อย่าดูหมิ่น
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ปฐมวรรคที่ ๑ ทหรสูตรที่ ๑
*ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
---สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงได้ทรงปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
---[๓๒๓]พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า "แม้พระโคดมผู้เจริญ ย่อมทรงปฏิญาณบ้างหรือไม่ ว่าเราได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม ฯ"
---พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ดูกรมหาบพิตร ก็พระองค์เมื่อจะตรัสโดยชอบ ก็พึงตรัสถึงอาตมภาพ ว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม" "ดูกรมหาบพิตร เพราะว่าอาตมภาพได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ"
---[๓๒๔]พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณะกัสสปมักขลิโคศาล นิครนถ์ นาฏบุตร สัญชัย เวลัฏฐบุตร ปกุธะ กัจจายนะ อชิตเกสกัมพล ฯ"
---สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น เมื่อถูกหม่อมฉันถามว่า "ท่านทั้งหลายย่อมปฏิญาณได้หรือว่า เราได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณดังนี้ ก็ยังไม่ปฏิญาณตนได้ว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่ม โดยกำเนิดและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ไฉนจึงปฏิญาณได้เล่า ฯ"
---[๓๒๕]พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ดูกรมหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูก ดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ๔ อย่างเป็นไฉน, ของ ๔ อย่างคือ
---๑. "กษัตริย์" ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่า "ยังทรงพระเยาว์"
---๒. " งู " ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่า "ตัวเล็ก"
---๓. " ไฟ " ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่า "เล็กน้อย"
---๔. "ภิกษุ" ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่า "ยังหนุ่ม"
---ดูกรมหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ฯ
---[๓๒๖]พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
---นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่น กษัตริย์ ผู้ถึงพร้อมด้วยพระชาติ มีพระชาติสูง ผู้ทรงพระยศ ว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะเหตุว่า พระองค์เป็นมนุษย์ชั้นสูง ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระพิโรธขึ้น ย่อมทรงลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้ ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทกษัตริย์นั้นเสีย ฯ
---นรชนเห็นงู ที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก (เพราะเหตุว่า) งูเป็นสัตว์มีพิษ (เดช) ย่อมเที่ยวไปด้วยรูปร่างต่างๆ งูนั้นพึงมากัด ชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทงูนั้นเสีย ฯ
---นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นไฟ ที่กินเชื้อมาก ลุกเป็นเปลว มีทางดำ (ที่ๆ ไฟไหม้ไปดำ) ว่าเล็กน้อย เพราะว่าไฟนั้น ได้เชื้อแล้วก็เป็นกองไฟใหญ่ พึงลามไหม้ชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทไฟนั้นเสีย ฯ (แต่ว่า) ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำไปแล้ว เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พรรณหญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้
---ส่วนผู้ใดถูก ภิกษุผู้มีศีล แผดเผาด้วยเดช บุตรธิดาและปศุสัตว์ ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ไม่มีเผ่าพันธุ์ ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน ฯ
---ฉะนั้น แลบุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเห็นงู, ไฟ, กษัตริย์ผู้ทรงยศ และภิกษุผู้มีศีล ว่าเป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติต่อโดยชอบทีเดียว ฯ
---[๓๒๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสจบลงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะได้เห็นรูปฉันใด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโดยปริยายเป็นอันมากก็ฉันนั้นเหมือนกัน"
---"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณคมน์จนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ"
---สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลถามว่า สมณพราหมณ์บางพวกเป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีเกียรติ มีชื่อเสียง ชนส่วนมากยอกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสปะ, มัขลีโคสาล, อชิตเกสมกัมพล, ปกุธกัจจายนะ, สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร
---สมณพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์ถาม ก็ยังมิกล้า ปฏิญาณจนได้ว่า ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังมีชันษาอยู่ในวัยหนุ่ม และเป็นผู้ใหม่ในบรรพชิต ไฉนจึงกล้าปฏิญาณได้เล่า
*พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "ดูก่อนมหาบพิตร สิ่ง 4 ประการเหล่านี้ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย คือ
---กษัตริย์ ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
---งู ไม่ควรดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
---ไฟ ไม่ควรดูหมิ่นว่ากองเล็ก
---ภิกษุ ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังใหม่ต่อเพศบรรพชิต
*ทั้งนี้เพราะเหตุว่า
---กษัตริย์ ได้เสวยราชสมบัติแล้ว เมื่อพิโรธย่อมทรงมีพระอาญาอย่างหนักแก่ชาย-หญิงได้ เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตนพึงงดเว้น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์
---งู.ที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูหมิ่นว่าตัวเล็ก เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษ พร้อมที่จะฉกกัด ทำร้ายชาย-หญิงผู้เขลา เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตนพึงงดเว้น การดูหมิ่นงูนั้นว่าตัวเล็ก
---ไฟ.แม้กองเล็ก แต่เมื่อได้เชื้อย่อมลุกเป็นกองใหญ่ ลามไหม้ชาย-หญิงผู้เขลาในบางคราว เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้น การดูหมิ่นไฟนั้นว่ากองเล็ก
---ภิกษุ.ใดดูหมิ่นภิกษุผู้ยังใหม่ต่อเพศบรรพชิต แต่สูงด้วยคุณธรรม เดชแห่งศีลของภิกษุ ย่อมทำความพินาศแก่ผู้นั้น อีกทั้งทายาทจะไม่ได้รับทรัพย์มรดก บุคคลนั้นจะเป็นผู้ปราศจากเผ่าพันธุ์ เปรียบเหมือนตาลยอดด้วน
.....เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเห็น กษัตริย์ผู้ทรงยศ, งู, ไฟ, และภิกษุผู้มีศีล ว่าเป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติต่อสิ่งเหล่านั้น โดยชอบทีเดียว.....
---เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจบลงพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระทัยเลื่อมใสในพระรัตนตรัยด้วยพระธรรมเทศนานี้........
......................................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
(แก้ไขแล้ว ป.)
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น