/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ลักษณะขั้นตอนสมาธิ

ลักษณะขั้นตอนสมาธิ
เรื่องของฌาน






---สมาบัติ


---คำว่า สมาบัติ แปลว่า ถึงพร้อม  แปลเหมือนกันกับคำว่า สมบัติ ศัพท์เดิมว่า สัมปัตติ แปลว่า ถึงพร้อม  มาแปลงเป็นภาษาบาลีไทย  หมายความว่า ศัพท์นั้นเป็นศัพท์บาลี แต่เรียกกันเป็นไทย ๆ เสียก็เลยเพี้ยนไปหน่อย  เล่นเอาผู้รับฟังปวดเศียรเวียนเกล้าไปตาม ๆ กัน


---สมาบัติ แปลว่า เข้าถึง นั้นหมายเอาว่าเข้าถึงอะไร  ข้อนี้น่าจะบอกไว้เสียด้วย  ขอบอกให้รู้เลยว่า  ถึงจุดของอารมณ์ที่เป็นสมาธิ  หรือที่เรียกว่า  ฌาน  นั่นเอง เมื่ออารมณ์ของสมาธิที่ยังไม่เข้าถึงระดับฌาน  ท่านยังไม่เรียกว่า สมาบัติ  เช่น


*ขณิกสมาธิ


---ขณิกสมาธิแปลว่า  ตั้งใจมั่นได้เล็กน้อย หรือนิด ๆ หน่อย ๆ  คำว่า  สมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น  ตั้งมั่นได้นิดหน่อย  เช่น กำหนดจิตคิดตามคำภาวนา  ได้ประเดี๋ยวประด๋าว  จิตก็ไปคว้าเอาความรู้สีกนึกคิดอารมณ์ภายนอกคำภาวนามาคิด  ทิ้งองค์ภาวนา  เสียแล้ว  กว่าจะรู้ตัวว่าซ่าน ก็คิดตั้งบ้านสร้างเรือนเสียพอในอารมณ์ตั้งอยู่ในองค์ภาวนาไม่ได้นานอย่างนี้  ตั้งอยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าว  อารมณ์จิตก็ยังไม่สว่างแจ่มใส  ภาวนาไปตามอาจารย์สั่ง  ขาด ๆ เกิน ๆ อย่างนี้แหละ  ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ   ท่านยังไม่เรียกฌาน  เพราะอารมณ์ยังไม่เป็นฌาน  ท่านจึงไม่เรียกว่า สมาบัติ   เพราะยังไม่เข้าถึงกฏที่ท่านกำหนดไว้


*ฌาน


---ขอแปลคำว่าฌาน สักนิด  จะไม่รู้ว่าฌานแปลว่าอะไร   คำว่าฌานนี้  แปลว่าเพ่ง  หมายถึง อารมณ์ตามกฏแห่งการเจริญกรรมฐาน ถึงอันดับที่  1 เรียกว่า ปฐมฌาน  คือ ฌาน 1 ถึงอันดับที่ 2  เรียกว่า ทุติยฌาน  แปลว่า ฌาน2  ถึงอันดับที่ 3 เรียกว่า  ตติยฌาน แปลว่า ฌาน 3  ถึงอันดับที่  4  เรียกว่า จตุตถฌาน  แปลว่า ฌาน 4    ถึงอันดับที่แปด  คือ ได้อรูปฌาน  ถึงฌาน  4  ครบทั้ง 4 เรียกว่า ฌาน 8


*อุปจารสมาธิ


---อุปจารสมาธินี้เรียกอุปจารฌานก็เรียกเป็นสมาธิที่มีความตั้งมั่นใกล้จะถึงปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัตินั่นเอง  อุปจารสมาธิคุมอารมณ์สมาธิไว้ได้นานพอสมควร  มีอารมณ์ในสว่างพอใช้ได้   เป็นพื้นฐานเดิมที่จะฝึกทิพยจักษุญาณได้   อารมณ์ที่อุปจารสมาธิเข้าถึงนั้นมีอาการดังนี้


---1.ความกำหนดจิตนึกคิดในองค์ภาวนาหรือกำหนดรูปกสิณ  จิตกำหนดอยู่ได้ไม่คลาดเคลื่อน  ในเวลานานพอสมควร


---2.การใคร่ครวญในรูปกสิณนิมิต  ที่จิตถือเอาเป็นนิมิตที่กำหนด  มีอาการเคลื่อนไหวหรือคงที่  มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร เล็กหรือใหญ่  สูงหรือต่ำ  จิตกำหนดรู้ไว้ได้ถ้าเป็นองค์ภาวนา  ภาวนาครบถ้วนไหม  ผิดถูกอย่างไร  กำหนดรู้อยู่เสมอ ถ้ากำหนดลมหายใจ  ก็กำหนดรู้ว่า  หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น  เบาหรือแรง  รู้อยู่ตลอดเวลา


---3.ปิติ ความปลาบปลื้มเอิบอิ่มใจ  มีจิตชุ่มชื่นเบิกบาน  ไม่อิ่มไม่เบื่อในการเจริญภาวนา  อารมณ์ผ่องใสปรากฏ  เมื่อหลับตาภาวนานั้นไม่มืดเหมือนเดิม   มีความสว่างปรากฏ คล้ายใครนำแสงสว่างมาวางไว้ใกล้  ๆ  บางคราวก็เห็นภาพและแสงสีปรากฏเป็นครั้งคราว  แต่ปรากฏอยู่ไม่นานก็หายไป  อาการของปีติห้าอย่างคือ


---1.มีการขนลุกชัน  ท่านเรียกว่า ขนพองสยองเกล้า


---2.มีน้ำตาไหลจากตาโดยไม่มีอะไรไปทำให้ตาระคายเคือง


---3.ร่างกายโคลง  คล้ายเรือกระทบคลื่น


---4.ร่างกายลอยขึ้นเหนือพื้นที่นั่ง  บางรายลอยไปได้ไกล  ๆ  และลอยสูงมาก


---5.อาการซู่ซ่า  คล้ายร่างกายโปร่งและใหญ่โตสูงขึ้นอย่างผิดปกติ


---อาการทั้ง 5  อย่างนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นอาการของปีติ  ข้อที่ควรสังเกตุก็คือ อารมณ์จิตชุ่มชี่น   เบิกบาน แม้ร่างกายจะสั่นไหว   บางรายตัวหมุนเหมือนลูกข่าง  แต่จิตเป็นสมาธิแนบแน่นไม่หวั่นไหว   มีสมาธิตั้งมั่นอยู่เสมอ  การกำหนดจิตเข้าสมาธิก็ง่าย  คล่อง  ทำเมื่อไร  เข้าสมาธิได้ทันที 


---4.สุข  ความสุขชื่นบาน  เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในชีวิต  จะนั่งสมาธินานแสนนานก็ไม่รู้สึกเมื่อย  อาการปวดเมื่อยจะมีก็ต่อเมื่อคลายสมาธิแล้ว  ส่วนจิตใจมีความสุขสำราญตลอดเวลา  การกำหนดรู้ความภาวนาว่าจะถูกต้องครบถ้วนหรือไม่เป็นต้น  ก็เป็นไปด้วยดี  มีธรรมปีติชุ่มชื่นผ่องใส  ความสุขใจมีตลอด ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แหละ  ที่เรียกว่า  อุปจารสมาธิ  หรืออุปจารฌาน   คือ  เฉียด ๆ  จะถึงปฐมฌานอยู่แล้ว    ห่างปฐมฌานเพียงเส้นยาแดงผ่าแปด  เท่านั้นเอง  ตอนนี้ท่านยังไม่เรียกฌานโดยตรง  เพราะอารมณ์ยังไม่ครบองค์ฌาน  ท่านจึงยังไม่ยอมเรียกว่า สมาบัติ  เพราะยังไม่ถึงฌาน

*ปฐมฌาน 


---เพื่อให้จำง่ายเข้า  จะขอนำอารมณ์ปฐมฌานมากล่าวโดยย่อเพื่อทราบไว้  อารมณ์ปฐมฌาน  โดยย่อดังนี้


---1.ความตรึงนึกคิดถึงอารมณ์ภาวนา

---2.ความใคร่ครวญทบทวนถึงองค์ภาวนานั้น  ๆ  ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่เพียงใด


---3.ความเอิบอิ่มใจ  มีความชุ่มชื่นเบิกบานหรรษา


---4.สุข  มีความสุขทางกายและจิตใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อน   เป็นความสุขอย่างประณีต


---องค์ปฐมฌาน  หรือปฐมสมาบัติ   5  อย่าง ตามที่กล่าวมาแล้วนี้  ต้องปรากฏพร้อม ๆ กันไป  คือ นึกถึงองค์ภาวนา  ใคร่ครวญ  ในองค์ภาวนานั้น ๆ  ว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ประการใด   มีความชุ่มชื่นเบิกบานใจ  มีอารมณ์ผ่องใสสว่างไสว  ในขณะภาวนามีความสุขสันต์หรรษา   มีอารมณ์จับอยู่ในองค์ภาวนา  ไม่สนใจต่ออารมณ์ภายนอก  แม้แต่เสียงที่ได้ยินสอดแทรกเข้ามาทำให้ได้ยินชัดเจน  แต่จิตใจก็ไม่หวั่นไหวไปตามเสียงนั้น  จิตใจมั่นคงอยู่กับอารมณ์


*เสี้ยนหนามของปฐมฌาน


---เสี้ยนหนามหรือศัตรูตัวสำคัญของปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ ก็ได้แก่ เสียง เสียงเป็นศัตรูที่คอยทำลายอารมณ์ปฐมฌาน ถ้านักปฏิบัติทรงสมาธิอยู่ได้ โดยไม่ต้องระแวงหวั่นไหวในเสียง คือ ไม่รำคาญเสียงที่รบกวนได้ก็แสดงว่าท่านเข้าถึงปฐมฌานแล้ว ข้อที่ไม่ควรลืมก็คือ ฌานโลกีย์นี้ เป็นฌานระดับต่ำ เป็นฌานที่ปุถุชนคนธรรมดาสามารถจะทำให้ได้ถึงทุกคน เป็นฌานที่เสื่อมโทรมง่าย หากจิตใจของท่านไปมั่วสุมกับนิวรณ์ห้าประการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า แม้แต่อย่างเดียว ฌานของท่าน ก็จะเสื่อมทันที ต่อว่าเมื่อไร ท่านขับไล่นิวรณ์ไม่ให้เข้ามารบกวนจิตใจได้ ฌานก็เกิดขึ้นแก่จิตใจของท่านต่อไป ฌานจะเสื่อม หรือ เจริญก็อยู่ที่นิวรณ์ ถ้านิวรณ์ไม่ปรากฏ จิตว่างจากนิวรณ์ จิตก็เข้าถึงฌาน ถ้านิวรณ์มารบกวนจิตได้ ฌานก็จะสลายตัวไป ฌานตั้งแต่ฌานที่ 1 ถึง ฌานที่ 8 มีสภาพเช่นเดียวกัน คือต้องระมัดระวังนิวรณ์ไม่ให้เข้ามายุ่งและแทรกแซง


*อานิสงส์ของปฐมฌาน


---ฌานที่ 1 นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ 1 ท่านว่าจะไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบาน    หน้าตาสดชื่นผ่องใส เมื่อตายแล้ว ฌาน 1 ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ


---1.ฌานที่ 1 หยาบ    ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  1


---2.ฌานที่ 1 กลาง     ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  2


---3.ฌานที่ 1 ละเอียด  ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  3


---ฌาน  1  ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน 1 ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ   วิปัสสนาจะมีกำลัง ตัดกิเลสให้ขาดได้และ อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงในชาตินี้


*ทุติยฌาน


---ทุติยฌาน แปลว่า ฌานที่ 2 สำหรับทุติยฌานนี้มีอารมณ์  3 อย่าง ดังต่อไปนี้


---1.ความเอิบอิ่มใจ


---2.ความสุขอย่างประณีต


---3.การมีอารมณ์เป็นหนึ่ง


---อารมณ์ทุติยฌานนี้  ก็ตัดเอามาจากอารมณ์ของปฐมฌานเสียได้  คงเหลือแต่ปีติ  สุข  เอกัคคตา  อาการตัดวิตก  วิจารอันเป็นอารมณ์ของปฐมฌานเสียได้  คงเหลือแต่ปีติ  สุข เอกัคคตา อาการตัดวิตก  วิจาร นั้นมีความรู้สึกอย่างไรในเวลาปฏิบัติจริง  ข้อนี้  นักปฏิบัติสนใจกันมากเป็นพิเศษ  เพราะเพียงอ่านรู้แล้วยังหาความเข้าใจจริงไม่ได้  การตัดก็มิใช่ตัดออกไปเฉย  ๆ  ได้ตามอารมณ์  วิตกแปลว่า ตรึก  นึกคิด  วิจารแปลว่า ไต่ตรอง  ใคร่ครวญ  ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่า วิตกนี้  เป็นอารมณ์ที่ตัดไม่ได้ง่ายเลย  ใคร ๆ  ที่ไหนจะมาห้ามความรู้สึกนึกคิดกันง่าย  ๆ ได้ 


*เสี้ยนหนามของทุติยฌาน


---เสี้ยนหนามของปฐมฌานได้แก่ เสียง เสียงเป็นศัตรูคอยทำลายปฐมฌาน เมื่อใดถ้าจิต ยุ่งกับเสียง คือ ทนรำคาญไม่ไหว ก็หมายความว่า ปฐมฌานเสื่อมเสียแล้ว สำหรับทุติฌานนี้ มีวิตก วิจาร เป็นเสี้ยนหนามศัตรู เมื่อขณะที่จิตทรงสมาธิอยู่ในระดับทุติยฌาน จิตคอยจะเคลื่อนเลื่อน ลงมาหาอารมณ์ปฐมฌาน คือ คอยจะยึดเอาคาถาภาวนาเป็นอารมณ์ เพราะคาถาภาวนาเป็นวิตกวิจาร จึงจำต้องคอยระมัดระวังไว้ อย่าปล่อยสติสัมปชัญญะให้คลาดเคลื่อน คุมอารมณ์ทุติยฌานอย่าให้ เลื่อนไปได้ ฝึกหัดตั้งกำหนดเวลาทรงฌานเข้าไว้ แล้วทำให้ชินตามกำหนดเวลา

*อานิสงส์ของทุติยฌาน


---ฌานที่ 2 นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ 2 ท่านว่าจะไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบานตลอดเวลา หน้าตาสดชื่นผ่องใสเมื่อตายแล้ว ฌาน 2 ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ


---1.ฌานที่ 2 หยาบ    ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  4


---2.ฌานที่ 2 กลาง     ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  5


---3.ฌานที่ 2 ละเอียด  ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  6


---ฌาน  2  ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน 2 ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ  วิปัสสนาจะมีกำลังกล้าตัดกิเลสให้ขาดได้โดยรวดเร็วกว่ากำลังของปฐมฌาน อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงในชาตินี้โดยไม่ชักช้านัก ผลของท่านที่ทรงฌาน 2 ไว้ได้มีผลดังกล่าวมานี้



*ตติยฌาน


---ปฐม  แปลว่า ที่ 1 ทุติยะ  แปลว่า ที่ 2  ตติยะ แปลว่าที่ 3  ตติยฌานจึงแปลว่า  ฌานที่ 3  ฌานที่ 3 นี้มีอารมณ์ 2 อย่างคือ


---1.สุข  ได้แก่ ความสุขที่ปราศจากปีติ  คือ เป็นความสุขทางจิตใจ  โดยเฉพาะไม่มีความสุขที่เนื่องด้วยกาย


---2.เอกัคคตา  มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ที่ไม่มีอารมณ์ห่วงใยในกาย  เป็นอาการที่สกัดจากกาย  ฌานนี้ท่านว่าเป็นฌานที่กายกับจิตแยกกันเด็ดขาด


---อาการของฌานที่ 3 นี้ เป็นอาการที่จิตตัดปีติ  ความเอิบอิ่มใจในฌานที่ 2 ออกเสียได้  เมื่ออามรณ์จิตเข้าถึงฌานที่ 3 นี้จะรู้สึกว่า อาการขนพองสยองเกล้าก็ดี  น้ำตาไหลก็ดี   กายโยกโคลงก็ดี   อาการซู่ซ่าทางกาย  คล้ายกายเบา  กายใหญ่   กายสูงจะไม่ปรากฏเลย  มีอาการทางกายเครียด  คล้ายกับใครมาจับมัดไว้จนแน่น  หรือคล้ายหลักที่ปักจนแน่นไม่มีการโยกโคลงได้ ดังน้ัน จงจำไว้ว่า  ตั้งแต่ฌานที่ 2  เป็นต้นมา  ไม่มีการภาวนาเลย   ถ้ายังภาวนาอยู่  และหูได้ยินเสียงชัด  แต่ไม่รำคาญเสียง    เป็นฌานที่ 1  ตั้งแต่ฌานที่ 2  มาไม่มีภาวนา  และเรื่องเสียงเกือบไม่มีความหมาย คือ ไม่มีความสนใจในเสียงเลย  เสียงมีอยู่ก็เหมือนไม่มี  เพราะจิตไม่รับเสียง   ลมหายใจจะค่อย ๆ น้อย  อ่อนระรวยลงทุกขณะ  ในฌานที่ 3  นี้  ลมหายใจยังปรากฏ  แต่ก็รู้สึกเบาเต็มที มีอาการคล้ายจะไม่หายใจ  แต่ก็พอรู้สึกน้อย  ๆ ว่าหายใจ  จิตสงัดไม่มีการหวั่นไหว ไม่มีมืด  มีความโพลงอยู่  มีอารมณ์แน่นในสมาธิมากจนรู้ตัวว่าอารมณ์แนบแน่นกว่าสองฌานที่ผ่านมา  อย่างนี้ท่านเรียกว่า ฌานที่ 3  ต้องฝึกเข้าฌานออกฌานให้แคล่วคล่องตามที่กล่าวมาแล้ว


*เสี้ยนหนามของตติยฌาน


---ปีติ เป็นเสี้ยนหนามของ ฌานที่ 3 เพราะฌานที่ 3 ตัดปีติเสียได้ แต่ถ้าอารมณ์ ตกลงไปปีติจะปรากฏขึ้น ถ้าปีติปรากฏขึ้นเมื่อไร พึงทราบเถิดว่า ขณะนี้อารมณ์จิตเคลื่อนจากฌานที่ 3 มาอยู่ระดับฌาน 2 แล้ว ถ้าปรากฏว่ามีการภาวนาด้วย แต่จิตยังไม่รำคาญในเสียงก็ยิ่งร้ายใหญ่ เพราะอารมณ์สมาธิไหลออกจนเหลือเพียงฌาน 1 ท่านให้ระมัดระวังด้วยการทรง สติสัมปชัญญะ อย่าให้อารมณ์สมาธิรั่วไหลเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตรายแก่ฌาน 3


*อานิสงส์ของตติยฌาน


---ฌานที่ 3 นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ 3 ท่านว่าจะไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบานตลอดเวลา หน้าตาสดชื่นผ่องใส เมื่อตายแล้ว ฌาน 3 ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ


---1. ฌานที่ 3 หยาบ   ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  7


---2. ฌานที่ 3 กลาง   ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  8


---3. ฌานที่ 3 ละเอียด ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  9


---ฌาน  3  ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน 3 ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ  วิปัสสนาจะมีกำลังกล้า ตัดกิเลสให้เด็ดขาดได้โดยรวดเร็ว อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงในชาตินี้ โดยไม่ชักช้านัก ผลของท่านที่ทรงฌาน 3 ไว้ได้มีผลดังกล่าวมาแล้วนี้


*จตตุถฌาน


---จตตุถฌาน  แปลว่า ที่ 4  จตตุถฌานจึงแปลว่า ฌานที่ 4  ฌานที่ 4 นี้มีอารมณ์  2  เหมือนฌานที่ 3  มีสุขกับเอกัคคตา  สำหรับฌานที่  4  นี้ ตัดความสุขออกเสียเหลือแต่เอกัคคตา  และเติมอุเบกขาเข้ามาแทน  ฉะนั้น  อารมณ์ของฌาน   4  จึงมีอารมณ์ผิดแผกจากฌาน  3  ตรงที่ตัดความสุขออกไป และเพิ่มการวางเฉยเข้ามาแทนที่


*อาการของฌาน  4  เมื่อปฏิบัติถึงฌาน 4 เมื่อนักปฏิบัติ  ปฏิบัติถึงมีอารมณ์ดังนี้


---1.จะไม่ปรากฏลมหายใจเสมือนสภาพฌานอื่น ๆ  เพราะลมละเอียดจนไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ   ท่านว่าลมหายใจไม่มีเลย  แต่บางอาจารย์ท่านว่าลมหายใจนั้นมี   แต่ลมหายใจละเอียดจนไม่มีความรู้สีกว่าหายใจ   ท่านกล่าวถึงคนไม่มีลมหายใจไว้   ๔  จำพวกด้วยกันคือ


---1.คนตาย      2.คนดำน้ำ    3.เด็กในครรภ์มารดา    4.ท่านที่เข้าฌาน 4   รวมความว่าข้อสังเกตที่สังเกตได้ชัดเจนในฌาน  4  ที่เข้าถึงก็คือไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ   การที่ฌาน 4  เมื่อเข้าถึงแล้ว  และขณะที่ทรงอยู่ในระดับฌาน  4  ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจนี้เป็นความจริง มีนักปฏิบัติหลายท่านที่พบเข้าแบบนี้ถึงกับร้องเอะโวยวาย  บอกว่าไม่เอาแล้วเพราะเกรงว่า จะตายเพราะไม่มีลมหายใจ   บางรายที่อารมณ์สติสมบรูณ์หน่อย  ก็ถึงกับค้นคว้าควานหาลมหายใจ  เมื่ออารมณ์จิตตกต่ำกว่า ฌานที่ 4  ในที่สุดก็พบลมหายใจที่ปรากฏอยู่กับปลายจมูกนั่นเอง


*อาการที่จิตแยกจากร่างกาย


---เพื่อให้เข้าใจว่าจิตแยกออกจากร่างกายได้จริงเพียงใด  เมื่อท่านเจริญสมาธิถึงฌาน 4  จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญดีแล้ว  ให้ท่านเข้าสู่ฌาน 4  แล้วถอยจิตออกมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน  แล้วอธิษฐานว่า  ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรง  และกายอีกกายหนึ่งจงปรากฏ  แล้วเข้าฌาน  4ใหม่  ออกจากฌาน  4  มาหยุดเพียงอุปจารฌาน  ท่านจะเห็นร่างกายเป็นโพรงใหญ่  มีร่างกายของเราเองปรากฏขึ้นภายในกาย  ท่องเที่ยวไปในร่างกายทุกส่วน  แม้แต่เส้นประสาทเล็ก ๆ กายในกายก็จะไปได้สะดวกสบาย  เหมือนเดินในถ้ำ ใหญ่ ๆ ต่อไป  จะบังคับให้กายใหม่นี้ออกไปสู่พิภพใด ๆ  ก็ไปได้ตาม พลังของฌาน  4 ท่านที่ได้ฌาน 4 แล้ว    ท่านจะฝึกวิชชาสาม   อภิญญา 6   หรือปฏิสัมภิทาญาณ  ก็ทำได้ทั้งนั้น  เพราะวิชชาการที่จะฝึกต่อไปนั้น  ก็ใช้พลังจิตระดับฌาน  4  นั่นเอง  จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็เพียงอาการในการเคลื่อนไปเท่านั้น  ส่วนอารมณ์ที่จะใช้  ก็ใช้เพียงฌาน  ๔  ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้วเปรียบเทียบเสมือนนักเพาะกำลังกาย  ถ้ามีกำลังกายสมบรูณ์แล้ว  จะทำอะไรก็ได้  เพราะกำลังพอ


*เสี้ยนหนามของจตุถฌาน


---เสื้ยนหนามของฌาน 4 คือ ลมหายใจ เพราะถ้าปรากฏว่ามีลมหายใจปรากฏเมื่อเข้าฌาน 4 ก็จงทราบเถิดว่า จิตของท่านมีสมาธิต่ำกว่าฌาน 4 แล้ว จงอย่าสนใจกับลมหายใจเลยเป็นอันขาด


*อานิสงค์ของจตุถฌาน


---ท่านที่ทรงฌาน 4 ไว้ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่จะมีอารมณ์แช่มชื่นตลอดเวลา จะแก้ปัญหาของตนได้อย่างอัศจรรย์  และในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ 4 ท่านว่าจะไม่หลงตาย เมื่อตายแล้ว ฌาน 4 ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ


---1.ฌานที่ 4 หยาบ   ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  10---2.ฌานที่ 4 สูง   ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  11


---ฌาน  4  ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน 4 ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ  วิปัสสนาจะมีกำลังกล้าแกร่ง ตัดกิเลสให้เด็ดขาดได้โดยรวดเร็ว อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงในชาตินี้


*รูปสมาบัติ   หรือ   รูปฌาน


---ฌานหรือสมาบัติที่กล่าวมาแล้วทั้ง  4  อย่างนี้  ท่านเรียกว่า รูปฌาน  หรือรูปสมาบัติ ยังไม่สำเร็จมรรคผลเพียงใด  ท่านเรียกว่าโลกียสมาบัติ  หรือโลกียฌาน  ถ้าเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จมรรคผล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  ท่านเรียกว่าโลกุตรสมาบัติ  หรือโลกุตรฌาน  ศัพท์ว่า  โลกุตตระ  ตัดออกเป็นสองศัพท์  มีรูปเป็นโลกะ  และอุตตระ  สนธิคือเอาโลกับอุตตระมาต่อกันเข้า  เอาตัว อ.  ออกเสีย เอาสระอุผสมกับ ตัว ก.  เป็นโลกุตตระ   โลกะ  แปลตามศัพท์ว่า โลก  อุตตตระแปลว่า สูงกว่า  รวมความว่าสูงกว่าโลก  โลกุตตรสมาบัติ  แปลว่าสมาบัติที่สูงกว่าโลก  หมายความว่า กรรมต่าง ๆ ที่โลกนิยมนั้น  ท่านพวกนี้พ้นนำไปแล้ว แม้บาปกรรมที่ชาวโลกต้องเสวยผล  ท่านที่ได้โลกุตตะ  ท่านก็ไม่ตัองรับผลกรรมนั้นอีก  เพราะกรรมของชาวโลกให้ผลท่านไม่ถึง ได้นามว่า โลกุตตรบุคคล


*รวมความว่าฌานประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นรูปฌาน  เพราะมีรูปเป็นอารมณ์  เรียกตามชื่อสมาบัติว่า รูปสมาบัติ  สำหรับรูปฌาน  หรือรูปสมาบัตินั้น  มีแยกออกไปอีก  ๔  อย่างดังจะกล่าวให้ทราบต่อไปนี้


---1.เพ่งอากาศเป็นอารมณ์


---2.กำหนดหมายเอาวิญญาณเป็นอารมณ์


---3.กำหนดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์


---4.กำหนดหมายเอาการไม่มีวิญญาณ  คือ  ไม่รับรู้รับทราบอะไรเลย  เป็นสำคัญ


---ทั้ง 4  อย่างนี้เรียกว่า อรูปฌาน  เพราะการเจริญไม่กำหนดหมายรูปเป็นอารมณ์กำหนดเอาความไม่มีรูปเป็นอารมณ์  จึงเรียกว่าอรูปฌาน  ถ้าเรียกเป็นสมาบัติ   ก็เรียกว่า อรูปสมาบัติ


*สมาบัติ  ๘


---ท่านที่ทรงสมาบัติในรูปสมาบัติ  ๔ และทรงอรูปสมาบัติอีก  ๔  รวมทรงทั้งรูปสมาบัติ ๔  อรูปสมาบัติ  ๔  เป็นสมาบัติ  ๘


*ผลสมาบัติ


---คำว่า ผลสมาบัติ  ท่านหมายถึง การเข้าสมาบัติตามผลที่ได้  ผลสมาบัตินี้จะเข้าได้  ต้องเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป   ท่านที่เป็นพระอริยเจ้าที่ไม่ได้สมาบัติแปดมาก่อน  ท่านเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้  ท่านก็เข้าผลสมาบัติ  คือท่านเข้าฌานนั่นเอง  ท่านได้ฌานระดับใด  ท่านก็เข้าฌานระดับนั้น  แต่ไม่ถึงสมาบัติแปดก็แล้วกัน  และท่านเป็นพระอริยเจ้า จะเป็นพระโสดาบัน  สกิทาคามี  อนาคามี  อรหันต์ก็ตาม  เมื่อท่านเข้าฌาน  ท่านเรียกว่า เข้าผลสมาบัติ   ท่านที่ไม่เป็นพระอริยเจ้าเข้าฌาน  ท่านเรียกว่า เข้าฌาน  เพราะไม่มีมรรคผล  ต่างกันเท่านี้เอง  กิริยาที่เข้าก็เหมือนกัน  ต่างกันแต่เพียงว่า  ท่านเป็นพระอริยเจ้า  หรือไม่ใช่พระอริยเจ้าเท่านั้นเอง


*นิโรธสมาบัติ


---นิโรธสมาบัติ  ท่านที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้  ต้องเป็นพระอริยเจ้าขั้นต่ำ ตั้งแต่พระอนาคามีเป็นต้นไป  และพระอรหันต์เท่านั้น  และท่านต้องได้สมาบัติแปดมาก่อน  ตั้งแต่ท่านเป็นโลกียฌาน  ท่านที่ได้สมาบัติแปด  เป็นพระอริยะต่ำกว่าพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้  ต้องได้มรรคผลถึงอนาคามีเป็นอย่างต่ำจึงเข้าได้


*ผลของสมาบัติ


---สมาบัตินี้ นอกจากจะให้ผลแก่ท่านที่ได้แล้ว  ยังให้ผลแก่ทานที่บำเพ็ญกุศล ต่อท่านที่ได้สมาบัติด้วย  ท่านสอนว่าพระก่อนบิณฑบาต  ตอนเช้ามืดที่ท่านสอนให้เคาะระฆัง ก็เพื่อให้พระวิจัยวิปัสสนาญาณ  และเข้าฌานสมาบัติ  เพื่อเป็นการสนองความดีของทายกทายิกาผู้สงเคราะห์ในตอนเช้า  พระที่บวชใหม่ก็ทบทวนวิชาความรู้และซักซ้อมสมาธิเท่าที่จะได้  ผลของสมาบัติมีอย่างนี้


---1.นิโรธสมาบัติ  สมาบัตินี้เข้ายาก  ต้องหาเวลาว่างจริง ๆ เพราะเข้าคราวหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย  7  วัน  อย่างสูงไม่เกิน  15 วัน  ใครได้ทำบุญแก่ท่านที่ออกจานิโรธสมาบัตินี้    จะได้ผลในวันนั้น  หมายความว่าคนจนก็จะได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น


---2.ผลสมาบัติ   เป็นสมาบัติเฉพาะพระอริยเจ้า  ท่านออกจากผลสมาบัติแล้วสมาบัตินี้เข้าออกได้ทุกวันและทุกเวลา ท่านที่ทำบุญแด่ท่านที่ออกจากผลสมาบัติ  ท่านผู้นั้นจะมีผลไพบูลย์ในความเป็นอยู่  คือมีฐานะไม่ฝืดเคือง


---3.ฌานสมาบัติ ท่านที่บำเพ็ญกุศลแก่ท่านที่ออกจากฌานสมาบัติ  จะทรงฐานะไว้ด้วยดี  ไม่ยากจนกว่าเดิม  มีวันแต่จะเจริญงอกงามขึ้นเป็นลำดับ


*เข้าผลสมาบัติ


---ก่อนที่จะเลยไปเรื่องอื่น  เกิดคิดห่วงการเข้าสมาบัติขึ้นมา  จึงขอย้ำถึงเรื่องเข้าผลสมาบัติ  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจสักนิด    การเข้าผลสมาบัติ  กับเข้าฌานสมาบัติ  ต่างกันอยู่หน่อยหนึ่งคือ  การเข้าฌานสมาบัติ  ท่านสอนให้ทำจิตให้ห่างเหินนิวรณ์  คือระมัดระวังมิให้มีนิวรณ์เข้ามารบกวนใจ   เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์แล้ว  อารมณ์ของสมาธิก็ไม่มีอะไรรบกวน  เข้าฌานสมาบัติได้ทันที  สำหรับผลสมาบัตินั้น  เป็นสมาบัติของพระอริยเจ้าท่านเข้าดังนี้   เมื่อท่านพิจารณาว่าเวลานี้ธุระอย่างอื่นไม่มีแล้วมีเวลาว่างพอที่จะเข้าสมาบัติได้  ท่านก็เริ่มเข้าสู่ที่สงัด  นั่งตั้งกายตรง  ดำรงจิตมั่นคงแล้วก็พิจารณาสังขารตามแบบวิปัสสนาญาณ  โดยพิจารณาในวิปัสสนาญาณทั้ง   ๘ ย้อนไปย้อนมา  หรือพิจารณาตามแบบขันธ์ห้ารวม   คือพิจารณาเห็นว่า  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณทั้งห้าอย่างนี้  ไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา   เราไม่มีในขันธ์ห้า  ขันธ์ห้าไม่มีในเราอย่างนี้ก็ได้ตามแต่ท่านจะถนัด  รวมความว่า ท่านเป็นพระอริยะเพราะท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแบบใดท่านก็พิจารณาแบบนั้น  เพราะท่านคล่องของท่านอยู่แล้ว  เมื่อพิจารณาขันธ์ห้าจนอารมณ์ผ่องใสแล้ว  ท่านก็เข้าสมาบัติตามกำลังฌานที่ท่านได้  อย่างนี้เป็นวิธีเข้าผลสมาบัติ เพราะท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณก่อนจึงเข้าฌาน  นำมากล่าวเพิ่มเติมไว้เพื่อท่านผู้อ่านจะได้รับทราบไว้....







............................................................................








ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 28 กันยายน 2558
แก้ไขแล้ว ป.

Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,690,083
เปิดเพจ10,464,746
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view