/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

เบื้องหลังความสำเร็จของชาย=คลิป

เบื้องหลังความสำเร็จของชาย=คลิป

 การเสียสละ คือ ความรักอันยิ่งใหญ่ “พระนางพิมพา

(ถ้าจะอ่าน กรุณาอ่านให้จบ ผู้เขียนอ่านแล้วน้ำตาจะไหล)









---ถ้าใครคิดว่ามีตำนานรักใด ๆ ที่ยิ่งใหญ่  ลองอ่านตำนานรักของพระนางพิมพา  จะได้รู้ว่า "การเสียสละ"  คือ ความรักอันยิ่งใหญ่จริง ๆ  เรื่องราวของพระนางพิมพา ที่อธิษฐานเป็นคู่บารมีของพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่ ๔ อสงไขย กับเศษแสนมหากัป  ความเสียสละของพระนางนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้พระโพธิสัตว์


---ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจน จะสุขหรือทุกข์ พระนางก็ไม่เคยทอดทิ้งพระโพธิสัตว์ไปไหน แม้พระโพธิสัตว์จะบริจาคทรัพย์สมบัติเป็นทาน จนไม่มีส่วนเหลือพระนางก็ยินดีในทานนั้น แม้บุตรและธิดารวมทั้งตัวพระนางเอง จะถูกบริจาคเป็นทานพระนางก็ไม่เคยโกรธ จิตใจของพระนางพิมพานั้นยิ่งใหญ่จริงๆ



---ในอดีตกาลล่วงมาได้ ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป พระนางพิมพาได้เกิดมาเป็น นางสุมิตตาพราหมณี อาศัยอยู่ในนครอันรุ่งเรืองนามว่า อมรวดีนคร  ในครั้งนั้น เป็นพุทธกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระทีปังกร"อันเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔ ในมหากัปนั้น  เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้เผยแผ่พุทธศาสนาอยู่ที่ รัมมกนคร



---ครั้งหนึ่ง ชาวนครอมรวดี ก็ได้อัญเชิญเสด็จพระทีปังกร ให้มารับมหาทานในนคร  ในวันที่พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จพุทธดำเนินมาพร้อมกับพระสาวกขีณาสพจำนวน ๔ แสนรูปนั้นมหาชนผู้มีศรัทธาจำนวนมากก็พากันมารอรับเสด็จ และได้ช่วยกันถากถางทางและปรับพื้นที่ขรุขระมีน้ำขังให้ราบเรียบ เพื่อให้พระทีปังกรเสด็จดำเนินได้โดยง่าย



---นางสุมิตตาพราหมณีผู้มีศรัทธา ก็ได้มารอรับเสด็จพระทีปังกรด้วย โดยนางได้เก็บดอกบัวมา ๘ ดอก เพื่อนำมาถวายเป็นพุทธบูชาระหว่างที่ชาวเมืองกำลังรอรับเสด็จ โดยมีส่วนเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ช่วยกันปรับทางกันอยู่นั้น



---พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว ๑๖ อสงไขย นามว่า สุเมธดาบส ได้เหาะผ่านมาแลเห็นมหาชนกำลังปรับถนนกันอยู่ ก็ลงมาถาม



---เมื่อรู้ว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า กำลังจะเสด็จดำเนินมาก็มีศรัทธา ขอร่วมในการปรับถนนด้วย



---ชาวเมืองเห็นว่าท่านสุเมธดาบสเป็นผู้มีฤทธิ์ จึงได้แบ่งงานบริเวณที่เป็นหลุมเป็นแอ่ง และมีน้ำท่วมขังมาก ให้ท่านดาบส สุเมธดาบสนั้นกำลังมีใจปิติ ที่จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า คิดว่าหากตนใช้ฤทธิ์ปรับถนนแม้จะเสร็จเร็ว แต่ก็ไม่ชื่นใจ ไม่สมกับที่ตนมีศรัทธา จึงได้อดทนขนดินทรายมาถมหลุมบ่อ ด้วยแรงกายเช่นสามัญชนทั่วไป



---การกระทำของสุเมธดาบสนี้ สร้างความศรัทธาให้แก่นางสุมิตตาพราหมณี ที่เฝ้ามองอยู่  สุเมธดาบสยังปรับพื้นที่ไม่เสร็จดี พระทีปังกร พร้อมพระสาวกทั้ง ๔ แสนรูปก็เสด็จดำเนินมา



---สุเมธดาบสเห็นไม่ทันการณ์ เพราะยังมีบ่อที่น้ำท่วมขังอยู่ช่วงตัวหนึ่ง จึงตัดสินใจทอดตัวลงนอนปิดทับแอ่งน้ำนั้น  ตั้งใจถวายชีวิตให้พระทีปังกรและพระสาวกเดินไปบนแผ่นหลังของตน


---พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จมายืนอยู่ที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงตรวจสอบดูด้วยพระสัพพัญญุตาญาน ก็รู้ว่าสุเมธดาบสผู้นี้เป็นหน่อเนื้อพระโพธิสัตว์ผู้มีบารมีเต็ม  สมควรได้รับลัทธยาเทศน์ได้แล้ว


---พระองค์จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์ว่า  “ท่านทั้งหลายจงดูดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้  ดาบสนี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จ ในที่สุดแห่งสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้



---เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่า "โคดม"  ในอัตภาพนั้นของเขา นครนามว่า กบิลพัสดุ์ จักเป็นที่อยู่อาศัย



---พระมารดาทรงพระนามว่า "มายา" พระบิดาทรงพระนามว่า "สุทโธทนะ"



---พระอุปติสสะเป็นอัครสาวก พระโกลิตะเป็นอัครสาวกที่สอง



---พระอานนท์เป็นพุทธอุปฐาก พระเขมาเถรีเป็นอัครสาวิกา



---พระอุบลวรรณาเถรีเป็นอัครสาวิกาที่สอง



---เขามีญาณแก่กล้าแล้วออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรอย่างใหญ่  รับข้าวปายาสที่โคนต้นไทร เสวยที่ฝั่งเเม่น้ำเนรัญชรา ขึ้นสู่โพธิมณฑล และจักตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์”



---ชาวเมืองและเทพเทวดาทั้งหลายในที่นั้น  เมื่อได้ฟังพุทธพยากรณ์แล้ว ต่างก็กล่าวสาธุการ สนั่นดังไปทั่วทั้งไตรภูมิ



---ขณะนั้นเอง นางสุมิตตา ผู้เห็นเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้น  ก็เกิดปิติศรัทธาไปกับสุเมธดาบส นางจึงได้แบ่งดอกบัว ๕ กำ ให้สุเมธดาบสใช้บูชาพระพุทธเจ้า


---ส่วนดอกบัวอีก ๓ กำ นางนำไปถวายพระพุทธเจ้าแทบพระบาทของพุทธองค์ แล้วกล่าววาจาว่า  “ข้าพระบาทได้แลเห็นท่านดาบส เหาะลงมาจากนภากาศ  ข้าพระบาทมีความศรัทธาในท่านดาบส เห็นท่านดาบส สร้างทางและทอดกายเป็นสะพานข้าพระบาทมีปีติและศรัทธายิ่งขึ้น


---และเมื่อพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ ท่านดาบสว่า จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล  ข้าพระบาทศรัทธาปีติยินดียิ่งนัก มีใจรักและปรารถนาจะเป็นคู่สุข คู่ทุกข์ คู่ยาก ช่วยท่านดาบส สร้างสมบารมีให้สมบูรณ์”


---สร้างความตลึงไปแก่มหาชนทั้งหลาย และ ท่านสุเมธดาบสยิ่งนัก จนพระองค์ท่าน ต้องเปล่งวาจาทัดทานออกมาว่า “น้องหญิง ความต้องการของเจ้า แม้เป็นความปรารถนาที่ดี แต่เราจะชอบใจสักนิดก็หาไม่ ขอเจ้าจงถอนความปรารถนานั้นเสียเถิด”



---พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงทรงตรวจสอบนางสุมิตตาพราหมณีด้วยพระญาณ แล้วจึงตรัสวาจาพยากรณ์ว่า “ดูกรฤาษีผู้ใหญ่ อุบาสิกาผู้นี้ จักเป็นผู้มีจิตเสมอกัน มีกุศลกรรมเสมอกัน ทำกุศลร่วมกัน เป็นที่รักของบุญกรรม


---เพื่อประโยชน์แก่ท่าน น่าดู น่าชม น่ารักยิ่ง น่าชอบใจ มีวาจาอ่อนหวาน จักเป็นธรรมทายาทผู้มีฤทธิ์ของท่าน ความปรารถนาของอุบาสิกานี้ จะสำเร็จตามปรารถนา ในอัตภาพอันเป็นที่สุดจะได้เป็นพระชายานามว่า พิมพา”



---เหล่ามนุษย์และเทพยดาต่างสาธุการดังก้อง  แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำดอกไม้ ๘ กำมือ บูชาสุเมธดาบส



---ทรงกระทำประทักษินแล้วดำเนินหลีกไป  เหล่าพระขีณาสพทั้งสี่แสน ก็บูชาพระดาบสด้วยของหอมและพวงดอกไม้ แล้วดำเนินหลีกไป



---เมื่อพระภิกษุสงฆ์เดินไปหมดแล้ว สุเมธดาบสซึ่งบัดนี้ ได้เป็นพระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนแล้วก็ลุกขึ้นนั่งบนกองดอกไม้ พิจารณาตนเองด้วยอภิญญา ทบทวนบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ที่ได้บำเพ็ญเพียรมา



---เมื่อพิจารณาครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็บังเกิดแผ่นดินสั่นหวั่นไหว แล้วเหล่าเทพเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุ ก็ประชุมกันสักการะด้วยทิพย์สุคนธมาลัย แล้วกล่าวอำนวยพรแล้ว สุเมธดาบสก็เหาะกลับไปป่าหิมพานต์ เจริญอภิญญาสมาบัติมิให้เสื่อม  เมื่อสิ้นอายุขัยก็ไปอุบัติในพรหมโลก


---ในชาตินี้ จึงเป็นชาติสำคัญของพระโพธิสัตว์และพระนางพิมพา ผู้ซึ่งเป็นคู่บารมี เนื่องจากเป็นชาติที่พระโพธิสัตว์ ได้รับลัทยาเทศจากพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา ก็ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน



*นับจากชาตินี้เป็นต้นไป ทั้งสองจึงได้เกิดมาสร้างสมบุญบารมีต่างๆ ร่วมกันตามที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ นับเป็นบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ที่บุคคลทั่วไปทำได้อย่างยากยิ่งนัก



---ในอัตภาพของพระนางสมัยพุทธกาล  พระนางยโสธรา (พระนางพิมพา หรือพระนางยโสธราพิมพา) ประสูติวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) ซึ่งพระนาง จึงนับเป็น 1 ในสหชาติทั้ง 7 ของพระพุทธเจ้าซึ่งประกอบด้วย พระนางพิมพา พระอานนท์ นายฉันนะ กาฬุทายีอำมาตย์ ม้ากัณฑกะ ต้นมหาโพธิ และขุมทรัพย์ทั้งสี่



---พระนางยโสธราเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระมารดามีพระนามว่า พระนางอมิตาเทวี เกิดในในตระกูลศากยะแห่งโกลิยวงศ์ เมืองเทวทหะ



---เมื่อแรกประสูติญาติทั้งหลายได้ทรงถวายนามว่า “ภัททากัจจานา” เพราะพระสรีระของพระนาง มีพระฉวีวรรณสีเหมือนทองคำอันบริสุทธิ์ พอมีพระชนม์ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า)



---เมื่อมีพระชนม์ 29 พรรษาได้ ประสูติราชโอรส โดยพระเจ้าสุทโธทนะให้พระนามว่า "พระราหุลครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระนางยโสธราเกิดความเศร้าโศกพระทัยยิ่งนัก ได้ทรงละเว้นการตกแต่งร่างกาย ด้วยเครื่องประดับนานาประการ ทรงมีจิตผูกพัน และมีความรักอันลึกซึ้งต่อพระองค์


---แม้วัฒนธรรมอินเดีย ในยุคนั้นจะถือว่า หญิงไม่มีสามีจะถือว่าไม่มีเกียรติ และหญิงนั้นสามารถมีสามีใหม่ได้ แต่พระนางพิมพาก็ไม่สนใจชายอื่นเลย พระนางยังคงเฝ้ารอพระสวามีของพระนางเพียงพระองค์เดียว



---จนกล่าวได้ว่า  “คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด พระนางก็เปลี่ยนชุดทรงมานุ่งห่มผ้าย้อมฝาดด้วยคราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรทมบนพื้นไม้ พระนางก็บรรทมบนพื้นไม้ได้วย



---คราใดที่พระนางได้ยินข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงอดพระกระยาหาร พระนางก็ทรงอดพระกระยาหารด้วย ไม่ว่าจะได้ข่าวว่าพระสวามีปฏิบัติตนอย่างไร พระนางพิมพาก็ปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น”



---และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระประยูรญาติ ในวันแรกพระนางมิได้ออกไปต้อนรับ แต่ในวันที่สอง ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จออกทรงรับบาตร พระนางยโสธรา ชี้ให้พระราหุลได้ทอดพระเนตรพระบิดาของพระองค์ แต่มิได้ออกไปทรงบาตร ทรงเก็บตัวอยู่ในตำหนัก



---และในวันที่สอง เมื่อพระพุทธเจ้ารับภัตตาหารในพระราชวังเสร็จ พระองค์จึงเสด็จไปโปรดพระนางพิมพาในตำหนัก เมื่อพระนางได้พบถึงกับเข้ามากอดพระบาทร่ำไห้รำพันอย่างน่าสงสาร แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนา ให้พระนางดำรงสติไว้ได้



---และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระประยูรญาติแล้ว พระนางพิมพาก็รับสั่งให้ราหุลราชโอรสตามเสด็จพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอราช สมบัติ  พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาราหุลเป็นสามเณร และให้เสด็จติดตามพระองค์ไปด้วย



---หลังจากที่พระนางอยู่ในตำหนัก 3 ปี พระเจ้าสุทโธทนะก็เสด็จสวรรคตและได้ทำพิธีให้เจ้าชายมหานามะ ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทน


---พระนางยโสธราพิมพาจึงออกบวชกับมาตุคาม 1,100 คน ประมาณพรรษาที่ 5 แห่งพระผู้มีพระภาค ขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา พระนางยโสธราพิมพาไปยังสำนักของพระเถรี ได้รับคุรุธรรม 8 บวชแล้ว เมื่อมีพระชนมายุ 40 พรรษา มีพระนามว่า “ภัททากัจจานา”



---พระภัททากัจจานาเถรี (ยโสธา) บรรลุอรหัต ต่อมา รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าและเจริญวิปัสสนายังไม่ทันถึง 15 วัน ก็บรรลุพระอรหัต


---พระนางเป็นผู้ช่ำชอง ชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย ระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัป โดยการระลึกถึงเพียงครั้งเดียว เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลาย ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาใหญ่



*ในการบำเพ็ญพุทธการกธรรมที่แสนยากและยาวนานของพระโพธิสัตว์นั้น พระนางพิมพาเป็นบุคลที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากพระนางติดตามเป็นคู่บารมีพระโพธิสัตว์มาถึง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป  คุณความดีและความเสียสละของพระนางพิมพานั้นยิ่งใหญ่เกินพรรณา  ดังคำที่พระนาง ได้กราบบังคมทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อเข้านิพพาน ดังนี้



---วันหนึ่งขนาดที่พิมพาภิกษุณีเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผลญาณ ก็ทราบถึงวาระแห่งอายุสังขารจะสิ้นสุดลง เมื่อแจ้งประจักษ์ดังนั้น จึงเดินทางไปกราบ พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทอดพระเนตรมองพระพักตร์แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


---สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นพิมพาภิกษุณีอรหันต์ มีอาการผิดแปลกไปเช่นนั้น ก็ทรงทราบแจ่มแจ้งในพระสัพพัญญูว่าถึงกาลแล้วที่พิมพาภิกษุณีจะสิ้นชนมายุสังขาร จะมาลาตถาคตดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพาน



---สมเด็จพระมิ่งมงกุฏบรมศาสดา จึงทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีแห่งพระวรกาย ให้แก่พระพิมพาภิกษุณีได้เห็นเป็นวาระสุดท้าย



---“ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาคอันงามประดับไปด้วยรัศมี  พระองค์ได้ทรงเป็นสวามีแห่งข้าพระบาทนี้ นับพระชาติไม่ถ้วนตลอดมา แต่นี้ไปจักไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์ผู้เคยเป็นพระภัสดาอีกแล้ว”



---“ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าพระบาทพิมพา มีวาสนาสิ้นสุด จักขอพระบรมพุทธานุญาตทูลลาดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน เพราะสิ้นชนมายุสังขารในวันนี้แล้วพระเจ้าข้า” พิมพาภิกษุณีกล่าว



---“ดูกร เจ้าพิมพาที่เคยมีคุณแก่ตถาตคเอ๋ย หากเจ้ากำหนดกาลอันควรแล้ว ก็จงเคลื่อนแคล้วดับขันธ์ เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นอมตสุขเถิด เราอนุญาต”



---“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคอันงาม กาลเมื่อพระองค์ทรงสร้างพระพุทธบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏฏสงสารกับพิมพาข้าพระบาทนี้ด้วยกัน มาตั้งแต่ครั้งศาสนา สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงกาลปัจฉิมชาตินี้จะขาดไมตรีสักชาติก็หาไม่ พระองค์เสวยพระชาติเป็นอะไร พิมพาข้าพระบาทนี้ ก็เสวยชาติเป็นเช่นนั้นด้วย



---เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเป็นการสมควรที่พิมพาข้าพระบาท จักถือโอกาสขอขมาโทษานุโทษต่อพระองค์เสียในครั้งนี้ ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับขอขมาโทษ อันพิมพาข้าพระบาทนี้ ได้เคยมีความผิดต่อพระองค์มาแต่บุพชาติที่แล้วมาด้วยเถิดพระเจ้าข้า”



---ชาติหนึ่ง “ข้าแต่พระองค์ ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเกิดในตระกูลทุคตะเข็ญใจ มีนามว่า “อติทุกขมาณพ” ข้าพระบาทนี้ก็ได้เกิดเป็นกุมารี รักใคร่เป็นสามีภรรยาอยู่ในชนบทตามประสายาก กาลวันหนึ่ง “อติทุกขมาณพ” เข้าป่าเพื่อตัดฟืนมาขาย ได้พบพระอัครสาวกแห่งพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง จึงเกิดยินดีเป็นหนักหนา รีบกลับมาบ้าน เรียกข้าพระบาท ซึ่งเป็นภรรยามาปรึกษาพร้อมกันแล้ว ก็นำข้าพระบาทไปขายฝากไว้ ได้ทรัพย์มาไปซื้อไม้และเสาทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ไปปลูกสร้างกุฏิถวายพระอัครสาวกนั้น ด้วยน้ำใจเลื่อมใสศรัทธา


---เดชะผลานิสงส์ครั้งนั้น จึงบันดาลให้ ”อติทุกขมาณพ” มีโชค ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ฝ่ายข้าพระบาทผู้เป็นภรรยา ก็ดีอกดีใจตั้งตนเป็นใหญ่ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะบุญของข้า เหตุว่านำข้าไปขาย จึงได้ทรัพย์มาทำกุฏิถวาย จนได้เป็นเศรษฐี “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาท จงทรงกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---“ข้าแต่พระองค์ ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นกัน  กาลครั้งนั้น พระองค์เสวยพระชาติเป็น “พระเจ้านันทราช” ส่วนข้าพระบาทเป็นอัครมเหสีมีนามว่า”พระนางสุนันทาเทวี” กาลวันหนึ่ง ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปชมสวนอุทยานครั้งนั้น ข้าพระบาทเห็นดอกรัง งามตระการตา จึงปรารถนาจะได้ดอกรังมาเชยชม แต่ข้าพระบาทจะสั่งหมู่อำมาตย์ราชเสนาผู้หนึ่งผู้ใดก็มิได้ กลับเจาะจงกราบทูล ขอให้พระองค์ผู้เป็นสวามี เสด็จขึ้นต้นรัง เลือกเก็บเอาดอกรังลงมาพระราชทานให้แก่ข้าพระบาทได้ชมเล่น



---ในกาลบัดนั้น พระองค์ซึ่งเป็นพระเจ้านันทราชนั้น ทรงมีความเสน่หารักใคร่ในพระมเหสีเป็นนักหนา มิได้รอช้า ทรงรีบป่ายปีนขึ้นไปบนต้นรังตามที่ผู้เป็นที่รักปรารถนา “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเคยเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทในกาลครั้งนั้น โดยใช้พระองค์ขึ้นไปนำดอกรัง ซึ่งเป็นการลำบากพระองค์แล้วไซร้ ขอจงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้า ผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---มาครั้งในศาสนาพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็น ”ฤๅษี” ส่วนข้าพระบาทเป็นหญิงสาวชาวบ้าน นามว่า “นาคีกุมารี” กาลวันหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงเป็นฤๅษี ผู้มีฌานแก่กล้า ได้เหาะมาในเวหาอากาศ มาพบข้าพระบาทในกาลครั้งนั้นกำลังเก็บผัก หักฟืนและร้องรำทำเพลง ไปตามประสา ฤๅษีเกิดความรักใคร่ในสาวแรกรุ่นดรุณี ฌานที่เคยแก่กล้าก็เสื่อมถอยลงทันที ทำให้ตกลงมาตรงหน้า ”นางนาคีกุมารี” พอดี กำเริบรักที่มีต่อนางเพิ่มทวีขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วก็เอ่ยวาจาขอผูกพัน จนได้เป็นสามีภรรยากันในชาตินั้น



---“ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยการทำลายพระองค์ผู้ทรงเป็นฤๅษี ให้เสื่อมจากฌานสมาบัติแล้วไซร้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้า ผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---“ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ครั้งศาสนาสมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์เสวยพระชาติเป็น “พญาปลาดุก” ฝ่ายข้าพระบาทนี้เกิดเป็นปลาดุกตัวเมีย ได้สมัครรักใคร่ผูกพันเป็นสามีภรรยากัน กาลวันหนึ่งเมื่อฝนตกใหญ่ นางพญาปลาดุกก็ถึงคราวมีครรภ์ ให้มีความอยากกินหญ้าอ่อนๆ เขียวขจี


---พญาปลาดุกผู้เป็นสามี ด้วยความรักใคร่ภรรยา ก็อุตส่าห์เที่ยวแสวงหาไปในที่ต่างๆ จนมาถึงแดนมนุษย์ พวกเด็กเลี้ยงควายทั้งหลายเห็นเข้า ก็ชวนกันไล่ตีด้วยไม้ ใคร่จะได้เป็นอาหาร พญาปลาดุกนั้น ถูกตีหางจนขาด โลหิตไหล ได้รับความทุกขเวทนาแสนสาหัส แต่ก็อดทนคาบหญ้าอ่อน มาให้ภรรยาจนได้ แต่เพราะบาดแผลฉกรรจ์นัก พญาปลาดุกทนไม่ไหว ก็ถึงแก่ความตายในเวลานั้น



---“ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ โดยทำความลำบากยากเย็นเป็นสาหัสให้เกิดแก่พระองค์ เพียงประสงค์จะได้กินหญ้าอ่อนในขณะตั้งครรภ์ ขอพระองค์ จงทรงพระกรุณา งดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน ในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"



---“ครั้งศาสนาของสมเด็จพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสวยพระชาติเป็น “ชฏิลเศรษฐี” มีทรัพย์ พิมพาข้าพระบาทนี้ก็ได้เป็นภรรยาของเศรษฐีนั้น มีนามว่า “อนิมิตตา” เศรษฐีครองสมบัติเป็นความสุขตลอดมา วันหนึ่ง ชฏิลเศรษฐี สามีเกิดปัญญาเห็นความสุขนี้ไม่เที่ยงแท้ จึงออกบวชเป็นดาบส ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในป่า



---นางอนิมิตตาผู้เป็นภรรยาก็ติดตามไปคอยปฏิบัติรับใช้ นำเอาอาหารไปถวายแด่พระดาบสผู้สามี มิให้ลำบาก ด้วยปัจจัยสี่ โดยตั้งใจจะสนับสนุนเกื้อกูลให้ท่านดาบส รีบเร่งบำเพ็ญให้สำเร็จโดยไว กาลครั้งหนึ่ง ยังมีนางกินรีตนหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสในองค์ดาบส จึงมาถวายนมัสการซึ่งบาทแห่งดาบส



---บังเอิญนางอนิมิตตามาเห็นเข้า ก็เกิดเข้าใจผิด น้อยใจ ตัดพ้อสามีไปต่างๆ นานา โดยไม่ยอมฟังคำชี้แจง ของดาบสผู้สามีเลยแม้แต่น้อย ตั้งแต่นั้นมา นางก็ไม่นำพาสามีอีกเลย ปล่อยให้อดๆ อยากๆ ด้วยขาดปัจจัยสี่ “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้า ผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---ข้าแต่พระองค์ ยังมีชาติหนึ่ง ครั้งศาสนาแห่ง พระปทุมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็นมาณพหนุ่ม รูปงามนามว่า “อัคคุตรมาณพ” ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนี้ เกิดเป็นกุมารี นักเต้นรำ นามว่า “ปทุมากุมารี” ต่อมาเราทั้งสองได้ผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน



---อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าสังคราชบพิตร รับสั่งให้มีการเล่นมหรสพขึ้น ท่ามกลางพระมหานครเจ้าปทุมากุมารี ก็สมัครเข้าไปเล่นเต้นรำตามอัธยาศัย ครั้นอังคุตรมาณพ ผู้เป็นสามีตามฝูงชนเข้าไปดู คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้น ต่างพากันล้อเลียนเย้ยหยันว่า บุรุษผู้นี้เป็นสามีของนางบำเรอผู้นี้แล้ว ก็ร้องบอกต่อกันไป ทำให้ อังคุตระ ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายเป็นอันมาก



---“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเคยเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทในกาลครั้งนั้น ทำให้พระองค์ได้รับความอับอายต่อหน้ามหาชน ขอจงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---ครั้งศาสนา พระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสวยพระชาติเป็น พญาวานร ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนั้น เกิดเป็นวานรตัวเมียและเป็นสามีภรรยากันกับพญาวานร อาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง กาลวันหนึ่ง ข้าพระบาทนางพญาวานร อยากกินผลมะเดื่อสุกเป็นยิ่งนักด้วยความรักในภรรยา พญาวานรก็อุตสาหะไปเที่ยวเสาะแสวงหาผลมะเดื่อสุก


---ในที่สุดได้พบต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง จึงปีนขึ้นไปเก็บผลมะเดื่อ ฝากภรรยาทันที่ ครั้งนั้น ยังมีเสือโคร่งตัวหนึ่งแอบซุ่มอยู่ที่พงหญ้า ใกล้ต้นมะเดื่อ เมื่อพญาวานรไต่ลงมา ก็ถูกเสือร้ายตะปบจนถึงแก่ความตายภายในเวลานั้น ฝ่ายภรรยาก็เฝ้ารอคอยจนตะวันตกดิน สามีก็ยังไม่กลับมา ก็ออกตามหาตลอดทั้งคืนก็ไม่พบ


---ในใจก็คิดหวาดระแวงว่า สามีคงพบกับนางวานรสาวตัวใหม่ แล้วก็พากันไปสู่ที่สำราญสบาย ปล่อยให้นางระทมทุกขเวทนา ภรรยาวานรร้องไห้คร่ำครวญอยู่เป็นเวลาเนิ่นนาน จนขาดใจตายไป ณ ที่นั้น “ข้าแต่พระองค์โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ โดยทำให้พระองค์ต้องถึงแก่ความตายเพราะเสือร้าย อีกทั้งยังคิดระแวงต่างๆ นานา ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ครั้งศาสนา พระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นกุมารหนุ่มน้อย ได้บรรพชาเป็นสามเณรในบวรพุทธศาสนา นามว่า ”เจ้าธรรมรักขิตสามเณร” ฝ่ายตัวพิมพาข้าพระบาทนั้น เกิดเป็นกุมารีที่หมู่บ้านใกล้อาราม มีนามว่า “ปัญญากุมารี”



---วันหนึ่งที่วัด มีการบำเพ็ญเนื่องในงานเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านทั้งปวงล้วนแต่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงชวนกันไปบำเพ็ญกองการกุศล คือ สรงน้ำพระพุทธปฏิมากรและพระเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดจนสรงน้ำพระสงฆ์ สามเณร ด้วยเลื่อมใสศรัทธา ”เจ้าปัญญากุมารี” มีความรักใคร่ใน “เจ้าธรรมรักขิตสามเณร” มานาน จึงกระทำมายาให้สามเณร รู้ว่าตนเสน่หา ถือขันน้ำเจาะจงสรงน้ำสามเณรผู้เป็นที่รัก


---เจ้าธรรมรักขิตสามเณร ก็จับมือนางด้วยความยินดีรักใคร่ เป็นเหตุให้ถูกจับสึกในวันนั้น แล้วก็มาอยู่กินกันเป็นสามีภรรยาได้เจ็ดวัน ก็กลับไปบวชเป็นภิกษุได้หนึ่งพรรษา ครั้งปวารณาแล้วก็รีบสึกออกมาครองเรือน เป็นสามีภรรยากับปัญญากุมารี ด้วยอานุภาพแห่งความรัก “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแต่การทำลายพระองค์ ให้ขาดจากเพศบรรพชิต ไม่มีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์ในครั้งนั้น ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่ครั้งพระศาสนาพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสวยพระชาติเป็น ”พญานกดุเหว่า” ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทก็ได้เกิดเป็น นางนกดุเหว่า มีความรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน มีความสุขสำราญตามวิสัยเดรัจฉาน มาวันหนึ่ง พญานกดุเหว่าผู้ภัสดา ไปเที่ยวหาอาหาร ได้ไปพบผลมะม่วงสุกเหลือเดนกากินอยู่ครึ่งลูก ก็อุตส่าห์คาบมาสู่รัง เพื่อให้นางนกที่เป็นภรรยาด้วยความรักใคร่



---ฝ่ายนางนกที่เป็นภรรยา เมื่อเห็นสามีคาบมะม่วงที่เหลือครึ่งลูก ดังนั้นก็โกรธ มิทันได้ไต่ถามให้แจ้งในความเป็นไป ก็จิกหัวสามีด้วยจะงอยปากทันที ยังไม่หนำใจ เอาเท้าตีที่หน้าอกของพญานกดุเหว่าสามีอีกสองสามที แต่พระองค์ก็หาได้โกรธเคืองภรรยาแม้แต่สักนิด “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ ที่ลุแก่โทสะทำร้ายพระองค์ซึ่งทรงพระกรุณา ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า”



---ย้อนไปในชาติครั้งศาสนาพระธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระบรมกษัตริย์แห่งพระนครกุมภวดี ทรงพระนามว่า ”สมเด็จพระเจ้าวังคราช” ฝ่ายข้าพระบาทถือกำเนิดเป็น นางกินรี อยู่ที่สุวรรณคูหา ถ้ำทองอันประเสริฐ ณ หิมวันตประเทศ กาลวันหนึ่ง เจ้ากินรีสาวโสภา ออกไปท่องเที่ยวเก็บดอกไม้ บังเอิญไปหลงติดอยู่ในตาข่ายที่นายพรานดักไว้



---วันนั้นสมเด็จพระเจ้าวังคราช เสด็จประพาสป่ามาเจอเข้า พระองค์จึงทรงเข้าช่วยทำลายตาข่ายนั้น จนหลุดออกมาได้ แล้วทั้งสองก็ผูกสมัครรักใคร่ ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันวิวาส พระองค์พานางกินรีไปพระนคร แล้วทรงแต่งตั้งเป็น อัครมเหสี สร้างตำหนักให้อยู่ในอุทยาน อันเต็มไปด้วยพฤกษานานาพรรณมีทั้ง ดอกไม้ ใบไม้ แล้วยังมีพระราชโองการ ให้นำดอกไม้ไปถวายมเหสีทุกวัน อย่าให้ขาดจนดอกไม้ในพระนครหมดสิ้น



---พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ พานางกินรีกลับสู่หิมวันตประเทศอยู่กินกับนางตราบเท่าถึงกาลสิ้นชนมายุสังขาร “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”



---มีอยู่ชาติหนึ่ง ในศาสนา พระสุมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติ เป็นนาคาธิบดี มีนามว่า “พญาอดุลนาคราช” ฝ่ายข้าพระบาทได้เกิดเป็น มเหสีสุดที่รักของพระองค์ นามว่า "วิมลาเทวี" กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระมิ่งมงกุฏสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงพระสัทธรรมเทศนากึกก้องกังวาน แผ่ไปไกลได้ยินจนถึงนาคพิภพ



---พญาอดุลนาคราชทรงเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก จึงชวนเจ้าวิมลาเทวี ขึ้นมายังโลกมนุษย์เข้าสู่สำนักสมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าถวายนมัสการแล้วสักการะบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ พร้อมตั้งใจที่จะสมาทานเบญจศีลไปจนตราบเท่าชั่วอายุขัย สมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธฎีกา พยากรณ์ว่า



---พระอดุลนาคาธิบดี จะได้เป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งในอนาคต ได้ฟังดังนั้น พญานาคาก็พระทัยโสมนัสยิ่งนัก ฝ่ายเจ้าวิมลาเทวีอัครมเหสีก็เกิดปิติยินดี ในพุทธฎีกา ถึงกับคายพิษแห่งนาคาออกมาจนสิ้น แล้วก็ร่ายรำเพื่อกระทำสักการะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามวิสัยนาคี



---ขณะฟ้อนรำถวายอยู่นั้น บังเอิญนิ้วพระหัตถ์ของพระนางไปโดนพระเศียรแห่งพญาอดุลนาคราชผู้สวามีเข้าหน่อยหนึ่ง “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้โดยความประมาท ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”



---แล้วครั้งศาสนาพระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสวยพระชาติเป็น มาณพหนุ่ม ผู้ปรารถนาจะประพฤติ พรหมจรรย์ จึงกล่าวคำขออนุญาตภรรยาซึ่งชื่อว่า “กัลยาณีกุมารี” ออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามีนามปรากฏว่า “พระอัญญาโกณฑัญญภิกขุ” ข้าพระบาทซึ่งเป็นภรรยา ก็จำใจอนุญาตแล้วนึกโทมนัสขัดเคือง ระคนน้อยใจในสามีเป็นนักหนา โดยคิดว่าสามีเป็นคนเห็นแก่ความสบายไม่นึกถึงความรักใคร่ ปล่อยภรรยาว้าเหว่เป็นดังนี้



---จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต วันหนึ่งเป็นยามราตรีมีฝนตกพรำๆ ภิกษุหนุ่มสาวกแห่งองค์พระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินเสียงร้องครวญครางแปลกประหลาด เปิดกุฏิออกไปก็ได้เห็น เปรต รูปร่างแสนทุเรศ และก็ได้ทราบว่า เปรตผู้นี้ คือ ภรรยาตน ก็เกิดความสงสารจับใจ แต่ก็รู้ดีว่านางยังมีผลทานผลศีล เมื่อครั้งนำจีวรและสิ่งอื่นๆ อันควรแก่สมณะ ทูนเหนือศีรษะมาถวายเป็นอันมาก จึงทรงบอกนางให้ระลึกถึงผลทานเหล่านั้น



---เมื่อกัลยาณีกุมารีเปรต ได้ฟังก็เกิดมหากุศลบันดาลให้อุบัติเป็นเทพนารี ณ ดาวดึงส์เทวโลกฉับพลันทันใด “ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”



---ในศาสนาแห่ง พระโสภิตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครานั้น พระองค์ทรงเป็นมาณพหนุ่ม รูปงามนามว่า "อทุฏฐมาณพ" ส่วนข้าพระบาทเกิดเป็นบุตรีของชาวชนบทชายแดนนามว่า "จันทมาลากุมารี" กาลวันหนึ่ง มีข้าศึกมาล้อมพระนคร เที่ยวไล่ฆ่าฟันผู้คนชาวพระนครเป็นจำนวนมาก



---เจ้าอทุฏฐมาณพ เห็นว่าเหลือกำลังที่จะสู้ข้าศึกได้ จึงหลบหนีออกจากเมือง เดินทางมาถึงปัจจันตชนบทชายแดนชั่วคราว ตั้งจิตว่าเมื่อรวบรวมผู้คนได้มากพอ ก็จะกลับพระนครอีก ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส คนสองคนก็ได้พบกันและผูกสมัครรักใคร่กันเป็นสามีภรรยาในที่สุด



---บัดนี้ ความคิดที่จะกลับสู่พระนครของอทุฏฐมาณพก็ล้มเลิก เป็นเพราะความรักความเสน่หา นางจันทมาลา ผู้ภรรยามีมากเกินจะละทิ้งนางไปได้ จึงมีชีวิตอยู่ในชนบทชายแดนนั้นจนตาย “ข้าแต่พระองค์ โทษผิดที่ข้าพระบาทเป็นเหตุให้พระองค์ต้องหลงใหลอยู่ปัจจันตชนบจนสิ้นอายุขัย ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”



---โทษผิดอีกครั้งหนึ่ง ในศาสนาแห่งพระธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระองค์เสวยพระชาติ เป็นกษัตริย์ครองแผ่นดิน ณ คีรีบูรณมหานคร  พระนามว่า "สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดี"  ฝ่ายพิมพาข้าพระบาท ก็ได้มาเป็นอัครมเหสีของพระองค์ พระนามว่า "นางมงคลเทวี"



---กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดี ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระชินสีห์พุทธธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความโสมนัสยินดีในรสพระธรรม จึงขอยกพระอัครมเหสีที่รักให้เป็นทาน แล้วทรงสละราชสมบัติเป็นการชั่วคราว ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ



---ฝ่ายพระอัครมเหสี ก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาอุตสาหะ นำเอาปัจจัยมาถวายแด่พระภิกษุผู้เป็นสวามีทุกวันมิขาด มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีนางทาสีของคหบดีคนหนึ่ง หนีนายมาหลบซ่อนอยู่ใต้กุฏิของพระภิกษุราชาธิบดี เมื่อนางมงคลเทวีมาเจอเข้า ก็เกิดความหึงหวงและโกรธเคืองขึ้นไปต่อว่าพระภิกษุผู้เป็นสามี ด้วยความเข้าใจผิดอาละวาดดึงจีวรขาดจนหาชิ้นดีมิได้



---เมื่อหนำใจแล้ว ก็กลับสู่พระบรมราชวังด้วยความคลั่งแค้น ไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร แต่อย่างใด ไม่ช้านางมงคลเทวีก็สิ้นพระชนม์ แล้วพลันไปเกิดเป็นสัตว์นรกเสวยทุกขเวทนาในนิรยภูมิ “ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”



---ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ครั้งศาสนา พระกัสสปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสวยพระชาติ เป็นพญาหงส์ทอง ส่วนข้าพระบาทเกิดเป็น นางหงส์  ภรรยาของพญาหงส์ อาศัยอยู่กับฝูงหงส์บริวารในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง  สมัยนั้น สมเด็จพระราชินี เขมเทวี เป็นนางกษัตริย์ในมหานครนั้น  โปรดเสด็จประพาสป่าอยู่เนื่องๆได้พบสระน้ำใหญ่ จึงสั่งให้ปลูกดอกไม้รอบๆ สระ และแต่งตั้งนายพราน คอยดูแลมิให้ สิงห์สัตว์ นก เนื้อทั้งหลายกล้ำกราย



---ฝ่ายพญาหงส์ทอง อยากเห็นสระของนางเขมเทวี ว่าจะงดงามขนาดไหน จึงพาภรรยาพร้อมเหล่าบริวารมุ่งหน้าสู่สระนั้น เคราะห์ร้าย พญาหงส์ทอง ติดบ่วงของนายพราน ไม่สามารถหนีไปได้ จึงร้องบอกให้ภรรยาและบริวารหงส์ทั้งหลาย ให้รีบหนีไปโดยเร็ว นางพญาหงส์ทอง ไม่ทันได้พิจารณาพากันบินหนีอย่างรวดเร็ว ปล่อยให้พญาหงส์ทอง ทุกข์ทรมานอยู่เบื้องหลัง



---ความผิดหนนั้น ที่บินหนีไม่ยอมดูแลพระองค์ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"



*ครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติ เป็นพญาสกุณา ในศาสนาแห่งพระเรวัตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระบาทเกิดเป็น นางพญาสกุณี อาศัยอยู่ที่หิมวันตประเทศ วันหนึ่งเกิดอาเพศบันดาลให้ นางพญาสกุณี มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะดื่มน้ำในสระอโนดาต ที่นำมาโดยจะงอยปาก ของพญานกผู้สามี หาไม่แล้วตนจะต้องวายชีพลงเป็นแน่แท้


---ด้วยความรักที่มีต่อภรรยา พญานกผู้เป็นสามีก็รีบมุ่งหน้าไปยังสระอโนดาตที่แสนไกล  ครั้นได้เอาจะงอยปากอมน้ำเอาไว้ แล้วรีบบินกลับ ยังไม่ทันถึงรัง น้ำก็แห้งหายไปหมดสิ้น พญานกก็ต้องบินกลับไปอมน้ำมาใหม่ น้ำก็ยังแห้งหายไปหมดเหมือนเดิม ทำอยู่เจ็ด ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ จึงกลับไปเล่าให้ภรรยาฟัง นางเกิดโทสะด่าว่าจิกตีสามี หาว่ามีใจหลงสกุณาตัวอื่น แล้วจะแกล้งให้ตนตาย แต่พญาสกุณา หาได้โกรธไม่ ด้วยความรักที่มีต่อนาง



---“ความผิดของข้าพเจ้ามากมายนัก ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”



---“เมื่อถึงชาติสุดท้าย ขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญพุทธบารมีใกล้จักสมบูรณ์ เสวยพระชาติเป็น "พระเวสสันดร" ฝ่ายข้าพระบาทเป็นอัครมเหสี นามว่า "พระนางมัทรี" มีราชบุตรราชธิดาแสนน่ารัก ทรงพระนามว่า "ชาลี และ กัณหา"



---กาลครั้งนั้น พระองค์ทรงบริจาคทานเป็นช้างเผือกให้แก่พราหมณ์ เมืองกลิงคะ จึงถูกชาวพระนครขับไล่ออกจากเมือง พวกเราพ่อแม่ลูกไปทรงพรต ณ เขาวงกตแห่งห้องหิมเวศ ต่อมามีพราหมณ์ ชื่อว่า "ชูชก" มาทูลขอเจ้ากัณหาและชาลี ไปเป็นคนรับใช้ พอพระองค์ทรงประทานบริจาค เจ้าชูชกก็เร่งรีบนำสองกุมารไปโดยเร็ว กลัวว่าพระนางมัทรีกลับมาทันจะขัดขวาง



---เมื่อพระนางกลับมาจากหาผลไม้ในป่าและไม่เห็นกุมารทั้งสอง ก็ให้ระทดพระทัย มีความเศร้าโสกา ออกตามหาสองกุมารทั้งคืน พร้อมกับกรรแสงตลอด จนเช้าวันรุ่งขึ้นก็สิ้นกำลังสลบไป พระเวสสันดรทรงตกตะลึงรีบไปปฐมพยาบาลแล้ว ก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ และเหตุผลให้มเหสีฟัง



---องค์อินทราธิราชเจ้าบนเทวโลกทรงมองเห็นเรื่องราวทั้งหมด จึงมีพระดำริว่า หากมีใครมาขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรจะอยู่อย่างไรถ้าปราศจาก พระนางมัทรีคอยปรนนิบัติดูแล จึงแสร้งแปลงกายเป็นพราหมณ์เฒ่า ไปขอนางมัทรีไปเป็นข้ารับใช้ พระนางก็ได้ฟัง ก็ไม่หวั่นไหวด้วยทรงเข้าพระทัยดี ว่าการยินยอมพร้อมใจในครั้งนี้ จะช่วยให้พระสวามีสำเร็จพระโพธิญาณในภายภาคหน้า ท้ายที่สุดพระอินทราธิราช ก็จำแลงแสดงตน พร้อมคำอำนวยพร แล้วเสด็จกลับดาวดึงส์เทวโลก



---“ข้าแต่พระองค์ ความผิดที่ข้าพระบาททำให้พระองค์มิอาจกำหนดว่า ตนเป็นบรรพชิต วิ่งมาปฐมพยาบาลทำให้พรหมจรรย์ของพระองค์เศร้าหมอง ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวง ให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า”



---สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี รำลึกอดีตชาติหนหลังที่ตนเคยพลั้งพลาด อาจมีโทษผิดต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “พ่อราหุล มารดานี้ จะเห็นหน้าลูกเป็นปัจฉิมสุดท้ายแล้วในวันนี้ โทษใดที่มารดาเคยทำให้ลูกโกรธเคือง เจ้าจงอภัยให้แก่มารดาในวันนี้เถิด”  พระนางกล่าวกับพระราหุลพุทธปิโยรส



---พระราหุลค่อยๆ ก้มลงกราบ “อันพระเดชพระคุณที่มารดามีต่อราหุลนี้มีมากมาย อุ้มท้องประคองเลี้ยงรักษามาจนเติบใหญ่ บางครั้งก็ตบศีรษะ ตบปากบ้าง หากโทษผิดเหล่านั้นจะบังเกิดแก่ลูก ขอโปรดประทานอภัยด้วยเถิด”



---“ดูกร เจ้าพิมพา อันตัวเจ้านี้มีคุณแก่เราตถาคตมาแต่กาลก่อน เราจักได้สำเร็จแก่พระบวรสัมโพธิญาณ ก็เพราะเจ้าเป็นสำคัญ เราทั้งสอง เคยร่วมสุขร่วมทุกข์กันมา โทษผิดที่เจ้ามีต่อเราตถาคตในแต่ปางก่อน วันนี้เราขอยกโทษให้แก่เจ้าจนหมดสิ้น อนึ่งโทษานุโทษอันใดที่เราได้ล่วงเกินเจ้าในชาติที่ผ่านมา ตลอดจนถึงชาติปัจจุบัน ขอเจ้ายกโทษให้แก่เราตถาคตเสียให้สิ้น แล้วจงดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นเอกัตคตาบรมสุขไปก่อนเถิดนะ เจ้าพิมพา”



---แล้วพระองค์ทรงตรัสโอวาทแก่เหล่าภิกษุเพื่อรำลึกถึงพระนางเป็นครั้งสุดท้าย



---“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตลอดเวลาอันยาวนานของการบำเพ็ญบารมีสะสมความดีเพื่อตรัสรู้ พระนางพิมพายโสธราเถรี ซึ่งเป็นคู่รัก เพื่อนชีวิต ในอดีตชาติ ได้เสียสละทุกอย่าง เพื่อช่วยเหลือการสั่งสมบารมีของเรา เธอยอมสละแม้กระทั่งความสุข ความสบายส่วนตน จนกระทั่งเรา ได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาตินี้ อันเป็นชาติสุดท้ายของเราทั้งสอง อันเป็นประโยชน์ที่จะได้เผยแผ่สัจธรรม สู่มวลมนุษย์ เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง จักมีใครที่สร้างคุณอยู่เบื้องหลังการบรรลุธรรมเทียบเท่ากับเธอเช่นนั้นแล้ว ไม่มีอีกแล้ว”

*อรรถกถา “จันทกินนรชาดก” ว่าด้วย “นางจันทกินนรี”

---พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงพระปรารภพระมารดาของพระราหุล ตรัสเรื่องนี้ ในพระราชนิเวศน์ มีคำเริ่มต้นว่า อุปนียติทํ มญฺเญ ดังนี้.



---ที่จริงชาดกนี้ ควรจะกล่าวตั้งแต่ ”ทูเรนิทาน” ก็แต่นิทานกถานี้นั้น จนถึงพระอุรุเวลกัสสปบันลือสีหนาทในลัฏฐิวัน กล่าวไว้ใน “อปัณณกชาดก” ต่อจากนั้น จนถึงเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ จักแจ้งใน เวสสันดรชาดก. ก็แล พระศาสดาประทับนั่งในพระนิเวศน์ของพุทธบิดา ในเวลากำลังเสวย ตรัส  “มหาธัมมปาลชาดก” เสวยเสร็จทรงดำริว่า  เราจักนั่งในนิเวศน์ของมารดาราหุล กล่าวถึงคุณของเธอ แสดง” จันทกินนรชาดก” ให้พระราชาทรงถือบาตรเสด็จไปที่ประทับแห่งพระมารดาของพระราหุล กับพระอัครสาวกทั้งสอง.



---ครั้งนั้น นางระบำ ๔๐,๐๐๐ ของพระนาง พากันอยู่พร้อมหน้า.


---บรรดานางทั้งนั้นที่เป็นขัตติกัญญาถึง ๑,๐๙๐ นาง.


---พระนางทรงทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา ตรัสบอกแก่นางเหล่านั้นว่า จงพากันนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดทั่วกันทีเดียว.


---นางเหล่านั้นพากันกระทำอย่างนั้น พระศาสดาเสด็จมาประทับนั่งเหนือพระแท่นที่เตรียมไว้.



---ครั้งนั้น พวกนางเหล่านั้นทั้งหมด ก็พากันร้องไห้ประดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันอื้ออึงไป เสียงร่ำให้ขนาดหนักได้มีแล้ว ฝ่ายพระมารดาของพระราหุลเล่า ก็ทรงกรรแสง ครั้นทรงบรรเทาความโศกได้ ก็ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่งด้วยความนับถือมาก เป็นไปกับความเคารพอันมีในพระราชา.



---ครั้งนั้น พระราชาทรงพระปรารภคุณกถาของพระนาง ได้ตรัสเล่าพรรณนาคุณของพระนาง ด้วยประการต่างๆ เช่น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของโยม ฟังว่าพระองค์ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์ ก็นุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน  ฟังว่า พระองค์เลิกทรงมาลา  ก็เลิกทรงมาลาด้วย เป็นต้น  ฟังว่า ทรงเลิกบรรทมเหนือพระยี่ภูอันสูงอันใหญ่ ก็บรรทมเหนือพื้นเหมือนกัน ในระยะกาลที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว นางยอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับบรรณาการที่พระราชาอื่นๆ ส่งมาให้เลย นางมีจิตมิได้เปลี่ยนแปลงในพระองค์ถึงเพียงนี้.



---พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่นางมีความรักไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย ในอัตภาพสุดท้ายของอาตมภาพครั้งนี้ แม้บังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็ยังได้มีจิตไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย แล้วทรงรับอาราธนา นำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.



---ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกินนร ในหิมวันตประเทศ ภรรยาของเธอนามว่า "จันทา" ทั้งคู่เล่าก็อยู่ที่ภูเขาเงินชื่อว่า "จันทบรรพต"



---ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสี มอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์ ทรงผ้าย้อมฝาดสองผืน ทรงสอดพระเบญจาวุธ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น ท้าวเธอเสวยเนื้อที่ทรงล่าได้ เป็นกระยาหาร เสด็จท่องเที่ยวไปถึงลำน้ำน้อยๆ สายหนึ่งโดยลำดับ ก็เสด็จขึ้นไปถึงต้นสาย ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต เวลาฤดูฝนก็ไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขานั่นแหละ ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา.



---ครั้งนั้น จันทกินนร ลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บเล็มของหอมในที่นั้นๆ กินเกสรดอกไม้ นุ่งห่มด้วยสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้า เป็นต้น เล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียงจะแจ้วเจื้อย จนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น หยุดลงตรงที่เป็นคุ้งแห่งหนึ่ง โปรยปรายดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำ แล้วนุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้ จัดแจงแต่งที่นอนด้วยดอกไม้ เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน ถือขลุ่ยเลาหนึ่ง นั่งเหนือที่นอน.



---ต่อจากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงอันหวานฉ่ำ จันทกินรีก็ฟ้อนหัตถ์อันอ่อน ยืนอยู่ในที่ใกล้สามี ฟ้อนไปบ้าง ขับร้องไปบ้าง.


---พระราชานั้นทรงสดับเสียงของกินนรกินรีนั้น ก็ทรงย่องเข้าไปค่อยๆ ยืนแอบในที่กำบัง ทรงทอดพระเนตรกินนรเหล่านั้น ก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในกินรี ทรงดำริว่า จักยิงกินนรนั้นเสียให้ถึงสิ้นชีวิต ถึงสำเร็จการอยู่ร่วมกินรีนี้ แล้วทรงยิงจันทกินนร.



*เธอเจ็บปวดรำพันกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า



---ดูก่อนนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย พี่เห็นจะละชีวิตไปแม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ ชีวิตของพี่กำลังจะจม ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ พี่จะเหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด พี่จะเหือดหายเหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยๆ เหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพตไหลไปไม่ขาดสายฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้.



*บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนียติ ความว่า ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว.


---บทว่า อิทํ ได้แก่ ชีวิต.


---บทว่า ปาณา ความว่า ดูก่อนจันทา ลมปราณ คือ ชีวิตของพี่ย่อมจะดับ.


---บทว่า โอสธิ เม ความว่า ชีวิตของพี่ย่อมจะจมลง.


---บทว่า นิตมานิ แปลว่า พี่ย่อมลำบากอย่างยิ่ง.


---บทว่า ตว จนฺทิยา ความว่า นี้เป็นความทุกข์ของพี่.


---บทว่า น นํ อญฺเญหิ โสเกหิ ความว่า โดยที่แท้นี้ เป็นเหตุแห่งความโศกของเธอ ผู้ชื่อว่า จันทา เมื่อกำลังเศร้าโศกอยู่ เพราะเหตุที่เธอเศร้าโศก เพราะความพลัดพรากของเรา.


---ด้วยบทว่า ติณมิว มิลายามิ เธอกล่าวว่า ข้าจะเหี่ยวเฉา เหมือนต้นหญ้าที่ถูกทอดทิ้งบนแผ่นหินอันร้อน เหมือนป่าไม้ที่ถูกตัดรากฉะนั้น.


---บทว่า สเร ปาเท ความว่า เหมือนสายฝนที่ตกบนเชิงเขาไหลซ่านไปไม่ขาดสายฉะนั้น.




---พระมหาสัตว์คร่ำครวญด้วยคาถาสี่เหล่านี้ นอนเหนือที่นอนดอกไม้นั่นเอง ชักดิ้นสิ้นสติ.


---ฝ่ายพระราชายังคงยืนอยู่.



---จันทากินรี เมื่อพระมหาสัตว์รำพัน กำลังเพลิดเพลินเสียด้วยความรื่นเริงของตน มิได้รู้ว่าเธอถูกยิง แต่ครั้นเห็นเธอไร้สัญญานอนดิ้นไป ก็ใคร่ครวญว่า ทุกข์ของสามีเราเป็นอย่างไรหนอ พอเห็นเลือดไหลออกจากปากแผล ก็ไม่อาจสะกดกลั้นความโศก อันมีกำลังที่เกิดขึ้น ในสามีที่รักไว้ได้ ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง.


---พระราชาทรงดำริว่า กินนรคงตายแล้ว ปรากฏพระองค์ออกมา จันทาเห็นท้าวเธอหวั่นใจว่าโจรผู้นี้คงยิงสามีที่รักของเรา จึงหนีไปอยู่บนยอดเขา พลางบริภาษพระราชา ได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ดังนี้



---พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่ชายป่า พระราชบุตรนั้น เป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้น ถูกยิงแล้วนอนอยู่ที่พื้นดิน พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่าน จงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้า ผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ ชายาของท่าน จงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้า ผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ พระราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย ท่านได้ฆ่ากินนรีผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย.



*บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วรากิยา แปลว่า ผู้กำพร้า.


---บทว่า ปฏิมุจฺจตุ ได้แก่ จงกลับได้ คือ ถูกต้องบรรลุ.


---บทว่า มยฺหํ กามาหิ ได้แก่ เพราะความรักใคร่ในฉัน.



---พระราชา เมื่อจะตรัสปลอบนาง ผู้ยืนร่ำไห้เหนือยอดภูเขาด้วย ๕ คาถา จึงตรัสคาถาว่า ดูก่อนนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาเบิกบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้ไปเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉัน มีเหล่านารีในราชสกุลบูชา.



*บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺเท ความว่า เพราะได้สดับชื่อของพระโพธิสัตว์เวลาคร่ำครวญ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.


---บทว่า วนติมิรมตฺตกฺขิ แปลว่า ผู้มีนัยน์ตาเสมอด้วยดอกไม้ที่มืดมัวในป่า.


---บทว่า ปูชิตา ความว่า เธอจะได้เป็นอัครมเหสีผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาหญิง ๑๖,๐๐๐ คน.



---นางจันทากินรี ฟังคำของท้าวเธอแล้วกล่าวว่า ท่านพูดอะไร เมื่อจะบันลือสีหนาท จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่านผู้ฆ่ากินนรสามีของเรา ผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา.



*บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ นูนาหํ ความว่า ถึงแม้เราจักต้องตายอย่างแน่นอนทีเดียว.


---ท้าวเธอฟังคำของนางแล้ว หมดความรักใคร่ ตรัสคาถาต่อไปว่า แน่ะนางกินรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์เถิด มฤคอื่นๆ ที่บริโภคกฤษณาและกระลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า.



*บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ ภีรุเก แปลว่า ผู้มีชาติขลาดเป็นอย่างยิ่ง.


---บทว่า ตาลิสตคฺครโภชนา ความว่า มฤคอื่นๆ ที่บริโภคใบกฤษณาและใบกระลำพัก จักยังรักษาความยินดีต่อเจ้า.



---ท้าวเธอได้กล่าวกะนางว่า เธอจงอย่าไปจากความลับในราชตระกูล.


---ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไปอย่างหมดเยื่อใย.


---นางทราบว่า ท้าวเธอไปแล้ว ก็ลงมากอดพระมหาสัตว์ อุ้มขึ้นสู่ยอดภูเขา ให้นอนเหนือยอดภูเขา ยกศีรษะวางไว้เหนือขาของตน พลางพร่ำไห้เป็นกำลัง จึงกล่าวคาถา ๑๒ คาถาว่า



---ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ ณ ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่าน ที่เทือกเขาซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่าน ที่แผ่นผาอันลาดด้วยใบไม้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร


---ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ มีกระแสเกลื่อนกล่น ไปด้วยดอกโกสุม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเขียว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์มีสีเหลืองอร่าม น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดง น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันสูงตระหง่าน น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร


---ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันงามวิจิตร น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของหมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร.



*บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ปพฺพตา ความว่า ภูเขาเหล่านั้น


---ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเขาเหล่านั้น ที่เราเคยขึ้นร่วมอภิรมย์ ตั้งอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล บัดนี้ เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขานั้น เราจะทำอย่างไรเล่า เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาลาดอันงดงามไปด้วยใบไม้ ดอกและผลเป็นต้น ร่ำไรอยู่ว่าเราจะอดกลั้นได้อย่างไร.


*บทว่า ปณฺณสณฺฐตา ความว่า ดารดาษด้วยกลิ่นและใบ


---ของใบกฤษณา เป็นต้น.


---บทว่า อจฺฉา ได้แก่ มีน้ำใสสะอาด.


---บทว่า นีลานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยแก้วมณี.


---บทว่า ปีตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยทองคำ.


---บทว่า ตมฺพานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยมโนศิลา.


---บทว่า ตุงฺคานิ ความว่า มีปลายคมสูง.


---บทว่า เสตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยเงิน.


---บทว่า จตฺรานิ ได้แก่ เจือด้วยรัตนะ ๗ ประการ.


---บทว่า ยกฺขคณเสวิเต ความว่า อันภุมเทวดาเสพแล้ว.



---นางร่ำไห้ด้วยคาถาสิบสองบท  ด้วยประการฉะนี้แล้ว วางมือลงตรงอุระพระมหาสัตว์ รู้ว่ายังอุ่นอยู่ ก็คิดว่า พี่จันท์ยังมีชีวิตเป็นแน่ เราต้องกระทำการเพ่งโทษเทวดา ให้ชีวิตของเธอคืนมาเถิด.


---แล้วได้กระทำการเพ่งโทษเทวดาว่า เทพเจ้าที่ได้นามว่า ท้าวโลกบาลน่ะ ไม่มีเสียหรือไรเล่า หรือหลบไปเสียหมดแล้ว หรือตายหมดแล้ว ช่างไม่ดูแลผัวรักของข้าเสียเลย.


---ด้วยแรงโศกของนาง พิภพท้าวสักกะเกิดร้อน.


---ท้าวสักกะทรงดำริทราบเหตุนั้น แปลงเป็นพราหมณ์ถือกุณฑีน้ำมาหลั่งรดพระมหาสัตว์.


---ทันใดนั้นเองพิษก็หายสิ้น แผลก็เต็ม แม้แต่รอยที่ว่าถูกยิงตรงนี้ก็มิได้ปรากฏ.


---พระมหาสัตว์สบายลุกขึ้นได้ จันทาเห็นสามีที่รักหายโรค แสนจะดีใจ ไหว้แทบเท้าของท้าวสักกะ กล่าวคาถาเป็นลำดับว่า



---ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่าน ผู้มีความเอ็นดู มารดา สามีผู้ที่ดิฉันซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉันได้ชื่อว่า เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว.


---บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมเตน ความว่า นางจันทากินรีสำคัญว่า เป็นน้ำอมฤตจึงกล่าวอย่างนั้น.


---บทว่า ปิยตเมน แปลว่า น่ารักกว่า บาลีก็อย่างนั้นเหมือนกัน.



---ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า ตั้งแต่บัดนี้ เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ ครั้นแล้วก็เสด็จไปสู่สถานที่ของท้าวเธอ.


---ฝ่ายจันทากินรีก็กล่าวว่า พี่เจ้าเอ๋ย เราจะต้องการอะไรด้วยสถานที่อันมีภัยรอบด้านนี้เล่า มาเถิดค่ะ เราพากันไปสู่จันทบรรพตเลยเถิดค่ะ แล้วกล่าวคาถาสุดท้ายว่า



---บัดนี้ เราทั้งสองจักเที่ยวไปสู่ลำธาร อันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่นด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุบผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน.



---พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน นางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้เหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น เทวทัต ท้าวสักกะได้มาเป็น อนุรุทธะ จันทากินรีได้มาเป็น มารดาเจ้าราหุล ส่วนจันทกินนรได้มาเป็น เราตถาคต แล.


---พระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้ ทรงแสดงถึงความจงรักภักดีของจันทากินนรีที่มีต่อจันทกินนร คราวนั้นพระนางพิมพาจึงบรรลุโสดาปัตติผล ณ ที่นั้นเอง จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปพระวิหาร



---พระนางภัททากัจจานาเถรี นิพพานในพรรษาที่ 43 แห่งพระผู้มีพระภาค มีพระชนมายุได้ 78 พรรษา  ขอสรรเสริญพระมหากรุณาธิคุณ แห่งพระนางภัททากัจจานาเถรี  ขอความสุขความเจริญ จงมีแก่ท่านทั้งหลายในสังสารวัฏแห่งนี้  ไม่มีตำนานรักใด ๆ ในโลก จะเทียบเท่าของพระนางได้อีกแล้ว  ความรักที่ยาวนานถึง ๔ อสงไขย กับเศษแสนมหากัปไม่อาจมีตำนานใด ๆ มาเทียบได้เลย.


*ขอเจริญพร  ขอบพระคุณแหล่งข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง และ ขอความเจริญจงมีกับเจ้าของบทความนี้.. เจริญธรรม*


(สาธุๆๆๆ)

..........................................................................................






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

แก้ไขแล้ว ป.

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 30 กันยายน 2558


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,690,705
เปิดเพจ10,465,614
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view