/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

วิสุทธิมรรค-วิมุตติมรรค

วิสุทธิมรรค-วิมุตติมรรค

วิสุทธิมรรค-วิมุตติมรรค





เสถียร โพธินันทะ

 

---เมื่อราว ๆ สิบปีเศษล่วงมา มีข่าวเกรียวกราวในวงการพระพุทธศาสนาลังกาว่า "พระภิกษุนารทเถระ" ผู้เดินทางดูการพระศาสนาในนานาประเทศ ได้ไปพบคัมภีร์ปกรณ์วิเศษ ชื่อ “วิมุตติมรรค”ในประเทศจีน ท่านนารทเถระและพุทธศาสนิกลังกามีความยินดีตื่นเต้นมาก ที่ได้ค้นพบคัมภีร์วิเศษสำคัญของวงการศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ แต่ปรากฏว่าต้นฉบับได้สูญหายไปจากคลังปริยัติภาษาบาลีมานานแล้ว ปรากฏแต่นามของคัมภีร์ที่ในปกรณ์อื่น ๆ กล่าวอ้างถึง


---ท่านนารทเถระ พยายามสืบหามาหลายปี เพิ่งจะได้พบต้นฉบับ  ที่แปลเป็นจีนในประเทศจีนนี้ ท่านจะร่วมมือกับอุบาสกจีน แปลถ่ายจากภาษาจีนกลับเป็นภาษาบาลีอันเป็นที่มาของเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้วงการภาษาบาลีได้สมบูรณ์ในการศึกษาค้นคว้า


---นี่เห็นข่าวในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์พระพุทธศาสนารายเดือน ชื่อ “เสียงแห่งคลื่นทะเล” ออกในเมืองวู่ชางฉบับเก่า ๆ ที่ข้าพเจ้าอ่านพบ ทำให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็นหน้าตาของคัมภีร์ขึ้นในใจ ภายหลัง เมื่อค้นได้จากหลักฐานฝ่ายจีนแล้ว จึงลองเล่าสู่กันฟังพอได้ความ


---คัมภีร์นี้จีนเรียกว่า “เกยทุกเต้าหลุง” ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “เจี่ยโทเต้าหลุ้น” ในภาษากลาง  แปลตรงกันเลยทีเดียว คำสุดท้ายคือคำว่า "หลุง" แปลว่า "วิมุตติมรรคศาสตร์" รวมแปลว่า ศาสตร์หรือเรื่องแห่งทางหลุดพ้น เป็นคัมภีร์แก้ ศีล, สมาธิ, ปัญญาอย่างเดียวกับวิสุทธิมรรค วิธีจัดระเบียบเรื่องราว ก็ดูคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่


---ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้า ผู้แต่งคัมภีร์ทั้งสอง  คงจะมีการเลียนแบบไม่ใครก็ใครคนหนึ่งมา แต่คัมภีร์วิมุตติมรรค  เป็นหนังสือน้อยกว่าวิสุทธิมรรค ; ไม่พิสดารอย่างวิสุทธิมรรค ชวนให้เข้าใจว่า บางทีจะเป็นหนังสือที่ย่อความวิสุทธิมรรค หรือมิเช่นนั้น วิสุทธิมรรค   เอาวิมุตติมรรคมาเป็นแบบ แล้วกระจายความให้ความพิสดารออกไป


---ซึ่งฝ่ายใดเอาอย่างฝ่ายใดแน่ ข้าพเจ้าขอตัวไม่ตัดสิน ท่านผู้นิพนธ์วิมุตติมรรค ปรากฏนามว่า "อุปติสสะ" เป็นพระอรหันต์ประวัติของท่านยังไม่ได้พบที่มา จะเป็นองค์เดียวกับพระอุปติสสะ (ซึ่งมีชีวิตอยู่ใน พ ศ. ๙๑๑-๙๕๓ หรือไม่ ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจนัก ถ้าเป็นองค์เดียวกันก็ไม่มีปัญหาควรสงสัยอันใดเลย) ที่ว่าวิมุตติมรรคมีกำเนิดก่อนวิสุทธิมรรคและวิสุทธิมรรค ได้อาศัยวิมุตติมรรคเป็นแบบฉบับ ในการเขียนเพราะรัชสมัยพระเจ้ามหานาม ซึ่งเป็นเวลาที่พระพุทธโฆษาจารย์ ข้ามทะเลจากอินเดียมาแปลคัมภีร์ในลังกานั้นตกอยู่ราว พ.ศ. ๙๕๓-๙๗๕


---ผู้แปลเป็นภาษาจีน คือ "ท่านสังฆปาละ" (เจงแคพอล้อ) เป็นภิกษุที่มีชื่อเสียงแห่งประเทศฟูนัน (เขมรและญวนใต้บางส่วนในปัจจุบัน) พระสังฆปาละมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินพระเจ้าโกณฑัญญะชัยวรมัน พ.ศ. ๑๐๑๓-๑๐๕๗ อาณาจักรฟูนันในยุคนั้นมีการติดต่อกับราชสำนักจีนมาก และยอมรับรองความยิ่งใหญ่อำนาจของจีนด้วย


---พระสังฆปาละ ตามประวัติเล่าว่า  เป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอภิธรรมได้เดินทางไปประเทศจีนสมัยราชวงศ์เหลียง พระเจ้าเหลียงวูเต้ รับเป็นผู้อุปฐาก และโปรดรับสั่ง ให้เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกในพระอารามหลวง ท่านได้แปลคัมภีร์อยู่หลายปี รวมงานที่สำเร็จเป็นคัมภีร์ ๔๘ผูก มีวิมุตติมรรคและอโศกสุตตะ เป็นต้น ท่านมรณภาพในวัดเจียกวงยี่ สิริชนม์มายุ ๖๕ ปี มีพระเถระฟูนันที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งชื่อ "มันทรเสน" ได้ไปแปลหนังสือในเมืองจีน ยุคเดียวกับท่าน


---วิมุตติมรรค  เป็นหนังสือสิบสองผูก แบ่งออกเป็นสิบแปดวรรค คือ  จัดเป็นนิทานวรรคหนึ่งวรรค,  ศีลนิทเทส หนึ่งวรรค ; ธุดงคนิทเทส หนึ่งวรรค ; สมาธินิทเทส หนึ่งวรรค ; ปัญญานิทเทส ห้าวรรค ตัวอย่าง คำแปลที่ข้าพเจ้าแปล ตัดย่อออกมาจากฉบับจีน เพื่อให้ท่านเทียบเคียงกับวิสุทธิมรรคดังต่อไปนี้


*๑. นิทานวรรค


---ประเดิมด้วยคาถานมัสการ ว่า "นโม ตสฺส ภควโต ฯ " แล้วตั้งปัญหาพยากรณ์ว่า “ศีล, สมาธิ, ปัญญา  เป็น "อนุตตรวิมุตติธรรม"  อันพระผู้ทรงพระนามว่า "พระโคคม" รู้แจ้งแล้ว ฯลฯ”(วิสุทธิมรรคตั้งเป็นปัญหาพยากรณ์ว่า  คนมีปัญญาตั้งมั่นในศีลแล้วยังจิตแลปัญญาให้เกิดขึ้นอยู่ เป็นภิกษุมีความเพียรรู้จักรักษา เธอจะพึงถางซึ่งรกชัฏอันนี้เสีย)


---“ข้าพเจ้า (พระอุปติสสะ) จักพรรณนาทางพ้นต่อไปนี้ พึงมนสิการสดับจงดี


---ปุจฉา          ว่าอะไรที่ชื่อว่า "ศีล"  


---ชื่อว่าศีล          เพราะสมาจาร มารยาท


---ชื่อว่าสมาธิ          เพราะ (จิต) ไม่กลับกลอกสับสน


---ชื่อว่าปัญญา          เพราะรู้แจ้ง


---ชื่อว่าวิมุตติ          เพราะพ้นจากเครื่องผูก


---ชื่อว่าอนุตตระ          เพราะไม่มีอาสวะ ฯลฯ


---ก็ศีล, สมาธิ, ปัญญานั้นแหละ ชื่อว่า "วิมุตติมรรค" อันข้าพเจ้า จักกล่าวแสดงปุจฉาว่าเหตุดังฤๅ  จึงกล่าวซึ่งวิมุตติมรรค ตอบว่า    มีสาธุชนผู้ฝักใฝ่ในความหลุดพ้น


---เมื่อไม่ได้สดับธรรมที่กล่าวถึงความพ้น...ก็อุปมาดั่งบุรุษตาบอด ผู้ไร้ซึ่งคนนำ เที่ยวไปในประเทศไกล ย่อมได้เสวยแต่ความทุกข์ ไม่อาจหลุดพ้นไปได้.. ; สมดั่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่า  "สัตว์ที่มีกิเลสแม้น้อย แต่หากไม่ได้สดับธรรมก็ย่อมเสื่อมถอยไปในที่สุด" (ไม่เจริญก้าวหน้าในความหลุดพ้น) และตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เหตุปัจจัยทั้งสองอย่างนี้เป็นธรรมเกื้อกูล ยังสัมมาทิฏฐิให้เกิด สองอย่างนั้นเป็นไฉน  คือ  พหูสูต และโยนิโสมนสิการ ฯลฯ”


---ขันธ์ทั้งสามเป็นไฉน  ศีลขันธ์, สมาธิขันธ์, ปัญญาขันธ์ ศีลขันธ์เป็นไฉน สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ ธรรมที่สงเคราะห์ลงต่าง ๆ และศีลที่เป็นกุศลต่าง ๆ  สมาธิขันธ์เป็นไฉน  สัมมาวายาโม, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ...


---ปัญญาขันธ์เป็นไฉน   สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป.. อนึ่ง พึงรักษาในสิกขาสาม คือ อธิศีลสิกขา, อธิจิตตสิกขา, อธิปัญญาสิกขา, มีศีลสิกขา, มีอธิศีลสิกขา, มีจิตตสิกขา, มีอธิจิตตสิกขา, มีปัญญาสิกขา, มีอธิปัญญาสิกขา


---อะไรชื่อว่า  ศีลสิกขา  ศีลที่มีลักษณะชื่อว่าศีลสิกขา ศีลที่ถึงที่สุดยอด ; ชื่อว่า อธิศีลสิกขา อนึ่ง ศีลของปุถุชนชื่อว่า ศีลสิกขา ; ศีลของพระอริยะชื่อว่า อธิศีลสิกขา


---อะไรชื่อว่า   จิตตสิกขา  สมาธิเป็นไปใน กามาวจร ชื่อว่าจิตตสิกขา  ; อะไรชื่อว่า อธิจิตตสิกขา สมาธิที่เป็นไปในรูปาวจร ; อรูปาวจร ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา อนึ่งสมาธิที่มีลักษณะ สมาธิที่ถึงที่สุดรอบ และมรรคสมาธิชื่อว่า อธิจิตตสิกขา


---อะไรชื่อว่า   ปัญญาสิกขา โลกียปัญญาชื่อปัญญาสิกขา ; ปัญญาในอริยสัจ ๔  และมรรคปัญญา  ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา : พระผู้มีพระภาคตรัสอธิศีลสิกขาแก่ผู้ที่มีอินทรีย์อ่อน แสดงอธิจิตตสิกขาแก่ผู้มีอินทรีย์ปานกลางและท่านผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ทรงแสดงอธิปัญญาสิกขา...ฯลฯ ...


---ศีลนั้นแหละ  คือ  ปรกติ (กาย วาจา) บริสุทธิ์


---สมาธินั้นแหละ  คือ  จิต (ที่ตั้งมั่น) บริสุทธิ์


---ปัญญานั้นแหละ  คือ  ทิฏฐิ (ความเห็น) บริสุทธิ์


---ชื่อว่า "ศีล" เพราะชำระล้างซึ่งสังกิเลสแห่งปรกติภาพ


---สมาธิ  ชำระล้างซึ่งสังกิเลส กล่าวคือ โยคะ (เครื่องผูก) ยังจิตให้บริสุทธิ์


---ปัญญาชำระล้าง ซึ่งสังกิเลสกล่าวคือ โมหะ ยังทิฏฐิให้บริสุทธิ์ อนึ่งศีลย่อมกำจัดซึ่งสังกิเลส กล่าวคือกรรม (อันชั่ว) สมาธิย่อมกำจัดสังกิเลส กล่าวคือ โยคะ  ปัญญาย่อมกำจัดสังกิเลสกล่าวคือ อนุสัย....ฯลฯ.....


---ความสุขสามอย่าง (คือ) ความสุขที่ (เกิดจากการ) ไม่มีโทษ ความสุขที่ (เกิดจากความ) สงบความสุขที่ (เกิดจากการ) เป็นผู้มีความรู้แจ้งอันตรงอาศัยศีลได้ความสุขที่ (เกิดจากการ) ไม่มีโทษ ; อาศัยสมาธิได้ความสุขที่สงบ ; อาศัยปัญญาได้ความสุข คือ ความรู้แจ้งอันตรง


---การเว้นส่วนสุดสองข้าง ได้บรรลุทางสายกลาง อันสมบูรณ์


---อาศัยศีลกำจัด  กามสุขัลลิกานุโยค...


---อาศัยสมาธิกำจัดอัตตกิลมถานุโยค...


---อาศัยปัญญา....พ้นจากส่วนสุดทั้งสอง บรรลุซึ่งมัชฌิมาปฏิปทา...


---อนึ่ง ศีลนั้นย่อมกำจัดซึ่งอบายภูมิ ; สมาธินั้นย่อมกำจัดซึ่งกามธาตุ ; ปัญญานั้นย่อมกำจัดซึ่งภพทั้งปวง


---ความอบรมมากในศีล, อบรมน้อยในสมาธิและปัญญา ย่อมบรรลุพระโสดาบัน, สกิทาคามี, ความอบรมมากในศีลและสมาธิ แต่อบรมน้อยในปัญญาย่อมบรรลุพระอนาคามี ความอบรมเต็มในสิกขาทั้งสามนั้น ย่อมบรรลุเป็นพระอรหันต์ อันเป็นการหลุดพ้นอย่างเยี่ยมยอด..


*๒.ศีลวิภาควรรค


---เริ่มต้นด้วยคำถามว่า   ศีลคืออะไร, มีลักษณะ, รส, การปรากฏ, ปทัฎฐาน อย่างไร  มีอานิสงส์และอรรถว่ากระไร  การปฏิบัติในศีลนั้นอย่างไร  ความแตกต่าง (กันในศีล) อย่างไร ชนิดของศีลเท่าไร  เกิดปรากฏขึ้นอย่างไร  ศีลที่เป็นส่วนเบื้องต้น, ท่ามกลางและที่สุดอย่างไร  อะไรเป็นเรื่องขัดข้องของศีล เหตุแห่งศีลและชนิดของศีลเท่าไร  การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้นอย่างไรเหตุเท่าไรจึงทำให้ศีลนั้นดำรงอยู่ (วิสุทธิมรรคว่า กึ สีลํ เกนฏฺเฐน กานิสฺส ลกฺขณ รส ปจฺจุปฏฺฐาน ปทฏฺฐานานิ กิมานิสํสํ สีลํ กติวิธญเจตํ ลีลํ โกกสฺส สงฺกิเลโส กึ โวทานนฺติ )


---ตัวอย่างเท่าที่ยกแปลมาให้เห็นโดยย่อนี้ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับวิสุทธิมรรคแล้ว จะเห็นว่ามีส่วนคล้ายคลึงกันมาก ทั้งในวิธีเรียงลำดับถ้อยคำและการอรรถาธิบาย น่าเสียดายที่ต้นฉบับบาลีไม่มี มิฉะนั้นเราคงได้ความรู้เพิ่มเติมกว้างขวางขึ้น เคราะห์ดีที่สังฆปาละท่านแปลรักษาไว้ให้


---แม้จะเป็นภาษาจีนก็ยังพอศึกษาเทียบเคียงรู้เรื่องได้ ดีกว่าสูญหายไม่มีเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ท่าน     นารทเถระ จะได้แปลถ่ายจากภาษาจีนเป็นภาษาบาลีสำเร็จแล้วหรือยัง แต่ข้าพเจ้าทราบว่า ในต่างประเทศมีผู้ทำคำแปลทั้งสองคัมภีร์ เทียบเคียงไว้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นบุญของวงการปริยัติบาลีมาก และหนังสือเล่มนั้นผู้ทำจะเป็นท่านนารทเถระหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่รู้ เพราะยังไม่เคยเห็นหน้าตาของหนังสือเลย ผู้ใคร่ต่อการศึกษาคงจะได้ค้นคว้าต่อไปฯ  






 ................................................................




 ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว ป.)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท04/08/2023
ผู้เข้าชม6,580,853
เปิดเพจ10,319,819
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view