นัยยะ พุทธธรรม จาก "ไซอิ๋ว"
(แทบจะก้มกราบคนแต่ง ไซอิ๋ว)
---ผมเคยได้ทราบว่า ฝั่งตะวันตก มีวรรณกรรมเด็กอย่าง Narnia ที่อธิบาย "ไบเบิ้ล" ออกมาเป็นนิทานอย่างแยบยล (หนังสือ 7 เล่ม ก็แทน บาป 7 ประการ)
---ก็แอบคิดมาตลอดว่า "ทางพุทธ" น่าจะมีใครนำ "พระไตรปิฎก" มาเขียนเป็นนิทานบ้างนะ
---หรืออย่างน้อยๆ แค่หยิบหลักธรรม บางส่วนมาใช้นิยามก็ยังดี หารู้ไม่... มันมีมาเป็น400ปีแล้ว จากวรรณกรรม ที่คนไทยเองก็คุ้นกันดีอย่าง “ไซอิ๋ว” ซึ่งจริงๆก่อนหน้านี้ ผมอาจพอทราบเลาๆมาบ้างว่า ในนิทานนี้ มีเพียง “พระถังซัมจั๋ง” เท่านั้นที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริง ส่วนตัวละครอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมาเป็นนัยยะเท่านั้น หงอคง(เห้งเจีย) คือ โทสะ ตือโป้ยก่าย คือโลภะ
---และ ซัวเจ๋ง คือ โมหะ(ความไม่รู้)
---แต่ก็คิดว่าเป็นเพียง conceptคร่าวๆเท่านั้น ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากมาย จนกระทั่ง...
---เมื่อผมได้อ่านบทความ “ไซอิ๋ว” นี้ (จากบุคคลนิรนามในโลกcyber)
---โดยผมได้ไปสัมผัสกับย่อหน้าหนึ่งเข้า “ผมทึ่ง” เพราะ เขาพูดถึง ฤทธิ์เดชของ “หงอคง”
---ที่สามารถจะเหาะไปไหนก็ได้ตามใจคิด เหมือนกับ “ใจ” ของคนเรา
---ที่ผมเองเพิ่งได้ฟังมาเมื่อวานจากคุณพ่อของเพื่อนคนหนึ่งที่พูดถึงการเปรียบ “จิต” เป็นลิง
---แล้วให้สังเกต พฤติกรรมของมัน ไม่ต้องไปวิ่งตามมันให้เหนื่อย
---ผมซาบซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้อ่านบทความนี้ต่อไป “นัยยะ” ทุกอย่างในเรื่อง “ไซอิ๋ว” ไม่ใช่แค่ conceptเท่ห์ๆลอยๆ ไกลตัวไปอิงทางเทพเจ้าฝั่งมหายาน อย่างที่เคยคิดว่า “ควรมี” หรือ “ อยากให้มี”
---มันลึกซึ้งกว่านั้นมาก ทั้งเรื่องของ ขันธ์5 (ฝ่ามือพุทธองค์)ที่หงอคงที่มีฤทธิ์มากขนาดไหนก็เอาชนะไม่ได้
---นัยยะของ “เมตตา” (เจ้าแม่กวนอิม” หรือ ความหลงผิดชั้นสูงอย่าง “พระยูไลตัวปลอม” ทึ่งครับ....
*อย่างไรเสีย ผมคงอธิบายได้ไม่ดีเท่าเจ้าของบทความแน่ ก็เชิญอ่านกันเลยครับ (ขอขอบคุณบุคคลนิรนามเจ้าของบทความนี้)
---เมื่อกล่าวถึง ภาพยนต์เรื่อง ไซอิ๋ว คิดว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จักและคงเคยชมภาพยนต์เรื่องนี้มาแล้วทั้งสิ้น หลายคนติดตามชมด้วยความสนุกสนานน่าติดตาม หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องจริง หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่เกินจริง และเพื่อทำให้เราได้รับทราบข้อมูลที่(คิดว่าน่าจะ)เป็นจริงจากการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่างจึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไซอิ๋วดังต่อไปนี้
*ความหมายสัญลักษณ์ในไซอิ๋ว มีดังนี้
---พระถังซัมจั๋ง คือ ศรัทธา คำว่า ซัมจั๋ง คือ ศรัทธา 3 (ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) จะไปเชิญพระไตรปิฎก ก็คือ จะไปถึงนิพพานนั่นเอง ศรัทธานั้นคือความ เรียบร้อย แจ่มใส มุ่งมั่น แต่อ่อนแอ ไม่มีฤทธิ์สู้ปีศาจ จึงเป็นที่ต้องการของหมู่มารที่จะจับกินเสีย ปัญญาซึ่งมีฤทธิ์มาก จำต้องอาศัยศรัทธา เพื่อเริ่มการปฏิบัติสู่ "มรรคผล" (คือไปหาพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป)
---เห้งเจีย คือลิงเปรียบเสมือนใจของคนเรา คือสามารถคิดไปไกลได้หลายหมื่นโยชน์ในพริบตาเดียว เมื่อครั้งยังหลงผิดก็อาละวาดทั่วไปทั้งสวรรค์ และมนุษย์ คิดไปไกลขนาดไหนก็สามารถตีลังกาไปได้แต่ก็ไม่พ้น ขันธ์ 5 (ในนิยายไม่พ้นมือ 5 นิ้วของพระพุทธองค์) ครั้นเริ่มสนใจศึกษาธรรมะ ก็ต้องใช้ "สติ" คือมงคลครอบหัวไว้เตือนใจเวลาจะทำผิด กระบองของเห้งเจีย เปรียบเหมือน ปัญญาเมื่อไม่มีธรรมะ ก็ใช้ในทางผิด เที่ยวรังแกชาวบ้าน เพิ่มพูนกิเลสให้กับตน เมื่อพบพระถังซำจั๋ง(ธรรมะ) ก็มีสติ(มงคล) และมีเป้าหมายคือไปเอา พระไตรปิฎก(นิพพาน) จึงใช้กระบอง(ปัญญา) ต่อสู้กับ ปีศาจ(กิเลส) ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของตนปัญญา
---หงอคง แปลว่า ว่างเปล่า ลิงตัวนี้ ก็คือ ปัญญา ทำไมจึงเปรียบปัญญาว่าเป็นลิง ก็เพราะไม่ยอมหยุดนิ่ง เที่ยวได้รู้ทั่ว ซุกซนไปทุกที่ ตอนแรก ปัญญาก็ว่างเปล่า ค่อยๆเรียนรู้วิชาต่างๆแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ วิชาที่เรียน ก็เป็นวิชาทางธรรมะ ที่แปลงกายได้ 72 ก็คือ ปัญญา 72 ซึ่งมีฤทธิ์มาก สามารถทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ต้องปวดหัว
---แม้มีฤทธิ์อำนาจแล้ว แต่ยังไม่บรรลุธรรม จึงถูกพระยูไลเสกภูเขา๕ ยอดติดกันทับไว้ภายในและให้หงอคงกินน้ำเหล็กหลอมละลายทุกครั้งที่หิว (เปรียบดังความพยายามของโพธิจิตที่ไปสู่มรรคผลแห่งพุทธภาวะ ความไม่รู้ในขันธ์ ๕ ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะบรรลุได้ เปรียบว่าหนักเหมือนดั่งภูเขาทับไว้
---และหากยึดมั่นว่าตัวกู ของกูคราใด ก็เป็นทุกข์ดุจดังกินน้ำเหล็กหลอมละลายยามหิวฉันนั้น) เพื่อรอพระถังซำจั๋ง(ศรัทธา + ขันติ) มาช่วยและบวชให้ โดยการสรวมมงคลสามห่วง (ไตรลักษณ์ – อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)ได้ชื่อใหม่ว่า เห้งเจีย (กำราบผี ก็คือ กำราบอวิชชา) เพื่อให้ร่วมเดินทางไปไซที (นิพพาน) ในฐานะศิษย์ของพระถังซัมจั๋ง
---เห้งเจียบอกว่า อาจารย์ไม่ต้องลำบาก ผมตีลังกา 7 ทีก็ถึงชมพูทวีปแล้วพระถังฯบอกว่า ไม่ได้ ต้องไปเองนั่นก็คือ ปัญญานั้นไปถึงนิพพานได้อยู่แล้ว แต่เป็นเพียง "สุตตมยปัญญา" รู้นิพพานได้ก็โดยความหมายทางปริยัติ แต่ศรัทธาบอกว่าไม่ได้ ต้องไปเอง เห้งเจียมีกระบองสมปรารถนาเป็นอาวุธ (ภาษาจีนว่า อยู่อี่) ไม่ใช้ก็หด จะใช้ก็พองโตขยายขึ้น อาวุธนี้จะใช้ได้ก็โดยปัญญา เพราะกระบองนี้ก็คือ สติ นั่นเอง
---เมื่อเดินทางไม่นานก็ได้ ม้าขาว คือ วิริยะ ตั้งแต่ต้นต้องมีวิริยะ ไปจนตลอดทางเลยจากวิริยะ ก็ควรเป็นสติ ตือโป๊ยก่าย ตือ แปลว่า หมู โป้ย แปลว่า แปด ก่าย แปลว่า ศีล ดังนั้นตือโป๊ยก่ายคือ ศีล 8 หมูตัวนี้ไม่ใช่ สติ แต่เป็น ศีล 8 เพราะที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่อินทรีย์ 5 หรือ พละ 5 ซึ่งเป็นธรรมะที่ต้องสูงไปกว่า สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน และอิทธิบาท แต่ในที่นี้ ก็คือ ศรัทธา วิริยะ ศีล สมาธิ ปัญญาที่ว่า ตือโป๊ยก่าย เป็นศีล เพราะว่าหมูเป็นสัตว์ทีมีปากยาว มีไว้สำหรับบริโภคและนินทาผู้อื่น หูยาวในการฟังหาเหตุที่จะทุศีล หมูรวมไว้ซึ่งความตะกละ ละโมบ และโสโครก ตือโป้ยก่ายมักถูกเห้งเจีย หรือ ปัญญาบังคับให้หุบปาก และหุบหู เพียงเท่านี้ ศีลก็จะมีมา มีคราด ๙ ซี่(สังฆคุณ ๙)เป็นอาวุธประจำกาย อีกทั้งแปลงกายได้ ๓๖ อย่าง เมื่อปีศาจหมูตือโป้ยก่ายได้พบพระกวนอิม(เมตตา) ได้สัญญาว่าจะรอพบพระถังซัมจั๋งโดยได้ชื่อใหม่จากกวนอิมว่า ตือหงอเหนง
---จากนั้นก็พบซัวเจ๋ง ปีศาจที่อาศัยอยู่ในม่านน้ำ นั่นคือ สมาธิเมื่อสมาธิไม่แจ่มใส ยังเป็นปีศาจจึงไม่ได้ไปแสวงบุญ จึงต้องอยู่แต่ในม่านน้ำ คือ ความพร่ามัว ไม่สงบแจ่มใส แต่พอพ้นจากม่านน้ำคือ ขึ้นบกก็จะ แจ่มใส คอยระวังป้องกันใกล้ชิดกับศรัทธาเสมอปัญญา(หงอคง)ที่หลุกหลิกช่างสังเกตสนใจเหมือนลิง และมีอำนาจมากมายเป็นพี่ใหญ่แปลงกายได้ 72 อย่าง ซัวเจ๋ง คือ สมาธิ มักถูกโป๊ยก่ายกดขี่เพราะมาทีหลัง ต้องเป็นน้องเล็ก ก็คือ สมาธิ จะเกิดได้ต้องได้ศีลดี และจะใกล้ชิดคอยเฝ้าสัมภาระและพระอาจารย์เสมอ เพราะสมาธินั้นประคองอยู่เสมอกับศรัทธา หากไม่มีศรัทธา สมาธิเป็นอันวุ่นวายไม่เป็นตัวตนได้ ซัวเจ๋ง มีพลั่ววงเดือนเป็นอาวุธ คือ แสงสว่างเป็นนิมิต [โอภาส ]
*กวนอิม คือพระอวโลกิเตศวร ( อว+โลก+อิศวร = พระผู้เป็นใหญ่ซึ่งมองลงมายังสัตว์โลก) เป็นตัวแทนของ "เมตตา" ตลอดเรื่องราวใน”ไซอิ๋ว”
---บ่อยครั้งที่เห้งเจีย (ปัญญา) ไปขอความช่วยเหลือจากกวนอิม (เมตตา) จึงจะสามารถชนะปีศาจต่าง ๆ (กิเลส ตัณหา) ได้ นั่นหมายถึง เมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง
---เพราะหากการที่มีปัญญาแต่ขาดความเมตตา ก็มักจะเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย เป็นโมหะ เป็นความหลง ตัวกู ของกู ถือตัวถือตนว่าเก่ง มีความสามารถ โมหะ นี้จะพัฒนาไปจนกระทั่งคิดจะเบียดเบียนผู้อื่นร่ำไป ดังนั้นเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญาจึงเป็นธรรมชั้นสูงที่ปุถุชนควรพยายามเข้าใจ และฝึกฝนให้อยู่ในแนวแห่งสัมมาทิฏฐินี้ ก็จะเกิดสันติสุขขึ้น
---พระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา) การเดินทางไปนิพพาน เพื่อไปนำพระไตรปิฎกมาถวายพระเจ้าถังไทจง ถึงแม้การเดินทางครั้งนี้จะต้องเผชิญและต่อสู้กับปีศาจต่าง ๆ (กิเลส) หน้าที่ตกเป็นของเห้งเจีย(ปัญญา) แต่เมื่อถึงคราวอับจนพระถังซัมจั๋งจะโดนปีศาจจับตัว ในหลาย ๆ ครั้งพระโพธิสัตว์กวนอิมก็จะออกมาช่วยเสมอ โดยให้หงอคง(ปัญญา)ต่อสู้กับกิเลสก่อนจนกว่าหมดแรงและเมื่อถึงเวลาคับขัน พระโพธิสัตว์ก็จะมาแนะวิธี ชี้ให้เห็นเหตุ หากเกินกำลัง ก็ให้เห้งเจียไปเข้าเฝ้าพระยูไล
*พระยูไลในหมายถึง พระอริยะที่เคยเดินทางสายนฤพานมาก่อน ได้เคยพบปะกับวิปัสสนาปัญญา และมรรคปัญญา ที่แท้จริงมาแล้วมาชี้ให้ปัญญารู้ว่า ที่มีอยู่ยังไม่ใช่สุดยอด
---ดังนั้น เรื่องราวไซอิ๋วจึงเป็นเรื่องที่ ลิง หมู เงือก รวม ๓ พี่น้อง แปลงกายได้ ๑๐๘ อย่างหรือ รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา ๑๐๘ นั่นเองซึ่ง จิตที่มุ่งแสวงหานิพพาน จำเป็นต้องใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว(เอกัคคตาจิต)มุ่งหน้าสู่นิพพาน และระหว่างทางได้พบกับกิเลส ดังนั้นในบางครั้งก็ใช้ปัญญาเข้าแก้ไข ในบางครั้งก็ใช้ศีลเข้ามาช่วย หรือในบางครั้งก็ใช้สมาธิมาช่วยในวิธีต่าง ๆ กัน อันได้แก่อริยมรรค (มรรค ๘) ซึ่งพอจะจัดเป็นหมวดหมู่ของมรรค ๘ได้ดังนี้ กลุ่มปัญญา (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป), กลุ่มศีล (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว) และกลุ่มสมาธิ (สัมมาวายาโม, สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ)
---ในระหว่างเดินทางในช่วงแรกเป็นเขตโลกียะ เห้งเจีย(ปัญญา) ยังลุกลี้ลุกลนและยังเถื่อนอยู่ ตือโป้ยก่าย(ศีล) ก็ยังเต็มไปด้วยความอยากในการบริโภค มักจะเผลอที่จะทุศีล หรือคอยจะหยุดเพื่อจะได้บริโภคดุจหมูจึงมักไปติดกับของปีศาจอยู่เสมอ ในระยะต้น ๆ จึงมีเรื่องขัดแย้งและทะเลาะกันกับเห้งเจียตลอดเวลา จนกระทั่งเริ่มเข้าเขตโซจ๋อก(โลกุตระ) เห้งเจียก็เปลี่ยนเป็นเรียบร้อยขึ้น ส่วนโป้ยก่ายค่อยระงับความอยากได้และมีปัญญามากขึ้น ซัวเจ๋ง(สมาธิ)ก็ค่อย ๆ ซึมซับปัญญาจากเห้งเจีย ดังนั้นเมื่อเข้าเขตโซจ๋อก(โลกุตระ) เจ้าสามเกลอเริ่มมีความเป็นหนึ่งเดียว ที่ว่า ศีลอันใดสมาธิอันนั้น สมาธิอันใดปัญญาอันนั้น
---เมื่อกลับมาพูดถึงการเดินทางในเช้าตรู่ของการเดินทางวันแรก มีหมอกลงจัดสองข้างทาง พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา+ขันติ) วนเวียนหลงทางไปถึงภูเขา ซังขี้ซัว (ทางสองแพร่ง) และเผชิญปีศาจ ๓ ตนคือ ปีศาจเสือ ปีศาจหมี และปีศาจควายดำ ปีศาจทั้ง ๓ นั้นได้แก่ โลภะโทสะและโมหะ ซึ่งทำให้พระถังซัมจั๋งเกิดความลังเล (ทางสองแพร่ง) ที่จะเดินทางไปสู่พุทธภาวะ เพราะต้องละทิ้งซึ่ง โลภ โกรธ หลง แต่เมื่อใช้ขันติทนต่อการบีบคั้นของกิเลสไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ก็สามารถรอดพ้นจากหล่มของความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งในที่สุดพระถังซัมจั๋ง (ศรัทธา + ขันติ)ก็สามารถรอดพ้นและเดินทางต่อไปได้ จึงได้พบเห้งเจียที่ภูเขาห้านิ้วครอบทับไว้
---เดินทางมาได้ไม่นานก็พบกับโจรทั้งหก เห้งเจียเห็นเข้าก็ตรงเข้าตีจนตาย เพราะรู้ว่าโจรทั้งหกได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการเดินทางไปไซทีในครั้งนี้ ดังนั้นจึงต้องตีให้ตาย เพราะหากจะเดินทางเข้าสู่พุทธภาวะจะต้องกำหนดรู้ในอายตนะทั้งหก
---จากนั้นการเดินทางก็เผชิญกับปีศาจมากมายหลากหลายรูปแบบ ปีศาจก็จะมีฤทธิ์เดชที่มากขึ้นเรื่อย นั่นก็คือกิเลส ตัณหาที่มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นหากไม่กำหนดจดจ่อเพื่อรู้เท่าทันแล้ว บางครั้งแยกไม่ออกเอาเลยว่าเป็นกิเลสหรือไม่ ก็จะทำให้หลงติดอยู่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จนกระทั่งเมื่อเข้าใกล้เขตโซจ๋อก(โลกุตระ) ปีศาจมีฤทธิ์มากได้แก่เห้งเจียตัวปลอม ตือโป้ยก่ายตัวปลอม ซัวเจ๋งตัวปลอม พระยูไลตัวปลอม ซึ่งเป็นปีศาจที่มีฤทธิ์เท่าเทียมกันจนยากที่จะเอาชนะได้ ต้องอาศัยเจ้าแม่กวนอิมมาช่วย เพราะว่ากิเลส หรือ ตัณหา นั้นบางครั้งมิสามารถเอาชนะได้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แต่บางครั้งต้องอาศัยความเมตตา (กวนอิม ) จนในที่สุดทั้งเห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋งก็สามารถเอาชนะตัวปลอมได้ ณ จุดนี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเอาชนะปีศาจทำได้ง่ายขึ้นนั่นก็คือ มิจฉาปัญญา ได้ เปลี่ยนเป็น สัมมาปัญญา, มิจฉาศีล เปลี่ยนเป็น สัมมาศีล, มิจฉาสมาธิ เปลี่ยนเป็น สัมมาสมาธิ และรวมกันเป็นหนึ่งไม่มีความขัดแย้งกัน สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
---นอกจากนี้ยังมีปีศาจที่เป็นพระยูไลปลอม เป็นกิเลสที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส เป็น อุปกิเลสที่เกิดขึ้นในระหว่างวิปัสสนานั้น ๆ เป็นความเผลอไปยึดมั่นสำคัญว่าตนได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ทำให้พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา) เข้าใจว่าบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ไม่คิดจะเดินทางต่อ แต่เห้งเจีย(ปัญญา) รู้เท่าทันเพราะว่าเห้งเจียตีลังกาไปไซทีนับครั้งไม่ถ้วนย่อมรู้ว่าพระยูไล (พุทธภาวะ) นั้นเป็นอย่างไรจึงสามารถปราบปีศาจและหลุดพ้นออกมาได้
---ในเขตโลกุตระ (โสดาปัตติผล) ก็มีความร่มรื่นทั้งสองข้างทาง แต่แล้วก็ประสบพบมังกร ๙ เศียร(มานะ ๙) ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายกาจมาก เห้งเจียสู้ไม่ได้ จำต้องเหาะหนีขึ้นสู่สวรรค์ชั้นพรหม ไปหาท่านอิ๊กกิ๊วเค้าทีจุนผู้เป็นเจ้าของมังกร ๙ เศียรพรหมทีจุนเหาะลงมายังโลกมนุษย์แล้วจับมังกร ๙ เศียรที่แปลงเป็นปีศาจปู่เจ้าเก๊าเล่งขึ้นสู่พรหมโลก กิเลสตัวนี้นับว่าเป็นกิเลสชั้นพรหมโน่น คือกิเลสของความเป็นอาจารย์ เพื่ออวดตน หวังสอนผู้อื่นจะได้เป็นอาจารย์เพื่อให้มีคนนับถือ มานะทั้ง ๙ได้แก่
---ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่าเขา”
---ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอเขา”
---ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
---ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่าเขา”
---ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอเขา”
---ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
---ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่ามึง”
---ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอเขา”
---ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
---มานะทั้ง ๙ เป็นกิเลสชั้นพรหม การละกิเลสลักษณะนี้ได้ต้องตัดขาดจากการเปรียบเทียบ และต้องอาศัย ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมแรงกันทำให้ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลงไม่ยึดเขา ยึดเรา หากทำได้แล้วนับเป็นการย่างเข้าเขตพระอริยะเจ้าในระดับ "สกคาทามี"
---ในที่สุดก็จะบรรลุถึงลำน้ำลิ้งหุ้นโต้ ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก ขณะนั้นมีคนแจวเรืออยู่ริมน้ำและร้องตะโกนให้พระถังซัมจั๋งลงเรือ เมื่อพระถังซัมจั๋งเห็นเรือที่ไม่มีท้อง ก็บังเกิดความสงสัยว่าจะข้ามไปได้อย่างไร น้ำก็เชี่ยวกรากแต่เรือที่ใช้ข้ามกลับเป็นเรือท้องโหว่ ความจริงแล้วหมายความว่าท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของกิเลสและตัณหานั้น
---หากเรามีความสงบนิ่งว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่น(สุญญตา) หากสามารถกระทำได้ดั่งนี้ อรหัตผลก็จะบังเกิดขึ้นแล้ว
---ครั้นเมื่อถึงฝั่งก็พบพระไตรปิฎก แต่เมื่อเปิดออกมาปรากฏว่าไม่พบตัวอักษรใด ๆ เลย พระถังซัมจั๋งถึงกลับถอนใจใหญ่ ก็ได้ยินเสียงของพระยูไลว่า พระไตรปิฎกไม่มีตัวอักษรนั่นแหละถึงจะเป็นฉบับที่แท้จริงและวิเศษสุด พระถังซัมจั๋งก็เข้าใจในบัดดลว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน ธรรมชาติทั้งมวลย่อมไม่สามารถขีดเขียนออกมาได้หมด ความรู้แจ้งในธรรม(ชาติ)รู้ได้ด้วยตัวเองไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เมื่อท่านค้นพบธรรม(ชาติ)ด้วยตัวของท่านเองแล้ว ก็จะพบว่า ธรรม(ชาติ)ทั้งมวลสามารถรวบรวมได้ทั้งหมดในไตรปิฎกฉบับที่ไม่มีตัวอักษรเท่านั้น ทุกสิ่งย่อมเป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงต้องแปรเปลี่ยนทุกสิ่งย่อมเป็นทุกขัง ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ ทุกสิ่งย่อมเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน
---เมื่ออ่านถึงถึงตรงนี้แล้วหวังว่าผู้อ่านคงจะสามารถดูภาพยนต์เรื่องไซอิ๋วได้สนุกและมีความเข้าใจมากขึ้น (จบครับ)
*ในแง่มุมประวัติศาสตร์
---ไซอิ๋ว เป็นนิยายจีนแต่งขึ้นประมาณปี พ.ศ.2133 ช่วงราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน หลังเหตุการณ์จริงราว 600 ปี โดยนำเค้าโครง เรื่องการเดิน ทางของหลวงจีน " เสวียนจั้ง "ซึ่งเป็นเรื่องของการเดินทางไปยังชมพูทวีป (อินเดีย) เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนาของหลวงจีนชื่อ พระถังซำจั๋ง โดยมีสัตว์ 3 ตัวเป็นเพื่อนร่วมทาง คือ เห้งเจีย (ลิง) ตือโป๊ยก่าย (หมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ระหว่างการเดินทางต้องพบกับการขัดขวางของเหล่าปีศาจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย และมีสัตว์เป็นตัวเอก ทำให้ไซอิ๋วได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนมากที่สุดในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่อง เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ สามก๊ก,ความฝันในหอแดง และ ซ้องกั๋ง
---พระถังซำจั๋ง มีตัวตนจริงเมื่อ 1,300 กว่าปีที่แล้ว โดยได้ฉายานามหลังจากออกบวชว่า เสวียนจั้ง พระเสวียนจั้ง ดำรงชีวิตอยู่ใน ช่วงปลายราชวงศ์สุยถึงช่วงต้นราชวงศ์ถัง ท่าน มีนามเดิมว่า เฉินอี เกิดที่ลั่วโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) ราว พ.ศ.1145
---ด้วยความเฉลียวฉลาด สนใจการศึกษาเรียนรู้ และความใฝ่ในธรรมะ จึงบรรพชาธรรมะที่วัดจิ้งถู่ ในนครลั่วหยาง เมื่ออายุ 13 ปี
---ต่อมาเมื่อราชวงศ์สุยถึงจุดสิ้นสุด บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านจำต้องย้ายสถานที่จำวัดจากนครลั่วหยาง ไปยังฉางอาน (ซีอานปัจจุบัน) แต่ด้วยความวุ่นวายในการแย่งชิงบัลลังก์ในนครหลวงทำให้ไม่เหมาะที่จะจำวัด ท่านและพี่ชายจึงมุ่งลงใต้ย้ายไปยังนครเฉิงตู เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว พระเสวียนจั้งจึงย้ายกลับมาจำวัดที่นครฉางอานอันเป็นเมืองหลวง และศูนย์กลางของศาสนาพุทธในจีนขณะนั้น เพื่อเสาะหาพระอาจารย์ที่มีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรม และฝากตัวเข้าศึกษาด้วย
---ในประเทศจีนขณะนั้น พระพุทธศาสนาได้เดินทางจากประเทศอินเดียผ่านเส้นทางสายไหมอันทุรกันดาร เข้ามาตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันออก เวลาผ่านมาถึงสมัยถังรวม 500 กว่าปีแล้ว การตีความพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แตกแขนงออกไปเป็นหลากแนวทางหลายสำนัก เมื่อ พระเสวียนจั้งศึกษาพระคัมภีร์จนแตกฉานมากขึ้นก็บังเกิดข้อสงสัยขึ้นมากมาย แต่เมื่อหาคำตอบแล้วกลับพบว่า แต่ละสำนัก ต่างก็ตีความไปคนละทิศละทางดังนั้นท่านจึงตัดสินใจว่า จะต้องเดินทางย้อนไปยังดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมและคัดลอกนำกลับมายังแผ่นดินจีนให้ได้
---การเดินทางออกจาก มหานครฉางอานในช่วงที่สงคราม การเปลี่ยนราชวงศ์เพิ่งสงบ และเกิดการแย่งบัลลังก์กันในราชสำนักนั้นกลับมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 1170 อันเป็นปีแรกที่ หลี่ซื่อหมิน เพิ่งแย่งบัลลังก์มาจากพี่ชายหลี่เจี้ยนเฉิงและขึ้นครองราชย์แทนหลี่ยวนผู้ พ่อได้สำเร็จ เนื่องจากขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ องค์ฮ่องเต้จึงควบคุมการเดินทางเข้าออกนครฉางอานอย่างเข้มงวด เมื่อ พระเสวียนจั้ง ได้ขออนุญาตเดินทางออกจากฉางอานไปยังอินเดีย (เหมือนกับขอพาสปอร์ตในปัจจุบัน) ถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ท่านจึงแอบลักลอบเดินทางออกจากฉางอานโดยผิดกฎหมาย ในพ.ศ.2272 โดยท่านได้เดินทางผ่านเมืองอู้อี้ เกาเชียง อัคนี คุจี พาลุกา ซุเย แบะจุ้ย สมารคันต์ ตุขารา กปิศะ บามิยัน ตักกศิลา ชาลันธร จนถึงอินเดียเหนือ ผ่านทะเลทรายโกบี สุดท้ายสามารถเดินทางมาถึงอินเดียโดยปลอดภัย
---จากนั้นได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี นาลันทา เป็นสถานศึกษาฝ่ายมหายาน โดยศึกษาทั้ง ๑๘ นิกาย รวมทั้งพระเวท เหตุวิทยา ศัพทวิทยา จิกิตสาวิทยา สางขยะวิทยา เมื่อพระเสวียนจั้งกลับสู่ประเทศจีน ได้รับการต้อนรับจากพระสงฆ์และพุทธบริษัทชาวจีนอย่างดี และได้รับการยกโทษที่แอบเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์ชายทรงพระนามว่า ถังซัมจั๋ง แปลว่าองค์ชายไตรปิฎกธรรม
*เกี่ยวกับผู้แต่งวรรณกรรม "ไซอิ๋ว"
---อู๋ เฉิงเอิน (จีนตัวย่อ: 吴承恩; จีนตัวเต็ม: 吳承恩; พินอิน: Wú Chéng'ēn, มีชีวิตราวปี ค.ศ. 1505–1580[1] หรือ 1500-1582[2]) เป็นนักกวีชาวจีน สมัยราชวงศ์หมิง มีชื่อเสียงจากการประพันธ์นิยายอมตะเรื่อง ไซอิ๋ว
---เขาเกิดในครอบครัวพ่อค้า พ่อของเขาชอบอ่านหนังสือและสะสมหนังสือไว้มาก เขามีสติปัญญาดีมากมาแต่เด็ก นอกจากชอบอ่านหนังสือแล้วยังศึกษาเรื่องแปลก มหัศจรรย์ เขาศึกษานิทานชาวบ้านซึ่งมีผลต่อการเขียนเรื่อง ไซอิ๋ว ด้วย อู๋ เฉิงเอิน สอบเข้ารับราชการตามระบบการศึกษาและสอบคัดเลือกของราชวงศ์หมิงหลายหนแต่สอบไม่ได้ แต่ได้คัดเลือกเป็นกรณีพิเศษไปเป็นปลัดอำเภออยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ลาออก หันมาเขียนหนังสือ เขามีฝีมือการเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่มาก แต่โด่งดังสุดด้วยเรื่อง
-------------------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
ที่มา..."ไซอิ๋ว"อ้างอิงจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/อู๋_เฉิงเอิน
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัปเดทวันที่ 31 ส.ค. 59
ความคิดเห็น