/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ข้อคิดพิเศษทางพระพุทธศาสนา

ข้อคิดพิเศษทางพระพุทธศาสนา

คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา

(อยู่ได้ด้วยเหตุผลและความดี)






---หลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกหมด ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากอยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริง ๆ ผู้ที่รับการศึกษาทางพระพุทธศาสนาเข้าใจถึงสาระสำคัญบ้างพอสมควร ย่อมมีความเข้าใจตรงกันว่า เรามิได้นับถือพระพุทธศาสนาเพราะเห็นแก่เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์เลย เรามิได้นับถือพระพุทธเจ้าเพราะพระองค์เหาะเหินเดินอากาศได้ มิได้นับถือเพราะพระองค์ประสูติออกมาก็เดินได้ 7ก้าว แม้พระองค์จะไม่มีฤทธิ์ ไม่มีสิ่งอัศจรรย์ ก็ไม่ทำให้เราคลายความเคารพนับถือลงไปแต่ประการใด เพราะเท่าที่เราอบรมกันมาให้รู้พระคุณของพระองค์นั้น กล่าวโดยย่อก็ได้แก่พระคุณทั้ง 3 ประการ คือ

 
---1.พระปัญญาคุณ  คือ ปัญญาความรู้ประจักษ์แจ้งในความจริง


---2.พระบริสุทธิคุณ  คือ ความบริสุทธิ์สะอาดทางกาย วาจา ใจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความประพฤติดี ประพฤติชอบ และ


---3.พระมหากรุณาคุณ  คือ ความกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีในสัตว์โลก


*พระคุณทั้ง 3 ประการนี้


---ไม่มีแม้แต่ข้อเดียวที่เกิดขึ้นลอย ๆ โดยอาศัยฤทธิ์เดช ข้อต้น คือ ปัญญา ก็หมายถึง ปัญญาที่อบรมให้เจริญ ให้เกิดมีขึ้นด้วยความพากเพียร ค้นคว้า ทดลอง จนประจักษ์แจ้งความจริง ความบริสุทธิ์หรือความกรุณาก็เป็นคุณภาพที่เนื่องด้วยความประพฤติปฏิบัติและน้ำพระหฤทัยของพระองค์ซึ่งควรเป็นตัวอย่างและแบบฉบับที่ดีแก่คนทั้งหลาย


---พระคุณที่เราเคารพบูชาทั้ง 3 ประการนี้ ใครยิ่งพยายามฝึกฝนอบรมตนปฏิบัติตามได้ก็ยิ่งดี เพราะมิใช่มีไว้ประดับบุญบารมี เพื่อให้เห็นเป็นของสูงพิเศษเท่านั้น แท้จริงกลับแสดงว่าเป็นมาตรฐานที่ทุกคนควรยกระดับของตนเองขึ้นไปหา แม้ไม่ได้ถึงขนาดนั้นก็ยังดีกว่าปล่อยให้ขาดตกบกพร่องเสียด้วยประการทั้งปวง


---เมื่อพิจารณาในแง่เหตุผล คำว่า “ฤทธิ์” แปลว่า ความสำเร็จ ทุกคนก็คงปรารถนาความสำเร็จผลในสิ่งที่ปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น เมื่ออวยพรกันจึงแสดงความปรารถนาดีต่อกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักธรรมที่ให้ประสบความสำเร็จไว้ ที่เรียกว่า อิทธิบาท อันอาจแปลได้ 2 ทาง คือ ทางหนึ่งแปลว่า ข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงฤทธิ์ (Basis of Psychic Power) แปลอย่างนี้หมายถึง ฤทธิ์เดชจริง ๆ ซึ่งเป็นอานุภาพทางใจชนิดหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งแปลว่า ข้อปฏิบัติที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ (Law of Success)


*ขอให้เราพิจารณาข้อปฏิบัติ


---ที่จะให้มีฤทธิ์หรือประสบความสำเร็จนั้นต่อไป พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 4 ประการ คือ


---1.ฉันทะ   ความพอใจรักใครในสิ่งนั้น (Preference)


---2.วิริยะ    ความพากเพียร (Energy)


---3.จิตตะ   เอาใจฝักใฝ่ไม่ทอดธุระ (Thought)


---4.วิมังสา   สอบสวน  ค้นคว้า  ทดลอง (Investigation)


---จากหลักการ 4 ข้อนี้ เราย่อมพิจารณาได้เองว่า บรรดาความสำเร็จทั้งหลายที่อยู่ในวิสัย เราย่อมมีทางไต่ขึ้นไปหา โดยอาศัยคุณธรรมดังกล่าวมานี้ได้อย่างมีเหตุผล จริงๆ การค้นคว้าการประดิษฐ์ที่สำเร็จผลของโลกทุกวันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าข้อใดข้อหนึ่ง และทั้งหมดของคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง แท้จริงจะเห็นว่าจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ทุกข้อ


---เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ตามทัศนะทางพระพุทธศาสนาต่อไปอีกโดยถี่ถ้วน ผู้เขียนขอเสนอบทความเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเคยเขียนไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป


---เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนเป็นอันมาก และเนื่องจากบางคนก็เชื่อสนิท บางคนก็ไม่เชื่อเลย บางคนก็ยังคลางแคลงอยู่ จึงเป็นเรื่องน่าพิจารณาด้วยความรอบคอบ และพร้อมกันนั้นก็น่าจะหาคติหรือประโยชน์จากเรื่องนี้ให้ได้ตามสมควร


---โดยเหตุที่เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ มีส่วนเข้ามาเกี่ยวพันกับทางพระพุทธศาสนาด้วย  ถ้าได้ซ้อมความเข้าใจกันให้ดีแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ในการนับถือพระพุทธศาสนาได้ไม่น้อย

 

---ในชั้นแรก ก่อนจะพิจารณากันถึงตัวเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ขอให้เราตรวจดูหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก่อนว่า พระพุทธศาสนานั้น ถ้าตัดเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกให้หมด จะยังมีสาระอะไรที่ควรแก่การนับถือหรือไม่ จากการตรวจสอบหลักธรรมทางพุทธศาสนา เราจะได้คำตอบว่า ตราบใดเรายังนับถือพระพุทธศาสนา เพราะพอใจในฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ตราบนั้นเรายังไม่เชื่อว่า รู้จักหรือเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานตั้งอยู่บนความลึกลับหรือฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อะไรเลย และแม้เราจะตัดเรื่องฤทธิ์เดชาปาฏิหาริย์ออกเสียหมด ก็มิได้ทำให้พระพุทธศาสนามีส่วนที่น่านับถือน้อยลงที่ตรงไหน ตรงกันข้ามกลับจะทำให้เด่น หรือเป็นศาสนาแห่งเหตุผลยิ่งขึ้น แต่สำหรับศาสนาอื่นดูเหมือนจะลำบาก และแทบจะกล่าวได้ว่า เมื่อตัดเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกแล้วก็ล้มครืนทีเดียว เพราะศาสนาเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเทวนิยม (Theism) เชื่อว่า มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ให้สร้างสรรค์ดลบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปอย่างนี้ อย่างนั้นได้ตามต้องการ พอไม่เชื่อฤทธิ์เดชของเทพเจ้านั้น ก็เป็นอันเป็นต้องเลิกนับถือกันหมด เพราะถ้านับถือก็ต้องเชื่อ  



---คราวนี้ขอให้เราย้อนมา พูดถึงพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่ว่า ถ้าตัดเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออกทั้งหมด จะยิ่งเห็นชัดถึงความเป็นศาสนาแห่งเหตุผลนั้น มีคำอธิบายอย่างไร


---ประการแรก พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ใช่เทวดาลึกลับอะไรที่ไหน จะได้ดีอะไรก็อาศัยความพากเพียรพยายามไม่ใช่ได้ดีอย่างลอย ๆ ทรงเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้ก่อสร้างตนด้วยความเข้มแข็งอดทน กล้าเสียสละเพื่ออุดมคติอันสูงส่ง คือการช่วยให้โลกพ้นทุกข์ประสบสุขโดยไม่พรั่นพรึงต่ออุปสรรคใด ๆ


---ประการที่สอง แม้จะมีตำราหรือคัมภีร์ใด ๆ กล่าวถึงความอัศจรรย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติแล้วเสด็จดำเนินได้ 7 ก้าว มีดอกบัวรองรับพระบาท พร้อมทั้งเปล่งวาจาออกมาแสดงถึงความที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต่อไปในภายภาคหน้า และถ้าเราจะไม่สนใจเรื่องอัศจรรย์นั้นเลย คงถือเพียงว่าพระองค์ประสูติอย่างเด็กธรรมดาอื่น ๆ ไม่ได้เสด็จดำเนินไปไหน ไม่ได้รับสั่งอะไร ไม่จำเป็นต้องมีน้ำร้อน น้ำเย็น ตกลงมาจากอากาศสนานพระกายเลย ก็ไม่ทำให้เสียพระเกียรติอะไรแก่พระองค์ และการไม่เชื่อในเรื่องเช่นนี้ เราก็ไม่ถูกขู่หรือปรับให้ตกนรก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระมหาเถระองค์แรกในเมืองไทย ที่ต้องการสอนให้คนรู้จักสาระที่แท้จริงจากพระพุทธศาสนา จึงทรงนิพนธ์เรื่องพุทธประวัติ


---โดยอธิบายเปรียบเทียบฤทธิ์เดช ว่าอาจถอดความหมายได้ด้วย ทรงชี้ให้ถือคติการรู้รับประทานผลไม้ เช่นมังคุดว่า ไม่ควรรับประทานทั้งเปลือก นิยายหรือเรื่องราวที่เล่ากันมาแต่โบราณ อาจต้องมีเรื่องที่เทียบด้วยเปลือก หรือกระพี้ปนอยู่บ้างเป็นธรรมดา หรือเทียบด้วยหนังสือกาพย์ต่าง ๆ ที่อาจะมีเรื่องอลังการประดับให้น่าสนุกสนานเพลิดเพลิน ทรงพยายามถอดความแห่งฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ เช่น เรื่องเสด็จดำเนิน 7 ก้าวเมื่อประสูติ เทียบด้วยการแผ่ศาสนาไปในแคว้นใหญ่ 7 แคว้น เป็นต้น เป็นการนำทางให้รู้จักอ่านหนังสือ ถือเอาแต่ความที่สำคัญไม่ไปติดในเกร็ดหรือเปลือกต่าง ๆ

 

---ประการที่สาม เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยกย่องว่าเป็นของดีเลิศ ทรงแยกปาฏิหาริย์ออกเป็น 3 อย่าง คือ


---1.แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ (อิทธิปาฏิหาริย์)


---2.ทายใจได้เป็นอัศจรรย์ (อาเทศนาปาฏิหาริย์)


---3.สั่งสอนเป็นอัศจรรย์ (อนุสาสนีปาฏิหาริย์)


---ครั้นแล้วทรงแสดงว่า สั่งสอนเป็นอัศจรรย์นั้นนับเป็นเลิศ คือ เป็นประโยชน์ เป็นคติทุกกาลสมัย ส่วนการแสดงฤทธิ์หรือการดักใจทายใจนั้น นักเล่นกล (มายาการ) ก็อาจทำได้ การที่ทรงยกย่องคำสั่งสอนว่าเป็นอัศจรรย์นั้น ก็เพราะคำสอนที่ดีและมีเหตุผล ย่อมตั้งอยู่ได้นานเท่านาน เป็นของทันสมัยอยู่เสมอ และอำนวยประโยชน์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างไพศาล ส่วนฤทธิ์เดชต่าง ๆ นั้นก็เพียงแต่ได้ดูสนุก ๆ หรือถ้าใครไม่ได้ดูก็ไม่เชื่อและคลางแคลง นานไปก็กลายเป็นเพียงเรื่องเล่ากันคล้ายนิทาน ซึ่งคนรุ่นหลังไม่ค่อยเชื่อ และไม่เป็นประโยชน์ในทางความประพฤติปฏิบัติ จริงอยู่เรื่องฤทธิ์เดช ถ้ามีจริงหรือแสดงได้จริงก็เป็นประโยชน์ในการจูงใจคนอยู่บ้าง ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงมิได้ถึงกับตำหนิ เป็นแต่ไม่ยกย่องเท่าคำสั่งสอนที่ดี ส่วนที่มีปรับอาบัติไว้แก่พระที่แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ นั้นก็เพื่อป้องกันบุคคลบางผู้มุ่งหากินในทางมิชอบ แปลกปลอมเข้ามาใช้กลอุบายหลอกลวงว่ามีฤทธิ์ อันจะพลอยเสื่อมเสียไปถึงภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบด้วย นอกจากนั้นทางพระพุทธศาสนาไม่นิยมโอ้อวด  ถ้าจะสั่งสอนหนักไปในทางให้ติดในฤทธิ์เดช คนก็จะสนใจในความประพฤติปฏิบัติน้อยลง จึงพยายามรักษาจุดประสงค์เรื่องสั่งสอนศีลธรรมและความสงบสุขไว้ให้เป็นสำคัญยิ่งกว่าส่วนอื่น


---ประการที่สี่ พระพุทธศาสนามีคำอธิบายเรื่องฤทธิ์เดชไว้เหมือนกัน แต่เป็นไปในทางให้เหตุผลกลาง ๆ อันเป็นวิทยาศาสตร์โดยตรง คือ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องฤทธิ์เดชเพื่อจะล่อให้เชื่อ หากถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำจิตใจให้สงบ และมิได้กักกันหวงแหนไว้เพื่อประดับบารมีของใครโดยเฉพาะ โดยวางหลักสูตรปฏิบัติทางจิตใจไว้เป็นกลาง ๆ มีวิธีปฏิบัติเพื่อได้ฤทธิ์เดชชนิดนั้นชนิดนี้  ภายหลังที่จิตใจสงบเป็นสมาธิชั้นสูงแล้ว ซึ่งใคร ๆ ก็มีสิทธิจะทดลองฝึกหัดได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นทางพ้นทุกข์ ทั้งการทำจิตใจให้สงบก็ไม่ใช่เพื่อให้มีฤทธิ์เดช หากเพื่อก้าวไปสู่ขั้นต่อไป คือ การอบรมปัญญารู้แจ้งความจริงของชีวิต เป็นเหตุคลายความยึดมั่นถือมั่น ทำความหลุดพ้นจากทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นตอนที่แสดงถึงข้อปฏิบัติเมื่อจิตสงบแล้ว เพื่อให้ได้ฤทธิ์บางอย่าง จึงเข้าลักษณะปฏิบัติเพื่อผลพลอยได้ แต่ไม่ใช้เพื่อติดในฤทธิ์

 

---ถ้ายังติดอยู่ในฤทธิ์ก็ยังถือว่าติดอยู่ในเครื่องกังวล (ปลิโพธ) ประการ 1 ใน 10 ประการ ไม่เป็นเหตุบรรลุธรรมชั้นสูงขึ้นไปได้ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องฤทธิ์เป็นเพียงกีฬาอย่างหนึ่งของผู้อบรมใจให้สงบจนมีอำนาจก็ได้ แม้เช่นนั้นในพระพุทธศาสนาก็ยังให้เหตุผล และวิธีปฏิบัติไว้เป็นกลาง ๆ แก่ทุกคน ซึ่งถ้าพิจารณาตามที่กล่าวมานี้ เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา ก็คือความเป็นผู้สามารถอบรมจิตใจให้สงบ มีอำนาจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ จะว่าอัศจรรย์ก็น่าอัศจรรย์สำหรับคนที่ทำไม่ได้ จะว่าเป็นของธรรมดาก็อาจกล่าวได้ถ้าเราเข้าใจฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์นั้น ๆ แท้จริงก็เป็นเรื่องรู้วิธีทำหรือเข้าใจในเหตุผลกฎเกณฑ์ของธรรมชาติทางจิตใจนั้นเอง เทียบให้เห็น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องบิน และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จะว่าน่าอัศจรรย์ก็น่าอัศจรรย์สำหรับคนที่ทำไม่ได้ จะว่าเป็นของธรรมดาก็ว่าได้ กล่าวคือ ผู้คิดค้นประดิษฐ์ได้อาศัยความรู้หลักเกณฑ์ของธรรมชาติประดิษฐ์ขึ้น ใครก็ตามถ้ารู้หลักเกณฑ์และจัดทำขึ้นถูกหลักเกณฑ์แล้ว ก็ทำได้สำเร็จเหมือนกันหมด ฤทธิ์เดชก็เช่นกัน ถ้าทำให้ถูกหลักเกณฑ์ก็ทำกันได้ทั้งนั้น เหตุนี้จึงอาจถือได้ว่า เรื่องของฤทธิ์เดชที่ปรากฏในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องพิเศษหรือจุดหมายชั้นสูง เป็นเพียงการรู้จักแสดงผลบางประการของวิทยาศาสตร์ทางจิตใจเท่านั้น

 

---ในปัญหาข้อต่อไปที่ว่าฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์เป็นของมีจริงหรือไม่ ซึ่งเรามักจะได้ฟังคำถามนี้เสมอนั้น โดยมากมักจะพูดกันเมื่อได้ฟังข่าวลือถึงผู้วิเศษแสดงความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ในที่นั้น ๆ ถ้าจะตอบเป็นกลาง ๆ ไม่เกี่ยวกับรายใดรายหนึ่ง ก็ต้องตอบว่า ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ที่เลื่องลือกันต่าง ๆ นั้น อาจจะเป็นไปได้ทั้งของจริง และเป็นการเล่นกลให้คนอื่นหลงเชื่อ สุดแต่ตัวบุคคลนั้น ๆ ถ้าจะเทียบด้วยเรื่องของจริงของปลอม เช่น ธนบัตร หรือทองคำ ก็อาจจะมีได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งของจริงและของปลอม ในกรณีที่เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์เป็นของมีได้จริงนั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุผลว่าอาจเป็นไปได้อย่างไร เราน่าจะต้องซ้อมความเข้าใจกันไว้ถึงข้อความที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นด้วย ว่าเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์นี้ไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่พระพุทธศาสนาสั่งสอน หากถือเป็นเรื่องผลพลอยได้ของการที่มีจิตใจสงบ อันได้ฝึกหัดจนชำนิชำนาญแล้ว แม้จะไม่ใช้หรือไม่นำเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเลย ก็มีคำสั่งสอนซึ่งเป็นหลักธรรม อันจะช่วยให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ กำจัดความทุกข์บรรลุถึงความสุขได้อย่างสมบูรณ์แล้ว


---ในปัจจุบันฝรั่งนักค้นคว้าทางจิตใจ ได้ตั้งสถาบันเพื่อการนี้ขึ้น ซึ่งเรียกว่า Institute for Psychical Research แปลว่า สถาบันเพื่อการค้นคว้าทางจิตใจ พยายามจะให้บทพิสูจน์ บททดลองฤทธิ์เดชต่าง ๆ ซึ่งอาจฝึกหัดทางจิตใจจนแสดงได้แปลก ๆ อันสุดแต่ผู้แสดงจะมีความชำนิชำนาญมากเพียงไร ทั้งนี้เพื่อให้เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ กลายเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิตใจขึ้นมาจริง ๆ มีศาสตราจารย์ร่วมการค้นคว้าทดลองในการนี้แห่งละหลาย ๆ คน มีทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในการทดลองเขาได้มีบันทึกและมีสถิติไว้ชัดเจน เช่น ทดลองตาทิพย์ ให้คนนำวัตถุบรรจุลงไปในกล่องทึบ มองข้างในไม่เห็นในอีกห้องหนึ่ง แล้วนำมาสู่ห้องทดลอง ให้คนที่ฝึกอำนาจจิตไว้แล้ว ทายได้ถูกต้องเหมือนอย่างได้เห็นของในหีบนั้น โดยไม่มีอะไรปกปิด เป็นต้น


---ในปัจจุบัน นักจิตวิทยายอมรับแล้วว่า กระแสประสาทหรือพลังงาน ที่เกิดขึ้นในระบบประสาท รายงานให้มันสมองรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปลายประสาทบางส่วนรับทราบนั้น คือ พลังงานไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมความแล้วระบบประสาท (Nervous system) มีเรื่องของพลังงานไฟฟ้าปนอยู่มิใช่น้อย


---ในส่วนที่กว้างขวางกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical scientists) ในสมัยหนึ่งเคยกล่าวว่า สสารหรือสิ่งที่มีขนาดน้ำหนักมีการกินที่ทั้งปวง เมื่อทอนลงไปถึงที่สุดแล้วจะเหลือเพียงปรมาณู คือ ส่วนเล็กที่สุดจะแยกออกไปอีกไม่ได้แล้ว แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น ได้ยอมรับแล้วว่าปรมาณูนั้นเมื่อก้าวให้ถึงชั้นในเข้าไปอีก ก็คือ พลังงานไฟฟ้านั่นเอง และเพราะรู้วิธีแยกปรมาณู จึงสามารถประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูชนิดที่มีอำนาจทำลายยิ่งกว่าระเบิดธรรมดาตั้งพันตั้งหมื่นเท่าได้


---นักวิทยาศาสตร์ อเมริกันคนหนึ่งกล่าวว่า ในตัวคนเรานี้มีพลังงานไฟฟ้าอันอาจทำระเบิดปรมาณูได้ 1 ลูก ซึ่งมีอำนาจทำลายเมืองนิวยอร์กทั้งเมืองให้พินาศลงได้ในพริบตาเดียว อันยืนยันว่าในตัวมนุษย์เรามีพลังงานซึ่งซ่อนอยู่มากมาย เรารู้จักนำพลังงานนั้นออกมาใช้หรือไม่เท่านั้น

 

---เมื่อพลังงานไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทั้งในทางวัตถุภายนอก และในระบบประสาทของคนเช่นนี้ ใครจะแสดงฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์วิเศษพิสดารได้แค่ไหนเพียงไร จึงเป็นสิ่งที่อาจเป็นไปได้ โดยขึ้นอยู่แก่การรู้จักฝึกหัดหรือนำพลังงานไปใช้ในทางที่ต้องการได้


---คนที่อบรมจิตจนสงบนั้น จะรวบรวมพลังงานไฟฟ้าในตัวเองได้มากกว่าปกติ และเมื่อฝึกหัดใช้จนชำนิชำนาญแล้ว ก็อาจทำอะไรแปลก ๆ ต่าง ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเราก็คงเคยได้เห็นพลังงานไฟฟ้าทำงานให้เกิดแสงสว่าง กำลังงานหมุนพัดลม ยกของหนักซึ่งมนุษย์ตั้งร้อยยกไม่ได้อย่างง่ายดายกันมาบ้างแล้ว อันนั้นแหละจะตอบคำถามได้ว่าพลังงานไฟฟ้ามีฤทธิ์เดชทำอะไรได้บ้าง ในส่วนจิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่ออบรมถูกส่วนแล้ว ก็จะเกิดพลังงานทำให้แสดงฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้ ไม่แพ้พลังงานที่แสดงออกมาทางวัตถุ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น


---เมื่อการรู้จักวิธีทำ หรือการทำเป็น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การเข้าถึงธรรมชาติทั้งฝ่ายวัตถุธรรม และนามธรรม สามารถทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ที่น่าประหลาดมหัศจรรย์เช่นนี้ และนามธรรม สามารถทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ที่น่าประหลาดมหัศจรรย์เช่นนี้ เรื่องของฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ เมื่อกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การรู้จักใช้อำนาจหรือกำลังงานในตัวเรา ซึ่งเนื่องมาจากจิตใจนั่นเอง ถ้าทำเป็นก็ไม่น่าแปลกหรืออัศจรรย์อะไร ถ้าทำไม่เป็นก็นับว่าน่าอัศจรรย์ แต่อย่างไรก็ตามทางพระพุทธศาสนาคงถือเรื่องสงบ ระงับจากความทุกข์ ความเดือนร้อนเป็นเกณฑ์ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ถ้ายังไม่เป็นไปเพื่อดับความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็ยังไม่นับว่าดำเนินไปตามจุดหมายปลายทางที่มุ่งหมาย

 

---ฉะนั้น ใครอยากจะเล่นกีฬาทางฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ถึงกับมีอุตสาหะฝึกหัด จนสามารถแสดงอะไรได้แปลก ๆ ขลัง ๆ แล้ว ถ้าจะไม่ให้ผิดทางก็ควรจะได้ตั้งจุดหมายไว้ว่า อย่าทำไปเพราะโลภอยากได้ลาภสักการะ เพราะโกรธ คือ เพื่อจะทำลายผู้นั้นผู้นี้ หรือเพราะหลง คือ ติดอยู่ในฤทธิ์เดชนั้นก็จะได้เดินทางไปถึงที่หมายที่สูงกว่า คือ ความสงบสุขชั้นสูงได้


---เป็นอันว่าในบทนี้ เราได้พูดกันถึงคุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ในข้อที่อาจยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเรื่องฤทธิ์เดชหนุนหลัง เพียงอาศัยคุณงามความดีและเหตุผลในการสั่งสอนและการประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี ก็เพียงพอที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีความเคารพนับถือและปฏิบัติตามได้อย่างภาคภูมิใจ.





.............................................................................




อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ ประพันธ์
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน รวบรวม
02/10/53

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 29 กันยายน 2558

แก้ไขแล้ว ป.

 

 

Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,690,291
เปิดเพจ10,465,039
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view