/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

การแก้ปัญหาแบบพุทธศาสนา

การแก้ปัญหาแบบพุทธศาสนา

การไกล่เกลี่ยแบบพุทธ

(พระไพศาล วิสาโล)







---พุทธศาสนามองว่าทุกข์เป็นสภาวะพื้นฐานของธรรมชาติ ครอบคลุมสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งรูปธรรมและนามธรรม สภาวะที่เรียกว่าทุกข์(หรือทุกขลักษณะ)นี้ได้แก่ภาวะที่ไม่คงตัว คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมีความกดดัน บีบคั้น ขัดแย้งอยู่ในตัวเองและกับสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา


---ความขัดแย้งกับทุกข์เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ทุกข์เกิดเพราะความขัดแย้งบีบคั้น (เช่นความเจ็บป่วยเกิดจากความขัดแย้งบีบคั้นระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในร่างกาย และระหว่างร่างกายกับเชื้อโรค) ขณะเดียวกันทุกข์ก็นำไปสู่ความขัดแย้งได้ด้วย (เช่นความเสื่อมของอวัยวะบางส่วนในร่างกายก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับอวัยวะส่วนอื่นที่ปกติ เกิดสภาวะที่ไม่สมดุลในร่างกาย)


---ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งจึงเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งเช่นเดียวกับทุกข์ นี้หมายความว่าในชีวิตของบุคคล และในความเป็นไปของสังคม เราไม่สามารถหลีกหนีความขัดแย้งได้ ไม่ว่าความขัดแย้งกับตนเอง และความขัดแย้งกับผู้อื่น ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เมื่อพูดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา นั่นมิได้หมายความว่าเราไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ ทุกข์นั้นมีหลายระดับหลายประเภท บางประเภทเราไม่สามารถขจัดไปได้ เช่น ความแก่และความตาย ทำได้อย่างมากแค่ชะลอ แต่บางประเภท เราสามารถระงับได้ เช่น ความหิว ความเจ็บปวด ฉันใดก็ฉันนั้น มีความขัดแย้งบางอย่างที่เราสามารถจัดการได้ เราไม่สามารถห้ามความขัดแย้งทางความคิดได้ แม้กระทั่งพระอรหันต์ที่รู้แจ้งในสัจธรรมและปลอดพ้นจากกิเลส ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ดังมีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก (เช่น ความเห็นไม่ตรงกันระหว่างพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ในข้อที่ว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เพิกถอนนั้นหมายถึงอะไร) แต่เราสามารถเปลี่ยนความขัดแย้งที่เป็นความวิวาทบาดหมางให้เป็นความกลมเกลียวสามัคคีกันได้


*ท่าทีต่อการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง


---ในเรื่องความขัดแย้งทางสังคม หรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนนั้น ท่าทีของพุทธศาสนาก็คือ ไม่ควรนิ่งดูดาย หรือวางเฉยปล่อยให้เขารับกรรมกันไปเอง หากควรเข้าไปจัดการแก้ไขให้กลับคืนดี การช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้คนคืนดีกัน เป็นการกระทำที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ดังมีพุทธพจน์ว่า


---“เมื่อคนเหล่าอื่นขัดแย้งกันอยู่ ผู้ใดพยายามประสานให้พวกเขาคืนดีกัน ผู้นั้นชื่อว่าเป็น คนมีความรับผิดชอบ เป็นผู้จัดธุระที่ยอดเยี่ยม” (ขุ.ชา. ๒๗/๕๔๙)


---“ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยจงมีความพร้อมเพรียงกัน มีความประนีประนอม นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า” (ขุ.อป.๓๒/๑)


---การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญมาก เห็นได้จากวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งมีข้อกำหนดหรือสิกขาบทมากมายเกี่ยวกับการระงับความขัดแย้ง(อธิกรณ์)ในหมู่สงฆ์ ที่เรียกว่า”อธิกรณสมถะ” รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยไว้ด้วย


---นอกจากนั้นพระจริยาของพระพุทธเจ้ายังเป็นแบบอย่างอันดีในเรื่องท่าทีของชาวพุทธต่อความขัดแย้ง เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ได้ทรงมีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งหลายครั้ง อาทิ ความขัดแย้งถึงขั้นจะทำสงครามกันระหว่างแคว้นโกลิยะและแคว้นศากยะในกรณีพิพาทเกี่ยวกับแม่น้ำโรหิณี ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าวิฑูฑภะกับแคว้นศากยะในกรณีดูหมิ่นชาติตระกูล


---ตรงกันข้ามกับชาวพุทธเป็นอันมากที่เห็นว่า ควรปล่อยวางเมื่อผู้อื่นมีความขัดแย้งหรือกระทบกระทั่งกัน พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธในการเข้าไปแทรกแซงเมื่อมีความขัดแย้งกันในชุมชน ดังคราวหนึ่งได้ทรงตำหนิพระอานนท์และหมู่คณะที่วางเฉยเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพระสารีบุตรกับพระอุทายี ครั้งนั้นพระอุทายีได้คัดค้านคำสอนของพระสารีบุตรถึงขั้นจ้วงจาบจนพระสารีบุตรนิ่งเงียบ พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า


---“ดูกรอานนท์ ไฉนพวกเธอจึงวางเฉยต่อภิกษุผู้เถระซึ่งถูกเบียดเบียนอยู่ เพราะการ ปล่อยให้พระเถระถูกจ้วงจาบ ไม่ถือว่าเป็นความกรุณา” (อง.ปญจก.๒๒/๑๑๖)


*วิเคราะห์ความขัดแย้งแบบพุทธ


---ความขัดแย้งนั้นถือว่าเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ในการจัดการกับความทุกข์ พุทธศาสนาเห็นว่าจะต้องมองให้ถึงสมุทัยคือสาเหตุของทุกข์ ด้วยเหตุนี้เมื่อจะระงับความขัดแย้ง เราจำต้องมองให้เห็นถึงสาเหตุของความขัดแย้ง และจัดการกับสาเหตุดังกล่าว



*กรณีขัดแย้งต่าง ๆ กล่าวโดยทั่วไปมีองค์ประกอบหลักๆ ๓ ประการ คือ


---๑.ประเด็นปัญหา หรือข้อเรียกร้อง 


---๒.บุคคลหรือคู่ขัดแย้ง


---๓.กระบวนการหรือปฏิสัมพันธ์ต่อกัน


*๑.ประเด็นปัญหาหรือข้อเรียกร้อง


---ประเด็นปัญหาหรือข้อเรียกร้องส่วนใหญ่จะอยู่ในข่าย ๓ ประการนี้คือ


---ก.ผลประโยชน์ทางวัตถุ (เช่น ขอขึ้นค่าแรง หรือขอให้ระงับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าเนื่องจากไม่ต้องการสูญเสียที่ดิน หรือกระทบต่อการยังชีพ)


---ข.อำนาจ ศักดิ์ศรี (เช่น คัดค้านการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น หรือประท้วงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นประเทศ)


---ค.ความเชื่อ ลัทธิ อุดมการณ์ (เช่น เรียกร้องให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนา หรือคัดค้านการละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อย)


---กรณีขัดแย้งส่วนใหญ่จะไม่ได้จำกัดว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางวัตถุ อำนาจ และความเชื่อ เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หากเกี่ยวข้องกับทั้ง ๓ อย่าง มากบ้างน้อยบ้าง ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อน จะเกี่ยวข้องกับการได้หรือเสียผลประโยชน์ทางวัตถุ (เช่น ได้งบประมาณเพิ่ม สูญเสียที่ทำกิน ) มีผลทำให้บางฝ่ายมีอำนาจมากขึ้น (เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้คะแนนเสียง) อีกทั้งยังเป็นผลจากความแตกต่างทางความคิดในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

*๒.บุคคลหรือคู่ขัดแย้ง


---ประเด็นปัญหาหรือข้อเรียกร้องเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งและลุกลามไปเป็นความรุนแรงได้ ก็เพราะผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างยืนกรานในจุดยืนของตนด้วยความยึดมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ ประการนี้คือ


---ก.ตัณหา คือความยึดมั่นในผลประโยชน์ ไม่อยากสูญเสียผลประโยชน์ เช่น ต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้น ต้องการค่าชดเชยมากขึ้น ไม่ต้องการสูญเสียผลตอบแทนจากโครงการ


---ข.มานะ คือความถือตน ยึดถือในศักดิ์ศรี และอยากมีอำนาจ เช่น ต้องการให้หน่วยงานของตนมีอำนาจและเจ้าหน้าที่เหมือนเดิม รวมไปถึง ไม่ยินยอมเพราะกลัวเสียหน้า 


---ค.ทิฏฐิ คือความยึดมั่นในความเชื่อของตน เชื่อมั่นว่าความคิดของตนถูกต้อง เช่น เห็นว่าวิธีการของตนเท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาได้ มองว่าความคิดของคนอื่นผิดหมด


---ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่าปปัญจะ ๓ คือกิเลส ๓ ประการที่ทำให้เนิ่นช้า เป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งยังทำให้ปัญหาค้างคาเนิ่นนานออกไป เนื่องจากเป็นตัวการขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง หรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกต้องได้


---โดยเหตุที่ประเด็นปัญหาและข้อเรียกร้องส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางวัตถุอำนาจหรือศักดิ์ศรี และความเชื่อ ทั้ง ๓ ประการ ในสัดส่วนที่มากบ้างน้อยบ้างดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้นความติดยึดของบุคคลหรือคู่กรณีในความขัดแย้งจึงมิได้มีแค่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง หากมีกิเลสทั้ง ๓ ประการผสมผสานกันมากบ้างน้อยบ้างตามลักษณะของประเด็นปัญหาหรือข้อเรียกร้อง


---นอกจากความติดยึดในสิ่งที่ตนมีหรืออยากมีอันได้แก่ตัณหา มานะ ทิฏฐิ แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงในการทำความเข้าใจกับกรณีขัดแย้งก็คือ ทัศนคติในระหว่างคู่ขัดแย้ง อันได้แก่อคติที่มีต่อกัน ซึ่งทำให้ความขัดแย้งลุกลามได้ง่าย อคติดังกล่าวได้แก่


---ก.โทสาคติ อคติเนื่องจากความเกลียดชัง


---ข.ภยาคติ อคติเนื่องจากความกลัว


---ค.โมหาคติ อคติเนื่องจากความหลงหรือความไม่รู้


---อคติ ๒ ประการแรกจะมีอยู่มากในความขัดแย้งทั่วไป ทั้งนี้โดยมีความหลงหรือความไม่รู้เป็นตัวปรุงแต่งหนุนเสริมให้อคติ ๒ ประการดำรงอยู่หรือเพิ่มพูนมากขึ้น เช่น การไม่รู้จักกัน หรือการได้ยินคำร่ำลืออย่างผิด ๆ ก็ทำให้ต่างฝ่ายต่างวาดภาพอีกฝ่ายว่าเป็นคนเลวร้าย ขี้ฉ้อ ไม่รักชาติ รับเงินเขามาประท้วง ฯลฯ


---นอกจากอคติ ๓ ประการดังกล่าวแล้ว อคติประการที่ ๔ ได้แก่ฉันทาคติ คือความลำเอียงเพราะชอบ ก็มีอิทธิพลต่อความขัดแย้งด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ได้มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีโดยตรง แต่ก็มีผลต่อผู้คนที่สนับสนุนคู่กรณีแต่ละฝ่าย บ่อยครั้งการให้ความสนับสนุนคู่กรณีแต่ละฝ่ายมิได้เกิดจากความเข้าใจในปัญหาหรือเกิดจากวิจารณญาณ แต่เกิดจากความชอบพอกันเป็นส่วนตัว หรือชอบที่มีความเชื่อคล้ายกัน มีอาชีพเหมือนกัน พูดง่าย ๆ คือเป็น “พวก”เดียวกัน


*ทั้งอคติ ๔ ประการ และความติดยึด ๓ ประการนี้ หากจะสรุปรวมสั้น ๆ ก็คือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่าอกุศลมูลนั่นเอง ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐานในความขัดแย้งทุกชนิด


---จะเห็นได้ว่ากรณีขัดแย้งนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของเหตุผลล้วนๆ หรือเป็นเรื่องถูกเรื่องผิดเท่านั้น หากยังมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในการวิเคราะห์หรือทำความเข้าใจกับความขัดแย้งต่าง ๆ เราจึงไม่อาจละเว้นการทำความเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ดังกล่าวในตัวคู่ขัดแย้งได้


*๓.ปฏิสัมพันธ์หรือกระบวนการ


ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีตลอดจนกระบวนการที่ใช้ในการจัดการกับความขัดแย้งมีผลอย่างมาก  ในการเพิ่มหรือลดความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะลุกลามมากขึ้น ถ้าอีกฝ่ายหรือต่างฝ่ายใช้วิธีการต่อไปนี้


---เจรจาด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด ฉุนเฉียว หงุดหงิด 


---ใช้ท่าทีไม่สุภาพ


---วิธีการที่ไม่โปร่งใส


---ไม่รับฟังความคิดเห็น


---เอาแต่ได้ คิดแต่เอาชนะ 


---กล่าวร้าย ใส่ความ ปล่อยข่าวลือ


---ใช้ความรุนแรง


---วิธีการเหล่านี้ทำให้ความขัดแย้งลุกลามขึ้น เพราะทำให้อคติเพิ่มพูน และทำให้อีกฝ่ายติดยึดในจุดยืนของตนเองหนักแน่นขึ้น โดยที่บ่อยครั้งก็ทำให้ประเด็นความขัดแย้งเปลี่ยนไป เช่น ความขัดแย้งกรณีแม่น้ำโรหิณี เดิมเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งน้ำ แต่พอมีการทะเลาะวิวาทกัน มีการด่าโคตรวงศ์ตระกูลกัน ประเด็นก็เปลี่ยนจากการแย่งน้ำ (ตัณหา) มาเป็นเรื่องการรักษาศักดิ์ศรีหน้าตา (มานะ) จนถึงขั้นจะทำสงครามกัน


*หลักการของการไกล่เกลี่ย


---ในกรณีที่คู่กรณีไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งด้วยตนเองได้ ผู้ไกล่เกลี่ยมีความสำคัญมากในการระงับความขัดแย้ง หรือเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นการคืนดีกัน


*การไกล่เกลี่ยแบบพุทธมีหลักการดังต่อไปนี้

 

---๑.ให้ความสำคัญกับ “คน” หรือมิติทางด้านอารมณ์


---แม้ว่าประเด็นปัญหาหรือข้อเรียกร้องจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง แต่เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว อุปสรรคที่ทำให้ความขัดแย้งแก้ได้ยาก ก็คืออารมณ์ของคู่ขัดแย้ง ซึ่งบ่อยครั้งกลับมีความสำคัญยิ่งกว่าประเด็นปัญหา และมักทำให้คู่ขัดแย้งยากที่จะทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหาได้ตรงตามความจริงหรือคำนึงถึงความถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง ๒ ฝ่ายถูกอารมณ์เข้ามาบดบัง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของคู่กรณี ต่อเมื่ออารมณ์ความรู้สึกของคู่ขัดแย้งเริ่มคลี่คลายแล้ว การเจรจาเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาหรือข้อเรียกร้องจึงจะเกิดขึ้นได้


---๒.ช่วยขจัดอกุศลมูลในใจคู่ขัดแย้ง


---ความขัดแย้งแม้จะลงเอยด้วยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบรรลุข้อเรียกร้อง แต่หากว่าอคติหรืออกุศลมูลยังดำรงอยู่  โดยเฉพาะในจิตใจของอีกฝ่ายที่ต้องยอมตามข้อเรียกร้องจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความขัดแย้งนั้นก็ยากที่จะยุติไปได้อย่างแท้จริง หากพร้อมจะประทุขึ้นมาได้อีกเรื่อย ๆ ดังกรณีการสร้างเขื่อนหลายแห่งในประเทศไทย แม้เขื่อนจะสร้างได้เสร็จ แต่ผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ยังมีความขัดแย้งในรูปลักษณ์อื่น ๆ สืบเนื่องตามมากระทั่งทุกวันนี้ ทั้งนี้เป็นเพราะความระแวงและความไม่พอใจยังไม่หมดไปจากใจของคู่กรณี


---ในการแก้ไขความขัดแย้ง ผู้ไกล่เกลี่ยมีหน้าที่สำคัญประการแรกคือขจัดอกุศลมูลในคู่ขัดแย้งให้หมดไป ไม่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ทั้งนี้โดยให้กุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ และอโมหะ เข้ามาแทนที่ มีหลักธรรมหลายข้อที่สามารถขจัดอกุศลมูล หรือเปลี่ยนให้เป็นอกุศลมูลได้ อาทิพุทธพจน์ต่อไปนี้


---“พึงเอาชนะความโกรธด้วยการไม่โกรธตอบ


---พึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี


---พึงเอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้


---พึงเอาชนะความเท็จด้วยสัจจะ” (ขุ.ธ.๒๕/๒๗)


---๒.๑ ลดโทสะ


---ผู้ไกล่เกลี่ยควรช่วยให้คู่ขัดแย้งลดความโกรธหรือความเกลียดลง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้


---ชี้ให้คู่ขัดแย้งตระหนักถึงโทษของความโกรธ ว่าทำให้ความขัดแย้งแก้ได้ยาก อีกทั้งยัง ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนหากปล่อยให้ความโกรธครอบงำจิตใจ 


---ช่วยให้คู่ขัดแย้งเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ช่วยให้นายจ้างเข้าใจความ ยากลำบากของลูกจ้าง ขณะเดียวก็ช่วยให้ลูกจ้างเข้าใจว่าเหตุใดนายจ้างจึงระแวง ลูกจ้างว่าจะเรียกร้องไม่จบสิ้น


---ช่วยให้ทั้ง ๒ ฝ่ายมีเมตตาต่อกัน เนื่องจากเห็นความทุกข์ลำบากและความตั้งใจดีของ อีกฝ่าย


---ชี้ให้คู่ขัดแย้งเห็นว่าการกระทำของตนมีส่วนทำให้อีกฝ่ายแข็งกร้าวหรือใช้ท่าทีก้าวร้าว กับตน


---ชี้ให้คู่ขัดแย้งเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ได้เลวร้าย น่ากลัว หรือมีเจตนาร้ายอย่างที่คิด


---๒.๒ ลดโมหะ


---ผู้ไกล่เกลี่ยสามารถเข้าใจสถานการณ์ถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยวิธีต่อไปนี้


---ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก้คู่ขัดแย้ง


---ช่วยให้คู่ขัดแย้งตระหนักว่าอีกฝ่ายมิได้มีมือที่สามหนุนหลังหรือทำเพราะผลประโยชน์ ส่วนตัว 


---ช่วยให้คู่ขัดแย้งเข้าใจข้อจำกัดของอีกฝ่ายว่าเหตุใดจึงไม่ยอมตามข้อเรียกร้องของตน


---ช่วยให้คู่ขัดแย้งตระหนักมุมมองของอีกฝ่าย ซึ่งอาจช่วยให้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่งที่ ถูกละเลยไป 

 

---๒.๓ ลดโลภะ


---ผู้ไกล่เกลี่ยควรช่วยให้คู่ขัดแย้งลดความโลภหรือติดยึดในผลประโยชน์ ด้วยวิธีการดังนี้


---ชี้ให้คู่ขัดแย้งเห็นว่าข้อเรียกร้องของตนเกินเลยไปอย่างไร


---ชี้ให้คู่ขัดแย้งเห็นคุณค่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ ระยะยาวยิ่งกว่าคำนึงถึงผลได้ระยะสั้น เช่นชี้ให้เห็นว่าการทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุข้อ เรียกร้อง ในที่สุดอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะถึงจะได้ตามข้อเรียกร้องแต่ก็ต้องแลกด้วย ความร้าวฉานสูญเสียนานัปการ เช่น มีศัตรูเพิ่มขึ้น หรืออยู่อย่างหวาดระแวงซึ่งกันและ กันไปตลอด


*๓.กระตุ้นให้คู่ขัดแย้งฉุกคิด ได้สติและหันมาพิจารณาตนเอง


---ในการลดอกุศลมูลในใจของคู่ขัดแย้ง บ่อยครั้งเป็นการยากที่ผู้ไกล่เกลี่ยจะทำได้ด้วยการเทศนาสั่งสอน สิ่งที่สามารถทำได้และน่าทำเป็นอย่างยิ่งคือการช่วยให้คู่ขัดแย้งเกิดฉุกคิดและเห็นปัญหาด้วยตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งผู้ไกล่เกลี่ยควรช่วยให้ทุกฝ่ายได้สติ ทั้งนี้โดยอาจพูดให้สะดุดใจหรือตั้งคำถามให้คิด ตัวอย่างได้แก่ ความขัดแย้งกรณีแม่น้ำโรหิณี เมื่อกษัตริย์แคว้นโกลิยะและแคว้นศากยะยกทัพมาเผชิญหน้าเพื่อจะรบพุ่งกัน


---พระพุทธองค์ได้เสด็จไปห้ามไม่ให้ทั้ง ๒ ฝ่ายทำสงครามกัน พระองค์เริ่มต้นด้วยการถามกษัตริย์ของทั้ง ๒ ฝ่ายว่าจะรบพุ่งด้วยเรื่องอะไร ปรากฏว่ากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ตอบไม่ได้ เมื่อไล่เลียงเสนาบดี ตามลำดับไปจนถึงชาวบ้าน ก็ได้คำตอบว่า ทะเลาะกันเพราะเรื่องน้ำ เมื่อได้คำตอบเช่นนั้น พระองค์จึงถามกษัตริย์ทั้ง ๒ ฝ่ายว่า น้ำและกษัตริย์ อะไรมีค่ากว่ากัน เมื่อกษัตริย์ตอบว่า กษัตริย์มีค่าหาประมาณมิได้ พระองค์จึงถามผู้คนทั้ง ๒ ฝ่ายว่า “การที่ท่านทั้งหลายจะทำให้กษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ ต้องฉิบหายเพียงเพราะเรื่องน้ำซึ่งมีราคาน้อย ควรแล้วหรือ” ทันทีที่พระองค์ตรัสจบ ทั้ง ๒ ฝ่ายก็นิ่งเงียบ และในที่สุดก็ถอนทัพกลับเมือง เลิกราต่อกัน


---ในกรณีพระเจ้าวิฑูฑภะที่จะยกทัพไปทำลายแคว้นศากยะซึ่งเป็นเครือญาติ พระพุทธองค์ก็ใช้วิธีการคล้ายกันนี้ โดยเสด็จประทับใต้ร่มเงาไม้โปร่งต้นหนึ่งกลางทาง เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะเห็นจึงถามพระพุทธองค์ว่า ทำไมไม่ประทับใต้ร่มไม้ที่ทึบ แดดจะได้ไม่ส่อง คำตอบของพระองค์คือ “มหาบพิตร ร่มเงาของญาติย่อมร่มเย็นกว่า” คำตรัสของพระพุทธองค์ทำให้วิฑูฑภะได้คิด และยกทัพกลับไป


*๔.ช่วยให้คู่ขัดแย้งหาคำตอบด้วยตนเอง


---ผู้ไกล่เกลี่ยไม่ควรเป็นผู้หาทางออกให้แก่คู่ขัดแย้ง แต่ควรช่วยให้คู่ขัดแย้งหาคำตอบและบรรลุข้อตกลงด้วยตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งผู้ไกล่เกลี่ยมิใช่ผู้พิพากษาหรืออนุญาโตตุลาการ ที่มีหน้าที่คิดค้นคำตอบให้คู่ขัดแย้งปฏิบัติตาม ทั้งนี้ก็เพราะผู้ไกล่เกลี่ยไม่มีอำนาจที่จะบังคับคู่ขัดแย้งได้ ความขัดแย้งจะเปลี่ยนเป็นความคืนดีได้ก็ต่อเมื่อคู่ขัดแย้งพอใจข้อตกลง และคู่ขัดแย้งจะพอใจข้อตกลงได้ต่อเมื่อเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของตนเอง


---จากตัวอย่างการไกล่เกลี่ยของพระพุทธเจ้า ๒ กรณี จะเห็นว่าพระพุทธองค์มิได้เป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิด แต่ให้ทั้ง ๒ ฝ่ายพิจารณาด้วยตนเองว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป ตัวอย่างกรณีแม่น้ำโรหิณียังชี้อีกว่า การตั้งคำถามให้คิดนั้นมีความสำคัญไม่น้อยในการกระตุ้นให้คู่ขัดแย้งค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในการแก้ไขความขัดแย้ง บ่อยครั้งคำถามมีความสำคัญยิ่งกว่าคำตอบ หน้าที่ประการหนึ่งของผู้ไกล่เกลี่ยจึงได้แก่การตั้งคำถามแก่คู่ขัดแย้ง และควรเป็นคำถามเปิด (คำถามที่มิได้ลงท้ายว่า ใช่หรือไม่) เพื่อมิให้เป็นการจำกัดคำตอบ เช่น กรณีขัดแย้งเรื่องเขื่อน ขณะที่ผู้คนในสังคมโต้เถียงกันแค่ว่า จะเอาเขื่อนหรือไม่ ผู้ไกล่เกลี่ยควรตั้งคำถามว่า จะแก้น้ำท่วมอย่างไร  แทนที่จะถามว่าจะเอาป่าหรือเอาไฟฟ้า ควรถามว่า จะได้ทั้งป่าและไฟฟ้าได้อย่างไร

 

*๕.สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับคู่ขัดแย้ง


---ความไว้วางใจอย่างแรกที่ต้องสร้างขึ้นก็คือความไว้วางใจในตัวผู้ไกล่เกลี่ย หากคู่ขัดแย้งเห็นว่าผู้ไกล่เกลี่ยไม่เป็นกลาง ลำเอียงเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง การไกล่เกลี่ยย่อมล้มเหลวตั้งแต่แรก


---เมื่อคู่ขัดแย้งไว้วางใจในตัวผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการทำให้คู่ขัดแย้งไว้วางใจซึ่งกันและกัน คือไว้วางใจว่าทั้ง ๒ ฝ่ายจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ด้วยการเจรจา ไม่มีการซื้อเวลาโดยใช้การเจรจาหรือการไกล่เกลี่ยเป็นข้ออ้าง ผู้ไกล่เกลี่ยพึงตระหนักว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งถึงขั้นทะเลาะวิวาทกัน ไม่มีอะไรที่สำคัญและหายากเท่ากับความไว้วางใจกัน


*๖.พูดด้วยสัจจะ เมตตา ขันติ และสติ


---คุณธรรมของผู้ไกล่เกลี่ยเป็นสิ่งสำคัญมาก  ในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ไขความขัดแย้งแบบสันติวิธีพุทธพจน์ข้างล่างนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ไกล่เกลี่ย “ตถาคตย่อมกล่าววาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์  แต่วาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้นตถาคตย่อมรู้กาล (เลือกเวลา)ที่จะกล่าววาจานั้น.....


---ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความ เอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย....... 


---เราจักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร


---เราจักกล่าวคำจริง จักไม่กล่าวคำไม่จริง


---เราจักกล่าวคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวคำหยาบ


---เราจักกล่าวคำที่เป็นประโยชน์ จักไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์


---เราจักกล่าวด้วยเมตตาจิต จักไม่กล่าวด้วยโทสะ” (ม.ม.๑๓/๙๔)


---พุทธพจน์ข้างต้นเน้นสัจจะ เมตตา และปัญญาของผู้ไกล่เกลี่ย แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีขันติและสติมาประกอบด้วย หากปราศจากขันติ ผู้ไกล่เกลี่ยย่อมเกิดโทสะได้ง่ายเมื่อเจอกับความโกรธ ความดื้อดึง หรือความหวาดระแวงของคู่ขัดแย้ง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีสติ เพื่อรักษาความเป็นกลาง ไม่ให้อคติเกิดขึ้นในใจตน อันจะส่งผลบั่นทอนความไว้วางใจของคู่ขัดแย้งได้โดยไม่รู้ตัว


*๗.คุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ย


---คุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ย กล่าวโดยสรุป มีดังนี้ 


---เป็นผู้มีสติ มีความประพฤติเรียบร้อย 


---มีคุณธรรมที่ทั้ง ๒ ฝ่ายยอมรับ


---พูดได้ชัดแจ้ง มีความสามารถในการสื่อสารอย่างถูกต้องแม่นยำจากคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่ง ไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง


---มีทักษะในการถาม และควบคุมเหตุการณ์โดยไม่ใช้การบีบบังคับ


---มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องราวขององค์กรหรือตัวบุคลคู่ขัดแย้ง


---มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว


---สัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งที่มีฐานะตำแหน่งต่างกันอย่างเท่าเทียม มีความเคารพ และเมตตา สู่การไกล่เกลี่ยที่ครบองค์ประกอบ


---หลักการไกล่เกลี่ยที่กล่าวมาข้างต้นเน้นเรื่องตัวบุคคลและอารมณ์ของคู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบ ๑ ใน ๓ ของความขัดแย้ง จนดูเหมือนว่าพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่เฉพาะเรื่องจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น ที่จริงองค์ประกอบอีก ๒ ส่วนคือ ประเด็นปัญหาและกระบวนการในการจัดการกับความขัดแย้ง ก็เป็นเรื่องที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญเช่นกันและถือว่าเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ในการแก้ไขความขัดแย้ง การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งจะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคำนึงถึงองค์ประกอบครบทั้ง ๓ ประการ การจัดการแต่อารมณ์ความรู้สึกของคู่ขัดแย้งอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ถึงแม้คู่กรณีจะเริ่มมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน แต่ถ้าหากขาดกระบวนการในการเจรจาที่ดี ก็อาจเกิดปัญหาได้ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่น ลงเอยด้วยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอม (lose/win) หรือประนีประนอม คือได้คนละครึ่ง ซึ่งก็ยังไม่ดีเท่ากับที่คู่ขัดแย้ง เป็นฝ่าย “ได้” ทั้ง ๒ ฝ่าย (win/win)


---พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร เห็นได้จากในวินัยของพระสงฆ์ (ซึ่งมิได้มีแค่สิกขาบท ๒๒๗ ข้ออย่างที่เข้าใจกัน) มีข้อกำหนดอย่างละเอียดเกี่ยวกับการระงับความขัดแย้งในหมู่สงฆ์ (อธิกรณสมถะ) โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การตัดสินโดยเสียงข้างมาก (เยภุยยสิกา) การคืนดีทั้ง ๒ ฝ่าย โดยให้เลิกแล้วต่อกัน (ติณวัตถารกวินัย) อย่างไรก็ตามวิธีการระงับความขัดแย้งดังกล่าวใช้เฉพาะกับพระสงฆ์ มิได้ใช้ทั่วไป อีกทั้งในทางปฏิบัติก็เอามาใช้ภายในหมู่พระสงฆ์น้อยมากจนแทบจะเลือนหายไป ดังนั้นจึงมิได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่เลย


---อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ยมากพอสมควร ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายมาก อันอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ขณะเดียวกันในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความขัดแย้ง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแนวคิดและวิธีการในการจัดการกับองค์ประกอบข้อนี้มากเช่นกัน (เช่น การแยกแยะระหว่าง “จุดยืน” หรือ position กับ “ความต้องการ” หรือ interest) แนวคิดและวิธีการเหล่านี้มีประโยชน์มาก และสอดคล้องกับหลักการระงับความขัดแย้งแบบพุทธ ดังนั้นจึงน่าที่จะนำมาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการไกล่เกลี่ยแบบพุทธได้โดยไม่ยาก ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการกับความขัดแย้งแบบพุทธครอบคลุมทั้ง ๓ องค์ประกอบ


---ควรกล่าวในที่นี้ว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยแบบพุทธตามที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็สามารถเข้ามาเสริมกับวิธีการไกล่เกลี่ยแบบตะวันตกได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะการระงับความขัดแย้งแบบตะวันตกนั้นมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องประเด็นปัญหาและกระบวนการมาก ขณะที่เรื่องคนและอารมณ์ความรู้สึกดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก ตรงนี้เองที่กระบวนการไกล่เกลี่ยแบบพุทธจะเข้ามาเสริมได้ เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องความติดยึดและอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นอุปสรรคต่อการระงับความขัดแย้ง กล่าวได้ว่ามิติด้านอารมณ์นั้นเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของกระบวนการไกล่เกลี่ยที่พึงปรารถนา และเป็นจุดสุดท้ายที่ชี้วัดว่าการไกล่เกลี่ยนั้นประสบผลหรือไม่ การไกล่เกลี่ยใด ๆ แม้จะมีข้อสรุป แต่ถ้าไม่สามารถขจัดอคติและความระแวงต่อกันได้แล้ว ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จได้เลย.






...............................................................






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 28 กันยายน 2558


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,779,622
เปิดเพจ10,588,459
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view