บทสรุปบารมี 10 ทัศ
---ทาน ทำให้ "น่ารักใคร่" หากผู้ใดไม่เป็นที่รัก ต้องหักใจให้ทาน บำเพ็ญสังคหวัตถุ ฝึกหัดแบ่งปัน กล่าวคำอ่อนหวาน ทำตนให้มีประโยชน์ เสมอต้นเสมอปลาย หมั่นพิจารณาความตายไว้เสมอ ว่าตายไปก็เอาสิ่งใดติดมือไปมิได้ ทบทวนโทษของความตระหนี่ จักได้ทานเป็นเครื่อง "เกื้อกูลน้ำใจ"
---ศีล ทำให้ "น่าปลอดภัย" หากผู้ใดเป็นที่น่ากลัวสำหรับผู้อื่น ต้องสงบกาย วาจา หมั่นบำเพ็ญศีลให้มั่นคง พิจารณาโทษในนรก ทบทวนเนืองๆ จักได้ศีลเป็นเครื่อง "ข่มใจ"
---เนกขัมมะ ทำให้ "น่าเย็นใจ" หากผู้ใดเป็นที่เร่าร้อนของผู้อื่น มัวเมาอยู่ในลาภสักการะและกามคุณ ให้หมั่นสงบจิตใจ บำเพ็ญเนกขัมมะ หมั่นพิจารณาอสุภะ ความเน่าสยองของร่างกายและเน่าสลายของสิ่งต่างๆ อย่าได้เผลอ จักได้เนกขัมมะเป็นเครื่อง "ปลอดโปร่งใจ"
---ปัญญา ทำให้ "น่าเลื่อมใส" หากผู้ใดสับสน เป็นที่คับข้องใจผู้คน ให้หมั่นพูดคุยซักถามความรู้ความจริง ไต่ถามผู้รู้ ทำภาวนาให้แจ้ง หมั่นพิจารณาโทษแห่งความหลงใหล หลงผิด ก็จักได้ปัญญาเป็นเครื่อง "ส่องใจ"
---วิริยะ ทำให้ "น่าพึ่งพา" หากผู้ใดถูกผู้อื่นหนีหน้า ต้องขยันปรับปรุงตนเอง กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา หมั่นพิจารณาโทษแห่งความเกียจคร้านว่าจักฆ่าตนอย่างไม่ปราณี แล้วจักได้วิริยะเป็นเครื่อง "ปลุกใจ"
---ขันติ ทำให้ "น่าคบหา" หากผู้ใดเป็นที่ขยาดของชนทั้งหลาย เพราะความที่ตนโกรธง่าย ดื้อดึง ขี้บ่น เจ้าอารมณ์ ควรพิจารณาโทษของความอ่อนแอทางจิตใจจนสงบเสงี่ยมได้ จักได้ขันติเป็นเครื่อง "สะกดใจ"
---สัจจะ ทำให้ "น่าไว้ใจ" หากผู้ใดเป็นผู้ที่ใครๆ มิอาจเชื่อถือทั้งคำพูดและการงาน ควรหมั่นใส่ใจเอาจริงจัง เห็นโทษของการดูเบา ทำเล่น โลเลคดไปมาว่า ผู้ไม่มีความรับผิดชอบย่อมรับภาระหน้าที่ใดจริงจังมิได้ ทำให้เอาดีไม่ได้ แต่เอาชั่วได้ง่าย ต้องไปอบายในที่สุด เมื่อตระหนักจดจ่อจริงจัง จักได้สัจจะเป็นเครื่อง "จริงใจ"
---อธิษฐาน ทำให้ "น่าเกิดแรงบันดาลใจ" หากผู้ใดเป็นที่เหนื่อยหน่ายท้อใจของผู้อื่น เพราะความที่ตนหวั่นไหวไปมา ทำการอันใดมิสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ควรหมั่นมีหลักในใจ มีอุดมการณ์ไม่เลื่อนลอย ไม่คล้อยตามกระแสดุจไม้หลักปักเลน พิจารณาโทษของความไม่ซื่อตรงต่อเป้าหมาย ว่าทำให้เคว้งคว้างอันตรายต่อตนยิ่งนัก ตอกย้ำซ้ำเสมอ จักได้อธิษฐานเป็นเครื่อง "ประทับใจ"
---เมตตา ทำให้ "น่าเข้าใกล้" หากผู้ใดเป็นที่แห้งแล้งของผู้อื่น ควรหมั่นแผ่เมตตาเนืองนิตย์ให้จิตชื่นบานกว้างขวาง มุ่งพิจารณาโทษของการแล้งน้ำใจว่าจะลดทอนการสร้างบารมี มิได้ใครพึ่งพายามต้องการ มีแต่ความผูกพยาบาทเป็นสหาย หมั่นเจริญซ้ำๆ จักได้เมตตาเป็นเครื่อง "เห็นใจ"
---อุเบกขา ทำให้ "น่าสุขใจ" หากผู้ใดเป็นที่น่าร้อนรุ่มใจกลุ้มใจของผู้อื่น เพราะความที่ตนอารมณ์อ่อนไหวไปกับทุกสิ่งรอบตัว ให้ฝึกหัดตัดใจจากอารมณ์ต่างๆ จนคุ้นชินดุจคนขับถ่ายคูถ มิหวนกลับไปอาลัยใยดี หมั่นพิจารณาโทษของความยินดียินร้าย อย่าให้เผลอทุกเวลา จักได้อุเบกขาเป็นเครื่อง "ตัดใจ"
*การสร้างบารมีต้องมีใจรักขึ้นมาก่อนจนเป็นอัธยาศัย ดังที่มีมาในปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย จริยาปิฎกดังนี้..
---"เพราะมีอัธยาศัยในทาน พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้เห็นโทษในความตระหนี่ ย่อมบำเพ็ญทานบารมีให้บริบูรณ์ เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยในศีลจึงเป็นผู้เห็นโทษในความทุศีล บำเพ็ญศีลบารมีให้บริบูรณ์ เพราะมีอัธยาศัยในเนกขัมมะจึงเห็นโทษในกามและการครองเรือน เพราะมีอัธยาศัยใน การรู้ตามความเป็นจริงจึงเห็นโทษในความไม่รู้และความสงสัย เพราะมีอัธยาศัยในความเพียรจึงเห็นโทษในความเกียจคร้าน เพราะมีอัธยาศัยในความอดทนจึงเห็นโทษในความไม่อดทน เพราะมีอัธยาศัยในสัจจะจึงเห็นโทษในการพูดผิด เพราะมีอัธยาศัยในความตั้งใจมั่นจึงเห็นโทษในความไม่ตั้งใจมั่น เพราะมีอัธยาศัยเมตตาจึงเห็นโทษในพยาบาท เพราะมีอัธยาศัยในความวางเฉยจึงเห็นโทษในโลกธรรม จึงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายให้บริบูรณ์โดยชอบ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่ง บารมีเพราะเป็นเหตุให้สำเร็จ"
---การสร้างบารมี 10 เป็นการสร้างนิสัยดีที่สอดคล้องกันไปจนใจสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเริ่มให้ทานใจก็เริ่มเปิดกว้าง ปิดความเห็นแก่ตัว เริ่มคิดแบ่งปัน เมื่อให้ทานเรื่อยๆ จะคุ้นกับการช่วยเหลือผู้อื่นเรื่อยๆ จนไม่ประสงค์จะเบียดเบียนใคร เมื่อควบคุมกายและวาจาได้เรื่อยๆ จะขยับขึ้นสู่การควบคุมใจคือประพฤติพรหมจรรย์ได้ดี เมื่อสะสมเนกขัมมะเรื่อยๆ จะเกิดความสงบพบปัญญาดี เมื่อมีปัญญาดีเรื่อยๆ จะคิดได้ในสิ่งประโยชน์และมิใช่ประโยชน์จนรักการฝึกตัว เมื่อฝึกตัวพัฒนาตนอยู่เรื่อยๆ จะยินยอมอดทนสิ่งต่างๆ แต่โดยดี เมื่ออดกลั้นอยู่เรื่อยๆ จะเป็นผู้มีกำลังทำดีได้ต่อเนื่องคงที่ ซื่อตรง จริงจัง ไม่โลเลเลิกล้ม เมื่อมีสัจจะเรื่อยๆ จิตใจจะตั้งมั่นได้ดี ความดีที่สร้างไว้ก็มากพอที่จะนำมาตั้งเป็นผังสำเร็จได้ดี เมื่อตั้งมั่นในอธิษฐานเรื่อยๆ จะได้ที่พึ่งสำหรับตนและคนอื่น ความเมตตาบังเกิดได้ดี เมื่อมีเมตตาเรื่อยๆ จะมองภาพยิ่งใหญ่ไม่ไปติดกับจุดเล็กๆ ในระหว่างทางโดยวางใจเป็นกลางได้ดี เมื่อมีใจเป็นกลางเรื่อยๆ ใจก็จะสงบหยุดนิ่งได้ดี เมื่อใจไม่ติดในคน สัตว์ สิ่งของ และอารมณ์ต่างๆ อยู่เรื่อยๆ การให้ทานก็ยิ่งให้ได้ดียิ่งขึ้น ปราณีต อุกฤษฏ์ ยกระดับขึ้นเป็นอุปบารมี เมื่อแก่รอบขึ้นเรื่อยๆ ก็สละได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงระดับปรมัตถบารมี ถึงศีลก็เช่นกัน ถึงเนกขัมมะก็เช่นกัน.. วาสนานิสัยในบารมีต่างๆ ก็แก่รอบขึ้นเรื่อยๆ จนใจไม่ติดพันโดยสิ้นเชิง เข้าสู่ศูนย์กลางกายเรื่อยๆ อย่างเป็นปกติ
---สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ต้องทนทุกข์ก็เพราะบารมีทั้ง 10 เหล่านี้ยังไม่เต็มเปี่ยมในขันธสันดาน จึงต้องเวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร พากันได้รับความทุกข์ทรมานก็เพราะบารมียังอ่อน ถ้าผู้ใดบารมีแก่กล้า ผู้นั้นก็อยู่เย็นเป็นสุข หายทุกข์ หายโศก หายภัย ไม่มีอันตรายใดๆ มารบกวน ย่ำยีบีฑาได้ เพราะถูกบารมีของผู้นั้นตัดรอนทอนไป โลกมนุษย์จึงเป็นภูมิแห่งการมาสั่งสมบารมีเท่านั้น ผู้ ที่มาจากสวรรค์ หรืออบาย หากมัวหลงเพลิดเพลินความสนุกสบายจนบารมีไม่มีมากพอจะไปล้มล้างนิสัยฝ่ายดำ ที่สั่งสมมา ก็จักต้องย้อนกลับไปประสบทุกข์ต่ออีก ดังนั้น มิว่าอย่างไร บัดนี้ได้ยืนอยู่บนโลกมนุษย์แล้ว เมื่อความลำบากมาอยู่ตรงหน้าแต่เพื่อแลกมาซึ่ง "พระบารมี" ก็จงเร็วรี่รีบคว้าไว้เถิด เพราะความตายได้กลืนกินชีวิตเข้าไปทุกทีแล้ว สำหรับการฝึกนิสัยทั้ง 10 นี้ ถ้าหากเอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าแลกก็จะเป็นอุปบารมีและปรมัตถบารมีตามลำดับ จะได้นิสัยที่แนบแน่นฝังในใจอย่างยอดเยี่ยม เมื่อนิสัยทั้ง 10 อยู่ตัวสุกงอมเต็มที่ หากปรารถนาก็จะได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเป็นกายมหาบุรุษผู้นาถะของโลกสืบไป ดังความดำริของท่านสุเมธดาบสผู้ถมหนทางที่เสด็จมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที ปังกรว่า..
---"ก็ถ้าเราจะถมที่นี้ด้วยฤทธิ์ไซร้ ใจเราจะไม่ยินดีนัก เราควรรับใช้พระพุทธเจ้าด้วยกายของเรา นี้แหละ ขณะเรานอนอยู่บนแผ่นดินก็คิดว่า วันนี้ถ้าเราปรารถนาพ้นจากทุกข์ก็จะเผากิเลสได้ แต่จะมี ประโยชน์อะไรเล่าด้วยลูกผู้ชายที่มีรูปร่างแข็งแรงนี้ข้ามไปคนเดียว เราจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ เราจะพามนุษย์และเทวดาให้ข้ามฝั่งด้วยการกระทำอันยิ่งใหญ่ของเรา
---เราเลือกเฟ้นจนได้เห็นทานบารมีเป็นทางใหญ่ข้อแรกที่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ ประพฤติสืบมาแล้ว ท่านจงยึดทานบารมีเป็นข้อแรก จงให้ทานอย่าให้เหลือ ...จงอย่าเหลียวแลแม้ชีวิต รักษาศีลอย่างเดียว ..จงเห็นกามเป็นขื่อโซ่ตรวนดุจเรือนจำ ตั้งหน้ามุ่งออกบวชอย่างเดียว ..จงเข้าหาบัณฑิตแล้วถามปัญหาอย่าเว้นใครๆ ..จงยึดความเพียรให้มั่นในที่ทั้งปวง ..จงอดทนต่อความดูหมิ่นและนับถือของคนทั้งปวง ..จงอย่าพูดเท็จทั้งรู้ตัวแม้อัสนีบาตจะฟาดบนกระหม่อม ..จงอย่าหวั่นไหวในความตั้งใจมั่นของตน ..จงเมตตาในคนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล ..จงมั่นคงในธรรมดุจตราชู เว้นความโกรธ ความยินดีในสุขทุกข์ทุกเมื่อ ..แล้วจะบรรลุพระสัมโพธิญาณ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ เครื่องบ่มโพธิญาณ มีเพียงเท่านี้ เว้นบารมี 10 ธรรมเหล่าอื่นไม่มี"
---จากเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ต้นมา พอจะเห็นได้แล้วว่า การสร้างบารมีมิอาจรอให้บุญหล่นทับหรือรอให้ผู้มีฤทธิ์มอบบุญเต็มเปี่ยมให้ แต่ต้องทำตนให้สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรม หากการสร้างบารมีเป็นเรื่องสบาย คงไม่มีนักสร้างบารมีท่านใดหลุดออกไปจากวิถีเป็นแน่แท้ แต่แท้ที่จริงเราเห็นประจักษ์แล้วว่า เส้นทางสายนี้ มีนักสร้างบารมีหลุดออกไปอยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย หากคุณธรรมไม่พรักพร้อม สักวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง อาจต้องถูกกระแสกิเลสและพญามารซัดพาให้หลุด ออก จากวีถีการสร้างบารมีไป
---"บทฝึกนิสัย" เป็นสมบัติล้ำค่าหารู้ได้ยากในโลก ผู้ใดได้รับมาไว้ในใจเท่ากับได้สมบัติประจำตัวดั่งได้แก้วสารพัดนึก หากนำมาฝึกฝนจนเชี่ยวชำชาญก็จะเป็นอริยทรัพย์ติดตัวไปทุกภพทุกชาติ นับว่าเป็นสมบัติอันประเสริฐเลิศสุดโดยแท้ นักสร้างบารมีจึงไม่ควรประมาท ปล่อยให้สมบัติเหล่านี้หลุดลอยไป หรือให้ฝุ่นจับอับหมองควรหมั่นนึกถึงความตายไว้ให้มั่น แล้วพินิจดูว่า เราเอาอริยสมบัติเหล่านี้ไปได้เพียงใดหลังจากตายแล้ว
---วิสัยนักสร้างบารมีทั้งหลายย่อมสำคัญเพียงว่า จักพอกพูนบารมี สั่งสมเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จให้ได้ แม้จะผิดพลาดไปในระหว่างก็ตาม แต่จะไม่ละเลิกสร้างบารมีอย่างเด็ดขาด
---บารมีทั้ง 10 ปรากฏขึ้นแล้ว ท่านทั้งหลายจงมาในที่นี้โดยเร็วพลัน แล้วพากันถือเอาอาวุธ เพื่อต่อยุทธ์กับพญามารเถิด..
.........................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 30 สิงหาคม 2558
ความคิดเห็น