/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

เบี้ยแก้

เบี้ยแก้

"เบี้ยแก้" อิทธิคุณและการใช้อย่างถูกต้อง








---ข้ออธิบายต่อไปนี้ คัดลอกจากต้นฉบับเดิมของวัดกลางบางแก้ว


---เพื่อให้ท่านที่มีเบี้ยแก้ ได้ทราบถึงอิทธิคุณและการใช้อย่างถูกต้อง อันจะบังเกิดผลดีแก่ผู้ใช้



---เบี้ยแก้ คือ เครื่องรางชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอุปเท่ห์การใช้มากมายหลายอย่าง ทั้งกันและแก้สิ่งชั่วร้ายเสนียดจัญไร คุณไสย คุณคน คุณผี บาเบื่อ ยาเมา ทั้งหลาย คณาจารย์ยุคเก่าที่สร้างเครื่องรางประเภทเบี้ยแก้เอาไว้ มีด้วยกันหลายรูป แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เห็นจะมีอยู่เพียง ๒ รูปคือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และหลวงปู่รอด วัดนายโรง



---นอกนั้น ก็มีชื่อเสียงอยู่เฉพาะพื้นที่ เช่น หลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง , หลวงพ่อม่วง, หลวงพ่อทัต, หลวงพ่อพลอย วัดคฤหบดี บางยี่ขัน, หลวงพ่อแขก วัดบางบำหรุ, หลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ, หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จ.อ่างทอง และมีอาจารย์อื่นอีกที่สร้างได้แต่ไม่แพร่หลาย

*วิธีการสร้างเบี้ยแก้


---เมื่อหาตัวเบี้ยมาได้แล้ว (เบี้ยพวกนี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรา สมัยก่อนต้องหาซื้อตามร้านเครื่องยาจีน เข้าใจว่าเบี้ยที่นำมาใช้นี้ จะถูกนำเข้ามาพร้อมกับสินค้าจากประเทศจีนในอดีต..)คณาจารย์ผู้สร้าง ก็บรรจุปรอทที่ปลุกเสกแล้วเข้าไปในตัวเบี้ย แล้วหาวิธีอุด มิให้ปรอทไหลออกมาได้ (ปรอทที่ใช้นี้เป็นปรอท หรือปรอทดินโบราณ มีวิธีการจับปรอทโดยนำไข่เน่าไปทิ้งไว้ในน้ำครำ ไม่ช้าปรอทจะกินไข่เน่าจนเต็ม) ปรอทมีคุณสมบัติเป็นของเหลว ลื่นไหล การจะนำปรอทมาบรรจุเบี้ยแก้ คณาจารย์ผู้สร้างจำต้องมีพระเวทเข้มขลัง เพราะต้องใช้พระเวทฆ่าปรอทหรือบังคับให้ปรอทรวมตัวกันอยู่ในเบี้ยบางราย ถึงกับบริกรรมพระเวทเรียกปรอทเข้าในตัวเบี้ยได้เอง


---การปิดปากเบี้ยเพื่อกันไม่ให้ปรอทไหลออกมาได้นั้น นิยมเอาชันโรงใต้ดิน ที่ปลุกเสกแล้ว มาอุดใต้ท้องเบี้ยให้สนิทเรียบร้อย แล้วจึงหุ้มด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้าแดง แผ่นตะกั่วแผ่นทองแดง วัสดุที่ใช้หุ้มหรือปิดนี้ ก็ต้องลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกกำกับด้วย เช่น เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จะมีลวดทองแดงขดเป็นห่วง ๓ ห่วง เพื่อให้ใช้เชือกคล้องคาดเอว เบี้ยแก้ที่ผ่านการบรรจุปรอท จนกระทั่งถักหุ้มเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนกรรมวิธี เพราะคณาจารย์เจ้าผู้สร้าง ท่านต้องปลุกเสกกำกับอีก จนมั่นใจว่าใช้ได้จริงๆ แล้วเล่ากันว่า คณาจารย์บางรูปและสามารถปลุกเสกเบี้ยแก้จนตัวเบี้ยคลานได้เหมือนหอย

---ป้องกันอัตวิบากกรรม แก้ภาพหลอน จิตหลอน ภาพอุปทาน แก้อำนาจภูผีปีศาจ อาถรรพณ์เวท ทำให้มัวเมา ขลาดกลัว ขนพองสยองเกล้า ลมเพลมพัด คุณไสย คุณผี คุณคนทั้งปวง อุบาทวเหตุ อุบาทวภัยทั้งปวง มัวเมายาพิษ ยาสั่งทั้งหลาย ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข่ผีป่า ผีโป่ง ผีปอบ ต้องกระทำจากภูตผี ผีพราย ผีตายโหง กองกอยวิกลจริต จิตวิกลวิกาล วิญญาณ อุปาทานวิกลเหมือนผีเข้าเจ้าสิงสู่ปราศจากสิ้นแล


---ให้อธิษฐานเอาน้ำมนต์ เอาดอกพุทธรักษาดอกไม้ ดอกเข็มแดงหลากสี ตั้งขันธูปเทียน ขันห้า ข้าวตอก ดอกไม้แก้บาทวพิษ บาทยัก อัมพาต บาดแผล ฝีมะเร็ง ฝีคุณ หัวพิษ หัวกาฬ ทรางชัก รางขนพอง สันนิบาตลูกหมา ลูกนก หลังแอ่น คางแข็ง บ้าหมู ภายนอกภายใน อาบกินด้วย ตั้งจิตหน่วงลง ในคุณพระศรีรัตนตรัย ใช้ได้แล


---เมื่อเข้าศึกสงคราม ให้เอาไว้ด้านหน้าสารพัดศัตรู บีทาย่ำรุกไล่ ให้เอาไว้ด้านหลัง หาเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  เจ้าขุนมูลนาย ให้เอาไว้ด้านข้างขวา เมื่อหาหญิง หานางพญาไว้ข้างซ้าย สารพัดศาสตรามิต้องข้างกายเลย  ดุจฝนเสนห่า ข้าวปลาอาหารเป็นพิษ คางแข็ง เคี้ยวไม่กลืนเลยแล


---ปลิงก็ดี ทากร้ายก็ดี มีในป่ามืด ในน้ำห้วยหนอง คลองบึง มันไม่เกาะกินเลือด ทั้งวัว ทั้งควาย ช้างม้า ก็ดีแล แก้งูพิษ เขี้ยวขนอน แมวเซา เห่าแก้วก็ดี มิต้องกายมาขบกัดเลยแล


---เบี้ยแก้ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับ ทั้งอิทธิฤทธิ์และคุณค่า ในการเสาะแสวงหานั้น มีมากมาย แต่ที่นำมาเสนอในเล่มนี้ ล้วนเป็นเบี้ยแก้ของคณาจารย์ผู้ทรงคุณ สร้างเสกเบี้ยแก้ให้เรืองอานุภาพ เป็นที่ศรัทธาประจักษ์ต่อศักดาและพลานุภาพแห่งการปกป้อง แก้ไข สิ่งเลวร้าย มิให้กล้ำกลายฉมังนัก จนเป็นที่ใฝ่หาของผู้ศรัทธาสะสม



---เบี้ยแก้ สูตรวัดกลางบางแก้ว (ของหลวงพ่อเจือ) ถ้าอยากได้ ต้องไปขอบูชาที่ กุฎิหลวงพ่อโดยตรง รับกับมือหลวงพ่อ เพราะได้ข่าวว่า มีบุคคลภายนอก ทำการตีเบี้ยเอง ถักเชือกเอง ลงรักเอง ตอกโค๊ดเอง เหมือนของหลวงพ่อไม่ผิด โปรดระวัง


---หลวงปู่เจือ ท่านสืบสานกันมาตามตำราโดยตลอด นับจากหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม วัสดุสำคัญที่ใช้ในการทำเบี้ยแก้ ก็คือ เบี้ยแก้ขนาดกำลังพอดี สำหรับการกรอกปรอทให้ครบน้ำหนัก หนึ่งบาท ชันโรงสำหรับอุดปากเบี้ย แผ่นตะกั่วสำหรับตีปิดหุ้มตัวเบี้ย แล้วก็ปรอทที่ใช้ในการกรอกใส่ตัวเบี้ยครับผม ในภาพคือ ขั้นตอนที่หลวงปู่ท่านกรอกปรอทพร้อมบริกรรมคาถา


---เมื่อตีตะกั่วหุ้มเบี้ยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอาเบี้ยทั้งหมดใส่ถาด มาให้หลวงปู่จารอักขระและเสกอีกครั้ง ก่อนห่อเบี้ยด้วยผ้าและส่งให้คนถักด้ายและติดห่วงและลงรักเป็นขั้นตอนสุดท้ายครับผม 


*มีคนโบราณเขียนถึงสรรพคุณของเบี้ยแก้ไว้ว่า...


---เบี้ยแก้ตัวนี้สำคัญนัก พ่อค้าแม่ขายจักหมั่นไหว้บูชา จะไต่เต้าเจ้าสัวแสนทะนาน ลาภเต็มห้อง ทองเต็มไห ขุนนางใดมีไว้ในตัว ดีนักแล จะให้คุณเป็นถึงท้าวเจ้าพระยา พานทอง...



---เบี้ยแก้ เป็นเครื่องรางอย่างหนึ่งของไทย ที่คุ้นหูในสมัยก่อน แต่สมัยนี้ ไม่ค่อยมีคนรู้จักกันแล้ว เกจิอาจารย์ท่านสร้างจากการบรรจุปรอท ที่ปลุกเสกแล้ว เข้าไว้ในตัวเบี้ยจั่น แล้วหาวิธีอุดไว้ ไม่ให้ปรอทหนีออกมาข้างนอก



---เวลาเขย่า จะได้ยินเสียงปรอทกระฉอกไปมาเสียงดังขลุกๆ ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง เสียงหนักเบา ขึ้นอยู่กับปริมาณมากน้อยของปรอทที่บรรจุ เสียง ขลุกๆ ของปรอท ยังขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าเบี้ยแก้ ตัวที่บรรจุปรอทมาก เขย่าในฤดูร้อน มักไม่ได้ยินเสียง แต่ถ้าเขย่าในฤดูหนาว เสียงจะดังฟังชัดเจน



---เบี้ยแก้บางตัว มีเสียงขลุกไพเราะ ขลุกหลายจังหวะ มีเสียงหนักเบาสลับกันไป เหมือนนักร้องมีลูกคอหลายชั้น หรือนกเขาเสียงคู่ เสียงเอกที่มีลูกเล่นหลายชั้น



---เบี้ยแก้ ที่ขึ้นชื่อ มีหลายสำนัก หนังสือเปิดตำนานเครื่องรางของขลังเมืองสยาม คุณ สมชาย โตมั่น มีรายละเอียดว่า แต่ละสำนัก มีวิธีบรรจุปรอทและวิธีอุดต่างกัน



---เบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครชัยศรี เมื่อท่านบรรจุปรอทลงในเบี้ยจั่นแล้ว ก็เอาชันโรงใต้ดินที่ปลุกเสกแล้ว อุดยาบริเวณปากร่องใต้ท้องเบี้ย แล้วจึงหุ้มด้วยผ้าแดง ลงอักขระเลขยันต์ จากนั้น ก็เอาด้ายถักหุ้ม ใช้ลวดทองแดงขดเป็นห่วง ไว้คล้องคอหรือร้อยเชือกคาดเอว 


---เบี้ยแก้สำนักที่ขึ้นชื่อไม่แพ้หลวงปู่บุญ คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง อ.ตลิ่งชัน กทม. วิธีหุ้มเบี้ยด้านนอก อาจดูคล้ายกัน แต่ ด้านในแตกต่างกัน ของหลวงปู่รอดใช้แร่ตะกั่วหุ้ม แล้วลงอักขระลงบนพื้นตะกั่วรอบตัวเบี้ย



---คุณ ไชยรัตน์ โมไนยพงศ์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาเบี้ยแก้ รวบรวมไว้ในหนังสือเครื่องรางของขลัง เท่าที่คุณไชยรัตน์สังเกต ยันต์ที่ลงมีทั้งยันต์ที่เป็นคาถาและยันต์ตาราง ยันต์ตารางมีทั้งสี่ช่องและเก้าช่อง



---เบี้ยแก้ตัวหนึ่ง คุณไชยรัตน์มั่นใจว่า เป็นของหลวงปู่บุญ เชือกที่ถักหุ้ม ผุกร่อนชำรุด จนหมดสภาพ เมื่อเปิดออกจึงเห็นยันต์ที่กำกับใต้ท้อง เป็นยันต์พุทธซ้อน และยันต์ท้อรันโต  ยันต์ท้อรันโต ดีทางคงกระพัน ยันต์พุทธซ้อน ดีทุกด้าน หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า ใช้เป็นยันต์ครู



---นอกจาก 2 สำนักนี้แล้วยังมี เบี้ยแก้วัดคฤหบดี วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามท่าเทเวศร์ คุณสมชาย โตมั่น ยังตามสืบสาวไม่ได้ชัดเจนว่า หลวงพ่อชื่อใดสร้าง  แต่นัยว่า ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่รอด วัดนายโรง ตัวเบี้ยเล็กกว่า และเบากว่า 2 วัดรุ่นอาจารย์ เส้นด้ายที่ถักหุ้มตัวเบี้ย หยาบกว่า มีทั้งลงรัก ปิดทอง และลงยางมะพลับ



---ลักษณะการหุ้มตัวเบี้ย เป็น 2 แบบ แบบแรกถักหุ้มทั้งตัวเบี้ย แบบที่ 2 ถักเหลือเนื้อเป็นวงกลมไว้หลังเบี้ย  เสียงขลุกของปรอท มีจังหวะและน้ำหนักต่างจากสำนักวัดกลางฯ และวัดนายโรง  วิชาทำเบี้ยแก้ไม่แพร่หลายนัก นอกจาก 3 สำนักนี้แล้ว ยังมีเบี้ยแก้อีก 3 สำนักที่อ่างทอง แต่เพราะเบี้ยแก้ มีจำนวนน้อย ประวัติการสร้างจึงไม่ค่อยชัดเจน



---เบี้ยแก้วัดนางใส อยู่หลังตลาด อำเภอวิเศษชัยชาญ ประวัติเท่าที่พอสืบสาวได้ หลวงพ่อผู้สร้าง มรณภาพไปนานแล้ว เป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อโปร่ง เจ้าอาวาสวัดท่าช้าง ปัจจุบัน  เบี้ยแก้วัดนางใส ไม่ได้ถักด้ายหุ้ม อุดด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วก็ให้หุ้มเลี่ยมด้วยเงิน ทอง หรือนาก เหลือเนื้อเบี้ยเป็นวงกลมไว้ด้านหลัง  เบี้ยแก้วัดโพธิ์ปล้ำ ต.ท่าช้าง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลวงพ่อผู้สร้างเป็นอาจารย์ หลวงพ่อโปร่งเช่นเดียวกัน



---เบี้ยแก้วัดท่าช้าง...ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลวงพ่อโปร่ง ปัญญาธโร เจ้าอาวาสปัจจุบันสร้างไว้ ลักษณะเบี้ยแก้เหมือนของ 2 อาจารย์ผู้ประสาทวิชาให้



---คุณสมชาย โตมั่น บรรยายทิ้งท้ายไว้ว่า  เบี้ยแก้เป็นอิทธิวัตถุชั้นหนึ่ง เตือนใจให้สะดุ้งกลัวภัยที่มองไม่เห็น หากบุคคลใด มีไว้เป็นสมบัติ นำติดตัวโดยคาดไว้กับเอวหรือโดยประการอื่น ย่อมปกป้องภยันตรายได้ทั้งปวง เป็น เมตตามหานิยม แคล้วคลาด มหาอุดคงกระพันทุกประการ คุ้มกันเสนียดจัญไร คุณไสย ยาสั่งและการกระทำย่ำยี ทั้งหลายทั้งปวงได้ชะงัด...นักแล. 


---จะมาคุยกันถึงเรื่องเครื่องรางของขลังกันต่อ เครื่องรางที่จะพูดในวันนี้ ก็คือ เบี้ยแก้ เบี้ยแก้นั้น มีการสร้างมาแต่โบราณ สรรพคุณในการใช้นั้นก็ตรงกับชื่อ คือ ใช้แก้กันได้สารพัด ใช้ป้องกันคุณไสยต่างๆ ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันไข้ป่า ป้องกันยาพิษ ยาสั่ง อยู่คงเขี้ยวงาทุกชนิด ป้องกันและแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ผลชะงัด



---เบี้ยแก้นั้น ถ้าสร้างอย่างถูกวิธีนั้น กรรมวิธีการสร้างยากมาก เท่าที่รู้และนิยมกันมาก ก็ได้แก่ สายของวัดกลางบางแก้ว เช่น ของหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม ท่านอาจารย์ใบ และองค์ปัจจุบันก็คือ หลวงปู่เจือ สายวัดนายโรง ก็ของหลวงปู่รอด สายวัดนายโรงนี้ก็มี อาจารย์ทัต วัดคฤหบดี ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่รอดอีกองค์หนึ่ง สายทางอ่างทองก็มีหลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ และสายลูกศิษย์ของหลวงพ่อพักตร์ ได้แก่ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน หลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ และของวัดท่าช้าง เป็นต้น



---วันนี้เราจะมาว่ากันถึง สายวัดกลางบางแก้ว เท่าที่สืบค้นได้นั้น หลวงปู่บุญ ท่านเรียนวิชาเบี้ยแก้มาจาก หลวงปู่ทอง วัดกลางบางแก้ว หลวงปู่บุญ ท่านสร้างเบี้ยแก้ให้แก่ศิษย์ โดยท่านผู้ที่จะมาขอทำเบี้ยแก้นั้น จะต้อง นำปรอทหนัก 1 บาท ชันโรงใต้ดิน หอยเบี้ย นับให้ได้ฟัน 32 ซี่ แผ่นตะกั่ว บางรายก็หาผ้าแดงมาด้วย แล้วจึงนำสิ่งของทั้งหมด ใส่ถาดพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน มาถวาย หลังจากที่หลวงปู่ท่านทำอุโบสถเช้าหรือเย็นเสร็จแล้ว



---หลวงปู่จะปลุกเสกปรอทแล้วจึงบรรจุปรอทลงในหอยเบี้ย แล้วนำชันโรงมาปิดปากเบี้ย จากนั้นท่านก็บริกรรมพระเวท แล้วจึงให้นำไปหุ้มตะกั่วกับพระในวัดจนเสร็จเรียบร้อยจึงนำกลับมาให้ท่านลง อักขระอีกทีหนึ่ง และปลุกเสกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมอบเบี้ยให้เจ้าของนำไปถักเชือกเอาตามใจชอบ ส่วนมากก็ให้พระภายในวัดช่วยถักให้ บ้างก็ลงรัก บ้างก็ลงยางมะพลับ เพื่อให้เชือกที่ถักมีความคงทน



---หลังจากสิ้นหลวงปู่บุญแล้ว ศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อมาก็คือ หลวงปู่เพิ่ม หลวงปู่เพิ่มท่านก็ได้สร้างเบี้ยแก้ด้วยกรรมวิธีแบบเดียวกับหลวงปู่บุญ และมีความขลังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ต่อมาเมื่อหลวงปู่เพิ่มท่านชราลงมามากแล้ว ท่านจึงครอบวิชาทำเบี้ยแก้ ให้แก่ท่านอาจารย์ใบ ทำเบี้ยแก้ต่อจากท่าน



---จนปัจจุบันนี้ ผู้ที่สืบทอดต่อมาก็คือ หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว นั่นเองครับ หลวงปู่เจือ ท่านช่วยหลวงปู่เพิ่ม สร้างเบี้ยแก้มาตลอด เมื่อเวลาหลวงปู่เพิ่มท่านบรรจุปรอทลงเบี้ยแล้ว ท่านก็จะบอกให้นำเบี้ยไปให้หลวงปู่เจือหุ้มตะกั่ว แล้วจึงนำมาให้ท่านลงอักขระปลุกเสกต่อ การทำเบี้ยแก้ สายวัดกลางบางแก้วปัจจุบันก็คือ หลวงปู่เจือนี่แหละครับ เบี้ยของท่านทำได้ขลังเหมือนกันครับ หาเบี้ยแก้ที่ไหนไม่แน่ใจก็จะบอกให้ ไปที่วัดกลางบางแก้ว ไปถามหากุฏิหลวงปู่เจือดู ท่านอยู่ที่กุฏิริมแม่น้ำ บอกให้นิดหนึ่งว่า ถ้าไม่เจอหลวงปู่ก็ให้ไปที่มูลนิธิหลวงปู่เจือ เขามีของที่หลวงปู่ทำไว้ ทำบุญไม่กี่บาทก็ได้มาแล้วครับ อ้อไปแล้วก็อย่าลืมขอเม็ดยาจินดามณีมาด้วยเลย ถ้าที่วัดเขายังพอมีเหลือ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก



---ทั้งเบี้ยแก้และยาจินดามณีของหลวงปู่เจือนั้น ผมใช้อยู่เป็นประจำได้ผลมามากแล้ว ลูกชายผมตอนเด็กๆ นั้นเคยถูกตัวอะไรต่อยเอาก็ไม่ทราบเพราะไม่ยอมบอก พอตกกลางคืนประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ถึงมาบอก ปรากฏว่าตัวร้อนมาก ที่มือบวมเป่งจนกำมือไม่ได้ และบริเวณมือร้อนมาก ผมก็รีบแต่งตัวเตรียมพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล ก็นึกขึ้นได้ว่ามีเบี้ยแก้ของหลวงปู่อยู่จึงนำเบี้ยมาอธิษฐาน ขอให้ท่านช่วยลูกชายด้วย แล้วจึงนำไปวางที่แผล ปรากฏว่า ผมเองยังไม่ทันแต่งตัวเสร็จเลย ลูกชายบอกว่าไม่ต้องไปหาหมอแล้ว ค่อยยังชั่วแล้ว ผมก็เอามือจับตัวและที่แผลดู ปรากฏว่าตัวไม่ร้อนแล้ว จึงนึกว่า หลวงปู่ช่วยแล้วคงไม่เป็นไร แต่ก็คอยดูอยู่ตลอดคืน เจ้าลูกชายผมนอนหลับสบายตลอดคืนนั้น พอรุ่งเช้า มาดูที่แผลกลับหายเป็นปลิดทิ้ง ที่บวมก็หาย ยุบลงเป็นปกติ หนังที่เคยบวมเป่งก็กลับเหยี่ยวลง ไม่เป็นอะไรเลย ส่วนยาจินดามณีนั้น ผมใช้ช่วยตัวเองและคนอื่นมามากแล้วครับ



---ถ้าเชื่อผมและอยากได้เบี้ยแก้แท้ๆ ก็ลองไปที่วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมดู ถ้าไปวัดไม่ถูกก็ถามคนที่ตลาดได้ครับ เลยตลาดไปนิดเดียวครับ ได้เบี้ยแก้แถมยังได้ทำบุญด้วย ขากลับก็หาอะไรทานแถวๆ ตลาดมีร้านอาหารอร่อยๆ เยอะครับ


*เบี้ยแก้นั้นดีทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี


---พูดถึงเครื่องรางของขลัง มีไว้ป้องกันสรรพอันตรายต่าง ๆ และยังมีความหมายถึง  วัตถุเครื่องป้องกันและแก้การกระทำทางคุณไสย  ตลอดจน ยาสั่ง  และไข้ป่า  เป็นอิทธิวัตถุที่มีลักษณะท้าทายอย่างเปิดเผย ต่อการปล่อยคุณไสยและการกระทำย่ำยีในฝ่ายกาฬไสยทั้งปวง



---ตำนานความเป็นมาของ อิทธิวัตถุที่เราเรียกว่า "เบี้ยแก้" นั้น  นัยว่ามีพื้นฐานที่มาลึกซึ้งพอสมควร  ชาวไทยเรามีความนับถือเบี้ยหรือจั่น กันมาตั้งแต่ครั้งกาลนานแล้ว  คนไทยโบราณนับถือเบี้ย ว่าเป็นเครื่องหมายของเทพเจ้า  (คนไทยที่นับถือศาสนา พราหมณ์กระมัง)  นิยมเอาห้อยคอเด็กเป็นมงคลวัตถุ เป็นเครื่องรางสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้  ไทยเราก็เคยใช้เบี้ยหรือจั่นเป็นเงินตราอีกด้วย



---กาญจนา  นาคพันธุ์  (นามแฝงของนักเขียนเรื่อง  “ภูมิศาสตร์สุนทร ภู่”)  ได้ค้นคว้าและอธิบายเรื่องเบี้ยหรือจั่น  ไว้ว่านอกจากการนับถือพระคเณศร์ เป็นเทวดาสำคัญ ตามลัทธิพราหมณ์ในสยาม ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นคติพราหมณ์องคราษฎร์  ก็ยังมีจารีตประเพณีอื่น ๆ อีกที่เข้าใจว่า  ไทยเราได้พราหมณ์องคราษฎร์มาเป็นครู  ท่านผู้อ่านคงเคยรู้จัก  “เบี้ยจั่น”  ตัวเล็ก ๆ ที่ไทยเราใช้แทนเงินตราในสมัยก่อน  เบี้ยนี้ส่วนมากมาจากเกาะมัลคิวะ  ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ถัดเกาะลังกาไปทางตะวันตก  ในสมัยโบราณปรากฏว่า แคว้นองคราษฎร์ใช้เบี้ยจั่นเป็นเงินตรา ในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า  ชาวองคราษฎร์ไปแลกเบี้ยจากชาวเกาะ  สำหรับมาใช้เป็นเงินในแคว้น



---การใช้เบี้ยต่างเงินต่างตราของไทยในสมัยโบราณ จึงอาจเป็นประเพณีมาจากแคว้นองคราษฎร์  มีข้อถืออันหนึ่งที่พอจะนับว่าเป็นเครื่องสนับสนุนการสันนิษฐานนี้ก็คือ  ความคล้ายคลึงกันในเรื่องนับถือเบี้ย  ชาวองคราษฎร์ถือว่าเบี้ยนั้นเป็นพระลักษมี  เขาบูชาเบี้ยด้วย  ส่วนไทยโบราณก็นับถือเบี้ย คล้ายเทวาองค์หนึ่ง  ตามปกติมักเอาเบี้ยมาห้อยคอเด็กนับถือว่าเป็นเครื่องรางอันหนึ่ง ในทางโชคลาภและคุ้มสรรพอันตรายต่าง ๆ




---ในวรรณดีเก่าของไทย  กล่าวถึงการบนเบี้ยอันเป็นการแสดงว่า  ไทยนับถือเบี้ย เป็นเทวดาอันศักดิ์สิทธิ์  เช่น ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน นางเทพทองจะคลอดขุนช้าง มีกลอนว่า  “บ้างก็เสกมงคลปรายข้าวสาร  เอาเบี้ยบนลนลานเหน็บฝา เกลื่อน”  และในเรื่องอิเหนา ตอน อิเหนาลอบไปหาจินตะหรา ก็มีคำประสันตา ว่า  “จะแต่งเครื่องสังเวยให้มากมาย  ข้าจะกินถนายเทวัญ  ว่าพลางทางแกว่งเบี้ยบน  ทำตามเล่ห์กลคนขยัน”



---การนับถือเบี้ยเป็นของศักดิ์สิทธิ์นี้  เชื่อว่าไทยจะต้องถือตามพราหมณ์องคราษฎร์...หลักฐานกฎหมายโบราณ ที่แสดงถึง ความนิยมนับถือเบี้ยจั่นของไทยโบราณ ว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระลักษมี นั่นก็ได้มีปรากฏอยู่ ในกฎหมายโบราณ   โดยใช้คำเรียกเบี้ยจั่น  ว่า  "ภควจั่น"ดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า “...จะแต่งบุตรและหลาน ก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภควจั่น  จำหลักประดับพลอยแดงเขียวเท่านั้น  อย่าได้ประดับเพชรถมยาราชวดี  ลูกประหล่ำเล่า  ก็ให้ใส่แต่ลายแทง แลเกลี้ยงเกี้ยว  อย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ  แลอย่าให้ใส่กระจับปิ้ง พริกเทศทองคำ  กำไลทองใส่เท้า  และห้ามอย่าให้ช่างหล่อทั้งปวง รับจ้างทำจี้เสมาภควจั่น ประดับเพชรถมยาราชาวดี  และกระจับปิ้ง  พริกเทศทองคำ  กำไลเท้าและแหวนถมยาราชาวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยและอาณาประชาราษฎร์ช่างทอง  กระทำให้ผิดถ้อยอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน  จะเป็นโทษอย่างหนัก...”



---คำว่า  “ภควจั่น”  นี้ แยกออกเป็นสองคำคือ  "ภคว" เป็นคำย่อของ  ภควดี  อันเป็นสมญานามของ  พระลักษมีและ  "จั่น"  เป็นคำสามัญ หมายถึง  เบี้ยจั่น  อันเป็นเครื่องหมายของ  พระลักษมี



---กฎหมายโบราณของไทยฉบับนี้ แสดงถึงระบบการแบ่งชั้นวรรณะในสมัยโบราณอย่างน่าเกลียด  ไม่อนุญาตให้สามัญชนห้อยเสมาภควจั่น ประดับเพชรและลงถมยาราชวดี  ฯลฯ  เพื่อสงวนไว้สำหรับลูกจ้างหรือลูกขุนนางชั้นสูงเท่านั้น  อนุญาตให้ห้อยได้เพียง  จี้ภควจั่นที่เลี่ยมทองจำหลัก ฝังพลอยธรรมดา ๆ เท่านั้น  เมื่อยุคนี้เป็นยุคประชาธิปไตย ซึ่งกฎหมายที่ไร้สาระดังกล่าว ได้เลิกลาไปช้านานแล้ว  ฉะนั้น ถ้าใครมี  “เบี้ยแก้”  ของหลวงปู่บุญ  ก็ควรจะทำตลับลงยาราชาวดีสวมใส่เสีย  เดี๋ยวนี้ชักหายากแล้ว และผู้มีฐานะดี ก็ควรประดับเพชรเสียด้วย  และเบี้ยแก้  ก็คือ ภควจั่น วิเศษสุดที่ได้รับการบรรจุด้วยปรอท สำเร็จพุทธคุณแล้วนั่นเอง



---หลวงปู่บุญ ผู้มีชื่อเสียงด้านพระเครื่อง ท่านได้ศึกษาวิชาสร้างเบี้ยแก้มาจากหลวงปู่แขก  (ชีปะขาว)  สมัยเดียวกับหลวงปู่รอด วัดนายตรง  (วัดสัมมัชผล)  ต.บางบำหรุ  อ.ตลิ่งชัน  กรุงเทพฯ  ลักษณะโดยทั่วไปของเบี้ยแก้สองสำนักนี้จึงคล้ายคลึงกันมากที่สุด



---วิธีสร้าง – การสร้างเบี้ยแก้ ก็คือ การบรรจุปรอทที่ปลุกเสกแล้ว เข้าไปในตัวเบี้ยจั่น แล้วหาวิธีอุดเอาไว้ ไม่ให้ปรอทหนีออกมาข้างนอกได้  ฉะนั้น  เกี่ยวกับการใช้ปรอทสร้างเบี้ยแก้ จึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับการทำลูกอมปรอท



---ลูกสะกดปรอท  พระปรอท  และเมฆสิทธิ์ ลักษณะต่าง ๆ เพราะอิทธิวัตถุเหล่านี้ใช้ปรอทแข็ง  ซึ่งเป็นปรอทผสมกับโลหะต่าง ๆ เช่น  ทองแดง  เงิน  และทองคำ  เป็นต้น  บางทีก็เรียกว่า  “ปรอทที่ฆ่าตายแล้ว”  ซึ่งจะมีความหมายลึกซึ้ง  ประการใดก็ยังไม่ทราบแน่ชัดนัก  ส่วนปรอท ที่ใช้บรรจุในตัว  เบี้ยจั่น  นั้น เป็นปรอทเป็น  หรือปรอทดิน  เวลาเขย่า เบี้ยแก้ใกล้ ๆ หู  จะได้ยินเสียปรอทกระฉอกไปมา  เสียงดัง  “ขลุก ๆ”  ซึ่งเรียกว่า  “เสียงขลุก”  ของปรอท  ดังชัดบ้างไม่ชัดบ้าง  ขึ้นอยู่กับปริมาณปรอท ที่บรรจุปริมาตรของโพรงในท้องเบี้ย และอุณหภูมิฤดูกาลในขณะนั้น ๆ ถ้าหากการสร้างเบี้ยแก้ กระทำในฤดูร้อน บรรจุปรอทมากจนเต็มปริมาตรและเขย่าฟังเสียงในอากาศร้อน ๆ จะฟังเสียงไม่ค่อยได้ยินเลย  แต่เบี้ยแก้ตัวเดียวกัน  ลองเขย่าและในฤดูหนาว ที่อากาศเย็น ๆ จะได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น



---เวลานำปรอทที่ปลุกเสกแล้ว กรอกลงไปในท้องเบี้ยจั่นพอประมาณ  เอาชันโรงใต้ดินที่ปลุกเสกแล้วอุดยาบริเวณปากร่องใต้ท้องเบี้ยให้สนิทเรียบ ร้อย  แล้วจึงหุ้มด้วยผ้าแดงที่ลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกแล้ว  เสร็จแล้ว จึงเอาด้วยถักหุ้มเป็นลวดทองแดงขดเป็นห่วง  เพื่อให้ใช้คล้องสร้อยแขวน คอ  หรือทำเป็นสองห่วงไว้ใต้ท้องเบี้ย  เพื่อร้อยเชือกคาดเอว



---เบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว  ต่างกับเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง  ตรงที่หุ้มผ้าแดงลงอักขระเพราะของหลวงปู่รอด ใช้แร่ตะกั่วหุ้ม  แล้วจึงลงอักขระบนพื้นตะกั่วรอบตัวเบี้ยอีกครั้ง  การที่ทราบเช่นนี้ได้ ก็เพราะมีผู้อุตริสอดรู้สอดเห็นบางคน  เคยผ่าเบี้ยแก้ของทั้งสองสำนักนี้ดู  จึงได้ปรากฏหลักฐานการห่อหุ้มอิทธิวัตถุชั้นใน ภายใต้ด้ายถักลงรัก  ซึ่งเป็นเปลือกหุ้มด้านนอกดังกล่าว



---ลักษณะการถักด้ายหุ้มด้านนอกเท่าที่สังเกตดู  ถ้าเป็นเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ  จะมีการถักด้ายหุ้มตลอดตัวเบี้ยและเป็นลายถักเรียบ ๆ สม่ำเสมอกันตลอดตัวเบี้ย  ส่วนเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด  จะปรากฏทั้งแบบที่ถักด้ายหุ้มตลอดตัวเบี้ย  กับถักเว้นวงกลมไว้บริเวณกลางหลังเบี้ย  และลายถักนี้ ก็มีทั้งแบบลายเรียบสม่ำเสมอกันแบบลานสอง  (เป็นเส้นสันทิวขนานคู่แบบผ้าลายสอง)  แต่ข้อสังเกตอันนี้ จะถือเป็นกรณีแน่ชัดตายตัวนักไม่ได้  เพราะคาดว่าลักษณะการถักดังกล่าว คงจะมีปะปนกันทั้งสองสำนัก



---เสียง  “ขลุก”  ของปรอท  จากการสังเกตเสียงขลุกของปรอท ในขณะที่เขย่าเบี้ยแก้ ที่ริมหู  จะได้ยินเสียงการกระฉอกไปมาของปรอท ภายในท้องเบี้ย สำหรับของจริงของสองสำนักดังกล่าวนี้ จะมี  “เสียงขลุก”  คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ  จะมีลักษณะเป็นเสียงกระฉอกของปรอท ซึ่งสะท้อนไปสะท้อนมา หลายทอดหรือหลายจังหวะ  ชะรอยการบรรจุปรอทลงในเบี้ยแก้ จะต้องมีเทคนิคหรือกรรมวิธีที่แยบคายบางประการ เช่น  บรรจุปรอทในปริมาณที่พอดีกับปริมาตรภายในห้องเบี้ย กล่าวคือ ให้เหลือช่องว่าง ไว้พอสมควรให้ปรอทได้มีโอกาสกระฉอกไปมา ได้สะดวกและน่าจะเป็นการบรรจุปรอทในฤดูร้อนตอนกลางวัน เพราะอุณหภูมิในห้วงเวลานั้น  ปรอทจะมีสภาพขยายตัวมากเมื่อได้รับการบรรจุแล้ว  ปรอทก็จะลดตัวลงตามฤดูกาล ทำให้เกิดช่องว่างภายในท้องเบี้ยเพิ่มขึ้น  สะดวกแก่การกระฉอกหรือคลอน



---เบี้ยแก้บางตัวจะมีเสียงขลุกไพเราะมาก  เป็นเสียงขลุกที่มีหลายจังหวะ และหลายแบบ  คือ มีทั้งเสียงหนักและเสียงเบา สลับกัน อุปมาเสมือนนักร้องที่มีลูกคอหลายชั้นหรือนกเขาเสียงคู่  เสียงเอก ที่มีลูกเล่นหลายชั้น ส่วนเบี้ยแก้บางตัว ที่บรรจุปรอทน้อยเกินไป  การกระฉอกของปรอทคล่องแคล่วดี แต่เสียงขลุกขาดความหนักแน่น ตรงกันข้ามกับเบี้ยแก้บางตัว  บรรจุปรอทมากเกินไป  การกระฉอกหรือคลอนจึงมีน้อยจนเกือบ สังเกตไม่ได้



*เบี้ยแก้ของสำนักอื่นๆ



---นอกจากเบี้ยแก้ของสำนักวัดกลางบางแก้ว ของหลวงปู่บุญและของหลวงปู่รอด  วัดนายโรงแล้ว  ยังมีของสำนักอื่น ๆ อีก  เช่น เบี้ยแก้วัดคฤหบดี  วัดอยู่ในคลองบางกอกน้อย เช่นเดียวกันกับวัดนายโรง แต่ยังสืบทราบความเป็นมาของการสร้างเบี้ยแก้ได้ไม่ชัดเจน นัยว่า หลวงพ่อผู้สร้างเบี้ยแก้ เป็นศิษย์ของหลวงปู่รอด วัดนายโรงนั้นเอง  เบี้ยแก้ของวัดคฤหบดี จัดว่าเป็นเบี้ยแก่รุ่นเก่า  รองลงมาจากของสำนักดังกล่าว ลักษณะของเบี้ยแก้วัดคฤหบดีนั้น เท่าที่ทราบและพิจารณาความจริง ของจริงมาบ้างนั้นเข้าใจว่า สัณฐานของตัวเบี้ย ค่อนข้างจะเบา กว่าของวัดกลางและของวัดนายโรงสักเล็กน้อย  แต่ถ้าค่อนข้างเล็กมาก ก็กล่าวกันว่า  จะเป็นของหลวงปู่แขก  เส้นด้ายที่ถักหุ้มตัวเบี้ยของวัดคฤหบดี  ค่อนข้างหยาบกว่าของวัดนายโรง  และมีทั้งลงรักปิดทองและลงยางมะพลับ  (สีน้ำตาลไหม้คล้ำ)  ลักษณะการถักหุ้ม คงมีสองแบบคือ  แบบถักหุ้มทั้งตัวเบี้ย กับ แบบถักเหลือเนื้อที่ เป็นวงกลมไว้หลังเบี้ย  และ เสียง  “ขลุก”  ของปรอทมีจังหวะและน้ำหนักของเสียงน้อยกว่าของสองสำนัก



*นอกจากนี้ยังสืบทราบมาว่า  ทางจังหวัดอ่างทอง ยังมีเบี้ยแก้อีกสามสำนักด้วยกันคือ



---เบี้ยแก้วัดนางใน  วัดนางในอยู่หลังตลาด  อำเภอวิเศษไชยชาญ  จังหวัดอ่างทอง  หลวงพ่อผู้สร้างเบี้ยแก้ ได้มรณภาพไปนานปีแล้ว  และท่านเป็น อุปัชฌาย์ของหลวงพ่อโปร่ง  เจ้าอาวาสวัดท่าช้างรูปปัจจุบัน  ลักษณะของเบี้ยแก้ ไม่ได้ถักด้ายหุ้ม  เมื่ออุดด้วยชันโรงใต้ดินแล้ ก็ใช้หุ้มเลี่ยมด้วย เงิน  ทอง  หรือนาค  และเหลือให้เป็นเนื้อเบี้ยเป็นวงกลมไว้ด้านหลัง



---เบี้ยแก้วัดโพธิ์ปล้ำ  วัดตั้งอยู่ในตำบลท่าช้าง  อำเภอวิเศษไชยชาญ  จังหวัดอ่างทอง  หลวงพ่อผู้สร้างเบี้ยแก้ ก็คงมรณภาพไปนานแล้วเช่นเดียว กัน  และท่านเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อโปร่ง ลักษณะของเบี้ยแก้คงทำนองเดียวกันกับของวัดนางใน



---เบี้ยแก้วัดท่าช้าง  วัดตั้งอยู่ในตำบลสี่สร้อย  อำเภอวิเศษไชยชาญ  จังหวัดอ่างทอง    หลวงพ่อโปร่ง  “ปญฺญาธโร”  เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เป็นผู้สร้าง ลักษณะของเบี้ยแก้ คงคล้ายกับสองสำนักดังกล่าว  เพราะเชื้อสายเดียวกัน



*ความสำคัญของเบี้ยแก้


---เบี้ยแก้ตัวนี้สำคัญนัก  พ่อค้าแม่ขายจักหมั่นไหว้บูชา  จะไต่เต้าเจ้าสัว แสนทะนาน  ลาภเต็มห้องทองเต็มไห  ขุนนางใดมีไว้ในตัวดีนักแล  จักให้คุณเป็นถึงท้าวเจ้าพระยาพานทอง  ทรัพย์สินสิ่งของเต็มวัง  อีกช้างม้า วัวความ นับได้ หลายเหลือ  หลวงปู่เฒ่าเจ้าสั่งสิ่งอาถรรพณ์  อาเทพอัปมงคลทุกข์ภัยพิบัติ ทั้งยาสั่ง  ให้อันตรธานสิ้นไป  ศัตรูปองร้ายให้พ่ายแพ้ภัยตัว  ขึ้นโรงขึ้นศาล ชนะปลอดคดีความ สิงค์สาราสัตว์สารพัดร้าย  ปืนผาหน้าไม้ ผีป่าปอบและผีโป่ง  ทั้งแขยง มิกล้ากล้ำกราย  หากมีเหตุเภทภัยอันตราย จะบอกกล่าวเตือนว่า จงอย่าไป  แลฯลฯ



---เบี้ยแก้ เป็นอิทธิวัตถุชั้นหนึ่ง เตือนใจให้สะดุ้งกลัวภัยที่มองไม่เห็นตัว  หากบุคคลใดมีไว้เป็นสมบัติ  นำติดตัวโดยคาดไว้กับเอว  หรือโดยประการอื่นใด  ย่อมปกป้องภยันตรายได้ทั้งปวง  เป็นเมตตามหานิยม  แคล้วคลาด มหาอุด คงกระพันทุกประการ  คุ้มกันเสนียดจัญไร  คุณไสยยาสั่ง  และการกระทำ ย่ำยี  ทั้งหลายทั้งปวงได้ชงัดนัก ป้องกันภูตพรายได้ทุกชนิด.





...................................................................




ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว ป.)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« October 2024»
SMTWTFS
  12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท02/06/2024
ผู้เข้าชม7,654,026
เปิดเพจ11,813,484
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view