/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

เมถุนสังโยชน์ ๑๐

เมถุนสังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์ ๑๐ คือ







---กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์, สิ่งที่ผูกมัด ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ทําให้ไม่สามารถสลัดหลุด ออกมาได้  อันมี ๑๐ ประการ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ   ๒. วิจิกิจฉา   ๓. สีลัพพตปรามาส   ๔. กามราคะ   ๕. ปฏิฆะ   ๖. รูปราคะ   ๗. อรูปราคะ   ๘. มานะ   ๙. อุทธัจจะ   ๑๐. อวิชชา 

  

*โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ 


---โอรัมภาคิยสังโยชน์  หรือสังโยชน์เบื้องตํ่า คือกิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบ อันมี ๕ ซึ่งเมื่อระงับหรือละได้ ย่อมเกิดโลกุตตรสุข จางคลายจากทุกข์ได้ตามฐานะแห่งตน 


*๑.สักกายทิฏฐิ - สักกาย


---มีความหมายว่า กายแห่งตน,เรื่องของกายตน, ส่วนทิฎฐิ มีความหมายว่า ความคิด,ความเห็น,ความเชื่อ ในที่นี้มีความหมายว่าความเห็นผิดเชื่อผิด อันเป็นปรกติของปุถุชนด้วยอวิชชาอันย่อมมีมาแต่การถือกำเนิดเป็นธรรมดา กล่าวคือ จึงย่อมมี สักกายทิฏฐิ ซึ่งมีความหมายว่า ความคิดหรือความเห็นความเข้าใจหรือความเชื่อในเรื่องกายว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตัวของตนอย่างแท้จริง(สักกายสมุทัย)โดยไม่รู้ตัวเป็นไปซึ่งเกิดขึ้นและเป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ,  ความคิดความเห็นว่าเป็นตัวของตน จึงเป็นเหตุให้ถือตัวตน เช่น เห็นรูปว่าเป็นตน เห็นเวทนาว่าเป็นของตน ฯ.


---กล่าวคือ เพราะย่อมยังไม่มีความเข้าใจอย่างมีสติสัมปชัญญะในความเป็นเหตุเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้เท่านั้นของสังขาร  จึงไม่เคยรู้ ไม่เคยระลึก ไม่เคยพิจารณา  จึงย่อมไม่มีเครื่องรู้เครื่องระลึกเครื่องเตือนสติ  จึงไม่เกิดสัมมาปัญญาหรือญาณอย่างน้อมยอมรับว่า ตัวตนหรือรูปกายของตนนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอย่างแท้จริง สักแต่ว่าเกิดมาแต่การประชุมปรุงแต่งกันขึ้นของเหตุปัจจัยของธาตุ๔  หรือชีวิต(ชีวิตินทรีย์)ที่มีร่างกายตัวตนก็สักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ หรือเบญจขันธ์  หรือสังขารร่างกายล้วนเป็นไปตามพระไตรลักษณ์ เหมือนดังสังขารทั้งปวงที่ต่างล้วนต้องเกิดมาแต่การที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกัน หรือประชุมปรุงแต่งกันขึ้นมาเพียงชั่วสักระยะหนึ่ง   จึงล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่อย่างแปรปรวน แล้วดับไปเป็นธรรมดา ไม่เป็นอื่นไปได้  จึงล้วนเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวมีตนอย่างเป็นแก่นแท้จริง  เมื่อไม่มีตัวตนจึงย่อมไม่ใช่ของตัวของตน หรือของใครๆได้อย่างแท้จริง  


(กด_ลิงค์บน)

---แต่ด้วยอวิชชาดังนั้นจึงมีความคิดความเห็นอย่างยึดมั่นยึดถือโดยไม่รู้ตัวอยู่ภายในอยู่ตลอดเวลาใน รูปขันธ์(กายตน)  ตลอดจนในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของตนหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของตนอย่างเชื่อมั่นหรือรุนแรงตามที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ทารก  


---โดยสัญชาตญาณ(ความรู้ที่มาแต่การเกิดเป็นธรรมดา)โดยไม่รู้ตัวหรืออวิชชา,  เพราะความไม่รู้และไม่รู้เท่าทันว่าตัวตนหรือกาย(รูปขันธ์)ก็สักแต่ว่าประกอบด้วยเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔หรือชีวิตก็เป็นเพียงเหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕  จึงเป็นสังขาร จึงย่อมมีความไม่เที่ยง(อนิจจัง) และคงทนอยู่ไม่ได้(ทุกขัง) เป็นอนัตตาที่ ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเราอย่างแท้จริง เป็นเพียงมวลหรือก้อนของเหตุปัจจัยคือ ธาตุ ๔ ที่ประชุมปรุงแต่งเป็นปัจจัยกันขึ้น จึงขึ้นอยู่กับธาตุ ๔ ไม่ขึ้น อยู่กับตัวตนที่หมายถึงเราหรือของเราแต่อย่างใด


---เพียงแต่เป็นมายาจิตหลอกล่อให้เห็นว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา  ทั้งๆที่เป็นหรือเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้งสิ้น,  และไม่รู้และไม่รู้เท่าทันอีกว่า เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ หรือขันธ์ที่เหลือทั้ง ๔ ก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ล้วนเป็นเพียงสังขารเช่นกันทั้งสิ้น จึงเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมกัน จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเช่นกัน  ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นตัวตนของตน หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของตนอย่างแท้จริง ดังนี้เป็นต้น   จึงไม่มีเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ ให้เกิดนิพพิทา ให้คลายความยึด, ความอยาก, ความกังวลหรือความหลงใหลในกายสังขารตน หรือขันธ์ ๕ อันเป็นที่หวงแหนยิ่งเหนือสิ่งใดโดยไม่รู้ตัว  อันเป็นบ่อเกิดของอุปาทาน - ความยึดมั่นพึงพอใจในตัวตนหรือของตนด้วยกิเลสในขั้นต้นของปุถุชนทั่งปวงโดยทั่วไป 


---การเจริญวิปัสสนาเพื่อถอดถอนสักกายทิฏฐิย่อมต้องอาศัยพื้นฐานจากการพิจารณาหรือโยนิโสมนสิการในความเป็นเหตุปัจจัยให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ดังจากอิทัปปัจจยตา,  ปฏิจจสมุปบันธรรม(อันพึงเกิดขึ้นจากการพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง),  ขันธ์ ๕(การเห็นการเป็นเหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ หรือกระบวนธรรมของขันธ์ ๕),  พระไตรลักษณ์ ฯลฯ.  


---อันพึงเจริญตามจริต สติ ปัญญา ฯ.


---เพียงแต่ว่าต้องเป็นไปในลักษณะของการเจริญวิปัสสนาด้วยปัญญาอย่างจริงจัง ให้เห็นเข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผล จนเห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยในที่สุดนั่นเอง  Please download Java(tm).   


---เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจถึงกายและตัวตน เป็นเพียงสมมติสัจจะ ที่แม้อาจถือว่าจริงแต่ก็จริงเพียงระดับหนึ่งหรือจริงเพียงชั่วระยะหนึ่ง ที่ล้วนเกิดมาแต่เหตุปัจจัย จึงเป็นเพียงสังขารชนิดหนึ่งภายใต้พระไตรลักษณ์ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนอย่างเป็นแก่นแกนแท้จริง,  กล่าวคือไม่เข้าใจความเป็นเหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบันธรรม   จึงไม่เข้าใจสังขาร(สิ่งปรุงแต่งในพระไตรลักษณ์) ๑   จึงไม่เข้าใจพระไตรลักษณ์และอนัตตา๑  จึงย่อมไม่สามารถนำไปน้อมนึกคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาญาณอย่างแจ่มแจ้งตามจริงหรือปรมัตถ์ได้ในสักกายนิโรธ  (ปฏิปทาสูตร ว่าด้วยเกิดดับของสักกายทิฏฐิ) 

(กด_ลิงค์บน)

*๒.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย


---โดยเฉพาะในพระธรรม อันคือ ธรรมคำสอนโดยพระพุทธองค์ ที่มีพุทธประสงค์สูงสุดล้วนเป็นเรื่องของสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ที่เกี่ยวกับความทุกข์ ดังเช่น การเกิดขึ้นของทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อให้รู้เหตุ  ก็เพื่อนำไปใช้ในการดับไปแห่งทุกข์ต่างๆนั่นเอง จึงยังให้เกิดความสุขจากการหลุดพ้น อันสุขยิ่งกว่าสุขทางโลกนั่นเอง,  อันวิจิกิจฉาหรือความลังเลสงสัยนี้ ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเนื่องจากความไม่เข้าใจในธรรมของพระองค์ท่านอย่างถ่องแท้ในเบื้องต้นเนื่องด้วยอวิชชา  


---ดังนั้นเมื่อปฏิบัติไปย่อมต้องเกิดการติดขัดเป็นธรรมดา ก็เกิดความสงสัย ลังเล ไม่เชื่อถือ, ค้นหาการปฏิบัติใหม่, ลัทธิใหม่, วิธีใหม่, อาจารย์ใหม่, ที่ยึดถือใหม่ ฯลฯ. จึงเป็นการค้นหา, วิ่งเข้าหาสิ่งผิดๆด้วยอวิชชาเสียก็มี หรือเป็นการเริ่มต้นกันใหม่อยู่เสมอๆ จึงไม่สามารถบังเกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งแท้จริง,  ถ้าไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยอันจักบังเกิดขึ้นจากความเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมพื้นฐานอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดอุปสรรคในการปฏิบัติ  จิตจะไม่เกิดความลังเลสงสัย  แต่จิตจะพลิกไปพิจารณา, ครุ่นคิด, คิดค้นคว้า แก้ไขให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างสว่างขึ้นไปเป็นลําดับ กล่าวคือเจริญวิปัสสนาจนเกิดความรู้ความเข้าใจให้หลุดพ้นขึ้นนั่นเองวิจิกิจฉาจึงเป็นอุปสรรคสําคัญที่บั่นทอนสัมมาปัญญาหรือญาณไม่ให้เกิด จึงทําให้ร้อยรัดสรรพสัตว์ไว้กับทุกข์,  แต่การไม่ลังเลสงสัยก็ต้องไม่เป็นไปในลักษณะของความมัวเมาด้วยอธิโมกข์ จึงต้องประกอบด้วยปัญญาหรือการเจริญวิปัสสนา


*๓.สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อบังคับ)และวัตร(ข้อปฏิบัติ)แบบผิดๆ,


---ความถือมั่นในข้อบังคับและข้อปฏิบัติโดยสักแต่ว่าทําตามๆกันมาอย่างงมงาย อันเกิดจากการไม่เข้าใจในธรรม(สภาวธรรม)ตามความเป็นจริง แต่ปฏิบัติเป็นไปตามความเชื่อ ความยึด หรือตามประเพณีที่สืบทอดกันต่อๆมา โดยขาดปัญญาพิจารณาเนื่องด้วยอธิโมกข์ เช่น เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตรข้อปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียวก็พอเพียงแล้วในการปฏิบัติธรรม, การทำบุญเพื่อหวังผล หรือเพื่อไปสวรรค์ นิพพาน แต่อย่างเดียวก็พอเพียงแล้ว, การถือศีลอย่างเคร่งครัดแต่ฝ่ายเดียวแล้วจะบรรลุมรรคผล, คล้องพระเพื่อให้เกิดโชคลาภ คงกระพันชาตรี, การปฏิบัติแต่สมถสมาธิอย่างเดียว แล้วจะเกิดปัญญาเข้าใจธรรมหรือได้มรรคผลขึ้นมาได้เอง, การทรมานตนในการปฏิบัติ, การอ้อนวอนบูชา, การบนบาน, การบูชายัญ, การยึดมั่นใน อัตตา เจตภูต หรือแม้แต่ปฏิสนธิวิญญาณ ฯลฯ.  


---สีลัพพตปรามาส จึงรวมถึง ความยึดมั่นถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงายหรืออย่างงมงายก็ตาม  ความถือศีลพรต โดยสักว่า ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง  ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ อันล่วงธรรมดาวิสัย(หรือธรรมชาติ) 


---ดังในกรณีของ การบูชา การอ้อนวอน การบนบาน การบูชายัญ อันมีมาแต่โบราณกาล  แท้จริงแล้วเป็นการไปยึดไปถือบูชาในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ใดๆ อันยิ่งใหญ่เพราะความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจได้อย่างแท้จริงด้วยอวิชชา  ดังนั้นเมื่อไม่สามารถควบคุม,บังคับหรือกำจัดปัดเป่าในบางสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมหรือตามธรรมชาตินั่นเองที่พึงต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเป็นธรรมดาไม่เป็นอื่นไปได้อันเป็นไปตามสัญชาตญาณความกลัวขั้นพื้นฐานของสรรพสัตว์และปุถุชนทั้งปวงผู้ยังไม่มีวิชชานั่นเอง ด้วยเหตุดังนี้ แต่ครั้งโบราณกาลเพราะอวิชชาความ ไม่รู้นี่เอง เมื่อมีความกลัวเกรงสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่และไม่รู้ว่าจะทำวิธีกำจัดปัดเป่าใน ทุกข์เหล่าใดเหล่านั้นที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงมีการคิดปรุงแต่งหาวิธีการ ต่างๆ เพื่อกำจัดปัดเป่าหรือดับทุกข์จากความเกรงกลัวในสิ่งเหล่านั้น


---จึงได้มีคิดค้น เช่น การเริ่มบูชาในสภาวธรรมหรือธรรมชาติต่างๆตามที่คิดปรุง,คิดแต่งไปเอาเองว่า มีกําลังเหนือ หรือความสามารถเหนือกว่าตนหรือพวกตน  หรือเกิดการคิดนึกปรุงแต่งไป เองว่า คงต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดๆที่สามารถช่วยเหลือเกื้อหนุนให้พ้นทุกข์หรือสำเร็จ ได้ดังใจปรารถนาที่ต้องการ(ตัณหา)  ดังนั้นตั้งแต่โบราณกาลก็เริ่มมีการอ้อนวอนบูชาในสิ่งที่คิดปรุงแต่งขึ้น ดังเช่นในจอมปลวก ดิน ฟ้าอากาศ ภูเขาไฟ ต่างๆ ฯลฯ.


---ถ้าบังเอิญสำเร็จได้ตามปรารถนาเพราะบังเอิญเป็นไปตามธรรมหรือเหตุ ปัจจัย(ธรรมชาติ)เอง ก็เกิดการยึดถือในสิ่งหรือพิธีการนั้นๆว่า สามารถแก้ไข หรือกำจัดปัดเป่าได้ด้วยอธิโมกข์ และยังพัฒนาไปเรื่อยๆตามวิวัฒนา การปรุงแต่ง ความเชื่อ และการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างอธิโมกข์ด้วยอวิชชา  จนเติบโตพัฒนาเป็น ผี..สิ่งศักสิทธิ์..เทพเจ้าต่างๆหลายร้อยหลายพันองค์มานับพันๆปี..เทวดา..อินทร์..พรหม..ยม..ยักษ์ ฯลฯ.


---และพระเจ้าในที่สุด  


---แม้แต่พระพุทธเจ้า (หมายถึงไปยึดพระองค์เป็นดั่งพระเจ้าเพื่อสวดอ้อนวอนขอสิ่งต่างๆ, แท้ที่จริงควรเคารพนับถือพระองค์ท่านในฐานะเป็นองค์พระบรมศาสดา เคารพบูชาพระองค์ท่านโดยการปฏิบัติตามคําสอนหรือพระธรรมของพระองค์เป็นแก่น  อันพระองค์ท่านทรงสรรเสริญว่าเป็นการปฏิบัติบูชา อันมีอานิสงส์ยิ่งกว่าอามิสบูชา),  จริงๆแล้วล้วนเป็นการอุปโลกของจิต และเป็นไปตามลําดับขั้นตอนของการวิวัฒนาการของความเจริญ  ก็เพื่อยึดถือเป็นขวัญ เป็นกําลังใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตในบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองไม่เข้าใจและไม่สามารถควบคุมบังคับหรือกำจัดได้ด้วยตนเอง จึงมีความกลัว หรือด้วยจุดประสงค์ในอันที่จะสนองความต้องการของตนให้สัมฤทธิผล จึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆว่าคงมีอำนาจหรือพลังบางอย่างในสิ่งต่างๆเหล่านั้น ตามที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ปรุงแต่งขึ้นมา ตามคำเล่าลือ, ตามที่ตนเองยึดถือ หรืออุปโลกปรุงแต่ง หรือสืบทอดกันมาโดยไม่รู้ตัวเหล่านั้น

 

---ด้วยความยึดความเข้าใจด้วยอวิชชาว่า  ยิ่งใหญ่เหนือตน คงจะช่วยเหลือเกื้อหนุนได้ ก็ล้วนเพื่อหวังผลให้ช่วยเหลือต่างๆนาๆเพื่อให้เกิดความสัมฤทธ์ผลสมปรารถนาในบางสิ่ง หรือกำจัดปัดเป่าสิ่งต่างๆที่เกินอำนาจของตนที่จะกำจัดได้ด้วยตนเอง,  อันก็มีคุณประโยชน์ในแง่สังคมวิทยาเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน คือ ก่อให้เกิดความมั่นใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวให้คลายทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง  และเกิดความเชื่อ, การยึดถือ, การนับถือในสิ่งๆเดียวกัน  จึงเป็นจุดศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวของสังคมนั้นๆ  อันยังผลให้เกิดความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในพวกพ้องความเชื่อเดียวกัน ในระดับหนึ่ง แล้วยึดถือและปลูกฝังกันสืบต่อๆมา...ฯลฯ,  


---แต่ถ้าพูดกันอย่างตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)ในทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น  จัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างอวิชชา เพราะความไม่เข้าใจในธรรมหรือสภาวธรรม ดังเช่น ความเป็นเหตุปัจจัย ฯ.  


---อันทําให้ไม่สามารถที่จะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือจางคลายจากทุกข์ได้ตามควรฐานะแห่งตนได้อย่างแท้จริง คือไม่เป็นไปในแนวทางเพื่อการดับภพ ดับชาติ อันเป็นบรมสุข  กลับเป็นการสร้างภพ สร้างชาติ เพื่อการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว


*พระพุทธพจน์ที่ตรัสแสดง สีลัพพตปรามาส 


---ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว  ไม่ถืออุกกาบาต  ไม่ถือความฝัน  ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว  ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงํากิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันประดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก (ขุ.ชา. ๒๗/๘๗/๒๘) 


---ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบนํ้า(ชําระบาป)กบ เต่า นาค จรเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่นํ้า ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน.......(กล่าวต่อในอีกมุมมองหนึ่งอันน่าพิจารณายิ่งว่า) ถ้าแม่นํ้าเหล่านี้พึงนําบาปที่ท่านทําไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้  (ดังนั้น)แม่นํ้าเหล่านี้ก็พึงนําบุญของท่านไปได้ด้วย(เช่นกัน) (ขุ.เถรี.๒๖/๔๖๖/๔๗๓) 


---บุคคลประพฤติชอบเวลาใด  เวลานั้นได้ชื่อว่า  เป็นฤกษ์ดี  เป็นมงคลดี  เป็นเช้าดี  อรุณดี  เป็นขณะดี  ยามดี  และ(นับได้ว่า)เป็นอันได้ทําบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย  แม้กายกรรมของเขา(นั้น)ก็เป็นสิทธิโชค  วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค  มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค  ประณิธานของเขาก็(ย่อมต้อง)เป็นสิทธิโชค  ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค (สุปุพพัณหสูตร) 

(กด_ลิงค์บน)

---ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลา ผู้คอยนับฤกษ์อยู่   ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ ของประโยชน์เอง  ดวงดาวจักทําอะไรได้ (หรือโดยพิจารณาว่า ไปเปลี่ยนแปลงดวงดาวได้หรือ แต่เปลี่ยนแปลงโดยการทำเหตุให้ดีหรือถูกต้อง จึงเป็นปัจจัยในสิ่งที่ดีหรือเป็นไปได้ ) (ขุ.ชา ๒๗/๔๙/๑๖ )


---เรื่องของวิญญาณ และการเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ที่จำเป็นต้องรู้  เพื่อการถอดถอนสีลัพพตปรามาส


*เหตปัจจัยให้เกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

(กดลิงค์บน)


*๔.กามราคะ  ความกำหนัดด้วยอำนาจกามคุณ ๕


---กล่าวคือ ความใคร่ ความปรารถนา ฯ.


---ใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ อันล้วนเป็นกามราคะ ชนิดวัตถุกาม อันคือ วัตถุอันน่าใคร่ หรือวัตถุอันเป็นเหตุให้เกิดความใคร่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญ  หมายถึง เกิดความใคร่ ความปรารถนา ความอยาก ความไม่อยากเกิดขึ้นแก่ใจ แต่มีเหตุปัจจัยโดยตรงเนื่องจากวัตถุกาม


---สําหรับฆราวาสนั้น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนเองหรือโผฏฐัพพะ ก็นับว่าเป็นพรหมจรรย์ตามฐานะแห่งตน แต่ย่อมยังไม่ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์เท่านั้น  อันเนื่องจากยังบริโภคกามอยู่ กล่าวคือยังเนื่องอยู่หรือมีหน้าที่ต่างๆที่ผูกพันพึงกระทำอยู่เป็นเครื่องผูก  แต่สามารถจางคลายจากทุกข์ได้เป็นลําดับขั้นของโลกุตรธรรม(ธรรมหรือสิ่งที่อยู่เหนือสภาวะทางโลกๆ,สภาวะเหนือโลก)จึงย่อมสามารถอยู่ในโลกได้อย่างสุขสงบสบาย จึงระงับอุปาทานทุกข์ลงได้ตามควรเป็นลำดับตามโลกุตรภูมินั้นๆ  และตั้งแต่พระโสดาบันเป็นลำดับไป ไม่ว่าอย่างไรก็ตามที เขาย่อมเป็นผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพานในที่สุด อันพึงแต่เพียงรอเวลาหรือกาลวาระเท่านั้น ไม่อาจสามารถผันแปรไปเป็นอื่นได้อีกต่อไป อันท่านจัดว่า เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ย่อมถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกาลต่อไปอย่างแน่นอน ดังมีพุทธดำรัส ตรัสไว้ในพระสูตรดังนี้

(กด_ลิงค์บน)

*โสตาปันนสูตร 


---ว่าด้วยผู้เป็นพระอริยสาวกโสดาบัน  


---[๒๙๖]ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้.


---อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป  อุปาทานขันธ์คือเวทนา  อุปาทานขันธ์คือสัญญา  อุปาทานขันธ์คือสังขาร  อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ.

 

---ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่พระอริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง.  


---ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พระอริยสาวกผู้โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า. 

(พระไตรปฏก เล่มที่ ๑๗ หัวข้อที่๒๙๖) 


*๕.ปฏิฆะ วามกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิด


---ขัดเคือง ความขุ่นมัว ขุ่นข้องใจ อันเกิดแต่ความคับแค้น,ความไม่ได้ตามใจปรารถนาฯ.


---อันถึงขั้นการเกิดปฏิฆะในขั้นก่อเป็นอนุสัย หรืออาสวะกิเลส,  เมื่อละได้ก็ไม่ก่อให้เกิดปฏิฆานุสัยหรืออาสวะกิเลส (แต่ยังคงมีในระดับขันธ์ ๕ อันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ  อันเป็นดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้กล่าวไว้เรื่องความโกรธ "มี แต่ไม่เอา  แล้วมันก็ดับไปเอง" อันหมายถึงการเกิดขึ้นแต่ในระดับกระบวนการดําเนินชีวิตของขันธ์ ๕ ธรรมดาๆ แล้วเมื่อไม่คิดปรุง มันก็ดับไปเอง  แม้เป็นทุกขเวทนาอย่างหนึ่ง จึงเป็นทุกข์แต่เป็นทุกข์ธรรมชาติ ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน จึงไม่ถึงขนาดเร่าร้อน เผาลน กระวนกระวายดังไฟนรก จนตกตะกอนนอนเนื่องเป็นปฏิฆานุสัย หรืออาสวะกิเลส(ถ้าพิจารณาในแนวปฏิจจสมุปบาทธรรม)

 

*วิธีปฏิบัติเพื่อดับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ จากพระสูตร

(กดลิงค์บน)


[อันแสดงการละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ด้วยสมถวิปัสสนา คือการใช้สมถกรรมฐานร่วมกับวิปัสสนากรรมฐาน] 


*อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ 


---อุทธัมภาคิยสังโยชน์  สังโยชน์เบื้องสูง ธรรม(สิ่ง)อันละเอียดที่มัดสัตว์ไว้กับกองทุกข์ อันละได้ในพระอรหันต์เจ้าเท่านั้น อันมี ๕  เป็นการละโดยสัมมาญาณเป็นสำคัญ 


*๖.รูปราคะ หรือรูปฌาน  รูปราคะ


---หมายถึง ความติดใจ ติดเพลิน ความติดใจอยาก หรือตัณหาในรูปธรรมอันประณีต คือ รูปฌาน  หรือรูปอันวิจิตรมีอำนาจต่อจิตเป็นสำคัญ  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันวิจิตรถูกจริตถูกใจกว่ารูปในกามราคะปกติธรรมดา กล่าวคือ ละเอียดอ่อนนอนเนื่องกว่ากามราคะอันเป็นของหยาบกว่าอยู่มาก ดังเช่น  รูป -ในสิ่งต่างๆอันสวยงามถูกจริตถูกจิตถูกใจเป็นพิเศษกว่ากามราคะธรรมดา ที่สัมผัสหรือผัสสะได้ด้วยตาต่อสิ่งอันวิจิตรนั้น, รส - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยลิ้น เช่น รสชาดอันแสนเอร็ดอร่อยถูกปากถูกจริต กว่าปกติธรรมดา, กลิ่น - ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยจมูก เช่นกลิ่นอันหอมหวลถูกจริตถูกใจ, จริตถูกใจกว่ากามราคะข้างต้นในข้อ ๔ ในสิ่งที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น  กาย 

---สมถสมาธิหรือฌาน หมายถึงรูปฌาน อันยังให้เกิดความสงบ ความสบาย หรือปีติ สุข อุเบกขา เอกัคคตา อันประณีตวิจิตร อันเกิดแก่ทั้งกายและใจ (อันไปยึดมั่นถือมั่นหรือติดเพลินโดยไม่รู้ตัว   มิได้หมายถึงการทิ้งหรือไม่มี  ยังคงมีอยู่แต่ไม่ติดเพลิน   มีแค่เป็นเครื่องอยู่, หรือมีอยู่ในระดับขันธ์ ๕) 

---รูปราคะ อาจทำความเข้าใจได้ยาก  เป็นราคะที่เกิดขึ้นกับใจเป็นสำคัญหรือเป็นกิเลสกามแต่ก็เนื่องสัมพันธ์มาจากรูป(ที่หมายถึง สิ่งสัมผัสได้ด้วยอายตนะใดๆก็ตาม)เป็นสำคัญ  ไม่ใช่ตัว"รูป"เองแต่อย่างเดียวโดยตรง เช่น ดังที่กล่าวว่า รูปอันวิจิตรถูกจริตถูกใจ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนนอนเนื่องยิ่งกว่า ราคะที่เกิดขึ้นจากรูป(หมายถึง สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา)ในกามราคะหรือวัตถุกามมากมายนัก ดังเช่น รูปราคะในลูก ก็คือ ความรักความปราณีความห่วงอาทรในลูก กล่าวคือ ลูก(อันคือรูป)นั้น จะสวยงามหรือไม่สวยงามก็ตามที


---แต่ความเป็นลูกหรือรูปนั้นแฝงเนื่องสัมพันธ์หรือแสนวิจิตรถูกจริตถูกใจหรือความพึงพอใจของตน  มากกว่า"รูปหรือรูปลักษณ์ของลูก"เองว่าสวย หรือไม่สวย,ดีหรือชั่วก็ตามที  จึงจัดเป็นกิเลสกาม อันวิจิตรเกิดขึ้นแก่ใจตน จึงจัดเป็น"รูปราคะ",  รูปราคะในบิดามารดา ในรสอาหารบางอย่างบางชนิดที่ติดตรึงประณีตเป็นพิเศษกว่าธรรมดา เช่นคนนี้,เจ้านี้ปรุงอร่อยเป็นพิเศษเหนือธรรมดา อย่างนี้ก็จัดเป็นรูปราคะอันละเอียดอ่อนนอนเนื่องกว่ากามราคะในรส  รูปราคะในทรัพย์สินบางชนิด  


---ผู้เป็นพระอริยเจ้าจึงละได้อย่างเด็ดขาดเท่านั้น  ดังนั้นรูปทั้งหลายที่หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วยอายตนะ ๕ทั้งหลายที่เนื่องสำคัญกับใจหรือความพึงพอใจของตนเป็นประณีตหรือเป็นพิเศษนั่นเอง ก็จัดว่าเป็น"รูปราคะ"ส่วนรูปฌานก็เป็นรูปราคะเช่นกัน คือ ราคะที่เกิดแต่จิตหรือใจเป็นสำคัญ  โดยการอาศัยรูปหรือสิ่งที่สังขารขึ้น จนสัมผัสได้ด้วยอายตนะใดๆ อันจัดเป็นรูป เช่น ลมหายใจจากกายสังขาร พุทโธเป็นวจีสังขารอย่างหนึ่ง ฯลฯ.


---เป็นอารมณ์ในการปฏิบัติ จนเกิดความสุข ความสบาย ความสงบ จึงไปยึดติดยึดมั่นเป็นราคะทางใจในความสุขสงบสบายที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากสังขารหรือรูปอันละเอียดอ่อนหรือวิจิตรนั่นเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติ


*๗.อรูปราคะ หรืออรูปฌาน  


---การติดใจติดเพลิน ติดใจอยากในรสประณีตอันละเอียดยิ่งขึ้นของสิ่งที่เป็นอรูป อันวิจิตร ซึ่งไม่มีตัวตนรูปร่างอันสัมผัส เป็นการสัมผัสได้ด้วยใจหรือจิตนั่นเอง เช่นใน อรูปฌาน, เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ดังเช่น การติดเพลินหรือยึดมั่นในสุขเวทนาอันแสนสบายหรือถูกใจ เช่นเวทนาความรู้สึกในรูปโฉม,สิ่งสวยงามหรือทรัพย์สมบัติ(สุขเวทนา), พึงพอใจระลึกในสัญญาจําในอดีตอันเป็นสุข ฯลฯ.  


---สําหรับผู้ปฏิบัติที่ผ่านการฝึกฝนอบรมในด้านสมถสมาธิ เฉกเช่นเดียวกันกับรูปฌานย่อมหมายรวม อรูปฌาน  อันยังให้เกิดความติดเพลินความพึงพอใจในรสอันประณีตวิจิตรเหนือธรรมดาของฌานอันเกิดแต่ อรูป เป็นอารมณ์

---อรูปราคะ จึงยิ่งละเอียดอ่อนนอนเนื่องยิ่งกว่ารูปราคะเสียอีก ดังเช่น อรูปราคะในสุขเวทนาหรือเหล่าความสุข, อรูปราคะในทุกขเวทนาหรือความทุกข์, อรูปราคะในสัญญาความจำได้หมายรู้แต่อดีต, แม้แต่อรูปราคะในพระนิพพาน ที่แม้ในช่วงแรกที่ยังไม่ละในโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พระองค์ท่านสอนให้น้อมระลึกหรือน้อมนำถึงพระนิพพานอันบรมสุขอยู่เนืองๆ จัดเป็นอุปสมานุสติ  แต่ก็ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นแม้พระนิพพานนั้น กล่าวคือ ด้วยเป็นสิ่งที่ต้องละในที่สุดเช่นกัน

 

---ก็เนื่องด้วยความเป็นอรูปราคะอย่างหนึ่งนั่นเอง ที่แม้มีประโยชน์ยิ่งเพราะเป็นกำลังแก่จิตในการดำเนินการปฏิบัติเพื่อการวิปัสสนาในช่วงการละ สังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ แต่แล้วในที่สุดต้องใช้สัมมาญาณจากการวิปัสสนาในการละอรูปราคะแม้ในพระนิพพานนี้ ที่หมายถึงไม่ยึดมั่นในพระนิพพานอีกครั้งหนึ่ง,ส่วนในความสุขทุกข์นั้นเล่า เกิดแต่จิตโดยตรงและมีเหตุปัจจัยมาจากสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีตัวตนหรืออรูปคือเวทนา เกิดแต่เหตุปัจจัยดังเช่นเงา ก็ยังแฝงอยู่ด้วยราคะอันละเอียดนอนเนื่องเป็นอย่างยิ่ง มีความกำหนัด ความปรารถนาอยู่ในความสุขทั้งหลาย และวิภวตัณหาในเหล่าทุกข์ทั้งปวง โดยละเอียดโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา


*สังโยชน์ในข้อ รูปราคะและอรูปราคะ นั้นละเอียดอ่อน ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ดังนี้


---"สังโยชน์อีก ๒ ชื่อ ซึ่งพระอรหันต์จะต้องละนั้น ได้แก่ รูปราคะ และอรูปราคะ ราคะ ๒ อย่างนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกาม(กาม นี้ท่านหมายถึง วัตถุกาม) เป็นเพียงความพอใจในรสของความสงบสุข(กล่าวคือ เป็นกิเลสกาม ทั้ง)ที่เกิดมาจากการเพ่งรูป และการเพิ่งสิ่งที่ไม่มีรูป เป็นธรรมดาอยู่เองที่สุขเวทนาอันประณีต ก็ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือขั้นประณีต ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ดังคำกล่าวในรูปของบุคคลาธิษฐานที่ว่า อายุของพวกพรหมโลกนั้นยืนยาวเป็นกัปป์ๆ ทีเดียว ข้อนี้หมายความว่า ความพอใจในรูปราคะและอรูปราคะ หรือความที่ได้เป็นพรหมนั้น มีกำลังเหนียวแน่นและลึกซึ้งมาก ยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ เมื่อเทียบส่วนกันกับความพอใจในกามราคะทั่วๆ ไปของมนุษย์ กล่าวให้สั้นที่สุด ก็ว่า สุขเวทนาที่เกิดมาจากความสงบของจิตและอำนาจของสมาธินั้น มีรสชาติยิ่งไปกว่าสุขเวทนาที่เกิดมาจากกาม อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ทีเดียว"  ( จาก วิธีลดอัตตา  โดย ท่านพุทธทาส)

(กด_ลิงค์บน)

---หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า อารมณ์ทั้งในรูปราคะและอรูปราคะต่างก็ล้วนอยู่ในสภาพของอารมณ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานอยู่ในทีแล้วนั่นเอง กล่าวคือ มีอารมณ์หรือกามนั้น นอนเนื่องซึมซ่านย้อมจิตอยู่แล้ว เมื่อประสบกับอารมณ์นั้นก็เป็นไปดังสิ่งที่นอนเนื่องซึมซาบย้อมจิตทันที  จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีในพระอรหันต์เจ้าเท่านั้นเอง


*๘.มานะ ในสังโยชน์หมายถึงความถือตัว

---ถือตน ทนงตน  ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่  หรือการถือตัวว่า ดีกว่าเขาเหนือกว่าเขา  ด้อยกว่าเขา  เสมอเขา  จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งกิเลสต่างๆนาๆ   จึงไม่ใช่ มานะ ในภาษาไทยที่มีความหมายถึงว่า ความพยายาม ความตั้งใจแต่อย่างใด "มานะ ๓ เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา๑   ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา๑   ความถือตัวว่าดีกว่าเขา๑   มานะ ๓ นี้ควรละ"


(ตัณหาสูตรที่ ๑๓)


---เพราะความคิดว่า "ดีกว่าเขา" "ด้อยกว่าเขา" "แม้แต่เสมอเขา" ต่างล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งที่ยังให้เกิดทุกข์รำคาญใจทั้งสิ้น  ลองโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะเข้าใจได้ว่า มีเหตุจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งว่า ดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา ขึ้นมาด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี จึงเป็นทุกข์ ดังเช่น ดีกว่าเขาก็เกิดอาการกร่าง  เสมอเขาก็เกิดอาการเบ่งจนตัวพองเป็นทุกข์  ด้อยกว่าเขาก็เป็นทุกข์


---หรือพิจารณาจากขันธ์ ๕หรือปฏิจจสมุปบาทก็ได้ ว่าเมื่อมีสังขารปรุงแต่งดังนี้เกิดขึ้น ย่อมยังให้เกิดการผัสสะเกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ขึ้น จนถึงเวทนูปาทานขันธ์หรือทุกข์อุปาทานเป็นที่สุด


*๙.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน


---ความปรุงแต่งในเรื่องต่างๆ ชนิดละเอียด (อธิบายในรูปแบบปฏิจจสมุปบาทก็คือยังคงมี คิดนึกปรุงแต่งดังแสดงโดย หมายเลข 22 ในวงจร อยู่บ้าง  แต่ไม่ก่อทุกข์ก่อโทษหรือก่อภพก่อชาติอย่างรุนแรงหรือถี่บ่อยเช่นปุถุชน กล่าวคือ เกิดอุปาทานทุกข์ในชรา หรือ หมายเลข 14 น้อยลง,  ส่วนในปุถุชนนั้นย่อมเกิด ความคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่าน 14 เป็นส่วนใหญ่อันเป็นทุกข์อุปาทานแล้ว  และยังคงเกิด ความคิดปรุงแต่งที่ 22 นี้ด้วย อย่างประจําสมํ่าเสมอ โดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาอีกด้วย)  ดังนั้นจิตจึงยังคงมีการพลิ้วไม่สงบ เพราะระลอกของความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้างเป็นธรรมดา  (แสดงภาพของจิตฟุ้งซ่านหรือจิตปรุงแต่ง)

(กด_ลิงค์บน)

*๑๐.อวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของธรรม  


---ตลอดจนการปฏิบัติให้สติรู้เท่าทัน  และรู้ตามความเป็นจริงในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ อันคือ ปัญญาญาณ


*อวิชชา๘ อันมี


---๑.ความไม่รู้ใน"ทุกข์" ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้รู้ และให้ดับสนิทหมายถึงอุปาทานทุกข์หรืออุปาทานขันธ์๕, และมีสติรู้เท่าทันอุปาทานทุกข์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น  ที่ล้วนเกิดขึ้นมาจากเหล่าทุกขอริยสัจและทุกขเวทนาที่เป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)หนึ่งของชีวิต ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แล้วต้องปฏิบัติอย่างไรจึงไม่เป็นเวทนูปาทานขันธ์ อันเป็นอุปาทานทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลน  คงเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ,  และทุกข์นี้ มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญายิ่ง คือ เป็นสิ่งที่ควร " รู้ "


---๒.ความไม่รู้ใน"สมุทัย" เหตุให้เกิดทุกข์มาจากตัณหา ๓ (กามตัณหา-อยากในกามหรือในทางโลกๆ, ภวตัณหา-ความอยาก,  วิภวตัณหา-ความไม่อยาก, อยากดับสูญ) อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์,  สมุทัย มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ละ "


---๓.ความไม่รู้ใน"นิโรธ" เป็นเช่นใด ไม่เคยสัมผัส หรือไม่เข้าใจสภาวะนิโรธอันว่างจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน อันล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กันอันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์ ทําให้ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้ว จักเป็นสุขสงบ หรือดับร้อน เยี่ยงใด คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม   มีจริงหรือเปล่า   หรือเข้าใจผิดไปจับสภาวะผลอันสงบเย็นของสมาธิหรือฌานเป็นสภาวะนิโรธ!  ทําให้จริงๆแล้วยังคงมีความสงสัยอยู่ลึกๆในจิต(วิจิกิจฉา),  นิโรธ มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ทำให้แแจ้ง "


---๔.ความไม่รู้ใน"มรรค" การปฎิบัติในการดับทุกข์ ควรปฏิบัติอย่างไร ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ ปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน   วิธีใด  ของใครถูกแน่ (อ่านรายละเอียดในอริยสัจ ๔),  มรรค มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ปฏิบัติ "


---๕.ความไม่รู้ใน"ความไม่รู้อดีต"  การไม่รู้ระลึกชาติ หรือภพที่เคยเกิดเคยเป็นในภพชาติต่างๆในปัจจุบันชาติ  หมายถึงการ ย้อนระลึกขันธ์๕หรืออุปาทานขันธ์๕ที่เคยเกิดเคยเป็น กล่าวคือไม่รู้ไม่เข้าใจขันธ์ ๕ ที่เคยเกิดๆดับๆ อันก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์นั้นเกิดแต่เหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยอะไร  เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ เครื่องรู้ เครื่องระลึก อันก่อให้เกิดปัญญาญาณ และนิพพิทาญาณ อันยังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดับทุกข์ (โยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทเรื่องภพ เรื่องชาติ จบแล้ว ลองย้อนมาพิจารณาอีกครั้ง)


---๖.ความไม่รู้ใน"ความไม่รู้อนาคต" การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ) ของขันธ์ทั้ง๕ว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น  เช่น  กรรมคือตามการกระทําที่มีเจตนาทั้งสิ้น  และอนาคตนั้นก็จักเป็นไปตามเหตุปัจจัยอันคือกรรมการกระทํานั่นเอง   ดังนั้นความทุกข์ในภายหน้าหรือชาติหน้าก็ล้วนเกิดดับอันเกิดแต่กรรมการกระทํา อันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์๕เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับอดีต  ดังนั้นเพราะความไม่รู้ จึงประมาท จึงมิได้แก้ไขเยี่ยงไร เพื่อไม่ให้ทุกข์จะเกิดขึ้นมาได้อีก  กล่าวคือการรู้อนาคตเพราะรู้การเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ ผลเยี่ยงนี้จึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  อันเกิดขึ้นจากความเข้าใจในสภาวะธรรมอย่างถ่องแท้


---๗.ความไม่รู้ในทั้ง"อดีตและอนาคต" จึงไม่เกิดการยอมรับและเข้าใจในเหตุปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง จึงไม่มีทั้งเครื่องระลึก เครื่องเตือนสติจากการระลึกอดีต,  และเกิดความประมาท ขาดการป้องกันจากการไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต


---๘.ความไม่รู้ใน"ปฏิจจสมุปบาท"  ไม่ ทราบ,ไม่รู้ กระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์ และกระบวนการดับไปของทุกข์ จึงไม่รู้จักอาสวะกิเลส ตลอดจนตัณหาและอุปาทานที่แอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตหรือในอวิชชา  เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจจึงไม่สามารถดับทุกข์ ที่เหตุปัจจัยได้อย่างเข้าใจและถูกต้องตามจริง  อันอุปมาได้ดั่งช่างยนต์ที่ไม่รู้ไม่ศึกษาเรื่องเครื่องยนต์ แล้วจักซ่อมเครื่องยนต์ให้ดีเยี่ยงใด?


*โลกุตรธรรม


---โลกุตรธรรม ธรรมหรือสิ่งอันมิใช่วิสัยทางโลกๆ, สภาวะพ้นจากทางโลกๆ หรือสภาวะเหนือโลก อันมี๙ ดังนี้ (พระอริยบุคคล มี๘ คือผู้ปฏิบัติได้ในข้อ๑-๘ - ฐานะแห่งตน ที่จำแนกแบบอริยสาวก)


---๑.โสดาปัตติมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงผล อันคือความเป็นพระโสดาบัน, ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส,  เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะมรรคจิตเท่านั้น พ้นจากนั้นก็จะเกิดผลจิตคือโสดาปัตติผล ในข้อ ๒. กลายเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล คือเป็นพระโสดาบันนั่นเอง


---๒.โสดาปัตติผล ผลคือการถึงกระแสพระนิพพาน จากการละสังโยชน์ ๓ ข้อแรกด้วยโสดาปัตติมรรค ทําให้บุคลผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า,  กล่าวคือ เข้าสู่กระแสพระนิพพาน หมายถึงเข้าสู่กระแสแรงดึงดูดของพระนิพพานเสียแล้ว อันมิอาจเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ เพียงขึ้นอยู่กับระยะเวลา ตั้งแต่ภพชาติเดียว(เอกพีชี)จนถึงมากที่สุด ๗ ชาติ  มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเพียร สติ ปัญญา ตลอดจนเหตุปัจจัย  เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า  ดังนี้

*โสตาปันนสูตร


---ว่าด้วยผู้เป็นพระอริยสาวกโสดาบัน


---[๒๙๖]ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้. อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป  อุปาทานขันธ์คือเวทนา  อุปาทานขันธ์คือสัญญา  อุปาทานขันธ์คือสังขาร  อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ.


---ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่พระอริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง.

---ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พระอริยสาวกผู้โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.


(พระไตรปฏก เล่มที่ ๑๗ หัวข้อที่๒๙๖)


---๓.สกิทาคามิมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลความเป็นพระสกิทาคามี, หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณรู้คือความรู้อันเป็นเหตุละสังโยชน์ ๓ ข้อแรก และเบาบางลงในข้อ ๔ และ ๕ คือ กามราคะ และ ปฏิฆะ


---๔.สกิทาคามิผล ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอันสืบเนื่องจากสกิทาคามิมรรคในข้อ๓ ทําให้เป็น พระสกิทาคามี


---๕.อนาคามิมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือความเป็นพระอนาคามี, หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณคือความรู้อันเป็นเหตุละสังโยชน์ทั้ง ๕ ข้อแรกได้


---๖.อนาคามิผล ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอันสืบเนื่องจากอนาคามิมรรคในข้อ๕ ทําให้เป็นพระอนาคามี


---๗.อรหัตตมรรค ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลเป็นพระอรหันต์, หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดญาณคือความรู้อันเป็นเหตุละสังโยชน์ทั้ง๑๐


---๘.อรหันตผล ผลคือความสําเร็จเป็นพระอรหันต์  ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ทั้งหมด


---๙.นิพพาน  ผลการดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตรธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดในพุทธศาสนา

  

*ผลแห่งการละกิเลส


---[๒๘๘]ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำต้องทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระ ปลงลงแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสัญโญชน์ใน ภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อจะบัญญัติต่อไป.

---ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยาย แล้ว ภิกษุเหล่าใดละโอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น(หมายถึง พระอนาคามี)ทั้งหมดเป็น โอปปาติกะ  ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา

---ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ละสัญโญชน์ ๓ประการได้แล้ว กับมีราคะโทสะและโมหะบางเบา ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็น พระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.


---ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใน ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ละสัญโญชน์ ๓ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.


---ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรา กล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้นเปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

---ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เบื้องของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.


---พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.


---จบ อลคัททูปมสูตรที่ ๒


(พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๒)

 

*สัจจธรรม


---ทุกข์ของขันธ์ ๕ ทั้งใจและกายหรือเวทนาอันเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ยังคงมีอยู่  เราปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดอุปาทานทุกข์


---หมายถึง นอกจากไม่ให้อุปาทานทุกข์เกิดแล้ว  ยังต้องยอมรับในสภาวธรรมของทุกขเวทนาอันพึงเกิดแต่ขันธ์ ๕ ทั้งทางใจและกาย อย่างเข้าใจถูกต้อง


---การไม่ยอมรับอย่างเข้าใจ ก่อให้เกิดการดิ้นรนกระวนกระวายหรือตัณหา จนกลายเป็นอุปาทานทุกข์เช่นกัน


---ความพึงพอใจเกิดจากเหตุปัจจัยมาปรุงแต่ง


---สิ่งใดปรุงแต่ง สิ่งนั้นไม่เที่ยง ล้วนต้องแปรปรวนด้วยอาการใด


---สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ถ้าเข้าไปอยากไปยึด


---สิ่งใดทนอยู่ไม่ได้สิ่งนั้นไม่มีแก่นถาวร(ไม่มีค่า) ให้ยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจ ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยเท่านั้น


---นิพพานขาดเสียแล้ว ซึ่งเหตุปัจจัยอันมาปรุงแต่งด้วยตนเอง


---นิพพานคือภาวะดับสูญเสียแล้วซึ่งทุกข์


---คือภาวะดับสูญอุปาทาน


---คือภาวะดับเสียแล้วซึ่งความพึงพอใจยินดีแห่งตัวตน


---คือภาวะซึ่งดับเสียแล้วซึ่งการเกิด "ภพ" และ "ชาติ"


*"เหนือโลก" มิใช่ "หนีโลก"    

  

---ธรรมะ มีไว้ช่วยให้อยู่ในโลกอย่าง"ชนะโลก" หรือ "เหนือโลก" มิใช่ให้ "หนีโลก" แต่อยู่เหนืออิทธิพลใดๆของโลก ไม่ใช่จมอยู่ในโลกมักสอนให้เข้าใจกันผิดๆว่า ต้องหนีโลก ทิ้งโลก สละโลกอย่างที่ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครเลย.






..................................................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

(พุทธทาสภิกขุ)

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 5 กันยายน 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท04/08/2023
ผู้เข้าชม6,580,878
เปิดเพจ10,319,849
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view