ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์
---เจดีย์ที่สร้างขึ้นมาในพระพุทธศาสนา มีไว้เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยทั้งสิ้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท นั่นคือ
---1.พระธาตุเจดีย์
---คือ เจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระธาตุ เช่น พระธาตุพนม พระธาตุดอยสุเทพ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ฯลฯ
---2.พระธรรมเจดีย์
---มีผู้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้น จากการที่ทรงมีพุทธดำรัส ก่อนพุทธปรินิพพานว่า พระธรรมวินัย จักเป็นศาสดาแทนพระองค์ จึงเกิดมีการคิดจารึกพระธรรมลงบนวัตถุ แล้วนำมาบูชาแทนพระธรรม เช่น พระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ ฯลฯ
---3.บริโภคเจดีย์
---คือ สถานที่หรือสิ่งของทั้งหมด ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เช่น สังเวชนียสถานทั้งสี่, ต้นพระศรีมหาโพธิ์, พุทธบริขาร, รอยพระพุทธบาท ฯลฯ
---4.อุเทสิกเจดีย์
---คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย โดยไม่มีการกำหนดรูปแบบอย่างชัดเจน เช่น พระพุทธรูป พระผง พระเครื่อง พระพุทธบาท (จำลอง) ฯลฯ ทั้งนี้ รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุจำลองด้วย
*บุคคลที่สมควรสร้างสถูปไว้บูชา (ถูปารหบุคคล)
---การบูชาบุคคลที่ควรบูชา นั้นเป็นมงคลข้อหนึ่ง ในมงคลสูตร 38 ประการ
---การบูชา คือ การยกย่อง เลื่อมใส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เสแสร้งแกล้งทำ นั่นหมายถึง กิริยาอาการสุภาพ ที่แสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง ซึ่งการบูชาในทางปฏิบัตินั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี
---1.การบูชาด้วยสิ่งของ เรียกว่า "อามิสบูชา"
---2.การบูชาด้วยการตั้งใจปฏิบัติ ตามคำสอนหรือแบบอย่างที่ดีของท่าน เรียกว่า "ปฏิบัติบูชา"
---ซึ่งอย่างหลังนี้เอง เป็นการบูชาสูงสุด ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง
*บุคคลที่ควรบูชา
---คือ บุคคลที่มีคุณงามความดี ควรค่าแก่การระลึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม มีอยู่ด้วยกันจำนวนมาก เช่น พระพุทธเจ้า, พระสงฆ์, พ่อ, แม่ ฯลฯ อย่างไรก็ดีพระพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงบุคคลที่สมควรแก่การสร้างสถูปไว้บูชาไว้ เพียง 4 จำพวก ได้แก่
---1.พระพุทธเจ้า
---เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็น "ถูปารหบุคคล" จำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
---2.พระปัจเจกพุทธเจ้า
---เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงเป็น ถูปารหบุคคล จำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
---3.พระอรหันต์
( ในพระสูตรกล่าวเป็น "พระตถาคตสาวก" ซึ่งปกติ หมายถึง "พระอรหันต์" )
---เหตุที่พระสาวกของพระพุทธเจ้าทรงเป็น ถูปารหบุคคล จำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า
---เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระสาวก ของผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
---4.พระเจ้าจักรพรรดิ์
---เหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงเป็น ถูปารหบุคคล จำพวกหนึ่งนั้น ทรงมีพุทธาธิบายว่า
---เมื่อมหาชนยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี่เป็นสถูปของพระธรรมราชาผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
*ประวัติพระบรมพระสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ
---พระบรมสารีริกธาตุ และ พระอรหันตธาตุกับสถานที่ประดิษฐานอันสำคัญในประเทศไทย
---ลังกา อินเดีย แหล่งกำเนิดอารยธรรม อันเจริญรุ่งเรืองแต่เก่าก่อน ทั้งด้านการปกครอง ศาสนา พิธีกรรม มีการเผยแพร่สู่ถิ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะเมืองที่ผู้ปกครองหรือผู้นำที่เข้มแข็ง จะมีการสืบความรู้แขนงต่าง ๆ ที่รับมาจากลังกา และอินเดีย นำมาประยุกต์ใช้การสร้างเมือง ให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา มีพระมหาธาตุเจดีย์ตั้งอยู่กลางเมือง
---ตามคติธรรมราชา ราชาปกครองด้วยธรรมค้ำจุนพระศาสนา เป็นหลักชัยของบ้านเมือง นำศาสนาเป็นสื่อกลางความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ของกลุ่มชน เป็นอยู่กระจัดกระจาย เป็นก๊ก เป็นเหล่า
---พระบรมธาตุเจดีย์ พระมหาธาตุเจดีย์ ดำรงความเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ตามคตินิยมของชาวพุทธ การได้สักการะปูชนียวัตถุ, ปูชนียสถาน, ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธบาทจำลอง, พระพุทธรูปเจดีย์, รวมเรียกว่า "อุทเทสิกเจดีย์" ย่อมเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และยิ่งมีเรื่องราวสนับสนุนเป็นตำนาน พุทธประวัติ เกี่ยวเนื่องกับสถานที่นั้น ก็ยิ่งเป็นแรงเพิ่มศรัทธาเป็นเท่าทวีคูณ
---พระธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อ บรรจุอัฐิธาตุ ทั้งพระบรมสารีริกธาตุ, อรหันตธาตุ, แม้แต่ พระมหากษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์แล้ว ก็นำอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ โบราณได้แบ่งเจดีย์ออกเป็น ๔ อย่าง
---๑.ธาตุเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุต่าง ๆ
---๒.บริโภคเจดีย์ หมายถึง เจดีย์อันมีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เช่น สังเวชนียสถานทั้ง ๔ คือ สถานที่ประสูติ, ตรัสรู้, ประทานปฐมเทศนาและสถานที่ดับขันธ์ปรินิพพาน
---๓.พระธรรมเจดีย์ หมายถึง พระคัมภีร์ ซึ่งแสดงถึงหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหนังสือ หรือแผ่นจารึก แม้แต่คำจารึกพระธรรมทั้งหลาย บรรจุไว้ ณ. สถานที่ใด ที่นั้นก็ถือเป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย
---๔.อุทเทสิกเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่สร้างขึ้น อุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้า เป็นต้นว่า พระพุทธรูป พระพุทธบาทและ อาสนะ คือ สิ่งที่สร้างขึ้น แล้วอุทิศถวายพระพุทธเจ้า
---เจดีย์ มีมาก่อนพระพุทธกาล ต้นไม้ ภูเขา และป่า ตลอดจนสัตว์บางชนิด ก็ได้รับนับถือยกย่องให้เป็นเจดีย์ได้ อย่างนี้มีอยู่ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อ พระพุทธองค์ ทรงประกาศศาสนาในประเทศอินเดีย พระพุทธองค์ก็ยอมรับเจดีย์อันเป็นที่เคารพนับถือของหมู่ชนมาแต่เดิม
---ดังที่เห็นได้ในพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่อง "พระฉันทะ" โค่นต้นไม้ใหญ่ อันเป็นเจดีย์ของหมู่บ้านเพื่อสร้างวิหาร จึงเป็นเหตุ ให้ชาวบ้านติเตียน เมื่อพระพุทธองค์ทราบบัญญัติพระวินัยว่า "พระภิกษุสงฆ์ห้ามโค่นต้นไม้ใหญ่ อันเป็นที่นับถือของหมู่บ้าน"
---แต่คำว่า "เจดีย์" ที่เราเข้าใจในปัจจุบัน นั่นไม่ปรากฏว่า พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ ณ ที่แห่งใดเลย มีแต่ทรงตรัสถึง "ธูปารหะบุคคล" คือ บุคคลอันควรแก่สถูปเท่านั้น หน้าที่เจดีย์ ๔ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วนั้น น่าจะเป็นของที่เกิดขึ้นในครั้งหลัง
---แต่ต้องไม่นับถ้อยคำ กล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้อยคำว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล นั้น เป็นธรรมเจดีย์ ดังมีมาในธรรมเจติยสูตร
---"เจดีย์" ทุก ท่านจะนึกรู้ทันทีว่า หมายถึง สถาปัตยกรรม อันมิใช่ตัวอาคาร ที่จะเข้าไปอยู่อาศัยได้ เหมือนดังโบสถ์หรือวิหาร บางทีก็เรียกว่า "สถูปเจดีย์" หรือ "พระปรางค์" ก็ได้
---บรรดาเมืองหลวง หรือเมืองที่จัดอยู่ในระดับราชธานี ตามคติโบราณของไทย นับถือพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เมืองจะต้องมีวัดที่สำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ อยู่เป็นหลัก หรือเป็นประธานของเมืองนั้น ๆ จึงปรากฏชื่อ วัดมหาธาตุ อยู่เป็นหลักสำคัญของเมือง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังเป็นที่สถิตประทับอยู่ของพระมหาเถระที่ได้ ราชทินนามว่า "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ
---วัดมหาธาตุ จึงเป็นวัดที่แตกต่างจากวัดทั่วๆ ไป โดยจะมีพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างถวายตามความเชื่อ เพื่อเป็นประธานของเมือง นอกจาก วัดมหาธาตุแล้ว ยังมีสถานที่อื่น ๆ สร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่กันขึ้นทุกยุคทุกสมัย ตามศูนย์กลางความเจริญในแต่ละสถานที่นั้น ๆ
---อาทิ พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช, พระธาตุไชยา, พระธาตุพนม, พระธาตุหริภุญชัย ฯลฯ แต่ละสถานที่ ก็มีเรื่องเล่า ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ แต่ละจุดศูนย์กลาง เน้นไปที่พระบรมสารีริกธาตุ
---พระธาตุที่บรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์ ตามตำนานต่าง ๆ พื้นฐานจะมาจากที่แห่งเดียวกัน คือ มาจากชมพูทวีป ในประเทศอินเดีย แต่การให้ได้มาประดิษฐานยัง ณ สถานที่แห่งนั้น ๆ มักมีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ แตกต่างกันออกไป อย่างสลับซับซ้อน เพื่อสนับสนุนเพิ่มความศรัทธาเป็นเท่าทวีคูณ
*พระบรมธาตุตามตำนาน
---พระบรมธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์สาวกของ พระพุทธองค์ มีลักษณะแตกต่างกับอัฐิหรือกระดูกของปุถุชนคนธรรมดา โดยพระองค์ท่าน เป็นผู้ที่สำเร็จและปรินิพพานไปแล้ว จึงเป็นสิ่งควรเคารพบูชาอย่างสูงยิ่ง ทั้งยังเป็นอานิสงส์แก่ผู้กราบไหว้ เคารพบูชาให้สำเร็จประโยชน์และสุขสมบูรณ์ ผลานิสงส์นี้ จะปรากฏแต่เฉพาะ ผู้มีความเลื่อมใส กระทำการสักการะโดยสุจริต เท่านั้น
*พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในประเทศไทย
---พระบรมสารีริกธาตุที่ปรากฏในประเทศ
---ในเมืองไทย มีเรื่องเล่า การได้มาซึ่งพระธาตุมีปาฏิหาริย์แตกต่างกันออกไป แต่พื้นฐานก็มาจากประเทศอินเดีย
---จะยกตำนานเรื่องเล่า ของการได้มาซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นตำนานที่เล่าสืบทอดคู่กับพระเจดีย์นั้น สักแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธา มีมาแต่ครั้งโบราณ ก็จะได้ยกถึงประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช อันเป็นศูนย์กลางศาสนาวัฒนธรรมมาแต่โบราณ
*กล่าวตำนานพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
---เริ่มต้นจากประเทศอินเดียก่อน หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐาน ณ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทั้งบนสวรรค์ โลกมนุษย์ และบาดาล
---มาในสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงได้นิมนต์พระมหากัสสปะ ให้ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานในที่ต่าง ๆ รวบรวมมาไว้ที่กรุงราชคฤห์ ชมพูทวีป โดยให้ขุดหลุมฝัง แล้วทำพิธีกรรมผูกหุ่นพยนต์หรือหุ่นฟางหญ้า ปลุกเสกด้วยเวทมนต์ให้หุ่นพยนต์นี้ อารักษ์รักษาพระบรมสารีริกธาตุนี้ไว้
---ครั้นถึง พ.ศ. ๒๒๔ สมัยพญาอโศกราช แห่งนครอินทรปัตต์ ได้โปรดให้ขุดพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมัยพระเจ้าอชาตศัตรูฝังไว้ ขึ้นมาแจกจ่ายยังนครต่าง ๆ ๘๔,๐๐๐ แห่ง
---กษัตริย์สิงหราช เจ้าเมืองทนธบุรี (ท้าวโกสีหราช หรือ อังกุศราช) ได้รับพระทันตธาตุไปบูชา จึงเป็นเหตุให้กษัตริย์แห่งอื่น ๆ ยกทัพมา หวังจะแย่งชิง "พระทันตธาตุ" มิได้ขาด จนสุดท้ายเมืองนี้ถูกโจมตีจากกองทัพ ๕ เมือง
---กษัตริย์สิงหราช ทรงเห็นว่า ไม่สามารถรักษาพระทันตธาตุองค์นี้ไว้ได้ จึงรับสั่งให้พระราชธิดา คือ "พระนางเหมชาลา" และ พระราชโอรสนามว่า "เจ้าชายทนธกุมาร" ให้อัญเชิญพระทันตธาตุลงเรือไปถวาย พระเจ้ากรุงลังกา
---ระหว่างที่เดินทางเกิดพายุใหญ่ เรืออับปาง ขบวนเสด็จของพระนางและเจ้าชายถูกพัดมาขึ้นฝั่ง จึงได้ฝังพระทันตธาตุไว้ ณ ที่แห่งนั้น ระหว่างอยู่ที่หาดทรายแก้ว ได้ถูกท้าวนาคา ลอบมาลักพระทันตธาตุ ไว้ในนาคพิภพ หรือเมืองพญานาค
---พระมหาเถรพรหมเทพ ได้ช่วยพระนางชิงคืนกลับมา แล้วได้นำไปถวายถึงมือ เจ้ากรุงลังกา แต่ "พระเจ้าทศคามิมี" พระจ้ากรุงลังกา ได้ประทานพระทันตธาตุคืนให้พระนางทะนานหนึ่ง ส่วนหนึ่งนำกลับไปฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว แล้วเหลือกลับไปประดิษฐานคืนเมืองทนธบุรีดังเดิม
---ถึงยุค "พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช" อพยพพลเมืองหนีโรคห่า ไปถึงหาดทรายแก้ว เทพยดาแสดงปาฏิหาริย์ ดลใจให้พระองค์พบสถานที่ซ่อนพระทันตธาตุ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นมา แต่ไม่สำเร็จ ด้วยอิทธิฤทธิ์หุ่นพยนต์ที่ถูกผูกขึ้นไว้มารักษาพระธาตุ เป็นฝูงนกกาออกมาทำร้าย
---ต่อมาได้ "เจ้ากากภาษา" โอรสเจ้าเมืองโรมพิสัย อาสามาแก้อาถรรพณ์ให้ได้สำเร็จ แล้วสร้างพระเจดีย์ขึ้นบรรจุพระบรมธาตุ ตามตำนานกล่าวว่า พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๘๕๔ นี่คือเรื่องราวตำนานหนึ่ง ในหลายๆ ตำนานพระธาตุเจดีย์สำคัญของไทย เน้นปาฏิหาริย์ ดึงศรัทธาของกลุ่มคนพระธาตุในยุคปัจจุบัน
---โลกที่ไม่ว่างจากพระอรหันต์ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ทำการสักการะ พระพุทธรูปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง นอกจากจะมีพระพุทธรูปให้ได้ทำการสักการะแล้ว จะมีกระดูกของครูบาอาจารย์ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า "พระธาตุ" ให้ได้สักการะกัน โดยเฉพาะวัดหรือสถานที่ปฏิบัติธรรม ในสายพระป่า เช่น วัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา จะนำอัฐิของครูบาอาจารย์ พระป่าสายวิปัสสนาที่สำคัญๆ หลาย ๆ องค์ นำมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่สิงห์, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่พุธ
---อัฐิ หรือ กระดูก ท่านทั้งหลาย ปรากฏเกิดเป็นแก้วผลึกใส ที่เรียกว่า "พระธาตุ" น่าอัศจรรย์ พระธาตุท่านทั้งหลายเหล่านี้ ครูบาอาจารย์ในชั้นลูกศิษย์ถือได้ว่าเป็นพระธาตุที่มีค่ามาก เพราะเป็นพระธาตุที่เกิดขึ้นกับครูบาอาจารย์ของท่านเอง
---เมื่อท่านได้ละสังขารไปแล้ว หลังจากกระทำพิธีสามหาบ (การเก็บกระดูก หลังจากเผาเรียบร้อยแล้ว) ลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือ จะแบ่งไปเพื่อประดิษฐาน ยังสำนักปฏิบัติธรรมของตน จึงถือว่าเป็นพระธาตุที่เกิดขึ้นจริง มิใช่พระธาตุที่กล่าวขึ้นในตำนาน
พระธาตุเกิดขึ้นได้อย่างไร
---ครูบาอาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า เหตุ
---การเกิดพระธาตุเท่าที่พบเกิดขึ้นได้ ๓ เหตุ
---๑.เกิดจากอานิสงส์ ผลจากการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
---๒.เกิดจากพระผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ ทำให้เกิด
---๓.เกิดจากการอัญเชิญมาจากอากาศ
*๑.เกิดจากอานิสงส์การปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
---เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักปฏิบัติเท่านั้น ถึงจะเข้าใจ ผลการเกิดพระธาตุในลักษณะนี้ จะเกิดจากผลการปฏิบัติตามภูมิธรรม ยังภูมิของท่านนั้น ๆ มีภูมิธรรมที่บรรลุถึงจุดสูงสุด พระธาตุของท่านสัณฐานใสเป็นเพชร, เป็นแก้ว อัญมณี
---ครูบาอาจารย์ที่ท่านเริ่มจากการพิจารณาว่า คนเราเกิดจากการประชุมกันหรือการร่วมกันของธาตุ มีพื้นฐานจากธาตุ ๔ และธาตุ ๖ ธาตุ ๔ หมายถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเกิดเป็นร่างกาย, ร่วมกับธาตุ ๖ เพียงแต่เพิ่มอีก ๒ ธาตุ คือ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ทำให้เกิดชีวิต
---อากาศธาตุ เหมือนกันกับเครื่องยนต์กลไก เลือดลม ที่สูบฉีดเลี้ยงร่างกาย ร่วมกับวิญญาณธาตุ หรือธาตุรู้ นี่คือ การประชุมกันเพื่อให้เกิดร่างกายขึ้นมา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านได้เห็นในส่วนนี้นำมาพิจารณาโดยแยกกันเป็น ๒ ส่วน จิตกับกาย
---จิต มีธาตุรู้วิญญาณธาตุ อาศัยกายที่ประกอบจากธาตุ ๔ เป็นเครื่องพิจารณา จิตได้ความรู้จากกาย โดยท่านอาศัยข้อพิจารณาธรรมจากสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย, เวทนา, จิต, ธรรมกาย ท่านพิจารณาเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของร่างกาย ยึดไว้ก็เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เมื่อพิจารณาท่านก็ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่น
---เวทนา ท่านพิจารณาความสุข, ความทุกข์, ความไม่สุข, ไม่ทุกข์ (ที่ไม่ใช่อุเบกขา) จิตของเราความรู้สึกดีชั่ว, ธรรม, กิเลส, กิเลสไม่เกิดขึ้นได้ ส่วนดี ส่วนที่เสีย ก็ดับไป
---เมื่อจิตใจท่านขัดเกลา โลภะ, โมหะ, โทสะ, หรือเรียกว่า ฟัดกับกิเลส จิตใจ สะอาดขึ้น ละเอียดขึ้น จากผิวหนังไปถึงใต้ผิวหนัง ถึงเนื้อจนถึงกระดูก ธาตุขันธ์จะสะอาด เป็นอานิสงส์ ร่างกายได้รับอานิสงส์ เริ่มสู่ความเป็นอริยบุคคล เข้าสู่ชั้นโสดาบัน
---เมื่อภูมิธรรมการปฏิบัติของท่านนั้น ๆ สูงขั้นตามธาตุขันธ์ ร่างกายยิ่งสะอาด ปฏิบัติขัดเกลาลดน้อยลง เหลือแต่สิ่งที่ดี จนถึงขั้นไกลจากกิเลส วรรณะ ความสดใสของกาย เหมือนดั่งทองคำ
---เคยมีครั้งหนึ่งเป็นเรื่องที่เล่าว่า "หลวงพ่อปาน" วัดบางนมโค จ.อยุธยา ท่านกล่าวว่า "หลวงพ่อเนียม" วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี ท่านจะมีวรรณะ ผิวพรรณที่ผ่องใส ในตามีความสุกสกาวเหมือนท้องฟ้า มีใบหน้า ยิ้มแย้ม แสดงถึงความร่มเย็น ที่มาจากผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด
---เมื่อท่านเหล่านั้น ได้ละสังขารไป อัฐิของท่านอัศจรรย์เป็นพระธาตุ เหมือนกับอัญมณีสดใส บางองค์ อัฐิธาตุของท่าน เกิดเป็นพระธาตุขึ้นเลยทันที บางองค์หลังจากนั้นไม่นาน อัฐิธาตุของท่านก็ค่อย ๆ แปรสภาพเป็นพระธาตุไปตามกาลเวลา ส่วนใหญ่ พบเห็นมากในพระวิปัสสนาจารย์สายพระป่า
---บางองค์สังขารของท่านเป็นพระธาตุ ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้มรณภาพไป อย่างเช่น "หลวงปู่เขียว" วัดหรงบน จ.นครศรีธรรมราช ท่านถอนฟันและให้ลูกศิษย์เก็บไว้ ต่อมาฟันนี้ได้เกิดเป็นพระธาตุแก้วผลึกใส
---"หลวงปู่แหวน"วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ท่านเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล พยาบาลท่านหนึ่งเก็บชิ้นส่วนกระดูกอ่อนที่หลังจากผ่าตัดเอาไว้ ปรากฏว่าชิ้นกระดูกนั้น กลายเป็นผลึกแก้วใส หรือพระธาตุนั่นเอง ยังความศรัทธาอย่างสูงของชาวเชียงใหม่ "หลวงปู่เจี๊ยะ" เคยได้รับฟันของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต่อมาฟันนั้น ก็กลายเป็นผลึกแก้วใสเหมือนกัน
---ฉะนั้นแล้ว เหตุที่เกิดจากอานิสงส์ ผลการปฏิบัติธรรมอันยิ่งยวด จนร่างกายเป็นพระธาตุ ส่วนใหญ่จะปรากฏขึ้นในนักปฏิบัติ แต่มิใช่หมายถึงแต่พระสงฆ์เท่านั้น ยังเกิดขึ้นกับปุถุชนคนทั่วไปได้ แต่ต้องเป็นนักปฏิบัติธรรม
*ถึงแม้เกิดเป็นผู้หญิงเอง ก็อาจได้รับอานิสงส์แบบนี้
---เหมือนกับท่าน อุบาสิกา"บุญเรือน" วัดอาวุธฯ บางพลัด ท่านก็สำเร็จภูมิธรรมชั้นสูง มีอัฐิกลายเป็นพระธาตุ ฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนาให้เกิดผลสูงสุด จึงไม่มีความเกี่ยวข้องในการแบ่งชนชั้น วรรณะ หรือเพศชายหญิงเลย
*๒.เกิดจากพระผู้มีคุณธรรมอันวิเศษ
---ทำให้เกิดพื้นฐาน ก็มาจากอย่างแรกต้องบรรลุภูมิธรรมชั้นสูง นอกจากสังขารของท่าน บังเกิดเป็น พระธาตุแล้ว ยังให้สิ่งอื่น ๆ เกิดเป็นพระธาตุได้ จิตตานุภาพ อย่างเช่น "หลวงปู่เขียน" วัดหรงบน ท่านฉันภัตตาหารเกิดก้างปลาติดฟัน และท่านได้นำก้างปลาที่ติดฟันออก แล้วให้ลูกศิษย์เก็บก้างปลาไว้
---ซึ่งต่อมาก้างปลาชิ้นนี้ กลายเป็นพระธาตุผลึกแก้วใส "หลวงปู่ดู่" วัดสะแก จ.อยุธยา ท่านชอบสร้าง พระเนื้อผงสีขาว แต่ทำไม พระเครื่องท่านจึงขึ้นพระธาตุได้ พระธาตุที่ขึ้นกับพระเครื่องหลวงปู่ดู่ จะขึ้นเป็นเกล็ดใส ๆ แวววาว คล้าย ๆ ผลึกน้ำแข็ง
---ซึ่งพระของท่านก็เป็นเนื้อผงสีขาว ๆ คล้ายชอล์ก ไม่มีส่วนผสมอื่น ๆ ที่แปลกไปกว่านั้น ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีได้ แต่พระท่านก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นพระธาตุได้ แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของพระของท่าน ที่ขึ้นพระธาตุ ส่วนใหญ่จะเป็นนักปฏิบัติธรรม อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของจิตตานุภาพเหมือนกัน
---เป็นเรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่า พระผู้มีกายสะอาด ขั้นถึงเป็นพระธาตุ ขี้หรืออุจจาระ ท่านจะหอม หรืออุจจาระท่านจะไม่มีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจเหมือนคนทั่ว ๆ ไป เพราะการบริโภคอาหารของท่าน เมื่อสังขารของท่านสะอาด การบริโภคอาหารผ่านร่างกายของท่านที่สะอาด ผ่องใส กากอาหารที่ผ่านร่างกาย นั่นจะเป็นกากอาหารที่ไม่มีกลิ่นสกปรก น่ารังเกียจเหมือนปุถุชนคนทั่วไป
---อย่างเช่น "หลวงปู่สี" วัดถ้ำเขาบุญนาค จ.นครสวรรค์ ขี้ท่านหอม อาจจะด้วยสังขาร อายุเกิน ๑๐๐ ปี การขบฉันจึงไม่เต็มที่เหมือนคนทั่วไป
*๓.เกิดจากการอัญเชิญมาจากอากาศ
---โบราณมีความเชื่อว่า พระธาตุท่านจะเสด็จมาได้ตามอากาศ โดยท่านมาจากพระธาตุ ในส่วนที่ตกเรี่ยราด ผู้รักษาเกศาไว้ไม่ดี รักษาไม่สะอาด จนเขากล่าวไว้ว่า พระธาตุเมื่อรักษาดี ท่านจะเสด็จมาและเพิ่มได้ ถ้ารักษาไว้ไม่ดี ท่านก็จะค่อย ๆ หายไป
---เรื่องนี้มีข้อพิสูจน์ได้ จากหลาย ๆ ท่าน ได้พิสูจน์มาแล้วว่า พระธาตุเสด็จมาเองโดยผู้ที่ศรัทธาผู้นั้น เตรียมอัญเชิญพระธาตุ โดยวิธีการเตรียมผอบ ปูด้วยผ้าขาว ดอกไม้หอม ตั้งไว้ในที่สะอาด สวดมนต์ ภาวนาอัญเชิญพระธาตุด้วยบท อิติปิโสเรือนเตี้ย ถือศีลภาวนา แล้วพระธาตุจะเสด็จมาเอง
---แต่ทั้งนี้ ผู้นั้นต้องศรัทธาอย่างแน่วแน่และแท้จริง เรื่องนี้ได้มีการพิสูจน์มาแล้ว สมัย "หลวงปู่ลี" วัดอโศการาม จ. สมุทรปราการ ท่านได้อัญเชิญโดยวิธีนี้ ปรากฏว่า อัญเชิญอาราธนาสำเร็จ พระธาตุเสด็จมาได้จริง ๆ ท่านจึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ เพื่อประดิษฐานพระธาตุองค์นี้ ให้ได้สักการะดังที่เห็นในปัจจุบัน
---ชาวพุทธนับถือพระธาตุสูงสุด สร้างเจดีย์ก็จะบรรจุพระธาตุไว้บนยอด นิยมนำของที่มีค่าและวิจิตรอลังการ ถวายเป็นเครื่องบูชา ดั่งที่ดูได้จากพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดแสดงสิ่งของที่นำมาบูชาพระบรมธาตุ ตั้งแต่ครั้งในอดีต
---อาทิ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง, มงคลวัตถุและเครื่องรางของขลัง, เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน, เครื่องประดับอันมีค่า, ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ, เครื่องเงิน, เครื่องทองรูปพรรณ, เครื่องถม, ตลอดจนสิ่งของที่แปลกผิดธรรมชาติ ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนได้อย่างดี
---ถึงแม้ในปัจจุบันการบูชาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย แทนที่จะสรรหาหรือจัดทำสิ่งของนำมาถวาย มักใช้ถวายด้วยเงินบำรุงแทน ดูไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต ตามความเชื่อที่ว่า "พระธาตุ" หมายถึง สิ่ง แทนความศักดิ์สิทธิ์อันสูงสุด แม้บรรจุไว้ในเจดีย์ยังต้องไว้ที่บนยอดสุด จึงไม่มีใครนิยมนำติดตัวไว้เหมือนพระเครื่อง เพราะคนเราอาจจะ เข้าไปในสถานที่ที่สกปรก ที่ไม่สมควร หรือที่อโคจร จะเกิดกรรมแก่ทั้งตัวเอง และผู้อื่น
---เช่น ใส่พระธาตุไปลอดราวผ้า หรือไปลอดในสถานที่ ที่มีผู้อื่นอยู่สูงกว่า เท่ากับว่าเรานำพระธาตุไปลอดใต้สถานที่นั้น ๆ นอกจาก เกิดกรรมแก่เราแล้ว บุคคลอื่น ๆ ที่อยู่สูงกว่า พาต้องรับกรรมไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือเรื่องของความเชื่อใน "พระธาตุ" มาแต่โบราณ
*อนาคตของพระบรมธาตุ
---เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปจนถึง พ.ศ. ๕๐๐๐ พระบรมธาตุทั้งหลายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จไปสู่ที่พระเจดีย์ฐาน ณ เกาะลังกา และดำรงคงอยู่ตลอด เพื่อจะทรงสงเคราะห์ชาวสิงหฬ ให้เกิด สวัสดิมงคล ด้วยการกระทำพิธีสักการะบูชาพระคุณพระองค์ท่าน ก่อนพระพุทธศาสนาใกล้จะสูญสิ้นไป
---ครั้นถึง พ.ศ. ๔๙๙๙ และล่วงได้ ๑๑ เดือน กับ ๒๒ วัน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ เป็นเวลาคิมหันต์ฤดู ปีชวด นักษัตรอัฐศก เวลารุ่งอรุณ พระบรมธาตุทุกพระองค์ จะเสด็จไปยังสถานที่ประชุมทันที แล้วทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์
---ด้วยพุทธฤทธิ์อันวิเศษ บังเกิดเป็นพระพุทธนิเวศน์ และพระวรกายสูง ๑๘ ศอก เปล่งรัศมีอก ๖ ประการ มีพระบวรสัณฐานงดงามยิ่งนัก ดวงพระพักตร์ผุดผ่อง ดังสีสุวรรณ พระรูปองค์เสด็จขึ้นประทับบนบัลลังก์ในควงต้นพระศรีมหาโพธิ์
---ทรงพระสมาธิและกระทำยมกปาฏิหาริย์ โปรดสัตว์ คนธรรพ์ เทวดา ฤาษี กินนร นาคราช ทั้งอสูรพร้อมหน้า นั่งแน่นเหนือแผ่นดิน พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนา โปรดสัตว์อยู่ ๗ วัน มีผู้ฟังในครั้งนั้น ถึงสี่อสงไขย สองล้านสามแสนหกสิบเจ็ดพันโกฏิ แล้วพระเพลิงก็พวยพุ่งขึ้นเผาพลาญพระรูปองค์ให้หมดสิ้นไป ในวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด นักษัตร อัฐศก พระพุทธศาสนาก็สิ้นสุดลงเพียง ๕๐๐๐ ปีเต็ม...
*พระบรมสารีริกธาตุ
---เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จสู่พระปรินิพพานแล้ว มีพระพุทธสรีรธาตุเหลืออยู่ ๗ องค์ คือ.
*๑.พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ๒ องค์ คือ
---พระรากขวัญเบื้องซ้าย ๑ องค์
---พระรากขวัญเบื้องขวา ๑ องค์
*๒.พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทันตธาตุ ๔ องค์
---พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน ๑ องค์ ล่าง ๑ องค์
---พระเขี้ยวแก้วขวาบน ๑ องค์ ล่าง ๑ องค์
*๓.พระอุณหิส หรือ พระนลาฏอุณหิส ๑ องค์
---พระพุทธสรีรธาตุ ทั้ง ๗ องค์นี้ คงสภาพเดิม เมื่อพระเพลิงเผาก็ไม่เปลี่ยนแปลง และได้ถูกอัญเชิญเสด็จไปประดิษฐาน เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของเทพยดา และมนุษย์ในที่ต่าง ๆ กัน คือ
---พระรากขวัญเบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่ ณ เทวโลก
---พระรากขวัญเบื้องขวา และ พระอุณหิส ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหฬ
---พระเขี้ยวแก้วซ้ายบน ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราช
---พระเขี้ยวแก้วซ้ายล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนาคพิภพ
---พระเขี้ยวแก้วขวาบน ประดิษฐานอยู่ ณ ดาวดึงส์เทวโลก
---พระเขี้ยวแก้วขวาล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เกาะลังกาสิงหฬ
*พระบรมสารีริกธาตุ
---เมื่ออัฐิน้อยใหญ่ ทั้งหลายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นพระสรีรธาตุทั้ง ๗ องค์ ถูกพระเพลิงเผาไหม้ ได้แหลกละเอียดลงเหลือเป็น "พระบรมสารีริกธาตุ" ซึ่งตักตวงได้ ๑๖ ทะนาน มี ๓ ขนาด คือ
---๑.ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีจำนวน ๖ ทะนาน มีวรรณะดังสีดอกพิกุล
---๒.ขนาดกลาง เท่าเมล็ดข้าวสารหัก มีจำนวน ๕ ทะนาน มีวรรณะดังสีแก้วผลึก
---๓.ขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วหัก มีจำนวน ๕ ทะนาน มีวรรณะดังสีทองอุไร
----พระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๑๖ ทะนานนี้ ประดิษฐานอยู่บนพื้นพิภพที่มีอยู่มาก ๘ แห่งคือ
---๑.เมืองราชคฤห์
---๒.เมืองเวสาลี
---๓.เมืองกบิลพัสดุ์
---๔.เมืองอัลปัปปะบุรี
---๕.บ้านพรหมณนิคม
---๖.เมืองเทวทหะราฐ
---๗.เมืองปาวาขะบุรี
---๘.เมืองนครกุสินารา
---นอกจากพระพุทธสรีรธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ที่กล่าวแล้ว ยังมีพระเกศา, โลมา, นขา, ทันตา, ทั้งหลายของพระองค์ท่าน เรี่ยรายประดิษฐานอยู่ทุกทิศทั่วทั้งจักรวาล
*กำเนิดพระธาตุ
---เมื่อได้ทราบถึงประวัติ ตั้งแต่ต้นของพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ากันแล้ว ต่อไปน่าจะกล่าวถึง พระอรหันตธาตุหรือพระธาตุพระสาวกของพระพุทธองค์ เมื่อถึงซึ่งพระปรินิพพานไปแล้วมีอยู่ ๘๐ องค์ เรียกว่า "พระอสีติมหาสาวก"
---ตามตำนาน พระอัฐิธาตุหรือพระธาตุอรหันต์ มีเหลืออยู่และประดิษฐานในที่ต่างกัน เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะบูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ ตามความเชื่อพระธาตุของพระอรหันต์แต่ละองค์ จะมีสัณฐานและวรรณแตกต่างกัน
---พระธาตุพระสารีบุตร สัณฐาน กลม รี เป็นไข่จิ้งจก เป็นดังรูปบาตรคว่ำ วรรณะ ขาวดังสีสังข์ เหลืองดังหวายตะค้า สีดอกพิกุลแห้ง
---พระธาตุพระโมคคัลลานะ สัณฐาน กลม รี เป็นผลมะตูม รีเป็นเมล็ดทองหลาง รีเป็นเมล็ดข้าวสาร วรรณะ ดำ ขาว เหลือง ดังหวายตะค้า
---พระธาตุพระสีวลี สัณฐาน เป็นดังเมล็ดในพุทรา เป็นดังผลยอป่า เป็นดังเมล็ดมะละกอวรรณะ เขียวดังดอกผักตบ แดงดังสีหม้อใหม่ เหลืองดังหวายตะค้า ขาวดังสีสังข์ สีดอกพิกุลแห้ง
---พระธาตุพระองคุลิมาละ สัณฐาน คอดดังคอสากที่มีรูปโปร่ง ตลอดเส้นผลลอดได้ก็มีวรรณะ ขาวดังสีสังข์ เหลืองดังดอกจำปา สีฟ้าหมอก
---พระธาตุพระอัญญาโกณฑัญญะ สัณฐาน งอนช้อยดังงาช้างวรรณะ ขาวดังดอกมะลิตูม เหลือง ดำ
---ที่กล่าวมาทั้ง ๕ องค์ใน ๘๐ องค์ ตำนานได้กล่าวแยกแยะ จากสัณฐานและวรรณะขององค์พระธาตุ โดยแตกต่างจากพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีสัณฐานคล้ายเมล็ดข้าวสารหัก วรรณะดังสีแก้วผลึก แตกต่างจากพระอรหันตธาตุ ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ตำนานได้กล่าวไว้
---ท่านทั้งหลาย ที่เคยไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ หลายแห่ง จะกล่าวถึงสถานที่นี้ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ท่านได้สักการบูชา ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้น เป็นพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
---อาศัยโบราณจารย์ท่านอุปมาตามสัณฐานและวรรณะที่ตำนานได้กล่าวไว้ ถ้าต้องตามลักษณะสัณฐานและวรรณะ จึงยึดถือพระบรมสารีริกธาตุตามความเชื่อนั้น.
....................................................................................
หนังสืออ้างอิง
คงเดช ประพัฒน์ทอง,โบราณคดีประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ
กรมศิลปากร ๒๕๒๙ สำนักพิมพ์สารคดี, นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ :๒๕๓๗
พล.อ.จ.สดับ ธีระบุตร, พระบรมธาตุพระธาตุอรหันตสาวก. กรุงเทพฯ:๒๕๐๑
--------------------------------------
คัดลอกจาก: ภควา ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖
ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 สิงหาคม 2558
ความคิดเห็น