อานิสงส์การปฏิบัติธรรม
*บทนำ
---บทนำนี้มีเนื้อหาของอริยสัจ ๔ เช่นเดียวกับบทนำอื่น ๆ ของผู้เขียน.
---บทนำนี้ ผู้เขียนมุ่งหวังที่จะนำเสนอเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างย่อ เอาแต่ประเด็นสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตจริง ๆ.
---ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บทความมีความกระชับ สั้น ง่ายขึ้นกว่าที่เคยเขียน พร้อมทั้งเน้นเรื่องวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย.
---การนำเสนอเรื่องอริยสัจ ๔ ก่อนวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในสมัยพุทธกาล กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงอารัมภบทสั้น ๆ เสียก่อน เมื่อผู้ฟังมีศรัทธาแล้ว จึงตรัสสอน อริยสัจ ๔.
---การไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ มาก่อน แล้วลงมือฝึกปฏิบัติธรรม ก็อาจหลงทางได้โดยง่าย และบางท่านอาจหลงทางกันชั่วชีวิตเลยก็ได้.
---ในสมัยพุทธกาล เรื่องอริยสัจ ๔ และวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ง่าย สั้น เปิดเผย และไม่มีเงื่อนงำใด ๆ เพราะสมัยนั้น มีการสอนอริยสัจ ๔ อย่างตรงประเด็น.
---ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะนำเสนอให้ง่ายและตรงประเด็น เท่าที่จะสามารถทำได้.
---เพื่อให้ท่านสามารถนำไปฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้โดยง่าย และให้ผลดีอย่างรวดเร็ว คือ ทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสุขสงบ ไม่กังวล ไม่เครียด หลับสบาย หายจากความทุกข์ทั้งปวง ที่เกิดจากการคิดอกุศลในชีวิตปัจจุบันนี่เอง.
---เมื่อท่านบทความนี้แล้ว แต่ยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องของการฝึกปฏิบัติธรรม ผู้เขียนก็ยังมีตัวช่วยที่ประหยัด คือ CD-MP3 เรื่องแก่นธรรม (อริยสัจ ๔) สำหรับช่วยนำฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน.
---ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าหลงเชื่อผู้เขียน แต่ขอได้โปรดตั้งใจอ่านช้า ๆ อย่าอ่านอย่างรีบร้อน ทำความเข้าใจ พร้อมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง จากประสบการณ์ของตนเองในทุกขั้นตอน และทดลองฝึกปฏิบัติธรรม ตามที่นำเสนอเรียงตามลำดับ เพื่อพิสูจน์ว่า ท่านก็สามารถมีสติ ดูแลจิตใจของตนเอง ให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ในปัจจุบันขณะ ตามสัดส่วนของความเพียร.
----เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือ การทำจิตใจให้มีความบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง. ดังนั้น ถ้าท่านเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ พร้อมทั้งได้รับผลจากการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน คือ มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสได้บ้างแล้ว ก็ขอได้โปรดแนะนำให้ผู้อื่นศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสเช่นเดียวกัน.
---ผู้ใด ครอบครัวใด หน่วยงานใด สังคมใดที่ศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ย่อมมีความสุขสงบ มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตามวิถีทางของการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธนั่นเอง.
*สารบัญบท
* เกริ่นนำเรื่องแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา (อริยสัจ ๔)
* ความทุกข์ในอริยสัจ (ทุกข์)
* สาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔
* ความโลภ
* ความโกรธ
* ความหลง
* ความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ (นิโรธหรือนิพพาน)
* ภาวะนิพพานชั่วคราว
* วิธีฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘
* วิธีฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน
* ปัญหาต่าง ๆ ในขณะเจริญสมาธิ
* เรื่องของการเจริญสติ
* โอวาทปาฏิโมกข์
* วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน
* สติปัญญาทางโลกและทางธรรม
* วิธีฝึกเจริญสติเพื่อสำรวมความคิด
* เรื่องของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
* การประเมินผล สรุป และบันทึกท้ายบท
*พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
---พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทว่า "….ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูดนั้น ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น.
---เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผล เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ…." (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การกระทำทางกายและวาจา จะเป็นประโยชน์หรือโทษ ดีหรือชั่วนั้น อยู่ที่ความคิดนี่เอง.
---ดังนั้น การจะทำสิ่งใดและพูดอะไร จึงควรให้เวลาในการมีสติคิด อย่างละเอียดและรอบคอบหรือพิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อน เพื่อหยุดยั้งการกระทำทางกายและวาจาที่ไม่ถูกต้อง ให้เกิดกระทำที่ถูกต้อง อันจะก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่เป็นประโยชน์ และสร้างความเจริญต่าง ๆ.
---การมีสติคอยดูแลจิตใจไม่ให้คิดและไม่ให้ทำอกุศล ให้คิดและให้ทำแต่กุศล ย่อมทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นบุคคลที่ประเสริฐ (อริยบุคคล) ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์.
---พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นหลักธรรมที่คนไทย ทุกชาติและทุกศาสนา ควรนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อความผาสุข ความเจริญ และสันติภาพของชาวโลก.
*วิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ
---พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ และตรัสสอนอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยเรื่องของความทุกข์ (ทุกข์) สาเหตุของความทุกข์ (สมุทัย) ความดับทุกข์ (นิโรธหรือนิพพาน) และวิธีฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ (มรรค).
---อริยสัจ ๔ จึงเป็นแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาที่คนทั่วไปสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีความทุกข์ และมีความสุขสงบในปัจจุบัน.
---ผู้ที่เข้าใจเนื้อหาของอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนและจดจำไว้ได้ตามสมควร ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรมหรือเป็นชาวพุทธที่แท้จริง และเริ่มเข้าสู่กระแสของความดับทุกข์ (นิพพาน).
---ครั้นมีความรู้ในอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ดีตามสมควร ก็จะเป็นผลให้การศึกษาเล่าเรียน การปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณค่า ยุติธรรม มีความสุขสงบมากขึ้น เพราะจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสมากขึ้น.
*อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องง่ายและสั้น (เฉพาะบุคคล)
---ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสสอนอริยสัจ ๔ รวมทั้งวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันโดยใช้เวลาสั้น ๆ เพียงครั้งเดียวก็จบ เช่น ตรัสสอนในขณะประทับยืนบนถนน ริมทางเดิน ใต้ต้นไม้ เป็นต้น.
---การตรัสสอนโดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาของอริยสัจ ๔ นั้นมีไม่มากและไม่ยาก สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมทั้งหลายที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว เป็นของง่าย เปิดเผย ประกาศไว้ชัด ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ….” (พุทธธรรม หน้า ๖๖๒ ป.อ. ปยุตฺโต หรือพระไตรปิฎก CD ROM ฉบับสมาคมศิษย์เก่า มหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๒๘๘.
---สำหรับหนังสือพุทธธรรมที่อ้างอิงทุกตอนนั้น พิมพ์เป็นครั้งที่ ๘).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วหรือหลักธรรมที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นเรื่องที่เปิดเผยในสาธารณะ เพราะมีความชัดเจนในเนื้อหา ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ เลย เนื่องจากเป็นเรื่องที่สามารถใช้สติปัญญาตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ทุกเมื่อ หรือไม่จำกัดกาลเวลา โดยไม่ต้องหลงเชื่อ.
---ดังนั้น คนทั่วไปจึงสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้โดยง่าย.
---ก่อนที่จะลงมือฝึกปฏิบัติธรรม ท่านควรมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ เสียก่อน จึงจะสามารถฝึกปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น.
---ครั้นลงมือฝึกปฏิบัติธรรม ก็จะบรรลุภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสุขสงบเกิดขึ้นอย่างทันตาเห็น ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ใกล้ตัว แต่ที่ยากก็คือ ต้องมีความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันกันชั่วชีวิต.