/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

พุทธวิธีคลายเครียด

พุทธวิธีคลายเครียด

พุทธวิธีคลายเครียด







---มีท่านผู้ใจบุญท่านหนี่ง มาขอให้ข้าพเจ้าเขียนหนังสือสั้นๆ ให้ เพื่อแจกในวันเกิดที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ โดยตั้งชื่อว่า “อยู่อย่างไรให้ใจสบาย”  ข้าพเจ้าจึงรวบรวมพิมพ์พร้อมกับหนังสือ ”พุทธวิธีคลายเครียด”  เพราะเห็นว่า เมื่อไม่เครียดใจก็สบาย เมื่อใจสบายก็คลายเครียด



---เรื่องคลายเครียดเกิดขึ้นเมื่อ พ.ญ.คุณสวรรยา เดชอุดม หมอหัวใจ คลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา ขอให้เขียนเรื่อง ”พุทธวิธีคลายเครียด” เพื่อพิมพ์เผยแพร่ เพียงแต่คิดจะเขียนข้าพเจ้าก็เริ่มเครียด เครียดด้วยเหตุ ๒ ประการคือ


---1.ข้าพเจ้าไม่มีความรู้วิชาหมอ


---2.ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เครียดจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ คงเป็นเพราะชีวิตเพระอาจใช้ธรรมะมากกว่าฆราวาสก็ได้


---อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าดีใจที่ได้รับฟังปัญหาความเครียดต่างๆ ในสังคมเป็นประจำ ทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า แม้ข้าพเจ้าจะมิใช่หมอ ข้าพเจ้าก็พอจะเข้าใจอารมณ์ของคนได้ เพราะความเครียดต่างๆ ล้วนเกิดจากอารมณ์ทั้งสิ้น เมื่อจับประเด็นได้เช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มคลายเครียดลง ต่อมาข้าพเจ้าประมวลความคิดให้เป็นหนึ่งเดียว โดยตั้งใจว่า จะเขียนให้สั้น อ่านง่าย อ่านสบายๆ ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ข้าพเจ้าจึงเปรียบเทียบให้เข้าใจว่า ใจกับอารมณ์เหมือนแก้วกับน้ำ ใจเหมือนแก้ว ส่วนอารมณ์เหมือนน้ำ ถ้าน้ำขุ่นแม้แก้วจะใสเพียงใด ก็จะกลายเป็นแก้วขุ่นไปตามน้ำ เหมือนกับอารมณ์ที่ขุ่น ย่อมทำให้ใจขุ่นไปตามอารมณ์



*เพราะฉะนั้น จึงได้แนะนำวิธีคลายเครียด


---ตามหลักของสมาธิและวิธีกำจัดความเครียดด้วยหลักของปัญญา ๕ ประการ คือ


---๑.กล้าเผชิญความจริง


---๒.เข้าใจเรื่องอารมณ์ของตนและคนอื่น


---๓.ไม่คาดหวังแต่พิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้อง


---๔.ปิด  เปิด ประตูรับรู้ให้เป็นเวลา


---๕.อย่านำเรื่องของคนอื่นมาทำให้เราเครียด


---๖.ฝึกแผ่เมตตานึกถึงกฎแห่งกรรมมากกว่ากฎหมาย


---๗.นึกถึงธรรมชาติที่เหมือนกันของสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ยกหลักพุทธธรรมมาแสดง



---ขอเรียนว่า ข้าพเจ้ามิใช่หมอวิเศษ ข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอกอุบาย ตัวท่านนั่นเองคือผู้ปรุงยาและทดลอง ได้ผลอย่างไร กรุณาบอกให้ข้าพเจ้าฟังด้วย ต่อไปนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลาย ลิ้มรสแห่งพุทธวิธีคลายเครียดในรูปแบบใหม่ต่อไป ความเครียดเป็นเสมือนไฟสุมขอน คือ กรุ่นลึกภายใน ความเครียดเกิดจากการเก็บสะสม อารมณ์ร้าย อารมณ์ร้อนทีละนิดๆ บางครั้งอาจไม่รู้สึกตัว ความเครียดเกิดขึ้นได้กับคน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ กระทั่งวัยชรา ความเครียดทำลายทั้งร่างกายและจิตใจ เยียวยาได้ เพราะความเครียดเกิดจากอารมณ์ และอารมณ์เกิดจากความคิด จะเยียวยาความเครียด ต้องกลับไปดูอารมณ์ อันเป็นอาหารของความคิด โรคภัยไข้เจ็บทางกาย เกิดจากสิ่งที่เรากินเข้าไป กินสิ่งใด ก็จะได้รับผลจากสิ่งนั้น กินสิ่งดีมีประโยชน์ ร่างกายก็แข็งแรง ดื่มกินของมึนเมาให้โทษ ร่างกายก็เมา และเกิดโทษทันทีบ้าง สะสมไว้ให้โทษในภายหลังบ้าง แม้จิตใจของเราก็เช่นกัน อารมณ์ร้ายที่สะสมไว้ทีละนิด วันละน้อย จะทำให้เรารู้สึกเครียดได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องหาสาเหตุว่า


---๑.ความเครียดเกิดจากอะไร


---๒.พุทธวิธีคลายเครียดควรจะปฏิบัติอย่างไร


*ความเครียดเกิดจากอะไร


---ในที่นี้จะกล่าวสั้นๆ ถึงสาเหตุให้เกิดความเครียด คือ


*๑.เครียดเพราะอารมณ์สุดโต่ง


---เช่น รักมาก โลภมาก โกรธมาก เกลียดมาก หลงมาก อิจฉามาก ริษยามาก นินทามาก จำเป็นต้องปรับความสมดุลของอารมณ์ คือ เมื่อรู้ว่ารักมากเกินไป ก็ต้องปรับระดับความรักลงมา บางทีแม้รักลูกหลาน รักสัตว์เลี้ยง ก็ทำให้เครียดได้ เพราะเมื่อรักก็หวง เมื่อรักสิ่งใดก็จะห่วงสิ่งนั้น เมื่อห่วงมากเข้าก็จะหลงใหลเมื่อหลงใหลมากๆ เหตุผลก็จะไม่เพียงพอ จะมีแต่อารมณ์ปกป้อง แม้เห็นว่าผิดก็ยังเข้าข้างผิด ความรู้สึกอย่างนี้ มิใช่ทำให้เราคนเดียวเครียด แต่จะทำให้คนอื่นๆ เครียดตามไปด้วย อารมณ์ โลภ โกรธ เกลียด อิจฉาริษยา ก็มีลักษณะไม่ต่างกัน



*๒.เครียดเพราะความคิดที่เป็นพิษ


---เช่น คิดว่าตนถูกใส่ร้าย คิดว่าตนถูกกลั่นแกล้ง คิดว่าตนไม่สมหวัง คิดว่าเราต้องเอาชนะคนนั้นให้ได้ เราแพ้ไม่ได้ ความคิดเช่นนี้ จะทำให้เรามีปมด้อยในชีวิต มนุษย์เรามี ๒ ปม คือ ปมเขื่องกับปมด้อย


---ปมเขื่อง คือ การสร้างความรู้สึกเข้าข้างตนว่า ตนดีกว่า เด่นกว่า ดังกว่า สวยกว่า มีความรู้ความสามารถมากกว่า มียศสูงกว่า มีบริวารสมบัติเงินทองมากกว่า


---ส่วนปมด้อย ก็จะมีนัยตรงกันข้าม ทั้ง ๒ ปมนี้ จะทำให้มนุษย์ เรามีความเครียด เรียกว่าถูกโลกธรรมอำพราง ความจริง คือ ถูกนินทาสรรเสริญ สุข ทุกข์ครอบงำกระทั่งไม่ได้สติ นี่คือสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด ขอให้เราตั้งสติพิจารณาให้ดี เมื่อปมทั้ง ๒ นี้แทรกเข้าในจิตใจใคร ผู้นั้นก็จะเกิดความรู้สึกอ่อนไหวได้ง่าย เช่น ถูกสรรเสริญเยินยอก็หลง หรือถูกนินทาใส่ร้ายก็กลัดกลุ้ม ไม่มีปัญญาผ่องใสพอที่จะวินิจฉัยปัญหาใดๆ ได้ นี่คือสาเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียด


*๓.เครียดเพราะปากท้อง


---ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคน เพราะมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ก็ล้วนมีปัญหาเดียวกันคือ ปากท้อง ความเป็นอยู่ คนที่ไม่มีจะกินก็ทุกข์เพราะไม่รู้ว่า พรุ่งนี้จะหาอาหารที่ไหนมาใส่ท้อง ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะนอนที่ใด ส่วนคนมีกินแล้ว มีที่อยู่ปลอดภัยแล้วก็กังวลเป็นทุกข์จะถูกปล้นจี้ ถูกขโมย ถูกเอาเปรียบ


---สุดท้ายก็ทำให้เกิดเรื่องการต่อสู้แย่งชิง ทั้งทางทิฐิ คือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และทางสมบัติยศศักดิ์ เรื่องเหล่านี้ทำให้คนเราแม้จะนอนในคฤหาสถ์หลังใหญ่ก็ยังกลัดกลุ้มรุ่มร้อน แม้จะนั่งรถหรู มีคนคุ้มกันรอบด้าน ก็ยังไม่รู้สึกปลอดภัย กลายเป็นคนรู้สึกว่าตนมีปมในชีวิตตลอดเวลา นี่แลคือสาเหตุหลักของความเครียดของคนที่มีอยู่มีกินแล้ว แต่ต้องมาเครียดเพราะทิฐิมานะการต่อสู้ทางความคิด


---ในเรื่องปากท้องนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะให้แก้ปัญหาปากด้วยการ ”ปลูกกินทำกิน” ก่อน คือ ยุติการซื้อกิน ส่วนซื้อใช้ก็เลือกซื้อเฉพาะที่จำเป็น การปลูกกินทำกินมีผลดียิ่งต่อชีวิตคือ ทำให้ไม่ต้องกินของมีพิษ พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนไม่ให้ ”รับจ้างซื้อกิน” นั่นคือ ทรงแก้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ให้ดำเนินวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ผลดีก็คือ ทำให้ ”ชีวิตติดดิน”


---ปกติร่างกายมนุษย์เกิดจากธาตุ ๔คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อชีวิตสัมผัสดิน น้ำ ลม ไฟ ไออุ่นตลอดเวลา ร่างกายก็จะแข็งแรง ความเครียดก็จะถูกธรรมชาติเหล่านี้ดูดซึมไป ไม่ปล่อยให้เป็นสารตกค้างทางอารมณ์ เช่น ถูกทะเล ถูกภูเขา ถูกดอกไม้ต่างๆ สลายความเครียด แปลว่า ถ้าไม่อยากเครียดต้องติดดิน และอย่าทิ้งดิน เพราะของดีทุกอย่างอยู่ที่ดิน เมื่อติดดินจึงจะได้พบของดี


---ส่วนพวกเครียดเพราะความคิดนั้น จะต้องหายาพิเศษรักษา นั่นคือ ยาปรับความสมดุลระหว่างความคิดและอารมณ์ให้สามารถไปกันได้ ไม่ปล่อยให้อารมณ์มีอำนาจข่มเหงใจหรือปล่อยใจให้เหี่ยวแห้งหมดกำลัง ดังจะได้กล่าวต่อไป


*วิธีคลายเครียดด้วยสมาธิ


---สมาธิ คือ การทำใจและอารมณ์ให้นิ่ง ใจเหมือนแก้ว ส่วนอารมณ์เหมือนน้ำ ใจว้าวุ่น เหมือนแก้วน้ำถูกเขย่า อารมณ์ขุ่นมัว  เหมือนวางแก้วให้น้ำสกปรก เราต้องทำใจให้นิ่งเพื่อให้อารมณ์ตก ตะกอน เหมือนวางแก้วให้นิ่ง เพื่อให้น้ำในแก้วนิ่งแล้วตกตะกอน เมื่ออารมณ์ขุ่นตกตะกอน เราจะได้เห็นระดับความใสของน้ำ เริ่มตั้งแต่ขอบปากแก้วลงมาจนถึงก้นแก้วว่าแตกต่างกัน เมื่อใสก็จะมองเห็นตะกอนที่หยาบและละเอียด ปัญหาต่างๆ ที่เราแก้ไม่ได้ มองไม่เห็น เมื่อใจนิ่ง อารมณ์เย็น ก็จะเปิดออกมาให้เราเห็นปม


---เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า คนไม่เคยทำสมาธิเลย พอวันหนึ่งหัดนั่งนิ่ง ตัวตรงทำใจให้สบายๆ หายใจให้ลึก เพียงไม่กี่นาทีปัญหาต่างๆ ที่ติดขัดก็เรียงลำดับออกมาเป็น ๑  ๒  ๓  ๔  ๕ ให้เรามองเห็นว่าสิ่งไหนทับซ้อนสิ่งไหนอยู่ แล้วเราก็ค่อยๆ แก้ปัญหาตามลำดับยากง่าย โดยปกติถ้าใจขุ่นมัว ปัญหาต่างๆ จะมั่วทับซ้อนกัน คนส่วนใหญ่จะหลงไปแก้ปัญหาที่ถูกปัญหาหญ้าปากคอกทับเอาไว้ ไปแก้ปัญหาที่ยังไม่เป็นปัญหา ยิ่งแก้ก็ยิ่งเครียดหนัก เพราะแก้ไม่ได้ แก้ปัญหานี้กลับไปเกิดปัญหาใหม่ให้เครียดไม่สิ้นสุด


---ทางที่ดี ขอเชิญชวนให้ศึกษาวิธีคลายเครียดโดยไม่ต้องกินยา นั่นคือ อาบน้ำ รับประทานอาหารเบาๆ ใส่เสื้อผ้าสบายๆ นั่งให้สบายผ่อนคลายอารมณ์ที่ห้องพระ หรือระเบียงบ้านก็ได้ หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามความเหมาะสม แล้วกำหนดดูลมหายใจเข้า  ออก ให้ลึก  ยาว ติดต่อกันตลอดเวลา ประมาณ ๓๐ นาที อารมณ์จะตกตะกอน แล้วจะมองเห็นปัญหาเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่ปัญหาที่ยากที่สุด จนถึงง่ายสุด วางเรียงลำดับไว้ให้เรา พูดไปก็เป็นสิ่งเหลือเชื่อ แต่ทุกคนจะพบความจริงอย่างเดียวกัน เพราะนี่คือวิธีธรรมชาติที่สุด จิตกับอารมณ์ก็ไม่ต่างอะไรจากแก้วกับน้ำ ต้องนิ่งจึงจะมองเห็นปมคลายเครียด


*วิธีกำจัดความเครียดด้วยปัญญา


---ต่อไปนี้จะเป็นการนำเสนอวิธีกำจัดความเครียด ต่อจากวิธีคลายเครียด การคลายเครียด เป็นเพียงวิธีบรรเทาเบื้องต้น เหมือนรับประทานยาบรรเทาปวด ทายาคลายกล้ามเนื้อ ยังมิใช่ยารักษาให้หายขาด แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่เพื่อบรรเทาหากแต่เพื่อกำจัดเด็ดขาด ในที่นี้ข้าพเจ้าขอนำเสนอวิธีการง่ายๆ ดังนี้


*วิธีที่ ๑ กล้าเผชิญความจริง


---ความเครียด ทั้งปวงเกิดจากความวิตกกังวล คนเราจะวิตกกังวลทุกอย่าง เมื่อความจริงยังไม่ปรากฏ ต่อเมื่อความจริงปรากฏเสียแล้วปัญหาก็เกิดเอง ยกตัวอย่างนักกีฬาก่อนแข่งขันก็วิตกกังวลเกรงจะแพ้แต่เมื่อการแข่งขันเริ่ม ขึ้น คือ เผชิญความจริงแล้ว สติปัญญาที่จะแก้ปัญหาก็มาเอง แรงผลักในการต่อสู้ การแก้ปัญหา ก็ตามมา ยิ่งกับคนที่ต้องดูแลคนป่วยหนัก หากไม่มีกำลังใจพอ จะยิ่งเครียดไม่มีทางออก วิตกกังวลไปสารพัดอย่าง ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งกล้าเผชิญความจริง คนเฝ้าป่วยอาจหมดแรงก่อนคนป่วยจริงได้ง่ายๆ แม้เรื่องอริยสัจ ๔ ก็เป็นเรื่องสอนให้คนกล้าเผชิญความจริง โดยเฉพาะทรงสอนเรื่อง ”ทุกข์” มิใช่สอนเรื่อง ”สุข” ทรงนำเสนอความทุกข์ประเภทต่างๆ เช่น ทรงสอนวิธีหาเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ามาจากความทะยานอยาก


---จากนั้นจึงทรงแสดงความดับทุกข์ เหมือนเราดับไฟที่ลุกโชนเผาไหม้สิ่งต่างๆ อยู่ เมื่อไฟดับความร้อนก็หายไป ความเย็นก็ปรากฏ เช่นเดียวกับทุกข์ดับ สุขก็ปรากฏ จากนั้น ทรงแสดงทางสายกลาง คือการไม่ทำอะไรสุดโต่ง หรือเรียกง่ายๆ ว่า ”ความสมดุลในการดำรงชีวิต” อันเป็นเหตุให้เกิดความสุข


*วิธีที่ ๒ เข้าใจเรื่องอารมณ์ของตนและของคน “จริต ๖”


---น่า คิดเป็นอย่างยิ่งว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแสดงความแตกต่างของคนไว้ที่จริต ทรงแสดงว่า คนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ก็เพราะชอบไม่เหมือนกัน พฤติกรรมไม่เหมือนกัน ท่านเรียกว่า จริตคน เหมือนกัน แต่ถ้าจริตต่างกัน ก็จะมีอารมณ์ต่างๆ กัน ความต่างกันของอารมณ์นี่เอง ที่ทำให้มนุษย์เราคิดต่างกัน เกิดความขัดแย้งกันตลอดเวลา กระทั่งนำความเครียดมาให้เรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคนในจริต ๖ คือ


---๑.คนบางคนรักสวยงาม ชอบแต่งตัว ชอบประดิษฐ์ ทำงานช้าแต่ละเอียด คนประเภทนี้ท่านเรียกว่า คนราคจริต


---๒.คนบางคนใจร้อน หงุดหงิด ชอบแสดงอำนาจเป็นนิสัย ทำอะไรเร็ว พูดเร็ว ไม่สนใจเรื่องละเอียด ชอบหลักการมากกว่ารายละเอียด คนประเภทนี้ท่านเรียกว่า คนโทสจริต


---๓.บางคนชอบแสดงว่าตนไม่รู้อะไรไว้ก่อน เพราะปลอดภัย เพราะกลัวผิด กลัวถูกตำหนิ กลัวถูกใช้งาน การไม่รู้คือไม่ต้องทำ เมื่อไม่ทำก็ไม่ผิด ท่านเรียกคนพวกนี้ว่า คนโมหจริต


---๔.บางคนเชื่อง่าย ชื่นชมอะไรง่ายๆ โดยไม่พิจารณาหรือตำหนิง่ายๆ แล้วกลับชื่นชมอีกเมื่อคนอื่นชื่นชม แปลว่า กลับคำได้ง่าย ทำตามคนอื่น ไม่มีจุดคิดของตนเอง เรียกว่า คนศรัทธาจริต


---๕.บางคนชอบคิด ชอบแสดงเหตุผล ชอบศึกษาเรียนรู้ ชอบหาความจริงของเรื่องนั้นเป็นนิสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะเห็นได้ด้วยปัญญาของตน ท่านเรียกว่า คนพุทธิจริต


---๖.บางคนชอบจับจดฟุ้งซ่าน ชอบบ่น จู้จี้จุกจิก ทำงานแบบหยิบโหย่ง ไม่จับอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ชอบเป็นผู้ตาม มากกว่าผู้นำ คิดมาก กังวลมาก ท่านเรียกว่า คนวิตกจริต


---จำง่ายๆ ว่า คนทั้ง ๖ ประเภทนี้ คือ คนราคจริต  โทสจริต  โมหจริต  ศรัทธาจริต  พุทธิจริต และวิตกจริตเป็นลักษณะคติของคนที่เราต้องเรียนรู้เขาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะไม่เครียด


*วิธีที่ ๓ ไม่คาดหวัง แต่พิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง


---ความเครียดอย่างหนึ่ง มักเกิดจากความหวัง เป็นธรรมดาที่มนุษย์ทำอะไรมักหวังผลตอบสนอง เมื่อลงทุนก็หวังกำไร ไม่มีใครหวังขาดทุน แม้ทำบุญยังหวังผลบุญ เมื่อหวังจึงมีทั้งสมหวังและผิดหวัง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้คนรู้จักหลักความจริง ๓ ข้อ คือ ความเปลี่ยนแปลง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และความที่เราไม่อาจยื้อสิ่งใดๆ ไว้ในอำนาจได้ตลอดไป หรือที่รู้กันในวงการชาวพุทธว่า ”อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” อันเป็นหลักธรรมใหม่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงค้นพบว่า เป็นลักษณะที่ใช้ได้กับสรรพสิ่งในจักรวาล ขอให้เราตั้งใจไว้ว่าข้อนี้มีความสำคัญมากต่อการคลายเครียด หรือกำจัดความเครียด นั่นคือหมั่นพิจารณาสรรพสิ่งที่เราเผชิญว่า


---“ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป”


---“สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนไปเหมือนสายน้ำ”


---“ชีวิตมีได้มีเสียเสมอ การเสียบางอย่าง ก็เพื่อให้ได้บางอย่างมา”


---“ไม่มีใครได้ตลอด แก้วที่เต็มน้ำแล้วจะรับน้ำใหม่ไม่ได้ เราหัดทำชีวิตให้พร่องบ้างก็ดี เพื่อรองรับสิ่งใหม่”


---“การยอมให้คนอื่นมีกำไรในชีวิตบ้าง บางครั้งก็เป็นอุบายสำคัญในการประคองให้สมดุล”


---“สิ่งที่ดีที่สุดไม่มี มีแต่สิ่งที่ดีพอสมควร”


---“อย่าแสวงหาคนดีที่ดีที่สุดในชีวิต ท่านจะหาอะไรไม่ได้เลย”


---“ผู้หาคนที่สมบูรณ์ที่สุดมาเป็นเพื่อน จะหาใครเป็นเพื่อนไม่ได้ แม้แต่คนเดียว”


*วิธีที่ ๔ ปิด  เปิดประตูรับรู้ให้เป็นเวลา


---โลกยุคเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ไม่มีเวลา พักผ่อนที่แท้จริง ไม่ได้พักผ่อนที่แท้จริง ไม่ได้พักผ่อนกับธรรมชาติ เช่น ทะเล ภูเขา หรือตามประสาพ่อแม่ลูก หากแต่พักผ่อนกับเกม อยู่กับเทคโนโลยี บางทีกลับเครียดหนักมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า บางครั้งถึงเวลานอนกลับไม่นอน ไปนอนเวลาทำงาน หรือเวลาเรียน โดยเฉพาะอุปกรณ์ชิ้นใหม่ที่เรียกว่า computer  ทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ ต้องหมกมุ่นอยู่กับข้อมูลโดยไม่ได้ความรู้ใดๆ ดูเหมือนรู้มาก แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย ดูเหมือนย่อโลกไว้ในห้องนอน ไว้ในกำมือ แต่ความจริงคือ กำลังหลงโลก หลงทาง


---ดูตัวอย่างที่บางคนคุยกับของปลอม พูดกับคนปลอมมากกว่าพ่อ แม่ ญาติพี่น้องของตนเอง สุดท้ายก็ไม่มีปัญญาจะจัดการกับคนที่มีชีวิตจริงๆ ได้ โลกยิ่งทันสมัย ดูเหมือนมนุษย์ยิ่งอยู่ไกลความจริง เราจำเป็นต้องอยู่กับความจริง กล้าเผชิญความจริงของชีวิต เราจึงจะพบของจริง ความจริงเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์มีปัญญาอันงดงาม สดใส และเฉียบคมได้


---ในข้อนี้ น่าจะเป็นเรื่องทันสมัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้รู้จักผัสสะ คือ รสชาติแห่งการรับสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่หลง และที่สำคัญมีสติ ปิด  เปิด เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมเหมือนกับใช้โทรศัพท์มือถือ ต้องรู้จักปิดเมื่อขับขี่ยานพาหนะ ต้องรู้จักปิดเมื่ออยู่ในที่ประชุม หรือชุมชน หรือเวลานอน เป็นต้น โลกยุคใหม่ อาจมองดูเหมือนโก้เก๋ทันสมัย แต่แท้จริงแล้วนั่นคือ สายในที่ต่อท่อความเครียดเข้ามาถึงใต้หมอน หากไม่รู้จักปิด  เปิด


*วิธีที่ ๕ คนส่วนมากเครียดเรื่องของคนอื่นมิใช่เรื่องของตน


---ยิ่ง โลกทันสมัยเท่าใด คำพูดของคนก็ยิ่งนำความทุกข์มาให้ง่ายเท่านั้น โดยธรรมชาติ คนเรามักเป็นทุกข์ เพราะเรื่องคนอื่น เรื่องของตนมีน้อย เช่นนำเรื่องนอกบ้านมาถกเถียงกันภายในบ้าน กระทั่งเกิดการทะเลาะวิวาท ทั้งๆ ที่ตนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพียงแต่ต่อสู้เอาชนะกันทางทิฐิมานะ หรือเหตุผลเท่านั้นเอง มองดูอาจเป็นการแสดงภูมิปัญญา แต่บางครั้ง เราต้องให้รู้เท่าทันว่า เรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่เรื่องส่วนรวม เราควรทิ้งไว้นอกประตูบ้าน ไม่นำขยะความคิดใดๆ เข้าบ้านของเราเอง การนำไฟในออก นำไฟนอกเข้ามาบ้าน คือ ปัญหาที่สังคมแก้ไม่ตก บ้านใดเรือนใด ครอบครัวใด ฉลาดเรื่องไฟ ก็จะไม่ถูกไฟเผาไหม้ให้ร้อนรน


*วิธีที่ ๖ ฝึกแผ่เมตตา นึกถึงกฎแห่งกรรมมากกว่ากฎหมาย


---ขั้นตอนสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ เมื่อเครียดให้นึกถึงกฎแห่งกรรม ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่ากฎหมาย เราเห็นปัญหาบางอย่างแก้ด้วยกฎหมายไม่ได้ แต่แก้ด้วยกาลเวลาได้ นั่นคือปล่อยไว้ให้กฎแห่งธรรมชาติจัดการกับปัญหานั้น นั่นหมายความว่า เป็นเรื่องที่เราได้พยายามแก้เต็มสติปัญญาของเราแล้ว แต่แก้ไขไม่ได้ ฉะนั้น ขอให้เรานักแก้ปัญหาทุกคนอย่าเครียดกับปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ได้ ทุกอย่างมีเหตุผลในตัวเสมอ เราต้องยอมรับกฎเกณฑ์แห่งกาลเวลาที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ คิดดูเถิด ปัญหาชีวิตเรา บางครั้งยังต้องแก้กันข้ามภพข้ามชาติ นับประสาอะไรกับปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เราจะไปแก้คนนั้นแก้คนนี้


---ในทางพระพุทธศาสนา ทรงสอนให้รู้จักผ่อนคลายด้วยการนึกถึงกฎแห่งกรรม นึกว่า สัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ไม่ว่าจะทำกรรมใดๆ ดีหรือชั่ว ก็จักได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป ไม่มีเปลี่ยนแปลง คิดได้อย่างนี้แล้วสบายใจ


*วิธีที่ ๗ นึกถึงธรรมชาติที่เหมือนกันของสัตว์ทั้งหลาย


---นี่คือ วิธีกำจัดความเครียดขั้นสุดท้าย นั่นคือ มองให้เห็นความเสมอกันระหว่างสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งคนอื่นและตัวเราเองว่า ต้องเผชิญความลำบากในสังสารวัฏเหมือนกัน คือต้องอยู่ในครรภ์ ต้องกินอาหารต้องดูแลขันธ์ ๕ ต้องถูกโรคภัยเบียดเบียน ต้องแก่ ต้องเจ็บ และสุดท้าย ”สัตว์ทั้งหลายต้องตาย” ทุกคนต้องตาย ความตายเป็นปลายทางของชีวิตเหมือนกันหมด ไม่ว่าผู้นั้นจะยากดีมีจนอย่างไร เขาและเราก็ไม่ต่างอะไรกัน เราไม่ต้องเครียดเพราะน้อยใจไปอิจฉาเขา ไม่ต้องเครียดไปโกรธเขา หากแต่มองให้เห็นปัญหาต่างๆ ในชีวิตเขาเหมือนกันกับเรา


---จริงอยู่ แม้จะเป็นเรื่องทำได้ยาก หากเราตกอยู่ในภาวะถูกเอารัดเอาเปรียบมากๆ แต่ก็ต้องคิดเรื่องอย่างนี้ไว้บ้าง เพราะสิ่งที่ทำได้ยากเมื่อเราทำได้ เราจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ทางด้านจิตใจโดยตรง ด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสอนให้เจริญมรณสติกรรมฐานเป็นประจำ มองให้เห็นว่า ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ เศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด ก็ไม่มีใครเอาสิ่งใดไปด้วย แม้คนที่รักที่สุด คือบุตรธิดา ภรรยา ญาติ ก็ต้องทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีใครชวนใครไปอยู่ด้วย แม้ชวนก็ไม่มีใครไปด้วย แม้จะรักกันเพียงใดก็ตาม ถ้าเราคิดได้อย่างไรบ้าง ชีวิตก็จะหายเครียดได้ในพริบตา


*บทสรุป


---ความสุข มักซ่อนตัวอยู่ใจกลางความเศร้า ความเหงามักซ่อนตัวอยู่กลางความเริงร่า ความกล้ามักซ่อนตัวอยู่ใจกลางความกลัว ขอให้มั่นใจเถิดว่า ปัญญามักซ่อนตัวอยู่ภายในปัญหาเสมอ ขอให้เรานิ่งคิด หยุดแล้วคิดให้นิ่ง ลึกซึ้งและหยุดความคิดให้ได้ ก็จะเห็นว่าปัญหาแต่ละอย่างนั้นมีทางออกเสมอ  ความเครียด คลายได้ และความเครียดก็กำจัดให้หมดไปได้ตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านพุทธวิธีแบบประยุกต์ดังได้กล่าวมาแล้วนี้


*ศาสนา ๓ ระดับ


---ศาสนา แปลว่า คำสั่งสอน พุทธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ศาสนาพุทธ หรือพุทธศาสนา จึงหมายถึง คำสั่งสอนเพื่อให้คนรู้ตื่น และเบิกบาน คำว่ารู้ หมายถึง รู้ดี  ชั่ว บาป  บุญ ควร  ไม่ควร มิใช่รู้เพียงถูก  ผิด หรือเหตุ  ผลเท่านั้น คำว่ารู้ หมายถึง รู้กฎแห่งกรรม กฎแห่งศีลธรรม มิใช่รู้เพียงกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์เท่านั้น คำว่ารู้ หมายถึง รู้จักความจริงของชีวิต ทั้งสิ่งที่เป็นสมมติ และวิมุติ คือสิ่งที่เป็นโลกิยะ และโลกุตระ ไม่ใช้หลักธรรมในโลกุตระมาดำเนินชีวิตแบบโลกิยะ หรือนำหลักโลกิยธรรมไปใช้ในระดับโลกุตรธรรม


---เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้  ในเบื้องต้นแล้ว จึงจะเป็นผู้ตื่น เพราะความรู้ทำให้คนตื่น ทำให้หายลุ่มหลง มีสติสัมปชัญญะมั่นคง ไม่หวั่นไหว คลอนแคลน คำว่าตื่น จึงหมายถึงการมีหิริ ความละอายชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวบาป คำว่าตื่นจึงหมายถึงการรีบเร่งขวนขวายทำดี แปลว่า รู้ดี  รู้ชั่วเป็นอย่างไรแล้วก็งดเว้น เท่านั้นยังไม่พอ ต้องรีบเร่งทำความดีให้มาก ขัดเกลา ชำระอกุศลมูลอันเป็นรากเหง้าความชั่วให้หมด แล้วรีบปลูกรากแก้วของกุศลลงไปในจิต คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา


---เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ก็จะมีความเบิกบานใจ คำว่าเบิกบานจึงหมายถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่าย รู้ หมายถึงปริยัติธรรม ตื่น หมายถึงปฏิบัติธรรม และเบิกบาน หมายถึงปฏิเวธธรรม ถ้าเราถือว่าชีวิตคือ ตัวศาสนา เพราะเป็นความจริงทั้งหมด ก็ขอให้เข้าใจความหมายของศาสนา ๓ ระดับ คือ


---๑.ศาสนาของพ่อแม่ผู้ให้ชีวิต อันเป็นศาสนาแรกที่ลูกรู้จัก พ่อแม่คือศาสดาองค์เอก ผู้ให้การอบรมบ่มเพาะปลูกฝัง จริตนิสัยใจคอกิริยามารยาทชาติตระกูล


---๒.ศาสนาโดยธรรมชาติ อันหมายถึงระบบการทำงานของธรรมชาติที่คนหรือสัตว์ต่างได้รับเท่าเทียมกัน นั่นคือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือสามัญลักษณะอันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ว่าชนชาติใด ถึงจะต่างกันด้วยภาษา เผ่าพันธุ์ ยากจน มั่งมี อุดมด้วยลาภ ยศ ศักดิ์ เกียรติ บริวาร แต่ก็เสมอกันด้วยหลักธรรมชาติทั้ง ๓ ประการนี้


---๓.ศาสนาที่ศาสดาก่อตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับเชื่อสิ่งแวดล้อม และอุบายของผู้ให้กำเนิด


---พระพุทธศาสนาของเรา  เป็นศาสนาที่สอนคนให้รู้ ให้ตื่น ให้เบิกบาน ผู้ใดหรือประชาชนในสังคมใด เมื่อเรียนรู้ปฏิบัติตามแล้ว ได้รับผลคือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ชื่อว่าได้รับผลที่แท้จริงจากการมีพุทธศาสนา หาไม่ก็อาจเป็นได้เพียงการท่องบ่นสาธยายถือตามๆ กันไปเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มกับการมีของดีอยู่กับตัว


---จึงขอเชิญชวนพวกเราชาวพุทธ หันมาเรียนรู้ศึกษาปฏิบัติให้ได้รับผลจริงๆ เพื่อให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจริงๆ






..........................................................................






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 29 กันยายน 2558


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,691,423
เปิดเพจ10,466,617
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view