การอธิบายวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
---ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งแห่งการกระทำที่เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นแจ้ง การเห็นพิเศษ และการเห็นโดยอาการต่าง ๆ มีความไม่เที่ยง* เป็นต้น ภูมิธรรมที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนามี 6 อย่างคือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจจ์ 4 และปฏิจจสมุปบาท 12 ซึ่งทั้งหมดย่อลงเหลือรูปนาม
---* รูปาทิอารมฺมเณสุ ปญฺญตฺติยา จ นิจฺจสุขอตฺตสุภสญญาย จ วิเสเสน นามรูป ภาเวน วา อนิจฺจาทีอากาเรน วา ปสฺสตีติ วิปสฺสนา, วิเสเสน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา, ปญฺจกฺขนฺเธสุ วิวิเธน อนิจฺจาทิอากาเรน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา
(พระธรรมธีรราชมหามุนี, วิปัสสนากรรมฐาน ภาค 2, กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2532 หน้า 314-315).
---การกำหนดรู้ตามอาการนั้น ผู้ปฏิบัติใหม่จำเป็นต้องใช้คำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสื่อให้เกิดความตั้งมั่น (ขณิกสมาธิ) คำภาวนาต่าง ๆ ไม่ควรจะยาวหรือสั้นเกินไป จำนวนพยางค์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนด คือ การใช้อักษรเพียง 2 พยางค์ ซึ่งช่วงระยะของการกำหนดพอดีกับที่อาการสิ้นสุดลง พร้อมที่อาการใหม่จะปรากฏขึ้นให้กำหนดครั้งใหม่อีก
---จากอุบายนี้อาจารย์ ภัททัน อาสภเถระ เขียนไว้ในหนังสือวิปัสสนาทีปนีฎีกา ถึงเหตุที่เลือกคำว่า "หนอ" ต่อท้าย ผสมเข้ามาในการกำหนดภาวนาขณะเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เช่น พองหนอ ยุบหนอ เพราะคำว่า “หนอ” จัดว่าเป็นคำสุภาพ ไม่หยาบคาย หรือไม่น่ารังเกียจ เหมือนคำอื่นบางคำ และนอกจากนี้ สามารถใช้เป็นสื่อของการฝึกในใจให้ทันกับกิริยาอาการที่กำลังกระทำอยู่หรือกำลังรู้อยู่
---พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) เคยเทศน์อธิบายสรุปความคำว่า "หนอ" ที่นำมาประกอบคำภาวนานั้น หมายถึง “สักแต่ว่า” เช่น เห็นหนอ หมายถึง สักแต่ว่าเห็น เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ได้มีจิตใจผูกพันเกาะเกี่ยว สิ่งที่เห็นเป็นเพียงรูป การรู้ในใจเป็นนาม แต่การกำหนดรูปนามนั้นยังช้าไป หากใช้คำว่า หนอ จะเกิดสติรู้ได้เท่าทันเร็วกว่า หรืออย่างคำว่า เจ็บหนอ ก็หมายถึง สักแต่ว่าเจ็บ
---ทั้งนี้ย่อมโยงไปถึงความเข้าใจที่ว่า ความเจ็บย่อมมีกับแต่ละบุคคลเป็นธรรมดา จะได้ไม่ถือมั่น ไม่ใส่ใจ ความเจ็บ จิตมุ่งจะเข้าสู่สภาวธรรมที่เกิดขึ้น จึงเป็นวิถีทางที่จะทำให้มีความเจริญหน้าในการปฏิบัติขั้นสูงต่อไปได้ (วริยา ชินวรรโณ และคณะ 2537 : 252
---พระครูประคุณสรกิจ (2537 : 46) กล่าวถึง ประโยชน์ 8 ประการ ของคำว่า "หนอ" ที่ต่อท้าย คือ.......
---1.ทำให้เกิดสังเวชได้ง่าย
---2.ทำให้เกิดสมาธิได้เร็ว
---3.เพิ่มกำลังของขณิกสมาธิ ได้แก่ กล้าได้ง่าย
---4.ให้รู้ปัจจุบันได้เร็ว
---5.สติที่เกิดสามารถกำหนดรูปนามได้ชัด
---6.คั่นรูปนามให้ขาดระยะ
---7.ทำให้แยกรูปนามออกจากกันได้ง่าย
---8.ทำให้ไตรลักษณ์ปรากฏชัด
*เรื่องพอง - ยุบ
---เป็นที่ทราบกันว่า การเจริญวิปัสสนาตามพระพุทธประสงค์ ก็คือ การกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ ถ้าผิดจากการกำหนดรูปนามเสียแล้ว ก็หาใช่วิปัสสนากรรมฐานไม่ การกำหนดรูปที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น ถ้ากำหนดรูปใหญ่ไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย ก็ให้กำหนดรูปละเอียด รูปที่ละเอียด ได้แก่ รูปที่ลมหายใจกระทบ คือ ลมหายใจเข้า-ออก ไปกระทบที่ใดก็ให้กำหนดที่นั้น
---ในที่นี้สถานที่ที่ลมหายใจถูกต้องอยู่เสมอมีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่จมูกและที่บริเวณท้อง ในที่ 2 แห่งนั้น จมูกเป็นส่วนที่กำหนดได้ชัดเจน เฉพาะในระยะเริ่มแรกเท่านั้น ครั้นกำหนดนานเข้าจนลมละเอียดแล้ว การกระทบจะปรากฏไม่ชัดเจนและสังเกตยาก ส่วนที่บริเวณหน้าท้อง ซึ่งมีอาการพอง-ยุบนั้น สามารถกำหนดได้ชัดเจนสม่ำเสมอ ถึงจะนานเท่าใดหรือลมหายใจละเอียดเพียงใดก็กำหนดได้ และแสดงสภาวะได้ชัดเจนกว่าการกระทบที่บริเวณจมูก ฉะนั้น รูปที่ลมถูกต้องที่บริเวณหน้าท้อง คือ อาการพองขึ้นและยุบลง จึงเหมาะแก่การตั้งสติ กำหนดเพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (ธนิต อยู่โพธิ์ 2518 : 26)
---อาการเคลื่อนไหวของหน้าท้อง ที่เกิดจากลมหายใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วาโยโผฏฐัพพะรูป" (รูปที่ลมกระทบถูกต้อง) เป็นปรมัตถ์สภาวะ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการเคลื่อนไหวเพราะมีวาโยธาตุ ในสังยุตตนิกาย กล่าวไว้ว่า
“โผฏฐัพฺเพ อนิจฺจโต ชานโต ปสฺสโต อวิชฺชา ปหิยติ วิชฺชา อุปฺปชฺชาติ”
---“โยคีบุคคลที่โผฏฐัพพารมณ์ถูกต้องสัมผัสนั้น ตั้งสติกำหนดรู้เห็นอยู่ว่าไม่เที่ยง บุคคลนั้นอวิชชาหายไป วิชชาญาณปรากฏ”
---ท่านมหาสี สะยาดอ (พระโสภณ มหาเถระ) แสดงไว้ในวิสุทธิญาณกถา ว่า
---“อภ วา ปน นิสินฺนสฺส โยคิโน อุทเร อสฺสาสปสฺสาสปจฺจยา ปวตฺตํ วาโยโผฏฐัพฺพรูปํ อุนฺนมนโอนมนากาเรน นิรนฺตรํ ปากฏฺ โหติ ตมฺปิ อุปนิสฺสาย อุนฺนมํติ โอนมติ อุนฺนมติ โอนมตี-ติ อาทินา สลฺลกฺเขตพฺพํ”
---“โยคีบุคคลเมื่อนั่งลงแล้ว ในบริเวณท้องนั้น อัสสาสะปัสสาสะวาโยธาตุเป็นเหตุเป็นปัจจัย วาโยโผฏฐัพพรูปนี้ ปรากฎชัดเจนอยู่เสมอ ในขณะนั้น พึงตั้งสติกำหนดเจริญวิปัสสนา ภาวนาว่า พองหนอ-ยุบหนอ พองหนอ-ยุบหนอ”
---จากการสัมภาษณ์ พระมหาภาณุวัฒน์ ปิยสีโล พรรษา 63 ปี เป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมอยู่ที่ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า
---“เคยปฏิบัติพองหนอ-ยุบหนอ กับพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) อาจารย์บอกเพียงให้สังเกตอาการที่ท้องพองขึ้น-ยุบลง ช่วงนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม พอมาเรียนอภิธรรมจึงรู้ว่า ขณะหายใจเข้า ลมที่เข้าไปจะดันให้ท้องพองขึ้น ขณะหายใจออกลมที่ออก มีผลให้ท้องยุบลง อาการพองออกและยุบลงเป็นรูปธรรม ลมที่ดันให้ท้องพองออกหรือยุบลงก็เป็นรูปธรรม แต่จิตที่เป็นตัวรู้อาการนั้นเป็นนามธรรม
---พูดรวม ๆ ว่า จิตรู้ ขณะที่รู้อาการนั้น มีธรรมอยู่ 5 อย่าง คือ ปัญญา วิตก วิริยะ สติ สมาธิ ในสติปัฏฐานยกมากล่าว 3 อย่าง คือ สติ ปัญญา วิริยะ ที่เรากำหนดอยู่ได้ เพราะมีความเพียร (วิริยะ) เกิดขึ้น สติเป็นตัวรู้ว่า ขณะนี้กำลังทำอะไร ส่วนปัญญา เป็นตัวตัดสิน สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ว่า เป็นรูปหรือนาม
---ส่วนธรรมอีก 2 อย่าง คือ วิตก และสมาธิ ไม่กล่าวถึงแต่ต้องร่วมด้วย เพราะปัญญาไม่สามารถพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยวิตกเป็นตัวเสนออารมณ์ให้ปัญญา คือ ทำงานพร้อมกัน แต่หน้าที่ต่างกัน พอง-ยุบ เป็นบัญญัติอารมณ์ แต่ลึกลงไป คือ รูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถ์ คิดว่าปฏิบัติโดยใช้พองหนอ-ยุบหนอ กับการกำหนดรูป-นาม สามารถปรับเข้ากันได้”
*การเดินจงกรม
---ตามปกติคนเราโดยทั่วไปจะเดินช้าหรือเร็วก็ตาม ย่อมก้าวเท้าเดินไปตามระยะหรือจังหวะ ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยกำหนดว่าก้าวหนึ่ง ๆ มีกี่ระยะ หรือกี่จังหวะ และไม่เคยกำหนดซ้าย-ขวา ในการก้าวย่าง นอกจากทางการทหาร ซึ่งมีความมุ่งหมายไปอีกทางหนึ่ง ต่างจากความมุ่งหมายในการปฏิบัติธรรม
---อิริยาบถเดิน เป็นอาการเคลื่อนไหวทางกายอย่างหนึ่ง สามารถเป็นสื่อให้จิตเกิดความตั้งมั่นได้เช่นกัน แนวทางในการปฏิบัติเบื้องต้น คือ ความตั้งใจในการเดินไปและกลับ ในจังหวะต่าง ๆ ตามระยะทางที่กำหนดไว้ เรียกว่า "เดินจงกรม"
---วิปัสสนาจารย์บางท่าน นำเอาระยะหรือจังหวะมาแบ่งเป็นขั้นตอน โดยกำหนดให้เดินเป็นระยะหรือเป็นจังหวะ รวมแล้วมี 6 ระยะ เข้าใจว่า คงอนุโลมตามการแบ่งการก้าวครั้งหนึ่งออกเป็น 6 ส่วน (ธนิต อยู่โพธิ์ ; 2518 : 22) เพื่อสะดวกในการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ดังนี้...
*จงกรม 1 ระยะ
ซ้ายย่างหนอ - ขวาย่างหนอ
*จงกรม 2 ระยะ
ยกหนอ - เหยียบหนอ
*จงกรม 3 ระยะ
ยกหนอ - ย่างหนอ - เหยียบหนอ
*จงกรม 4 ระยะ
ยกส้นหนอ - ยกหนอ - ย่างหนอ - เหยียบหนอ
*จงกรม 5 ระยะ
ยกส้นหนอ - ยกหนอ - ย่างหนอ - ลงหนอ - ถูกหนอ
*จงกรม 6 ระยะ
ยกส้นหนอ - ยกหนอ - ย่างหนอ - ลงหนอ - ถูกหนอ - กดหนอ
---ในการฝึกนั้นให้ฝึกไปทีละขั้น มิใช่ว่าเดินทุกระยะตั้งแต่ 1 ถึง 6 ระยะ ในคราวเดียวกัน หากแต่เริ่มฝึกจาก 1 ระยะก่อน คือ เดินอย่างช้า ๆ เป็นขั้น ๆ ไปตามวิธีเดินจงกรม จะก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวาก่อนก็ได้ ตั้งสติกำหนดในใจตามไป พร้อมกับก้าวเท้าให้เป็นปัจจุบัน เช่น ขณะยกเท้าซ้ายก้าวไป จนวางเท้าลงกับพื้น ก็ตั้งสติกำหนดแต่แรกเริ่มยกเท้าช้า ๆ ว่า ซ้าย-ย่าง-หนอ พอเท้าเหยียบกับพื้นก็ลงคำว่า หนอพอดี ขณะยกเท้าขวาก้าวไป จนวางเท้าลงกับพื้น ก็ตั้งสติกำหนดว่า ขวา-ย่าง-หนอ ทำให้ทันกันเช่นนี้ทุกครั้งที่ก้าวออก มิใช่ก้าวเท้าไปก่อน แล้วจึงกำหนดตาม หรือกำหนดไว้ก่อน แล้วจึงก้าวเท้า เป็นต้น
---เมื่อจงกรมจนสุดทางด้านหนึ่งแล้ว หยุดยืนให้กำหนดในใจว่า “ยืนหนอ” 3 ครั้ง เมื่อจะกลับตัวให้กำหนดว่า “อยากกลับหนอ” 3 ครั้ง แล้วค่อย ๆ หันตัวกลับช้า ๆ พร้อมกับกำหนดว่า “กลับหนอ” 3 ครั้ง จนหันตัวกลับ เสร็จแล้วจึงเดินจงกรม พร้อมกับกำหนดต่อไป เพื่อให้จิตคงที่อยู่กับอิริยาบถ เมื่อกำหนดระยะที่ 1 จนชำนาญแล้ว วันต่อไปจึงเปลี่ยนเป็นระบบ 2-3-4-5-6 ตามลำดับ ทั้งนี้ สติจะต้องเร็วขึ้นตามรายละเอียดของอาการปรากฎที่บริเวณส่วนต่าง ๆ ของฝ่าเท้า การเดินจงกรมและกำหนดรู้ตัวอยู่เสมอดังนี้ เป็นการฝึกหัดปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานในหมวดอิริยาบถบรรพพะที่ว่า
“คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ”
“เมื่อเดินอยู่ก็กำหนดรู้ว่า ข้าพเจ้าเดินอยู่”
---สติจะต้องตามกำหนดรู้ให้ทันพอดีกับอิริยาบถ อย่าให้ช้าหรือเร็วเกินไป ขณะที่เดิน ถ้ามีสิ่งใดมากระทบทวารต่าง ๆ หรือเกิดเวทนาคิด เกิดธรรมใด ๆ ขึ้นมาให้มีสติตามกำหนดรู้ให้ทัน กำหนดครั้งเดียว แล้วจึงกำหนดเดินต่อไป ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องเริ่มจากเดินจงกรมทุกครั้ง ๆ ละประมาณ 15-30 นาที ก่อนที่จะนั่งสมาธิ
*การนั่งสมาธิ
---เมื่อเดินจงกรมไปจนครบเวลาที่กำหนดแล้ว ให้เตรียมจัดอาสนะสำหรับนั่งไว้ เวลาจะนั่งให้ค่อย ๆ ย่อตัวลง พร้อมกับภาวนาว่า นั่งหนอ นั่งหนอ ... ภาวนาเรื่อยไปจนกว่าจะนั่งเสร็จเรียบร้อย ให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง อาจจะนั่งเก้าอี้หรือนั่งพับเพียบก็ได้ (พระธรรมธีรราชมหามุนี 2538 : 6-7)
---เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วให้หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่ท้อง เวลาหายใจเข้าท้องพองให้ภาวนาว่า พองหนอ ใจที่นึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกันพอดี อย่าให้ก่อนหรือหลังกว่ากัน เวลาหายใจออกท้องยุบให้ภาวนาว่า ยุบหนอ ใจที่นึกกับท้องที่ยุบต้องให้ทันกันเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ให้สติจับอยู่ที่อาการพอง-ยุบเท่านั้น อย่าไปดูลมที่จมูกและอย่าตะเบ็งท้อง ให้นั่งภาวนาเช่นนี้ประมาณ 15-30 นาที เท่ากับเวลาเดินจงกรม การนั่งกำหนดพอง-ยุบ จะแบ่งเป็นระยะเช่นกัน รวมแล้ว 4 ระยะ คือ
*นั่งกำหนด 2 ระยะ
พองหนอ - ยุบหนอ
*นั่งกำหนด 3 ระยะ
พองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ
*นั่งกำหนด 4 ระยะ
พองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ - ถูกหนอ
---คำ ถูกหนอ นี้ หมายถึง ให้ทำความรู้สึกไปที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกายที่สัมผัสกับพื้น รวม 6 แห่ง คือ.......
---1.พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกก้นย้อยข้างขวา)
---2.พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกก้นย้อยข้างซ้าย)
---3.พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกเข่าข้างขวา)
---4.พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกเข่าข้างซ้าย)
---5.พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกตาตุ่มข้างขวา)
---6.พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกต้อง (ถูกตาตุ่มข้างซ้าย)
---ส่วนการนอนกำหนดก็มี 4 ระยะเช่นกัน คือ พองหนอ - ยุบหนอ - นอนหนอ - ถูกหนอ ในการกำหนดถูกหนอนั้น ให้กำหนดส่วนของร่างกายที่สัมผัสกับที่นอน เช่น ศีรษะ สะโพก ขา เป็นต้น
---ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นั้น ถ้าเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน เป็นต้น ให้ปล่อยพอง-ยุบ แล้วเอาสติไปกำหนดบริเวณที่เจ็บ ปวด เมื่อย คัน พร้อมกับภาวนาว่า เจ็บหนอ ๆ หรือ ปวดหนอ ๆ สุดแต่เวทนาใดเกิดขึ้น เมื่อเวทนาหายแล้ว ให้กลับไปพิจารณาพองหนอ-ยุบหนอใหม่ จนกว่าจะครบกำหนดเวลา
---ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงรายได้ หรือคิดถึงกิจการงานที่ค้างอยู่ ให้กำหนดว่า คิดหนอ ๆ จนกว่าจะหยุดคิด เมื่อหยุดคิดแล้ว ให้กลับไปกำหนดพองหนอ-ยุบหนอต่อไป เช่น นึกถึงภูเขาทอง ก็ให้อยู่แค่นึกเท่านั้น อย่าเลยไปถึงภูเขาทอง พอรูปภูเขาทองผ่านเข้ามาทางความคิด (มโนทวาร) ให้กำหนด รู้หนอ ๆ เท่านั้น ไม่ให้วิจารณ์ต่อไป เพราะวิปัสสนาให้รู้แล้วทิ้ง มิใช่ว่ารู้แล้วจำไว้ แม้ดีใจ เสียใจ โกรธ ก็ให้กำหนดเช่นเดียวกัน คือ ดีใจหนอ ๆ เสียใจหนอ ๆ โกรธหนอ ๆ รู้หนอ ๆ จนกว่าความโกรธนั้นจะหายไป เป็นต้น ส่วนการกำหนดอารมณ์ทางทวารอื่น ๆ มีวิธีการดังนี้
---เวลาตาเห็นรูปให้กำหนดว่า เห็นหนอ ๆ ตั้งสติไว้ที่ตา
---เวลาหูได้ยินเสียงให้กำหนดว่า ได้ยินหนอ ๆ ตั้งสติไว้ที่หู
---เวลาจมูกได้กลิ่นให้กำหนดว่า กลิ่นหนอ ๆ ตั้งสติไว้ที่จมูก
---เวลาลิ้นรู้รสให้กำหนดว่า รสหนอ ๆ ตั้งสติไว้ที่ลิ้น
--เวลากายถูกความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ให้กำหนดว่า ถูกหนอ ๆ ตั้งสติไว้ตรงที่ถูก หลังจากกำหนดอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบข้างต้นแล้ว ให้กลับไปกำหนดอารมณ์หลัก คือ พองหนอ - ยุบหนอ ต่อไป
*การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถและการกำหนดต้นจิต
---ในอิริยาบถอื่น ๆ ก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลารับประทานอาหาร ก็ควรรับประทานอย่างช้า ๆ กำหนดไปทุกระยะ เช่น ตักหนอ (ช้อนตักอาหาร) ยกหนอ (มือส่งอาหารเข้าปาก) เคี้ยวหนอ (ขณะเคี้ยว) รสหนอ (เมื่อรสปรากฏ) ฯลฯ หรือเวลาขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ อาบน้ำชำระร่างกาย เหลียวซ้าย แลขวา คู้เข้า เหยียดออก ก้ม เงย ก็ให้มีสติเสมอ มิให้ขาดระยะเช่นกัน เวลาพูดให้ระวังก่อนจะพูดให้กำหนดรู้ว่าจะพูด อย่าพูดติดต่อกันนาน พูดสัก 5-6 คำ หรือ 7-8 คำ ให้หยุดตั้งสติ แล้วพูดต่อไป ให้พูดช้า ๆ เป็นการดี
*การกำหนดต้นจิต
---ต้นจิต คือ ความอยากนั่นเอง เช่น อยากลุก อยากนั่ง อยากนอน เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับอาการเคลื่อนไหวและอิริยาบถต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อฝึกหัดให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น (ธนิต อยู่โพธิ 2518 : 57) เช่น ขณะนั่งอยู่ ก็กำหนดรู้ตัวว่านั่งอยู่ และถ้าจะลุกขึ้น ก่อนจะลุกขึ้นยืนให้กำหนดว่า อยากลุกหนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) ขณะลุกก็ควรเคลื่อนไหวช้า ๆ และกำหนดไปตามอาการและอิริยาบถ โดยกำหนดไปพร้อมกันว่า ลุกหนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) ขณะยืนกำหนดว่า ยืนหนอ ๆ ๆ จะงอแขนเข้ามาให้กำหนดว่า อยากคู้หนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) เมื่องอแขนแล้วกำหนดว่า คู้หนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) เป็นต้น ผู้ปฏิบัติใหม่ ส่วนมากมักจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถไปโดยมิได้กำหนดรู้ไว้ก่อน แต่นึกได้ภายหลังบ้าง บางครั้งกำหนดสับสนไปบ้าง ทั้งนี้ หากไม่ท้อถอยและพากเพียรในการฝึกหัดต้นจิตนี้อย่างสม่ำเสมอ สติจะค่อย ๆ มั่นคงขึ้นเป็นพื้นฐานแก่การกำหนดขั้นสูงต่อไป
---จากการสอบถามถึงวิธีการสอนกรรมฐาน ดร.พระมหาพิธูร วิธุโร อธิบายว่า
---“ในการสอนกรรมฐาน นำมาจากมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 หมวด เช่น หมวดกาย ให้พิจารณาความเคลื่อนไหวร่างกาย เดิน ยืน นั่ง นอน รวมทั้งความเจ็บปวด (เวทนา) ความคิด (จิต) ความง่วง (ธรรม) ซึ่งก็คือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง แต่ไม่ได้เรียกอย่างนั่น ถ้าถามว่าปฏิบัติแบบใด ก็ต้องบอกว่า แบบพองหนอ-ยุบหนอ หนอเป็นคำที่เสริมเข้ามา เพื่อเพิ่มสมาธิให้มากขึ้น คำพูดนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ให้มีสติกำหนดรู้ ส่วนจำนวนครั้งที่ให้กำหนด 3 ครั้งนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็น แต่โดยทั่วไปแล้วเราชอบพูดอะไรให้เป็น 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มความหนักแน่น เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น”
---ดังได้กล่าวแล้วว่า อินทรีย์ 5 และพละ 5 เป็นธรรมที่มีอุปการะมากในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน การปรับอินทรีย์และพละให้เสมอกัน เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปฏิบัติจะได้รับคำสอนและการอบรมจากท่านวิปัสสนาจารย์เป็นระยะ ๆ ในที่นี้ มีการสอนเกี่ยวกับอิริยาบถ 2 อย่าง คือ เดินจงกรมและการนั่งสมาธิ
---การเดินจงกรม เป็นการทำความเพียรอย่างหนึ่ง แม้จะมีสมาธิอยู่บ้าง แต่ก็หนักไปทางวิริยะ ส่วนการนั่งกำหนดกรรมฐาน เป็นการบำเพ็ญสมาธิอย่างหนึ่ง แม้จะมีความเพียรประกอบ แต่ก็หนักไปทางสมาธิ อินทรีย์ทั้งสอง (วิริยะกับสมาธิ) ต้องปฏิบัติให้เสมอกัน ถ้าเดินจงกรมตลอดเวลาเท่าใด เช่น 15 นาที 30 นาที 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ควรนั่งกำหนดภาวนาตลอดเวลาเท่ากันกับการเดินจงกรม เมื่อมีวิริยะในการเดินจงกรมและมีสมาธิในการนั่งกำหนด ปัญญาที่เรียกว่า “ญาน” ก็จะเกิดขึ้นด้วยการรู้เห็นตามเป็นจริง มีพระพุทธพจน์กล่าวว่า
“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส, นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน”
การกำหนดสภาวะไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่กำหนด
---เมื่อผู้ปฏิบัติพากเพียรกำหนด พองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ - ถูกหนอ หรือซ้ายย่างหนอ - ขวาย่างหนอ ด้วยใจสงบ มีขณิกสมาธิติดต่อกันอยู่ได้นาน ผู้ปฏิบัติจะจำแนกได้ว่า “พอง-ยุบ-นั่ง-ถูก” นั้น เป็นรูป คือ วาโยโผฏฐัพพรูป และการกำหนดรู้ เป็นนาม คือ รู้อาการ พอง-ยุบ นั่ง-ถูก
---เมื่อรวม ความรู้อาการ พอง-ยุบ-นั่ง-ถูก ซึ่งเป็นรูป กับ การกำหนด อาการซึ่งเป็นนาม เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทั้งนี้ คงเห็นแต่ฐิติขณะ คือ การตั้งอยู่ของนามและรูปเท่านั้น ไม่เห็นอุปปาททขณะ (ขณะเกิดขึ้น) และภังคขณะ (ขณะดับลง) เป็นญาณขั้นต้น ซึ่งเป็นความรู้โดยการเห็นประจักษ์ด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติของตนเอง หากปฏิบัติต่อไปจนญาณนี้แก่กล้าขึ้น จะรู้ว่าในขณะหายใจเข้า มีแต่อาการพองของท้องเท่านั้น ในเวลาหายใจออกก็จะมีแต่อาการยุบของท้องเท่านั้น
---อาการพอง กับ ใจที่รู้สึก เกิดพร้อมกัน แต่เป็นคนละส่วนกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" เป็นผู้สั่งหรือบงการให้เป็นอย่างนั้น คงมีแต่รูปซึ่งเป็นอารมณ์ และนามซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์เท่านั้น การรู้อย่างนี้เรียกว่า "นามรูปปริจเฉทญาณ" จัดอยู่ใน ทิฏฐิวิสุทธิ์
---ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวไว้ว่า “ความเห็นนามและรูปตามที่เป็นจริง อันครอบงำเสียซึ่งสัตตสัญญา (คือสำคัญว่ามีสัตว์มีบุคคล) ได้แล้ว ตั้งอยู่ในอสัมโมหภูมิ (คือภูมิของความไม่หลงงมงาย) ชื่อว่า "ทิฏฐิวิสุทธิ" และยังมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น นามรูปววัฏฐาน คือ การกำหนดนามรูปก็ได้ เรียกว่า สังขารปริจเฉท คือ การกำหนดสังขารก็ได้”
---ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียรต่อไป ด้วยการกำหนดนามและรูปโดยอาการ 2 ขณะ คือ ขณะเกิดขึ้น (อุปาทขณะ) เมื่ออาการพองขึ้นของท้องก็รู้ และขณะตั้งอยู่ (ฐิติขณะ) แห่งอาการพองขึ้นของท้องก็รู้ (แต่ไม่รู้ถึงภังคขณะ คือ อาการที่ท้องยุบลง) การรู้อย่างนี้เรียกว่า "ปัจจยปริคหญาณ" คือ รู้เหตุและปัจจัยของนามและรูป เช่น อาการพองเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ว่าพองเกิดขึ้น อาการพองเป็นรูป การกำหนดรู้เป็นนาม อาการพองเป็นเหตุ รู้อาการพองเป็นผล เมื่อจะคู้แขนหรือเหยียดออก การกำหนดใจ จะคู้หรือเหยียดเป็นนามและเป็นเหตุ อาการคู้หรือเหยียด เป็นรูปและเป็นผล
---การกำหนดรู้เหตุพร้อมทั้งผล หรือรู้ผลพร้อมทั้งเหตุนี้เรียกว่า "สปัจจยปริคหญาณ" (ธนิต อยู่โพธิ 2518 : 68-69)
---ทั้งนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคหญาณนี้ ยังไม่นับเป็นวิปัสสนาญาณ แต่จะเป็นบาทเบื้องต้น ที่จะให้เกิดสัมมสนญาณ อันเป็นเขตของวิปัสสนาญาณโดยแท้จริงต่อไป ผู้ปฏิบัติที่สามารถรู้ว่า รูปนามทั้งสองนั้น เป็นเหตุเป็นผล เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน คือ บางครั้งรูปเป็นเหตุ นามเป็นผล บางครั้งนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล หาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ เช่นนี้ ย่อมข้ามพ้นความสงสัยในนามรูปได้ เรียกว่า "กังขาวิตรณวิสุทธิ" แม้จะยังไม่เห็นไตรลักษณ์ในนามรูป แต่ความเห็นผิดว่ามีตัวตนจะเบาบางลงมาก ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ กล่าวถึง อานิสงส์ของญาณนี้ไว้ว่า
“อิมานา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏโฐ นิจตคติโก จูลโสตาปนฺโน นามโหติ ”
---“อันผู้เจริญวิปัสสนาประกอบแล้วด้วยญาณดังกล่าวนี้ เป็นผู้ได้ความเบาใจแล้ว ได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนาแล้ว ชื่อว่า จุลโสดาบัน เป็นผู้มีคติ คือ ภูมิที่ไปเที่ยงแท้แน่นอน”
---พระธรรมปาละเถระ ผู้แต่งคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสามหาฎีกา อธิบายข้อความเพิ่มเติมว่า
---“ผู้ปฏิบัติที่บรรลุถึง (กังขาวิตรณวิสุทธิ) ญาณนี้แล้ว มีคติที่เที่ยงแท้ในชาติหน้าซึ่งต่อจากชาตินี้จะไปสู่สุคติ สามารถปิดอบายภพเสียได้ แต่ในชาติที่ 3 ต่อไปนั้นไม่แน่นอน จะปิดอบายภพได้อย่างแน่นอน คือ ชาติที่ 2 เท่านั้น ถ้าต้องการปิดแน่นอนต้องบำเพ็ญความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป จนกระทั่งบรรลุอริยมรรค อริยผล ดังนี้”
---จากงานวิจัยส่วนภาคสนามเรื่องวิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไทย วริยา ชินวรรโณ และคณะ (2537 : 247) มีความเห็นและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การปฏิบัติสมาธิของสายวัดมหาธาตุ ฯ นี้ เป็นสายการปฏิบัติธรรมที่ผู้มาฝึกจะได้ความรู้ทางอภิธรรมปิฎกด้วย เพราะการอธิบายการปฏิบัติ ตลอดจนปรากฏการณ์จากการปฏิบัติ ส่วนใหญ่อธิบายในภาษาของอภิธรรม ซึ่งทำให้มีหลักเกณฑ์น่าเชื่อถือ แต่ก็ยากแก่การเข้าใจของผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ในอภิธรรมมาก่อน ยกเว้นว่าพระอาจารย์ที่ทำการสอนจะมีลำดับขั้นตอน การอธิบายในเบื้องต้นไม่ให้เป็นภาษาอภิธรรมจนเกินไปแล้ว จะเป็นที่สนใจชวนให้ฝึกเป็นอย่างมาก
---เท่าที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นการเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเห็นว่าถ้าเบื้องต้นทำได้ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถศึกษาและปฏิบัติในขั้นสูงขึ้นไปได้ไม่ยากนัก
*การส่งอารมณ์
---เมื่อผู้ปฏิบัติได้ฝึกเดินจงกรมระยะที่หนึ่ง ได้นั่งสมาธิตามที่กำหนดไว้ และได้เจริญสติให้ทันอารมณ์ปัจจุบัน ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถหลังจากนั่งสมาธิแล้ว ครูผู้ฝึกจะเป็นผู้ติดตามผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ ให้ผู้ปฏิบัติเล่าถึงผลการปฏิบัติที่ทำไปแล้วให้กันและกันฟัง เมื่อครูผู้ฝึกได้ทราบแล้วจะได้ชี้สิ่งที่ควรแก้ไข หรือสั่งที่ควรจะทำต่อไป
*วิธีรายงานอารมณ์ (โดยย่อ)
---เพื่อเป็นการทดสอบผลของผู้ปฏิบัติ อาจารย์ผู้สอนจะสอบอารมณ์ในประเด็นต่อไปนี้
---สามารถกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยทั้งวันที่ผ่านมาได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
---จับสภาวะอาการ พอง-ยุบ อาการเดินได้หรือไม่
---รักษาทวารทางตาได้หรือไม่
---กำหนดสภาวะทางจิตและความนึกคิดได้หรือไม่
---กำหนดเวทนาได้อย่างไร
---กำหนดอาการทางทวารทั้ง 6 ได้ทันหรือไม่ และได้ประสบการณ์อะไรจากการกำหนด
---ให้รายงานประสบการณ์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดเดาขึ้น รายงานอารมณ์เท่าที่จำได้และปรากฎชัด พระอาจารย์จะได้ช่วยเหลือได้ตรงจุด
---การส่งอารมณ์ควรพูดเฉพาะเนื้อหาสาระประเด็นสำคัญ ๆ เท่านั้น เพื่อจะได้มีเวลาชี้แนะข้อควรปฏิบัติขั้นต่อไป
---ในเทปบันทึก* เทศน์ลำดับญาณ ของ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) กล่าวถึง การสอบอารมณ์ระหว่างพระอาจารย์ กับผู้ปฏิบัติไว้ดังนี้
---พระอาจารย์ “เมื่อนิมิตมา วิธีถูกต้องให้กำหนดเห็นหนอ ๆ ๆ ถ้า 3 หนหาย แสดงว่าสติสมาธิดีขึ้น ถ้ากำหนดเห็นหนอ ๆ ๆ นิมิตหายช้า แสดงว่าสติสมาธิอ่อนใช้ไม่ได้ จะแก้อย่างไร ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม ใหม่ สมาธิไม่พอ เพราะฉะนั้นมันเตือนบอกให้รู้ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์”
---“หลวงพ่อทำมากี่ปี”
---หลวงพ่อ “43 ปี”
---พระอาจารย์ “ไปถึงไหน”
---หลวงพ่อ “ถึงธรรมกาย”
---พระอาจารย์ “ดี ดีแล้ว หลวงพ่อ ต่อไปให้เดิน 30 นั่ง 30 (นาที)”
*เมื่อไปสอบอารมณ์ใหม่
---พระอาจารย์ “เป็นอย่างไรบ้างหลวงพ่อ นั่งเห็นอะไรบ้าง”
---หลวงพ่อ “เห็นพระพุทธเจ้า จับมือถือแขนกันได้ พูดคุยกันได้” นี่ญาณ 3 (สัมมสนญาณ) เราก็รู้แล้วท่านตอบไปตามเรื่อง นั่นเป็นอารมณ์ของสมถะ
---พระอาจารย์ “ดีหลวงพ่อให้หลวงพ่อกำหนด เห็นหนอ ๆ ๆ นี้จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา” เห็นหนอ ๆ ๆ 8 หนหายนี้สมาธิอ่อนใช้ไม่ได้ ต้องเพิ่มให้เดิน 40 นั่ง 40 (นาที)”
*พอเดิน 40 นั่ง 40 เวลาสอบอารมณ์วันหลัง
---พระอาจารย์ “เป็นอย่างไรหลวงพ่อ”
---หลวงพ่อ “เห็นพระสงฆ์เยอะ”
---พระอาจารย์ “หลวงพ่ออยู่ที่ไหน”
---หลวงพ่อ “ผมก็นั่งอยู่กับท่าน” นี่กรรมฐานรั่ว เราก็ไม่ว่า
---พระอาจารย์ “ดีหลวงพ่อ แต่ให้กำหนด เห็นหนอ ๆ ๆ” 6 หนหายดีขึ้นกว่าวานนี้หน่วยหนึ่ง แต่ยังใช้ไม่ได้ สมาธิยังไม่พอ ให้เดิน 50 นั่ง 50 (นาที)
---พระอาจารย์ “เป็นอย่างไรหลวงพ่อ (เดิน 50 นั่ง 50)”
---หลวงพ่อ “ธรรมกายมาบ่อย ๆ”
---พระอาจารย์ “ดี ในประเทศไทยหลวงพ่อทำได้ดีมาก แต่ให้หลวงพ่อกำหนดครับ เห็นหนอ ๆ”
---หลวงพ่อ “เวลากำหนดเห็นหนอ ๆ พอเห็นหนอหนที่ 3 นี่ ขาดวับ ตกใจเลย จึงคิดได้ว่า โอ เรานี้เป็นขี้ข้าคนมาหลายสิบปีแล้ว ไม่เท่าไหร่ก็จะตาย”
---พระอาจารย์ “ตรงที่มันขาดวับ ก็คือ ญาณที่ 4 นั่นแหละ อุทยัพพยญาณ เห็นรูปนามเกิดดับเกิดดับจริง ๆ ที่พิจารณาว่า โอ เรานี้เป็นขี้ข้าของคนมาหลายสิบปีนี้ เป็นญาณที่ 3 ใช่จินตาญาณ ส่วนที่มันขาดวับ (นิมิตหายไป) นั่นญาณ 4 เวลาเกิดมันเกิดอย่างนี้ สภาวธรรมที่หลงทาง ก็หลงทางอยู่ตรงนี้”
* พระมหาอุเทน (ปธ.9) แห่งวัดชนะสงคราม กล่าวไว้ในหนังสือพุทธวิทยาที่น่ารู้เล่ม 3 หน้า 190
---พระอาจารย์ หมายถึง พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
---หลวงพ่อ หมายถึง พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)
---การที่ผู้ปฏิบัติกล่าวว่า ตนได้เห็นพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกสถิตมั่นอยู่ในอายตนะนิพพาน หรือที่กล่าวว่าตนได้เห็น กายหยาบ กายละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายพระอริยบุคคล มีพระอรหันต์เป็นต้นก็ดี จึงเป็นเพียงนิมิตที่เกิดจากสมาธิ ด้วยการนึกไปโน้มไป เป็นเพียงอารมณ์ของสมถะ มิใช่อารมณ์ของวิปัสสนา
---เพราะในวิปัสสนาญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณอย่างแก่ จนถึงปัจจเวกขณญาณไม่มีนิมิต มีแต่รูป-นามล้วน ๆ เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ มิใช่อารมณ์บัญญัติ จึงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างอารมณ์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในสมถกรรมฐานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ในวิปัสสนากรรมฐานมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เรื่องของนิมิตเป็นเพียงผลระดับขั้นพื้นฐานของการเจริญทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุปกิเลสที่เกิดขึ้น หากไม่มนสิการให้ดีจะเกิดการชื่นชมหลงใหลหลงทาง เข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว แต่แท้ที่จริงยังห่างไกลนัก (พระมหาอุเทน (ปธ.9) วัดชนะสงคราม “พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา” ใน พุทธวิทยาที่น่ารู้ เล่ม 3 หน้า 191-192)
*การประเมินผล
---การประเมินผลนั้นจะประเมินตามวัตถุประสงค์ของพฤติกรรม เป็นการตรวจสอบสภาวะญาณ และเป็นการแก้ความเข้าใจผิดไปในตัว มีวิธีการคือ
---ให้ผู้ปฏิบัติรายงานการทำกิจกรรมตามความเป็นจริง
---สังเกตการณ์
---การตรวจสอบตามวัตถุประสงค์
---การสอบสวนทวนความ
---ให้สอบถามปัญหาตามบทเรียน
---ข้อดีของการปฏิบัติสายวัดมหาธาตุ ฯ นี้ ก็คือ พระอาจารย์และผู้ฝึกได้มีความใกล้ชิด และสามารถต่อบทเรียน สอบอารมณ์ ทำให้มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันในการฝึกแต่ละครั้ง พระอาจารย์จะนำในการฝึกหลายอิริยาบถ เช่น พาเดินจงกรม แล้วนำในการท่องคำภาวนาไปด้วย ทำให้ผู้ฝึกติดตามได้ไม่เบื่อง่าย (วริยา ชินวรรโณ และคณะ 2537 : 247)
*ข้อมูลจากการสัมภาษณ์
---เป็นการสอบถามความคิดเห็นใน 3 ประเด็น คือ หลักการและวิธีการที่ใช้สอน ความเกี่ยวข้องกับคัมภร์ และประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติ
---ดร.พระมหาพิธูร วิธุโร ท่านบวชเป็นพระเมื่อปี 2513 และเข้าเป็นนิสิตของมหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย ได้ปฏิบัติกรรมฐานตามหลักสูตรของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโท และจบปริญญาเอก 2 สาขา คือ สาขาสังคมศาสตร์ และสาขาบาลีพระพุทธศาสนา ที่ประเทศอินเดีย ในทางธรรมนั้นจบประโยค ปธ.6 กล่าวถึงวิธีการสอนและผลจากการนำไปใช้ว่า
---“ขณะเป็นนิสิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เรียนบาลีและฝึกปฏิบัติกับพระธรรมธีรราชมหามุนี ตั้งแต่เริ่มบวช เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาขอฝึกกรรมฐานมากขึ้น อาจารย์ก็ให้ช่วยเป็นล่ามแปลภาษาให้ ก็เลยเป็นผู้อบรมกรรมฐานโดยปริยาย เวลาพระอาจารย์ไม่อยู่ ส่วนใหญ่จะให้ผู้ปฏิบัติลงมือปฏิบัติจริง ๆ มากกว่าให้อ่านหนังสือ หรือเรียนแบบลัดไม่อิงตำรา คือ ให้เริ่มสมาทานศีล สมาทานกรรมฐาน แล้วแนะนำวิธีปฏิบัติอิริยาบถ 4 ไปเลย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีสติกำหนดรู้ตัวอยู่ทุกขณะ อย่าให้จิตหนีออกไปไกลตัว พูดเป็นภาษาธรรม คือ ให้มีสติกำหนดรู้อารมณ์ปัจจุบัน ให้ภาวนาด้วย ถ้าไม่ภาวนา จิตจะหนีได้ง่าย
---เทคนิคการเปลี่ยนจากสมถเป็นวิปัสสนานั้น ขึ้นกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติ และอาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญ ถ้าเอาสติจ้องอารมณ์เดียว พองก็เห็น ยุบก็เห็น อย่างนี้เป็นสมถ แต่ถ้าสติกำหนดรู้ตามความเป็นจริง กำหนดสภาวธรรมเป็นวิปัสสนา เราไม่ต้องการความสงบจนไม่รู้เรื่อง หรือความฟุ้งซ่านคิดนึกเรื่องไกลตัว ให้การคิดอยู่ในตัวเราไม่ถือว่าฟุ้งซ่าน วิธีนี้ดีคือ สามารถลดความเจ้าอารมณ์ของตนเองลง ความวิตกกังวลก็ลดลงด้วย เพราะจิตมีงานระลึกรู้เป็นสำคัญ
---ปัญหาสำคัญในโลกนี้คือ ความทุกข์ใจ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความทุกข์ใจ วิปัสสนา-ก็ยังมีความจำเป็นมาก ปัญหาเกิดเพราะการเอาใจไปผูกพัน เรียกว่า อุปาทาน เป็นกิเลสสร้างภพชาติ ถ้าจิตภาวนาจนเกิดปัญญา ภพชาติก็ดับ ต้องปฏิบัติให้ถึงที่กิเลสดับ ภพชาติจึงดับ
---สำหรับเนื้อหาในพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะใช้วิสุทธิมรรคอธิบายในภาคของการปฏิบัติ จะเข้าใจและใช้ความรู้ในวิสุทธิมรรคมากกว่า เพราะชี้แนะชัดเจนอยู่แล้วว่าจะทำได้อย่างไรทั้งสมถและวิปัสสนา”
---พระชำนาญ กำปั่นทอง พรรษา 48 ปี เป็นข้าราชการกองทัพอากาศ ลาบวช มาปฏิบัติธรรม การศึกษาทางธรรม จบนักธรรมเอก ชอบศึกษาธรรมตั้งแต่เด็ก เคยเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่บุดดา สอนให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ใช้คำภาวนาพุทโธ ก็ได้ความสงบระดับหนึ่ง ต่อมาเข้ารับราชการ ทางกองทัพบกนิมนต์ท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทฺธิ ไปสอนกรรมฐานอยู่ประจำ ก็เลยได้เรียนในฐานะวิปัสสนาหมู่ใหญ่ เคยกำหนดลมหายใจมากก่อน เมื่อมากำหนดพองหนอ- ยุบหนอ รู้สึกว่าง่ายและได้ลิ้มรสการปฏิบัติอย่างแท้จริง
---"หนอ" เป็นคำที่เตือนไม่ให้ประมาท กระแสจิตไม่ฟุ้งซ่านไปไกล จิตใจคนเราเหมือนกระแสน้ำ ที่มักไหลลงต่ำเสมอ จำต้องมีทำนบกั้นหมายถึง การฝึกสมาธินั่นเอง
---เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญาจะเกิดได้ง่าย กรรมฐานจะให้ประโยชน์ 2 ลักษณะ คือ สมถ ให้ประโยชน์ด้านความสงบระงับ ส่วนวิปัสสนาให้ประโยชน์ด้านปัญญา ทำให้พลังจิตใจของเรามีน้ำหนัก นำไปใช้ประโยชน์ได้ การปฏิบัติมีจุดมุ่งหมาย คือ การพ้นจากวัฏสงสารไม่อุปาทาน ควรจะเรียนก่อน เพื่อให้รู้ลักษณะของศีล หิริโอตตัปปะ คือ ให้รู้บาปบุญคุณโทษก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ
---ส่วนใหญ่จะศึกษาจากพระไตรปิฎก สำหรับพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น คิดว่าเป็นข้อธรรมที่ละเอียดอ่อน ต้องการความไตร่ตรองที่ค่อนข้างประณีต จึงยากสำหรับคนทั่วไป
---กล่าวโดยสรุปแล้ว สำนักวิปัสสนา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นสถาบันเก่าแก่ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยพระเถรานุเถระที่มีบารมี มีสมณศักดิ์ และมีบทบาทในการบริหารคณะสงฆ์ยุคนั้น คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) ทั้งนี้โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านได้นำแบบอย่างแนวคิดและวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน พอง-ยุบ ของท่านมหาสี สะยาดอ จากสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในประเทศพม่า มาเผยแผ่อบรมในประเทศไทย งานเผยแผ่เป็นไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว
---เนื้อหาการสอนของสำนักวัดมหาธาตุ ฯ ประยุกต์มาจากมหาสติปัฏฐานสูตร คือ การพิจารณาการเคลื่อนไหวของหน้าท้องขณะหายใจ วิธีการมีลักษณะเด่น คือ คำภาวนา หนอ ต่อท้ายในทุกอิริยาบถ ซึ่งไม่มีในมหาสติปัฏฐานสูตร เช่น พองหนอ ยุบหนอ
---การสอนค่อนข้างเป็นระบบ มีท่าทางเป็นขั้นตอน คือ ต้องเริ่มด้วยการเดินจงกรมจังหวะต่าง ๆ เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ต่อด้วยการนั่งสมาธิพิจารณา พองหนอ ยุบหนอ เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1ชม. เช่นกัน สังเกตความเจ็บปวด ความเมื่อย (เวทนา) สังเกตความนึกคิด (จิต) และการเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ละขั้นตอนของอิริยาบถให้กำหนดประมาณ 3 ครั้ง จึงเปลี่ยน เน้นการภาวนาให้ทันกับอาการที่เกิดขึ้น
---ผลของวิธีการดังกล่าวในด้านหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติใหม่จะรู้ได้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง มีพระอาจารย์นำในการปฏิบัติทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ระบบขั้นตอนดังกล่าว อาจมีส่วนปิดกั้นความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติ จากการยึดระบบและยึดบุคคลโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผลของสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เพราะมัวกังวลอยู่ว่าต้องทำให้ถูกระบบ ให้ตรงกับที่อาจารย์สอน
---นอกจากความรู้ในมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว จะใช้-คัมภีร์วิสุทธิมรรคในการกล่าวถึง ลำดับญาณต่าง ๆ ด้วย ไม่มีการเน้นถึงเนื้อหาหลักในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ สภาวธรรมต่าง ๆ เช่น ภูมิของวิปัสสนา ใช้ความรู้จากคัมภีร์วิสุทธิมรรคในการอธิบายมากกว่า
---ประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติธรรม คือ เป็นการพัฒนาจิตใจตนเองโดยตรง มีผลถึงสังคมส่วนรวมด้วย ควบคุมอารมณ์ได้นานขึ้น เบียดเบียนคนอื่นน้อยลง ความวิตกกกังวลก็ลดลงด้วย เรียกว่า สติจะควบคุมให้ครบวงจรทุกแง่มุม.
*ญาณ ๑๖ ที่ควรรู้
---วิธีเจริญวิปัสสนา แบบพองหนอ หยุบหนอ โดยหลวงพ่อโชดก และ การทำให้สมาธิดีเยี่ยมและเกิดปัญญา การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ วิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ คือ
---๑.ขันธ์ ๕
---๓.ธาตุ ๑๘
---๒.อายตนะ ๑๒
---๔.อินทรีย์ ๒๒
---๕.อริยสัจจ์ ๔
---๖.ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
---ย่อให้สั้น ได้แก่รูปกับนาม รูปกับนามนี้เกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และกิเลสก็เกิดที่ตรงนี้ เช่น เวลาตาเห็นรูป รูปนามเกิดแล้ว สีเป็นรูป เห็นเป็นนาม ถ้าเห็นรูปดีใจชอบ เป็นโลภะ เห็นรูปไม่ดี ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ เห็นแล้วเฉยๆ ไม่มีสติกำหนดรู้ เป็นโมหะ
---ทางหูก็เหมือนกัน เช่น เสียง เป็น รูป หู (หมายเอาโสตประสาท) เป็นรูป ได้ยินเป็นนามได้ยินเสียงเพราะชอบใจเป็นโลภะ ได้ยินเสียงไม่เพราะ ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ ได้ยินเสียงแล้วใจเฉยๆ และไม่มีสติกำหนดรู้ เป็นโมหะ ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นรูปนาม และเป็นเหตุ ให้ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันนี้
---ตามธรรมดาของชาวโลกทั่วๆ ไป แล้ว เวลาจะดับไฟต้องเอาน้ำไปสาดหรือเท ลงตรงไฟที่ไหม้นั้น จึงดับได้ เช่น ไฟกำลังไหม้บ้าน ต้องเอาน้ำไปเทรดที่บ้านนั้น ไฟจึงจะดับได้ ฉันใด ผู้ที่จะดับกิเลส ก็ฉันนั้น กิเลสเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้ดับตรงที่ ตา หู เป็นต้นนั้น เช่นกัน
*วิธีที่จะดับได้นั้น ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
---๑.อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่ว ได้แก่ หมั่นขยันทำกรรมฐานมิให้ขาด
---๒.สติมา มีสติกำหนดรูปนามเสมอ
---๓.สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ รู้รูปนามอยู่ทุกๆ ขณะ เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามองค์เช่นนี้ ติดต่อกันไป ภายใน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน เป็นต้น จึงจะสามารถละกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้
*ภาคปฏิบัตินั้นตามสติปัฏฐาน ๔ นั้น ทำดังนี้ คือ
---๑.ให้เดินจงกรม ใช้สติจับอยู่ที่เท้า เวลายกเท้าขวาขึ้นให้ภาวนาในใจว่า “ขวาย่างหนอ” ให้สติรู้ตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก มิให้เผลอ ประมาณสัก ๓0 นาที หรือ ๑ ชั่วโมง
---๒.เดินแล้วนั่งลง นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงพอสมควร หลับตามให้เอาสติจับอยู่ที่ท้องเวลาท้องพองขึ้น ให้ภาวนาตามว่า “พองหนอ” เวลาท้องยุบให้ภาวนาว่า “ยุบหนอ”
---๓.ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาเกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน ก็ให้ใช้สติกำหนดอารมณ์นั้นๆ คือ ให้ทิ้งพอง ยุบ ก่อน แล้ว กำหนดอาการเจ็บว่า “เจ็บหนอๆ” จนหว่าจะหายไป ถ้าอาการปวดเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” ถ้าอาการเมื่อยเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า “เมื่อยหนอๆ” ถ้าอาการคันเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า “คันหนอๆ” จนกว่าจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ให้กลับมากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ต่อไป นั่งให้ได้ประมาณสัก ๓๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง แรกทำจะนั่งเพียงวันละ ๕ นาทีก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐–๑๕–๒๐–๓๐ นาที ก็ได้
---๔.เวลาใจคิดไปถึงเรื่องต่างๆ เช่น นึกถึงบ้าน นึกถึงการงาน ลูกหลานเป็นต้น ให้ใช้สติปักลงไปที่หัวใจ พร้อมกับภาวนาว่า “คิดหนอๆ” จนกว่าจะหยุดคิด เวลาโกรธ ก็ให้กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” จนกว่าจะหายไป เวลาดีใจ ก็ให้กำหนดว่า “ดีใจหนอๆ” เวลาเสียใจ ก็ให้กำหนดว่า “เสียใจหนอๆ” เช่นกัน
---๕.เวลานอน ให้เอาสติจับอยู่ที่ท้อง ภาวนาว่า “พองหนอ” “หยุบหนอ” จนหลับไปด้วยกัน ให้คอยสังเกตดูให้ดีว่าจะหลับไปตอนพอง หรือจะหลับไปตอนยุบ ถ้าใครจับนับว่าดีมาก
*เมื่อปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานจะเกิดปัญญาคือวิปัสสนาญาณ 16 ขั้นได้แก่
---ญาณที่ 1 เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง รูปธรรมนามธรรม คือ มองเห็นความต่างกันของธรรมชาติ 2 อย่าง คือเห็นรูปก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง เห็นนามก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง
---ญาณที่ 2 เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม คือจะเห็นว่า รูปนามนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยกันเช่นขณะที่การก้าวไปๆ การคู้ การเหยียด การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นไปเพราะว่ามีธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นตัวเหตุปัจจัย คือมีจิต จิตปรารถนาจะให้กายเคลื่อนไหว กายก็เคลื่อนไหวไป จิตปรารถนาจะยืน กายก็ยืน จิตปรารถนาจะเดิน กายก็เดิน จิตปรารถนาจะนอน กายก็นอน คือลมก็ไปผลักดันให้กายนั้นเป็นไป อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป นามคือจิตใจเป็นปัจจัยให้เกิดรูป
---ญาณที่ 3 สัมมสนญาณ ในสมมสนญาณนี้ก็เป็นญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูปนาม เห็นทุกขัง คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของ รูปนาม เห็นอนัตตา ความบังคับบัญชาไม่ได้ของรูปนาม แต่ว่าการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในญาณที่ 3 นี้ยังเอาสมมุติบัญญัติมาปน ยังมีสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังมา เอาจินตามยปัญญาความตรึกนึกคิดมาปนอยู่ด้วย
---ญาณที่ 4 คือ อุทยัพพยญาณ ในอุทยัพพยญาณนี้ ก็แบ่งเป็น 2 ตอนเป็น ตรุณอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง กับเป็น พลวอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง คือ เป็นอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน กับอุทยัพพยญาณอย่างแก่ ญาณ ที่ 4 อย่างอ่อน คือตรุณอุทยัพพยญาณนี้ ก็จะทำให้เกิด วิปัสสนูปกิเลสขึ้น ที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง วิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง คือทำให้วิปัสสนาไม่เจริญขึ้น จะไม่ก้าวหน้า ส่วนใน ญาณที่ 4 อย่างแก่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม มีความบริสุทธิ์ของการเห็น เห็นรูปเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
---ญาณที่ 5 เรียกว่า ภังคญาณ ในภังคญาณนี้จะเห็นแต่ฝ่ายดับ เห็นรูปนามนั้นดับไป ดับไปด้วยความเร็วเพราะรูปนามเกิดดับรวดเร็วถี่มาก
---ญาณที่ 6 เรียกว่า ภยญาณ จะเห็นรูปนามที่มันดับไปนั้นแต่เกิด ความรู้สึกขึ้นในใจว่าเป็นภัยเสียแล้ว เห็นว่ามันเป็นภัย ก่อนนั้นเคยหลงไหล แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นภัย
---ญาณที่ 7 อาทีนวญาณ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ ในขณะที่เห็นรูปนามดับไป ดับไป เกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ นอกจากจะเห็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอีก
---ญาณที่ 8 คือ นิพพิทาญาณ นิพพิทาญาณนี้จะรู้สึกเบื่อหน่าย ในเมื่อรูปนามเป็นภัยเป็นโทษมันก็รู้สึกเบื่อหน่ายไม่ได้ติดใจ เลยในรูปนาม นี้ มันน่าเบื่อจริงๆ แต่ก็ไม่หนี ไม่ท้อถอย ก็ยังคงดูต่อไป แต่บางคนก็อาจจะเลิกรา เบื่อมากๆ เข้า เมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 9
---ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ มีความรู้สึกใคร่จะหนีให้พ้น เมื่อมันเบื่อแล้วก็ใคร่จะหนี มีความรู้สึกอยากจะหนีไป เหมือนบุคคลที่อยู่ในกองเพลิง มันก็อยากจะไปให้พ้นจากกองเพลิงเหล่านี้ จากนั้นเมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 10
---ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ ในปฏิสังขาญาณนี้มันจะหาทางว่าทำอย่างไร ถึงจะพ้นได้ ในเมื่อตอนแรกมันใคร่จะหนี พอถึงญาณอันนี้ก็หาทางที่จะหลุดพ้นให้ได้ เมื่อเพียรพยายามต่อไป ก็จะขึ้นถึงญาณที่ 11
---ญาณที่ 11 สังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณนี้ มีลักษณะวางเฉยต่อรูปนาม คือเมื่อกำหนดรู้ หาทางหนี หนีไม่พ้น ยังไงก็หนีไม่พ้น ก็ต้องดูเฉยอยู่ การที่ดูเฉยอยู่นี้ทำให้ สภาวจิตเข้าสู่ความเป็นปกติในระดับสูง ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป บุคคลทั่วไปเวลาเกิดเห็น ทุกข์เห็นโทษเห็นภัยนี้สภาวะของจิตใจจะดิ้นรนไม่ต้องการ จะกระสับกระส่ายดิ้นรน แม้แต่ในวิปัสสนาญาณก่อนหน้าสังขารุเปกขาญาณ ก็ยังมีลักษณะความดิ้นรนของจิต คือยังมีความรู้สึกอยากจะหนี อยากจะให้พ้นๆ สภาวะของจิตยังไม่อยู่ในลักษณะที่ปกติจริงๆ มันก็หลุดพ้นไม่ได้ แต่เมื่อมันดูไปจนถึงแก่กล้าแล้วไม่มีทางก็ต้องวางเฉยได้ ซึ่งในขณะที่เห็นความเกิดดับเป็นภัยเป็นโทษน่าเบื่อหน่ายอยู่อย่างนั้นมันก็ ยังวางเฉยได้ แม้จะถูกบีบคั้นอย่างแสนสาหัส แทบจะขาดใจมันก็วางเฉยได้ เมื่อวางเฉยได้มันก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 12
---ญาณที่ 12 อนุโลมญาณ เป็นญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจจ์ที่จะสอดคล้องต่อไปในโลกุตตรญาณ จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 13 เรียกว่า โคตรภูญาณ
---ญาณที่ 13 โคตรภูญาณ คือญาณที่มีหน้าที่โอนโคตรจากปุถุชนก้าวสู่ความเป็นอริยะ ในขณะนั้นจะทิ้งอารมณ์ที่เป็นรูปนามไปรับนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าโคตรภูญาณยังเป็นโลกิยะอยู่ ตัวมันเองเป็นโลกิยะ แต่มันไปมีอารมณ์เป็นนิพพาน แล้วจากนั้นก็จะเกิดมัคคญาณขึ้นมา
---ญาณที่ 14 มัคคญาณ มัคคญาณนี้เป็นโลกุตตรญาณ จะทำหน้าที่ประหารกิเลสระดับอนุสัย กิเลส ทำหน้าที่รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ แจ้งนิโรธความดับทุกข์ เจริญตนเองเต็มที่ คือองค์มรรค 8 มีการประชุมพร้อมกัน ทำหน้าที่ละอนุสัยกิเลสแล้วก็ดับลง มีนิพพานเป็นอารมณ์
---ญาณที่ 15 ผลญาณ ผลญาณเป็นโลกุตตรญาณ เกิดขึ้นมา 2 ขณะ เป็นผลของมัคคญาณ ทำหน้าที่รับนิพพานเป็นอารมณ์ 2 ขณะ แล้วก็ดับลง
---ญาณที่ 16 ปัจจเวกขณญาณ ญาณพิจารณา มรรค ผล นิพพาน เป็นโลกิยญาณ ญาณพิจารณา เหมือนคนที่ผ่านเหตุการณ์อะไรมา ก็จะกลับพิจารณาสิ่งที่ผ่านมา แต่ญาณนี้ พิจารณามรรคที่ตนเองได้ พิจารณาผลที่ตนเองได้ พิจารณาพระนิพพาน และถ้าคนมีหลักปริยัติ ก็จะพิจารณากิเลสอันใดที่ละไปได้แล้ว กิเลส อันใดที่ยังเหลืออยู่ และถ้าคนไม่มีหลักปริยัติก็พิจารณาแค่ มรรค ผล นิพพาน ในระหว่างที่ญาณก้าวขึ้นสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณนี้ ท่านก็อุปมาให้ฟังเหมือนกับบุคคลที่จะก้าวกระโดดข้ามฝั่ง
*อริยสัจ 4
*เสียงกับหู นี้เป็นตัวทุกข์สัจจะ
*ตันหาก่อนๆที่ทำให้เราได้ยินเสียงนี้เป็น สมุทัย
*สติกำหนด "ยินหนอ" นี้เป็นมรรค (ขณะที่กำหนดสติไว้นี้ มรรค 8 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าพร้อมกันหมดเพื่อประหารกิเลสให้ตาย)
*อนุสัยตายไปถึง 7 ชาติ นี้เป็นนิโรธ
*อริยสัจ 4 อยู่ในร่ายกายนี้ ไม่ใช่ไปหาเอานอกฟ้าป่าหิมพานที่ไหน
*มันต้องปฏิบัติมันจึงจะเกิด ไม่ทำไม่เกิด
---แสดงเหตุแห่งการปฏิบัติเป็นข้อๆ ดังนี้ คือ
---๑.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตามพระบาลีในพระไตรปิฏก
---๒.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
---๓.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะไม่อยู่ปราศจากสติ
---๔.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรงและถูกต้องครบทั้ง ๓ ปิฎก ดังหลักฐานเป็นเครื่องสาธกมีอยู่ว่า
สกลํปิ หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ อาหริตฺวา กถิยมานํ อปฺปมาทํเอว โอตรติ.
---จริงอยู่ พระพุทธพจน์จบทั้งพระไตรปิฎกแม้ทั้งสิ้นที่พระนักเทศน์ พระธรรมถึก นำมาชี้แจงแสดงไขอยู่นั้นย่อมรวมลงสู่ที่แห่งเดียว คือความไม่ประมาทเท่านั้น
---๕.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ อันเป็น มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง
---๖.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บำเพ็ญไตรสิกขาครบบริบูรณ์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขณะเดินจงกรมหรือนั่งกำหนดอยู่นั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ บริสุทธิ์ จัดเป็นศีล ใจไม่เผลอจากรูปนาม จัดเป็นสมาธิเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์จัดเป็นปัญญา
---๗.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิปัตติบูชา ดังที่ได้ตรัสแกพระอานนท์เถระ ในคราวจะปรินิพพาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๐ มหาปรินิพพานสูตร ว่า
---“โย โย อานนฺท ภิกฺขุ วา ภิกฺขุนี วา อุปาสโก วา อุปาสิกา วา ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน วิหรติ” เป็นต้น
แปลเป็นใจความว่า “ดูกรอานนท์ บุคคลใด เป็นภิกษุก็ตาม เป็นภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสกก็ตามเป็นอุบาสิการก็ตาม ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่นวโลกุตรธรรมทั้ง ๙ ปฏิบัติชอบยิ่งกว่าปฏิบัติตาม ธรรม คือ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน นั่นเอง จนได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน บุคคลนั้นชื่อว่า ได้สักการะ ได้เคารพ ได้นับถือ และได้บูชาเรา ด้วยการบูชาอย่างสูงสุด” ดังนี้
---๘.ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระองค์มาก ดังที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในเมือง ไพสาลีว่า
---ภิกฺขเว มยิ สสิเนโห ติสฺสสทิโสว เป็นต้น
---ใจความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความรักใคร่ในเรา ผู้นั้นจงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เช่นกับพระติสสะนี้เถิด ถึงแม้พุทธบริษัทจะทำการบูชาด้วยของหอม และดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น ก็ยังไม่เชื่อว่า ได้บูชาเราอย่างแท้จริง เฉพาะผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานสมควรแก่มรรค ผล นิพพานเท่านั้น จึงจะชื่อว่าได้บูชาเราอย่างแท้จริง ดังนี้
*บุญแปลและหมายความอย่างไร
---บุญแปลว่าชำระ คือชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาด
*กายวาจาใจของเรามันไปเปื้อนอะไร
---ตอบ เปื้อนบาป บาปแบ่งออกเป็น 3
---1.บาปอย่างหยาบ
---2.บาปอย่างกลาง
---3.บาปขั้นสูง
---ศีล ชำระบาปอย่างหยาบที่ออกมากาย ทางวาจา
---สมาธิ ชำระบาปอย่างกลางคือนิวรณ์ 5 ได้แก่1.กามฉันทะ 2.พยาปาทะ 3.ถีนมิทธะ 4.อุทธัจจกุกกุจจะ 5.วิจิกิจฉา
---วิปัสนาหรือ(ปัญญา) นั้น ชำระบาปอย่างละเอียดคือ อนุสัยกิเลสที่มันติดมาจากภพก่อนชาติก่อนโน้น
---บาปอะไรหนอที่เราสามารถตัดได้
---ตอบ อนุสัยกิเลสจะขาดได้ต้องเจริญวิปัสนากรรมฐาน
.........................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 20 กันยายน 2558
ความคิดเห็น