จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง เรื่องเล่าจาก Internet ที่น่ารู้
---คำว่า “กริ่ง” นี้ มาจากคำถามที่ว่า “กึ กุสโล” คือ เมื่อพระโยคาวจร บำเพ็ญสมณธรรมมีจิตผ่านกุศลธรรมทั้งปวงเป็นลำดับไปแล้ว ถึงขั้นสุดท้าย จิตเสวยอุเบกขา เวทนา ปฺญญาภิสังขาร เปลี่ยนไป อเนญชา เป็นเหตุให้พระโยคาวจร เอะใจขึ้นว่า “กึ กุสโล” นี้เป็นกุศลอะไร เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแปลกประหลาด ไม่เหมือนกับกุศลอื่นที่ผ่าน “ดับสนิท” คือ หมายถึง พระนิพพานนั่นเอง พระกริ่งจะมีรูปทรงเหมือนพระชัยวัฒน์ แต่พระกริ่ง จะมีขนาดใหญ่กว่าและที่ฐานจะบรรจุเม็ดโลหะกลม ๆ ไว้ โบราณท่านบอกว่า “ พระกริ่งนั้นไว้แช่น้ำมนต์ พระชัยวัฒน์นั้นไว้พกติดตัว”
*พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ปวเรศ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2530
---สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) วัดสุทัศเทพวราราม ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ
---ทรงเล่าว่า เมื่อพระองค์ทรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีมหาโพธิ์ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ยังมีชีวิตอยู่และครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่น เสด็จมาเยี่ยม เมื่อสั่งถามถึงอาการของโรค เป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์ ให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรค กินหายเป็นปกติ พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จ ไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯ ทูลว่าพระกริ่งที่กุฏิมี สมเด็จสมณเจ้าจึงรับสั่งให้นำมา แล้วอาราธนาพระกริ่ง แช่น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์ แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์ โรคอหิวาก็บรรเทาหายเป็นปรกติ
---พระกริ่งที่อาราธนาขอน้ำพระพุทธมนต์นั้น เป็นพระกริ่งเก่าหรือไม่ ก็คงเป็นพระกริ่งของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ องค์ใดองค์หนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ ก็เริ่มสนพระทัย ในการสร้างพระกริ่งนี้ขึ้นเป็นลำดับ ค้นหาประวัติการสร้างพระกริ่งและก็ได้เค้าว่า การสร้างพระกริ่งนี้ มีมาแต่โบราณแล้ว เริ่มขึ้นที่ประเทศธิเบตก่อน ต่อมาก็ประเทศจีนและประเทศเขมร
---เรื่องกำเนิดพระกริ่งของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ชีวิต” ปีที่ 5 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2505 เป็นว่ามีสาระประโยชน์อย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าว เพื่อเชิดชูในเกียรติ ที่ท่านผู้มีปัญญาเลิศผู้หนึ่งในยุค 25 ความว่า ในอาณาจักรพระเครื่องรางที่นับถือ ว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่อง ฝ่ายพระผงเห็นจะได้แก่ พระผงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “สมเด็จวัดระฆัง” ฝ่ายพระโลหะเห็นจะได้แก่ พระกริ่งของสมเด็จพระสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกร หรือที่เรียกกันว่า “กริ่งปวเรศ”
---พิธีกรรมการสร้างพระผงแต่โบราณมา ต้องทำผงวิเศษ ซึ่งสำเร็จจากสูตรสนธิต่าง ๆ ที่ขีดเขียนลงในกระดาษชนวน แล้วลบถมจนได้ที่ เป็นจำนวนผงที่ต้องการ สำหรับผสมกับการอื่นๆ พิมพ์เป็นองค์พระ การสร้างพระโลหะหรือพระกริ่ง ก็เช่นเดียวกันจะต้องลงเลขยันต์ในแผ่นโลหะ อันจะเป็นชนวนผสมในการหล่อด้วย เลขยันต์ที่นิยมลงยันต์โดยมากท่านนิยมลงด้วยพระยันต์ 108 นปถมัง 14 นะ ว่ากันว่าเป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การสร้างก็ต้องมีพิธีพระพุทธาภิเษก และมีพิธีโหร พิธีพราหมณ์ ประกอบ
---พระกริ่งปวเรศนี้ เล่ากันว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ สืบทอดมาจากสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศฯ ทรงสร้างพระกริ่งในเบื้องปัจฉิมสมัยแห่งพระชนม์มายุ แต่สร้างคราวละเล็กน้อย เชื่อกันว่ามี 2 คราวเท่านั้น ทรงแจกเฉพาะผู้ใกล้ชิดและเจ้านาย ข้าราชการประชาชน ที่มาสดับพระธรรมเทศนาในวัดบวรนิเวศวิหาร ฉะนั้น พระกริ่งปวเรศฯ จึงมีน้อยไม่แพร่หลาย
---ต่อมา เจ้าคุณวัดมกุฏกษัตริยาราม เลียนแบบของพระองค์ท่าน ไปจัดสร้างขึ้นบ้างก็เป็นจำนวนน้อย ภายหลังตำราไปตกอยู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรรดิราชวาส ตามปากราษฎรเรียกว่า “ท่านเจ้ามา” เป็นพระเถระเชี่ยวชาญทางสมถภาวนา อาจสามารถจุดเทียนระเบิดน้ำลงไปลงตะกรุด ณ ท่าแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดได้ ต่อมาท่านเจ้าก็มา เป็นประสาธน์ตำราแก่พระเทพโมฬี (แพ ติสฺสเทวา) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งภายหลังพระเทพโมฬีเจริญสมณศักดิ์โดยลำดับ จนได้ครองสมณอัครฐานันดรศักดิ์ ที่สมเด็จพระสังฆราช ในรัชกาลที่ 8
---พระเทพโมฬี ได้สร้างพระกริ่งขึ้นเป็นครั้งแรก และได้สร้างติดต่อกันเรื่อยมาเป็นนิตย์ ครั้งละมากบ้าง น้อยบ้าง จนถึงดำรงฐานะสมเด็จพระสังฆราช และจำเดิมแต่นั้น ก็มีพระเกจิอาจารย์ต่างสำนัก เลียนแบบสร้างพระกริ่งกันแพร่หลาย พระพุทธลักษณะของพระกริ่ง เป็นแบบพระพุทธรูปมหายาน ทางประเทศธิเบต และปรากฏในประเทศเขมรก็มีพระกริ่งแบบนี้ เหมือนกันกับเราเรียกว่า “กริ่งปทุม”
---ประเพณีสร้างพระกริ่งของไทย จะได้ครูจากเขมรเป็นแน่แท้ และมีการสร้างกันในยุคกรุงสุโขทัยแล้ว ที่กล่าวว่าตำราสร้างพระกริ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เดิมเป็นของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ก็น่าจะจริง เพราะสมเด็จพระพนรัตองค์นั้น ท่านคงได้รวบรวมวิธีการสร้างตำรับตำราเก่า ๆ และในสมัยนั้น วัดป่าแก้ว ก็นับถือกันว่าเป็นสำนักอรัญญิกาสมถธุระวิปัสสนาธุระ
---อันที่จริงพระกริ่ง ก็คือพระปฏิมาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธเจ้าองค์นี้เป็นที่นิยมนับถือ ของปวงพุทธศาสนิกชนฝ่ายลัทธิมหายานยิ่งนัก ปรากฏพระประวัติมาในพระสูตรสันสกฤตสูตรหนึ่งคือ “พระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ ประภาราชามูลประณิธานสูตร ”แปลเป็นจีนในราวพุทธศตวรรษที่ 10 ซึ่งขอแปลโดยย่อสู่กันว่าดังนี้
---สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระศากยมุนีพุทธะ เสด็จประทับ ณ.กรุงเวสาลีสุขโฆสวิหารพร้อมด้วยพระมหาสาวก 8,000 องค์พระโพธิสัตว์ 36,000 องค์ และพระราชาธิบดีเสนาอำมาตย์ตลอดจนปวงเทพ ก็โดยสมัยนั้นแลพระมัญชุศรีผู้ธรรมราชาบุตร อาศัยพระพุทธภินิหาร ลุกขึ้นจากที่ประทับ ทำจีวรเฉลียงบ่าข้างหนึ่งลง คุกพระชาณุ อัญชลีกราบทูลขึ้นว่า “ข้า แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดปรานพระธรรมเทศนา พระพุทธนามและมหามูลปณิธานและคุณวิเศษอันโอฬาร แห่งปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อยังผู้สดับพระธรรมกถานี้ ให้ได้รับหิตประโยชน์บรรลุถึงสุขภูมิ” พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาของพระมัญชุศรี โพธิสัตว์แล้วจึงทรงแสดงพระเกียรติคุณของพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าว่า
---“ดูก่อนกุลาบุตร จากที่นี้ไปทางทิศตะวันออกผ่านโลกธาตุ อันมีจำนวนดุจเม็ดทรายในคงคานที 10 นทีรวมกัน ณ โลกธาตุหนึ่งนามว่า "วิสุทธิไพฑูรย์โลกธาตุ" นั้นมีพระพุทธเจ้า ซึ่งมีทรงนามว่า "ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาคถาคต" พระองค์ถึงพร้อมด้วยพระภาคเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ รู้ดีชอบแล้ว ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งทางโลก เป็นผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเปรียบ เป็นสารถีฝึกบุรุษ เป็นศาสดาแห่งเทวดา และมนุษย์เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดูก่อนมัญชุศรี ณ เบื้องอดีตกาล เมื่อพระตถาคตเจ้าพระองค์นี้ ยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงตั้งมหาปณิธาน 12 ประการ เพื่อยังความต้องการแห่งสรรพสัตว์ให้บรรลุ"
*มหาปณิธาน 12 ประการเป็นไฉน
---1.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งมีวรกายอันรุ่งเรือง ส่องสาดทั่วอนันตโลกุ บริบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 และอนุพยัญชนะ 80 ขอให้สรรพสัตว์จึงมีวรกายดุจเดียวกับเรา
---2.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้วรกายของเรามีสีสันดุจไพฑูรย์ มีรัศมีรุ่งโรจน์โชตนาการ ยิ่งกว่าแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ประดับด้วยคุณาลังการอันมโหฬาร ไพศาลพันลึกส่องทางให้แก่สัตว์ที่ตกอยู่ในอบายคติ ให้หลุดพ้น เข้าสู่คติที่ชอบตามปราถนา
---3.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ขอให้เราได้ปัญญาโกศลอันล้ำลึกสุขุมไม่มีที่สิ้นสุดยังสรรพสัตว์ให้ได้รับโภคสมบัตินานาประการ อย่าได้มีความยากจนเลย
---4.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หากมีสัตว์ใด ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ขอให้เรายังเขาให้ตั้งมั่นในสัมมาทิฐิ ในโพธิมรรค หากมีสัตว์ใดดำเนินปฏิปทาแบบสาวกยาน ปัจเจกยาน ก็ขอให้เราสามารถยังเขามาดำเนินปฏิปทาแบบมหายาน
---5.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หากมีสรรพสัตว์ใด มาประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยของเรา ก็ขอให้เขาเหล่านั้น อย่าได้มีศีลวิบัติเลย จงบริบูรณ์ด้วยองค์แห่งศีลทั้ง 3 เถิด หากผู้ใดศีลวิบัติ เมื่อสดับนามแห่งเรา ก็ขอให้จงบริบูรณ์ดุจเดิมไม่ตกสู่ทุคคตินิรยาบาย
---6.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หากมีสรรพสัตว์ใด มีกายอันเลวทราม มีอินทรีย์ไม่ผ่องใสโง่เขลาเบาปัญญา ตาบอด หรือหูหนวกเป็นใบ้ หรือหลังค่อม สารพัดพยาธิทุกข์ต่าง ๆ เมื่อได้สดับนาม แห่งเราก็ขอให้เขาหลุดพ้นจากปวงทุกข์เหล่านั้น มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีอินทรีย์ผ่องใสสมบูรณ์
---7.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หากยังมีสรรพสัตว์ ปราศจากวงศาคณาญาติ อันความยากจนข้นแค้น มีทุกข์มาเบียดเบียนแล้ว เมื่อสดับแห่งเรา ขอสรรพความเจ็บป่วย จงปราศไปสิ้น เป็นผู้มีกายในอันผาสุข มีบ้านเรือนอาศัย พรั่งพร้อมด้วยธนสารสมบัติ จนที่สุดก็จักได้สำเร็จแก่พระโพธิญาณ
---8.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หากมีอิสสตรีใด มีความเบื่อหน่ายต่อเพศแห่งตน ปราถนาจะกลับเพศเป็นบุรุษไซร้ มาตรว่าได้สดับนามแห่งเรา ก็จงสามารถเปลี่ยนเพศจากหญิงเป็นชายตามปราถนา จนที่สุดก็จะได้สำเร็จแก่โพธิญาณ
---9.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราจะสามารถยังสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากข่ายแห่งมารและเครื่องผูกพัน ของเหล่ามิจฉาทิฏฐิ ให้สัตว์เหล่านั้น ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิและให้ได้บำเพ็ญโพธิสัตว์จริยาจนบรรลุพระโพธิญาณในที่สุด
---10.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีสัตว์เหล่าใด ถูกต้องพระราชอาญาต้องคุมขัง รับทัณฑกรรมในคุกตาราง หรือต้องอาญาถึงประหารชีวิต ตลอดจนได้รับการข่มเหง คะเนงร้าย ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามอื่น ๆ เป็นผู้มีอันคับแค้นเผาลนแล้ว มีใจกายอัววิปฏิสารอยู่ หากได้สดับนามแห่งเรา ได้อาศัยบารมี และมีคุณาภินิหารของเรา ขอให้สัตว์เหล่านั้น จงหลุดพ้นจากปวงทุกข์ดังกล่าว
---11.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีสัตว์เหล่าใด มีความทุกข์ ด้วยความหิวกระหายและประกอบอกุศลกรรม เพราะเหตุแห่งอาหารไซร้ หากได้สดับนามแห่งเรา มีจิตมั่นตรึก นึกภาวนาเป็นนิตย์ เราจะได้ประทานเครื่องอุปโภคบริโภค อันปราณีตแก่เขา ยังให้เขาอิ่มหนำสำราญ แล้วจะประทานธรรมรสแก่เขา ให้เขาได้รับความสุข
---12.ในการใด ที่เราได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีสัตว์เหล่าใด ที่ยากจนปราศจากอาภรณ์นุ่งห่ม อันความหนาวร้อนและเหลือบยุงเบียดเบียน ทั้งกลางวันกลางคืน หากได้สดับนามแห่งเราและหมั่นรำลึกถึงเราไซร้ เขาจักได้สิ่งที่ปราถนาและจักบริบูรณ์ด้วยธนสารสมบัติ สรรพอาภรณ์เครื่องประดับและเครื่องบำรุงความสุขต่าง ๆ ฯลฯ
---ครั้นแล้ว พระบรมศาสดาศากยะมุนีพุทธเจ้า ตรัสต่อไปว่า พระไภษัชยคุรีพุทธนี้ มีพระโพธิสัตว์ใหญ่ 2 องค์ พระสุริยไวโรจนะและพระจันทรไวโรจนะ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ช่วย ของพระไภษัชยคุรุพระพุทธเจ้า เบื้องปลายแห่งพระสูตรนั้น ทรงแสดงอานิสงส์ของการบูชาพระไภษัชยคุรุว่า “ผู้ใดก็ดี” ได้บูชาพระองค์ ด้วยความเคารพเลื่อมใสแลไซร้ ก็จักเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากภัยบีฑา ไม่ฝันร้าย ศาสตราวุธทำอันตรายมิได้ สัตว์ร้ายทำอันตรายมิได้ ยาพิษทำอันตรายมิได้ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทรงแสดงถึงพิธีจัดมณฑลบูชาพระไภษัชยคุรุอีกด้วยว่า ต้องจัดพิธีบูชาเครื่องนั้น ๆ และทรงประธานพระคาถาบูชาพระไภษัชยคุรุด้วย ในเวลาตรัสพระคาถานี้ พระบรมศาสดาทรงประทับเข้าสมาธิชื่อ “สรวสัตวทุกขภินทนาสมาธิ” ปรากฏรัศมีไพโรจน์ขึ้นเหนือพระเกตุมาลา แล้วตรัสพระคาถามหาธารณี ดังนี้
---“นโม ภควเต ไภษชฺยคุรุ ไสฑูรฺยปรฺภาราชาย ตถาคตยารฺทเต สมฺยกสมฺพุทฺธาย โอมฺ ไภเษชฺเย สมุรฺคเตสฺวาหฺ”
---ครั้นตรัสพระมหาธารณีนี้แล้ว พสุธาก็กัมปนาทหวาดไหว แสงสว่างอันโอฬารก็ปรากฏ สัตว์ทั้งปวงก็หลุดพ้นจากสรรพพยาธิ บรรลุสุขสันติอันประณีต แล้วพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อนมัญชุศรี ถ้ามีกุลบุตรกุลธิดาใด อันพยาธิทุกข์เบียดเบียนแล้ว ถึงตั้งจิตให้เป็นสมาธิ แล้วนำพระมหาธารณีบทนี้ ปลุกเสกอาหารหรือยา หรือน้ำดื่ม ครบ 108 หน แล้วดื่มกินเข้าไปเถิด จักสามารถดับสรรพปวงพยาธิได้ ฯลฯ”
---พระสูตรนี้ ตอนปลาย ๆ ยังมีเรื่องราวพิศดารอีกมาก แต่จำต้องของดไว้เพียงเท่านี้ เป็นอันว่าท่านผู้ชม ได้ทราบถึงความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญของพระพุทธไภษัชยคุรุโดยสังเขปเท่านี้ สำหรับพระคาถามหาธารณีนั้น ท่านพระคณาจารย์สร้างพระกริ่งได้และควรนับถือว่า เป็นมนต์ประจำพระกริ่ง โดยเฉพาะทีเดียว
---เมื่อความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของพระพุทธรูปไภษัชยคุรุ ปรากฏตามที่ได้พรรณามา พวกพุทธศาสนิกชนฝ่ายลัทธิมหายาน จึงเคารพนับถือยิ่งนัก มีพระพุทธปฏิมาขอพระไภษัชยคุรุบูชากันทั่วไปในวัด ประเทศจีน ญี่ปุ่น ธิเบต เกาหลีและเวียดนาม ที่สุดจนในประเทศเขมรและประเทศไทย สำหรับประเทศไทยแม้จะนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ ลัทธิสาวกยาน แต่ก่อนนั้นขึ้นไปเราก็เคยรับเอาลัทธิมหายาน มานับถืออยู่ระยะหนึ่งเป็นลัทธิมหายาน ซึ่งแพร่ขึ้นมาจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ และที่แพร่หลายมาจากเขมร ไทยเพิ่งจะเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ฝ่ายลังกาวงศ์ก็เมื่อยุคสุโขทัยนี้เท่านั้น
---อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งตั้งแว่นแคว้นอยู่บนคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่ พ.ศ.1200 – 1700 รวมเวลานานราว 600 ปี เป็นอาณาจักรที่เคารพนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และนำลัทธิมหายานให้แพร่หลายในหมู่เกาะชวา มลายู ตลอดขึ้นมาจนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเขมรนั้น ปรากฏว่ามีทั้งลัทธิมหายานและลัทธิพราหมณ์ เจริญแข่งกัน กษัตริย์ของเขมรหรือขอม ในสมัยนั้นบางองค์ ก็เป็นพุทธมามกะ บางองค์เป็นพราหมณ์มามกะ
---ในราว พ.ศ.1546 – 1592 กษัตริย์เขมรพระองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จนถึงกับเมื่อสวรรคตแล้ว มีพระนามว่า “พระบรมนิวารณบท” พระองค์เป็นเชื้อสายกษัตริย์จากอาณาจักรศรีวิชัย ฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า ลัทธิมหายานจะไม่เฟื่องฟุ้งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แต่ก็ยังมีกษัตริย์อีกพระองค์คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1724 – 1748 พระองค์ทรงเป็นมหายานพุทธมามกะ โดยแท้จริง ทรงพยายามจรรโลงลัทธิราช องค์สุดท้ายของเขมร เพราะเมื่อสิ้นพระรัชสมัยแล้ว เขมรก็เข้าสู่ยุคเสื่อม
---พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์นี้ ปรากฏว่าเป็นผู้สร้างเมืองใหม่ ชื่อ นครชัยศรี คือ ปราสาทพระขรรค์สำหรับเป็นพุทธสถานประดิษฐานพระปฏิมาอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อันเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณาที่สำคัญอย่างยิ่งองค์หนึ่งของลัทธิมหายาน ทรงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระเจ้าธรณินทรวรมันพระมหาชนก แล้วสร้างพระปราสาทตาพรหมประดิษฐานพระปฏิมาปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์แห่งปัญญา อุทิศแด่พระวรราชมารดา มีจารึกกล่าวว่า ปราสาทตาพรหม เป็นอาวาสสำหรับพระมหาเถระ 18 องค์และสำหรับพระภิกษุอีก 1,740 รูป ด้วยแล้ว ทรงสร้างพระปราสาทบายน เป็นที่ประดิษฐานพระรูป สนองพระองค์เอง นอกจากนี้ ปรากฏในศิลาจารึกตาพรหมว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างโรงพยาบาล คือ “อโรยศาลา” ทั่วพระราชอาณาจักรถึง 102 แห่ง ด้วยทรงเคารพนับถือพระพุทธไภษัชยคุรุยิ่งนัก จึงทรงพยายามอนุวัติตามพระพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
---นอกจากนั้น กษัตริย์นักก่อสร้างพระองค์นี้ ยังได้สร้างรูปพระปฏิมา “ชยพุทธมหานาถ” พระราชทานไปประดิษฐานไว้ในเมืองอื่น ๆ 23 แห่ง ทรงสร้างธรรมศาลา ขุดสระน้ำ สร้างถนน จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ข้าพเจ้าปราถนาจะกล่าวว่า พระกริ่งปทุมของเขมร ได้สร้างขึ้นอย่างแพร่หลายกว่าทุกยุค ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ เพื่ออุทิศบูชาแด่พระพุทธไภษัชยคุรุ และได้มีการสร้างบ้างแล้วในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ในการสร้างนั้นได้มีพิธีปลุกเสกประจุฤทธิ์เข้าไป ตามกระบวนลัทธิมหายาน ซึ่งปรากฏในพระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชามูลประณิธานสูตรนั้น พระกริ่งปทุมจึงมีฤทธานุภาพศักดิ์สิทธิ์
---ภายหลัง เมื่อลัทธิมหายานเสื่อมสูญ คติการสร้างพระกริ่ง ยังคงสืบทอดกันมาและกลับมาแพร่หลายในหมู่ชาวไทย ลาว แต่นานวันเข้าก็ลืมประวัติเดิม วิธีสร้างแบบเดิม ทั้งนี้ เพราะพระสูตรมหายาน เป็นภาษาสันกฤตเลือนไปตามลัทธิมหายาน ด้วยพระเกจิอาจารย์ ท่านได้ดัดแปลงวิธีสร้างใหม่ ตามแบบไสยเวท เช่น การลงยันต์ 108 และนะปถนัง 14 นะ ในแผ่นโลหะ เป็นต้น ก็ให้ผลความศักดิ์สิทธิ์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ถ้ามาตรว่าทำให้ถูกพิธีกรรมใหม่นี้จริง ๆ
---ส่วนเม็ดกริ่งในองค์พระนั้น สันนิษฐานได้เป็น 2 ทาง คือ ทางหนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธภาวะ อันมีคุณลักษณะ อนาทิเบื้องต้นไม่ปรากฏ จึงทำเป็นเม็ดกลม อีกทางหนึ่งชะรอยจะอนุวัติที่ว่าแม้เพียงได้สดับพระนามก็อาจให้ได้รับความสวัสดีได้ จึงใช้ประจุเม็ดกริ่งไว้ เพราะเมื่อสร้างองค์พระทุกครั้งจะได้บุญ 2 ต่อ คือสร้างเท่ากับได้เจริญภาวนาถึงพระไภษัชยคุรุ ส่วนผู้อื่นที่ได้ยินเสียงกริ่งก็พลอยได้บุญตามไป ฉะนั้น
---ส่วนพระกริ่งเขมร พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินเขมรเป็นผู้สร้าง ที่ได้ยินชื่อเรียกบ่อย ๆ “เรื่อง พระกริ่งปทุมนี้ ข้าพเจ้าได้ทูลถาม เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า พระกริ่งของพระองค์ที่สร้างครั้งก่อน ๆ เลียนแบบจากพระกริ่งของประเทศใด สมเด็จฯ รับสั่งว่า ได้แบบจากพระกริ่งปฐมวงศ์ เพราะเห็นพระกริ่งที่ท่านทรงสร้างก่อน ๆ นั้น พระนั่งปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้าย ถือวชิราวุธ ประทับบนบัวคว่ำบัวหงาย 7 กลีบ ด้านหลังของพระเกลี้ยงไม่มีกลีบบัว และก็ไม่ได้มีเครื่องหมายอะไร พระองค์ทรงสร้างกริ่งในตัวเนื้อโลหะเป็นทองชนิดเดียวกัน
---สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังมีพระชนม์มายุอยู่ เคยเสด็จมาคุยกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ สมัยเป็นพระพรหมมุนี บ่อย ๆ ครั้งเหมือนกัน ทราบว่า มาชมหลวงพ่อดำ (พระเชียงแสน) เจ้าคุณอาจารย์เล่าว่า พระบูชาที่หล่อในยุคนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นผู้แนะนำแบบพิมพ์ด้วยเหมือนกัน ของฉันหล่อ 2 องค์เลย
---อนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเที่ยวนี้ ได้ตั้งใจสืบสวนการเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า พระกริ่ง เป็นของที่นับถือและขวนขวายหากันในเมืองเราแต่ก่อน กล่าวกันว่า เป็นของพระเจ้าปทุมสุริวงศ์สร้างไว้ เพราะไปจากเมืองเขมรทั้งนั้น เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 พระอมรโมลี (นพ) วัดบุป้างราม ลงมาส่งพระมหาปานราชาคณะธรรมยุติ ในกรุงกัมพูชาองค์แรก ซึ่งต่อมา ได้เป็นสมเด็จสุคนธ์นั้น มาได้พระกริ่งขึ้นไปให้คุณตา (พระยาอัมภันตริกามาตย์) ท่านให้แก่เรา แต่ยังเป็นเด็กองค์หนึ่ง เมื่อเราบวชเป็นสามเณรได้นำไปถวายเสด็จฯ
---พระอุปัชฌาย์ ทอดพระเนตร ท่านตรัสว่า เป็นพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์นั้นมี 2 อย่าง สีดำอย่างหนึ่ง สีเหลืององค์ย่อมมากกว่าสีดำอย่างหนึ่ง แต่อย่างสีเหลืองนั้น เราไม่เคยเห็น ได้เห็นของผู้อื่นก็เป็นอย่างสีดำทั้งนั้น ต่อมาเมื่อเราอยู่กระทรวงมหาดไทย พระครูเมืองสุรินทร์เขามากรุงเทพฯ เอาพระกริ่งมาให้อีกองค์หนึ่ง ก็เป็นอย่างสีดำได้เทียบเคียงกันดูกับองค์ที่คุณตาให้ เห็นเหมือนกันไม่ผิดเลย จึงเข้าใจว่า พระกริ่งนั้น เดิมเห็นจะตีพิมพ์ทำทีละมาก ๆ และรูปสัณฐานเห็นว่า เป็นพระพุทธรูปอย่างจีน มาได้หลักฐานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยราชฑูตประเทศหนึ่ง เคยไปอยู่เมืองปักกิ่ง ได้พระกริ่งทอง ทางของจีนมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่ากันแต่พระพักตร์มิใช่พิมพ์เดียวกับพระกริ่ง
---พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ถึงกระนั้นก็เป็นหลักฐานว่า พระกริ่งเป็นของจีนคิดแบบตำราในลัทธิฝ่ายมหายาน เรียกว่า “ไภษัชยคุรุ”เป็นพระพุทธรูปปางทรงถือเครื่องยาบำบัดโรค ถือบาตรน้ำมนต์หรือผลสมอ เป็นต้น สำหรับบูชาเพื่อป้องกันสรรพโรคาพาธและอัปมงคลต่าง ๆ เพราะฉะนั้น พระกริ่งจึงเป็นพระสำหรับทำน้ำมนต์ เรามาเที่ยวนั้น ตั้งใจจะมาสืบหาหลักฐานว่า พระกริ่งนั้น หากันได้ที่ไหนในเมืองเขมร
---ครั้นมาถึงเมืองพนมเปญ พบพระเจ้า พระสงฆ์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ลองไต่ถามก็ไม่มีใครรู้เรื่อง หรือเคยพบเห็นพระกริ่ง มีออกญาจักรีคนเดียว เห็นบอกว่า สัก 20 ปี มาแล้วได้เคยเห็นองค์หนึ่ง เป็นของชาวบ้านนอก แต่ก็หาได้เอาใจใส่ไม่ ครั้นมาถึงนครวัด มาได้ความจริงจากเมอร์ซิเออร์มาร์ชาล ผู้จัดการรักษาโบราณสถานว่า เมื่อสัก 2 – 3 เดือนมาแล้ว เขาขุดซ่อมเทวสถาน ซึ่งแปลงเป็นวัดพระพุทธศาสนาบนยอดเขามาเก็บ พบพระพุทธรูปเล็ก ๆ อยู่ในหม้อใบหนึ่งหลายองค์ เอามาให้เราดู เป็นพระกริ่งสุริยวงศ์ทั้งนั้น มีทั้งอย่างเนื้อดำและเนื้อเหลือง ตรงกับที่สมเด็จพระอุปัชฌาย์ ทรงอธิบายจึงเป็นอันได้ความแน่ว่า พระกริ่งที่ได้ไปยังประเทศเราแต่ก่อนนั้น เป็นของหาได้ในกรุงกัมพูชาแน่ แต่จะนำมาจำหน่ายจากเมืองจีน หรือพวกขอมจะเอาแบบพระจีนมาหล่อขึ้นในประเทศขอม ข้อนี้ไม่ทราบได้ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้ก็เห็นชัดว่า พระกริ่งปทุมสุริยวงศ์ ใครเป็นผู้สร้างและแพร่หลายมาเมืองไทยเรามากพอควร
---สมเด็จฯ จะได้รับตำราการสร้างพระกริ่งมาจากผู้ใดนั้น ปรากฏหลักฐานตามหนังสือหลายเล่ม ได้สันนิษฐานไว้เป็นสองทาง คือ บางเล่มก็สันนิษฐานว่า ได้รับตำรามาจาก “พระพุฒาจารย์” (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส บางเล่มก็สันนิษฐานว่าได้รับตำรามาจาก “พระมงคลทิพย์มณี” (เทียบ) วัดพระเชตุพนฯ
---สมเด็จฯ ภายหลังจากที่ได้รับตำราการสร้างพระกริ่งมาแล้ว พระองค์ก็ทรงค้นคว้า มุ่งแสวงหาแร่ธาตุ ที่มีคุณมีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ มาทดลองหล่อผสม หาวิธีการที่จะทำเนื้อโลหะ ให้เกิดความบริสุทธิ์และมีฤทธิ์ สมดังคำบรรยายที่มีเขียนไว้ในตำรา และทรงค้นคว้าอย่างจริงจัง ดังปรากฏตามคำบอกของท่านเจ้าคุณราชวิสุทธาจารย์ (แป๊ะ) วัดสุทัศน์ฯ และอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร ว่า
---เมื่อคราวจัดงานพระศพ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ลงไปใต้ถุนตำหนัก เพื่อสำรวจสถานที่ ที่เตรียมจัดงานพระศพ ได้พบก้อนแร่หลายชนิด พบอ่างเคลือบประมาณ 10 กว่าใบ พบครกเหล็กขนาดใหญ่ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 นิ้วฟุต มีรอยตำมาอย่างมากจนก้นทะลุ พบสูบนอนทำด้วยไม้สัก แต่ผุจวนจะหมด แสดงว่าเลิกค้นคว้ามานาน พบเบ้าหลอมแร่ที่แตก ๆ จำนวนมากเป็นกองโต พร้อมกับก้อนแร่เป็นจำนวนมาก
---เป็นที่น่าเสียดายว่า ขณะนั้นเป็นการเวลาที่รีบเร่ง เพราะกำลังจัดงานพระศพ ประกอบกับการเสียใจในการจากไปของท่าน ทำให้ผู้ที่พบทั้งสองท่านไม่ได้คิดว่า จะอนุรักษ์ความเพียรพยายามของสมเด็จฯ ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังดู จึงได้ทำการเกลี่ยดินและกระทุ้งจนแน่น เทพื้นซีเมนต์ทับ ทำให้หลักฐานหมดไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อทรงพระชนม์อยู่ เคยรับสั่งกับอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร ขณะอุปสมบทว่า “ค้นหาแร่ธาตุที่นำมาสร้างพระกริ่ง ถ่านหมดไปหลายลำเรือ”เป็นความจริงตามหลักฐานปรากฏ และเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ทรงพยายามค้นคว้าอย่างจริงจัง ด้วยเจตนาที่ต้องการความเข้มขลัง
---ในศิลาจารึกของอาณาจักรขอม ได้จารึกไว้ว่า ประมาณ พ.ศ. 1725 – 1729 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามความเชื่อในศาสนาพุทธ โดยสร้างสถานพยาบาลเรียกว่า “อโรคยาศาลา” ขึ้นไว้ 102 แห่ง ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและบริเวณใกล้เคียงและยังกำหนดผู้ที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ พยาบาล เภสัช ผู้จดสถิติ ผู้ปรุงอาหาร รวม 92 คน รวมทั้งพิธีกรรมบวงสรวงพระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภา ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ด้วยการบูชายาและอาหาร ก่อนจ่ายให้แก่ผู้ป่วย ปัจจุบันมี “อโรคยาศาลา” ที่ยังเหลือปราสาทที่สมบูรณ์ที่สุด คือ ปราสาทกู่บ้านเขว้า จังหวัดมหาสารคาม.
....................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น