ประวัติปู่ฤาษีนารอท
---พระนารท หรือ พระนารอด หรือ พระนาระทะ แล้วแต่จะเรียก
---เป็น1 ใน พระประชาบดี (เทวฤษีที่เป็นพระผู้สร้าง) ๑๐ องค์ คือ เป็นผู้ประดิษฐ์ "วีณา" พิณน้ำเต้า
---พระฤๅษีนารทบำเพ็ญพรตอยู่เชิงเขาโสฬส นอกเมืองลงกา เมื่อคราวหนุมานไปถวายแหวนแก่นางสีดาได้เหาะเลยเมืองลงกาเพราะไม่รู้จักทาง ไปพบกันเข้าจึงเกิดการประลองฤทธิ์กัน แต่หนุมานเกิดพ่ายแพ้ต่อฤทธิ์พระฤๅษีจึงยอมอ่อนน้อม และเมื่อคราวหนุมานไปเผากรุงลงกาไฟที่ติดหางหนุมานจะดับอย่างไรก็ไม่สามารถดับได้ หนุมานจึงไปหาพระฤๅษีนารทให้ช่วยดับไฟให้
---พระฤาษีนารอด เป็นครูของฤาษีทั้งปวง ทรงกำเนิดจากเศียรที่ ๕ ของพระพรมธาดา ทรงเพศเป็นฤาษี พระฤาษีนารอดถือว่าเป็นฤาษีองค์แรกของไตรภูมิ ไม่ว่าจะมีการบูชาสิ่งใด หากไม่มีการเชิญท่านแล้ว พิธีกรรมนั้นมักไม่สมบูรณ์
---รูปลักษณ์ของท่านที่สร้างเป็นหัวโขน (ศรีษะครู) สำหรับบูชาเป็นรูปหน้าพระฤาษีหน้าปิดทอง สวมลอมพอกฤาษีมี (กระดาษ) ทำเป็นผ้าพับเป็นชั้นลดหลั่นกันไป เสียบอยู่กลางลอมพอก
#สิ่งที่เกี่ยวกับพระฤาษีนารอด เพิ่มเติม
---พระรอดเป็นพระเครื่องราง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้พระสมเด็จฯ และพระนางพญา ได้ถูกขนานนามว่าเป็น " เทวีแห่งนิรันตราย " ทั้งได้แสดงคุณวิเศษทางแคล้วคลาดเป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย ตามตำนานกล่าวว่า "พระนารทฤาษี" เป็นผู้สร้างพระพิมพ์นี้ขึ้น จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พระนารท" หรือ "พระนารอด" ครั้นต่อมานานเข้ามีผู้เรียกและผู้เขียนเพี้ยนไปเป็น "พระรอท" และในที่สุด ก็เป็น"พระรอด" อีกทั้งเหมาะกับภาษาไทยที่แปลว่า รอดพ้น จึงนิยมเรียกพระพิมพ์เครื่องรางชนิดนี้ว่า พระรอด เรื่อยมาโดย ไม่มีผู้ใดขัดแย้ง พระรอดพบในอุโมงค์ใต้เจดีย์ใหญ่วัดมหาวัน หรือที่เรียกว่า มหาวนาราม ณ จังหวัดลำพูน ซึ่งปรากฏอยู่ถึงจนปัจจุบันนี้ อนึ่ง วัดมหาวันเป็นวัดโบราณของมอญลานนาในยุคทวาราวดี ขณะที่พระเจ้าเม็งรายยกทัพมาขับไล่พวกมอญออกไปราว พ.ศ.1740 นั้น ก็พบว่าวัดนี้เป็นโบราณสถานอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาใดเลยว่า พระรอดนี้ควรมีอายุ เกินกว่าพันปีเป็นแน่ แต่เพิ่งมาพบเมื่อประมาณ 50 ปีมานี่เอง
---พระฤษีนารอด ท่านเป็นหมอยาที่มีคาถาอาคมเก่งกล้า ทั้งยังเป็นอาจารย์รดน้ำมนต์ที่เก่งที่สุดอีกด้วย ท่านมีบารมีมาก ปวงชนทั่วไปก็มักจะรู้จักพระนามของท่านแทบทั้งนั้น รูปร่างหน้าตาของท่านก็ยังมีหนวดเครายาวลงมาจากคางถึงในระหว่างอกมือถือดอกบัว ตรงด้านหน้ามีบาตรน้ำมนต์ตั้งอยู่เป็นประจำ เก่งในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ชงัดนักแล ถ้าหากผู้ใดมีความทุกข์ที่เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จงบนบานศาลกล่าวกับท่าน ดูแล้วท่านก็จะต้องเมตตาเสด็จลงมาปัดเป่ารักษาให้โรคภัยนั้นหายไปในเร็ววัน มักจะมีคนพูดกันทั่วไปว่า พระฤษีนารอดเป็นพี่ชายของ พระฤษีนารายณ์ แต่บำเพ็ญพรตกันอยู่คนละแห่ง นานๆ จึงจะได้พบกันสักครั้งหนึ่ง แต่เรื่องนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ที่จริงแล้วผู้ที่เป็นน้องชายของพระฤษีนารอดก็คือ พระฤษีนาเรศร์ มิใช่พระฤษีนารายณ์ ที่ถูกต้องก็คือ พระฤษีนาเรศร์ นี่แหละที่เป็นน้องชายแท้ๆ ของ พระฤษีนารอด และก็ได้บำเพ็ญตบะอย่างมุ่งมั่นอยู่กันคนละแห่ง สำหรับพระฤษีนาเรศร์นี้ ท่านเก่งในคาถาอาคมศักดิ์สิทธิ์ มีเวทมนตร์ขลังเป็นที่สุด ชอบสันโดษ บำเพ็ญพรตอยู่แต่ในป่าลึกๆ ไม่ค่อยชอบสมาคมกับใครเท่าใดนัก แม้แต่พี่น้องกันแท้ ๆ ยังนาน ๆได้พบกันที พอพบกันก็จะดีใจถึงกับกอดกันแน่นด้วยความปลื้มปิติยินดี ท่านที่กราบไหว้บูชาพระฤษีสององค์พี่น้องก็จะเป็นมงคลอันสูง ท่านก็จะได้แผ่บารมีแห่งความเมตตามายังท่าน มาป้องปัดบำบัดรักษา และคุ้มครองมิให้โรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนตลอดกาล....
---พระฤษีนารอดสวมเทริดฤษี ยอดบายศรีลายหนังเสือ เป็นพระฤษีที่บำเพ็ญพรตอยู่ที่เชิงเขาโสฬสนอกกรุงลงกา เมื่อครั้งหนุมานไปถวายแหวนนางสีดา เหาะเลยกรุงลงกาไปจึงไปพบพระฤษีนารอด (ฤษีนารท) โดยบังเอิญ แล้วต่อสู้กัน หนุมานแพ้จึงยอมอ่อนน้อมให้พระฤษี และเมื่อครั้งหนุมานเผากรุงลงกาไฟที่ติดหางดับไม่ได้ พระฤษีนารอดจึงดับให้....
#อีกที่มาหนึ่ง..........
---ตำนานพระปรคนธรรพ หรือ พระฤาษีนารอท ดุริยเทพที่ประทานความสำเร็จ เสน่ห์เมตตามหานิยม
---คำว่า พระฤาษีนารอด เป็นคำที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่หากถามถึงความเป็นมา หลายคนก็ไม่รู้ ที่รู้ก็อาจไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงขอนำประวัติที่น่าสนใจของพระฤาษีตนนี้มาเล่าสู่กันฟังให้ผู้อ่านที่สนใจได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับพระฤาษีตนนี้ด้วย
---พระฤาษีนารอด เป็นพระฤาษีที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีและมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ สำหรับชื่อคนทางนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ดนตรีไทย คุ้นเคยและกราบไหว้บูชากันคือ "พระปรคนธรรพ" ถ้ากล่าวชื่อนี้ในหมู่นาฏศิลป์ย่อมรู้จักกันดี แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนาฏศิลป์ก็คงไม่รู้จัก หรือบางคนอาจเพิ่งเคยได้ยินนามนี้เป็นครั้งแรก
---ในหนังสือบูชาครูดุริยะเทพ เรียบเรียงโดยพระอาจารย์ศิริพงศ์ ครูพันธ์กิจ เล่าเรื่องพระปรคนธรรพไว้ว่า มีนามจริงว่า "นารท" มีประวัติปรากฏในวรรณคดีต่าง ๆ มากมาย ทั้งฝ่ายพราหมณ์และทางพระพุทธศาสนา พระปรคนธรรพแปลว่า ยอดของฤาษี ราชาแห่งฤาษี ผู้ประดิษฐ์พิณขึ้นเป็นท่านแรก บางแห่งออกนามว่า "เทพคนธรรพ์" "คนธรรพราช" เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบรรเลง ขับร้อง โหราศาสตร์ กฏหมาย และทางการแพทย์ นักเลงไสยศาสตร์เรียกว่า "พระฤาษีนารอด" (พระฤาษีนารท) ตามคัมภีร์โบราณของอินเดียกล่าวว่า พระฤาษีนารทเป็น พรหมฤาษี มหาประชาบดี พระนารทเป็นบุตรของมนู บางตำราว่า พระนารท เกิดจากพระนลาตของพระพรหม จึงได้รับสมญาว่า เป็นบุตรแห่งพรหม
---ในคัมภีร์วิษณุปุราณะกล่าวว่า พระนารทเป็นบุตรของพระกศยปเทพบิดร พระนารทได้รับการยกย่องนับถือมากกว่าบรรดาฤาษีทั้งปวง นอกจากพระปรคนธรรพจะมีนามจริงว่า นารท แล้ว ยังมีชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พระปิศุนา แปลว่า ผู้สื่อข่าว บางทีเรียกว่าพระกสิการกะ (ผู้ทำให้เกิดการถกเถียงต่อสู้ทะเลาะวิวาท) บางแห่งเรียกพระกปิพัตร (หน้าลิง) พระนารทนอกจากจะมีเพศเป็นชายแล้ว ยังมีเพศเป็นหญิงอีกปางหนึ่งชื่อนาง นารที เป็นภรรยาของพระนารายณ์แปลง ชื่อพราหมณ์สันนยาสี มีบุตรด้วยกัน 60 คน
---คราวหนึ่งพระปรคนธรรพ (นารท) แปลงกายเป็นพญานก บินไปเกาะที่กิ่งของต้นมะเดื่อใหญ่ริมแม่น้ำ ด้วยกำลังของพญานกทำให้ผลมะเดื่อร่วงลงน้ำ ทำให้เกิดเสียงสูงต่ำต่างกันตามระดับความสูงต่ำของผลมะเดื่อ ทำให้พระปรคนธรรพ (นารท) คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีได้อีกชิ้นหนึ่ง
---ด้วยนิสัยประจำตัวของพระปรคนธรรพ (นารท) นี้เป็นผู้มีนิสัย ชอบแนะนำ ยุแหย่ให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมากมายในหมู่เทวดา จึงได้นามว่า "ปิศุนา" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงกล่าวถึงความสามารถของพระนารทว่า เป็นตริกาลสัชณระ ผู้รอบรู้ในกาลทั้งสาม คือ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต สามารถสอดส่องเห็นทั่วไปด้วยตบะ เป็นผู้มีวิชาทางเสน่ห์ เมตตามหานิยม เป็นผู้แต่งคัมภีร์ทางกฏหมาย ชื่อ "นารทิยธรรมศาสตร์" และเป็นผู้เล่าเรื่องรามายะณะได้ พระฤาษีวาลมิกิฟัง และพระฤาษีวาลมิกิจึงรจนาคัมภีร์รามายะณะขึ้นตามเทวโองการของพระพรหม
---นักดนตรีปี่พาทย์และนาฏศิลป์ยกย่องนับถือพระปรคนธรรพ (นารท) มาก และถือว่าพระปรคนธรรพเป็นประธานควบคุมดูแลการบรรเลงคุมจังหวะหน้าทับ กำกับการบรรเลงและการฟ้อนรำ จึงนับถือตะโพนซึ่งมีหน้าที่บรรเลงคุมจังหวะหน้าทับว่าเป็นตัวแทนขององค์พระปรคนธรรพ
---ทุกครั้งเมื่อเลิกจากการบรรเลงจะนำตะโพนเก็บไว้ในที่สูงกว่าเครื่องดนตรีประเภทอื่นๆ และก่อนการบรรเลงทุกครั้งจะมีการถวายเครื่องกำนลบูชาครูตะโพน ตลอดถึงการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการไหว้ครูทุกครั้งจะมีการห่มตะโพนด้วยผ้าขาว และปูลาดผ้าขาวเพื่อรองเท้าตะโพน จัดวางขันกำนลสำหรับให้ผู้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ทุกคนได้บูชาครูที่หน้าผ้าขาวที่ปูลาดหน้าตะโพน และก่อนที่พิธีกรผู้ประกอบพิธีไหว้ครู จะทำพิธีไหว้ครูจะต้องมาบูชาครูตะโพนก่อน แล้วนำสังข์บรรจุน้ำสะอาด ขอพลีน้ำล้างหน้าตะโพน เพื่อทำน้ำมนต์ธรณีสาร ประพรมเครื่องดนตรีและผู้ร่วมพิธีไหว้ครู
---เรื่องตำนานของพระปรคนธรรพ หรือ พระปรโคนธรรพ หรือพระนารท หรือพระฤาษีนารอดนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีตำแหน่งเป็นทั้งมหาฤาษี เทพฤาษี พรหมฤาษี ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่มีตบะฌานแก่กล้า มีญาณหยั่งรู้กว้างขวาง ทรงความรู้รอบด้าน ทั้งพระเวท ทั้งการดนตรี กฏหมาย นอกจากนี้ยังเป็นประชาบดี หมายถึง ผู้เป็นใหญ่เหนือประชา คือ กลุ่มผู้สร้างมนุษย์กลุ่มแรก ตามตำนานกล่าวว่า ประชาบดีนั้นมีด้วยกัน ทั้งหมด 10 คน
---1.มรีจิ
---2.อัตริ
---3.อังคีรส
---4.ปุลัสสตะยะ
---5.ปุลหะ
---6.กระตุ
---7.วสิฐ
---8.ประเจตัส (ทักษะ)
---9.ภฤคุ
---10.พระนารท
---นอกจากนี้ พระนารทยังเป็นหนึ่งสัตปฤาษี หรือเจ็ดยอดฤาษีที่ได้รับความนับถือสูงสุดอีกด้วย ส่วนคำว่าพระปรคนธรรพ หรือปรโคธรรพ นั้นก็หมายถึงท่านเป็นยอดแห่งคนธรรพทั้งหลาย นี่แสดงให้เห็นว่าพระนารทนี้ มีความสำคัญและได้รับการยกย่องมากที่สุด
---ในบางแห่งกล่าวว่า พระฤาษีนารท (นารอด) เป็นพวกกระเทย เรื่องนี้เห็นจะเป็นเพราะว่า พระฤาษีนารทนั้นบางครั้งเป็นหญิง บางครั้งเป็นชายและยังชอบทางการดนตรีด้วย แต่เรื่องนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะหากพิจารณาดูแล้วทางด้านคุณธรรมที่เป็นถึงพรหมฤาษีนั้น แสดงว่า พระนารทหรือพระฤาษีนารอดนี้อยู่ชั้นพรหม ตามตำราทางพระพุทธศาสนา และพราหมณ์กล่าวคล้ายกันว่า ในชั้นพรหมนั้นผู้ที่เข้าถึงได้ต้องได้ฌานสมาบัติตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ผู้เข้าสู่ชั้นพรหมนั้นจะเป็นผู้หมดจากอุปาทานทางเพศ ในพรหมจึงไม่ปรากฏว่าเป็นชายหรือหญิง เสวยสุขด้วยกำลังฌานตามแต่ละขั้นของตน
---พระนารท หรือพระฤาษีนารอด คือ ผู้สำเร็จฌานแก่กล้า จึงย่อมเป็นผู้ไม่อยู่ในวิสัยของกะเทย เพราะย่อมละ อัตภาพของความเป็นหญิงและชายไปแล้ว ทั้งผู้ที่ถึงเรื่องพรหมย่อมไม่มีกามราคะ เพราะกามราคะนั้นนอนนิ่งเหมือนตะกอนใต้น้ำ หรือดั่งหญ้าโดนหินทับด้วยอำนาจตบะฌานนั้นแล ส่วนเรื่องวาจาไม่อยู่สุขและเรื่องราวต่าง ๆ ที่มักปรากฏขึ้นในวรรณคดีนั้น หากพิจารณาแล้วจะเข้าใจได้ว่า แท้จริงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ล้วนเป็นมายา พระนารทเป็นประดุจลมที่พัดเอาวาจาหรือคำพูดของแต่ละคนไปเท่านั้นเอง พระนารทเสมือนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินเรื่องให้สมบูรณ์ และเรื่องทั้งหมดแท้จริงเป็นเพียงมายา หามีสาระอย่างใดไม่ เป็นเพียงคติสอนใจว่าการพูดจาสิ่งใด การกระทำสิ่งใดควรไตร่ตรองพิจารณาให้ดี แล้วจึงทำทุกอย่างย่อมเป็นสุขไม่มีทุกข์เกิดขึ้นในภายหลัง
---จากที่อธิบายมาโดยตลอดนี้ ท่านผู้อ่านคงเข้าใจได้ว่าวิชานาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์นั้น หาใช่วิชาสามัญหรือวิชาพื้นๆ ก็หาไม่ แต่เป็นวิชาศักดิ์สิทธิ์มีเค้ามาจากเบื้องบน มีเทพยเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นของมีครู ดังนั้นเราคนไทยผู้ได้รับการสืบสานวิชาการเหล่านี้มาจนถึงปัจจุบันจึงควรให้ความสนใจและสมควรแก่การอนุรักษ์สืบต่อไปมิให้สูญหายไปตามวันเวลา...
*การบูชาพระฤาษีนารอทช่วยแนะนำการบูชาที่ถูกต้องด้วย*
---ของที่ใช้บูชา หมากพลู บุหรี่ ส้มโอ
*คาถาบูชา (นะโม3จบ)
---อุกาสะวันทามิภันเต สัพพังอัปปราทัง ขะมะถะเมภันเต มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อนุโมทามิ (3จบ)
---วันทามิ นาระทะ ปุระพาจาริยัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเมภันเต
*ถามใช้ธูปกี่ดอก
---ตอบ 5 ดอก
*ถาม บูชาในวันใดบ้าง และเวลาใดบ้าง
---ตอบวันพฤหัสเช้า จะถี่กว่านั้นก็ตามสะดวกจ้ะ
*ท่องประจำทุกวันคือ
*คาถาบูชานะโม 3จบ.....
---โอม...อิมัสมิง พระประโคนธัพ พระมุนีเทวา หิตาตุมเห ปะริภุญชันตุ 3,5,7,9 จบแล้วแต่จะท่อง ระลึกถึงท่านและขอพร อนุโมทนาสาธุ
--------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 2 ธันวาคม 2558
ความคิดเห็น