ตะกรุด
---" ตะกรุด " เป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลัง ที่ผูกพันกับคติความเชื่อในสังคมไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในการรบทัพจับศึก เข้าสู่สนามรณรงค์สงคราม พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ประทับนั่งเด่นเป็นสง่าอยู่ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ที่พระรูปขององค์สมเด็จฯ ท่านคล้องไว้ด้วยตะกรุดดอกใหญ่ เรียงเป็นแนวยาวพาดพระอังสะ ในลักษณาการเฉียงลงถึงบั้นพระองค์ มีสายตะกรุด ๑๖ ดอก คล้องเป็นแนวยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โบราณเรียกกันว่า "ตะกรุดโสฬส" พระองค์ท่านสะพาย ๒ เส้น
---เป็นหนึ่งในความนิยมประเภทเครื่องรางของพระเกจิอาจารย์แต่ละยุคสมัย คงไว้ซึ่งความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ดีในทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ป้องกันภยันตราย ภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งด้านเมตตามหานิยม ค้าขาย โชคลาภ กลับดวง พลิกชะตา เลื่อนยศ ร้ายกลายเป็นดี บรรดาเกจิอาจารย์ผู้ทรง คุณวิเศษนิยมสร้าง ตะกรุด เพื่อป้องกันอันตรายและตะกรุด ก็มีพัฒนาการเรื่อยมา จากดอกใหญ่หนาสำหรับการออกศึกสงคราม ก็ค่อยๆ ลดขนาดลง หรือใช้วัสดุประเภทไม้สร้าง บางทีก็จัดทำเป็นดอกเล็กๆ ในลักษณะเครื่องรางติดตัวหรือสามารถตอกฝังเข้าไปในร่างกายได้
---ตะกรุด ถือเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะบ้าง อโลหะบ้าง เช่น แผ่นตะกั่ว แผ่นเงิน แผ่นทอง หรือทองแดง บางครั้งก็ใช้ไม้ไผ่ หรือกระดูกสัตว์ก็มี เมื่อได้วัสดุตามต้องการแล้ว ก็จะทำการลงอักขระ หรือผูกเป็นยันต์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นบทสรรเสริญพุทธคุณ มีความเชื่อที่ว่า ตะกรุดสามารถคุ้มครองผู้ครอบครอง หรือสร้างความมีเสน่ห์เมตตาให้แก่ผู้พบเห็นได้
---ตะกรุด ทำมาจาก วัสดุต่างๆ มากมาย ตามตำราของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน แต่ที่พบโดยทั่วไปจะเป็น การนำโลหะแผ่นบางๆ อาจจะเป็น ทองคำ เงิน นาก ตะกั่ว หรือโลหะธาตุผสมอื่นๆ มาลงอักขระเลขยันต์โดยครูบาอาจารย์ ซึ่งจะใช้เหล็กจาร เขียนพระคาถาผูกขึ้นเป็นมงคล ก่อนที่จะม้วนให้เป็นแท่งกลม โดยมีช่องว่างตรงแกนกลาง สำหรับร้อยเชือกติดตัวไปไหนต่อไหน อาจนำมาหล่อหลอมรวมกัน แล้วทำเป็นตะกรุดหล่อโบราณ ทำจากรางน้ำฝน , ทำจากกาน้ำ , ทำจากใบลาน ตัดเป็นแผ่นก่อน แช่น้ำแล้วนำมาม้วนเป็นทรงกลม , ทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังเสือ , หนังหน้าผากเสือ , หนังงู ,หนังเสือดาว ,หนังลูกวัวอ่อนตายในท้องแม่ หรือจากกระดูกสัตว์ ตะกรุดกระดูกช้าง , ตะกรุดจากเขาวัวเผือก หรือจากไม้มงคลต่างๆ เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งมีทั้ง ไผ่ตัน และ ไผ่รวก ไม้คูณ ไม้ขนุน ปัจจุบันก็มีรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยทำมาจากปลอกลูกปืน อาศัยนัยยะว่า แม่ไม่ฆ่าลูก แล้วอาจจะถักด้วยเชือก ด้ายมงคล พอกด้วยผงยา จินดามณี แล้วนำไปจุ่มหรือชุบรัก ปิดทอง ตามตำรา (ดูภาพเพิ่มเติม)
---ตะกรุด ได้ถูกสร้าง โดยอ้างถึงพุทธคุณ ธรรมคุณสังฆคุณ เพราะหากทำวัตถุบูชาเป็นรูปพระพุทธเจ้าแล้ว หากนำไปในสถานที่ต่างๆ เช่น สนามรบ อาจจะไม่บังควร โดยอาศัยตัวอักขระ หรือ เลขยันต์ แสดงความหมายที่แตกต่างกันออกไป ตะกรุด หากเป็นดอกเดียว เราเรียกว่า "ตะกรุดโทน" หากเป็นสองดอกจะเป็น "ตะกรุดแฝด" หรือเป็นโลหะ 3 ชนิด ที่เรียกว่า " สามกษัตริย์" หาก 16 ดอก เรียก "ตะกรุดโสฬส"
---ตะกรุดต่างๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นโลหะ จะมีความเชื่อที่แตกแขนงออกไปอีก อาทิเช่น ถ้าเป็นตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางด้านเมตตา มักจะทำโดยใช้ แผ่นทอง หรือแผ่นเงิน ตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางคงกระพัน จะใช้แผ่นทองแดง ตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางด้านแคล้วคลาด มักจะใช้แผ่นตะกั่ว เป็นต้น ตะกรุด ใช้บูชาอยู่ 2 แบบ คือ ใช้แขวนคอ และอีกแบบใช้คาดเอว โดยดอกตะกรุดจะขนานกันไปในแนวนอน..
*อีกอย่างหนึ่ง
---ตะกรุด เป็นเครื่องรางของขลังที่ผูกพัน และเป็นที่รู้จักกันมาช้านานในสังคมคนไทย ตะกรุด เป็นเครื่องรางชนิดเครื่องคาดที่ปรากฏมาแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
---แม้แต่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน หลายๆ ตอน ก็ยังมีบทเสภาขุนช้างขุนแผน ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องราง “ตะกรุด” เช่น ตอนที่ขุนช้างออกตามหานางวันทอง เสภาได้กล่าวถึง การพกพาเครื่องรางของขลังประจำตัวว่า
---“ผูกตัวเข้าเป็นพรวนล้วนเครื่องราง
---พระปรอดขอดหว่างมงคลวง
---ลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร
---ไข่เป็ดเป็นหินขมิ้นผง
---ตะกรุดโทนของท่านอาจารย์คง
---แล้วอมองค์ภควัมล้ำจังงัง”
---หรือตอนที่ขุนแผนพานางวันทองหนีเข้าป่า ได้เขียนไว้ว่า
---“ไหมทองกรองถักเป็นอักษร
---สอดซ้อนเส้นด้ายสายเข็มขัด
---ตะกรุดโทนลงยาสารพัด
---ประจงจัดวางเสร็จสำเร็จพลัน”
---ตะกรุด คือ การจารหรือเขียนอักขระทีละตัว ลงบนวัสดุหลายๆ อย่าง เช่น โลหะ, หนังสัตว์, กระดูกสัตว์, ไม้, กระดาษ, งา และวัสดุอื่นๆอีกมากมาย ผู้สร้างจะต้องจารอักขระด้วยตนเองอย่างพิถีพิถัน อักขระแต่ละตัวจะต้องไม่ทับกันโดยเด็ดขาด ขณะจารอักขระและเวลาม้วนแผ่นที่จาร เป็นที่เรียบร้อย ผู้สร้างจะต้องว่าคาถากำกับ พร้อมทั้งปลุกเสกอีกครั้ง เพื่อให้ตะกรุดเข้มขลังด้วยอิทธิฤทธิ์วิชาอาคมฯลฯ
.....................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น