ตำนานสระอโนดาด
(อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒)
*๙.ปหาราทสูตร
---อรรถกถาปหาราทสูตรที่ ๙
---ปหาราทสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
---บทว่า ปหาราโท ได้แก่ มีชื่ออย่างนี้.
---บทว่า อสุรินฺโท แปลว่า หัวหน้าอสูร.
---จริงอยู่ บรรดาอสูรทั้งหลาย อสูรผู้เป็นหัวหน้ามี ๓ ท่านคือ เวปจิตติ ๑ ราหู ๑ ปหาราทะ ๑.
---บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า นับตั้งแต่วันที่พระทศพลตรัสรู้แล้ว ท้าวปหาราทะจอมอสูรคิดว่า วันนี้เราจักไปเฝ้า พรุ่งนี้เราจักไปเฝ้า จนล่วงไป ๑๑ ปี ครั้นถึงปีที่ ๑๒ ในเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชา เกิดความคิดขึ้นว่า เราจักไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงคิดต่อไปว่า เรามัวแต่ผลัดว่าจะไปวันนี้ จะไปพรุ่งนี้ ล่วงไปถึง ๑๒ ปี เอาเถอะเราจะไปเดี๋ยวนี้แหละ ในขณะนั้นนั่นเองอันหมู่อสูรแวดล้อมแล้ว ออกจากภพอสูรตอนกลางวัน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
---บทว่า เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ ความว่า ได้ยินว่า ท้าวปหาราทะจอมอสูรนั้นมาด้วยคิดว่า จักถามปัญหากะพระตถาคต แล้วจักฟังธรรมกถา ตั้งแต่เวลาที่ได้เฝ้าพระตถาคตแล้ว แม้เมื่อไม่อาจถาม เพราะความเคารพในพระพุทธเจ้า ก็ได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
---ลำดับนั้น พระศาสดาทรงพระดำริว่า เมื่อเราไม่พูด ปหาราทะนี้ก็ไม่อาจพูดก่อนได้ จำเราจักถามปัญหากะเธอสักข้อหนึ่ง เพื่อให้การสนทนาเกิดขึ้นในฐานะที่เธอมีวสีชำนาญอันสั่งสมไว้แล้วนั่นแหละ.
---เมื่อพระองค์จะตรัสถามปัญหาเขา จึงตรัสคำมีอาทิว่า อปิ ปน ปหาราท ดังนี้.
---อธิบายว่า ไม่เอือมระอาอยู่.
---ท่านมีจิตยินดีว่าในฐานะที่เราคุ้นเคยทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามเรา จึงกราบทูลว่า อภิรมนฺติ ภนฺเต พวกอสูรยังอภิรมย์อยู่ พระเจ้าข้า.
---บทว่า อนุปุพฺพนินฺโน เป็นต้นทั้งหมด เป็นไวพจน์แห่งความลุ่มไปตามลำดับ.
---ด้วยบทว่า น อายตเกเนว ปปาโต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า มหาสมุทรไม่เป็นเหวชันมาแต่เบื้องต้นเหมือนบึงใหญ่ที่มีตลิ่งชัน.
---ก็เริ่มตั้งแต่พื้นที่ที่เป็นตลิ่งไป มหาสมุทรนั้นจะลึกลงไป ด้วยสามารถแห่งการลึกลงที่ละ ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว ๑ คืบ ๑ ศอก ๑ อสุภะ กึ่งคาวุต ๑ คาวุต กึ่งโยชน์ และ ๑ โยชน์ลึกไปๆ จนถึงลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ณ ที่ใกล้เชิงเขาพระสุเมรุ.
---บทว่า ฐิตธมฺโม ความว่า ตั้งอยู่แล้วเป็นสภาวะ คือตั้งอยู่เฉพาะเป็นสภาวะ.
---บทว่า กุณเปน ความว่า ด้วยซากศพอย่างใดอย่างหนึ่ง มีซากช้างและซากม้าเป็นต้น.
---บทว่า ถลํ อุสฺสาเทติ ความว่า ย่อมซัดขึ้นบกด้วยคลื่นซัดนั่นแหละ เหมือนคนเอามือจับซัดไปฉะนั้น.
---ในบทว่า คงฺคา ยมุนา ควรกล่าวถึงเหตุเกิดแห่งแม่น้ำเหล่านี้ เพราะตั้งอยู่ในที่นี้. ก่อนอื่นชมพูทวีปนี้ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ในจำนวนเนื้อที่นั้น ๔,๐๐๐ โยชน์ เป็นภูมิประเทศที่ถูกน้ำท่วม นับได้ว่าเป็นมหาสมุทร ๓,๐๐๐ โยชน์ พวกมนุษย์อาศัยอยู่ ๓,๐๐๐ โยชน์ ภูเขาหิมวันต์ตั้งอยู่สูง ๕๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด วิจิตรด้วยแม่น้ำใหญ่ ๕ สายไหลมาโดยรอบเป็นที่สระใหญ่ ๗ สระตั้งอยู่ คือ สระอโนดาด สระกัณฑมุณฑะ สระรถกาฬะ สระฉัททันตะ สระกุนาละ สระมันทากินิ สระสีหัปปปาตะ ซึ่งยาว กว้างและลึกอย่างละ ๕๐ โยชน์ มีปริมณฑล ๑๕๐ โยชน์ บรรดาสระเหล่านั้น สระอโนดาดล้อมด้วยภูเขา ๕ ลูกเหล่านี้คือ สุทัสสนกูฏ จิตตกูฏ เทฬกูฏ คันทมาทนกูฏ เกลาสกูฏ.
---ในภูเขาทั้ง ๕ ลูกนั้น ภูเขาสุทัสสนกูฏสำเร็จไปด้วยทอง สูง ๒๐๐ โยชน์ ภายในคดเคี้ยว มีสัณฐานดังปากของกา ตั้งปิดสระอโนดาดนั่นแหละ ภูเขาจิตตกูฏสำเร็จด้วยรตนะทั้งปวง ภูเขากาฬกูฏสำเร็จด้วยแร่พลวง ภูเขาคันทมาทนกูฏสำเร็จด้วยที่ราบเรียบ ภายในมีสีเหมือนเมล็ดถั่วเขียว หนาแน่นไปด้วยคันธชาติ ๑๐ ชนิดเหล่านี้ คือ ไม้มีกลิ่นที่ราก ไม้มีกลิ่นที่แก่น ไม้มีกลิ่นที่กะพี้ ไม้มีกลิ่นที่ใบ ไม้มีกลิ่นที่เปลือก ไม้มีกลิ่นที่สะเก็ด ไม้มีกลิ่นที่รส ไม้มีกลิ่นที่ดอก ไม่มีกลิ่นที่ผล ไม้มีกลิ่นที่ลำต้น ปกคลุมไปด้วยเครื่องสมุนไพรมีประการต่างๆ มีแสงเรืองตั้งอยู่ ประหนึ่งถ่านคุไฟ ในวันอุโบสถข้างแรม.
---ภูเขาเกลาสกูฏสำเร็จด้วยแร่เงิน.
---ภูเขาทั้งหมดมีสัณฐานสูงเท่ากับภูเขาสุทัสสนะ ตั้งปิดสระอโนดาดนั้นไว้.
---ภูเขาทั้งหมดนั้นฝนตกกราดด้วยอานุภาพของเทวดา และของนาค.
---และแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปที่ภูเขาเหล่านั้น น้ำทั้งหมดนั้นก็ไหลเข้าไปสู่สระอโนดาดแห่งเดียว.
---พระจันทร์และพระอาทิตย์ เมื่อโคจรผ่านทางทิศทักษิณหรือทิศอุดร ก็โคจรผ่านไปตามระหว่างภูเขา ส่องแสงไปในที่นั้น แต่เมื่อโคจรไปตรงๆ ก็ไม่ส่องแสง เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ สระนั้นจึงเกิดบัญญัติชื่อว่า สระอโนดาด แปลว่า พระอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง.
---ที่สระอโนดาดนั้นมีท่าสำหรับอาบน้ำ มีแผ่นศิลาเรียบน่ารื่นรมย์ใจ ไม่มีปลาหรือเต่า มีน้ำใสดังแก้วผลึก เป็นของอันธรรมชาติตกแต่งไว้ดีแล้ว เป็นที่ๆ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้าและฤาษีผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายสรงสนาน เทวดาและยักษ์เป็นต้นก็พากันเล่นน้ำ ทั้ง ๔ด้านในสระนั้น มีมุขอยู่ ๔ มุข คือสีหมุข หัสดีมุข อัศวมุข พฤษภมุขอันเป็นทางที่แม่น้ำทั้ง ๔ สายไหลไป.
---ที่ฝั่งแม่น้ำด้านที่ไหลออกทางสีหมุข มีราชสีห์อยู่มาก.
---ที่ฝั่งแห่งแม่น้ำด้านที่ไหลออกทางหัสดีมุขเป็นต้น มีช้าง ม้าและโคอุสภะอยู่มาก.
---แม่น้ำที่ไหลออกจากทิศตะวันออก ไหลเวียนขวาสระอโนดาด ๓ เลี้ยว แล้วเลี่ยงแม่น้ำอีก ๓ สาย ไหลไปยังถิ่นที่ไม่มีมนุษย์ ทางป่าหิมวันต์ด้านทิศตะวันออก และทางป่าหิมวันต์ด้านเหนือ แล้วไหลลงสู่มหาสมุทร.
---แต่แม่น้ำที่ไหลออกทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ ก็เวียนขวาเช่นนั้นเหมือนกัน ไปยังถิ่นที่ไม่มีมนุษย์ ทางป่าหิมวันต์ด้านทิศตะวันตกและป่าหิมวันต์ด้านเหนือ แล้วไหลลงสู่มหาสมุทร.
---แต่แม่น้ำที่ไหลออกทางมุขด้านใต้ เวียนขวาสระอโนดาดนั้น ๓ เลี้ยวแล้วก็ไหลตรงไปทางทิศเหนือ เป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์ ไปตามหลังแผ่นหินนั่นแหละ ปะทะภูเขาโลดขึ้นเป็นสายน้ำ โดยรอบประมาณ ๓ คาวุต ไหลไปทางอากาศ เป็นระยะ ๖๐ โยชน์ แล้วตกลงที่แผ่นหินชื่อว่าติยัคคฬะ แผ่นหินก็แตกไป เพราะความแรงแห่งสายน้ำ.
---ในที่นั้นเกิดเป็นสระใหญ่ ชื่อว่าติยัคคฬะขนาด ๕๐ โยชน์.
---กระแสน้ำพังทำลายฝั่งสระ แล้วไหลเข้าแผ่นหินไประยะ ๖๐ โยชน์.
---ต่อแต่นั้นก็เซาะแผ่นดินทึบเป็นเป็นอุโมงค์ไป ๖๐ โยชน์ แล้วปะทะติรัจฉานบรรพต ชื่อว่าวิชฌะ แล้วกลายเป็น ๕ สาย ประดุจนิ้วมือ ๕ นิ้วที่ฝ่ามือฉะนั้น.
---ในที่ๆ สายน้ำนั้นเลี้ยวขวาสระอโนดาด ๓ เลี้ยวแล้วไหลไป เรียกว่าอาวัตตคงคา.
---ในที่ๆ ไหลตรงไป ๖๐ โยชน์ ทางหลังแผ่นหิน เรียกว่ากัณหคงคา.
---ในที่ไหลไปทางอากาศ ๖๐ โยชน์ เรียกว่าอากาสคงคา.
---ในที่ที่หยุดอยู่ในโอกาส ๖๐ โยชน์ บนแผ่นหินชื่อว่าติยัคคฬะ เรียกว่าติยัคคฬโปกรณี.
---ในที่ที่เซาะฝั่งเข้าไปสู่แผ่นหิน ๖๐ โยชน์ เรียกว่าพหลคงคา.
---ในที่ที่ไหลไป ๖๐ โยชน์ ทางอุโมงค์เรียกว่าอุมมังคคงคา.
---ก็ในที่ที่สายน้ำกระทบติรัจฉานบรรพต ชื่อวิชฌะแล้วไหลไปเป็นสายน้ำ ๕ สาย ก็ถือว่าเป็นแม่น้ำทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจีรวดี สรภู มหี.
---พึงทราบว่า แม่น้ำใหญ่ ๕ สายเหล่านี้ย่อมไหลมาแต่ป่าหิมวันต์ด้วยประการฉะนี้.
---บทว่า สวนฺติโย ได้แก่ แม่น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำใหญ่หรือแม่น้ำน้อย ซึ่งกำลังไหลไปอยู่.
---บทว่า อปฺเปนฺติ แปลว่า ไหลไปรวม คือไหลลง.
---บทว่า ธารา ได้แก่ สายน้ำฝน.
---บทว่า ปูรตฺตํ แปลว่า ภาวะที่น้ำเต็ม.
---ความจริง มหาสมุทรมีธรรมดาดังนี้
---ใครๆ ไม่อาจกล่าวว่า เวลานี้ฝนตกน้อย พวกเราจะพากันเอาแหและลอบเป็นต้น ไปจับปลาและเต่า หรือว่า เวลานี้ฝนตกมาก เราจักได้ (อาศัย) สถานที่หลังหิน.
---ตั้งแต่ปฐมกัปมา น้ำเพียงนิ้วมือหนึ่งจากน้ำที่ขังจรดคอดของขุนเขาสิเนรุ จะไม่ยุบลงข้างล่างไม่ดันขึ้นข้างบน.
---บทว่า เอกรโส แปลว่า มีรสไม่เจือปน.
---บทว่า มุตฺตา ความว่า แก้วมุกดามีหลายชนิดต่างโดยชนิดเล็ก ใหญ่ กลมและยาวเป็นต้น.
---บทว่า มณี ความว่า มณีมีหลายชนิดต่างโดยสีมีสีแดงและสีเขียวเป็นต้น.
---บทว่า เวฬุริโย ความว่า แก้วไพฑูรย์มีหลายชนิดต่างโดยสีมีสีดังสีไม้ไผ่และสีดอกซึกเป็นต้น.
---บทว่า สงฺโข ความว่า สังข์มีหลายชนิดต่างโดยสังข์ทักษิณวรรต สังข์ท้องแดง และสังค์สำหรับเป่าเป็นต้น.
---บทว่า สิลา ความว่า สิลา มีหลายอย่างต่างโดยสีมีสีขาว สีดำ และสีดังเมล็ดถั่วเขียวเป็นต้น.
---บทว่า ปวาฬํ ความว่า แก้วประพาฬมีหลายอย่างต่างโดยชนิดเล็ก ใหญ่ แดงและแดงทึบเป็นต้น.
---บทว่า มสารคลฺลํ ได้แก่ แก้วลาย.---บทว่า นาคา ได้แก่ นาคที่อยู่บนหลังคลื่นก็มี นาคที่อยู่ในวิมานก็มี.
---บทว่า อฏฺฐ ปหาราท ความว่า พระศาสดาทรงสามารถตรัสธรรม ๘ ประการบ้าง ๑๖ ประการบ้าง ๓๒ ประการบ้าง ๖๔ ประการ บ้าง ๑๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง แต่ทรงพระดำริว่า ปหาราทะกล่าว ๘ ประการ แม้เราก็จักกล่าวให้เห็นสมกับธรรม ๘ ที่ปหาราทะกล่าวนั้นนั่นแหละ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.
---พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อนุปุพฺพสิกฺขา เป็นต้นต่อไปนี้.
---พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาสิกขา ๓ ด้วยอนุปุพพสิกขา ทรงถือเอาธุดงค์ ๑๓ ด้วยอนุปุพพกิริยา. ทรงถือเอาอนุปัสสนา ๗ มหาวิปัสสนา ๑๘ การจำแนกอารมณ์ ๓๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ด้วยปทา.
---บทว่า อายตเกเนว อญฺญาปฏิเวโธ ความว่า ชื่อว่าภิกษุผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีลเป็นต้น ตั้งแต่ต้นแล้วบรรลุพระอรหัต เหมือนอย่างกบกระโดดไปไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงอธิบายว่า ก็ภิกษุบำเพ็ญศีล สมาธิและปัญญา ตามลำดับเท่านั้น จึงอาจบรรลุพระอรหัตได้.
---บทว่า อารกาว แปลว่า ในที่ไกลนั่นแล.
---บทว่า น เตน นิพฺพานธาตุยา อูนตฺตํ วา ปูรตฺตํ วา ความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เสด็จอุบัติขึ้น แม้ตลอดอสงไขยกัป แม้สัตว์ตนหนึ่งก็ไม่อาจปรินิพพานได้ แม้ในกาลนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า นิพพานธาตุว่างเปล่า แต่ในพุทธกาล ในสมาคมหนึ่งๆ สัตว์ทั้งหลายยินดีอมตธรรมนับไม่ถ้วน แม้ในกาลนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า นิพพานธาตุเต็ม.
จบอรรถกถาปหาราทสูตรที่ ๙
-----------------------------------------------------
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 24 กันยายน 2558
ความคิดเห็น