/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

สำรวจเหตุ..ทานที่มีผลมากหรือน้อย

สำรวจเหตุ..ทานที่มีผลมากหรือน้อย

ทานที่มีผลมาก  มีอานิสงส์มาก








---คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้  มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว  ย่อมมี  พ่อ  แม่  พี่  น้อง  ญาติ  มิตรสหาย  ข้าทาสบริวาร  และบุตร  ภรรยา  สามี ด้วยกันทั้งนั้น  การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นด้วยความสุข และเป็นที่รักของคนเหล่านั้น  นอกจากจะต้องเป็นคนดี   มีเมตตากรุณา  มีสัมมาคารวะต่อผู้ที่ควรคารวะ พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว   ยังต้องอาศัยความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   อุดหนุนเจือจานกัน เป็นเครื่องผูกใจคนเหล่านั้นด้วย


---ผู้ขอบ่อยๆ  ย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใด  ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น


---ด้วยเหตุนี้  การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง  ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่ หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ  ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ  ได้โดยง่าย  เพราะฉะนั้น  คนที่สามารถหยิบยื่นของๆ ตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้น นับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง   ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้ว   ก็ไม่ยากเลยที่จะให้ในครั้งต่อๆ ไป


---ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้จักการรับและการให้  มาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะต่างก็เคยรับและเคยให้กันมาแล้ว การรับนั้นไม่ยาก ขอให้รับด้วยความอ่อนน้อมเป็นพอ ส่วนการให้นั้นเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักที่จะให้ได้ถูกต้องให้เกิดประโยชน์  ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ   เป็นการให้แบบสัตบุรุษ  คือ คนดีทั้งหลาย   ตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้  ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อน  น้อยคนนักที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง แม้แต่ทรัพย์ที่เราขวนขวายแสวงหามา  เราก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ทรัพย์นั้นไปในทางใดจึงจะเกิดประโยชน์ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดง เรื่องการใช้ทร้พย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต  อาทิยสูตรที่ ๑  (ข้อ  ๔)  ๕ ประการ  คือ


---๑.ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม  บำรุงเลี้ยงตนเอง  บิดา  มารดา  บุตร  ภรรยาและบ่าวไพร่ให้มีความสุข  ไม่อดยาก


---๒.ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม  เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ


---๓.ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม  ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก  เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ


---๔.ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม  ทำพลี  คือ บูชา  หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน  คือ  ญาติพลี บำรุงญาติ  อติถิพลี ต้อนรับแขก  ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษีอากร เป็นต้น  และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา  เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า "คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา  เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"


---๕.ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม  บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ  เกื้อกูลแก่สวรรค์  มีวิบากเป็นสุข   ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท  มัวเมา  ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ เป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้สงบระงับจากกิเลส  ในข้อ   ๕   นี้ ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล   ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส  ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล  เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก  ทำให้เกิดในสวรรค์  ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์  นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ  เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย  ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุเหล่านี้  เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว  โดยเฉพาะทรัพย์ คือ บุญที่ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น  ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย  ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้  และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน


*ด้วยเหตุนี้  จึงควรที่จะรับรู้เรื่องของทาน  ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง  เพื่อทานของเราจะ ได้เป็นทานที่มีผลมาก  มีอานิสงส์มาก


---คำว่า  ทาน  ที่แปลว่า  การให้  นั้น  จัดเป็นบุญเป็นกุศล  เป็นความดีอย่างหนึ่ง  หมายถึง เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้   หมายถึง วัตถุ  คือ สิ่งของที่ให้ก็ได้  ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม   ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม  ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทาน  ในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆ กันไป


---เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น  แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล  คือ  ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อน  คือ เมื่อนึกจะให้  ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม  มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ ของเหล่านั้น  อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว  แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน


---บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี  ทั้งประกอบด้วยปัญญา  เชื่อกรรมและผลของกรรมครบทั้ง  ๓  กาลแล้ว  บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก  เจตนาทั้ง  ๓  กาลนี้  เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ  และเมื่อดับไปแล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้  ใน พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน


---แสดงความบุพกรรม  คือกรรมในชาติก่อนๆ  ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น  พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่  รูปหนึ่งเคยถวายดอกบุนนาค  รูปหนึ่งเคยถวายขนม  รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้า  เป็นต้น  นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่เคยเกิดในทุคติภูมิเลย  เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ  เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น  ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์


*วัตถุทาน  คือ สิ่งของที่ให้นั้นก็มีหลายอย่าง


---กล่าวกว้างๆ  ก็ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ  จีวร  ซึ่งรวมทั้งเครื่องนุ่งห่มด้วย  บิณฑบาต ซึ่งรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภคทุกอย่าง  เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย  คิลานเภสัช คือ ยารักษาโรค  ในโภชนทานสูตร  อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๗  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า  ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน   ชื่อว่าให้ฐานะ  ๕  อย่างแก่ปฏิคาหก  คือ  ผู้รับ  ๕  อย่าง  คือ 


---๑.ให้อายุ 


---๒.ให้วรรณะ คือ ผิวพรรณ


---๓.ให้ความสุข  คือ สุขกาย สุขใจ 


---๔.ให้กำลัง  คือ ความแข็งแรงของร่างกาย


---๕.ให้ปฏิภาณ คือ ฉลาดในการตั้งปัญหาและตอบปัญหา   ถ้าจะพูดให้ละเอียดขึ้นไปอีก  พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกวัตถุทานไว้    ๑๐ อย่าง   คือ  ข้าว น้ำ ผ้า ยาน (พาหนะ)  ดอกไม้  ของหอม  เครื่องลูบไล้  ที่อยู่  ที่อาศัย  และประทีปดวงไฟ


*ใน  กินททสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


---การให้ข้าวและน้ำ  ชื่อว่า  ให้กำลัง


---การให้ผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  ชื่อว่า  ให้ผิวพรรณ


---การให้ยานพาหนะ  ชื่อว่า  ให้ความสุขทั้งกายและใจ


---การให้ประทีบดวงไฟ  ชื่อว่าให้ดวงตา


---การให้ที่อยู่อาศัย  ชื่อว่า  ให้ทุกอย่าง  คือให้กำลัง  ให้ผิวพรรณ  ให้ความสุข  และให้ดวงตา


*แต่การพร่ำสอนธรรม  คือการให้ธรรมะ  ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย


---เพราะบุคคลจะพ้นจากความตาย ไม่ต้องเกิดอีกได้  ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม  ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า  การให้ธรรมะชนะการให้ (สิ่งอื่น) ทั้งปวง  แม้การจะทำทานให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฟังธรรม


*ในวนโรปสูตร สัง สคาถ. ข้อ ๑๔๖  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบเทวดาที่มาทูลถามว่า


---ชนพวกไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ  ทั้งกลางวันและกลางคืน  ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีล  เป็นผู้ไปสวรรค์  ด้วยข้อความว่า


---ชนเหล่าใดสร้างอาราม (คือสวนดอกไม้  สวนผลไม้)  ปลูกหมู่ไม้ (เพื่อให้ร่มเงา)  สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำดื่มเป็นทาน  บ่อน้ำ  บ้านเป็นที่พักอาศัย  ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน  ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม  สมบูรณ์ด้วยศีล  เป็นผู้ไปสวรรค์


---ซึ่งมีความหมายว่า  ชนเหล่าใดทำกุศลมีการสร้างอารามเป็นต้น  เหล่านี้  เมื่อระลึกถึงการทำกุศลนั้นในกาลใด  ในกาลนั้นบุญย่อมเจริญ  คือเพิ่มขึ้น  และเมื่อชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม  คือกุศลธรรม ๑๐   มีการไม่ฆ่าสัตว์  เป็นต้น  ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์  ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ นอกจากนั้น  เจตนาที่เป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต  เป็นต้น  พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็น


*มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ดังที่ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙ ว่า


---การงดเว้นจากปาณาติบาต  คือการไม่ฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย  เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์


---การงดเว้นจากอทินนาทาน  คือการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ทั้งโดยตนเอง และใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น


---การงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร  คือการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น  ชื่อว่า ให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น


---การงดเว้นจากมุสาวาท  คือการกล่าวเท็จ  กล่าวไม่จริง ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น


---การงดเว้นจากสุราเมรัยและของมึนเมา  เสพติด  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง   คือ ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์   แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น   แก่บุตร  ภรรยา  สามีของผู้อื่น และให้แต่คำพูดที่เป็นจริงแก่ผู้อื่น  ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาแล้ว ย่อมขาดสติ  เป็นผู้ประมาท สามารถจะประพฤติล่วงศีลได้ทุกข้อ  รวมทั้งประพฤติผิดอื่นๆ ด้วย  ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อัตคัตขาดแคลนทรัพย์สิ่งของที่จะนำออกให้เป็นทานก็ไม่ควรเดือดร้อนใจ   เพราะเราสามารถจะบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาทาน   เป็นทานที่ไม่เจาะจง เป็นทานที่แผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้  ด้วยการรักษาศีล  ๕  ยิ่งถ้าสามารถจะทำได้ทั้งสองอย่างก็ยิ่งประเสริฐ


---ขอกล่าวถึง  ทาน  ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า  ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ  ตามที่แสดงไว้ใน  อสัปปุริสสูตรและสัปปุริสสูตร  อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต  ดังต่อไปนี้


---ทานของอสัตบุรุษ  คือ ทานของคนไม่ดี  มีอยู่ ๕ อย่าง  คือ  ให้โดยไม่เคารพ ๑  ให้โดยไม่ยำเกรง ๑ ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑  ให้โดยทิ้งขว้าง ๑  ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑


---ส่วน  สัตบุรุษ  ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑  ให้โดยยำเกรง ๑  ให้ด้วยมือของตนเอง ๑  ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ๑  เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑


---อีกนัยหนึ่ง  แสดงว่า  ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง  คือให้ทานโดยศรัทธา ๑  ให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้ทานตามกาลอันควร ๑  เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑  ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑  ถ้าตรงข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ


*ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑


---๑.ให้ทานโดยเคารพ  คือให้โดยความเต็มใจ  ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้  เวลาให้  ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส


---๒.ให้ทานโดยยำเกรง  คือ เคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ  การเลือกให้แต่ของดี  ของมีประโยชน์  ของสะอาดมีรสดี เป็นต้น  ชื่อว่าเคารพทานของตน  อีกประการหนึ่งผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ  ผู้ที่ให้ของที่เลิศ  ย่อมได้ของที่เลิศ  ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี  ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ  นรชนใดให้ของที่เลิศ  ให้ของที่ดี  ให้ของที่ประเสริฐ  นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ  ย่อมมีอายุยืน  มียศ นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า


---การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของและเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล  มีคุณธรรม ชื่อว่า เคารพในผู้รับ  


---ข้อนี้มิได้หมายความว่า ถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน  หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้  ควรให้ทั้งสิ้น  แต่ของที่ดี ของที่ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ  ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ  คือ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น  ยิ่งให้แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก  ที่เรียกว่า  สังฆทาน  ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ


---๓.ให้ด้วยมือของตน  ข้อนี้หมายความว่า  เวลานี้เราเป็นมนุษย์  มีมือ  มีเท้า  มีอวัยวะครบบริบูรณ์ เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง  ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ  ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราว ในเวลาจำเป็น  นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง  เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญ ในขณะที่กำลังให้แล้ว  ในวัฏฏะอันยาวนานนี้  เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาด เท้าขาดเมื่อใด ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว  แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง  เราจะให้ได้อย่างไร  นอกจากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น


---๔.ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง  ข้อนี้หมายถึง ไม่ทิ้งขว้างการให้  คือ ให้อยู่โดยสม่ำเสมอ  ให้อยู่เป็นประจำ


---๕.เห็นผลในอนาคตจึงให้  หมายความว่า  ให้เพราะเชื่อว่า  ทานมีจริง  ผลของทานมีจริง  ทาน ทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง  แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน  หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัดเกลาความตระหนี่  เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผลนิพพานได้  สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน  ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ  ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้


*ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒


---๑.ให้ทานโดยศรัทธา  ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ  คือ คนดีทั้งหลายนั้น ย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรมและผลของกรรมว่ามีจริง จึงให้  ครั้นให้แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และเป็นผู้มีรูปงาม  น่าดูน่าเลื่อมใส  มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ  ทานนั้นเผล็ดผล


---๒.ให้ทานโดยเคารพ  คือ  ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ  นอบน้อม  ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และเป็นผู้มีบุตร  ภรรยา  ทาส  และคนใช้หรือคนงาน  เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง  สนใจสดับรับฟังคำสั่ง  ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ  ทานนั้นเผล็ดผล


---๓.ให้ทานตามกาลอันควร  ครั้นให้แล้ว  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์  ในที่ๆ  ทานนั้นเผล็ดผล  คือ  เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง  สติปัญญาเฉียบแหลม ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว


*กาลทาน  หรือทานที่ให้ในกาลอันควรนี้  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงแสดงไว้ใน  กาลทานสูตร อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาตว่ามีอยู่  ๕  อย่าง  คือ


---๑.อาคันตุกะทาน  คือ ทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน  หมายความว่า ผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่  ยังไม่รู้จักสถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น  เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ  เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น  ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาต เป็นต้น  ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก  อุบาสิกา ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน  ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต   และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ  ทำให้ท่านได้รับความสะดวกสบายไม่เดือดร้อน  อย่างนี้จัดเป็น  อาคันตุกะทานและเป็นกาลทาน


---๒.คมิกะทาน  คือ ทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป  หมายความว่า  ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยังถิ่นอื่น   สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น   ด้วยค่าพาหนะ  หรือด้วยยานพาหนะ  ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่สมควร


---๓.ทุพภิกขทาน  คือ  ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง  ผู้คนอดอยาก  ได้รับความเดือดร้อน แม้ในสมัยที่น้ำท่วม  ไฟไหม้  ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่  การให้ที่พักอาศัย  และข้าวของเครื่องใช้ ข้าวปลาอาหารในเวลานั้น  ก็จัดเป็นกาลทาน


---๔.นวสัสสะทาน  การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล


---๕.นวผละทาน  การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล


---ที่ข้อ  ๔  และข้อ  ๕  จัดเป็นกาลทาน  เพราะข้าวใหม่ก็ดี ผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี  มิใช่ว่า จะมีอยู่เสมอตลอดปี  มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น  สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล  แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง  ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็นว่า  เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม  ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ  ข้าวแก่อีกนิด  ก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า  ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง  ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน   แม้ชาวสวนเมื่อ ผลไม้แก่จัด เขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน  แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง  


---คนที่มิใช่ชาวนาชาวสวนบางคน  เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด  ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค นับว่าท่านเหล่านี้  ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง   ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา  ในข้อกาลทาน


---บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน  แล้วเพิ่ม  คิลานทาน คือ  การให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง  ด้วยยาและอาหาร  เป็นต้น  ซึ่งคิลานทาน  นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้ เช่นกัน


*เพราะเหตุที่กาลทาน  เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ  พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก


---ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก  แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล  ก็ได้รับผล  ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง  เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควรยินดีในการให้ทาน  ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก  ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย


---๔.มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้  หมายความว่า  สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก  ขาดแคลนสิ่งใด   ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ   โดยไม่หวังผลตอบแทน โดยไม่คิดว่าเมื่อเราช่วยเหลือเขาแล้ว  เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา  แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุขสบาย  ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีโภคะมาก  และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆ ที่ประณีต ที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล


---๕.ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น  หมายความว่า ไม่กระทบคุณงามความดีของตนและไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น  บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ  แต่บางคนก็ทำเพียงครั้งละเล็กๆ  น้อยๆ  ตามฐานะของตน   คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น  ชอบกล่าววาจาดูถูกผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่าน  อย่างนี้ชื่อว่า  ทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง 


---เพราะอะไร  เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่  นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน  แต่แล้วเราก็กลับทำลายความดีของเราเอง ด้วยการเพิ่มกิเลส  คือ ดูถูก  ดูหมิ่นผู้อื่น  ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้น เกิดได้ยินคำพูดอันไม่เพราะหูนั้นเข้า  ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ  จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง  แล้วอกุศล คือ ความโทมนัสเสียใจก็จะเกิดขึ้นแทน  อย่างนี้ชื่อว่า ทำลายคุณงามความดีของผู้อื่น  ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี  คือ กุศลที่มีอยู่   หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕  โดยเคร่งครัด  แต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ  ก็ตามทำให้ผู้รับมึนเมา  ขาดสติ  สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ  มีการฆ่าสัตว์  เป็นต้นได้  อย่างนี้ก็เป็นการให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน  


---เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีลอย่างเรา  กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล  ทานอย่างนี้ สัตบุรุษท่านไม่กระทำ  สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และโภคทรัพย์นั้น  ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ จากน้ำ  จากพระราชา  จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ  ทานนั้นให้ผล นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ  ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ


---ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ  ถ้าไม่มีเหตุ  ผลก็เกิดไม่ได้ ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย  คือเหตุดี  ผลต้องดี เหตุชั่วผลต้องชั่ว  ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว  หรือเหตุชั่วแล้วผลดี   ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล   สัตบุรุษ ท่านทำเหตุ  คือทานของท่านดี ผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดา


*ใน  อิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕  พระเจ้าปเสนทิโกศล  ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า


---ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  บุคคลควรให้ทานในที่ไหน


---พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  มหาบพิตร  ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส  คือจิตเลื่อมใสในที่ใด ในบุคคลใด  ควรให้ในที่นั้น  ในบุคคลนั้น


---พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามต่อไปว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก  พระเจ้าข้า


---พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล  มีผลมาก  ให้ในท่านผู้ไม่มีศีล หามีผลมากไม่


---เพราะฉะนั้น  การให้ทานในที่ใด  จึงเป็นอย่างหนึ่ง  ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง


---ด้วยเหตุนี้  หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีลทานของท่านย่อมมีผลมาก  ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว  เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว  ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น  ด้วยจิตผ่องใส ยิ่งมีผลมาก


---ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้า  จะทรงแสดงว่า  ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใสและมีศีลก็จริง แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส  ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน  ยาจก  วณิพก เป็นต้นเสีย  เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย  ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท  ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ  ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด  ก็ยังเต็มตุ่มได้ฉันใด  บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ  เนืองๆ  ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น


---พระพุทธองค์ตรัสว่า  การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ  ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข  ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย  จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทานในผู้มีศีล  หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง  ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจง


*ในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงจำแนกอานิสงส์ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท  คือ


---๑.ให้ทานแก่ดิรัจฉาน  มีอานิสงส์ร้อยชาติ  คือ  ให้อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  และปฏิภาณ ถึง  ๑๐๐  ชาติ


---๒.ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล  มีอานิสงส์พันชาติ


---๓.ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล  มีอานิสงส์แสนชาติ


---๔.ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกามนอกพุทธศาสนา  อย่างพวกนักบวชหรือฤาษี  ที่ได้ฌาน เป็นต้น  แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา  ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ


---สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน  เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและมีผลจำกัด  ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด   คือ ให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้  มากน้อย ตามลำดับขึ้นอีก  ๑๐  ประเภท  ดังต่อไปนี้


---๑.ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล


---๒.ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล  คือ ผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว


---๓.ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล


---๔.ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล


---๕.ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล


---๖.ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล


---๗.ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล


---๘.ให้ทานแก่พระอรหันต์


---๙.ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า


---๑๐.ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


*รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน  คือ ทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท  ใน  ๑๔  ประเภทนี้


---ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด  ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด  ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งที่เรียกว่า  สังฆทาน  มี ๗ อย่าง


---๑.ให้ทานในสงฆ์  ๒  ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข


---๒.ให้ทานในสงฆ์  ๒  ฝ่าย  ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว


---๓.ให้ทานในภิกษุสงฆ์


---๔.ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์


---๕.ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย  ด้วยคำว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า


---๖.ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์  ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า


---๗.ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์  ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่านี้  ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า



*สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้  ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง


---คือให้ทานในภิกษุสงฆ์และให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น  เพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว  ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว  ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก  มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ  แม้ในอนาคตกาล จักมีแต่  โคตรภูภิกษุ  มีผ้ากาสาวะพันที่คอ  หรือผูกข้อมือ  เป็นคนทุศีล  มีธรรมลามก  พระพุทธองค์ ก็ยังตรัสว่า


---คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น  ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์  แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้  ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่


---แต่ว่าสังฆทาน  จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด  ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ  หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ไม่ชอบใจ  หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ  แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ  หรือ  ได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้  ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทาน  เพราะขาดความเคารพในสงฆ์  หรือผู้แทนที่สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์  ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก


*ในทางพระวินัย  ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป  จึงเรียกว่า  สงฆ์แต่  การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียวที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน


*ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี  ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗)  อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร  ว่า


---กุฎุมพี  คือ  เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง  ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์  ด้วยคำว่า


---ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า  แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม  ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม  ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น  เอาน้ำมันทาเท้าให้  แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อพระพุทธเจ้า   ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด   


---หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้นอีกครั้งหนึ่ง  คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้  คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทาน  แก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า


---เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์  เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่


---การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น  คำว่า  สงฆ์  ท่านมุ่งเอา  พระอริยสงฆ์  คือ  พระโสดาปัตติมรรค  พระโสดาปัตติผล  พระสกทาคามิมรรค  พระสกทาคามิผล  พระอนาคามิมรรค  พระอนาคามิผล  พระอรหัตตมรรค  และพระอรหัตตผล  รวมเป็น  ๔  คู่  ๘  บุคคล  หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่ ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือ ปฏิบัติดี  อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง  ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม  สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ  ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้น ยังเป็น อาหุเนยโย คือ  เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา  ปาหุเนยโย  เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา  อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำอัญชลี  อนุตตรัง  ปุญญักเขตตัง  โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก  ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า


*ใน  ขุ. วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน ข้อ ๓๔  กล่าวถึง อานิสงส์ของสังฆทานว่า มากกว่า ทานธรรมดา ดังนี้


---นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว  ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า


---ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี  ทั้งเป็นผู้เรืองยศ  ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน  เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก  ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน  จึงมาเรียกดิฉันด้วย ชื่อเดิมว่า  ภัททา  ดังนี้เล่า


---นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า


---ข้าแต่พี่ภัททา  ฉันชื่อว่าสุภัททา  ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่  ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่ด้วย   ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว  ได้มาแล้วเกิดเป็นเทพธิดาประจำสวรรค์  ชั้นนิมมานรดี


---นางภัททาเทพธิดา  ถามต่อไปว่า


---ดูก่อนแม่สุภัททา  ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี  ซึ่งเป็นที่  ๆ  สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาบังเกิด  เธอได้มาเกิดในที่นี้  เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้  และใครเป็นครูแนะนำสั่งสอนเธอ  เธอเป็นผู้เรืองยศ  และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้  เพราะได้ให้ทานและรักษาศีลเช่นไรไว้  ดูก่อนแม่เทพธิดา  ฉันถามเธอแล้ว  นี่เป็นผลของกรรมอะไร  โปรดตอบฉันด้วย


---นางสุภัททาเทพธิดา  ตอบว่า


---เมื่อชาติก่อน  ดิฉันมีใจเลื่อมใส  ได้ถวายบิณฑบาต  ๘ ที่แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล  ๘ รูป ด้วยมือของตน  เพราะบุญกรรมนั้น  ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้  ฯลฯ  และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ  เพราะบุญกรรมนั้น


---นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า


---พี่เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย  ผู้สำรวมดี  ผู้ประพฤติพรหมจรรย์  ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ  ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้ว  ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ  ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย  อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เหล่าแน่ะแม่เทพธิดา  ฉันถามเธอแล้ว  นี่เป็นผลเป็นกรรมอะไร  โปรดตอบฉันด้วย


---นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า


---เมื่อชาติก่อน  ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่  จึงได้นิมนต์ท่านรวม ๘  รูปด้วยกัน  มีพระเรวตเถระเป็นประธาน  ด้วยภัตตาหาร  ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์  อนุเคราะห์แก่ดิฉัน  จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด  ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน  ทักขิณาของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน  อันดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์  เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่ามีอยู่เท่าไร  ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสนั้น  เป็นรายบุคคล  จึงมีผลไม่มาก


---นางภัททาเทพธิดา  เมื่อจะรับรองความข้อนั้น  จึงกล่าวว่า


---พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก  ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ  ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน  และไม่ประมาทเป็นนิตย์


---เมื่อสนทนากันแล้ว  นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพวิมานของตนบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี


---ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น   จึงตรัสถามนางภัททาเทพธิดาว่า   เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนากับเธอ  มีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด


---นางภัททาเทพธิดา  เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก     จึงทูลว่า


---ขอเดชะ  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ  เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน  และยังได้เคยร่วมสามีเดียวกับหม่อมฉันด้วย  เธอสั่งสมบุญกุศล คือ ถวายสังฆทาน  จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้เพคะ


---สมเด็จอมรินทราธิราช  เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานจึงตรัสว่า


---ดูก่อนนางภัททา  น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ  ก็เพราะเหตุในปางก่อน  คือ  การถวายสังฆทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า  ครั้งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่ผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญ ให้ทานอยู่หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย  จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก


---พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า


---ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค  ๔  จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้  ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง  ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล  เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้  หรือทำบุญปรารภการเวียนเกิดเวียนตาย  ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก  พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้  เหมือนทะเลยากที่คาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้น


---พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นพระผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยม  ในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง  คือญาณของชาวโลก  ได้แก่  นำเอาแสงสว่าง  คือ  พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง


---ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด  ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์  ทักขิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบเพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน  มีผลมาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก


---ทรงสรรเสริญชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก  มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้  เกิดปีติโสมนัส  ก็จะกำจัดมลทิน คือความตระหนี่ทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ความลังเลในใจ  และความวิปลาสอันเป็นมูลฐานเสียได้  ทั้งจะไม่เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน  ชนเหล่านั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์


*จากวิมานวัตถุเรื่องนี้   แสดงชัดว่า  สังฆทาน ที่ถวายเจาะจงแด่พระอริยสงฆ์นั้น  มีผลมาก มีอานิสงส์มากจริง


---ทั้งนี้  เพราะเหตุที่พระอริยสงฆ์ท่านประกอบด้วย  พระคุณ  ๙  ประการดังกล่าวมาแล้ว  ทานที่ถวายในท่านเหล่านี้ จึงมีผลมาก  ถ้ายังเกิดอยู่ตราบใดสังฆทานนี้ก็ให้ผลไปเกิดในที่ดีมีความสุขนับชาติไม่ได้ทีเดียว  


---ยิ่งกว่านั้น พระอริยสงฆ์ท่านยังอาจแสดงธรรมที่ท่านได้เห็นแล้ว บรรลุแล้ว ให้ผู้ถวาย ได้เห็นตามบรรลุตาม เป็นผู้บริสุทธิ์  หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับท่านได้อีกด้วย  การหมดจดจากกิเลสนี้เป็นอานิสงส์สูงที่สุดสำหรับบุคคลที่ถวายในสงฆ์  ด้วยเหตุนี้  ทานที่ถวายในสงฆ์หรือสังฆทานจึงมีผลมากและอานิสงส์มากอย่างนี้


---ก็พระคุณ ๙ ประการ  ของพระอริยสงฆ์นั้น ๔ ประการแรก เป็นพระคุณเฉพาะส่วนตัวของท่าน ๕ ประการหลัง มีอาหุเนยโยเป็นต้น  เป็นพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น  โดยเฉพาะผู้ที่ถวายทาน แก่ท่าน  คือให้ได้รับผลมาก  แม้อุทิศให้แก่เปรต  เปรตทราบแล้วอนุโมทนาชื่นชมยินดี  ก็ยังพ้นสภาพเปรต เป็นเทวดาได้


*ขอนำเรื่องของ   เศรษฐีเท้าแมว  ใน ธรรมบทภาค ๕  มาเล่าประกอบไว้ด้วย  เรื่องนี้เกิดขึ้น*



---ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่


---อุบาสกผู้หนึ่ง  ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน  ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า


---"บุคคลบางคนให้ทานด้วยตนเอง  แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น  เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป  เขาย่อมได้รับโภคสมบัติ  แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ  เขาไปเกิด


---ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน  แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน  เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป  เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ  แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ  เขาไปเกิด


---ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน  ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ ให้ทานด้วย  เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป  เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ  และบริวารสมบัติในที่ๆ  เขาไปเกิด


---ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน  ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ ให้ทานด้วย  เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป  เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ  และบริวารสมบัติในที่ๆ  เขาไปเกิด"


---อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต  ได้ฟังดังนั้น ก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ  เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น  พระพุทธเจ้า ก็ทรงรับคำอาราธนานั้น  อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย  ชักชวนให้บริจาค ข้าวสารและของต่างๆ  เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ  มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและฐานะของผู้บริจาค  อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้  จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง  ท่านเศรษฐีเกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น  ท่านคิดว่า  "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้   ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้"


---เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้  แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย  แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย  คือใช้นิ้ว  ๓  นิ้วหยิบของนั้น  จะหยิบได้สักเท่าไร  เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย  ก็ให้เพียงไม่กี่หยด  เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก  หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย  คนทั้งหลายก็เลย ตั้งชื่อท่านว่า  เศรษฐีเท้าแมว  เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว


---อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด  เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับมาจากผู้อื่น  เศรษฐีก็คิดว่า  "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่"  เมื่อคิดอย่างนี้  จึงใช้ให้คนใช้ติดตามไปดู  คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อละนิด  อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง  พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทานของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก"  คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย  ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า  "วันนี้เขายังไม่ประจานเรา พรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน  เขาคงจะประจานเรา  ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย"


---ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน  ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมือง ช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์  เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว  อุบาสกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ ขอให้คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว  บริจาคแล้ว  ทั้งผู้บริจาคของมาก  ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด"


---ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียงหยิบมือเดียว  คิดอีกว่า  "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา  เราจะแทงให้ตาย"  แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า  "แม้ผู้ที่บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว  ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"


---ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ  คิดเสียใจว่า  "เราได้คิดร้ายล่วงเกินต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน  ถ้าเราไม่ขอโทษเขา  เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก"  คิดดังนี้แล้ว  จึงเข้าไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น  เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้  พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น  กริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ ก็ตรัสถามขึ้น  เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า  "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว  ใครๆ  ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย  ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์  อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้  ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย  คนที่ฉลาดทำบุญอยู่  ย่อมเต็มด้วยบุญ  เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้  ย่อมเต็มด้วยน้ำฉันนั้น"


*ในตอนท้าย


---พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า  "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มาถึง  แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด  ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อย ทีละน้อย  ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"


---ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล  พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น  ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้  ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา  ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง


---จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้  ทำให้ทราบว่า  การให้ทานนั้น  เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ  การชักชวนผู้อื่นให้ทานนั้น  เป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ  ในที่ๆ  ตนไปเกิด


---เพราะฉะนั้น  เมื่อใครเขาทำบุญ  หรือใครเขาชักชวนใครๆ  ทำบุญ  ก็อย่าได้ขัดขวางห้ามปรามเขา เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป  เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย  คือตนเองเกิดอกุศลจิตก่อน ๑  ทำลายลาภของผู้รับ ๑  ทำลายบุญของผู้ให้ ๑


---และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า  สังฆทานนั้นมีผลมากและมีอานิสงส์มาก  การที่กิเลส  คือ ความตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป  ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะนี้แหละ  คืออานิสงส์ที่แท้จริงของบุญ


---ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร  ทานของผู้นั้นก็มีอานิสงส์มากเท่านั้น  เสื้อผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนต้องการสบู่หรือผงซักฟอกเข้าไปช่วยชำระล้างให้สะอาดฉันใด จิตใจที่เปรอะเปื้อนด้วยกิเลสก็ต้องการบุญ  มีทานเป็นต้น  เข้าไปช่วยชำระล้างขัดเกลาให้สะอาดหมดจดฉันนั้น


*พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา  คือทานไว้  ๔  อย่าง  คือ


---๑.ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก คือ ผู้ให้  แต่ไม่บริสุทธิ์  ฝ่ายปฏิคคาหก คือ ผู้รับ กล่าวคือ ผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม  มีธรรมงาม  ได้ของมาโดยชอบธรรม  เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม  แต่ผู้รับเป็นผู้ทุศีล  มีธรรมลามก


---๒.ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก  แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก  กล่าวคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม  มีธรรมงาม  แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล  มีธรรมลามก  ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม  เป็นผู้ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม


---๓.ทักษิณาบางอย่าง  ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก  คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้ทุศีล  มีธรรมลามก


---๔.ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก  คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม  มีธรรมงามทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ย่อมมีผลไพบูลย์


*อนึ่ง  พระบรมศาสดาตรัสว่า


---ถ้าทายก คือ  ผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม  มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรมและปฏิคคาหก คือ  ผู้รับ  เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม  ปราศจากราคะแล้ว  ทานของผู้นั้น เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย


*อนึ่งใน  ทานานิสังสสูตร  อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๕  พระพุทธองค์ทรงแสดง อานิสงส์ของทานไว้ ๕ อย่างคือ


---๑.ผู้ให้ทาน  ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก


---๒.สัปบุรุษ  ผู้สงบ  มีพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  และสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมคบหาผู้ให้ทาน


---๓.กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน  ย่อมขจรขจายไปทั่ว


---๔.ผู้ให้ทาน  ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์  คือ มีศีล  ๕  ไม่ขาด


---๕.ผู้ให้ทาน  เมื่อตายไปแล้ว  ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แล้วทรงสรุปเป็นคาถาว่า


---ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก  ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ (คือ  มหาบุรุษหรือพระโพธิสัตว์)  สัปบุรุษผู้สงบ  ผู้สำรวมอินทรีย์  ประพฤติพรหมจรรย์  ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น  ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา  เขาได้ทราบชัดแล้ว  ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้


---ควรอย่างยิ่งที่เราจะสะสมบุญ  มีทานเป็นต้น  ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา  เพราะว่า  เมื่อไรที่จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญ  เมื่อนั้นกิเลสจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของเราเลย


*ใน  ทานสูตร  อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙


---พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้  ทานที่ให้แล้ว  มีผลมาก  แต่ไม่มีอานิสงส์มาก  และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก  และมีอานิสงส์มาก  ไว้ดังต่อไปนี้


---๑.บุคคลบางคน  ให้ทานด้วยความหวังว่า เมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้ เมื่อตายไป  ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา  สิ้นกรรม  สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว  ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้  คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  ทานอย่างนี้มีผลมาก  แต่ไม่มีอานิสงส์มาก


---๒.บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน  เพราะหวังผลของทาน  แต่ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ  เป็นกุศลจึงให้  เมื่อตายไป  ได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์  สิ้นกรรม  สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว  ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้  คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก


---๓.บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน  เพราะหวังผลของทาน  ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี แต่ให้ทานเพราะละอายใจที่  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร  ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา  สิ้นกรรม  สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว  ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้  คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  ทานอย่างนี้มีผลมาก  แต่ไม่มีอานิสงส์มาก


---๔.บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน  ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ  แต่ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้น หุงหากินไม่ได้  เราหุงหากินได้  ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร  ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต  สิ้นกรรม  สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว  ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้  คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก


---๕.บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน  ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ  ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า  สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้  แต่ให้ทาน  เพราะต้องการจำแนกแจกทาน เหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว  เขาตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี  สิ้นกรรม  สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้  คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  ทานอย่างนี้มีผลมาก  แต่ไม่มีอานิสงส์มาก


---๖.บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน  ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ  ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้  ไม่ได้ให้ทานเพราะต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน  แต่ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อให้แล้ว  จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้  ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี  สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่แล้ว  ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้  คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  ทานอย่างนี้มีผลมาก  แต่ไม่มีอานิสงส์มาก


---๗.บุคคลบางคนในโลกนี้  ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง  ๖  อย่างข้างต้นนั้น  แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต  คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของสมถะและวิปัสสนา  จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล  ตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก  เขาสิ้นกรรม  สิ้นฤทธิ์  สิ้นยศ  หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว  เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก  คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง  ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก  และมีอานิสงส์มาก


*สรุปรวมความว่า  ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก  ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิดที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์  แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก  เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้


---ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก  ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย  มีอานิสงส์มากด้วย  เพราะทำให้หมดจดจากกิเลส


---ฉะนั้นคำว่า  "อานิสงส์มาก"  ในที่นี้  จึงหมายถึง การหมดจดจากกิเลสทั้งปวง  ไม่ต้องเกิดอีก


---จริงอยู่  การเกิดในสวรรค์แต่ละชั้นนั้น  มีความสุขมาก  เพราะได้รับกามคุณอันเลอเลิศที่เป็นทิพย์  ละเอียดประณีตขึ้นไปตามลำดับชั้น  แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า  กามคุณนั้นเป็นของเลว  เป็นของชาวบ้าน  เป็นของชวนให้หลงใหล  เป็นของมีสุขน้อย  แต่มีโทษมาก  เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม  คือ  อนุปุพพิกถา  แก่คฤหัสถ์  จึงได้ทรงแสดงโทษของกามไว้ด้วย  ผู้ที่ยินดีหลงใหลเพลิดเพลินในกาม  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  อันน่าใคร่  น่าพอใจ  ย่อมไม่อาจล่วงทุกข์ไปได้  ผู้ที่จะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะเห็นโทษของกาม  ก้าวออกจากกามด้วยสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น


---ด้วยเหตุนั้น  ทานที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต  ขัดเกลาจิตให้อ่อน  ให้ควรแก่การเจริญสมถะและวิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลไม่ต้องกลับมาเกิดอีก  จึงเป็นทานที่มีผลมาก  และมีอานิสงส์มาก  แม้สังฆทานที่กล่าวว่ามีผลมาก  มีอานิสงส์มาก  ก็เพราะผู้ถวายมีโอกาสได้ฟังธรรมจากสงฆ์แล้วบรรลุอริยสัจธรรม  ก้าวล่วงทุกข์ทั้งปวงไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก


*พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแม้เมื่อทรงแสดงเรื่องทาน 


---ก็ทรงแสดงให้ พุทธบริษัทได้รับประโยชน์ครบทั้ง  ๓  ประการ  คือ  ประโยชน์ในโลกนี้  ประโยชน์ในโลกหน้า  และประโยชน์อย่างยิ่ง  คือ  มรรค  ผล  นิพพาน  ด้วยเหตุนี้  จึงควรทำใจให้เลื่อมใส  บำเพ็ญทานให้เกิดประโยชน์ทั้ง  ๓  ประการ  จึงจะได้ชื่อว่า  ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง.



(หมายเหตุ...ควรหรือไม่  ที่เราจะทำทานชนิดที่มีผลมาก  มีอานิสงส์มาก)


......................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 28 กันยายน 2558

แก้ไขแล้ว ปานรดา


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,666,619
เปิดเพจ10,431,423
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view