/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์






*๑.วิทยาศาสตร์คืออะไร


---คำว่าวิทยาศาสตร์ อาจมีความหมายได้สองอย่าง อย่างแรกคือความหมาย ในเชิงที่เป็นอยู่ (descriptive meaning) อย่างที่สองคือความหมายในเชิงที่ควรจะเป็น (normative meaning) ความหมายของวิทยาศาสตร์ในเชิงที่เป็นอยู่นั้นอาจดูได้  จากกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ ได้กระทำมาในอดีตและ ที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดที่นักวิทยาศาสตร์กระทำนั้นคือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ความหมายในแง่นี้พิจารณาอย่างกว้างๆอาจมีปัญหาเพราะว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กระทำนั้นมีความหลากหลาย  จะอย่างไรก็ตาม ในความหลากหลายนั้นย่อมจะต้องมีแกนกลางบางอย่างรองรับอยู่ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งที่ดาร์วิน นิวตัน ไอน์สไตน์ เป็นต้นกระทำสามารถจัดอยู่ภายใต้กิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ได้


---อะไรคือแกนกลางของกิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะพิจารณาปัญหานี้ มีบางเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจก่อน เราสามารถแยกกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ออกจากตัวนักวิทยาศาสตร์ และในความเป็นจริงเวลาที่เรากำลังมองหาความหมายของวิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งที่เรา จะต้องแยกสองเรื่องนี้ออกจากกัน นักวิทยาศาสตร์นั้นคือมนุษย์เหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ เขาย่อมจะมีภูมิหลังทางศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณีตลอดจนความคิดเห็นส่วนตัวบางอย่าง เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป บางคนอาจนับถือศาสนา บางคนอาจไม่นับถือศาสนา ในคนที่นับถือศาสนานั้นก็อาจนับถือศาสนาที่แตกต่างกันไป เช่นนักวิทยาศาสตร์บางคนอาจนับถือศาสนาที่สอนเรื่องพระเจ้า บางคนอาจนับถือศาสนาที่ไม่สอนเรื่องพระเจ้า กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สามารถดำเนินการโดยคนที่มีความเชื่อทางศาสนา การเมือง จริยธรรมเป็นต้นแบบใดก็ได้


---ในกรณีของศาสนานั้น บางครั้งเราจะเห็นว่าเนื้อหาของวิทยาศาสตร์บางอย่างอาจดูเหมือนจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อทางศาสนา สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอแนวความคิด ที่อาจตีความว่ากระทบต่อคำสอนของศาสนานั้นเรามักพบว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนา หรือแม้จะลงชื่อว่านับถือศาสนา แต่ก็ไม่ยอมให้คำสอนทางศาสนามามีอิทธิพลต่องานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เราอาจยกชาร์ลส์ ดาร์วินมาเป็นตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์แบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์บางคนก็นับถือศาสนา สำหรับคนประเภทนี้กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นคนละเรื่องกับคำสอนในทางศาสนา หรือไม่คำสอนทางศาสนานั้นมีสถานะอยู่เหนืองานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบคือสิ่งช่วยส่องให้เนื้อหาของศาสนาชัดเจนหรือมีน้ำหนักมากขึ้น  เราอาจยกไอแซ็ค นิวตันมาเป็นตัวอย่างสำหรับกรณีที่สองนี้ นิวตันเชื่อว่างานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่จะช่วยส่องให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า  เขาเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในงานบางชิ้นของเขาอย่างชัดเจน


---แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในเรื่องศาสนาแตกต่างกันดังที่กล่าวมาข้างต้น ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่คนเหล่านี้นำเสนอก็มีลักษณะร่วมกันบางอย่าง และลักษณะที่ว่านี้เราอาจกล่าวได้ว่า คือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์  ต่อไปนี้คือสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะร่วมของงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์


---๑.การใช้ประสาทสัมผัสสังเกตธรรมชาติเพื่อค้นหากฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ 


---เดิมนั้นปรัชญากรีกให้ความสำคัญแก่การหาความจริงในธรรมชาติผ่านทางการใช้เหตุผล กาลิเลโอได้ตั้งข้อสงสัยว่าการใช้เหตุผลนั้นอาจไม่นำเราเข้าถึงความจริงอย่างที่ต้องการ กาลิเลโอเห็นว่าเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้แสวงหาความรู้คือประสาทสัมผัส นับจากยุคของกาลิเลโอเป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ในความหมายของกิจกรรมแสวงหาความรู้ผ่านทางการสังเกตธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสก็เกิดขึ้น จะอย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงการสังเกตการณ์ธรรมชาติยังไม่พอที่จะก่อให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์


---สิ่งที่ทำให้การสังเกตธรรมชาติกลายมาเป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์คือการใช้เหตุผลแบบหนึ่งที่เรียกว่าการอุปนัย (induction) การอุปนัยคือการสรุปข้อความสากลขึ้นจากข้อความเฉพาะจำนวนหนึ่ง ในทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ เราเรียกข้อความสากลที่เป็นผลมาจากการอุปนัยนี้ว่า “กฎ” (law) ลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งที่เรียกว่ากฎในทางวิทยาศาสตร์คือ (๑) อยู่ในรูปข้อความสากล (๒) ข้อความต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นกฎนั้นกล่าวถึงสิ่งที่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส


---๒.การใช้เหตุผลและการคาดคะเนเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ    ที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส


---การแสวงหาความรู้แบบสังเกตการณ์ธรรมชาติได้กระทำกันมายาวนานในวงการวิทยาศาสตร์ แม้ปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติ (practical science) ก็ได้อาศัยวิธีการที่ว่านี้เป็นหลักสำคัญ จะอย่างไรก็ตาม  เมื่อวิทยาศาสตร์บางสาขาได้ศึกษาธรรมชาติลึกลงไปภายในวัตถุที่มีขนาดเล็กมากๆ  ก็เกิดปัญหาว่าภายในขอบเขตที่ว่านั้นเราไม่อาจใช้ประสาทสัมผัสเพื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรได้อีกต่อไป มีทางเลือกอยู่สองทางสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ทางที่หนึ่งคือยุติการค้นคว้าและยอมรับว่านี่ คือจุดสิ้นสุดของกิจกรรมการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทางที่สองคือไปต่อ ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์จะคือบุคคลที่เห็นว่าเราควรเลือกหนทางที่สอง แต่ปัญหามีว่าเราจะไปต่อด้วยอะไร เพราะประสาทสัมผัสอันเป็นเครื่องมือหลัก ในการแสวงหาความรู้ที่เคยใช้กันมายาวนานนั้น ไม่สามารถใช้ได้แล้ว


---ครั้งหนึ่ง ไอน์สไตน์เคยเปรียบเทียบสถานการณ์ที่กล่าวข้างต้นว่า สมมติว่ามีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะข้างหน้าเรา นาฬิกานี้ถูกสร้างมาพิเศษคือไม่มีทางที่เราจะสามารถเปิดดูกลไกที่ทำงานอยู่ข้างในได้ เราสามสี่คนยืนมองนาฬิกาเรือนนี้ เราทุกคนเห็นสิ่งเดียวกันคือส่วนที่อยู่ภายนอกของนาฬิกา แต่เราไม่อยากหยุดความรู้เกี่ยวกับนาฬิกานั้นไว้ที่การเห็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น  เราอยากจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่ “ข้างใน” ปกติเมื่อเราไม่สามารถเข้าถึงสิ่งใดด้วยประสาทสัมผัส เรามักใช้จินตนาการหรือการคาดคะเน คนที่ยืนดูนาฬิกานั้นก็เช่นกัน พวกเขาอาจคาดคะเนว่าภายในนาฬิกานั้นมีอะไรอยู่


---การคาดคะเนในทางวิทยาศาสตร์นั้นโดยทั่วไปก็ไม่ต่างจากการคาดคะเนที่คนธรรมดาทั่วไปกระทำในชีวิตประจำวัน คือเราคาดคะเนสิ่ง ที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยโยงมาหาสิ่งที่เราสามารถสังเกตได้ คนที่ยืนมองนาฬิกานั้นบางคนอาจคาดคะเนว่าภายในของนาฬิกานั้นมีกลไกแบบไขลานซ่อนอยู่ บางคนอาจคาดคะเนว่าเป็นกลไกแบบไฟฟ้า บางคนอาจคาดคะเนว่าเป็นกลไกที่ทำงานด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ว่าการคาดคะเนเหล่านี้จะแตกต่างกันอย่างไร แต่ทั้งหมดก็โยงมาหาสิ่งที่สามารถสังเกตได้เช่นการเดินของเข็มนาฬิกา เสียงของกลไก และอื่นๆ การคาดคะเนในทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นที่ยอมรับก็เมื่อวงการวิทยาศาสตร์เห็นว่ามีเหตุผลที่รับฟังได้ และเมื่อใดก็ตามที่การคาดคะเนนั้นเป็นที่ยอมรับ การคาดคะเนนั้นก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทฤษฎี” (theory) ในทางวิทยาศาสตร์ต่อไป


---ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกฎ คืออยู่ในลักษณะที่เป็นข้อความสากล  แต่ก็ต่างจากกฎตรงที่ข้อความต่างๆที่รวมกันเข้ากลายเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้น จะมีบางส่วนหรืออาจจะทั้งหมดที่กล่าว ถึงสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส การที่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัสอาจมา จากการที่สิ่งนั้นอยู่เกินสมรรถนะของประสาทสัมผัสมนุษย์จะสัมผัสได้ เช่นรูปร่างที่แท้จริงของอะตอม หรืออาจเพราะสิ่งนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ใช้เวลายาวนานมากจนเกินวิสัยของมนุษย์ที่มีช่วงอายุจำกัดที่จะสังเกตเห็น เช่นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต หรือการเลือกสรรโดยธรรมชาติ เป็นต้น


---โดยทั่วไป ชาวบ้านธรรมดามักมองความรู้แบบวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือที่สุด และความเข้าใจเช่นนี้ก็มีอยู่ในปัญญาชนจำนวนมาก ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศเช่นประเทศไทย รัฐซึ่งดูและเรื่องการศึกษาของประชาชนมี  นโยบายที่ประกาศชัดเจนว่าสิ่งหนึ่ง  ที่รัฐจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ในวงการศึกษาก็คือการสร้างอุปนิสัยหรือน้ำใจ อย่างวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นแก่เยาวชน นี่ย่อมแสดงว่ารัฐนั้นมองว่า ความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นตัวอย่างของความรู้ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด


---ในประเทศตะวันตกนั้นสิ่งที่สร้างผลกระทบมากที่สุดต่อความเชื่อทางศาสนาก็คือวิทยาศาสตร์ ดังกรณีกาลิเลโอกับศาสนจักรหรือกรณีงานของดาร์วินเป็นอาทิ การที่วิทยาศาสตร์สามารถสร้างผลกระทบ ต่อศาสนาที่ถือว่าเป็นสิ่งมีพลังมากอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ได้ย่อมแสดงว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์นั้นมีจุดแข็งบางอย่าง จุดแข็งที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้นอกจากการที่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์อิงอยู่กับการสังเกตธรรมชาติอย่างรอบคอบและไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายๆนั่นเอง


---จะอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรู้แบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีเพียงความรู้ในรูปที่เป็นกฎเท่านั้น หากแต่ยังมีความรู้ส่วนที่มีลักษณะเป็นการคาดคะเนธรรมชาติที่เรียกว่าทฤษฎีด้วย นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเริ่มรู้สึกว่าการที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มที่จะใช้การคาดคะเนมากยิ่งขึ้น ในงานทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นการย้อนกลับไปหา สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นแรกๆเช่นกาลิเลโอหรือแม้แต่นิวตันได้พยายามที่จะหลีกเลี่ยง เพราะไม่เช่นนั้นกิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ จะไม่สามารถก่อกำเนิดได้ วิชาปรัชญานั้นใช้จินตนาการ เหตุผล และการคาดคะเนเพื่อแสวงหาความรู้


---วิทยาศาสตร์ต่างจากปรัชญาตรงที่วิทยาศาสตร์ใช้ประสาทสัมผัสเป็นแหล่งอ้างอิงหลักของความรู้ เมื่อใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์ใช้อะไรเกินไปกว่านั้น เมื่อนั้นวิทยาศาสตร์จะค่อยๆสูญเสียลักษณะเฉพาะของตนเอง นักวิทยาศาสตร์บางคนในปัจจุบันมองว่าวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี (theoretical science) ในบางสาขาเช่นสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์มีเนื้อหาบางอย่างที่แทบจะไม่ต่างจากอภิปรัชญา ข้อสันนิษฐานว่าด้วยกำเนิดของจักรวาล ที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้นำเสนอนั้นฟังดูต่างจากข้อเสนอของนักอภิปรัชญาไม่มากเท่าใดนัก


---ความกังวลที่กล่าวมานี้ได้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับนิยามในเชิงที่ควรจะเป็น (normative meaning) ของคำว่าวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการตกลงที่แน่นอนในหมู่นักวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด จะอย่างไรก็ตาม เวลาที่วิทยาศาสตร์ถูกกล่าวอ้างถึงในแง่ที่เป็นศาสตร์อันให้ความรู้ที่น่าเชื่อถือนั้น ความหมายอย่างที่ควรจะเป็น (คือวิทยาศาสตร์ในความหมายของการแสวงหาความรู้ที่อิงกับประสบการณ์)มักจะได้รับการกล่าวถึง


 

*๒.พุทธศาสนาคืออะไร


---พิจารณาอย่างกว้างที่สุด พุทธศาสนาเป็นศาสนา ซึ่งเป็นผลผลิตทางด้านสติปัญญาอีกประเภทหนึ่ง  ของมนุษยชาติที่อยู่คนละประเภทกับวิทยาศาสตร์ ความหมายของพุทธศาสนานั้น ก็เช่นเดียวกับความหมายของวิทยาศาสตร์ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือมีสองอย่างอันได้แก่ความหมายที่เป็นอยู่กับความหมายที่ควรจะเป็น

 

---ในแง่ความหมายที่เป็นอยู่ พุทธศาสนาก็คือปรากฏการณ์ทางความเชื่อที่เกิดในสังคมพุทธเช่นไทย พม่า ลังกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี  ในแง่นี้พุทธศาสนามีความหมาย  รวมเอาองค์ประกอบทุกอย่างในทางพุทธศาสนาเช่นคัมภีร์ นักบวช คฤหัสถ์ พิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนความเชื่อปลีกย่อยที่ชาวพุทธในสังคมนั้นๆได้สร้างสรรค์ขึ้น  พุทธศาสนาในแง่ความหมายที่ควรจะเป็นนั้นหมายเอาคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนาที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีอันถือว่าเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่เชื่อกันว่าบรรจุคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าเอาไว้ 


---พุทธศาสนาในความหมายที่เป็นอยู่นั้นมีความหลากหลายมากเสียจนกระทั่งว่านักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาที่ทำงานในเชิงมานุษยวิทยามักเชื่อกันว่ายากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหานิยามของคำว่า “พุทธศาสนาที่แท้จริง” ทั้งนี้เพราะว่าชาวพุทธในแต่ละท้องถิ่นเข้าใจพุทธศาสนาไม่เหมือนกัน ซึ่งจุดนี้อาจเทียบได้กับความเข้าใจของคนที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับคำว่าวิทยาศาสตร์ ที่มีหลากหลายมากเสียจนมีผู้กล่าวว่าเราอาจจะหาความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้  จะอย่างไรก็ตาม มีชาวพุทธบางคนเสนอว่าเราสามารถหาความหมายของพุทธศาสนาที่แท้ได้จากสิ่งที่เชื่อได้ว่าเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ข้อเสนอนี้นำไปสู่ความเห็นว่า หากต้องการหาสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาที่แท้เราก็สามารถหาได้จากคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีของนิกายเถรวาทนั่นเอง


---จากคัมภีร์บาลี เราพบว่าพระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางระบบความคิดทางปรัชญาที่หลากหลาย  คำถามสำคัญๆในทางปรัชญาอย่างที่รู้กันในวงการปรัชญาตะวันตก นั้นมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา นอกจากนั้น คัมภีร์ยังได้กล่าวถึงการแสวงหาความรู้อีกแบบหนึ่งที่อาจแยกออกมาเป็นเอกเทศจากปรัชญา สิ่งนี้คือคณิตศาสตร์และตรรกวิทยา แสดงว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น อย่างน้อยที่สุดคนอินเดียก็ ได้สร้างสรรค์วิทยาการที่เรียกว่าคณิตศาสตร์กับตรรกวิทยาขึ้นแล้ว ควบคู่ไปกับปรัชญาและศาสนาที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย


---ข้อที่น่าสนใจในประวัติของพระพุทธเจ้าคือ ทรงแสดงความสงสัยในระบบการแสวงหาความรู้ทุกอย่างเท่าที่มีอยู่ในอินเดียเวลานั้น ความสงสัยนี้ปรากฏอยู่ในพระสูตรที่มีชื่อเสียงมากพระสูตรหนึ่งของพุทธศาสนาที่ชื่อ “กาลามสูตร” พระสูตรดังกล่าวเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านได้มาเฝ้าพระองค์และทูลว่าที่หมู่บ้านแห่งนี้มักมีนักคิดในทางศาสนาและปรัชญาเดินทางผ่านมาเผยแพร่ความคิดของตน แต่ละคนแม้จะคิดต่างกัน แต่ทุกคนก็เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือยืนยันว่าแนวคิดของตนเท่านั้นถูก ของคนอื่นผิด


---ชาวบ้านได้ทูลขอพระองค์ว่าจะทรงมีหลักการสำหรับตรวจสอบความเชื่อให้พวกเขาได้หรือไม่ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ใช้เวลาที่รับรู้แนวคิดที่ขัดแย้งกันที่นำเสนอโดยนักคิดทั้งหลายที่เดินทางผ่านหมู่บ้านมา  ทรงให้หลักการสำหรับตรวจสอบความเชื่อโดยแยกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นหลักการที่เสนอว่าแหล่งความรู้ ๑๐ ประการต่อไปนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถสงสัยได้ คือ (๑) การฟังตามกันมา (๒) การถือสืบๆกันมา (๓) เสียงเล่าลือต่อๆกันมา (๔) คัมภีร์ (๕) ตรรกวิทยา (๖) การอนุมาน (๗) อาการที่ปรากฏ (๘) การเข้าได้กับความเชื่อที่เรามีอยู่ก่อน (๙) ความเป็นไปได้ และ (๑๐) การที่สิ่งนั้นมาจากปากของครูที่เราเคารพนับถือ ตอนที่สองทรงเสนอว่า เมื่อใดก็ตามที่เราพิจารณาด้วยตัวเราเองแล้วรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เมื่อนั้นเราพึงถือปฏิบัติสิ่งที่ถูก ละสิ่งที่ผิด


---มีข้อที่น่าสังเกตว่า สิ่งที่ชาวบ้านถามหาคือหลักการตรวจสอบความรู้ แต่สิ่งที่ทรงให้แก่ชาวบ้านนั้นกินความเลยมาถึงประเด็นด้านจริยศาสตร์ด้วย ซึ่งสะท้อนว่าความรู้ในทัศนะของพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากความดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ญาณวิทยากับจริยศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์ตรงไม่ถูกระบุถึงในบรรดาสิ่งต่างๆ ๑๐ อย่างที่ทรงเตือนให้ตั้งข้อสงสัยนั้น จุดนี้ทำให้นักวิชาการทางด้านพุทธศาสนา จำนวนไม่น้อยตีความว่าความรู้ในทัศนะของพุทธศาสนา คือสิ่งที่ได้มาผ่านทางประสาทสัมผัส หมายความว่าหากความรู้นั้น ได้มาจากการฟังตามๆกันมา จากการถือตามๆกันมา จากเสียงเล่าลือ


---จากคัมภีร์ จากตรรกวิทยา จากการอนุมาน การการพิจารณาอาการที่ปรากฏ จากการที่สิ่งนั้นเข้าได้กับความเชื่อของเรา จากความเป็นไปได้ หรือจากปากของครูที่เราเคารพนับถือ ความรู้นั้นยังสามารถสงสัยได้  แต่ถ้าความรู้นั้นได้มาจากประสบการณ์ตรงของเราเอง ความรู้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่มั่นคงไม่มีที่จะให้สงสัย  ความเข้าใจเช่นนี้นำไปสู่การสรุปว่าทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนาเป็นแบบประจักษนิยมซึ่งเป็นญาณวิทยาอย่างเดียวกับที่ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์


---ข้อสรุปที่ว่าทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนาเป็นแบบประจักษนิยมนี้อาจจำเป็นต้องอธิบายรายละเอียดมากขึ้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เพราะว่ามีทัศนะทางญาณวิทยาแบบประจักษนิยมในบางรูปแบบที่อาจพิจารณาได้ว่าไม่ตรงกับทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่นทัศนะ ทางญาณวิทยาแบบปฏิฐานนิยมซึ่งเป็นประจักษนิยมในรูปแบบหนึ่งปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าอภิปรัชญา พุทธศาสนาไม่ไปถึงขั้นนั้น โดยพิจารณาว่าประสาทสัมผัสตามธรรมดาของมนุษย์นั้นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด


---หมายความว่าพุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาการรับรู้ให้สูงขึ้นไปกว่าการรับรู้ตามปกติธรรมดา โดยที่การรับรู้ในแง่หลังนี้พุทธศาสนาเองก็ถือว่ายังเป็นไปตาม กระบวนการทางธรรมชาติอยู่นั่นเอง และความสามารถที่จะพัฒนาอายตนะพิเศษที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ของจำกัดอยู่เฉพาะแค่ใครเพียงคนใดคนหนึ่ง ตรงกันข้าม สิ่งนี้มีอยู่แล้วในคนทุกคน พุทธศาสนาบางนิกายเช่นนิกายเซนที่ถือกันในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเรียกศักยภาพที่ว่านี้ว่า “พุทธภาวะ” และพุทธภาวะนี้แหละที่จะเชื่อมมนุษย์เข้ากับการรับรู้สิ่งที่เป็นธรรมชาติอันลึกซึ้งบางอย่างของจักรวาล (เช่นตถตา) ที่ตามปกติเราไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสปกติธรรมดา


---จะอย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ ความรู้ใดก็ตามแต่ที่ผ่านมาทางสื่อ พุทธศาสนาสอนให้เราตั้งข้อสงสัยในความรู้นั้น สื่อในที่นี้คือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเอง เช่นเสียงเล่าลือของคนอื่น คัมภีร์ หรือแม้แต่ครูที่เราเคารพนับถือ มีข้อที่น่าสังเกตว่าการใช้เหตุผลแบบนิรนัย อันได้แก่การใช้เหตุผลในตรรกวิทยาและนิรนัยในรูปแบบอื่นๆนั้นพุทธศาสนาก็จัดไว้ในกลุ่มสิ่งที่อยู่นอกตัวเราด้วยเช่นกัน แม้ว่าอาจมีข้อโต้แย้งว่ามนุษย์ใช้สมองหรือจิตคิด ดังนั้นควรจัดว่านิรนัยเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ด้วย แต่พุทธศาสนามิได้มองอย่างนั้น เมื่อเราใช้เหตุผลเชิงนิรนัยว่า เมื่อฝนตก ถนนย่อมเปียก วันนี้ฝนตก ดังนั้นถนนต้องเปียก ข้อสรุปนี้พุทธศาสนาถือว่ายังไม่ยุติ ตราบเท่าที่เรายังไม่เห็นด้วยตาของเราว่าถนนได้เปียกจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นการตัดสิน ด้วยตัวเราเองจริงๆก็คือการได้เห็นด้วยสายตาว่าถนนได้เปียกจริงๆ การใช้เหตุผลแบบนิรนัยจึงถือว่าเป็นสิ่งนอกตัวเราด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้


---นอกจากวิธีการตรวจสอบความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่สะดุดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ศึกษาพุทธศาสนาก็คือขอบเขตของ ความรู้ตามทัศนะของพุทธศาสนา ในพระสูตรที่รู้จักกันดีอีกพระสูตรหนึ่งของพุทธศาสนากล่าวว่า ครั้งพระพุทธเจ้าทรงแวดล้อมด้วยพระภิกษุจำนวนหนึ่งอยู่ในป่า ทรงก้มลงหยิบใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นขึ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วตรัสกับพระภิกษุที่แวดล้อมพระองค์อยู่ว่า ใบไม้ในพระหัตถ์นั้นมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับใบไม้ที่อยู่บนต้น ทรงเปรียบเทียบว่าความรู้ที่มีอยู่ในโลกนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลดังใบไม้ที่อยู่บนต้นไม้ แต่ความรู้ที่พุทธศาสนาสอนมีจำนวนไม่มาก เปรียบได้กับใบไม้ที่ทรงกำไว้ในพระหัตถ์ ทรงอธิบายว่าเหตุที่พุทธศาสนาไม่สอนทุกอย่างก็เพราะพุทธศาสนามีเกณฑ์ในการแสวงหาและเผยแพร่ความรู้ว่า ความรู้ใดก็ตามแต่ที่ไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ ความรู้นั้นอยู่นอกเหนือขอบเขตของพุทธศาสนา


---ทัศนะที่เพิ่งแสดงมาข้างต้นของพุทธศาสนานั้นอาจตีความได้หลากหลาย เช่นเราอาจตีความได้ว่า พุทธศาสนาไม่ถือว่าเราควรแสวงหาความรู้ทุกอย่าง พุทธศาสนาไม่ถือว่าความรู้คือจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง ความรู้เป็นทางผ่านไปหาบางสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น เราจะลองพิจารณานัยแรกโดยโยงไปหากิจกรรมการแสวงหาความรู้ของมนุษย์เท่าที่เคยเป็นมาในอดีต


---และที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน มนุษย์นั้นแสวงหาความรู้ที่หลากหลาย ความรู้บางอย่างอาจเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ แต่บางอย่างไม่เป็น คำถามคือทัศนะของพุทธศาสนาเรื่องความรู้ต้องเป็นไปเพื่อการดับทุกข์นั้นเกี่ยวข้องกับความรู้ที่ปฏิบัติได้และปฏิบัติไม่ได้อย่างไรหรือไม่ หากพิจารณาให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่าความเป็นประโยชน์ในแง่ของการดับทุกข์ตามความคิดของพุทธศาสนานั้นไม่เกี่ยวโดยตรงกับการที่ความรู้นั้นสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ หมายความว่า ในบรรดาความรู้ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ 


---บางอย่างอาจเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ตามทัศนะของพุทธศาสนา บางอย่างอาจไม่ เช่นวิชาการว่าด้วยการสร้างอาวุธไม่ใช่ความรู้ที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ แต่วิชาการด้านเภสัชศาสตร์เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์ของมนุษย์ ในบรรดาความรู้เชิงทฤษฎีที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน บางอย่างก็อาจไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์เช่นทัศนะเองกำเนิดของจักรวาล  แต่บางอย่างอาจเป็นไปเพื่อการดับทุกข์เช่นทัศนะว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่งในจักรวาล ถ้าเราตีความว่าความเข้าใจเช่นนั้นจะช่วยให้มนุษย์ละคลายความยึดติดในสิ่งต่างๆในชีวิต


---นัยที่สองที่ว่าพุทธศาสนามองว่าความรู้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดในตัวเองนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะดูเหมือนว่าจะมีความคิดบางอย่างในหมู่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมการแสวงความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปรัชญา (แทบทั้งหมด) และนักวิทยาศาสตร์ (จำนวนมาก แม้จะไม่ทั้งหมด) ที่ว่า ความรู้มีค่าในตัวเอง การมองว่ามีบางสิ่งที่มีค่าในตัวมันเองนี้เคยเกิดมาแล้วในหมู่ศิลปินบางกลุ่มในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก โดยที่คนเหล่านี้คิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องอื่นเช่นความดี ความสงบสุข ทั้งนี้เพราะศิลปะบรรจุไว้ซึ่งสิ่งที่มีค่าในตัวมันเองอยู่แล้วคือค่าทางสุนทรียศาสตร์ งานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์บางอย่างในปัจจุบันก่อให้เกิดคำถามทางจริยธรรมเช่นงานในสาขาพันธุวิศวกรรมศาสตร์บางส่วน


---นักวิทยาศาสตร์บางคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาค้นคว้าในแขนงความรู้ที่กล่าวมานี้ดูเหมือนจะเชื่อว่าความรู้คือความรู้ สิ่งนี้มีค่าในตัวเองในแง่ที่ว่าเป็นการบุกเบิกเข้าไปในอาณาจักรอันเร้นลับของธรรมชาติ เมื่อใดก็ตามที่ความลับในธรรมชาติถูกเปิดเผย เมื่อนั้นเราก็อาจกล่าวได้ทันทีว่าคุณค่าได้เกิดขึ้นแล้ว คุณค่าในที่นี้คือการที่ของซึ่งเรายังไม่รู้ได้ถูกเปิดเผยให้เรารู้ ความรู้มีคุณค่าในตัวมันเองด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้  ดูเหมือนว่าทัศนะเช่นนี้จะไม่ตรงกับพุทธศาสนาเท่าใดนัก เพราะพุทธศาสนาไม่ได้ให้ค่าแก่การเปิดเผยความเร้นลับของธรรมชาติทุกอย่าง หมายความว่า สำหรับพุทธศาสนา ความลับบางอย่างสมควรถูกเก็บเป็นความลับตลอดไป เฉพาะความลับที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ชีวิตพัฒนาขึ้นในทางการพ้นทุกข์เท่านั้นที่สมควรได้รับการเปิดเผย


---จะอย่างไรก็ตาม พุทธศาสนายอมรับว่าความรู้ในบางรูปแบบอาจกล่าวได้ว่ามีคุณค่าในตัวเอง แต่ความรู้ที่ว่านี้พุทธศาสนาก็เล็งไว้เฉพาะสำหรับความรู้ระดับสูงอันเป็นผลมาจากการฝึก ในตนเองตามหลักการของพุทธศาสนาเท่านั้น  โสกราตีสกล่าวว่าความรู้คือคุณธรรม หมายความว่าสำหรับนักปรัชญากรีกผู้ทีชื่อเสียงท่านนี้ ความรู้กับความดีงามเป็นอีกด้านของสิ่งเดียวกัน คนดีคือคนที่รู้ กล่าวอีกนัยหนึ่งผู้รู้กับผู้มีคุณธรรมคือคนเดียวกัน ทัศนะนี้ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก คำว่า “พุทธศาสนา” หมายถึงศาสนาของผู้รู้ ความรู้สูงสุดในทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งเดียวกับกับการหลุดพ้นจากความทุกข์ ในแง่นี้ความรู้กับความหลุดพ้นก็เป็นสิ่งเดียวกัน ทัศนะทางญาณวิทยาของพุทธศาสนากับทัศนะทางจริยศาสตร์จึงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยประการฉะนี้

 

*๓.จะเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อย่างไร


---วิทยาศาสตร์ตามที่เรียนกันอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วโลกเวลานี้เป็นผลผลิตของตะวันตก เป็นกิจกรรมการแสวงหาความรู้อย่างหนึ่งที่อิงอยู่กับการใช้ประสาทสัมผัส สิ่งที่วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องด้วยคือโลกทางกายภาพ วิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวข้องกับ เรื่องความดีงามของชีวิตอันเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชีวิตมนุษย์ในทางศีลธรรม  ส่วนพุทธศาสนานั้นเป็นกิจกรรมการพัฒนาตนเอง โดยยึดเอาประสบการณ์ของบุคคลเป็นฐานของการพัฒนาตนเองในทางศีลธรรม โลกที่พุทธศาสนาสนใจศึกษาวิเคราะห์ไม่ใช่โลกทางกายภาพ แต่เป็นโลกทางจิตวิญญาณ และที่สำคัญที่สุดคือพุทธศาสนาประกาศชัดเจนว่าเกี่ยวข้องเฉพาะ เรื่องความดีงามของชีวิตอันเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์เท่านั้น  จากที่กล่าวมานี้ดูเหมือนพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์จะเป็นกิจกรรมคนละประเภท แล้วจะเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อย่างไร


---ในประเทศทางเอเชียบางประเทศที่พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการศึกษาของชาติเช่นประเทศไทย ดูเหมือนจะมีความพยายามร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้รู้ทางพุทธศาสนา ที่จะโยงพุทธศาสนาเข้ามาหาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ จุดนี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเชื่อมโยงพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังในกรณีประเทศไทยนี้น้ำหนักของพุทธศาสนาจะได้รับการพิจารณาว่ามากกว่าหรือเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ ดังที่พระภิกษุที่ยอมรับกันว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญของประเทศคน


---หนึ่งของไทยคือพระธรรมปิฎกได้รับอาราธนาโดยสมาคมวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสมาคมหนึ่งของชาติให้แสดงปาฐกถาเมื่อมานานมานี้ภายใต้หัวข้อว่า “พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์” เราคงไม่อาจจะจินตนาการว่า จะมีนักวิทยาศาสตร์คนใดไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในโลก ได้รับเชิญจากองค์กรทางพุทธศาสนาให้แสดงปาฐกถาเช่นเดียวกันนี้ในชื่อ “วิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นรากฐานของพุทธศาสนา” แม้ว่าเราจะยอมรับว่ามีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อย (ซึ่งบางคนก็อาจเป็นคนไทย) มีสถานะเป็นปราชญ์ ปรากฏการณ์นี้คงพอสะท้อนว่า สำหรับชาวพุทธ อะไรคือความแตกต่างกันระหว่างสถานะของพุทธศาสนากับของวิทยาศาสตร์ และความเข้าใจของชาวพุทธตามที่กล่าวมานี้ดูจะไม่สอดคล้องกับความเชื่อของไอน์สไตน์ที่แฝงอยู่ ในคำพูดของเขาประโยคหนึ่งที่ว่า “วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาเหมือนคนแขนขาพิการ ศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบเหมือนคนตาบอด” ซึ่งน่าจะแฝงความหมายว่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญผู้นี้ ศาสนากับวิทยาศาสตร์มีสถานะไม่ต่างกันในแง่ที่ว่าทั้งคู่ต่างก็มีจุดอ่อนที่สมควรได้รับการชดเชยจากอีกฝ่าย


---ความเชื่อแบบไอน์สไตน์นั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์กับศาสนา ทำไมไอน์สไตน์จึงกล่าวว่าศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบได้กับคนตาบอด ศาสนานั้นมักอิงอยู่กับศรัทธา และศรัทธาที่ไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบนั้นอาจง่ายที่จะนำไปสู่ความงมงาย ในแง่นี้เราจะเห็นว่าสิ่งที่ไอน์สไตน์เสนอก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่วิทยาศาสตร์จะถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนความเชื่อในทางศาสนา  สำหรับชาวพุทธที่คุ้นเคยกับ “กาลามสูตร” ที่ได้กล่าวมาแล้ว คำตอบดูเหมือนจะคือ “สมควรเป็นเช่นนั้น”


---ครั้งหนึ่งไม่นานนี้ ผู้เขียนบทความนี้ได้รับโทรศัพท์จากนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่กำลังเขียนบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา ท่านผู้นี้โทรศัพท์มาถามข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับ “กาลามสูตร” กับผู้เขียนเพื่อความมั่นใจ สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้จากการสนทนากับท่านผู้นั้นทางโทรศัพท์ก็คือ พระสูตรนี้ในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่เชื่อมโยงพุทธศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจมากขึ้นไปกว่านั้นก็คือ ท่านผู้นี้กล่าวว่า ความงมงายนั้นไม่เพียงแต่สามารถเกิดได้ในส่วนของผู้นับถือศาสนาเท่านั้น ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็สามารถเกิดความงมงายได้เช่นกัน แต่เป็นความงมงายคนละด้านเท่านั้น


---ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ข้อความที่ไอน์สไตน์กล่าวมาข้างต้นก็อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด สิ่งที่ไอน์สไตน์อาจมองข้ามไปก็คือความงมงายในส่วนของวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญไปกว่านั้น คือความงมงายที่ว่านี้วิทยาศาสตร์เองไม่สามารถจัดการได้ ต้องให้ศาสนาโดยเฉพาะศาสนาที่มีประสบการณ์เรื่องการจัดการกับความงมงายช่วยเหลือ จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมานี้ก็อาจจัดรวมอยู่ ในส่วนของข้อความที่ไอน์สไตน์กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาเปรียบเสมือนคนแขนขาพิการ” ได้ โดยตีความว่าความพิการนี้กินความมาถึงความงมงายด้วย


---อะไรคือสิ่งที่พุทธศาสนาจะพึงเรียนรู้จากวิทยาศาสตร์ คำถามนี้สำคัญมาก และดูเหมือนจะสำคัญมากกว่าคำถามที่ว่า วิทยาศาสตร์พึงเรียนรู้อะไรจากพุทธศาสนา เพราะเป็นคำถามที่ตอบได้ยากกว่า มีอยู่เหมือนกันที่วิทยาศาสตร์ถูกใช้โดยปราชญ์ทางพุทธศาสนาในประเทศเอเชียบางประเทศเช่นประเทศไทย แต่การใช้นั้นก็เพื่อช่วยให้การอธิบายพุทธธรรมชัดเจนขึ้น ดังกรณีที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กระทำ ไม่ใช่การใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยลดช่องวางหรือแก้ข้อบกพร่องที่มีอยู่ในพุทธธรรม ศาสนาเทวนิยมโดยทั่วไปนั้นยากที่จะเปิดช่องให้วิทยาศาสตร์เข้ามาแสดงบทบาทที่กล่าวมานี้ แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันที่วิทยาศาสตร์ถูกยอมรับโดยศาสนจักรในฐานะเครื่องมือส่อง ให้เห็นอัจฉริยภาพอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า


---จะอย่างไรก็ตาม ในส่วนของพุทธศาสนานั้น เนื่องจากเป็นศาสนาที่ใจกว้างในแง่ของการเปิดรับความรู้จากระบบความคิดอื่นๆที่จะเป็นประโยชน์ จึงมีนักคิดในทางพุทธศาสนาในประเทศทางเอเชียบางประเทศเช่นไทยได้รับเอาเนื้อหาบางส่วนของวิทยาศาสตร์มาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างในพุทธศาสนา เมื่อไม่นานมานี้พระภิกษุไทยรูปหนึ่งคือพระเมตตานันโทได้เขียนบทความว่าด้วยการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยวิชาการด้านแพทยศาสตร์ตะวันตกเพื่อวินิจฉัยว่าพระองค์ทรงปรินิพพานด้วยโรคอะไร


---โดยที่บทความนี้ไม่ได้หยุดลงเพียงการสรุปว่าทรงปรินิพพานด้วยโรคอะไรตามทัศนะของการแพทย์สมัยใหม่เท่านั้น แต่ท่านผู้เขียนได้ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในการเขียนประวัติของพระพุทธเจ้า หลังจากที่บทความนี้ตีพิมพ์ไม่นาน ท่านผู้เขียนก็ได้แต่งหนังสือขนาดยาวอีกเรื่องหนึ่งว่าด้วยเหตุการณ์หลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์ไม่นาน โดยที่หนังสือ มีจุดหมายหลักเพื่อสะสางปัญหาที่สำคัญบางประการที่ตกค้างอยู่ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเช่นปัญหาการสูญสิ้นวงศ์ภิกษุณี เป็นต้น แม้ว่าการนำเอาวิธีการตลอดจนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บางทฤษฎีมาช่วยแก้ปัญหา  ในพุทธศาสนาเช่นนี้จะได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่ไม่เห็นด้วยว่าอาจจะสร้างปัญหาให้แก่พุทธศาสนามากกว่าที่จะช่วยแก้ปัญหา  แต่การที่วงการศึกษาพุทธศาสนายอมให้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการศึกษาพุทธศาสนานั้น ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ


---ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเกี่ยว กับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ก็คือ ดูเหมือนว่าความพยายามที่  จะโยงศาสนากับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันนั้นจะมาจากฝ่ายศาสนามากกว่า ฝ่ายวิทยาศาสตร์ กล่าวคือแม้จะมีนักวิทยาศาสตร์บางคนเห็นว่าวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัด บางอย่างและข้อจำกัดที่ว่านั้น อาจชดเชยได้ด้วยการที่วิทยาศาสตร์เปิดรับความคิดจากแหล่งอื่นเช่นศาสนา


---แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็คงทำงานของตนไปโดยไม่สนใจที่จะเชื่อมโยงงานของตนเองเข้ากับแหล่งความรู้อื่น ตรงกันข้าม นักศาสนาจำนวนมากเห็นว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์กำลังกระทำอยู่นั้นเริ่มจะ ออกไปนอกกรอบทางจริยธรรมบางอย่าง จะโดยที่นักวิทยาศาสตร์รู้ตัวหรือไม่ก็ตามแต่ ความหวงใยในทางจริยธรรมที่ศาสนามีต่อวิทยาศาสตร์นี้


---เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะเชื่อมโยงศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์ ในประเทศทางเอเชียที่พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อความเชื่อ จารีตประเพณี ตลอดจนกฎหมาย เวลาที่รัฐต้องเผชิญกับปัญหาทางจริยธรรมอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นปัญหาการโคลนมนุษย์และปัญหาเหล่านี้ ในท้ายที่สุดแล้วรัฐจะต้องจัดการในทางกฎหมายไม่อย่างใดก็ต้องอย่างหนึ่ง  พุทธจริยธรรมมักได้รับการมองเป็นอันดับแรกว่าจะมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ ความที่สังคมพุทธจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาทางจริยธรรมที่วิทยาศาสตร์ได้สร้างขึ้นนี้ในแง่ของกฎหมายก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์


---จะอย่างไรก็ตาม หากคิดโดยเอาชีวิตมนุษย์เป็นจุดตั้งต้น แล้วมองพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ในแง่สิ่งรับใช้ชีวิตมนุษย์ เราอาจมองเห็นช่องทางที่จะเอาพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มาสัมพันธ์กันมากขึ้น ที่เรามองไม่ค่อยเห็นว่าจะมีลู่ทางที่จะโยงพุทธศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์อย่างไรก็เพราะเรามองสองสิ่งนี้  อย่างไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์นั่นเอง ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งซับซ้อน วิทยาศาสตร์บางส่วนเช่นชีววิทยาก็พยายามศึกษาธรรมชาติมนุษย์และก็พบว่าชีวิตมนุษย์นั้นซับซ้อนจริงๆ ศาสนาก็พยายามเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งพุทธศาสนาด้วยแล้วเห็นได้ชัดว่าพยายามวิเคราะห์ศึกษาสภาวะอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน  แต่วิธีการและความสนใจที่วิทยาศาสตร์และพุทธศาสนามีต่อชีวิตมนุษย์นั้นต่างกัน


---เราอาจกล่าวได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นวิทยาศาสตร์สนใจมนุษย์ในเชิงกายภาพ ประจักษ์พยานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือวิชาแพทยศาสตร์ และชีววิทยานั้นรู้เรื่องมนุษย์ในเชิงกายภาพดีมาก  เมื่อเทียบกับวิทยาการด้านอื่นๆของมนุษย์ แต่พุทธศาสนานั้นสนใจศึกษาจิตใจของมนุษย์ เพราะเข้าใจว่าการที่เราจะจัดการกับชีวิตให้มีทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้หรือไม่มีเลยนั้น จิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเรียนรู้และเข้าใจ  พุทธศาสนาจึงมีประสบการณ์และระบบความรู้ว่าด้วยเรื่องราวของจิตใจมนุษย์ละเอียดลออมาก จะอย่างไรก็ตาม จิตใจของมนุษย์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดและดำรงอยู่ลอยๆโดยไม่เกี่ยวข้องกับกาย สภาวะทางจิตใจของมนุษย์ที่พุทธศาสนาพยายาม ศึกษาและหาทางเอาชนะในกรณีที่คิดว่าสภาวะนั้นสร้างความทุกข์แก่มนุษย์นั้นส่วนหนึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติในทางกายภาพของมนุษย์ และจุดนี้เองที่เราจะพบว่าอาจเป็นไปได้ ที่ความรู้ในทางชีววิทยาบางอย่างอาจเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนา ในแง่ของการขยายทัศนะว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ของพุทธศาสนาเอง


---มีนักคิดทางด้านพุทธศาสนาชาวไทยบางคนได้กระทำสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คือนำเอาข้อมูลบางอย่างในทางชีววิทยามาเชื่อมโยงเข้ากับคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติอันลึกซึ้งของมนุษย์  สิ่งที่คนเหล่านี้กระทำอาจเปรียบได้กับการส่องไฟสองดวงไปยังพื้นที่ที่มืดมิด ไฟดวงหนึ่งคือพุทธศาสนา ส่วนอีกดวงคือวิทยาศาสตร์ เราจะกล่าวถึงงาน ของคนเหล่านี้บางคนอย่างย่อๆ ท่านแรกคือพระภิกษุที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาของฝ่ายเถรวาทที่ยิ่งใหญ่ของยุคปัจจุบันอันได้แก่ท่านพุทธทาสภิกขุ 


---ท่านพุทธทาสนั้นก็เหมือนกับนักบวชในพุทธศาสนานิกายเถรวาททั่วไปคือเริ่มต้นชีวิตนักบวชด้วยการศึกษาคัมภีร์ หลังจากที่ท่านได้ย้ายสถาน ที่พำนักจากอารามในชุมชนไปอยู่ในอารามที่ตั้งอยู่ในป่า ท่านก็พบว่าธรรมชาติรอบตัวได้ให้บทเรียนในทางพุทธศาสนา แก่ท่านอย่างมากมายมหาศาล และหลายอย่างที่ได้จากธรรมชาตินั้นไม่อาจพบได้โดยตรงจากการศึกษาคัมภีร์ 


---นับตั้งแต่นั้นมา งานการอธิบายพุทธธรรมบนพื้นฐานของการสังเกตธรรมชาติของท่านก็ค่อยๆทยอยออกมาสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง  งานของท่านพุทธทาสบางชิ้นนั้นหากผู้อ่านไม่ได้ดูชื่อผู้แต่งก่อนอาจเข้าใจว่าตนเองกำลังอ่านงานของนักธรรมชาติวิทยา ท่านพุทธทาสนั้นคล้ายดาร์วินตรงที่เป็นนักสังเกตธรรมชาติ และพบว่าในธรรมชาตินั้นมีกฎบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์สมควรจะเรียนรู้ 


---ดาร์วินเก็บรวบรวมข้อมูล ในธรรมชาติแล้วสังเคราะห์ขึ้นเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการ ท่านพุทธทาสเองก็สังเกตและรวบรวมข้อมูลในธรรมชาติแล้วสังเคราะห์ขึ้นเป็นทฤษฎีอิทัปปัจจยตา และทฤษฎีธัมมิกสังคมนิยม เป็นต้น ทฤษฎีแรกนั้นมีอยู่แล้วในพุทธศาสนา แต่กล่าวไว้อย่างย่อๆ ท่านพุทธทาสได้นำมาขยายความพร้อมตัวอย่างสนับสนุนที่ท่านสังเกตเห็นในธรรมชาติ แนวคิดของท่านในเรื่องนี้มีเนื้อหาบางส่วนใกล้เคียงกับแนวคิดของ Peter Kropotkin ในหนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาเรื่อง The Mutual Aid มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะที่ว่าสิ่งต่างๆในธรรมชาติดำรงอยู่ ในรูปของเครือข่ายหรือสหกรณ์ของท่านพุทธทาสนั้นก็  คือทัศนะหลักที่เป็นพื้นฐานความคิดในหนังสือเล่มนั้นของ  Kropotkin ทฤษฎีต่อมาของท่านพุทธทาส  เป็นทฤษฎีสังคมและการเมือง ซึ่งคิดขยายความออกมาจากทฤษฎีแรก  


---ท่านพุทธทาสเสนอว่าเมื่อสิ่งต่างๆในธรรมชาติดำรงอยู่ในรูปของสหกรณ์ เราก็อาจกล่าวได้ว่าเจตนารมณ์ของธรรมชาตินั้นเป็นแบบสหกรณ์ สำหรับท่านพุทธทาส ระบบสังคมที่มนุษย์คิดขึ้นจะไม่ยั่งยืนหากว่าระบบที่ว่านั้นไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมชาติ  ทฤษฎีสังคมและการเมืองที่ท่านพยายามนำเสนอที่เรียกว่าทฤษฎี “ธัมมิกสังคมนิยม” นั้นท่านพุทธทาสกล่าวว่าท่านไม่ได้สร้างขึ้น หากแต่สิ่งนี้เป็นผลมาจากการติดตามสังเกตเจตนารมณ์ของธรรมชาติแล้วนำมาเปิดเผยเท่านั้น  ท่านพุทธทาสน่าจะไม่เคยอ่านงานของ Kropotkin แต่สิ่งที่ท่านเสนอในทฤษฎีการเมืองและสังคมของท่านใกล้เคียงกับ Kropotkin มาก แต่ก็มีบางจุดที่นักคิดสองท่านนี้คิดไม่เหมือนกันคือในขณะที่ Kropotkin เห็นว่าเมื่อไม่มีใครมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของธรรมชาติแล้ว รัฐก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ส่วนท่านพุทธทาสยังยอมรับในความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐอยู่เป็นต้น


---นักคิดชาวพุทธอีกคนหนึ่งคืออดีตนักการเมืองและนายกรัฐมนตรีของไทย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านผู้นี้แม้จะไม่ใช่นักวิชาการทางด้านพุทธศาสนา ในความหมายที่เคร่งครัด แต่ก็เป็นผู้ที่ได้ผลิตงานเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเปิดกระแสใหม่ๆของการศึกษาพุทธศาสนา หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ คึกฤทธิ์ได้กลับมายังเมืองไทยและประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ คึกฤทธิ์ได้เขียนบทความต่อเนื่องขนาดยาวเกี่ยวกับทัศนะของพุทธศาสนาว่า ด้วยธรรมชาติของชีวิตมนุษย์โดยใช้ข้อมูลทางชีววิทยาสมัยใหม่ ที่คึกฤทธิ์ได้เรียนรู้มาเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับส่อง ให้เห็นสิ่งที่คึกฤทธิ์เรียกว่าสัจธรรมแห่งชีวิตที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบและนำมาสั่งสอนผู้คน งานของคึกฤทธิ์ที่กล่าวมานี้อาจกล่าวได้ว่าคล้ายคลึงกับงานของท่านพุทธทาส แต่ต่างกันตรงที่คึกฤทธิ์ไม่ได้สังเกตธรรมชาติเอง  หากแต่ใช้ข้อมูลที่นักชีววิทยา  ได้สังเกตธรรมชาติแล้วรายงานไว้มา  เป็นเครื่องมือ


---นักวิชาการทางด้านพุทธศาสนารุ่นใหม่คนหนึ่งคือสมภาร พรมทา  ผู้เขียนบทความนี้ สมภารแรกนั้นเรียนมาตามระบบดั้งเดิม ของคณะสงฆ์ไทย ภายหลังมาเรียนปรัชญาตะวันตกทำให้มีโอกาส ได้เรียนรู้ปรัชญาวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ท่านพุทธทาสและคึกฤทธิ์กระทำนั้นก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่สมภารในแง่ที่ว่า วิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการนำเสนอ หลักคำสอนในพุทธศาสนาก็คือการชี้ว่า มีอะไรบ้างในโลกแห่งความเป็นจริง ที่สอดคล้องกับหลักคำสอนในพุทธศาสนา


---หมายความว่า สำหรับสมภาร การนำเสนอหลักธรรมในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้นเน้นที่การอธิบายคัมภีร์โดยผู้อธิบายไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้อง  โยงแนวคิดต่างๆในคัมภีร์ออกไปหาประสบการณ์จริงในโลก ทำให้พุทธธรรมขาดสิ่งที่สมภารเรียกว่าพลังปลุกเร้าทางศีลธรรม  สมภารสนใจแนวคิดของดาร์วินและนักชีววิทยาสกุลนี้ในแง่ที่ว่านักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้  มีประสบการณ์ที่สะสมกันมายาวนาน ในการศึกษาวิเคราะห์ธรรมชาติของชีวิต


---ดาร์วินสังเกตธรรมชาติ เมื่อพบว่ามีอะไรที่น่าสนใจก็นำเสนออกมาเป็นทฤษฎี นักชีววิทยาสายนี้รุ่นต่อมาก็ได้ช่วยเสริมต่อทำให้แนวคิดของดาร์วินลึกซึ้งลงไปอีกเรื่อยๆ  ข้อค้นพบเหล่านี้หากนำมาพิจารณาด้วยภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาวิทยาศาสตร์จะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ สมภารคิดว่าคำสอนเรื่องทุกข์ ในพุทธศาสนานั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งและคำสอนนี้ไม่เฉพาะแต่คนตะวันตกเท่านั้นที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนแม้แต่ชาวพุทธเองก็ยังไม่สู้จะเข้าใจคำสอนข้อนี้ดีนัก


---เนื่องจากคำสอนเรื่องทุกข์เป็นจุดเริ่มต้นของพุทธธรรมทั้งระบบ หมายความว่าคุณจะยอมรับ พุทธธรรมได้ก็ต่อเมื่อคุณยอมรับสมมติฐานเบื้องต้นที่ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ สมมติฐานนี้สมภารคิดว่า คนจำนวนมากในโลกอาจไม่ยอมรับเพราะเข้าใจว่าทุกข์ที่พุทธศาสนา หมายถึงหมายเอาแค่เพียงความไม่สบายกายหรือไม่สบายใจเท่านั้น ทุกข์ในพุทธศาสนานั้นเล็งไปที่ข้อเท็จจริงที่เป็นกลางๆ เล็งไปที่การที่ ชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้ไปอย่างไม่หยุดยั้งเพราะมีธรรมชาติบางอย่างในตัวเราที่ถูกมอบให้มาตั้งแต่วันแรกที่เกิดและตราบเท่าที่ธรรมชาติอันนี้ยังมีอยู่ เราก็ต้องดิ้นรนกันไป ในการดิ้นรนนั้นบางครั้งเราอาจเข้าใจว่า ตนเองประสบความสุขเช่นสุขจากชัยชนะ แต่นั่นก็ยังถูกรวมอยู่ในสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่าทุกข์อยู่นั่นเอง ทุกข์ในความหมายของความมีอยู่อันเป็นภาระนี้สมภารคิดว่าได้รับการอธิบายรายละเอียดเอาไว้มากในงานของดาร์วินและนักชีววิทยาในสายดังกล่าวนี้


---จากที่กล่าวมานี้เราจะเห็นว่าทั้งท่านพุทธทาส คึกฤทธิ์ และสมภาร ต่างก็เห็นคล้ายๆกันว่าวิทยาศาสตร์บางสาขาเช่นชีววิทยานั้นมีประสบการณ์ ในการทำความเข้าใจธรรมชาติที่ลึกซึ้งของชีวิต พุทธศาสนานั้นสอนเรื่องมนุษย์กับสัตว์เท่านั้น พืชนั้นอยู่นอกขอบเขตจริยธรรมของพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสเห็นว่าแม้แต่พืชก็มีความทุกข์บางอย่าง และท่านคิดว่าการพิสูจน์ว่าพืชก็มีทุกข์นี้ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย จะเห็นว่าชีววิทยานั้นมีอิทธิพล ต่อความคิดของท่านพุทธทาส และเราก็อาจจะกล่าวได้ว่า ในแง่นี้วิทยาศาสตร์ก็มีส่วนในการทำให้คำสอนบางส่วนของพุทธศาสนาละเอียดขึ้น ที่ท่านพุทธทาสยอมรับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ก็ เพาะท่านพิจารณาว่าชีวิตนั้นซับซ้อน ถ้าเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง อะไรก็ตามแต่ที่ส่องให้เห็นรายละเอียดของชีวิตก็สมควรได้รับการนำมาใช้ทั้งนั้น พุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องได้รับการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว


---นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ยังมีนักวิชาการทางด้านพุทธศาสนาอีกจำนวนหนึ่งที่คุ้นเคยกับฟิสิกส์สมัยใหม่มองว่างานค้นคว้าทางด้านฟิสิกส์ เกี่ยวกับองค์ประกอบที่เล็กที่สุดของสสารนั้น ยิ่งก้าวหน้าเท่าใดก็ยิ่งสนับสนุนหลักธรรมบางข้อที่สำคัญของพุทธศาสนาเช่นหลักอนัตตตาและหลักสุญญตาเป็นต้นมากเท่านั้น พุทธศาสนานั้นเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเป็นศาสนาที่มองว่าโลกทางกายภาพนี้  ปราศจากแก่นสารสาระอย่างที่เข้าใจกันในปรัชญาบางระบบของโลก เดิมนั้นชาวกรีกบางพวกเชื่อว่าเมื่อเอาวัตถุชิ้นหนึ่งไปแยกดูองค์ประกอบ เราจะไปถึงจุดหนึ่งที่พบว่าแยกต่อไปไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราจะพบในการแยกทอนแบบนี้ คือองค์ประกอบมูลฐานของสสารที่ชาวกรีกเหล่านั้นสมมติชื่อเรียกว่าอะตอม ตามทัศนะนี้โลกกายภาพ  ก็มีแก่นสาร แก่นสารที่ว่านี้  ก็คืออะตอมอันมีสถานะเป็นแก่นสารสาระที่ว่านั้น


---แต่การศึกษาค้นคว้าในทางฟิสิกส์สมัยใหม่ ได้ทำให้ความเชื่อที่ว่าโลกกายภาพนี้ ประกอบขึ้นจากหน่วยมูลฐานที่มีลักษณะเป็นแก่นสารดังกล่าวมาข้างต้นนี้ค่อยๆลดความน่าเชื่อถือลงทุกที ในทางตรงกันข้าม ทัศนะของพุทธศาสนาที่ว่าธรรมชาติของสรรพสิ่งคือความว่างเปล่า กลับได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากงานศึกษาค้นคว้าเหล่านี้ แม้นักฟิสิกส์บางคนเช่น Fritjof Capara ก็เห็นว่า มีความสอดคล้องกันสูงมากระหว่างแนวคิดเรื่องธรรมชาติที่ว่างเปล่าของสิ่งต่างๆที่พุทธศาสนาสอนกับงานค้นคว้าวิจัยทางฟิสิกส์สมัยใหม่  งานเขียนของ Capra นี้สำหรับชาวพุทธเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ช่วยเปิดเผยว่าในท้ายที่สุดแล้ว พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ (อย่างน้อยก็ฟิสิกส์สมัยใหม่) ไม่ได้ยืนอยู่  ณ ด้านตรงกันข้ามของอีกฝ่าย  เมื่อเปรียบเทียบ กับศาสนาคริสต์กับวิทยาศาสตร์ ในอดีตและแม้กระทั่งปัจจุบัน

 

*๔.ข้อสังเกตปิดท้าย


---จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเราจะเห็นว่า ดูเหมือนจะมีช่องว่างบางอย่างในการกล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ซึ่งช่องว่างดังกล่าวนี้อาจพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาของการเอาของสองสิ่งที่อยู่ห่างกันมากๆมาเชื่อมต่อเข้าหากัน หรือเอาคนสองคนที่สนใจโลกคนละด้านมาอยู่ในห้องเดียวกัน พวกเขาย่อมจะอึดอัดเพราะไม่รู้จะสนทนากันด้วยเรื่องอะไรสิ่งที่บทความนี้พยายามจะทำก็คือการหาจุดร่วมบางอย่าง ที่จะทำให้พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ อย่างมีช่องว่างน้อยที่สุด   เท่าที่จะเป็นไปได้  สิ่งที่ผู้เขียนค้นพบว่าเป็นจุด ที่วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา อาจสนทนากันได้นั้น  มีอยู่บางเรื่องคือ


---ก.การมุ่งความสนใจไปที่การแสวงหาความรู้ วิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนว่ากิจกรรมแสวงหาความรู้ จะมีปัญหาบ้างก็ตรงพุทธศาสนา เพราะปกติศาสนานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งภารกิจหลักของศาสนานั้น ไม่สู้จะมีใครมองว่าเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความรู้ ข้อนี้อาจยกเว้นกับพุทธศาสนา เพราะว่าสิ่งที่พุทธศาสนาสอนว่าเป็นเป้าหมายในทางจริยธรรมในระดับขั้นต่างๆ (นับจากเบื้องต้นคือการเป็นคนดีอย่างโลกๆไปจน ถึงการเป็นคนดีในความหมายสูงสุดอันหมาย ถึงผู้ที่สามารถหลุดพ้นได้อย่างสิ้นเชิงจากความทุกข์) นั้นเกี่ยวข้องกับความรู้อย่างไม่อาจแยกออกจากกัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือความรู้กับคุณธรรมนั้นพุทธศาสนาถือว่าเกี่ยวข้องกัน หรืออาจถือว่าเป็นสิ่งเดียวกันเสียด้วยซ้ำ


---จะอย่างไรก็ตาม การที่พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์สนใจเรื่องความรู้ เหมือนกันก็ไม่ได้แปลว่าพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์จะสามารถสนทนากันได้ทันที เพราะความรู้ที่วิทยาศาสตร์สนใจอันได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับโลกกายภาพนั้นเป็นคนละอย่างกับความรู้ที่พุทธศาสนาสนใจอันได้แก่ความรู้เกี่ยวกับโลกในทางศีลธรรม  แต่เนื่องจากการแสวงหาความรู้ในทางวิทยาศาสตร์นั้นดิ่งไปในทิศทางเดียวมาตลอด คือวิทยาศาสตร์ไม่พิจารณามิติอื่นๆ เช่นมิติทางศีลธรรมเวลาที่ดำเนินกิจกรรมการแสวงหาความรู้ พุทธศาสนาซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าในเรื่องการโยงศีลธรรมกับความรู้เข้าด้วยกันย่อม  จะสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนกับวิทยาศาสตร์ในเรื่องเช่นนี้ได้มาก


---อันที่จริงจะว่าวิทยาศาสตร์จงใจที่จะมองข้ามมิติทางศีลธรรมเวลาที่ดำเนินกิจกรรม  แสวงหาความรู้เสียเลยทีเดียวก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะอาจเป็นไปได้ที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่วิทยาศาสตร์ดำเนินกิจกรรมการแสวงหาความรู้อย่างเป็นเอกเทศจากมิติทางศีลธรรมอาจมาจากการที่วงการวิทยาศาสตร์เองไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วคิดว่า นั่นคือวิธีการที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พัฒนาไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เรื่องนี้อาจพิจารณาได้ในกิจกรรมอื่นๆของมนุษย์เช่นเศรษฐศาสตร์  เหตุผลหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในทางศีลธรรม ก็คือการเอามิติทางศีลธรรมเข้ามาคิดร่วมกับเศรษฐศาสตร์ จะเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าของเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นในการสนทนากันระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์  ในเรื่องความรู้ควรเดินไปคู่เคียงกับศีลธรรมนั้นสิ่งที่พุทธศาสนาจะต้องสามารถให้คำแนะนำได้ ก็คือทำอย่างไรศีลธรรมที่ถูกนำเข้ามานั้น จึงจะไม่ส่งผลด้านลบแก่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

---คำถามข้างต้นนี้สำคัญมาก เพราะว่าเป็นจุดที่ทำให้ความพยายามที่จะนำศีลธรรมเข้าไปสู่ระบบแนวคิดใดๆก็ตามแต่มีปัญหา (เช่นการนำศีลธรรมเข้าไปสู่กฎหมาย) แต่พุทธศาสนานั้นมีธรรมชาติที่แสดงออกผ่านทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเองว่ามีความยืดหยุ่นในแง่ที่ไม่พยายามดึงดันเสนอว่าศีลธรรม ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ความยืดหยุ่นนี้มีผู้มองว่าบางทีอาจมาจากหลักทางสายกลางของพุทธศาสนาซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของระบบจริยศาสตร์ของพุทธศาสนาเอง ความยืดหยุ่นตามหลักทางสายกลางนี้ไม่ได้แปลว่าพุทธศาสนาไม่มีจุดยืน แต่แปลว่าจุดยืนนั้นไม่ใช่ทัศนะแบบมองสิ่งต่างๆอย่างเป็นขาวกับดำโดยสิ้นเชิง วิทยาศาสตร์นั้นได้รับการวิจารณ์มาก ในยุคปัจจุบันจากฝ่ายศาสนาว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายความงดงามตามธรรมชาติของโลกและทำลายโครงสร้าง  อันสมดุลของธรรมชาติ


---พุทธศาสนาเองก็เห็นด้วยกับคำวิจารณ์นั้น แต่ในขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็เข้าใจว่าที่วิทยาศาสตร์แสดงบทบาทเช่นนั้นมาจากจุดประสงค์บางอย่างเช่นจุดประสงค์ ที่จะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติ ให้อยู่ในมือได้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติเอง และโดยที่พุทธศาสนาไม่ได้มีสมมติฐาน ล่วงหน้าว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาตินั้นดีแล้วหรือสมบูรณ์แล้ว แต่มองว่าโลกธรรมชาติมีความหมายกลางๆ ไม่ดี ไม่เลวในตัวมันเอง ทัศนะเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนาดูจะมีพื้นที่ว่าง สำหรับความเข้าใจและการยอมรับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งไปหาการเอาชนะธรรมชาติอยู่มากพอสมควร  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหลักทางสายกลางของพุทธศาสนา (ในความหมายของทัศนะที่ไม่มองสิ่งต่างๆอย่างขาวกับดำโดยสิ้นเชิง) ไม่ถือว่าการมุ่งเอาชนะธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นท่าทีที่ผิด หากการเอาชนะธรรมชาติจะผิดก็เพราะปัจจัยอื่นเช่นเอาชนะเพื่อสนองตอบความละโมบ


---ข.การใช้เหตุผลในการแสวงหาความรู้ วิทยาศาสตร์นั้นในสายตาของคนทั่วไปคือสิ่งที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับความงมงาย ในประเทศที่กำลังพัฒนาจำนวนมากในโลกประชาชนมักมองสิ่งแปลกประหลาด ที่ปรากฏในธรรมชาติผ่านโลกทัศน์ที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นโลกทัศน์เดียวกับมนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์  สมัยนั้นมนุษย์ไม่ทราบว่าพระอาทิตย์คืออะไร จึงพากันหวาดเกรงและเซ่นไหว้พระอาทิตย์ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์บอกว่าพระอาทิตย์นั้นเป็นเพียงดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ความรู้นี้ทำให้คนสมัยนี้ไม่หวาดกลัวพระอาทิตย์อีกต่อไป ในประเทศไทย เวลาที่เกิดของแปลกประหลาดเช่นมีเห็ดลักษณะแปลกๆงอกขึ้นในที่ดินของชาวบ้านบางคน 


---ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่มีโลกทัศน์ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะพากันไปกราบไหว้เห็ดประหลาดที่ว่านั้น มีคนอยู่สองพวกในประเทศไทยที่พยายามชี้แจงว่าประชาชนไม่ควรที่จะมองเห็ดประหลาดนั้น ในแง่ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ พวกหนึ่งคือนักวิทยาศาสตร์ อีกพวกหนึ่งคือผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนา  การที่ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนาและนักวิทยาศาสตร์แสดงบทบาทคล้ายคลึงกันในกรณีที่กล่าวมาข้างต้นย่อมแสดงว่าพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นจะต้องมีอะไร


---บางอย่างที่ยอมรับร่วมกันอยู่ เราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าความมีเหตุมีผล (rationality) ในทางปรัชญานั้น ความมีเหตุมีผลอาจเป็นประเด็น ที่สามารถถกเถียงกันได้ว่าหมายความว่าอย่างไร แต่ในที่นี้เราจะใช้คำนี้ ในความหมายกว้างๆว่าได้แก่ท่าทีหรือทัศนะที่เห็นว่าสิ่งใดก็ตามแต่จะได้รับ  การยอมรับว่าเป็นความรู้   ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นสามารถอธิบายได้


---พุทธศาสนานั้นวิจารณ์ว่าเมื่อคนเราอยากได้บางสิ่งเช่นอยากร่ำรวยก็พากันกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเทวดา หรือเจ้าป่าเจ้าเขา การกระทำนี้ถือว่าไม่มีเหตุผล (irrational) เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างไร  ในทางตรงกันข้าม พุทธศาสนาสอนว่าเมื่อต้องการทรัพย์ เราก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเราเองว่าจะหาทรัพย์นั้นได้อย่างไร ในการนี้การพึ่งพาตนเองเป็นวิธีการที่มองเห็นว่าจะพาเราบรรลุเป้าหมายนั้นอย่างไร การพึ่งพาตนเอง ลงมือทำงานด้วยตนเองอย่างมานะพากเพียรถือว่าเป็นวิธีการที่มีเหตุผล (rational) เพราะสามารถอธิบายได้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะพาบรรลุเป้าหมายคือการมีทรัพย์อย่างไร


---ในส่วนของพุทธศาสนานั้น ความมีเหตุผลได้รับการย้ำเตือนด้วยแนวคิดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า ในบางสถานการณ์การยึดถือความมีเหตุผล ก็อาจนำไปสู่ความไร้เหตุผลได้ ข้อแนะนำอันนี้อาจเป็นประโยชน์กับวิทยาศาสตร์ในแง่ที่ว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่วิจารณ์วิทยาศาสตร์ว่ากำลังแสดงบทบาทในแง่ที่เป็นศาสนาอย่างใหม่ หมายความว่าหลักเกณฑ์ต่างๆในการยอมรับว่า อะไรคือความรู้ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ดูเหมือนจะกลายมาเป็นปกาศิต (dogma) สำหรับนักวิทยาศาสตร์บางคนไปเสียแล้ว


---สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดถือในความมีเหตุผลของวิทยาศาสตร์แบบนี้ อะไรก็ตามแต่ที่ไม่ดำเนินไปตามกระบวนวิธีหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ สิ่งนั้นไม่ถือว่าเป็นความรู้ ท่าทีเช่นนี้ทำให้วิทยาศาสตร์ต้องยืนอยู่  คนละข้างกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในบางวัฒนธรรมเช่นการแพทย์แผนโบราณ ในบางประเทศแถบเอเชียเช่นไทย พุทธศาสนานั้นยอมรับทั้ง การแพทย์ตะวันตกและการแพทย์แผนโบราณ แสดงว่าความมีเหตุผล ของพุทธศาสนานั้นยืดหยุ่นกว่าวิทยาศาสตร์ และท่าทีที่ยืดหยุ่นเช่นนี้น่าจะปลอดภัยกว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวเพราะท่าทีที่แข็งกร้าวจะปิดโอกาสที่เราจะได้ประโยชน์หรือเรียนรู้จากภูมิปัญญาบางแบบที่เราไม่คุ้นเคย.





.................................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท04/08/2023
ผู้เข้าชม6,580,700
เปิดเพจ10,319,640
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view