/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

พระเจ้าอโศกมหาราช

พระเจ้าอโศกมหาราช

พระพุทธศาสนาตั้งแต่ พ.ศ.๑ ในมัชฌิมประเทศ

(อินเดียภาคกลาง)






---หลังจาก พระพุทธปรินิพพานแล้ว ใน พ.ศ.


---1.แคว้นมคธ ที่ปกครองโดย พระเจ้า อชาตศัตรู ก็ยังคงเป็นแคว้นมหาอำนาจ ที่มีความเจริญรุ่งเรือง มากที่สุด ในอินเดียภาคกลาง เพราะสามารถรวบอำนาจ การปกครอง ทั้งแคว้นโกศล และแคว้นวัชชีไว้ได้.

 

*ราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสาร


---หลังจากที่ พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้ถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นพระราชโอรส จับขังคุก จนสิ้นพระชนม์แล้ว, พระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทรงปกครอง แคว้นมคธสืบไป. 


---ต่อมา พระองค์ได้ทรงสร้าง เมืองปาฏลีบุตร ขึ้น เพื่อใช้เป็นเมืองหน้าด่าน ในการต่อสู้กับแคว้นวัชชี ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ของแม่น้ำคงคา. 


---ครั้นต่อมาพระเจ้าอชาต ศัตรูถูกพระราชโอรส สำเร็จโทษ จนสวรรคตแล้ว, กษัตริย์องค์ต่อๆมา ได้โปรดให้ย้ายนครหลวง จากนครราชคฤห์ มาอยู่ที่ปาฏลีบุตร. 


---จากนั้น ราชคฤห์ก็เสื่อมลงๆ ในขณะที่ปาฏลีบุตร ได้เจริญมากขึ้นๆ จนจัดได้ว่า ปาฏลีบุตร เป็นหนึ่งในหก ของมหานครที่ยิ่งใหญ่ แห่งอินเดียโบราณ.

 

---ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า กษัตริย์ในราชวงศ์ พระเจ้าพิมพิสารนี้ พระโอรสได้สำเร็จโทษ พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชสมบัติ ถึง 5 ชั่วโคตร จนในที่สุด ประชาชนทนอยู่ ในการปกครอง ของกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ไม่ได้ จึงสำเร็จโทษ กษัตริย์องค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์ ของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วสถาปนาให้ พระเจ้าสุสูนาค เป็นกษัตริย์ปกครองต่อมา. 

*พระเจ้ากาฬาโศก

 

---พระเจ้ากาฬาโศก ได้เสวยราชย์สืบต่อจาก พระเจ้าสุสูนาค และครองราชย์ อยู่นาน 28 ปี พระองค์มีพระโอรส 10 องค์ ได้แก่ ภัทรเสน โกรัณฆวรรณ มังกร สัพพัญหะ ชาลิกะ สัญชัย อุภคะ โกรพยะ นันภิวัฑฒนะ ปัญจมตะ และพระโอรส ได้ครองราชย์ต่อมา ครั้นเมื่อ พ.ศ.140 ราชวงศ์สุสูนาค ก็สิ้นสุดลง ด้วยถูกนายโจรนันทะ พิฆาตจนหมดสิ้น.

 

*ราชวงศ์นันทะ

 

---ต่อจากนั้น นายโจรนันทะได้ตั้ง ราชวงศ์นันทะขึ้น ราชวงศ์นันทะนี้ มีเจ้าครองนคร สืบต่อกันมาอีก 9 องค์ ดังนี้ อุคคเสนนันทะ กนกนันทะ จันทคุติกนันทะ  ภูตปาลนันทะ  รัฏฐปาลนันทะ  โควิสาณกนันทะ ทสสิทธิกะนันทะ  เกวฏะนันทะ  ธนะนันทะ  รวมเวลาครองราชย์อยู่ 22 ปี.


---เจ้ามหาปัทมะนันทะ ผู้เป็นโอรส สืบเชื้อสายจาก เจ้านันทะ ทรงอุปถัมภ์เกื้อกูล พระพุทธศาสนา ต่อมา.

  

 

*อเล็กซานเดอร์มหาราชบุกอินเดีย

 

---ในสมัยเดียวกับ ราชวงศ์นันทะนี่เอง ประเทศอินเดีย ได้ถูกย่ำยี จากข้าศึกต่างด้าว ทางยุโรป คือกองทัพกรีก ซึ่งมีอเล็กซานเดอร์ มหาราช กษัตริย์แห่งราชอาณาจักร มาซิโดเนีย เป็นนายทัพ บุกเข้ามาตีอินเดีย ทางภาคเหนือ เข้าสู่บริเวณ แถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ตีกรุงตักกสิลา ในแคว้นคันธาระแตก แล้วบุกตลุย ลงมาตีแคว้นปัญจาบ.


---อเล็กซานเดอร์ มหาราช ถูกต่อต้านจาก กองทัพของ พระเจ้าเปารวะ ผู้นำทัพ ที่มีฉายาว่า “สิงห์แห่งปัญจาบ” การสู้รบ เป็นไปอย่างดุเดือด บนฝั่งแม่น้ำวิตัสสะ, อันเป็นสาขาหนึ่ง ของแม่น้ำสินธุ. ในที่สุด พระเจ้าเปารวะพ่ายแพ้ ถูกจับเป็นเชลยศึก


---ต่อมาภายหลัง อเล็กซานเดอร์ มหาราช ได้คืนบ้านเมือง ให้แก่พระเจ้าเปารวะ ปกครองตามเดิม แต่อยู่ในฐานะประเทศราช.


---จากนั้น อเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ได้เตรียมการ เพื่อมาตีแคว้นมคธ, ที่มีความมั่งคั่ง สมบูรณ์ต่อไป. แต่พวกนายทัพ นายกองทั้งปวง เกิดแข็งข้อ ไม่ยอมเดินทัพต่อไป ทุกคนอ้างว่า อิดโรยมาก และคิดถึงลูกถึงเมีย อยากกลับบ้าน เกิดเมืองนอน. 


---อเล็กซานเดอร์ มหาราช จึงจำพระทัยเลิกทัพกลับไป ยังประเทศกรีก.


---เมื่อเสด็จกลับถึง กรุงบาบิโลน แห่งลุ่มแม่น้ำไตกริส กับ ยูเฟรตีส ก็ได้สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 220 มีพระชนมายุ ได้เพียง 33 ปี เท่านั้น.

 

*จันทรคุปต์กู้ชาติ

 

---เมื่ออเล็กซานเดอร์ มหาราช ตีได้บ้านเมืองใดแล้ว พระองค์ ก็มักทรงแต่งตั้ง ให้ชาวเมือง หรือเจ้าของเดิม เป็นผู้ดูแลปกครอง บ้านเมืองต่อไป และได้จัดให้ นายทัพนายกอง ซึ่งเป็นชาวกรีก คอยควบคุมอีกทีหนึ่ง. 


---ครั้นเมื่ออเล็กซานเดอร์ มหาราช สวรรคตลง บรรดาแม่ทัพ นายกองทั้งหมด ทั้งมวล ต่างต้องการอิสรภาพ ไม่ต้องขึ้นต่ออาณาจักร กรีกในยุโรปอีกต่อไป. ทุกคนต้องการ เป็นตัวแทนของ อเล็กซานเดอร์ กันทั้งนั้น จึงทำสงคราม รบพุ่งกันอย่างยุ่งเหยิง.


---ครั้งนั้น ข้าหลวงกรีกผู้หนึ่ง ซึ่งดูแลกำกับพระเจ้าเปารวะ เป็นกบฎ จับพระเจ้าเปารวะ ปลงพระชนม์เสีย ทำให้ชาวอินเดียโกรธแค้น ลุกขึ้นจับอาวุธ ขับไล่กรีก. บรรดาชาวอินเดีย ผู้กู้ชาติเหล่านี้ ก็มีคนสำคัญคนหนึ่ง คือ จันทรคุปต์ อยู่ด้วย.



---จันทรคุปต์เป็นคนหนุ่ม ที่ใฝ่สูง และกล้าหาญ.


---เล่ากันว่า จันทรคุปต์ มีเชื้อสายโมริยะ ซึ่งสืบมาแต่ ศากยวงศ์ ของพระพุทธองค์ ที่หนีรอดตาย มาจากครั้งที่ พระเจ้าวิฑูฑภะถล่มกบิลพัสดุ์, 


---เมื่อหนีอพยพ ขึ้นไป ทางแถบภูเขาหิมาลัย ได้พบสถานที่ น่ารื่นรมย์ กึกก้อง ด้วยเสียงนกยูง จึงได้สร้างนครขึ้นใหม่ ขึ้นชื่อว่า “โมริยนคร” สืบกษัตริย์มา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 2 ราชาผู้ครองเมือง ถูกประหารชีวิต แต่มเหสี ซึ่งมีพระครรภ์แก่ เสด็จหลบหนีภัยไปได้ จนมาอาศัยอยู่ที่ ปาฏลีบุตร และได้ประสูติ จันทรคุปต์ ที่เมืองปาฏลีบุตรนั่นเอง.


---จันทรคุปต์เคยซ่องสุมผู้คน เพื่อจะชิงราชสมบัติ ของกษัตริย์ในราชวงศ์ นันทะ แต่ความ ได้ล่วงรู้ถึงพระเจ้านันทะ เสียก่อน จันทรคุปต์จึงต้องหลบหนี ไปอยู่ที่ตักกสิลา และได้เข้าอาสา อเล็กซานเดอร์ว่า จะนำทัพกรีก เข้าตีแคว้นมคธ 


---แต่เมื่อกรีก เลิกทัพไปเสียก่อน, จันทรคุปต์ก็เที่ยวป้วนเปี้ยน รวบรวมสมัครพรรคพวก อยู่แถวแคว้นปัญจาบ และชายแดนมคธ บังเอิญจันทรคุปต์ ได้เสนาธิการ เป็นพราหมณ์ที่ชื่อ จาณักยะ ซึ่งเป็นคนฉลาดแกมโกง และมีไหวพริบดี เป็นผู้วางแผนการณ์ โจมตีแคว้นต่างๆ จนสามารถขับไล่ อิทธิพลของกรีก ในปัญจาบไปได้ แล้วจันทรคุปต์จึงได้บุกเข้าปล้นเมืองใหญ่ๆ ของแคว้นมคธ จนในที่สุด สามารถรบชนะ พระเจ้าธนนันทะ องค์ที่ 9 ได้


---จันทรคุปต์ จึงได้ปราบดาภิเษก เป็นกษัตริย์ ทรงตั้ง ราชวงศ์โมริยะขึ้น ในนครปาฏลีบุตร เมื่อ พ.ศ. 221 และได้ปกครองอยู่นาน 24 ปี. ตลอดเวลานั้น มีแต่การรบพุ่ง ปราบปรามแว่นแคว้นต่างๆ ทั้งในลุ่มแม่น้ำสินธุ และแม่น้ำคงคา ตลอดจนสามารถขับไล่กรีก ให้พ้นไปจากอินเดียได้.

 

*พระเจ้าอโศกมหาราช

 

---พระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์โมริยะ ผู้ครองนครปาฏลีบุตรได้ 24 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 221-245 ทรงมีอาณาเขตพระนคร และหัวเมืองขึ้นมากมาย. 


---เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าพินทุสาร พระราชโอรสของพระองค์ ได้ปกครองแทน ทรงครองราชย์อยู่นาน 28 ปี จนถึงปี พ.ศ. 273 ก็เสด็จสวรรคต.

 

 

*เจ้าชายอโศกมหาอุปราชแห่งอุชเชนี

 

---พระเจ้าอโศกนั้น ทรงเป็นพระราชโอรส ของพระเจ้าพินทุสาร ที่ประสูติจาก นางพราหมณี ผู้เป็นเพียงพระสนมเอก เท่านั้น, และทรงมีพระอนุชา ร่วมอุทรองค์หนึ่ง คือ วีตโศก หรือบางแห่งเรียก ติสสะ.


---พระเจ้าพินทุสารเอง ทรงมีโอรสและธิดามาก และพระโอรส ที่ทรงโปรดปรานที่สุดคือ เจ้าชายสุมนะ เพราะเป็นพระโอรส อันประสูติด้วยอัครมเหสี และพระองค์ตั้งพระทัยว่า จะทรงมอบราชสมบัติให้.


---ในขณะนั้น พระเจ้าอโศก ทรงดำรงตำแหน่ง มหาอุปราช แห่งเมืองอุชเชนี และพระองค์ ได้ทรงอภิเษกกับสตรีคนรัก ซึ่งเป็นเพียงหญิงชาวบ้าน ในตระกูลพ่อค้า ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆแถบนั้น ในบริเวณ เมืองเวทิสา (อาคารที่เป็นสถานที่ ประกอบพิธีอภิเษกครั้งนั้น ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของมหาสถูปสาญจี)


---ต่อมาไม่นาน พระองค์มีพระราชโอรส 1 องค์ คือ พระมหินทระ และพระราชธิดา 1 องค์ คือ พระนางสังฆมิตตา.


---เมื่อพระเจ้าอโศก ทรงทราบข่าวว่า พระราชบิดาสวรรคตแล้ว จึงได้เสด็จกลับปาฏลีบุตร เพื่อหวังจะครองราชสมบัติ ต่อจากพระราชบิดา.


---ในครั้งนั้น เจ้าชายสุมนะ พระเชษฐาของพระองค์ ซึ่งเป็นอุปราช อยู่นครตักกสิลา ในแคว้นปัญจาบ ก็ปรารถนา จะเป็นกษัตริย์ สืบต่อพระราชบิดาเช่นกัน. 


---ทั้งคู่จึงได้ทำสงครามรบพุ่ง เพื่อแย่งชิงราชสมบัติกัน การต่อสู้รบพุ่ง อย่างนองเลือด เป็นเวลานานถึง 4 ปี จนในที่สุด การสิ้นพระชนม์ ของพระเชษฐานั่นแหละ จึงทำให้ ศึกสายเลือดยุติลงได้. 


---พระเจ้าอโศก จึงได้สืบราชบัลลังก์ แห่งราชวงศ์โมริยะต่อมา ในปี พ.ศ. 278.

 

 

*สถาปนาพระเจ้าอโศกขึ้นเป็นกษัตริย์


---เมื่อพระเจ้าอโศก ได้รับสถาปนา ขึ้นเป็นกษัตริย์ ในระยะแรกๆ ทรงดุร้ายมาก ใครที่กระด้างกระเดื่อง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็ฆ่าด้วยมือตนเอง และมีวิธีลงทัณฑกรรม แบบต่างๆ ที่โหดเหี้ยมยิ่งนัก เช่นเผาไฟทั้งเป็น ต้มในกะทะทองแดง จับใส่ครกเหล็กโขลก ให้ละเอียด เป็นต้น

---พระเจ้าอโศก มีพระราชโอรส รูปงามองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า เจ้าชายสกุณาละ เป็นที่ต้องพระทัย ของพระนาง ติษยรักษิต มเหสีรอง ของพระเจ้าอโศก เมื่อเจ้าชายไม่ทรงยินด ตอบสนอง ความปรารถนา ของพระนาง พระนางจึงทูลยุยง พระเจ้าอโศก ให้ลงอาญา ควักพระเนตร ของเจ้าชายกุณาละ ออกทั้ง 2 ข้าง.

 

*อาณาจักรของพระเจ้าอโศก


---ในสมัยแรกๆ แห่งการเป็นกษัตริย์นั้น พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทำศึกสงคราม ไปทั่วชมพูทวีป. พระองค์ทรงรบชนะศึก มากมาย จนแผ่อาณาเขต ของประเทศอินเดีย ไปอย่างกว้างขวาง จนทางทิศเหนือ จดอาฟกานิสถาน ส่วนทางทิศใต้ ก็เกือบจะหมดชมพูทวีป (ในปัจจุบัน) ทีเดียว.

 

*พระเจ้าอโศกทรงตั้งราชธานี


---พระเจ้าอโศก ได้สถาปนา เมืองปาฏลีบุตรขึ้น เป็นนครหลวง และเป็นเมืองศูนย์กลาง ที่สำคัญ แห่งความเจริญรุ่งเรือง ในทุกๆด้าน รวมทั้ง ในการทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรือง ยิ่งขึ้นด้วย.

 

 

*มูลเหตุที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

 

---ในศิลาจารึก หลักที่ 13 จารึกว่า “เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รัก แห่งทวยเทพ (คือพระเจ้าอโศก) ราชาภิเษกแล้วได้ 8 ปี ใน พ.ศ. 286 ได้ยกทัพ ไปทำสงครามกับ อาณาจักรกาลิงคะ ซึ่งตั้งอยู่ ทางลุ่มแม่น้ำมหานที ทางตอนใต้ อาณาจักรมคธลงมา จนมีชัยชนะ ได้เชลยศึก จากแว่นแคว้นนั้น 150,000 คน พิฆาตเข่นฆ่าเสีย ณ ที่นั้น 100,000 คน ในสนามรบ มีแต่คนตายกัน เกลื่อนกลาด”


---ผลจากสงคราม อันหฤโหด ในครั้งนี้เอง ที่ทำให้พระองค์ ได้ทอดพระเนตร เห็นความทารุณของผู้พิชิต การเข่นฆ่า และล้มตายลง ด้วยโรคภัย การถูกบังคับ พาตัวเอาไปเป็นเชลย ด้วยกำลัง ผู้เป็นราษฎรสามัญ ที่ไม่ใช่นักรบ หรือแม้แต่สมณะชีพราหมณ์ ผู้รักสันติก็ไม่วายเว้น.


---พระองค์จึงเกิดกำศรวล สลดสังเวชพระทัยยิ่งนัก ทรงเกิดความเมตตา สงสาร รู้สึกสำนึก ในความผิดบาป จนเปลี่ยนพระทัยว่า “การชนะที่แท้จริง มีอยู่อย่างเดียว เท่านั้น คือการชนะโดยธรรม”


---วันหนึ่ง ทรงทอดพระเนตร เห็นสามเณรน้อย ในพระพุทธศาสนา รูปหนึ่ง ชื่อ นิโครธ ซึ่งเป็นพระโอรส ของเจ้าชายสุมนะ พระเชษฐา ที่พระองค์ทรงประหาร เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ.


---สามเณรนั้น มีกิริยาเยือกเย็น สงบเสงี่ยม เคร่งครัด น่าเลื่อมใส พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา. 

---โปรดให้นิมนต์ สามเณรน้อยนั้น ให้เข้าไปในพระราชฐาน, นิโครธสามเณร ได้แสดงธรรม โปรดพระเจ้าอโศก ให้ตั้งอยู่ในพระพุทธศาสนา ละเลิกพระอุปนิสัย อันดุร้ายเสีย.


---เมื่อพระเจ้าอโศก ได้เริ่มเห็นคุณค่า ของหลักธรรมะ แห่งพระศาสนาแล้ว พระองค์ จึงทรงศึกษาหลักธรรม แห่งพระศาสนานั้น อย่างละเอียดละออ, ซึ่งในขณะนั้น มีศาสนาที่สำคัญๆ 3 ศาสนาคือ ศาสนาพราหมณ์  ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ.


---พระองค์ได้เห็นว่า พระพุทธศาสนา จะช่วยให้ปัจเจกบุคคล และสังคม อยู่อย่างสงบสุขได้ จึงทรงตัดสินพระทัย นับถือพุทธศาสนา เป็นสรณะ ในชีวิตสืบไป.


---พระองค์ทรงเปลี่ยน วิถีดำเนินชีวิตใหม่ ให้เป็นไปตามหลักธรรม แห่งพระพุทธศาสนา และนับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา. พระองค์ได้อุทิศพลังงาน อันยิ่งใหญ่ และขุมพลังอันทรงอำนาจ ของจักรวรรดิอันกว้างไกล ให้แก่การรู้แจ้ง  การทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา และการเผยแพร่ พระพุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับสนับสนุน ให้พระโอรส และพระธิดา คือ พระมหินทระ และพระนางสังฆมิตตา อุปสมบท เป็นพระภิกษุ และพระภิกษุณี แล้วเดินทาง ไปเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ที่ประเทศลังกา.


---พระเจ้าอโศก ได้มีศิลาจารึกรูปนาธ ที่จารึกไว้ว่า “พระองค์ ได้กลายเป็นสาวก ในเพศฆราวาส (อุบาสก) ในพระพุทธศาสนา เป็นเวลา 2 ปีครึ่งแล้ว แต่ว่า ยังมิได้ดื่มด่ำซาบซึ้ง ในพระธรรม ลึกซึ้งเท่าไรนัก แต่ว่า 1 ปีก่อนนี้ (ก่อนการสลักจารึก) พระองค์ได้ทรงผนวช ในสังฆมณฑล และเริ่มมีความดื่มด่ำซาบซึ้ง ในพระพุทธศาสนา ลึกล้ำมากขึ้น”


---ในหลักศิลาจารึก หลักที่ 8 พระองค์ประกาศว่า ในปีที่ 13 หลังจาก การปราบดาภิเษก เป็นราชา อย่างเป็นทางการแล้ว พระองค์ก็เริ่มดำเนิน เข้าสู่สัมโพธิ (คือดำเนินชีวิต ตามอริยมรรคมีองค์แปด เพื่อบรรลุ ซึ่งภาวะแห่งใจ ที่เรียกว่า ความเป็นพระอรหันต์)

 

 

*ทรงปกครองโดยธรรมาธิปไตย

 

---พระเจ้าอโศก ได้รับความดล บันดาลพระทัย จากเรื่องราว ธรรมจักรพรรดิราช ในพระสูตร แห่งพระพุทธศาสนา จึงได้ปฏิบัติตนเป็น พระธรรมจักรพรรดิราช ดังปรากฏใน ศิลาจารึกดังนี้


---“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงปรารถนา ความไม่ประทุษร้าย ในสรรพสัตว์ ความสังวรตน ความประพฤติ สม่ำเสมอ และความสุภาพ และโดยประการนั้น พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณา ประจักษ์แล้วว่า ธรรมวิชัย คือชัยชนะโดยธรรม นับว่าเป็นชัยชนะ อันสูงสุด. พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับผลสำเร็จ ในชัยชนะดังกล่าว สืบต่อกันมิรู้สิ้น และแผ่ตลอดไป ในบรรดา เผ่าพันธุ์มนุษย์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่รอบ พระราชอาณาเขต แม้ในแว่นแคว้น ซึ่งไกลออกไปตั้ง 600 โยชน์..”


---ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในอาณาจักรของพระองค์ ทุกอย่าง ทุ่มลงมา เพื่อการอุปถัมภ์ พระพุทธศาสนา ในน้ำพระทัย ของพระองค์ ปรากฏชัดว่า พระธรรมคำสั่งสอน ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่ง ที่มีความสำคัญที่สุด เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด.

 

*ทรงปฏิวัติสังคมโดยธรรม

 

---พระเจ้าอโศกทรงประกาศ ให้ยกเลิกพิธีบูชายัญ ดังศิลาจารึกว่า


---“(ในพระราชอาณาจักรของข้า) ที่นี่ห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ ห้ามการรื่นเริง เลี้ยงเหล้า หรือชนสัตว์ ทั้งนี้เพราะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นโทษมาก ในการเลี้ยงร่าเริงแบบนั้น ยังมีการเลี้ยงร่าเริง บางประเภท ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเห็นว่า เป็นการทำกุศล ในอดีตโภชนาคาร หรือโรงครัวของพระองค์ มีสัตว์หลายพันตัว ต้องถูกฆ่า เพื่อปรุงอาหารทุกวัน ณ บัดนี้ วันหนึ่งมีสัตว์ 3 ตัวเท่านั้น ที่ยังถูกฆ่าอยู่ คือ นกยูง 2 ตัว และกวาง 1 ตัว สำหรับกวางนั้น ไม่ได้ฆ่าเสมอไปหรอก ในเวลาต่อไป สัตว์ทั้ง 3 นี้ ก็จักไม่ถูกฆ่าเลย”


---ในปีที่ 13 หลังจาก ราชาภิเษกแล้ว พระเจ้าอโศก ก็เสวยแต่อาหารชนิด ที่ไม่มีมังสะเลย เมื่อทรงห้าม การทำบาปแล้ว ก็ทรงให้ สร้างบุญกุศลด้วย.

 

 

*ทรงสร้างโรงพยาบาลคน และสัตว์

 

---พระเจ้าอโศก โปรดให้สร้าง โรงพยาบาลคน และสัตว์ขึ้น ดังโองการในศิลาจารึกว่า


---“ทุกหนทุกแห่ง ในราชอาณาจักร ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ และทั้งอาณาจักร ซึ่งติดต่อใกล้เคียงกัน เป็นต้นว่า โจฬะ ปาณฑยะ สัตติยบุระ ไกลออกไปจนถึง ตามพปัณณิ (เกาะลังกา) ราชอาณาจักรโยนก ของพระเจ้าอันตโยคะ (คือพระเจ้าแอนติโอโคสที่ 2 แห่งประเทศซีเรีย) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการรักษาโรค 2 ประการ คือ การรักษาโรคมนุษย์ ประการ 1 การรักษาโรคสัตว์ อีกประการ 1 (โรงพยาบาลทั้ง 2 อย่าง) มีทั่วไป ในพระราชอาณาจักร เหล่านี้ทุกหนทุกแห่ง”


---ถ้าโอสถสำหรับมนุษย์ และสัตว์ในที่นั้นๆ ไม่มี พระองค์ก็โปรดเกล้า ให้เก็บหาไว้ แล้วจัดปลูกขึ้นไว้ให้พร้อม ทั่วทุกด้าวแดน รากเหง้า (ที่เป็นยา) ด้วย และผลไม้ ณ ที่ใดขาดแคลน ก็โปรดเกล้า ให้นำไปปลูกขึ้นไว้ ทรงโปรด ให้ปลูกต้นไม้ไว้ 2 ข้างถนน และให้ขุดสระน้ำไว้ สำหรับมนุษย์ และฝูงสัตว์ จะได้อาศัยบริโภค.

 

 

*ทรงให้เลิกพิธีกรรมแต่ให้ปฏิบัติธรรม

 

---“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ ประกาศแก่ราษฎรว่า ที่ราษฎรทั้งหลาย ประกอบกิจมงคลต่างๆ ในยามป่วย หรือยามสมรส ยามคลอดบุตร ยามเดินทางไกล ในยามหรือโอกาส คล้ายคลึงกัน อย่างนั้น ประชาราษฎรได้พากัน ประกอบพิธีมงคลต่างๆ มิใช่แต่เพียงเท่านั้น พวกหญิง แม่เจ้าเรือน ประกอบพิธีมงคล มากมายหลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่ ไม่มีสาระ และไม่มีค่า.. การมงคล อีกประการหนึ่ง นั่นคือ มงคลอันกอปรด้วยธรรม ย่อมมีผลมากกว่า 


---ก็การมงคล อันกอปรด้วยธรรมนั้น ได้แก่ การปฏิบัติตนอย่างดีต่อทาส และคนรับใช้ การยกย่องเชิดชู แด่ครูบาอาจารย์ การมีใจรัก ในปาณชาติสิ่งมีชีพ การถวายทาน แก่สมณพราหมณ์ การกระทำเหล่านี้ และการกระทำอื่นอีก ที่ละม้ายกัน เรียกว่า การมงคล อันประกอบด้วยธรรม.


---ดังนั้น บิดา บุตร พี่หรือน้อง คนที่เป็นนายเขา ตลอดจนมิตรสหาย สมควรแล้ว ที่จักช่วยกันประกาศว่า มงคล อันประกอบด้วยธรรมนี้ ดีเยี่ยมโดยแท้ จงปฏิบัติกัน ให้สำเร็จ กระทั่งบรรลุผล ที่จำนงหมายเถอะ”

 

 

*อบรมให้ประชาชนรู้จักคุณค่าของธรรมทาน

 

---“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รัก ของทวยเทพ ตรัสดังนี้ ไม่มีทานใดที่มีผล เทียมเท่า การใช้ธรรมะเป็นทาน และความเป็น ญาติมิตรกัน โดยธรรม จากการกระทำเช่นนี้ ย่อมมีการกระทำอื่น ที่ชอบอีกตามมา คือ การปฏิบัติดีต่อทาส และคนใช้ การเชื่อฟังบิดามารดา การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เจือจานแก่เพื่อนฝูง ญาติมิตร และสมณพราหมณ์ กับการละเว้น ฆ่าสัตว์มีชีวิต บูชายัญ การกระทำนี้ เป็นสิ่งที่ดียิ่ง เป็นกิจที่ควรทำ ควรจะประกาศโดยบิดา บุตร หรือน้อง คนที่เป็นนายเขา และแม้มิตรสหาย ก็ควรจะประกาศด้วย การให้ธรรมเป็นทาน ผู้ให้ ย่อมบรรลุผลดี ทั้งในภพนี้ และภพหน้า ไม่มีสิ้นเลย”

 

 

*ทรงตั้งข้าหลวงแทนพระองค์ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม

 

---“...ข้าได้จัดตั้ง หลักศิลาจารึกพระธรรมวินัย ขึ้นไว้หลายหลัก และได้แต่งตั้ง ธรรมมหาอำมาตย์ ไว้หลายคนด้วยกัน เพื่อจักได้ป่าวประกาศ พระธรรมวินัย ...ฯลฯ..


---ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านั้น มีหน้าที่ ส่งเสริมการประดิษฐาน อันถาวรของพระธรรม และมีหน้าที่ ส่งเสริมให้บังเกิด ความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพย์ กับความสุข แก่ผู้ปรารถนาธรรม ทั้งมวล 


---อนึ่ง ธรรมมหาอำมาตย์เหล่านี้ ยังมีหน้าที่ คอยส่งเสริมความสุขสบาย ของเหล่าข้าทาส ของสมณชีพราหมณ์ ของผู้มั่งคั่ง ของคนยากจน ของคนเฒ่าชรา..


---และมีหน้าที่ กำจัดความอยุติธรรม เกี่ยวกับการจำคุก ลงอาญา มีหน้าที่กำจัดอุปสรรค และให้ความช่วยเหลือ ให้พ้นอุปสรรคนั้น แก่คนที่มีบุตรหลานมาก หรือคนที่อับจนลำบาก หรือคนสูงอายุ”

 

 

*เสด็จธรรมจาริก

 

---ในพระราชกำหนดที่ 8 มีจารึกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รัก ของทวยเทพ ภายหลังรับราชาภิเษกได้ 10 ปี พระองค์เสด็จไปยังโพธิคยา (สถานที่ตรัสรู้ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และจาริกเพื่อความรู้ยิ่ง  


 

---ภาพพระเจ้าอโศกเสด็จพุทธคยา  บัลลังก์ว่างและต้นโพธิ์ (กลาง) เป็นสัญลักษณ์แทน การตรัสู้ของพระพุทธองค์  ส่วนภาพทางขวามือ เห็นช้างหมอบอยู่  พระเจ้าอโศก (มีฉัตรกางอยู่บนศีรษะ) ลงจากหลังช้าง จับศีรษะคนแคระอยู่ ....


[จากหินสลัก  แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.400-500 (13 น.284)] 


---ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ได้เกิดการประพาส ชนิดเพื่อธรรมขึ้น มีการเยี่ยมเยือน สมณะชีพราหมณ์ต่างๆ และถวายข้าวของ เงินทอง ตลอดจน การเยี่ยมเยือนพระเถระ (พระภิกษุในพระพุทธศาสนา) และถวายจตุปัจจัย การเยี่ยมเยือนราษฎร ตามท้องถิ่นชนบท และสั่งสอนพระธรรม แก่เขา มีการเปิด ธรรมสากัจฉาขึ้นด้วย”


---พระเจ้าอโศก ทรงสร้างวัดครั้งแรกขึ้น ที่พุทธคยา ต่อจากนั้น ก็ทรงสร้างสถูปที่สาญจี (เดิมชื่อ เจติยคีรี แปลว่า ภูเขาที่มีเจดีย์อยู่บนยอด) ที่นี่มีสถูปไม่น้อยกว่า 11 องค์ ภายในบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ และบางองค์บรรจุ พระอัฐิธาตุของ พระอัครสาวกทั้งสอง.


---พระเจ้าอโศกยังได้โปรด ให้มีการจารึกอักษรพฺราหฺมี ไว้บนเสา และรั้วล้อมรอบ พระสถูปนั้นด้วย.


(ดูตอนเมืองสาญจี)

 

 

*พระวีตโศก หรือ พระติสสะเถระ

 

---พระวีตโศก เป็นพระอนุชาของ พระเจ้าอโศก บางทีจึงเรียกกันว่า เจ้าติสสะอุปราช ก่อนที่เจ้าชายวีตโศก จะบวชเป็นพระภิกษุนั้น ท่านเคยเกิด ความกังขา คลางแคลงว่า การที่ภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ได้รับการบำรุง อุปถัมภ์อย่างดี จากพระเชษฐาธิราช เช่นนี้แล้ว จะสามารถ ละกิเลสได้อย่างไร.


---ความทราบถึงพระเจ้าอโศก พระองค์จึงวางอุบาย ทรมานพระอนุชา โดยโปรดให้ เจ้าชายวีตโศก ขึ้นครองราชย์แทน มีกำหนด 7 วัน พ้นกำหนดนี้แล้ว จักนำเจ้าชายไปสำเร็จโทษ.


---เจ้าชายวีตโศก จำพระทัยขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงได้รับ การบำรุงอย่างดี ดุจเดียวกับ พระเจ้าจักรพรรดิราช ทุกๆประการ จนครบ 7 วัน.


---พระเจ้าอโศก ก็โปรดให้นำเจ้าชาย ออกเสียจากเศวตฉัตร แล้วตรัสถาม ความสุขใน 7 วันนั้น เป็นประการใด


---เจ้าชายวีตโศกทูลว่า ไม่เคยรู้สึกสุขสบายเลย จนนิดเดียว ทั้งนี้เพราะ หวาดเกรงมรณภัย ที่จะมาถึง พระราชาจึงตรัส และชี้แจงให้ฟังว่า แม้เหล่าภิกษุสมณะ ในพระพุทธศาสนา ก็ดุจเช่นเดียวกัน มาตรว่า จะได้รับการบำรุง ด้วยจตุปัจจัย 4 สมบูรณ์ แต่จะหาความรู้สึก หลงใหลสบาย เพราะเหตุเพียงเท่านั้น มิได้ ด้วยความหวาดเกรง ในชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณทุกข์ ย่อมคุกคามอยู่ เป็นนิรันดร์ ทำให้เจ้ากูทั้งปวง ต้องเร่งปฏิบัติธรรม เพื่อรอดพ้น.


---เจ้าชายวีตโศก จึงเกิดความเสื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ออกบวช กับพระยสะ แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียร ที่แคว้นวิเทหะ จนในที่สุด สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

 

 

*พระเถระในยุคพระเจ้าอโศก

 

---พระเถระองค์สำคัญๆ ที่ปรากฏชื่อ ในยุคพระเจ้าอโศก คือ พระวรุณเถระ พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ พระสุมิตรเถระ พระอินทคุตเถระ เป็นต้น. 


---พระโมคคัลลีบุตรติสสะ เป็นพระเถระ ที่สำคัญมากที่สุด ในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ในยุคของ พระเจ้าอโศกมหาราช ท่านยังได้เป็นประธาน ในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 ด้วย


 

 

*ให้ความคุ้มครองแก่ทุกศาสนา

 

---เนื่องจาก พระพุทธศาสนา ไม่เดียดฉันท์ ศาสนาลัทธิอื่นๆ เป็นศาสนา ที่ถือเสรีภาพ และใช้ปัญญา ใช้เหตุผล มากกว่าความเชื่อ อย่างเดียว ดังนั้นพุทธมามกะจึงมักมีใจกว้าง มีแต่ความเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อทุกศาสนา ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน. 


---พระเจ้าอโศกเอง แม้ว่าจะเป็นพุทธมามกะ และได้ทรงอุปถัมภ์ พระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังทรงอุปถัมภ์ แก่ศาสนาอื่นๆ ด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน ดาบส อาชีวก ปริพาชก เป็นต้น.


---ฉะนั้น เกียรติคุณ ของพระเจ้าอโศก จึงไปปรากฏในคัมภีร์ ของเกือบทุกศาสนา จนพระองค์ ได้รับพระสมัญญาว่า “พระเจ้าอโศกมหาราช”


 [หมายเหตุ : สังคายนาครั้งที่ 1 อยู่ที่เมืองราชคฤห์  ตอนพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล ส่วนสังคายนาครั้งที่ 2 อยู่ที่เมืองเวสาลี]

 

 

*สังคายนา ครั้งที่ 3

*มูลเหตุสังคายนาครั้งที่ 3

 

---ในปีที่ 8 แห่งการเสวยราชสมบัติ ของพระเจ้าอโศก พวกอัญญเดียรถีย์ ปราศจากลาภสักการะ พากัน นุ่งห่มดุจภิกษุ ปลอมเข้ามาบวช มาอยู่ปะปน กับคณะสงฆ์ จำนวนมาก และมาแสดงลัทธิ สัทธรรมปฏิรูป ให้ผิดคลองจาก พระพุทธบัญญัติ กระทำให้ สังฆมณฑลยุ่งเหยิง แตกสามัคคี ด้วยสัทธรรมปฏิรูปนั้น ยังเสี้ยนหนาม และมลทิน ให้เกิดแก่ พระพุทธศาสนา.


---พระภิกษุสงฆ์จึงกล่าวว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์ ในกาลบัดนี้” คณะสงฆ์ ถึงกับมิได้ลงประกอบ อุโบสถสังฆกรรม นานถึง 7 ปี.


---ในระหว่างนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ได้หลีกเร้น ไปจำเริญวิเวก ณ อุโธตังคะบรรพต เบื้องบนแม่น้ำคงคา ทั้งนี้เพราะ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่ถึงกาลอันสมควร ที่จะกำจัดศัตรูพระศาสนา และได้มอบภารกิจ บริหารหมู่คณะ แก่พระมหินทระ ให้ว่ากล่าวดูแลแทน.

 

 

*การกำจัดอลัชชี



---ครั้นถึงพรรษาที่ 7 พระเจ้าอโศก จึงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่ง ถือรับสั่ง ไประงับอธิกรณ์ ยังคณะสงฆ์. 


---อำมาตย์ผู้นั้น ทำเกินรับสั่ง, เมื่อไปว่ากล่าว ให้สงฆ์ทำอุโบสถ สังฆกรรมไม่ได้ผล เพราะภิกษุ ฝ่ายสัมมาทิฏฐิอ้างว่า “ไม่อาจปลงใจ ทำสังฆกรรม ร่วมกับเหล่า อัญญเดียรถีย์ได้” อำมาตย์นั้น จึงได้ฆ่าฟันภิกษุ ที่ขัดขืนเสีย 2-3 องค์, เพื่อขู่ให้พระสงฆ์องค์อื่นๆ เกรงกลัว จะได้ยอมทำสังฆกรรม, แต่ก็ปรากฏว่า พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ยังคงนิ่งเฉยอยู่.


---ขณะนั้น พระติสสะเถระ ผู้เป็นพระอนุชา ของพระเจ้าอโศก, ต้องลุกขึ้น จากอาสนะของท่าน แล้วมานั่งขวาง อำมาตย์ผู้นั้นไว้ ทำให้อำมาตย์ผู้นั้น ไม่กล้าฆ่าฟัน พระภิกษุองค์อื่นๆ อีกต่อไปได้ แต่กลับไปรายงาน พระเจ้าอโศก ให้ทรงทราบ.


---เมื่อพระเจ้าอโศก สดับเรื่องเข้า จึงตรัสว่า “อำมาตย์นี้โง่งมงาย ได้กระทำกรรมหนัก ฆ่าพระภิกษุ เห็นปานนี้”


---พระเจ้าอโศก เกิดไม่สบายพระทัย กลัวบาปกรรม ที่อำมาตย์ ฆ่าฟันพระภิกษุ จะพลอยมีผล ถึงพระองค์ด้วย, จนถึงกับต้องไปอาราธนา พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ มาตัดสิน 


---ซึ่งพระเถระได้ทำลายข้อกังขา และความวิปฏิสาร ของพระเจ้าอโศกว่า การฆ่าฟันภิกษุ เป็นบาปเฉพาะ แก่อำมาตย์ผู้นั้น เท่านั้น.


---พระเจ้าอโศก ทรงเลื่อมใสต่อ พระโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระมาก จึงได้โปรดอาราธนาท่าน ให้เป็นประธานสงฆ์ เพื่อชำระพระศาสนา ให้บริสุทธิ์ โดยมีการสอบสวน เพื่อแยกพวก อัญญเดียรถีย์ เหล่าอื่นออกไป.


---พระโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ จึงได้กลับมาพำนักอยู่ใน อโศการามวิหาร แล้วพระเจ้าอโศก ทรงโปรดให้ ประกาศชุมนุมสงฆ์ จากจาตุรทิศ มารวมกัน ณ อโศการาม ให้พระโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ ไต่ถามลัทธิธรรม กับสงฆ์ทุกรูป

 

---เช่นถามว่า พระพุทธวจนะ สั่งสอนอย่างไร ภิกษุที่เป็นพวกเดียรถีย์ ปลอมมาบวช ก็ตอบเป็นทำนอง สัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉททิฏฐิบ้าง.


---ฝ่ายภิกษุ ที่เป็นธรรมวาที ก็ตอบว่า พระพุทธวาทะ ตรัสสอนเป็น วิภัชวาที.


---พระเจ้าอโศก ก็ใช้พระราชอำนาจ บังคับให้ อลัชชีสึก จากความเป็นพระภิกษุ ครั้งนั้น ได้สึกอลัชชี ออกเสีย 60,000 คน.


---ครั้นชำระกำจัดอลัชชีแล้ว  พระภิกษุสงฆ์ที่เหลือ ก็ล้วนหมดจด ท่านจึงได้ร่วม ลงทำสังฆกรรม อุโบสถกัน.

 

 

*การทำสังคายนาครั้งที่ 3

 

---ในกาลนั้น จึงได้มีการทำ สังคายนาพระธรรมวินัย ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นครั้งที่ 3 โดยมี พระมหาโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ เป็นประธาน พร้อมด้วย พระอริยสงฆ์ 1000 รูป ณ อโศการาม นครปาฏลีบุตร, ทำอยู่นาน 9 เดือน จึงสำเร็จ, โดยมีพระเจ้าอโศก เป็นพระบรมราชูปถัมภ์.


---ในช่วงเวลาที่ทำ สังคายนาครั้งที่ 3 นั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ มีอายุได้ 72 ปี นับเป็นปีที่ 17 แห่งการครองราชย์ ของพระเจ้าอโศก.

 

 

*ข้อคิดเห็นในการทำสังคายนาครั้งที่ 3

 

---นักปราชญ์หลายท่าน ให้ข้อคิดเห็นว่า สังคายนาครั้งที่ 3 นี้ เป็นสังคายนา เฉพาะคณะสงฆ์ ฝ่ายเถรวาทิน ซึ่ง ณ บัดนั้น ได้เกิดมีชื่อใหม่เรียกว่า “วิภัชวาทิน” 


---การสังคายนา เป็นการซักซ้อม ตกลง ชำระ ตรวจสอบ หลักพระธรรมวินัย ของคณะสงฆ์ ฝ่ายเถรวาทิน ให้แน่ชัดลงไปอีก เท่านั้น.


---ทั้งนี้เพราะ คณะสงฆ์ต่างนิกาย ต่างทัศนะ ไม่ปรองดองกัน พระเจ้าอโศก ถึงกับทรงขอร้อง ให้สามัคคีกัน ตลอดจนมีพระราชกำหนด ลงโทษ แก่ผู้ที่ทำให้ สงฆ์แตกแยกกัน ดังนี้

 

 

*พระราชกำหนดลงโทษแก่ผู้ที่ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน

 

---“เทวนมฺปิเย ปิยทสิ ลาชา เอล-ปาฏลิ ปูเต เยเกน ปิ สงฺเฆ เภตเว เอจฺโข ภิกฺขุวา ภิกฺขุนีวา สงฺเฆ พากาติ เส โอ ทาตานิ ทุสานิ สงฺฆํ ปาเยยีอนาว-สาเส อวาสิยิยํ เหวํ อิยํ สาสเน ภิกฺขุสงฺฆสฺส ภิกฺขุนี สงฺฆสิก วิมนปยิตวิเย ฯลฯ”


---แปลว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปิยทัสสี ผู้เป็นที่รัก แห่งทวยเทพ มีรับสั่งว่า ใครๆ ก็ตาม ไม่พึงทำสงฆ์ ให้แยกแตกกัน, ถ้ามีภิกษุใดก็ดี ภิกษุณีใดก็ดี ยังสังฆเภทให้เกิดขึ้น จงสึกเสียจากสมณเพศ นุ่งห่มสีขาว (คือให้เป็นอุบาสก อุบาสิกา) และไปอยู่สถานที่อื่น ซึ่งมิใช่อาวาสของสงฆ์”


---พระราชดำรัสนี้ ประกาศแก่คณะภิกษุ และภิกษุณีทั้งปวง ลงในศิลาจารึก ที่สารนาถ โกสัมพี และสาญจี ด้วย จึงพอเป็นหลักฐานว่า สังฆมณฑล สมัยนั้นไม่ปรกติ มีการแตกสามัคคีกัน”

 

*ศิลาจารึกพระเจ้าอโศก


---ศิลาจารึก ของพระเจ้าอโศก ได้แสดงให้เห็นถึง ความศรัทธา เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในพระพุทธศาสนา ตลอดจน แสดงให้เห็นถึง ความพยายาม ในการที่จะทำให้เกิด ความสามัคคี กลมเกลียว และการเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ คุณธรรม และความรู้ที่ถูกต้อง ของสังฆมณฑล.


---จำนวนศิลาจารึก ของพระเจ้าอโศก ที่ค้นพบได้แล้ว จนถึงปัจจุบัน มีประมาณ 34 หลัก ในศิลาจารึก ของพระเจ้าอโศก แม้จะไม่ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ต่างๆ แต่ได้จารึก เป็นประกาศไว้ในบางแห่ง เช่น

 

*ศิลาจารึกเสาที่ 1

 

---ในศิลาจารึกเสาที่ 1 พระเจ้าอโศก ได้ประกาศว่า พระองค์ได้เป็นอุบาสก มากว่า 2 ปีครึ่ง ต่อมาพระองค์ ได้อุปสมบท และได้เริ่มปฏิบัติ ภารกิจ อันเป็นประโยชน์ แก่พระพุทธศาสนา อย่างแข็งขัน  


---พระองค์ได้เคยเสด็จไป ทรงเยี่ยมสถานที่สำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น ลุมพินี ซึ่งเป็นสถานที่ ประสูติของพระพุทธองค์ และสัมโพธะ หรือ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ของพระพุทธองค์ เป็นต้น.

 

 

*ศิลาจารึกที่ภาพรุ

 

---ในศิลาจารึกที่ภาพรุ พระเจ้าอโศก ได้ประกาศ แก่พระภิกษุสงฆ์ ทั้งหลายว่า สิ่งใด ที่พระบรมศาสดา ได้ตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้น เชื่อว่าเป็นอัน ตรัสไว้ดีแล้ว และพระสัทธรรม จะดำรงอยู่ ตลอดกาลนาน


---และได้มีประกาศ แก่ฆราวาส ทั้งชาย และหญิงว่า ให้เขาทั้งหลาย พากันสดับฟัง และตั้งใจศึกษา ข้อความย่อ แห่งพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ ซึ่งถ่ายทอดจาก พระไตรปิฎก.

 

 

*ศิลาจารึกที่สารนาถ และอัลละฮาบาธ

 

---ศิลาจารึก ที่สารนาถ และอัลละฮาบาธ ได้กล่าวถึง ประเพณี ในทางพระพุทธศาสนาว่า พระเจ้าอโศก ทรงมีพระวิริยะ อุตสาหะ อย่างแรงกล้า ในการที่จะทำให้เกิด ความสามัคคีกลมเกลียว ในสังฆมณฑล และให้ปลอดพ้น จากสิ่งที่จะมาทำให้ เกิดความแตกแยก.

 

 

*ศิลาจารึกที่ 7

 

---ศิลาจารึกที่ 7 บอกว่า ในปีที่ 28 พระเจ้าอโศก ทรงสรุปหลักการทั้งหมด ที่พระองค์ทรงใช้ เป็นหลักในการประกาศ สิ่งที่พระองค์เรียกว่า “พระธรรม” ของพระองค์ไว้ หลักการเหล่านั้นคือ


---1.ทรงแต่งตั้ง ข้าราชการ ประจำอำเภอ และจังหวัด ให้มีหน้าที่ สั่งสอนประชาชน.


---2.ทรงฝังศิลาจารึกพระธรรม (หลักศิลาจารึก พระบรมราชโองการ) และแต่งตั้ง มหาอำมาตย์ ในราชสำนัก ไว้เป็นพิเศษ เพื่ออำนวยการ ในเรื่องการประกาศ พระธรรมนี้.


---3.ให้ปลูกต้นไม้ เพื่อให้ร่มเงา ให้ขุดบ่อเป็นระยะๆ ไปตามถนน.


---4.ทรงแต่งตั้ง มหาอำมาตย์พิเศษ ไว้ให้มีหน้าที่ อำนวยการ ในเรื่องทำทาน แก่คฤหัสถ์ และบรรพชิต และให้มีหน้าที่ จัดการเรื่อง ของคณะสงฆ์สำหรับบรรพชิตนิกายอื่น ก็ให้มีคณะวินัยธร ต่างหากจาก คณะผู้พิพากษาธรรมดา.

 

---5.แต่งตั้ง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เพื่ออำนวยการ บริจาคทาน อันเป็นส่วนของ พระราชินี และพระโอรสธิดา ของพระองค์.

 

 

*ศิลาจารึกที่ 13

 

---ศิลาจารึกที่ 13 พระเจ้าอโศก ทรงประกาศว่า พระองค์ได้ส่งสมณทูต ไปยังดินแดนต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ ภายในมหาอาณาจักร ของพระองค์เท่านั้น แต่ยังได้ส่งไปยัง ดินแดนที่อยู่พ้น มหาอาณาจักร ของพระองค์ออกไป เช่น ดินแดนแห่งปโตเลมี (Ptolemy) อันติกอนอส (Antigonos) มากาส (Magas) และอเล็กซานเดอร์ (Alexander) และเชื่อว่า พระภิกษุในพระพุทธศาสนา คงจะได้รับการอุปถัมภ์ และการสนับสนุน ในการประกาศศาสนา ในที่นั้นๆด้วย.

 

 

*อโศกธรรม

 

---“ธรรม” ของพระเจ้าอโศกนี้ ได้บรรยายลักษณะ อันเป็นหน้าที่ของคน ของคฤหัสถ์ที่ดี ไว้ทั้งหมด แม้จะเป็นจารึก ที่มีอายุนานแล้ว แต่ก็ยังทันสมัย ใช้ในชีวิต ของชาวโลกทั่วไปได้เสมอ เข้าใจง่ายเป็นพิเศษ คุณลักษณะเหล่านี้ เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ อย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ในด้านประวัติศาสตร์ และทรงคุณค่าสูงล้ำ ดังที่นำมาแสดง ดังต่อไปนี้:-

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 1

 

---1.ห้ามฆ่าสัตว์ เพื่อบูชายัญ


---2.ห้ามชุมนุม เลี้ยงเหล้า ฉลองกัน อย่างเอิกเกริกเฮฮา

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 3

 

---3.การเชื่อฟังบิดามารดา เป็นความดี


---4.ความมีใจเอื้อเฟื้อ ต่อมิตรผู้คุ้นเคย และญาติ และสมณพราหมณ์ เป็นความดี


---5.การไม่ประทุษร้าย ต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เป็นความดี


---6.รู้จักประหยัด ในการใช้จ่าย และหลีกเลี่ยง การทะเลาะวิวาท เป็นความดี

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 7

 

---7.การฝึกตน


---8.การชำระใจ ให้สะอาด


---9.ความรู้จักบุญคุณ


---10.การผูกไมตรี


---เหล่านี้ เป็นคุณธรรม ที่ปฏิบัติได้เสมอ และเป็นคุณธรรม อันสูงสุดของคน แม้จะเป็นคนยากจน ไม่สามารถให้สิ่งของใด แก่คนอื่นได้มากๆ  ก็ตาม.

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 10-11

 

---11.คนทั้งหลาย ประกอบพิธีกรรม หรือมงคลพิธี ในยามป่วย ยามสมรส ยามคลอดบุตร หรือในยามเริ่ม ออกเดินทางไกล การประกอบพิธี มงคลเหล่านี้ ล้วนเป็นพิธีไร้สาระ ไม่มีค่าอะไร.

 

---ยังมีการมงคล ประการหนึ่ง ที่บุคคลควรประกอบ เป็นการมงคล ที่เต็มไปด้วย ผลานิสงส์ นั่นก็คือ มงคล อันประกอบด้วยธรรม

 

---การมงคล อันประกอบด้วยธรรมนั้น ก็คือ การปฏิบัติชอบ ต่อทาส และคนรับใช้ การยกย่อง ให้เกียรติแก่ ครูบาอาจารย์ มีใจรัก ในสิ่งมีชีวิต ความมีใจเอื้อเฟื้อต่อ สมณพราหมณ์  


---สิ่งเหล่านี้ และสิ่งอื่นๆ อันคล้ายกัน เรียกว่า การประกอบมงคล อันประกอบด้วยธรรม ดังนั้น บิดา มารดา บุตร พี่หรือน้อง คนที่เป็นนายเขา ควรที่จะช่วยกัน ประกาศว่า 


---มงคล อันประกอบด้วยธรรมนี้ ดีเยี่ยมโดยแท้ ควรปฏิบัติกัน ให้สำเร็จ จนกระทั่งบรรลุถึงผล ที่จำนงหมาย

 

---คนทั้งหลายกล่าวว่า ความเอื้อเฟื้อ เป็นความดี แต่ไม่มีทานใด ไม่มีความช่วยเหลือใด ที่จะดีเท่ากับ การให้ธรรมทาน แก่คนอื่น และช่วยเหลือคนอื่น ให้ได้รับธรรม.

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 15

 

---12.ควรให้เสรีภาพ ในทางศาสนา ควรเคารพ ให้เกียรติ คนที่นับถือศาสนาอื่น ทุกคน ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์ และบรรพชิต ไม่ควรเหยียบย่ำ ศาสนาอื่น ยกศาสนาของตน  การรักษา สำรวมคำพูด เป็นสิ่งที่ชอบ ขอให้คนเสาะแสวงหา เพื่อความเจริญ ในศาสนาของตน ถือเป็นกิจที่สำคัญยิ่ง.

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 2

 

---13.ธรรมเป็นความดี แต่อะไรเล่าคือธรรม คือ ความพยายาม ลดความมัวเมา ในใจของตน ให้น้อยลง ทำประโยชน์ ให้แก่คนอื่น เพิ่มขึ้นให้มาก ความเมตตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อ ความจริง และความบริสุทธิ์.

 

 

*พระราชโองการในศิลาจารึก หมายเลข 2

 

---14.คนเห็นกรรมดี ที่ตนทำแล้ว ก็กล่าวว่า กรรมดีนี้ เราได้ทำไว้แล้ว คนมักมอง ไม่เห็นกรรมชั่ว ของตน แต่เมื่อเห็น ก็กล่าวว่า กรรมชั่ว เราได้ทำไว้แล้ว กรรมนั้น เป็นกรรมชั่ว 


---การตรวจดูกรรม ที่ตนทำแล้วได้เช่นนี้ เป็นของทำได้ยาก แต่คน ก็ต้องคอยสอดส่อง ดูการกระทำ ของตนเอง คอยแนะตนว่า การกระทำเช่นนั้น และเช่นนั้น นำไปสู่ความหายนะ กรรมนั้น เป็นกรรมหยาบช้าทารุณ เป็นความโกรธ ความเย่อหยิ่ง ข้าจะคอยสอดส่อง อย่างเข้มงวด มิให้ตัวข้าเอง ป้ายร้ายคนอื่น ด้วยความริษยา  การกระทำได้เช่นนี้ ย่อมจะเป็นไป เพื่อประโยชน์สุข แก่ข้าทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เป็นแน่แท้.

 

 

*อโศกธรรมเป็นหลักธรรมสากล

 

---อโศกธรรมทั้งหมด ไม่มีการกล่าวถึง พระเป็นเจ้า วิญญาณ หรือแม้แต่ พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา.


---แต่ที่แสดงนี้ เป็นหลักธรรมสากล ให้ทุกศาสนา ยอมรับได้ แม้ว่าพระองค์เอง จะเป็นพุทธมามกะ ก็ไม่เคยบีบบังคับ พสกนิกรของพระองค์ ต้องให้นับถือ พุทธศาสนา ตามพระองค์เลย และก็ไม่เคยเห็นว่า ศาสนาอื่นๆ จะเป็นซาตาน หรือคนชั่วช้า ผิดบาป นั่นเพราะ ความเป็นพุทธบริษัท ในจิตใจ นั้นเอง.

 

 

*พุทธศิลปะยุคพระเจ้าอโศก  พระสถูปเจดีย์พระเจ้าอโศก

 

---พระเจ้าอโศก โปรดให้สร้าง พระสถูปเจดีย์ 84,000 องค์ เท่ากับ จำนวนพระธรรมขันธ์ แล้วโปรดให้ ประดิษฐาน ในสถานที่ต่างๆ ที่พระพุทธองค์ ได้เคยเสด็จประทับ ทั่วพระราชอาณาเขต แห่งชมพูทวีป เช่นที่สาญจี เป็นต้น.


---ในการนี้ ได้ทรงสละ พระราชทรัพย์ 96 โกฏิ พร้อมกันนี้ ยังได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จากสถูปของ พระเจ้าอชาตศัตรู ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ของเวฬุวัน แล้วอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ แบ่งไปบรรจุไว้ ในพระสถูปเจดีย์ด้วย ทั้ง 84,000 องค์.


---พระสถูปเจดีย์ ของพระเจ้าอโศก มีปรากฏ ตั้งแต่เมืองตักกสิลา เหนือสุดของอินเดีย ลงไปจนถึงแคว้นมลกูฏ ใต้สุดของอินเดีย.


---ลักษณะของสถูปพระเจ้าอโศก มักสร้างด้วยอิฐและศิลา ทำเป็นรูป ทรงบาตรคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม คล้ายกับจะให้เป็นบัลลังก์ แล้วสร้างเป็นฉัตร ปักไว้บนบัลลังก์นั้น อีกต่อหนึ่ง.

 

 

*รั้วพระเจ้าอโศก

 

---รอบๆ พระสถูป มักทำเป็นรั้วล้อมรอบ บริเวณไว้ เรียกกันว่า รั้วพระเจ้าอโศก มีลักษณะรูปทรง เป็นไม้ไผ่สานขัดแตะ แต่มักนิยมทำด้วยอิฐและศิลา.


---ที่รั้วหรือซุ้มประตูนั้น มักนิยมให้มี ภาพหินแกะสลัก เป็นรูปเรื่องราว พระพุทธประวัติ หรือเรื่องราวในชาดก  ภาพสลักนั้น งดงามยิ่งนัก ทำให้เราทราบศิลปะ  กระบวนช่าง ในยุคพระเจ้าอโศก ว่าเจริญรุ่งเรืองเพียงไร และมีที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการสลัก เป็นรูปเหมือน อย่างบุคคล แต่ได้ใช้สัญญลักษณ์อื่นๆ แทนเหตุการณ์ เช่น ดอกบัว แสดงการประสูติ, ม้า แสดงการออกบรรพชา, บัลลังก์ว่าง ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แสดงการตรัสรู้ วงล้อธรรมจักร และกวางหมอบ แสดงปฐมเทศนา, ระฆังคว่ำ หรือพระสถูป แสดงการปรินิพพาน เป็นต้น.


(โปรดดูในตอนสาญจี)

 

 

*เสาหินพระเจ้าอโศก

 

--พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ให้สร้างเสาหิน ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เสาหินพระเจ้าอโศก มีจำนวนถึง 84000 ต้น ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ แล้วโปรดให้ นำเสาหินเหล่านี้ ไปตั้งยังสถานที่ สำคัญต่างๆ ใน พระพุทธศาสนา เช่น สังเวชนียสถานทั้งสี่ และที่อื่นๆ ทั่วประเทศอินเดีย.


---ลักษณะเสาหินพระเจ้าอโศก เป็นเสาหินทรายขัดมัน มีขนาดใหญ่ โดยทั่วไป มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร.


---บนหัวเสา มักแกะสลัก เป็นรูปสัตว์ต่างๆ.


---โดยทั่วไปมักเป็นรูปสิงห์ 4 ตัวหันหลังชนกัน (จตุรสิงห์) และบนหลังสิงห์มีธรรมจักรตั้งอยู่ อันแสดงให้เห็นว่า พระธรรมแห่ง พระพุทธศาสนา ได้แผ่ไพศาลไปทั่วทั้ง 4 ทิศ.


---ส่วนฐาน ที่รองรับหัวเสานั้น ก็มักมีรูปสัตว์ต่างๆอีก เช่น ช้าง ม้า สิงห์ และหงส์ เป็นต้น. 


---ซึ่งสัตว์แต่ละรูป ก็เป็นสัญญลักษณ์ แทนเหตุการณ์ต่างๆ ของพระพุทธองค์ เช่น ช้าง หมายถึงการประสูติ,  ม้า หมายถึง การเสด็จออกบรรพชา, สิงห์ หมายถึง การประกาศสัจธรรม ทำนองเปล่งสีหนาท, หงส์ หมายถึง การแยกดีแยกชั่ว เป็นต้น. 


---หัวเสาหินพระเจ้าอโศก ในบางแห่ง ก็มีรูปลักษณะ แตกต่างกันออกไป เช่นที่ สังกัสสะ อันเป็นสถานที่ พระพุทธองค์เสด็จลง จากดาวดึงส์ หลังจากโปรด พระพุทธมารดา จึงโปรดให้มีการสร้าง หัวเสาเป็นรูปช้าง เพื่อระลึกถึง พระพุทธมารดา. 


---และ ที่เวสาลี เป็นรูปสิงห์ตัวเดียว ในท่าหมอบอยู่.


(ปัจจุบันยังมีให้ชม ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ที่คันธเจดีย์ ในเวสาลี)


---ลักษณะของ รูปหินแกะสลักนี้ สวยงาม ราวกับมีชีวิตจริง.


---หินทรายที่ใช้ขัดเกลี้ยง จนเป็นมันเงางาม และเคลือบด้วยน้ำยา ชนิดหนึ่ง ซึ่งจนบัดนี้ ก็ไม่ทราบว่า เป็นน้ำยาอะไร จึงทำให้หินนั้น เป็นมันเงาได้ โดยไม่เสื่อมสลาย แม้จะมีอายุกว่า 2300 ปี ก็ตาม.


(โปรดดูในตอน อิสิปตนมฤคทายวัน)


---นอกจากนี้ เสาหินพระเจ้าอโศก ในที่บางแห่ง ยังได้มีการจารึก อักษรพฺราหฺมี เป็นเรื่องราวต่างๆ ดังเช่น ที่ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ


(โปรดดูตอนลุมพินี)


---และที่ทรงแสดง มหาสติปัฏฐานสูตร ที่อโศกเรขะ ในนิวเดลฮี เป็นต้น.


---การจารึกเรื่องราว มีจารึกในที่ต่างๆ บนเสาศิลา ประมาณ 30 กว่าแห่ง ที่หน้าผา ที่มีรั้วล้อมรอบพระสถูป เป็นต้น.


---ในการปักเสาหินต่างๆ นี้ มีพระอาจารย์ พระมหาโมคคัลลีบุตร ติสสะเถระ ผู้ทรงทิพยจักษุ เป็นผู้ชี้บอกตำแหน่ง ของสถานที่นั้นๆ ด้วยญาณ.

 

---ทั้งสถูปพระเจ้าอโศก เสาหินพระเจ้าอโศก และรั้วพระเจ้าอโศก เหล่านี้มีไว้ เพื่อเป็นหลักฐาน ทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นถาวรวัตถุ ที่คงสภาพได้นาน ไว้ให้อนุชน พุทธบริษัทชั้นหลัง ได้ทราบถึง พุทธสถาน ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ตรงกับเหตุการณ์ ในพระพุทธประวัติ อย่างแท้จริง.

 

 

*อโศการาม

 

---ส่วนที่ปาฏลีบุตร โปรดให้สร้างวิหารใหญ่ชื่อ “อโศการาม” มีความวิจิตร งดงามมาก. การก่อสร้างทั้งหมด โปรดให้อยู่ ในความดูแลของ พระอินทคุตเถระ (พระอุปคุตท์) เมื่อสร้างเสร็จแล้ว โปรดให้สมโภชกัน 7 วัน ทั่วราชอาณาจักร.

 

 

*การส่งพระธรรมฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา


---เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จแล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ทราบโดย อนาคตังสญาณว่า ต่อไปในภายภาคหน้า พระพุทธศาสนา จะหารุ่งเรือง ในชมพูทวีปไม่ แต่จักกลับไป รุ่งเรืองตั้งมั่น ในประเทศแว่นแคว้น อื่นๆ.


---พระเถระจึงขอ พระบรมราชานุภาพ ของพระเจ้าอโศกอุปถัมภ์ จัดส่งคณะสมณทูต ให้นำพระพุทธศาสนา ไปสั่งสอน ยังนานาประเทศ และแว่นแคว้นอื่นๆ


---คณะพระธรรมทูต ที่ส่งไปประกาศ เผยแผ่ พระพุทธศาสนา มี 9 สาย ดังนี้


---1.คณะพระมัชฌัตติกะ (พระมัธยันติกะ) ไปยังแคว้น กัษมีระ และคันธาระ ปัจจุบัน ได้แก่ดินแดน แถบตะวันตกเฉียงเหนือ ของอินเดีย ตลอดจน เข้าไปถึง บางส่วนของ อาฟกานิสถาน.


---2.คณะพระมหาเทวะ ไปยังแคว้น มหิสมณฑล ปัจจุบัน ได้แก่แคว้นไมซอร์ และดินแดน แถบลุ่มแม่น้ำ โคธาวารี ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ ของอินเดีย.


---3.คณะพระรักขิตะ ไปยัง วนวาสีประเทศ ปัจจุบัน ได้แก่แว่นแคว้น กนราเหนือ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของอินเดีย ในครั้งนั้น มีวัดทางพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นถึง 500 อาราม.


---4.คณะพระธัมมรักขิต ท่านผู้นี้เป็นฝรั่ง ชาติกรีก ดูเหมือนจะเป็น ฝรั่งคนแรก ที่บวชใน พระพุทธศาสนา ได้ไปเผยแผ่ยัง อปรานตชนบท มีผู้สันนิษฐานว่า จะเป็นแถวชายทะเล เหนือเมืองบอมเบย์ ในปัจจุบัน.


---5.คณะพระมหาธัมมรักขิตะ ไปยัง มหารัฏฐะ ปัจจุบัน ได้แก่ดินแดน แถบตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจาก เมืองบอมเบย์.


---6.คณะพระมหารักขิตะ ไปยังประเทศโยนก ปัจจุบัน ได้แก่แว่นแคว้น ของพวกฝรั่งชาติกรีก ในทวีปเอเซียตอนกลาง เหนือประเทศอิหร่าน ต่อขึ้นไป จนถึงเตอรกีสถาน.


---7.คณะพระมัชฌิมะ และพระกัสสปโคตร พระมูลกเทวะ พระทุนทภิสสะ และพระเทวะ ไปยัง หิมวันตะ ปัจจุบัน ได้แก่ดินแดนแถบ เทือกเขาหิมาลัย.


---8.คณะพระโสณะ และพระอุตตระ ไปยังแคว้น สุวรรณภูมิ.


---9.คณะพระมหินทระ ไปยังเกาะ ตามพปัณณิ (เกาะลังกา) ในระยะนั้น ลังกามี พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปกครองอยู่ พระมหินทระ ได้ทรงชักจูง จนพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ทรงเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา อย่างยิ่ง.


---พระพุทธศาสนา ในศรีลังกา จึงตั้งมั่น สืบกันมา จนถึงทุกวันนี้.

 

*การสืบต่อพระพุทธศาสนา


---ในการที่ พระเจ้าอโศกมหาราช ได้จัดส่งพระธรรมฑูต ไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนา นอกประเทศอินเดีย ในครั้งนั้น ได้ทำให้มี พระพุทธศาสนา สืบต่อมา จนถึงปัจจุบันได้.


---ถ้าไม่มี พระเจ้าอโศกมหาราช พวกเราคงไม่ได้รู้จัก พระพุทธศาสนา และคงไม่ได้รับรส แห่งพระธรรม อันหาที่เปรียบไม่ได้นี้. 


---บุญคุณอันยิ่งใหญ่ ในครั้งนี้ พุทธศาสนิกทั้งหลาย พึงกราบคารวะ พระเจ้าอโศกมหาราช ณ เบื้องพระยุคลบาทนี้ด้วย.


*พระคุณของพระเจ้าอโศก

 

---พระเจ้าอโศกทรงเป็น พระเจ้าจักรพรรดิราช พระองค์เดียว ซึ่งประกอบด้วย พระเดชและพระคุณ ที่ตรึงตรา อยู่ในความทรงจำ ของประชากร เป็นจำนวน หลายร้อยล้านคน นับตั้งแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน จนต่อไปถึงอนาคต.


---บรรดาพุทธศาสนิก ทั่วทุกมุมโลก ต่างก็เป็นหนี้บุญคุณ ต่อพระเจ้าอโศก พระองค์นี้ อย่างทดแทนกันได้ ไม่หมด  เพราะพระพุทธศาสนา แผ่ขยายออกไป ยังนานาประเทศ อย่างทุกวันนี้ได้ ก็เพราะด้วยอานุภาพ และอุปการะ ของพระเจ้าอโศก มหาราช พระองค์นี้ทั้งสิ้น.

 

 

*พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

 

---พระพุทธศาสนา ในอินเดีย ในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ยังคงนิยม นิกายหินยาน (เถรวาท) หรือเรียกว่า เถรวาทิน หรือ วิภัชวาท.


---ครั้นพระเถระมัชฌัตติกะ พร้อมด้วยพระสงฆ์ 500 รูป ได้ออกเดินทาง จากปาฏลีบุตร เดินทางมุ่ง ตัดข้ามแคว้นกุรุ (เดลฮีปัจจุบัน) เข้าไปเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ในแคว้นคันธาระ (อาฟกานิสถาน) และแคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์).


---ในการสั่งสอน พระพุทธศาสนา ของพระมัชฌัตติกะเถระนั้น ได้อนุโลม ตามประเพณีท้องถิ่น เป็นใหญ่.


---พระภิกษุ ได้ช่วยราษฎร ทำมาหากินหลายอย่าง ช่วยขุดลอกคูคลอง ทดน้ำเข้านา และสร้างสะพาน เป็นต้น  


---จึงเป็นเหตุให้ พระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน เจริญขึ้น ในดินแดนเหล่านี้.


---โดยเฉพาะในรัชสมัยของ พระเจ้ากนิษกะมหาราช พระองค์ทรงส่งเสริม พระพุทธศาสนา ลัทธิมหายานนี้ อย่างมาก ตลอดทั้งแคว้นคันธาระ และแคชเมียร์. 


---พระองค์ทรงจัดให้ มีการสังคายนา พระวินัย แบบมหายานขึ้นด้วย ครั้งหนึ่ง ที่เมืองเปษวาร์ (ปรุษบุรี).

 

---เพราะฉะนั้น พระพุทธรูป ที่ขุดค้นพบในอินเดีย ในยุคหลังๆนี้ จึงมีพระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป แบบมหายาน จำนวนมาก.

 

 

*มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา

 

---พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นคนแรก ที่ได้เริ่มสร้าง มหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่นาลันทาขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ พระภิกษุมีการเรียน พระธรรม พระวินัย และวิชาการด้านอื่นๆ ที่ถูกต้องอย่างจริงจัง และมีระบบ แบบแผนที่ดี อันจะทำให้พระภิกษุ มีคุณภาพ ทรงธรรม-ทรงวินัย มากขึ้น.


---พระศาสนา ก็จะได้มีหลักธรรม ที่เป็นแก่นสาร อย่างแท้จริง และพระพุทธศาสนา ก็จะได้มีอายุยืนยาว นานสืบไป .


---ในการนี้ พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์ ดูแลพระภิกษุ เป็นอย่างดี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และยังได้ทรงจัดให้ ประชาชนรอบเขต นาลันทา มาคอยดูแลพระภิกษุ ให้มีการอยู่กินอย่างดี  ไม่ให้อดอยาก ให้มุ่งตั้งหน้า ตั้งตาเรียน ให้สำเร็จอย่างเดียว.


---ในระยะแรกๆ ที่ทรงให้สร้าง มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเพียงวัดเดียว หรืออาคารหลังเดียว และในระยะต่อๆ มา ได้มีทั้งกษัตริย์ อีกหลายองค์ หลายสมัย นับด้วยหลายร้อยปี ได้มีการสร้าง สถานศึกษาเพิ่มเติม จนกลายเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


(โปรดดูตอนนาลันทา)

 

 

*พระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าอโศก


---พระโอรส และพระธิดา ของพระเจ้าอโศก ที่ปรากฏในศิลาจารึก มีดังนี้:-


---1.เจ้าชายตีวาระ โอรสประสูติแต่ พระนางการุวากี ได้เป็นอุปราช ปกครองตักกสิลา อุชเชนี สุวรรณคีรี และโตสาลี.


---2.เจ้าชายกุณาละ หรือ ธรฺมวิวฺรธน โอรสประสูติแต่ พระนางปัทมวดี ได้เป็นอุปราช ณ ตักกสิลา แต่ถูกพระมารดาเลี้ยง หาเรื่องแกล้ง จนถูกควักพระเนตร ออกทั้ง 2 ข้าง และต่อมา ได้บรรลุโสดาปัตติผล.


---3.เจ้าชายมหินทระ และเจ้าหญิงสังฆมิตตา โอรส และธิดา ประสูติแต่ พระนางเวทิสา ภายหลังเสด็จออกบวช ได้ไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ในประเทศศรีลังกา.


---4.เจ้าหญิงจารุมติ ไม่ทราบนาม พระมารดา ภายหลัง ได้อภิเษกกับ เจ้าชายเทวปาละ แห่งประเทศหิมพานต์  คือเนปาลบัดนี้.


---5.เจ้าชายกุสตน ไม่ทราบนาม พระมารดา เป็นผู้อพยพ ผู้คนข้าม ภูเขาการาโกรุม ไปตั้งอาณาจักรโขตานขึ้น ในเตอร์กีสตาน (จีนซินเกียง).


---6.เจ้าชายวิสมโลมะกุมาร ไม่ทราบนาม พระมารดา เป็นอุปราช ในปาฏลีบุตร.


---7.เจ้าชายจาลุกะ ไม่ทราบนาม พระมารดา เป็นอุปราช แห่งแคว้นกัษมีระ เจ้าชายองค์นี้ มีศรัทธาแรงกล้า ในศาสนาพราหมณ์ และทำร้าย พระพุทธศาสนา.


---ส่วนพระราชนัดดา มี 2 พระองค์ คือ เจ้าชายสัมปทิ โอรสของ เจ้าชายกุณาละ ซึ่งเป็นผู้เสวยราชสมบัติ ต่อจากพระเจ้าอโศก. ส่วนอีกองค์หนึ่งคือ เจ้าชายทศรถ ผู้เลื่อมใส ในศาสนาเชน ทรงอุปถัมภ์ พวกนิครนถ์ และอาชีวก และขัดขวางต่อ พระพุทธศาสนา.

 

 

*ปัจฉิมวัยของพระเจ้าอโศก

 

---ในบั้นปลายชีวิต ของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เกรียงไกร ต้องทรงหมดอำนาจ สิ้นพระเกียรติศักดิ์ ทรงถูกพระราชนัดดา ทรงพระนามว่า “เจ้าชายสัมปทิ” จับกักขัง จนแม้ประสงค์จะทำบุญ ก็ยังถูกขัดขวาง และในที่สุด ก็เสด็จสวรรคต.

 

 

*ความเสื่อมสลายของราชวงศ์ “โมริยะ”

 

---เมื่อสิ้นสุดยุคของ พระเจ้าอโศกแล้ว ผู้สืบราชสมบัติ แห่งราชวงศ์โมริยะ องค์ต่อๆมา ไม่ได้มีศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา และกษัตริย์บางองค์ ยังได้เป็นปฏิปักษ์ กับพระพุทธศาสนา อีกด้วย.


---ราชวงศ์โมริยะ ก็เริ่มสู่ยุคเสื่อมโดยลำดับ กษัตริย์องค์สุดท้าย ของวงศ์โมริยะ คือ พระเจ้าพฤหัสรถ อ่อนแอ จนไม่สามารถปกครอง แคว้นมคธได้. 


---ในครั้งนั้น มีเสนาบดีวรรณะ พราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า ปุษยมิตร ซ่องสุมกำลังเป็นกบฏ แย่งชิงราชสมบัติ พระเจ้าพฤหัสรถสำเร็จ แล้วปราบดาภิเษก ตั้งราชวงศ์ศุงคะ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 358

 

*พุทธศาสนาในยุคฟาเหียน

 

---ในสมัยที่ หลวงจีนฟาเหียน จาริกมาที่อินเดียนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 ท่านยังได้พบ วัดพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่านมหายาน และหินยาน มีพระในนิกายทั้ง 2 อยู่ประมาณ 700 รูป.


---ท่านได้อยู่ที่ มหาวิทยาลัยนาลันทา แห่งนี้นานถึง 3 ปี เพื่อศึกษาภาษาสันสกฤต.


---ในเวลาดังกล่าว ท่านบันทึกว่า ปาฏลีบุตร นับว่าใหญ่โตที่สุด ในอาณาเขต มัชฌิมประเทศ ประชาชนพลเมือง อยู่ดีกินดี ขยันทำงาน รักษาประเพณี ประกอบกุศล มิได้ขาด 


---ทุกๆปี ในวัน 8 ค่ำเดือนยี่ มีการแห่ฉลอง พระพุทธรูปกัน ครั้งหนึ่ง มีโรงทาน แจกจ่ายข้าวปลา อาหาร หยูกยา แก่คนยากคนจน คนพิการ เป็นต้น.


---และจากบันทึก ที่ฟาเหียนเดินทางจาริก ไปทั่วอินเดีย ท่านได้พบว่า วัดต่างๆ ในพระพุทธศาสนา อยู่ในสภาพ ที่กำลังเจริญรุ่งเรือง ในตำบล หรือในเมืองที่สำคัญๆ  เช่น สังกาสยะ (สังกัสสะ) มถุรา สาวัตถี กุสินารา ไวศาลี ปาฏลีบุตร ราชคฤห์ โกสัมพี และจัมปา ล้วนแต่มี พระภิกษุอาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก.


---จารึกต่างๆ และร่องรอย ทางโบราณคดีอื่นๆ ได้ยืนยันถึง ความจริง ตามที่ฟาเหียน กล่าวไว้ 


---พุทธศิลปะ ได้เจริญถึงขีดสุด ทั้งในด้าน ความประณีตสวยงาม และในด้าน แสดงออกถึง อารมณ์ทางศิลปะ รูปแกะสลัก ทางพระพุทธศาสนา สมัยคุปตะยุคแรกๆ ซึ่งขุดพบที่เมืองมถุรา แสดงให้เห็นถึง การผสมผสาน แห่งศิลปะแบบคันธาระ และศิลปะแบบคุปตะ.


---ที่นครสาวัตถี มีการค้นพบวัด ที่สร้างด้วยอิฐ 5 วัด พร้อมกับสถูป ซึ่งมีหลักฐานว่า สร้างในสมัยคุปตะ.


---สารนาถ เป็นศูนย์กลาง ทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในสมัยคุปตะ เชื่อกันว่า พระพุทธรูปประทับนั่ง ท่าปัทมามุทระ และ พระพุทธรูปยืน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น ในรุ่นแรกๆ ของอินเดีย และที่ฐานพระพุทธรูป ยังมีจาริกชื่อ ภิกษุณีธรรมทา เป็นผู้สร้าง.


---หลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับ การฟื้นฟูนาลันทา ได้ปรากกฏขึ้น ครั้งแรกในสมัย กุมารคุปตะที่ 1 (ราว พ.ศ.956) และในสมัยคุปตะนี้ นาลันทาก็ได้เฟื่องฟูขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลาง แห่งการศึกษา พระพุทธศาสนา.


---มีศิลาจารึกแผ่นหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่า ทำขึ้นในสมัยของ มหาราชาตริกมาล แห่งราชวงศ์คุปตะ มีข้อความกล่าวว่า “พระภิกษุ ผู้เป็นวินยาจารย์ 2 รูป โดยอาศัย การช่วยเหลือ ของอุบาสกคนหนึ่ง สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่ง เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน  รูปพระโพธิสัตว์”


---ในสมัยของกษัตริย์มคธ องค์ต่อๆมา นาลันทา ไม่เคยกลับสู่ ความรุ่งเรืองอีกเลย มีแต่ความเสื่อมโทรมลง ตามกาลเวลาที่ล่วงไป.


---ผู้ที่นับถือ พระพุทธศาสนา นิกายมหายาน และนิกายตันตรยาน รวมทั้ง นักบวชนอกศาสนา ได้พยายาม ทำให้นาลันทา กลับเป็นสถาน ที่น่ารื่นรมย์.

 

 

*พุทธศาสนาในยุคเฮียงจัง

 

---ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 หลวงจีนเฮียงจัง ได้เดินทางจาริก ไปถึงอินเดีย ในรัชสมัยของ พระเจ้าหรรษวรรธนะ.


---ท่านบันทึกเล่าเรื่องราว เกี่ยวกับสภาพทั่วๆ ไป ของพระพุทธศาสนา ในอินเดีย ในขณะนั้นว่า


---ในมัธยมประเทศ มีวัดอยู่ 20 วัด, ในเมืองมถุรา มีพระภิกษุ ทั้งฝ่ายมหายาน และเถรวาท อาศัยอยู่ประมาณ 2,000 รูป, ที่เมืองถเนสวารมีวัด 3 วัด และมีพระภิกษุ ฝ่ายเถรวาท จำพรรษาอยู่กว่า 700 รูป, ที่เมืองสเราฆนะ (เทหระ) มีวัด 5 วัด มีพระภิกษุกว่า 1,000 รูป, ที่เมืองสังกาสยะ (สังกัสสะ) มีวัดและพระอยู่พอๆกับ เมืองอหิจฉัตร, ที่โกสัมพีมีวัดอยู่ 10 วัด มีพระภิกษุประมาณ 300 รูป, ที่ป่าอิสิปตนมฤค ทายวัน แขวงเมืองพาราณสี มีพระในนิกายสัมมติยะ อยู่ในมหาสังฆาราม ราว 1,500 รูป, ที่เมืองจัมปามีวัดอยู่ 10 วัด มีพระภิกษุฝ่าย นิกายเถรวาท อยู่ประมาณ 200 รูป, 


---ท่านหลวงจีนเฮียงจัง ยังได้เห็น ความเจริญรุ่งเรือง ของพระพุทธศาสนา ในเมืองต่างๆ บางเมือง เช่น เมืองกานยากุพชะ ไวศาลี นาลันทา อโยธยา และปาฏลีบุตร เมืองเหล่านี้ มีวัดอยู่ประมาณ แห่งละ 100 วัด พร้อมกับมี พระภิกษุอาศัยอยู่ แห่งละประมาณ 10,000 รูป.


---ในปลาย พุทธศตวรรษที่ 13 นั้น พระพุทธศาสนา ในอินเดีย ได้เริ่มเสื่อมลงแล้ว.


---เรื่องราวของ พระพุทธศาสนา ในมัชฌิมประเทศ ที่เกิดขึ้น ในปาฏลีบุตร นาลันทา และสาญจี นั้น จะได้นำเสนอรายละเอียด อยู่ในแต่ละเมืองต่อไป.






..............................................................................................






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

  1. 1
    20/09/2016 08:27

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท02/06/2024
ผู้เข้าชม7,654,159
เปิดเพจ11,813,628
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view