บุญ กับ กุศล
---เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียด ถี่ถ้วน เมื่อนั้น จะพบความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว
*คำว่า บุญ
---มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น
*คำว่า กุศล
---แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป
---โดยความหมายเช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง
---"บุญ" เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
---เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่ การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ตนจะปรารถนา ไม่ออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ
---อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ความหมายของคำว่า "บุญ" จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจ และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้
---"กุศล" เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่งสิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้เกิดแล้วเกิดอีก และมีจุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว
---ในเมื่อบุญต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มี ; เป็น ;ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ และพอใจ, ดีใจ
---ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญนั้นยังเป็นความมืดบอดอยู่
---แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมีการกระทำทางภายนอกอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหลในคำสองนี้อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกันอยู่จริงๆ คือ
---ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะ จะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้ เรียกว่า "ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ"
---แต่ถ้าให้ทาน เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว,ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้ เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะเมตตาล้วนๆ โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่า ให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่า "ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล"
---ซึ่งมันแตกต่างไปคนละทิศละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทาน จนกลายเป็นผลร้ายขึ้นในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง
---ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้น อยู่สูงพ้นจากการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามี "ปัญญาหรือเหตุผล" เข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลาความขี้เหนียวในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่า ควรให้ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ
---เพราะว่ากุศลไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือ ผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า : ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอัน
---อย่างไรในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จักความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล แล้วรักษาเพื่ออวดเพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้หรือทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น
---ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้นยิ่งมีความยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะความเคร่งครัด ในศีลของบุคคลประเภทนี้ อย่างนี้ เรียกว่า "รักษาศีลเอาบุญ"
---ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่ง "รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง" สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์ เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า "รักษาศีลเอากุศล" รักษามีจำนวนเท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไปคนละทิศละทาง
*อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะแห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า "บุญ" กับคำว่า "กุศล"
---คำว่า "กุศล" นั้น ทำอย่างไรเสีย ก็ไม่มีทางตกหล่มจมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่าบุญ และกินเข้าไป มากเท่าไร ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า "บุญ" แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่ากุศล แปลว่า ความฉลาดหรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์
---ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้ สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับคนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่นตามที่ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิเพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า "สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ" เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตราย แก่เจ้าของ ถึงกับต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย
---เพราะว่า สมาธิเช่นนี้ มีตัณหาและทิฎฐิ เป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุด ก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อ นิพพาน ; ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิตให้ ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมาในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ
---ครั้นมาถึง "ปัญญา" นี้ ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัวปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์ อย่างเดียว แม้ยังจะต้อง เกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ ไม่วนเวียนจนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่า ปัญญาในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น
---ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลงเอา บุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสน อลเวงเพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ จนเกิดความยุ่งยากสับสน อลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร
---ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอาของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า"บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับการทำบุญกุศลนี้ ให้ลุล่วงไป ด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้
---ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม หรือปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก
---ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัด รากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ ความต่างกัน อย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้
---คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็นและจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใดจึงจะชื่อว่า พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้า และทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกันได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายฯ
................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น