วัฒนธรรมกับจารีต
---ประเพณี เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ ฯลฯ อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่างๆ กลายเป็นประเพณีประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ หากประเพณีนั้นดีอยู่แล้วก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่ดีก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ ประเพณีล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิต ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็น วิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม โดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่ มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งด งามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล เป็นต้น
(กดลิงค์-บน)
*ความหมายของประเพณี
---พระยาอนุมานราชธนได้ให้ความหมายของคำว่าประเพณีไว้ว่า ประเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียว กัน และสืบต่อกันมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณี หรือผิดจารีตประเพณี คำว่าประเพณี ตามพจนานุกรมภาษาไทยฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายประเพณีไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่างๆ ออกได้เป็น ขนบ มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง ธรรมเนียมมีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่าความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ ยึดถือเป็นแบบแผน และได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป
---โดยสรุปแล้ว ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแผกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในคติพระพุทธศาสนาและ พราหมณ์มาแต่โบราณ
*ความเป็นมาของประเพณี
---ประเพณีมีบ่อเกิดมาจากสภาพสังคม ธรรมชาติ ทัศนคติ เอกลักษณ์ ค่านิยม โดยความเชื่อของคนในสังคมต่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์นั้นๆ เช่น อำนาจของดินฟ้าอากาศและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุต่างๆ ฉะนั้นเมื่อเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้น มนุษย์จึงต้องอ้อนวอนร้องขอในสิ่งที่ตนคิดว่าจะช่วยได้พอภัยนั้นผ่านพ้นไป แล้ว มนุษย์ก็แสดงความรู้คุณต่อสิ่งนั้นๆด้วยการทำพิธีบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ตามความเชื่อ ความรู้ของตน เมื่อความประพฤตินั้นคนส่วนรวมสังคมยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียม หรือเป็นระเบียบแบบแผน และทำจนเป็นพิมพ์เดียวกัน สืบต่อๆกันจนกลายเป็นประเพณีของสังคมนั้นๆ
---ประเพณีและวัฒนธรรม เมื่อว่าโดยเนื้อความก็เป็นสิ่งอย่างเดียวกัน คือ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่มีอยู่ในธรรมชาติโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่สังคมหรือคนในส่วนรวมร่วมกันสร้างให้มีขึ้น แล้วถ่ายทอดให้แก่กันได้ด้วยลักษณะและวิธีการต่างๆว่าโดยเนื้อหาของประเพณี และวัฒนธรรมที่อยู่ในจิตใจของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องความคิดเห็น ความรู้สึก ความเชื่อ ซึ่งสะสมและสืบต่อร่วมกันมานานในส่วนรวม จนเกิดความเคยชิน เรียกว่า นิสัยสังคมหรือประเพณี
*ประเภทของประเพณี
---ประเภทของประเพณีแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
*1.จารีตประเพณี
---หรือกฎศีลธรรม หมายถึง สิ่งซึ่งสังคมใดสังคมหนึ่งยึดสือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นเรื่องของความผิดถูก มีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นสมาชิกในสังคมต้องทำ ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว จะต้องถูกตำหนิหรือได้รับการลงโทษจากคนในสังคมนั้น เช่น ลูกหลานต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่เฒ่า ถ้าใครไม่เลี้ยงดูถือว่าเป็นคนเนรคุณหรือลูกอกตัญญู จารีตประเพณีของแต่ละสังคมนั้นย่อมไม่เหมือนกัน เพราะมีค่านิยมที่ยึดถือต่างกัน การนำเอาจารีตประเพณีของตนไปเปรียบเทียบกับของคนอื่นแล้วตัดสินว่าดีหรือ เลวกว่าของตนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเชื่อของแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไป
*2.ขนบประเพณี
---หรือสถาบัน หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วปฏิบัติสืบต่อกันมา ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทางตรง ได้แก่ ประเพณีที่มีการกำหนดเป็นระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติอย่างชัดแจ้งว่าบุคคล ต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น สถาบันโรงเรียน มีโรงเรียน มีผู้สอน มีผู้เรียน มีระเบียบการรับสมัคร การเข้าเรียน การสอบไล่ เป็นต้น ทางอ้อม ได้แก่ ประเพณีที่รู้กันโดยทั่วๆไป โดยไม่ได้วางระเบียบไว้แน่นอน แต่ปฏิบัติไปตามคำบอกเล่า หรือตัวอย่างจากที่ผู้ใหญ่หรือบุคคลในสังคมปฏิบัติ เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต หรือประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล ตรุษ สารท การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
*3.ธรรมเนียมประเพณี
---หมายถึง ประเพณีเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนควรทำ มีความผิดถูกเหมือนจารีตประเพณี เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ทุกคนปฏิบัติกันทั่วไปจนเกิดความเคยชิน และไม่รู้สึกเป็นภาระหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งที่มีมานานและใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนมากเป็นมารยาทในด้านต่างๆ เช่น การแต่งกาย การพูด การรับประทานอาหาร การเป็นแขกไปเยี่ยมผู้อื่น ฯลฯ ธรรมเนียมประเพณีเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำแม้มีผู้ฝ่าฝืนหรือทำผิดก็ไม่ถือ ว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่อาจถูกตำหนิว่าเป็นคนไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีมารยาท ไม่รู้จักกาลเทศะ.
..................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
555
555