แม้จะเหลือพระธรรมของพระพุทธเจ้าเพียงเศษส่วนกำมือ นี่คือ ใจความสำคัญหนึ่งของ “สัญญาใจ” ที่บรมครูของเราชาวพุทธ คือ พระพุทธเจ้า ทรงให้ไว้แก่เราลูกหลานเชื้อสายพุทธะทั้งหลาย ขอเพียงเราปฏิบัติยิ่งยวดด้วยศรัทธา พระรัตนตรัยที่แท้จริงย่อมปรากฏแก่เราได้อัศจรรย์ ผู้เขียนในวัยเยาว์เป็นเด็กยากจนขาดโอกาส แต่มีความอยากรู้อยากเห็นมาก ตอนเด็กนั้น หาหนังสืออ่านได้ยาก เวลาเห็นเศษหนังสือพิมพ์ขาดๆ เหลือไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ ก็ยังเอามาอ่านดู และพยายามคิดพิจารณาถึงข้อความอื่นๆ ที่ขาดหายไปนั้น เมื่อโตขึ้นได้พบธรรมะของพระพุทธเจ้าในยามที่ชีวิตอับจนถึงที่สุด เสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่มืดมิดยาวนาน ปรากฏเฉพาะหน้าฉะนั้น ได้เร่งปฏิบัติอย่างยิ่งยวดแล้ว พบสิ่งมหัศจรรย์มากมายที่ไม่อาจอธิบายได้ นึกย้อนกลับไปถึงคำกล่าวของพระพุทธองค์แล้วก็จริงดังนั้น 


---ผู้เขียนไม่ได้นิพพาน ยังมีความปรารถนาที่ยังไม่สำเร็จ เหมือน “ความฝันข้ามชาติ” ต้องไปฝันต่อในคืนวันพรุ่ง ดังนั้น จึงยังต้องตื่นขึ้น อยู่กับสิ่งที่ไม่คิดจะอยู่นักต่อไป แล้วหวังว่าเมื่อนอนหลับลงในคืนวันหนึ่งจะได้เห็นฝันที่ใจหมาย แต่ในชีวิตของผู้เขียนได้ศรัทธาพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติธรรมถึงจุดหนึ่ง จึงได้พบสายธรรมของพระพุทธเจ้า ทายาทธรรมของพระพุทธเจ้า และทายาทธรรมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ทั้งสายธรรมพระโพธิสัตว์, สายธรรมของพระยูไล, สายธรรมของท่านเหล่าจื้อ (เซียน), สายธรรมของพรหมโลก (พระพรหม เป็นอาทิ) ฯลฯ ทั้งยังได้รับการช่วยเหลือจากท่านเหล่านั้นหลายประการ จึงได้บอกแก่ท่านเหล่านั้นว่าจะช่วยกิจศาสนาทั้งสี่ คือ พุทธ, คริสต์, พราหมณ์, ปรัชญา (เหล่าจื้อ, ขงจื้อ, เม่งจื้อ, ชินโต ฯลฯ)


---ทั้งยังเคยตั้งใจจะช่วยเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติของสรรพสัตว์สี่เหล่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย การกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา ของสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพราะไม่มีอะไรที่แยกอยู่โดดเดี่ยวเป็นตัวกูของกูได้อย่างอิสระแท้จริง จึงมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา แต่ที่ควรจะช่วยคือ เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันแล้วในระดับใดที่ยังสามารถอยู่ต่อไปได้ และยังผลให้ผู้คนที่ควรจะเบื่อหน่ายโลกค่อยๆ ทยอยออกจากวังวนของโลกมาทีละน้อย นั่นต่างหาก ดังนั้น จึงต้องรักษาพุทธศาสนาที่แท้จริงไว้ รอสัตว์สี่เหล่า คือ อสูร, มาร, เทพ, พรหม


---ที่เบื่อหน่ายที่จะกระทบกระทั่งกันต่อไปแล้ว ค่อยๆ เข้ามาแสวงหาพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น ส่วนที่อยู่ทางโลกก็โปรดทางโลกไปตามแต่พวกเขาจะทำ ไม่อาจใช้อำนาจไปควบคุมบงการได้ ใครจะเอาศาสนาไปเพื่อเรื่องวัตถุหรือเรื่องพาณิชย์เราก็ไม่อาจห้ามหรือต้านทานเขาได้ ทำได้เพียง “บอก” คือ “เป็นเพียงผู้บอกทางเบื้องต้น” ก่อนที่เขาจะก้าวไปข้างหน้าต่อไปจนหลุดพ้นถึงนิพพาน ทั้งสี่เหล่าก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะดูไม่ดีนัก แต่ก็มีผลดีในแง่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและค่อยๆ เอาตัวออกมาจากวังวนนั้น พุทธศาสนาที่แท้ก็รออยู่เมื่อเขาได้ปลดตัวเองออกมาแล้ว อนึ่ง พุทธศาสนาที่แท้นี้ มีทั้งแบบที่ปรารถนานิพพาน และแบบปรารถนาพุทธภูมิ แต่ต้องไม่มีการแยกตัวไปตั้งนิกายใหม่ ไม่มีนิกาย ไม่มีเจ้านิกาย ไม่มีเจ้าลัทธิ พระพุทธศาสนายังคงเดิมไม่มีแตกกอ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ที่ตรัสรู้จริงเพียงผู้เดียว และนำสู่นิพพานได้จริงจวบจนสิ้นอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี จะไม่มีศาสดาอื่นเกิดมาแทนที่พระพุทธเจ้าในศาสนานี้


---ส่วนในศาสนาคริสต์ ก็อยู่กันได้ดีแล้ว ยืนหยัดได้ด้วยตนเองแล้ว ปลอดภัยไม่ต้องการการอุ้มเหมือนเด็กอีกต่อไป จะมีก็แต่รอคนที่ยังไม่เข้าใจในหลักศาสนาที่แท้ แม้เข้าสู่คริสต์แล้ว เราก็ดักรอเขา และแนะนำเขาได้ ส่วนพราหมณ์นั้น ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีการยอมรับกันได้ง่ายในประเทศไทย เดี๋ยวนี้คนห่มขาวก็ดี คนทรงก็ดี ก็อยู่ได้มีรายได้ ส่วนศาสนาปรัชญานั้น ก็มีคนที่เรียกกันว่า “ซินแส” มีทางหากินอยู่ได้ด้วยความสามารถของตนเองในแบบต่างๆ เขาเหล่านี้ก็อยู่ร่วมกันในสังคมได้ และเดินธรรมในแบบของตนได้ หากเขาไม่ถึงที่สุดแห่งธรรม หรือติดขัดประการใด เราก็สามารถคอยช่วยเขาได้ในภายหลัง ดังนี้ ก็สามารถช่วยเหลือทั้งสี่ศาสนาได้ด้วยวิธีการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


*เกี่ยวกับผู้เขียน


---ผู้เขียนเป็นลูกชาวนาที่ยากจน เพียรพยายามจนสอบติดมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศได้ด้วยตนเองไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษ (โควตา) แต่ครั้งแรกที่อ่อนต่อโลกประสบกรรม ต้องอกหักประมาณสิบปี ในช่วงสองปีแรกเกือบตาย ต้องลาออกไม่เป็นผู้เป็นคน เริ่มต้นสอบเข้าใหม่ได้ที่เดิมแต่ย้ายคณะ ทนเรียนไปจนจบ รวมเวลาเรียนแปดปี แต่จบเพียงปริญญาตรีเท่านั้น เมื่อทำงานแล้ว งานมากหนักและเครียด จนหนีไปบวชเองเสียดื้อๆ ไม่ลางานด้วย พระไม่รับบวช ก็เลยตั้งจิต “บวชตัวเอง” ตั้งแต่วันนั้น ทว่า วันนั้นได้ ครองผ้าขาวเพียงสามวัน ก็ต้องกลับมาทำงานจนเกิดเรื่อง ลูกค้าส่งซองขาวมาถึงบริษัท จึงขอรับโทษด้วยการขอลาออก


---แล้วตกระกำลำบากยากจน ทุกข์มากจึงเร่งปฏิบัติธรรม อยู่หลายสำนัก ก็ไม่มีสำนักไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่า “ถึงที่สุด” จึงไปเรื่อยๆ ไม่รู้กี่สำนัก รวบรวมวิชชาความรู้ต่างๆ แล้วปฏิบัติเอง จนได้แบบของตัวเองในที่สุด ต่อมามีฤษีรูปหนึ่งที่บวชเป็นฤษีอยู่นาน จนเบื้องบนให้มาบวชพระ ก็มาเป็นอาจารย์ต่ออีก แล้วบอกให้ผู้เขียนบวช ผู้เขียนบวชเณร เกือบได้หลวงปู่เทพโลกอุดรเป็นอาจารย์ แต่เพราะไม่ค่อยเชื่อฟังใคร ท่านจึงจากไป จากนั้นก็ต้องปฏิบัติเอง ปัจจุบันไม่ใช่ทั้งฆราวาสและพระในนิกายใดๆ เลย เมื่อออกจากความเป็นเณรแล้ว ผู้เขียนก็เข้าสู่ “ธรรมอิสระ” อันถือธรรมที่มีอยู่ทุกที่ มีพระรัตนตรัยเป็นที่สุด ไม่มีอย่างอื่น ตามปรารถนาที่จะโปรดสัตว์สืบต่อไป


*การอยู่อย่างอนันต์ไม่ยอมนิพพานแบบพระยูไลทำได้ไฉน


---ผู้ไม่มีกรรมเหลือเลย คือ ผู้ที่จะได้นิพพาน ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพาน จะไม่นิพพานได้ก็ด้วยมีกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมเลว ไม่มีใครมีเลวหรือดีด้านเดียวเพียงแต่จะผสมผสานสัดส่วนเท่าไรก็แล้วแต่ไป แม้แต่ซาตานอาจมีส่วนกรรมเลว ๙๐% ขึ้นไป แต่ก็มีส่วนกรรมดีบ้างเหมือนกัน ไม่มีใครมีแต่ดีหรือเลวด้านเดียว กลไกลแห่งการไม่นิพพาน คือ การเคลื่อนกรรมสองกรรมนี้อย่างสมดุลมีศิลปะ คือ ต้องมีทั้งสองกรรม แต่จะให้มีในสัดส่วนเท่าใดล่ะ อันนี้ ก็แล้วแต่ศิลปะในการกระทำกรรม เพื่อให้ตนเองได้เวียนว่ายตายเกิดช่วยสรรพสัตว์ต่อไป การทำกรรมกับพระพุทธศาสนาอันเป็นเหตุขวางนิพพานนั้น อาจส่งผลกรรมมากถึง “อนันตริยกรรม” แม้มีบุญบารมีมาก ได้ธรรมพ้นจากอบายภูมิ ๔ ได้สถิตอยู่บนสวรรค์แล้วก็ตาม แต่อนันตริยกรรมนั้นเอง เป็นเหตุขวางนิพพาน


---ทำให้ตายไม่ได้ ตายไม่ลง ขันธ์ห้าไม่อาจสลายได้สักที คือ ไม่อาจดับขันธปรินิพพานได้ เฉกเช่นพระยูไลเองก็มี “อนันตริยกรรม” และ “อนันตริยบุญ” ทั้งสองส่วนจึงไม่นิพพาน และมีชีวิตยาวนานนับไม่ถ้วนได้ คนเราถ้าไม่มีกรรมเหลือเลย รับรองว่าแค่ “โดนหนามตำ” ก็บรรลุธรรมเองได้ เพราะแก่จัดเพาะบ่มสุกมากแล้ว ธรรมะไม่มีอะไรเลย ที่มีมากมายนั้น มีแต่สมมุติปรุงแต่ง ธรรมะคือ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ไม่ต้องอธิบาย ยิ่งอธิบายก็เป็นแค่การใช้ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” เท่านั้น คือ เอาสมมุติยอกย้อนสมมุติเพื่อทำลายสมมุติให้สิ้น เปิดเปลือกเผยแก่นเท่านั้น ดังนี้ธรรมะก็ไม่มีอะไรต้องอธิบายมาก ถึงแล้วรู้เองไม่ต้องอธิบาย


---กลับมาสู่เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดต่อ ว่าต้องอาศัยกรรมจึงเวียนว่ายตายเกิดต่อไปได้ ไม่นิพพาน ดังนั้น พระนิตยโพธิสัตว์ทุกองค์ “ต้องก่อกรรมมาก” เพื่อให้มากพอที่ตนจะไม่นิพพานและสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่ต้องไม่ใช่กรรมที่กระทำต่อพระพุทธศาสนาจนกลายเป็น “อนันตริยกรรม” หรือการขวางนิพพานของสรรพสัตว์ แบบนั้น จะไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องเอาบารมีที่สะสมไว้ไปจุติเป็น “พระยูไล” แล้วนิพพานก็ไม่ได้ ต้องรออยู่บนสุขาวดียาวนานแสนนาน เพื่อปลดเปลื้องเวรกรรมที่ตนได้กระทำไว้แต่กาลก่อน แต่ก็นับว่าได้อนุเคราะห์สงเคราะห์สรรพสัตว์มากมายเหมือนกันคือ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการเวียนว่ายตายเกิด เช่น การสร้างนิกายใหม่แยกออกจากพระพุทธศาสนาเพื่อดึงเอาบริวารมาเป็นของตน จนทำให้บริวารไม่ได้นิพพานมากมาย อย่างนี้เป็นกรรมมาก แม้มีบุญบารมีมาก ก็ยังไม่ได้นิพพาน แต่จะได้พ้นทุกข์อยู่บนสุขาวดีสวรรค์


---ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิแล้วสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า กับไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแต่มีบารมีเก่าอยู่ มีเส้นทางเดินไปต่างกัน คือ ผู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องก่อกรรมมากมายต่อมวลสัตว์ที่ไม่ใช่การขวางนิพพาน แต่เป็นการทำลายล้างชีวิตเช่น เป็นกษัตริย์นำสงครามเป็นต้น แต่ผู้ที่ไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้น เพราะก่ออนันตริยกรรม ขวางนิพพานของมวลสัตว์ไว้ เป็นกรรมมาก หนักทั้งนั้น แต่คนละแบบไม่เหมือนกัน


---เพราะกรรมหนักอย่างนี้ จึงต้องชดใช้กรรมมากกว่าคนทั่วไป คือ ต้องเข็ญสรรพสัตว์เข้านิพพานให้ได้มากมาย คือ การต้องเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี, พระยูไลก็ดี จึงจะชำระกรรมของตนได้หมดสิ้น สมมุติมีพระราชาสององค์ องค์หนึ่งมีคนศรัทธามาก แต่นำพาคนไปทำสงครามตายเป็นเบือ แล้วตัดความห่วงบริวารไม่ลง บริวารก็ไม่อาจละจากพระราชาได้ ทั้งสองนี้ ทำสงครามหลายชาติจนเบื่อหน่ายในวัฏฏะสงสาร อย่างนี้ มีโอกาสมากที่พระราชาจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง


---แต่หากพระราชาอีกองค์ ใจดีมีคุณธรรม ไม่ทำสงคราม ไม่ให้คนได้เสียเลือดเนื้อ ทว่า เอาพุทธศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือทำให้คนหลงทางปฏิบัติไม่ได้นิพพานมากมาย แต่บ้านเมืองสงบร่มเย็นเป็นสุขดี มีความเจริญรุ่งเรืองมาก นี่เป็นอนันตริยกรรม พระราชาองค์ที่สองนี้เป็นคนดีมากจริง แต่ไม่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้เลย ต้องเข้าใจว่า ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น เพราะมีบุญบารมีมาก แต่ก็มีกรรมมาก กรรมทั้งหมดล้วนไปสู่ความน่าเบื่อหน่าย อันส่งผลตรงต่อนิพพานอย่างเดียว เช่น ทำสงครามมามากเกินไป แต่ความเป็นพระยูไลนั้น เพราะมีบุญบารมีมาก และมีกรรมมากในเชิง ทำความดีทางโลกมากมาย แต่ตกม้าตายในทางธรรม ดีในทางโลกมาก จนขวางทางธรรม ขวางนิพพาน


---โลกนี้ไม่ได้มีไว้ให้ยึด โปรดเข้าใจให้ดี สำหรับท่านผู้ปฏิบัติธรรมที่เลิกหลงโลกแล้ว แต่ถ้าใครหลงโลกมาก พยายามทำให้โลกดีงาม สงบสวยงาม ยึดอยู่แต่อย่างนี้ ถ้าบำเพ็ญบารมีได้มาก ก็มีกายคล้ายพระพุทธเจ้าได้ คือ กายทิพย์แบบพระยูไล เพราะบุญบารมีมากนั่นเอง แต่ไม่ได้นิพพาน เพราะจิตทำมาแบบนั้น หลงโลกมาก อยากให้โลกนี้ดีงาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าท่านมี “จิตเมตตา” ช่วยโลกมนุษย์ให้ดีงาม แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาหลง โลกเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ของมนุษย์มาก่อน พวกเราจุติมาที่โลกนี้ เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณให้หลุดพ้นโลกไป ไม่ยึดโลก แต่ถ้าใคร หลงโลก ก็ไม่พบนิพพานเป็นแน่แท้


---ดังนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ล้วนบำเพ็ญบารมีมากในทาง “เบื่อโลก” ทั้งสิ้น และมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างไม่ดีนัก แม้เป็นพระราชาก็เบื่อหน่ายอย่างมาก ดังนี้ จึงมีกำลังตรัสรู้เองได้ ส่วนท่านที่มีบุญบารมีมาก เวียนว่ายตายเกิดมากถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้เองสูง มากๆ ได้ คือ เกือบนิพพาน แต่ไม่ได้นิพพาน แบบพระยูไลก็มี ดังนั้น พระยูไลแต่ละพระองค์จึงมีปณิธานไปในทาง “สร้างสิ่งดีงามแก่โลก” เช่น ปรารถนาไม่ให้มีผู้ป่วยไข้ เป็นต้น (พระยูไลไภษัชยคุรุพุทธเจ้า) แต่ถ้าระหว่างการบำเพ็ญบารมี เกิดเป็นหมอแล้วปลงได้ว่าคนไข้เยอะจริงๆ รักษาเท่าไรก็ไม่มีวันหมดหรอก จะปรารถนาให้หมดคงไม่มีทาง คิดได้อย่างนี้ ก็ปลง และคิดต่อว่า “อะไรหนอ ที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์นี้ไปได้” อย่างนี้ มีแววได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ถ้าจะเอาชนะธรรมชาติ เอาชนะโรคร้าย ให้คนหายโรคให้หมดเมื่อไร เมื่อนั้น จะได้เป็น “พระยูไล” แทน แต่จะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า


---ดังนั้น ผู้ใดปรารถนานิพพานก็ต้องระวังอย่าทำอนันตริยกรรมต่อพระพุทธศาสนา คือ ทำสิ่งขวางการนิพพานของมวลสัตว์ไว้จะไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเอา (เป็นได้อย่างมากคือพระยูไล) อย่าเอาชนะธรรมชาติ จงรู้จักคำว่า “ยอมจำนน หรือ ยอมแพ้ต่อธรรมชาติ” แล้วจะเกิด “การยอมรับธรรมชาติ ธรรมะ สัจธรรมความจริง” นี่คือ จุดเริ่มต้นของญาณตรัสรู้ การเรียนรู้เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าคือ การเรียนรู้ที่จะ “ยอมแพ้” เรียกว่าแพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร นั่นแหละ เราอาจอยากชนะ เก่งกาจสามารถมามากมาย แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเรารู้จักคำว่า “ยอมแพ้” นั่นแหละ เรามีช่องทางตรัสรู้ได้ ถ้าเรายอมแพ้ไม่เป็นก็นิพพานไม่เป็น ตรัสรู้ก็ไม่เป็น เรียกว่าเป็น “บูรพาไม่แพ้” เมื่อแพ้แล้วก็จงดีใจ ที่ได้แพ้แล้ว รสชาติของความพ่ายแพ้ที่ไม่เคยลิ้มรส ฉันได้ลิ้มรสแล้ว ครบรส ชนะก็เคยมามากจนเบื่อแล้ว แพ้ก็ได้ลองแล้ว คุ้มค่าความเป็นคน หัวเราะกับมัน เป็นเพื่อนกับความพ่ายแพ้ ในที่สุด ก็มีคนชนะฉันได้แล้ว ดีใจที่ยังได้เห็นคนที่เก่งกว่าฉัน ดีกว่าเป็นจอมยุทธ์ไร้พ่าย ไร้คู่ต่อสู้ และต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว (แบบพระปัจเจกพุทธเจ้า) ใครคิดแบบนี้ได้ มีโอกาสลุ้นเป็น “พระพุทธเจ้า” ไปให้สูงที่สุด ถึงที่สุด แล้วร่วงลงมาที่ศูนย์ แล้วขำขันกับความไร้สาระของชีวิต โลกอันหาสาระอันใดไม่ได้เลย นั่นแหละ ช่องทางตรัสรู้


---ใครไปสูงมาก แล้วร่วงไม่เป็น จะสูงส่งลอยค้างเติ่ง อยู่บนสวรรค์ที่สูงที่สุด คือ สุขาวดี เป็น “ดาวค้างฟ้า” แต่ “นิพพานไม่เป็น” ตายไม่เป็น อยู่ยาวนานเช่นนั้น ไม่อาจหาใครมาเป็นคู่ต่อสู้ เป็นจอมยุทธ์ไร้เทียมทาน และไม่อาจหาใครมาช่วยทำให้ “ตาย” ได้ จะขอความตายจากใครได้ก็ไม่มีเลยสักคน ไม่มีใครทำให้ตายได้ ก็นิพพานไม่ได้สักที เหมือนจะดีสำหรับคนบางคน แต่สำหรับคนที่ปรารถนานิพพานแล้ว “มันไม่ใช่เลย”และไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้าด้วย ทางของพระพุทธเจ้าคือ “นิพพาน” แค่นั้นพอแล้ว ไม่มีอะไรอย่างอื่นอีก ดีที่สุดแล้ว ครบที่สุดแล้ว ไม่ต้องมีอะไรมากกว่านี้อีกแล้ว


---อนึ่ง ในบทความที่กล่าวมาอย่างนี้ เพราะต้องการให้ท่านระวัง “อนันตริยกรรม” การทำกรรมขวางนิพพาน เป็นการตั้งตนเป็น “อาจารย์” ให้คนมาลุ่มหลงตนเอง ยึดเกาะตัวเอง เป็นภัยมหันต์เพราะเอาความศรัทธาของคน มาเป็นเครื่องร้อยรัดไม่ให้เขาได้นิพพาน ไม่ให้ได้หลุดพ้นจากตนไป สร้าง “สังโยชน์จากศรัทธา” ผูกมัดคนไว้ เป็นอนันตริยกรรม ถ้าท่านประกาศตนว่าเป็นผู้ไม่นิพพาน ปรารถนาพุทธภูมิ และลูกศิษย์จะไม่ได้นิพพาน ถ้าต้องการนิพพานต้องไปหาอาจารย์ท่านอื่น อย่างนี้ไม่เป็นไรรอดพ้นได้ เช่น ที่ทิเบต อันนี้ชัดเจน รอดไป แต่คนที่แสดงให้ผู้อื่นคิดว่าตน “นิพพานแน่ๆ” ทำให้เขาหลงผิดคิดว่าทำบุญกับตนแล้วได้นิพพาน แต่ไม่ได้จริง เป็นเหตุขวางนิพพานนั้น โปรดระวังจะเป็น “อนันตริยกรรม”

*อะไรที่จัดเป็นอนันตริยกรรมฐานทำสังฆเภท (ทำสงฆ์สาวกแตกแยก)


---๑)พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าปฏิบัติถูกต้องตรงทางแล้วยุยงให้แตกแยกกัน แต่ถ้าพระสงฆ์สาวกเป็นเดียรถีย์ เป็นพระปลอม เราไปจับสึก ทำลายเสีย อย่างนี้ ไม่ใช่สังฆเภท เพราะสิ่งที่ทำลายไปนั้น นับว่าเป็น “พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้” การนับว่าเป็น“สังฆเภท” ก็ต่อเมื่อได้กระทำต่อพระสงฆ์สาวกอันแท้จริงของพระพุทธเจ้าที่ปฏิบัติถูกต้องตรงทางเท่านั้น ของปลอมไม่นับเป็นสังฆเภท ได้รับกรรมเท่ากับ “การยุยงกลุ่มคนให้แตกกัน” เฉยๆ ไม่มีกรรมต่อพุทธศาสนา


---๒)พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าปฏิบัติถูกต้องตรงทางแล้ว ไม่ได้ยุยงให้แตกแยกกัน แต่ทำความดีแล้วชักชวนให้ไปปฏิบัติต่างไปในทางของตนอีกแบบ แม้ได้รับการยอมรับนับถือมากมาย แต่เพราะปฏิบัติแตกต่างไปจากเดิมจนเป็นเหตุให้ ไม่ได้นิพพานนั้น คือ “อนันตริยกรรม” ทำหมู่สงฆ์เดิม แยกออกไปสู่นิกายใหม่ แต่ถ้าเกิดนิกายใหม่ที่ไม่ได้นิพพานอยู่ก่อนแล้ว ตนพยายามหาทางนิพพานแต่ไม่สำเร็จ รู้ว่านิกายเก่าไม่ได้นิพพาน จึงชักชวนเพื่อนแยกเป็นนิกายใหม่ อันนี้ ไม่เข้าข่ายสังฆเภท เพราะสงฆ์ในนิกายนั้น ไม่ใช่พระสงฆ์สาวกในแบบเดิมแท้


---๓)พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าปฏิบัติถูกต้องตรงทางแล้ว ก็ไปให้การช่วยเหลืออย่างดี แล้วบอกแก่ท่านเหล่านั้นว่าท่านทำดังนี้เถิด ไม่ถือไม่ผิดธรรมวินัย ไม่มีใครต่อว่าดอก อันส่งผลให้พระสงฆ์เชื่อ แล้วทำตามๆ กันมากมาย จนเกิดแนวทางการปฏิบัติที่ไม่ได้นิพพานดังเก่าก่อน อันนี้เป็น “สังฆเภท” สำเร็จสมบูรณ์แล้ว แม้ไม่มีการแตกกลุ่ม ยังอยู่ร่วมกันอยู่ก็ตาม แต่ถ้าเอากลุ่มที่ปฏิบัติไม่ได้นิพพานออกไปตั้งนิกายใหม่ ก็จัดเป็น “สังฆเภท” ได้ทันที ทว่า ถ้ามีใครแยกเอากลุ่มที่ปฏิบัติผิดทางให้ “สึก” ไป ไม่นับเป็น “สังฆเภท” แต่เป็น“สังคายนา”


---๔)พระสงฆ์สาวกถูกทำให้แตกแยก หรือถูกภัยสงครามอยู่ก่อนแล้ว ตนมีเจตนาดีที่อยากรวบรวมหรือฟื้นฟูขึ้นใหม่ แล้วบอกแก่หมู่พระสงฆ์ว่าตนนี่แหละ มีแนวทางปฏิบัติเพื่อนิพพาน (แต่ไม่ได้นิพพานจริง) แม้ผู้คนนับถือมากมายตั้งนิกายสำเร็จ แต่ไม่นิพพานจริง เมื่อไม่มีใครแจ้งว่าพุทธศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่ใด ยังไม่จัดเป็น “สังฆเภท” แต่เมื่อใดที่มีผู้แจ้งว่าศาสนาพุทธที่แท้จริงยังมีอยู่ แต่ไม่สนใจ แย่งดึงคนออกจากศาสนาพุทธที่ถูกต้องได้สำเร็จแม้คนเดียว เป็น “สังฆเภท” ทันที แม้สงฆ์จะแตกกันอยู่ก่อนแล้ว แต่เพราะไปดึงคนออกจากแนวทางที่ถูกต้อง (แต่ถ้าประกาศว่าตนไม่ได้นิพพาน แค่มาช่วยเบื้องต้นเท่านั้น อันนี้ไม่เป็นสังฆเภท)


---๕)สร้างนิกายใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย แม้ว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ปรากฏ แต่ได้ประกาศแก่คนทั่วไปว่านิกายนี้นิพพานได้แน่ แต่ไม่ได้นิพพานจริง ถ้ายังมีพุทธศาสนาจริงเหลืออยู่ ยังไม่นับเป็น “สังฆเภท” ต่อเมื่อมีพระสงฆ์ที่อยู่ในพุทธศาสนาที่แท้จริงแม้แต่หนึ่งรูปแยกออกจากแนวทางที่ถูกต้องนั้นมาสู่นิกายใหม่นี้ นับเป็น “สังฆเภท” ทันที คือ เขานั้นจะได้นิพพานในศาสนาที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่เพราะคำโฆษณาของนิกายนั้นๆ ทำให้แยกออกมา จึงเป็น “สังฆเภท” ทันที


---ในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์สาวกมีสองประเภท คือ ประเภทที่ปรารถนานิพพาน และแบบที่ปรารถนาพุทธภูมิ (คือยังไม่เอานิพพาน) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับบวชทั้งสองแบบ แต่ไม่ได้แยกออกเป็นนิกาย ทว่า ทรงให้ปฏิบัติห่างไกลกัน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก และมีศูนย์รวมใจที่เดียว คือ พระพุทธเจ้า ไม่มีเจ้าสององค์ ไม่มีสองนิกายในศาสนาเดียว เช่น พระมหากัจจายนะ ก็ปรารถนาพุทธภูมิ แต่ต้องไปเผยแพร่ศาสนาไกลมาก ในแคว้นที่กันดาร แต่ทุกรูปก็ไม่มีใครมีใจแตกออกไปจากพระพุทธเจ้า จนเกิดนิกายใหม่ก็หาไม่


---การทำสังฆเภท ไม่ได้แปลตื้นๆ แค่ว่าทำพระสงฆ์แตกแยกกัน แต่มีความหลายลึกซึ้งด้วยว่า หมายถึง ทำให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติถูกต้องตรงทางทั้งสองแบบ ต้องแยกออกไปนอกลู่นอกทาง แม้แต่รูปเดียว ไม่ใช่เป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ ก็นับว่า “สังฆเภท” แล้ว เพราะเราไม่ทราบว่าพระสงฆ์ที่แยกออกไปแม้รูปเดียวนั้น อาจไปสร้างนิกายใหม่ๆ ที่ไม่ได้นิพพาน แล้วแย่งคนไปจากพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องอีกเท่าใดในอนาคต ดังนั้น แม้แย่งคนแค่คนเดียวที่ปฏิบัติถูกต้องตรงทางออกมา ก็เกิดกรรมหนัก คือ “สังฆเภท” แล้วโดยสมบูรณ์ ยกเว้นว่าท่านที่ปฏิบัติถูกต้องตรงทางนั้น ท้อแท้ แล้วลาสิกขาเอง อันนี้ไม่เป็นสังฆเภท ถ้าเขาสึกออกเสียจากพระสงฆ์แล้วไปตั้งนิกายใหม่ที่ประกาศตนว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นสังฆเภท แต่เมื่อใดก็ตามที่ทำเป็นพระพุทธศาสนาแต่ไม่ได้นิพพาน กลับไปชักชวนคนที่ปฏิบัติถูกต้องให้แยกออกมา จะจัดเป็นสังฆเภททันที


*อะไรบ้างที่คล้ายสังฆเภทแต่ไม่ใช่สังฆเภท


---๑)ทำให้สงฆ์ในนิกายที่ผิด แตกกัน อันนี้ให้ผลกรรมไม่ถึงสังฆเภท เพราะพระสงฆ์เหล่านั้นเดิมปฏิบัติผิดทางอยู่ก่อนแล้ว กรรมหนักไม่มากเท่าท่านที่ปฏิบัติตรงทาง ไม่ใช่อนันตริยกรรม เป็นเพียง กรรมที่กระทำให้หมู่คนแตกแยกกันเท่านั้น


---๒)เอาหมู่สงฆ์แยกออกมาจากลัทธินิกายที่ผิด แล้วเร่งปฏิบัติให้ถูกต้องตรงทาง โดยมีศูนย์รวมใจที่พระพุทธเจ้าองค์เดียว ไม่มีใครเป็นเจ้าลัทธิ เจ้านิกาย ไม่มีหัวหน้า ทุกคนเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือกัน ฐานะสาวกเช่นเดียวกัน ไม่มีอื่นอีก


---๓)จับพระสงฆ์ปลอมให้สึกเสีย ไปจากกลุ่มพระสงฆ์ที่ปฏิบัติถูกทาง อันนี้ไม่ใช่สังฆเภท แต่ถ้าจับแยกออกแล้ว ให้เขาไปตั้งนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นสังฆเภท ถ้าสงสารต้องให้สึก แล้วให้เขาตั้งศาสนาอื่น ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา


---การนับการสิ้นยุคกึ่งพุทธกาล ให้นับจากวันที่พญานาคที่ดูแลพระพุทธศาสนาถูกมังกรกลืน (มังกรจะมาดูแลแทนพญานาค) ซึ่งประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นิกายที่เกิดก่อนหน้านี้นับเป็นสังฆเภทนิกายทั้งหมด ไม่ได้ถึงนิพพานเลย จะให้ได้นิพพานต้องออกจากทุกนิกายมาหาพุทธศาสนาที่แท้จริง ถ้าศรัทธาพระพุทธเจ้า ถือธรรมวินัยเคร่งครัดแล้ว จะได้พบพระสงฆ์แท้อยู่ตามป่าเขา ท่านก็มาสอนเราได้อย่างน่าอัศจรรย์ไม่ต่างจากสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เลย 


---หลังกึ่งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าได้ยกให้แก่เหล่าอสูร, มาร, เทพ, พรหม แล้ว ก็แล้วแต่ว่าจะดูแลรักษากันอย่างไร ใครทำดีก็ได้ดี ใครเอาไปทำไม่ดี ก็ได้กรรมไม่ดีไปตามนั้น แต่ถ้าไม่มีนิกาย ก็ไม่ต้องเสี่ยงกรรม แม้ถึงกึ่งหลังพุทธกาลแล้วก็มีพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมได้คือ การไม่มีนิกาย โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด มีพระธรรมวินัย เป็นเครื่องยังความสงบสุขร่วมกันของหมู่คณะ มีพระสงฆ์ที่นิพพานได้จริง เป็นที่พึ่ง ใครจะปรารถนาอะไรก็ไม่ผิด เช่น ถ้าปรารถนานิพพานก็ได้ ปรารถนาพุทธภูมิไม่เอานิพพาน ก็ให้เลี่ยงออกจากกัน เพื่อไม่ให้กรรมพัวพันกัน แต่มีใจหนึ่งเดียวกันที่พระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปสร้างนิกายใหม่


---ถ้าปรารถนาแตกต่างกัน ไม่อยากพัวพันกรรมต่อกัน ก็แยกปฏิบัติห่างๆ กันได้ แต่อย่าไปแยกตัวสร้างนิกายใหม่ ดังเช่นสมัยพุทธกาลพระสาวกก็แยกกันอยู่กระจายหลายเมือง ไม่ได้ประชุมพร้อมกันตลอด บ้างอยู่แคว้นหนึ่ง บ้างอยู่แคว้นหนึ่งก็มี แต่ไม่มีใครที่อยู่ห่างไกลต่างแคว้นแล้วตั้งนิกาย ยกตนเองหรืออาจารย์ตนเอง ขึ้นเป็นเจ้านิกายเลย จึงไม่มีใครจดจ่อจิตออกนอกไปจากนี้


---พระรัตนตรัยนั้น มีพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ, มีพระธรรมวินัยทิ้งไว้ตามแหล่งหนังสือต่างๆ, มีพระสงฆ์สาวกแท้ รออยู่ที่ใดที่หนึ่งที่ไม่ใช่ในนิกายต่างๆ ขอเพียงเราตั้งจิตตรงต่อพระรัตนตรัยแน่วแน่ ย่อมได้พบพระพุทธศาสนาที่แท้จริง หากวิริยะพากเพียรในป่าอย่างถึงที่สุดแล้ว ย่อมจะได้พบพระอรหันต์แท้มาโปรดเราได้


*อันตรายของจิตวิญญาณแฝงและการแก้ไข


---คนที่เป็นปอบ จะมีจิตวิญญาณมากกว่าหนึ่ง ทั้งยังมีวิธีถ่ายทอดทายาทดังนี้


---กายสังขารหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องมีจิตวิญญาณดวงเดียว


---หลายท่านคิดว่ากายสังขารหนึ่งกายต้องมีจิตดวงเดียว แต่ความเป็นจริง กายสังขารแต่ละกายอาจมีดวงจิตหนึ่งดวง หรือไม่ใช่หนึ่งดวงก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น คนที่มีจิตวิญญาณสิงหรือแทรกอยู่ ก็มีจิตมากกว่าหนึ่งดวงในกาย เช่น คนที่มีปอบหรือกระสือ จะมีจิตวิญญาณที่เป็นปอบหรือกระสืออาศัยในกายนั้นด้วย จิตที่สิงหรือแทรกอยู่นี้ มีเหตุปัจจัยให้มาอยู่ร่วมกับจิตเจ้าของกายสังขารนั้นๆ


---บางดวงจิตจรมาครั้งคราว บางดวงจิตมาอยู่จนกระทั่งตายจากกัน อาจด้วยความอาฆาตแค้นที่มีต่อกันจึงไม่ยอมปล่อยเจ้าของร่าง บางดวงมาสร้างบุญบารมีร่วมกัน แต่บางดวงจิตก็มาชำระสะสางกรรมต่อกัน ทำให้มีการกระทบกระทั่งทำร้ายกัน แตกต่างกันออกไป จะยึดมั่นถือมั่นเอาสุดโต่งทางใดทางเดียวไม่ได้ การจะทราบได้ว่าในกายสังขารของแต่ละท่านมีจิตวิญญาณกี่ดวง และเข้ามาแบบจรเป็นครั้งคราวหรือถาวร และเข้ามาร่วมบุญบารมีหรือชำระกรรมได้นั้น จำต้องมีการศึกษา มีความชำนาญในการพิจารณาดูจิตในจิต และดูกายในกาย


*แม้มีตาทิพย์ก็อาจวินิจฉัยจิตวิญญาณทั้งหมดที่อาศัยในกาย พลาดได้


---สำหรับท่านที่มีตาทิพย์จะมองได้ไม่ยาก แต่บางครั้งจิตที่จรไปมาก็ทำให้ตาทิพย์วินิจฉัยพลาดได้ นอกจากนี้ บางจิตวิญญาณไม่ได้เข้ามาอาศัยในร่างกาย เพียงแค่พลังบางส่วนก็สามารถทำให้เจ้าของร่างมีลักษณะเป็นไปตามพลังนั้นๆ ได้ เช่น ในกลุ่มคนทรงเจ้า เป็นต้น ทำให้การใช้ตาทิพย์วินิจฉัยผิดพลาดไปใหญ่ อาจด้วยเพราะจิตวิญญาณนั้นๆ ไม่ต้องการให้ผู้มีตาทิพย์ทราบนั่นเอง เช่น การใช้ตาทิพย์ดูคนทรงเจ้า บางครั้ง ก็อาจมองไม่เห็นกายทิพย์หรือจิตวิญญาณของเทพที่เข้าทรง ทำให้เกิดการปรามาสว่าหลอกลวงกัน แท้แล้ว อาจหลอกลวงจริง หรือหลอกลวงบางส่วน หรือไม่ลอกลวงเลยก็ได้


---อธิบายอย่างนี้ ที่หลอกลวงจริงเพราะไม่มีเทพนั้นเกี่ยวข้องในการเข้าทรงเลยก็มี, ที่หลอกลวงบางส่วนเพราะเทพองค์นั้นๆ อาจส่งพลังมาให้จริง แต่คนทรงได้แต่งเสริมเติมข้อความไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ได้, ที่ไม่หลอกลวงเลย เพราะเทพองค์นั้นๆ ส่งพลังมาจริงๆ แต่ตาทิพย์มองไม่เห็นเพราะพลังละเอียดมาก อีกทั้งคนทรงก็ไม่ได้แต่งเสริมใดๆ ทำหน้าที่ไปตามตรง อันนี้ เป็นไปได้ทั้งสามกรณี ต้องพิจารณาด้วยปัญญาและญาณเป็นกรณีๆ ไป ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นข้อสรุปไปใช้ได้กับทุกกรณี ในการวินิจฉัยเรื่องจิตวิญญาณในกายสังขาร จึงต้องวินิจฉัยให้ชัดว่ามีจิต, วิญญาณ หรือเพียงพลังบางส่วนอยู่บ้าง


*จิตวิญญาณมากกว่าหนึ่งดวง จะแย่งกันครองความเป็นใหญ่ในกายสังขาร


---อันธรรมทั้งหลายล้วนมีใจเป็นประธาน กายสังขารหนึ่งๆ ถ้ามีจิตมากกว่าหนึ่งดวงแล้ว ก็จะมีใจเป็นประธานของจิตทุกดวง ถ้าใจเราอยากให้จิตดวงใดเป็นใหญ่ หรือให้ออกจากร่างไปก็สามารถทำได้ กรณีที่ใจมีพลังมากพอหรือฝึกฤทธิ์ทางใจ (มโนมยิทธิ) มาระดับหนึ่ง แต่ถ้าพลังใจน้อยกว่าพลังจิตบางดวง ก็อาจถูกจิตดวงนั้นๆ ครอบงำได้เหมือนกัน เช่น ในคนที่มีจิตวิญญาณปอบหรือกระสืออาศัยอยู่ หากใจห่อเหี่ยวไม่มีกำลังใจแล้ว ยิ่งทำให้จิตวิญญาณของปอบหรือกระสือยิ่งครอบงำร่างกายนั้นได้มากขึ้น จิตวิญญาณแต่ละดวงล้วนมีจิต คิดได้ ชอบและเกลียดได้เหมือนเทพเทวดาหรือกายทิพย์ที่มีจิตทั่วไป 


---ดังนั้น เมื่อมาอาศัยในกายสังขารเดียวกันแล้ว จึงแตกแยก ไม่สามัคคีกัน ทั้งยังแย่งกันเป็นใหญ่ในกายสังขารนั้นๆ ก็ได้ เช่น ในคนที่มีจิตวิญญาณปอบอาศัย ปอบจะครอบงำร่างกายและจิตวิญญาณเดิมของเจ้าของร่าง เพื่อเป็นใหญ่ในกายสังขารนั้นๆ ในคนที่มีจิตวิญญาณอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปอบหรือกระสือก็สามารถพบเหตุการณ์เดียวกันนี้ได้ เช่น ในคนที่เลี้ยงผีพราย, ยักษ์, กุมารทอง, มังกรทอง ฯลฯ จิตวิญญาณเหล่านี้ ล้วนอาศัยแทรกอยู่ในกายสังขารของผู้เลี้ยงทั้งสิ้น และรอคอยวันที่ใจอ่อนกำลังลง ขาดกำลังใจ หรือจิตวิญญาณเดิมอ่อนล้าหมดพลัง ก็จะทำการยึดครองร่างนั้นๆ ในที่สุด เช่น ในกลุ่มหมอผีที่เลี้ยงผีพราย หากหมดสิ้นวิชชาอาคม ผีพรายก็สามารถยึดครองกายสังขารนั้นได้


*จิตวิญญาณปอบทำอย่างไรกับจิตวิญญาณเจ้าของร่าง


---คนที่มีปอบอาศัยในกายสังขาร ถ้าปอบครอบงำเต็มที่ ปอบจะรอคอยเวลาเจ้าของร่างตาย เมื่อตายลงปอบจะรอจังหวะสับเปลี่ยนจิตวิญญาณ กล่าวคือ กายทิพย์หรือวิญญาณจะมีสองวิญญาณ วิญญาณหนึ่งเป็นของเจ้าของร่าง วิญญาณหนึ่งเป็นปอบ วิญญาณทั้งสองจะดับสลายไม่พร้อมกัน ถ้าวิญญาณของเจ้าของร่างมีบุญมากกว่าปอบ ปอบจะรอให้วิญญาณนี้ดับสลายลง แล้วจิตของปอบจึงจะจุติออกไปจากร่าง ปอบก็หลุดพ้นจากความเป็นปอบแล้วจุติใหม่ได้วิญญาณเท่ากับบุญที่กายทิพย์ที่สลายนั้นมีอยู่ ส่วนเจ้าของร่างจะถูกปอบกักขังดวงจิตไว้ก่อน จนกระทั่งวิญญาณที่ปอบทิ้งไว้ดับสลายลง


---ดวงจิตของเจ้าของร่างก็จะจุติโดยออกไปขณะวิญญาณปอบสลาย แล้วเกิดใหม่เป็นปอบ แทนปอบตัวเก่า นี่คือ วิธีที่ปอบจะพ้นจากความเป็นปอบ ปอบบางตนเดิมได้ร่างที่มีบุญน้อย ก็จะหาร่างใหม่ที่มีบุญพอให้ตนหลุดพ้นความเป็นปอบ แล้วถ่ายทอดความเป็นปอบให้เจ้าของร่างรับช่วงแทน อย่างนี้อาจเรียกได้ง่ายๆ ว่า “ปอบช่วง” คือ ให้เจ้าของร่างรับช่วงความเป็นปอบแทน แล้วตนก็พ้นจากความเป็นปอบไป ปอบช่วงจะหาร่างที่มีบุญสักหน่อยแต่จิตมีกำลังน้อยพอที่จะควบคุมได้ และใกล้จะตาย เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความเป็นปอบ ปอบประเภทนี้ จึงเลือกร่าง เปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ


---บางท่านจึงสับสนว่าใครเป็นปอบกันแน่ หรือปอบตนนี้อยู่ในกายสังขารของใครกันแน่ เพราะเปลี่ยนร่างเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เราจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปอบแลกหน้า” เพราะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ ปอบอีกชนิดหนึ่ง จะยังไม่อยากหลุดพ้นจากความเป็นปอบ เป็นปอบที่มีกรรมมาก มีอิทธิฤทธิ์มาก และมีความหลงผิดมาก เป็นปอบที่นิยมสร้างบริวาร เป็นปอบที่หลงในลาภสักการะ เช่น ปอบที่ยามเป็นคน อาจเป็นหมอผี, คนทรง หรือพระสงฆ์ที่เล่นคุณไสย แล้วผิดครู พลาดพลั้งไปจนต้องเกิดเป็นปอบ ปอบแบบนี้จะสร้างบริวาร ด้วยการเข้าไปครอบงำจิตวิญญาณของเจ้าของร่างที่ตนอาศัยก่อน ตกกลางคืน จะบังคับจิตวิญญาณนั้นๆ ให้ออกไปหากินร่วมกับตน จนจิตวิญญาณเจ้าของร่างมีกรรมมาก


---กายทิพย์ที่เคยดีเปลี่ยนกลายเป็นปอบโดยสมบูรณ์ ในกรณีนี้ กายทิพย์ในกายสังขารนั้นจะเป็นปอบทั้งสองกายทิพย์ และจิตทั้งสองดวงจะเป็นปอบโดยสมบูรณ์ เรียกว่าเจ้าของร่างถูกครอบงำโดยสมบูรณ์ เมื่อครอบงำให้เจ้าของร่างกลายเป็นปอบด้วยแล้ว ปอบตนนี้จึงจะหาร่างกายใหม่อาศัย จากนั้นไม่นาน เจ้าของร่างจะตายและจิตวิญญาณจะจุติเป็น “ปอบบริวาร” ปอบตัวพญาก็จะทำอย่างนี้กับกายสังขารใหม่ที่เข้าไปอาศัย ทำให้คนตายไปเรื่อยๆ และเป็นปอบเพิ่มมากขึ้น ปอบแบบนี้ร้ายกาจกว่าแบบแรก เรียกว่า “ปอบพญา” หรือ “ปอบเชื้อ” คือ สามารถแพร่เชื้อปอบให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้นั่นเอง ปอบเชื้อหรือปอบพญา จะทำให้สัตว์และคนตายไปเรื่อยๆ จึงดูคล้ายกับว่าปอบนั้นกินคนไปด้วย


*ตัวอย่างการสับเลี่ยนจิตวิญญาณของพระสงฆ์กับหงส์ทิพย์


---สมมุติ พระสงฆ์รูปหนึ่งบำเพ็ญบารมีได้มาก จนหงส์ทิพย์มาขอเป็นบริวาร จิตพระสงฆ์นั้นก็ยินดีที่จะได้บริวารเป็นหงส์ทิพย์ หงส์ทิพย์ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยม ดลจิตดลใจพระสงฆ์รูปนั้นว่า พระสงฆ์รูปนี้มีบุญบารมีมาก บุญญาธิการสูง หงส์ทิพย์ผู้น้อยนี้ จะคอยดูแลปรนนิบัติรับใช้ จะดลจิตดลใจผู้คนให้เข้ามาทำบุญสุนทานกับท่านมากๆ ขอให้ท่านที่ชราภาพมากแล้วได้อยู่อย่างสุขสบายมีสาธุชนมาปรนนิบัติรับใช้ เพื่อให้เหล่าสาธุชนได้บุญบ้างเถิด จิตของพระสงฆ์หลงกลยินดีในการนั้น จิตวิญญาณหงส์ทิพย์จึงออกไปดลจิตดลใจคนให้หลั่งไหลมาทำบุญปรนนิบัติดูแลพระสงฆ์รูปนั้นมากมาย


---หงส์ทิพย์รอให้บุญของพระสงฆ์ค่อยๆ ลดลงๆ ด้วยการเสวยบุญในปัจจุบันมากๆ แล้วหงส์ทิพย์ก็หลอกล่อให้พระสงฆ์ทำเครื่องรางของขลังบ้าง ทำกรรมที่พระสงฆ์ไม่ทราบว่าเป็นเครื่องลดทอนบุญบารมีตนเองบ้าง ในขณะเดียวกัน หงส์ทิพย์ก็ได้บุญบารมีมากขึ้นๆ จากการปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์รูปนี้ ตัวพระสงฆ์เองก็หลงตัวเอง เพลินไป ไม่เอะใจว่าทำไมมีคนมาทำบุญให้คนมากมายนักหนา แต่ยินดีกับลาภสักการะจำนวนมากนั้น จนในที่สุด เมื่อละสังขารตายลง หงส์ทิพย์ก็สับเปลี่ยนจิตวิญญาณเอาบุญบารมีพระสงฆ์รูปนั้นไป พระสงฆ์รูปนั้นต้องจุติเป็น “หงส์ทิพย์” แล้วไปเกิดใหม่เพื่อชดใช้กรรม สูญเสียบุญบารมีไปหมด


*เมื่อจิตวิญญาณดวงอื่น ยึดครองกายสังขารแล้วเจ้าของร่างจะเป็นอย่างไร


---เมื่อเจ้าของร่างถูกจิตวิญญาณดวงอื่น ยึดครองกายสังขารและจิตเดิมของตนเองแล้ว เจ้าของร่างก็ตกเป็นทาสของจิตวิญญาณดวงนั้นๆ และส่งผลให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องทำสิ่งที่ไม่คาดคิด อีกทั้งท้ายที่สุด แม้แต่จิตเดิมแท้ของตนก็ไม่อาจรักษาไว้ได้ จิตไม่ใช่ตัวกูของกู แม้จิตดวงแรกมีบุญบารมีมาก แต่หากเจ้าของร่างพลาดท่าถูกจิตวิญญาณที่เข้ามาแทรกนั้นครอบงำแล้ว ก็สามารถสูญเสียจิตวิญญาณที่มีบุญบารมีมากนั้นได้ ทำให้ตนต้องเหลือเพียงจิตวิญญาณที่มีบุญบารมีน้อยกว่า หรือกล่าวง่ายๆ คือ จิตวิญญาณถูกสับเปลี่ยนกันนั่นเอง อันตรายของการที่จิตวิญญาณอื่นๆ ยึดครองร่างกายนั้นมีโทษมากขนาดนี้


---ผู้ที่ทราบว่าตนมีจิตวิญญาณมากกว่าหนึ่งดวงจึงต้องระมัดระวังมาก สมมุติ ตนเองบำเพ็ญบารมีได้จิตวิญญาณถึงโพธิสัตว์ แต่มีจิตวิญญาณของมังกรมาเป็นพาหนะช่วยงานอยู่ มังกรสามารถครอบงำเอาร่างกายนั้นได้ ทำให้จิตวิญญาณสับเปลี่ยนกันได้ เจ้าของร่างอาจต้องจุติกลายเป็นมังกร ในขณะที่มังกรอาจได้จุติไปเป็นโพธิสัตว์ได้ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การที่มังกรดลจิตดลใจให้เจ้าของร่างไปเสวยบุญเป็นฮ่องเต้ พอเจ้าของร่างเสวยบุญมาก หมดบุญตายลงก็ต้องจุติเป็นมังกร


---ส่วนมังกรที่รับใช้ในกายสังขารนั้นได้บุญมากเพราะรับใช้งานเจ้าของร่างก็จุติเป็นโพธิสัตว์แทน อย่างนี้ก็มี อนึ่ง จิตวิญญาณหรือแม้แต่บุญบารมี ก็ไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้ ถ้าเราบำเพ็ญบารมีได้จนถึงโพธิสัตว์แล้ว แต่พลาดท่าหลงกลการดลจิตดลใจของมังกร กลายเป็นถูกมังกรนำ แทนที่จะนำมังกร สอนมังกร สุดท้าย มังกรได้บุญบารมีไป เราต้องกลายเป็นมังกรแทน เพราะความหลงในลาภสักการะหรือบัลลังก์กษัตริย์นั่นเอง ในบางกรณี จิตของโพธิสัตว์อาศัยในกายสังขารนั้นๆ รู้ตัว ท่านก็จุติออกพร้อมบุญบารมีระดับโพธิสัตว์ออกไปเลย ทิ้งร่างให้มังกรครองแทน มังกรตนนั้นก็จะได้รับกายสังขารนั้นไป จิตโพธิสัตว์ก็ได้บุญบารมีได้กายโพธิสัตว์นั้นไป ส่วนเจ้าของร่างผู้มีใจใฝ่เชื่อไปตามการดลจิตดลใจของมังกร ก็ต้องกลายเป็นมังกรไป แทนที่จะได้บุญบารมีถึงโพธิสัตว์แล้วแท้ๆ อย่างนี้ก็เกิดได้ ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นจิต หรือวิญญาณ หรือกายทิพย์ หรือบุญบารมีอะไรได้เลย

*ทำไมปฏิบัติธรรมขั้นสูงได้บุญบารมีมากแล้วถูกสับเปลี่ยนวิญญาณและบุญบารมี


---เพราะกรรมของคนผู้นั้นมีมาก ใช้ไม่หมดในชาติเดียว ยังนิพพานไม่ได้ และจิตมีบารมีถึงโพธิสัตว์ จึงมีจิตวิญญาณอื่นๆ มาอาศัย มาเป็นบริวาร และมาให้โปรด หากจิตเดิมแท้ เบื่อหน่ายวิถีโพธิสัตว์ แล้วยินดีกับการเสวยบุญ สุดท้าย จิตก็ต้องจุติไปเป็นสัตว์บริวารแทนที่จะได้เป็นโพธิสัตว์ สิ่งนี้ไม่เที่ยง สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ บุญบารมีที่สร้างสมไว้ ยังไม่เที่ยง เพราะยังชดใช้กรรมไม่หมด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเสวยบุญเป็นพระราชาในชาตินี้ จะไปเกิดเป็นมังกร แล้วจากมังกรจึงได้เป็นโพธิสัตว์ แล้วจะเกิดอีกชาติจึงนิพพาน ถ้าไม่เสวยบุญ ก็จะได้เป็นโพธิสัตว์เลย โดยไม่ต้องไปเกิดเป็นมังกรอีกชาติภพหนึ่ง


---อนึ่ง ในชาติที่ได้กายทิพย์โพธิสัตว์นั้น ต้องโปรดมังกรให้หลุดพ้นด้วย ก็จะไม่ต้องไปชำระกรรมกับมังกร ที่มังกรจะเกิดเป็นฮ่องเต้ และโพธิสัตว์จะต้องไปโปรดฮ่องเต้ ชาติภพนี้จะไม่มีหมดไปเพราะได้โปรดมังกรในกายสังขารของตนแล้ว นี่จึงจะหมดกรรมที่พ่วงกันมา นี่เพราะจิตวิญญาณในกายสังขารหนึ่งๆ มีมากกว่าหนึ่งดวง เมื่อตายลงจากชาติหนึ่งแล้ว จิตแต่ละดวงจะจุติไปยังภพภูมิต่างกัน เมื่อจิตดวงใดดวงหนึ่งได้โอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์ จิตดวงอื่นๆ ที่อยู่ในภพภูมิอื่นๆ


---ก็จะได้อาศัยบุญบารมีของจิตวิญญาณที่มีกายสังขารเป็นมนุษย์นั้น เพื่อบำเพ็ญบารมีสร้างบุญให้ดีขึ้นไป เพราะจิตวิญญาณทุกดวงในกายเดียวกัน ต้องรับผิดชอบกันเสมอ มีบุญกรรมพ่วงกันมาก จนไม่อาจสละละทิ้งความรับผิดชอบต่อกันได้ จิตแต่ละดวงต้องมาฉุดช่วยกัน แม้จะต้องอาศัยในกายสังขารเดียวกันก็ตาม จิตวิญญาณดวงหนึ่งเมื่อได้มาเกิดในพุทธศาสนาแล้วจะเอาตัวเองรอดไปโดยไม่สนใจจิตดวงอื่นๆ เหล่านี้ไม่ได้ จะคิดว่าตนได้บวชพระ ได้บุญบารมี ได้ธรรมขั้นสูงแล้วจะหลุดพ้นไปนั้นหาได้ไม่ จิตวิญญาณเหล่านี้จะเป็นเจ้ากรรมนายเวร มาคอยชดใช้ชำระกรรมกับจิตที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าจิตดวงใดที่ได้เกิดเป็นมนุษย์หลงลืมและทอดทิ้งกัน ก็อาจถูกแลกเปลี่ยนวิญญาณและบุญบารมีกันได้ในที่สุด เพราะกรรมยังชำระไม่หมด อันนี้ขอเตือนไว้ให้ระวัง


*จิตวิญญาณแฝงล้วนมีเล่ห์เหลี่ยมและอิทธิฤทธิ์ต่างกัน


---จิตวิญญาณที่มนุษย์นำมาเลี้ยงดู จะอาศัยร่วมในกายสังขารของผู้เลี้ยงดูนั่นเอง และออกไปทำกิจต่างๆ ได้ตามต้องการ จิตวิญญาณเหล่านี้มีหลายแบบหลายลักษณะ เช่น ผีพราย, กุมารทอง, รักยม, ลูกกรอก, อสูรจำพวกมังกร, กิเลน, หงส์, เต่ามังกร, พยัคฆ์ ฯลฯ จิตวิญญาณเหล่านี้ มีจิตอาศัย จึงจุติได้ เกิดได้ และคิดการณ์ต่างๆ ได้ ต่างกับในกลุ่มเทพพรหม ที่จะไม่นำจิตวิญญาณเข้ามาแฝงหรืออาศัยในกายสังขารมนุษย์ แต่จะถอดกายทิพย์ หรือวิญญาณมาครอบให้เท่านั้นเอง จึงไม่มีปัญหาเรื่องการยึดครองร่าง หรือการอาศัยจังหวะตอนละสังขารเพื่อเปลี่ยนสลับวิญญาณและบุญบารมีของเจ้าของร่างไป


---จิตวิญญาณเหล่านี้มีเล่ห์เหลี่ยมที่แตกต่างกันออกไป แต่ขอให้มี “สติ” ระลึกไว้เสมอว่า “ทำดีให้เสมอต้นเสมอปลาย” และ “อะไรที่ไม่เคย ก็ไม่ต้องไปรับมา” ก็จะปลอดภัย ถ้าอยู่ๆ มีคนเอาลาภสักการะมาให้มากผิดปกติ ก็รู้จักปฏิเสธไปเสียบ้าง ปกติ แล้วอิทธิฤทธิ์ของเจ้าของร่างจะมีมากพอควบคุมจิตวิญญาณที่แฝงในกายได้ เจ้าของร่างจึงปลอดภัย แต่จิตวิญญาณเหล่านี้จะอาศัยเล่ห์เหลี่ยมเพื่อบั่นทอนอิทธิฤทธิ์ของเจ้าของร่างลงไปเรื่อยๆ รวมทั้งบั่นทอนบุญบารมีของเจ้าของร่างด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การดลจิตดลใจให้ลบหลู่ปรามาสผู้มีธรรมสูงกว่า จิตวิญญาณเจ้าของร่างก็ค่อยๆ รับกรรมสะสมไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ต้องไปเสวยกรรมเป็นอสูรตนนั้นๆ แทนในที่สุด


*ผู้บำเพ็ญบารมีต้องระวังเล่ห์เหลี่ยมของจิตวิญญาณแฝง


---พระสงฆ์ไทยหลายรูป บำเพ็ญบารมีแล้วโด่งดัง มีสานุศิษย์มากมาย มีลาภสักการะมากมาย หลายรูปมีกุฏิยิ่งใหญ่บ้าง, มีอาสนะสวยงามพิเศษเฉพาะตัวบ้าง, มีคนคอยปรนนิบัติบ้าง, มีลาภสักการะจำนวนมากเกินกว่าพระสิวลี (พระอรหันต์ผู้มีบุญมากในสมัยพุทธกาล) บ้าง ฯลฯ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรมแม้ได้อรหันต์แล้วก็ตาม แต่กรรมยังไม่หมด เพราะที่ผ่านมาไม่ได้บำเพ็ญบุญบารมีแล้วปรารถนาเป็น “อรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน” จึงยังไม่ถึงวาระที่จะนิพพานในพุทธศาสนานี้ พวกเขาปรารถนาพุทธภูมิ จึงได้ก่อกรรมและบุญบารมีสืบชาติภพต่อไป


---เมื่อเกิดในพุทธศาสนาแล้ว บารมีที่มากมายนั้นส่งผลให้บรรลุอรหันต์ แต่ยังไม่หมดกรรม ยังเหลือกิเลสบางส่วน เป็นอรหันต์แบบ “ปัญญาวิมุติ” และหลายท่านได้บารมีถึง “อรหันตโพธิสัตว์” แต่ด้วยที่ปัญญาถึงใบไม้ในกำมือรู้วิธีนิพพาน แต่ปัญญาล่วงรู้ไม่หมดถึงกรรมที่ตนมี จึงคิดว่าตนหมดกรรมแล้ว เพราะครองผ้าเหลืองแล้วก็อยู่อย่างสงบสุขดี จึงไม่รู้ว่ามีอสูรและมารที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรรอแก้แค้นและชำระชดใช้มากมายอยู่ แม้จะทำอันตรายโดยตรงไม่ได้เพราะเกรงบารมีธรรมผ้าเหลือง ก็ใช้วิธีมาเป็นบริวารรับใช้แล้วคอยยุยงส่งเสริมให้ผิดทางจนสูญเสียบุญบารมีดังที่ได้อธิบายมานั้น บางรูปถูกแทรกก็ต่อสู้และยื้อกันไปมาในร่างกายอยู่ก็มี


---อนึ่ง ขอเตือนว่าผู้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงทุกท่านล้วนมีจิตวิญญาณที่เป็นมารและอสูรแทรกได้ทั้งสิ้น และการจะได้ถึงนิพพานจริงๆ จะต้องผ่านด่านอสูรและมารเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมดแต่จะมีสักกี่ท่านที่รู้ทันเล่ห์กลมารที่แทรกในกายสังขารนี้และรอดพ้นภัยมารและอสูรเหล่านั้นไปได้ ยกตัวอย่างกรณีวัดดังวัดหนึ่ง ที่เป็นข่าวบ่อยๆ ช่วงหนึ่งว่าสอนผิดทาง เหตุแท้จริงเพราะเป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะมีมารและอสูรแทรก และท่านผู้นั้นก็รู้ตัวแล้วว่าถูกแทรก และต้องต่อสู้กับมารตนนั้น


---เมื่อทำกิจศาสนาก็ทำถูกบ้างเพี้ยนบ้างสลับกันไป และผลการต่อสู้ทางจิตภายใน ทำให้มีปัญหาโรคภายในที่รักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ เช่น เดี๋ยวร้อนมากผิดปกติ, เดี๋ยวหนาวมากผิดปกติ เป็นต้น แต่ในขณะอีกหลายท่าน ถูกมารหรืออสูรแทรกได้เนียนมาก จิตเจ้าของร่างไม่รู้ตัวเลยว่าถูกแทรกอยู่ ทั้งมารหรืออสูรนั้นก็ทำได้แนบเนียน เช่น ให้ไปสร้างวัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการเกินกว่าพุทธบัญญัติ ดลใจให้ทำเพื่อพระพุทธศาสนาโดยใช้เงินมากมาย ผลาญบุญเจ้าของร่างมากมาย จากบารมีเดิมถึงโพธิสัตว์ เมื่อใช้บุญหมด บารมีถูกบั่นทอนลง ทั้งยังสร้างบุญใหม่ๆ คือ สร้างวัดวามากมาย ก็จะต้องไปเสวยบุญเกิดเป็นมารในสวรรค์ชั้นหกไป มารที่แทรกกายอยู่ก็อาศัยบารมีของพระรูปนั้นไปเกิดยังภพภูมิที่ดีกว่าแทน 


*การแก้ไข ปัญหาจิตวิญญาณแฝงในกายสับเปลี่ยนบุญบารมี


---การแก้ไขจิตวิญญาณแฝงที่อาฆาตเจ้าของร่างหรือมาปรนนิบัติแล้วคอยสับเปลี่ยนบุญบารมี มีทางเดียว คือ “การโปรดจนกว่าหลุดพ้น” โดยบทสวด “โอม มณี เป เม โฮง” ช่วยคุมจิตอสูรได้ดีมาก ควรเปิดกรอกหูฟังบ่อยๆ เพื่อกล่อมดวงจิตอสูร เช่น หากมังกรมาช่วยงานเรา เราก็ต้องโปรดเขาจนพ้นกรรม ให้เขาหลุดจากภพอสูรไปให้ได้ เขาก็จะพอใจในสิ่งที่เขาได้ จำไว้ว่า จิตวิญญาณทุกดวงรู้เรื่องกรรม และต้องการไปยังภพภูมิที่ดีขึ้นทั้งสิ้น แม้เขาจะดูอยากได้สิ่งต่างๆ ทางโลก แต่เขารู้เรื่องกรรมดีมากกว่ามนุษย์ และยอมละทิ้งของทางโลกเอาบุญบารมีได้มากกว่ามนุษย์ เพราะว่าเขามาจากโลกทิพย์


---โลกของจิตวิญญาณที่บุญกรรมแสดงผลให้เห็นชัดเจนนั่นเอง เราเป็นมนุษย์ที่ยังไม่เข็ดหลาบในเรื่องกรรมได้เท่ากับจิตวิญญาณเหล่านั้น และเราไม่มีสัพพัญญูญาณ ไม่รู้มากพอที่จะล่วงรู้ถึงได้ทุกอย่าง ธรรมวินัยใดที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ดีแล้ว ด้วยพระเมตตาและพระปัญญานั้น ย่อมช่วยเราได้จากเล่ห์กลมารและอสูรนี้ ขอท่านทั้งหลายจงเห็นคุณค่าของพระธรรมวินัยเหล่านั้นเถิด ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัด แต่อย่าเผลอตัวมากเกินไป จนลืมดูสถานภาพตนเองในปัจจุบันว่าปฏิบัติย่อหย่อน เอาแต่เสวยผลบุญลาภสักการะมากไปถึงไหนแล้ว สิ่งนี้ขอเตือนท่านทั้งหลายไว้ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด


*ข้อสังเกตเรื่องบุญบารมีและอิทธิฤทธิ์ของจิตวิญญาณที่มองไม่เห็น


---บุคคลมีบุญบารมีไม่เท่ากัน แม้แต่พระพุทธองค์ยังทรงดำรงชีพอย่างเรียบง่ายไม่ยึดติดสถานที่ แต่ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยคิดเอาเองว่าตนบรรลุธรรมแล้ว ไม่ยึดติดอะไรแล้ว จึงรับเงินรับทองลาภสักการะเท่าไรก็ได้ เป็นบุญบารมีของตนเอง อันนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่มารดลจิตดลใจหลอกทั้งสิ้น การคิดแบบนี้เป็นมิจฉาทิฐิและยังไม่ผ่านด่านมาร การคิดที่เป็นสัมมาทิฐิก็คือ “ต่อให้เรามีบุญบารมีมาก แต่การใช้ชีวิตเรียบง่ายไม่เด่นดังนั้น เป็นความสงบสุขมากกว่า"


---ทว่า พระสงฆ์ดังทั้งหลายไม่คิดเช่นนี้ ต่างแข่งขันกันอวดบารมีด้วยการรับเงินทองลาภสักการะและสานุศิษย์จำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้มีบารมีมาก อันที่จริง การเสวยผลบุญมากในปัจจุบันจะเป็นเครื่องบั่นทอนบุญบารมีของเราได้ ทำให้ต้องไปเกิดใหม่เหลือบุญบารมีต่ำกว่าที่ตนเคยได้บำเพ็ญมา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบำเพ็ญบารมีได้กายโพธิสัตว์และสิงห์เป็นพาหนะแล้ว เมื่อไปสร้างวัดใหญ่โต สร้างถาวรวัตถุมากมาย


---สุดท้ายจะจุติเป็นสิงห์ และสิงห์ที่ช่วยงานให้เรานั้นจะจุติเป็นโพธิสัตว์แทน กล่าวคือ สิงห์มาบำเพ็ญช่วยเราจนได้บุญบารมีเป็นโพธิสัตว์ ส่วนเรามัวแต่เสวยผลบุญไม่โปรดสัตว์ แค่ออกปากก็มีคนเอามาให้ตามต้องการ บุญก็หมดหายหมด กรรมที่ตนมีก็ไม่ชดใช้ ไม่ชำระให้หมด สุดท้ายเหลือเพียงแค่สิงห์เท่านั้นเอง ลองสังเกตง่ายๆ อย่างนี้ พระราชาถ้าทำความดีมากๆ ก็จะได้บุญบารมีพอถึงโพธิสัตว์ได้ เช่น ร.๑ หลังกอบกู้ประเทศสร้างอาณาจักรทำนุบำรุงศาสนามั่นคงแล้ว ทรงจุติเป็นโพธิสัตว์ในกายมัญชูศรี, ร.๕ หลังทรงพัฒนาประเทศร่มเย็นเลิกทาสแล้ว ทรงจุติเป็นโพธิสัตว์ในกายสมันตภัทร


---ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวร มีจิตอาฆาตกับพม่า เมื่อละสังขารลงแล้วจุติเป็นมารดี เพราะจิตที่อาฆาตมากนั่นเอง ทำให้ท่านต้องจุติลงมาบำเพ็ญบารมีใหม่เพื่อกลับคืนสู่ดุสิตตามเดิม สำหรับพระสงฆ์ที่ได้บำเพ็ญถึงโพธิสัตว์ เช่น ท่านอิกคิวซัง จุติแล้วได้กายโพธิสัตว์แต่ความเป็นอยู่ลำบากแค่พออยู่ได้ ไม่ได้มีลาภสักการะและบริวารมากเหมือนพระสงฆ์ดังในสมัยนี้ ที่กล่าวมานี้ ให้ท่านลองประเมินบุญบารมีเก่าของท่านเอง เทียบกับ ร.๑, ร.๕, สมเด็จพระนเรศวร, ท่านอิกคิวซัง ดูเล่นๆ ว่าท่านมีมากหรือน้อยกว่าท่านเหล่านี้ และสิ่งที่ท่านได้รับอยู่ปัจจุบัน ยังทำให้ท่านยังได้โพธิสัตว์ไหม หรือว่าท่านเสวยบุญบารมีเกินตัวและติดหนี้จิตวิญญาณที่มองไม่เห็นอยู่


---การจะได้โพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญโปรดสัตว์มาก หากไม่ทำอะไรเป็นผลงานชัดเจนแบบ ร.๑, ร.๕ ก็ต้องอยู่อย่างสมถะ แล้วบำเพ็ญฝึกฝนเฉพาะตัวแบบท่านอิกคิวซัง อย่างนี้พอได้บารมีถึงโพธิสัตว์ แต่หลายท่านเป็นพระสงฆ์ดังที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพระราชา เช่น มีลาภสักการะเยอะมาก, มีบริวารสานุศิษย์มาก แล้วคิดว่านี่คงเป็นเพราะบุญบารมีเรา แต่พิจารณาดูแล้วจะมากกว่าท่านอิกคิวซังเสียอีก และผลงานโปรดสัตว์ก็น้อยกว่า ร.๑, ร.๕ อย่างนี้ คิดว่ายังจะได้ถึงโพธิสัตว์ไหม สิ่งทีได้มานั้นเพราะบารมีหรืออิทธิฤทธิ์ของจิตวิญญาณที่มองไม่เห็นกันแน่


---ผลของบุญบารมีจะออกดอกผลอย่างสมเหตุสมผล ไม่มากมายล้นจนผิดสังเกต เช่น พระสิวลี เป็นพระอรหันต์ผู้มีบุญมาก ท่านก็บิณฑบาตได้ลาภมรรคผลมาก แต่ไม่ได้เป็นเงินทองและสานุศิษย์มารับใช้ราวกับบริวารของพระราชาแบบพระสงฆ์ดังในสมัยนี้ หากเรามีบุญบารมีมากเท่าพระสิวลีจริง เราก็น่าจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เราเชื่อยึดมั่นอยู่ในใจว่า เราคืออรหันต์ที่มีบุญบารมีมากนั้น มันก็ไม่น่าจะเกินพระสิวลี แต่ในความเป็นจริงสมัยนี้มันไม่ใช่แบบพระสิวลีเลย หากเราสังเกตดูดีๆ


---พระสงฆ์ดังหลายรูปกำลังมีชีวิตอยู่แบบ “พระราชา” เพราะเหตุหรือ ก็เพราะพระสงฆ์ดังๆ เหล่านี้ มีอดีตชาติเคยเป็นพระราชามาก่อน มีบริวารเก่าที่จงรักภักดีตามมาเกิดเป็นสานุศิษย์ และยังชำระกรรมชดใช้ไม่หมด จึงต้องมีวิถีชีวิตแบบพระราชาให้เห็นในปัจจุบัน คือ มีลาภสักการะมามากมาย เงินทองล้นหลาม สานุศิษย์ห้อมล้อมเต็มไปหมด อยากได้อะไรแค่ออกปากเขาก็น้อมมาถวายให้ ลักษณะนี้แตกต่างจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพระอรหันต์ในพุทธกาลมาก


---แม้พระสิวลีผู้มีบุญมาก หรือพระมหากัจจายนะ, พระอชิตะ ที่หลายท่านเชื่อว่าเป็นพระศรีอาริยเมตตรัยผู้มีบุญบารมี ๑๖ อสงไขย ก็ยังไม่ได้อย่างนี้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งหมด เกิดเพราะจิตวิญญาณแฝงที่เข้ามาบำเพ็ญบารมีในกายสังขารของพระสงฆ์ดังหลายรูป เช่น จิตวิญญาณแฝงที่มีกายเป็นกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อจิตวิญญาณแฝงเหล่านี้มาอาศัยและช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ได้ธรรมถึงอริยสงฆ์แล้ว พวกจิตวิญญาณแฝงเหล่านี้จะได้บุญบารมีมาก เพราะทำงานอย่างหนัก เช่น กลางคืนออกไปดลจิตดลใจบริวารเก่าในอดีตชาติให้มาหาสู่และทำบุญทำนุบำรุงศาสนาอย่างมากล้นหลาม


---โดยที่พระสงฆ์รูปนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วจะมานับเป็นบุญบารมีอะไรกัน จิตวิญญาณดวงอื่นทำให้ประเคนให้ทั้งสิ้น จิตวิญญาณเหล่านี้บำเพ็ญเป็นผู้ช่วยจิตวิญญาณของพระสงฆ์รูปนั้นอย่างมากแล้ว เมื่อสังขารที่ใช้ร่วมกันนั้นตายลง ก็จะจุติเปลี่ยนกายทิพย์จากกายกษัตริย์เป็นกายโพธิสัตว์ ส่วนพระสงฆ์ที่เคยมีกายทิพย์เป็นโพธิสัตว์อยู่เดิม เมื่อตายลงบุญบารมีถูกผลาญใช้หมดก็จะเหลือแต่กายทิพย์กษัตริย์จุติในชั้นยามาเท่านั้น เพราะเหตุว่ายึดมั่นถือมั่นในความดีของตนเกินไป


---จึงเสวยผลบุญมากมายด้วยทิฐิว่าเราเป็นผู้มีบุญบารมีมาก แล้ววันๆ ไม่ทำอะไรเลย แทบไม่โปรดสัตว์อะไร เทศนาก็เทศน์ไปตามแต่ใจอยากจะพูด ใครจะบรรลุหรือไม่อะไร หรือเข้าใจจริงหรือไม่ก็ไม่สนใจ อย่างนี้ บุญบารมีจะมาแต่ไหน สุดท้ายก็ได้แค่กายกษัตริย์เพราะจิตเริ่มเข้าใจไขว้เขวในความเป็นพระสงฆ์, ความเป็นโพธิสัตว์ เอาว่า การได้รับเงินทอง, ลาภสักการะ, มีบริวารสานุศิษย์จำนวนมาก นี่น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงบุญบารมีของเราแล้ว


---เมื่อตายลงจิตเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็จะจุติเป็นกายกษัตริย์ได้ จิตวิญญาณที่เดิมเป็นกายกษัตริย์ตั้งใจมาทำงานรับใช้พระรูปนี้อย่างหนัก สุดท้ายได้จุติเป็นโพธิสัตว์ นี่ยังดี ที่กายแฝงที่เข้ามาช่วยพระสงฆ์นั้นมีกายเป็นกษัตริย์จึงมีหัวพัฒนาสร้างวัดวาทำผลงานมากมายอย่างต่ำตายไปยังได้กษัตริย์ชั้นยามา และจะได้จุติลงมาบำเพ็ญบารมีใหม่ช่วยค้ำจุนพระศาสนาในรูปพระราชาต่อไป บางท่านแย่กว่านั้น เพราะต้องจุติในกายอสูรก็มี


---ในกรณีที่อสูรมารับใช้งานให้อย่างหนักจนจิตอสูรตนนั้นเปลี่ยนถึงโพธิสัตว์ ในขณะที่พระสงฆ์จิตเสื่อมลงเอาแต่ความสบาย หลงตัวเองคิดว่าตนเป็นผู้มีบุญบารมีมาก ทุกสิ่งทุกอย่างมาเองทั้งสิ้น ไม่ได้ตรวจตราดูเลยว่ามีจิตวิญญาณแฝงเข้ามาช่วยประเคนให้เราทั้งนั้น เราไม่ได้บำเพ็ญบารมีอะไรเลย ได้แต่เสวยผลบุญหมดไป หมดไป ผลาญอยู่อย่างนั้นเอง จนไม่เหลือบุญบารมีเก่า เหลือแต่กรรมปัจจุบันที่สร้างทำวัดวาพัฒนามากมาย


---ก็ได้เป็นเทวดาชั้นยามามีกายเป็นกษัตริย์บ้าง เป็นมังกรที่พร้อมเกิดเป็นพระราชาในยุคที่มีอสูรจำนวนมากบ้าง นี่คือ การบำเพ็ญบารมีที่ผิดพลาดผิดระดับ การปฏิบัติจิตจนได้บารมีเก่าส่งผลบรรลุถึงอริยโพธิสัตว์แล้ว ไม่ถือวิถีโพธิสัตว์ ไม่ทำตัวโปรดสัตว์สืบต่อไป เมื่อตายลงก็ไมได้จิตโพธิสัตว์ หากมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพระราชาเสวยบุญมีบริวารมากพัฒนาประเทศมาก ก็จะจุติเป็นเทวดาชั้นยามามีกายกษัตริย์ตรงไปตรงมาตามผลกรรมทีทำนั้น แม้ปฏิบัติจิตขั้นสูงได้จิตระดับนั้นแล้วก็ตาม เมื่อจิตเสื่อมถอยลงจากสภาวะเก่าที่ตนเคยได้ลำบากลำบนฝึกฝนมา ก็ต้องรับผลบุญตามนั้น การบำเพ็ญบารมีอยู่อย่างวิถีโพธิสัตว์นั้น มีรูปแบบอยู่ สามารถทำตามท่านที่ได้บรรลุโพธิญาณทั้งหลายในอดีตแต่ก่อนมาได้ทั้งสิ้น เช่น ท่านตั๊กม้อ, เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ






 

-------------------------------------------------------------------






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย....แสงธรรม

แก้ไขแล้ว ป.

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558

ความคิดเห็น

  1. 1
    สุขขี แสนสุวรรณ
    สุขขี แสนสุวรรณ suthee.25@hotmail.com 20/09/2017 21:45

    อนุโมทนา สาธุ ศรัทธามั่นว่า ยุคปี 2560 ปาฏิหาริย์ ยังมี บาปกรรมยังมี บุญ บารมี ยังมีจริง ด้วยโยนิโสนมสิการ  ธรรมท่ีได้อ่านเป็นยิ่งบุญ แต่ก็ยอมรับว่า การอธิบายเรื่องจิตวิญญาณ พูดยาก และ อธิบายได้น้อย และไม่ตรง จริง ได้แค่ส่วนเสี้ยวเท่านั้น ผู้รู้ธรรม เข้าถึงธรรม น้อยคน เพียงสำเหนียกเท่านั้น

  2. 2
    ตะวัน มีทรัพย์
    ตะวัน มีทรัพย์ ton6606@hotmail.com 06/01/2019 20:38

    แค่นี้ก็มากมายพอที่จะให้ผมและครอบครัวได้ใช้ชีวิตอย่างเข้าใจแล้วคับผม..ธรรมที่ท่านให้ในครั้งนี้ใหญ่ยิ่งนัก สาธุ สาธุ สาธุ

  3. 3
    16/11/2020 10:54

    ขอขอบคุณอย่างยิ่ง ขอให้บุญสำเร็จแก่ท่านทวีคูณ

  4. 4
    04/08/2023 00:22

    ขอบคุนมากครับ สาธุ

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท04/08/2023
ผู้เข้าชม6,580,767
เปิดเพจ10,319,715
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view