/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ต้นเหตุที่ทำให้ร่ำรวย

ต้นเหตุที่ทำให้ร่ำรวย

เหตุใดจึงมีฐานะร่ำรวย






---ในบทก่อน เราทราบว่าด้วยกรรมอย่างไร จึงทำให้คนเรามีรูปงาม แต่ยังไม่คำนึงถึงเรื่องน่าเศร้า ที่คนรูปงามจำนวนมากกรูกันเอาความสวยความหล่อไปขายกิน ด้วยข้ออ้างยอดนิยมคือ เพราะเกิดมายากจน เลยไม่อยากทนเก็บความสวยหล่อไว้ขึ้นหิ้ง ในบทนี้จะแสดงให้เห็นว่า ทานและศีลนั่นเอง ที่ทำให้คนเรามีทรัพย์มาก และทรัพย์นั้นไม่พินาศไปโดยเหตุสุดวิสัยป้องกัน

 

*ความต่างระหว่างคนรวย


---ขอทานที่นั่งรับเศษเงินตั้งแต่เกิดมีอยู่มากมาย เราเห็นพวกเขาเสมอกันหมด แต่เชื่อไหมว่าพวกเขารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างกัน ขอทานบางคนได้เศษเงินมากมายเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่ขอทานบางคน มีรายได้น้อยและต้องร่อนเร่หาที่ปักหลักใหม่อยู่เรื่อยๆ นี่จึงเป็นที่มาของขบวนการสร้างภาพน่าสงสาร และบางทีก็มีเด็กเคราะห์ร้าย (ด้วยกรรมเก่า) ถูกตัดมือตัดเท้าเอามาตากแดดขอทานด้วย


---ทำนองเดียวกัน แม้มีศัพท์อย่างเป็นทางการเช่น ‘เศรษฐี’ เอาไว้ใช้ยังไม่พอ ต้องมีการขยายเป็น ‘มหาเศรษฐี’ และ ‘อภิมหาเศรษฐี’ เข้าไปอีก ผู้เป็นเศรษฐีควรมีเงินกี่ล้านก็ไม่ทราบ แต่ลองได้ชื่อว่าเศรษฐีแล้วก็จะไม่มีคำถามแบบคนทั่วไป เช่น “มีสิบล้านทำไมไม่ฝากธนาคารเก็บดอกเบี้ยกินไปจนตาย อะไรเป็นแรงจูงใจให้ทำงานต่อเหนื่อยยากเปล่าๆ”


---คนจนย่อมเปรียบเทียบและเห็นความต่างระหว่างคนจนด้วยกันง่าย คนรวยก็เช่นกัน ย่อมเปรียบเทียบและเห็นความต่างระหว่างคนรวยด้วยกันไม่ยากนัก แม้ว่าอาจจะขับเบนซ์ท็อปคลาสเหมือนๆกัน แต่ตามไปดูบ้านอาจใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ตามไปดูที่บริษัทอาจเห็นความหรูที่แตกต่าง และตามไปดูการใช้ชีวิตอาจเห็นระดับอิทธิพลเป็นคนละเรื่อง


---ในระหว่างคนร่ำรวยด้วยกัน ย่อมเห็นกันและกันได้ชัดถึงความต่างสารพัดด้าน นับตั้งแต่ความสุขกับความทุกข์ที่ได้รับจากความรวย รสนิยมในการกว้านซื้อสมบัติพัสถาน การมีคู่ชีวิตและครอบครัวที่เสริมสร้างหรือบั่นทอนทรัพย์ ตลอดไปจนกระทั่งขีดความสำเร็จทางธุรกิจ เช่น สัดส่วนกำไรที่ได้คืนมาจากการหว่านเม็ดเงินเท่าๆกัน ระยะเวลารอคอยกี่เดือน กี่ปี กว่าจะได้ทุนคืน หนี้สินที่ต้องรีบหาเงินมาใช้ให้ทันตามกำหนด ฯลฯ


---และไม่ใช่น้อยๆ เลย ที่ไม่ได้เป็น ‘เศรษฐีชั่วชีวิต’ คือ รวยเดี๋ยวเดียวก็ประสบกับหายนะในรูปแบบต่างๆ ถูกโกงบ้าง ถูกปล้นเอาซึ่งๆ หน้าบ้าง หรือถูกภัยจากน้ำและไฟทำลายล้างเอาบ้าง อย่างนี้คือ รวยวูบเดียว หรือรวยแบบไม่ยั่งยืน


---สรุปคือ ไม่ใช่พูดง่ายๆ แค่ ‘เขาเป็นคนรวย’ แล้วจบ พูดแค่นี้ยังจินตนาการกันไม่ได้แจ่มแจ้งหรอก ว่าหมายถึงคนแบบไหนกันแน่ และคนรวยก็มีความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งติดตัวอยู่ ระหว่าง ‘เกิดมารวย’ กับ ‘ขยันทำงานจนรวย’ คนที่รวยจริง มีอิทธิพลยิ่งใหญ่จริง ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทหลัง ถ้าหากสำรวจดู ๔๐๐ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด จะต้องทำงานกันเป็นบ้าเป็นหลังเกือบทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นยังมีจำนวนมากที่ผ่านความยากจนในวัยเด็กมาก่อน น้อยเท่าน้อยชนิดหนึ่งในล้านที่รวยเอาๆด้วยการอยู่เฉยๆ แล้วมีคนนำเงินกับอำนาจมาประเคนให้


---อย่างไรก็ตาม ถ้าขาด ‘ฐานความรวย’ อยู่ก่อน ก็ยากที่จะไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับได้ ฐานความรวยอาจหมายถึง ความรู้ มุมมอง สติปัญญา ไหวพริบปฏิภาณ ตลอดจนกระทั่งกิจการเล็กๆ ที่พ่อแม่ให้สืบทอด

 

---มองอีกด้านหนึ่ง เรื่องสติปัญญานั้นบางทียากว่าจะเอาอะไรมาวัด หากรู้จักกับบรรดา ‘อภิมหาเศรษฐี’ หลายๆ คน เราจะพบความจริงประการหนึ่ง คือ บางทีพวกเขาไม่ได้เก่ง ไม่ได้ฉลาด ไม่ได้มีความสามารถน่าอัศจรรย์อะไรมากไปกว่า ‘ถนัดทำเงิน’ บางคนเหมือนพ่อมดแห่งวงการเก็งกำไร เก็งการลงทุนอะไรแม่นไปหมด บางคนก็เหมือนเดาใจผู้บริโภคถูกทุกที ประชาสัมพันธ์สินค้าธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสินค้าน่าปรารถนาไปได้อย่างเหลือเชื่อ


---เศรษฐีบางคนเหมือนไม่ค่อยทันคน หรือกระทั่งไม่ค่อยทันเกมธุรกิจของตัวเองเสียด้วยซ้ำ แต่กลับทำเรื่องน่าตกตะลึงให้กับคู่แข่งด้วยการสร้างรายได้คุ้มทุนเสมอ ชนะการทำงานหนักเต็มสติปัญญาของคู่แข่งเสมอ ต่อให้มีเล่ห์เหลี่ยมเชิงธุรกิจแพรวพรายปานใดก็โค่นกันไม่ลงเลย


---ตำราในมหาวิทยาลัยธุรกิจจำเป็นต้องกัดฟันใส่คำว่า ‘โชคช่วย’ เข้าไปในปัจจัยความสำเร็จและความรุ่งโรจน์ นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องยอมรับ และคำนี้เพียงคำเดียวอาจล้มล้างทุกทฤษฎีที่เลิศสุด ประกันความสำเร็จได้สูงสุด เพราะต่อให้มีปัญญา มีความขยัน มีความอดทนฟันฝ่าอุปสรรคกี่สิบปี ถ้าขาดโชคช่วยตัวเดียว ก็อาจไม่ได้เป็นเศรษฐีกับเขาสักที หรือกว่าจะเป็นเศรษฐีก็เข้าวัยชรา ปล่อยให้ลูกหลานชุบมือเปิบเม็ดเงินที่ตนเองอุตส่าห์สร้างสมมาจนชั่วชีวิต


---ความจริงคือ สติปัญญา ความมุ่งมั่น ความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ความพากเพียรอย่างต่อเนื่อง ความรู้จักสินค้าและลูกค้า ล้วนแล้วแต่เป็น ‘เบื้องหน้า’ ที่สำคัญต่อการประสพความสำเร็จเชิงธุรกิจ แต่ยังมี ‘เบื้องหลัง’ เป็นบุญเก่าหนุนนำอยู่ด้วย การศึกษาพุทธพจน์จะทำให้เราทราบว่า ‘โชคช่วย’ นั้นไม่มี มีแต่ ‘บุญช่วย’ ทั้งสิ้น


---ขอให้ทำความเข้าใจดีๆ ว่าบทนี้เน้นกล่าวถึง วิบาก ซึ่งเกือบทุกคนในโลกมองว่าเป็น ‘โชค’ ตัวอย่างเช่น ทำไมรวยมาแต่เกิด เหตุใดทำมาค้าขึ้นนัก แล้วเพราะอะไรบางคนถึงเจอลาภลอยเป็นประจำ


---วิบากของการทำทานสามารถให้ผลทันตาในชาติปัจจุบัน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องรอดูผลเมื่อเกิดใหม่ชาติหน้า อย่างไรก็ตาม ความเป็นชาติปัจจุบัน คือ การจองจำไว้กับผลกรรมเก่าทั้งดีและร้ายในอดีต เพราะฉะนั้นถ้าหากเคยทำกรรมในทางตระหนี่มามากๆ ก็อาจถูกบีบไว้ให้ขยับยาก โดยเฉพาะถ้าไม่มีกรรมดีที่จะทำให้เกิดลาภลอยมาช่วยเพื่อให้เป็นที่เข้าใจง่าย ขอแสดงพุทธพจน์เกี่ยวกับวิบากของทานไว้เป็นเปลาะๆ แยกเป็นหัวข้อดังนี้

 

*กรรมทางใจที่ทำให้ร่ำรวยสูงสุด


---ให้ของเหมือนกัน แต่ใจแตกต่าง ก็ให้ผลผิดกันได้ลิบลับ พระพุทธเจ้าจำแนกอาการของใจในขณะให้ไว้เป็นต่างๆ  แต่ละอาการล้วนเป็นกำลังหนุนให้วิบากออกดอกออกผลเป็นความมั่งคั่ง   หากใครให้ทานด้วยอาการของใจดังต่อไปนี้ครบถ้วน เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะมีผลไพบูลย์สูงสุด  ส่งผลเป็นความมั่งคั่งถึงที่สุดเท่าที่ทานนั้นๆ จะอำนวย


---๑)ให้ด้วยความศรัทธา คือ มีความเลื่อมใสอยู่ก่อนว่าทานเป็นของดี เป็นของที่ให้ความสุขในปัจจุบัน และเที่ยงที่จะติดตามไปให้ความสุขแก่เราในอนาคต ทั้งนี้ไม่ได้หมายเอาอาการโลภแบบจำเพาะเจาะจงว่าขอให้รวยเท่านั้นเท่านี้ เมื่อนั่นเมื่อนี่ อาการทางใจเช่นนั้นไม่ใช่ศรัทธาในบุญ   แต่เป็นการลงทุนของนักธุรกิจอย่างหนึ่ง ผู้ศรัทธาในการเอากำไรเข้าตัว หรือถ้าให้โดยปราศจากศรัทธา ให้อย่างเสียไม่ได้ ให้เพราะจำใจ ให้เพราะตามๆ ญาติมา แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยความศรัทธาดีแล้ว ยังมีผลให้รูปร่างหน้าตาและผิวพรรณงดงามยิ่งอีกด้วย


---๒)ให้ด้วยความเคารพ คือ มีความรู้สึกอยู่ว่า การทำทานเป็นของสูง ไม่ใช่ของต่ำ จึงไม่ควรโยนให้ หรือเสือกให้ เหมือนเป็นของเหลือเดน การถวายทานแด่สงฆ์จัดเป็นการฝึกใจให้ทำทานด้วยความเคารพได้อย่างดี เพราะรู้สึกอยู่ว่าท่านใช้ชีวิตที่สะอาดสูงส่งกว่าเรา หรืออย่างน้อยพวกท่านก็นุ่งห่มจีวรอันเป็นธงชัยพระอรหันต์ สืบทอดพระศาสนาให้ต่อเนื่องไม่สาบสูญ ถ้าให้ทานโดยปราศจากความเคารพ ให้แบบโยนกระดูกลงพื้น ให้ด้วยความเหยียดหยาม หรือให้แบบแดกดัน แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยความเคารพดีแล้ว ยังมีผลให้ดูเป็นคนน่าเลื่อมใสควรแก่การเชื่อฟังอีกด้วย


---๓)ให้โดยกาลอันควร คือ ให้อย่างรู้จักความเหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลาหนึ่งๆ เช่น เมื่อเห็นพระตาแดง ก็ขวนขวายเป็นธุระหายาหยอดตามาให้ท่าน เห็นวัดมีทางโคจรของพระที่เฉอะแฉะ ก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำทางให้แห้งหรือเทปูนให้พวกท่านไปเลย ไม่ใช่เห็นท่านอยู่ปกติก็เอายาหยอดตาไปถวายขวดเดียวโดดๆ ด้วยความคิดว่าสักวันหนึ่งท่านอาจจะตาแดง แต่ถ้าซื้อยาสามัญครบชุดไปถวาย ด้วยความคิดว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ เผื่อไว้ว่าท่านอาจจำเป็นต้องใช้ อย่างนี้ถือว่าให้โดยกาลอันควร ถ้าให้ทานโดยปราศจากความเหมาะสมกับกาล แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้โดยกาลอันควรดีแล้ว ก็จะเป็นผู้ได้ของตามต้องการในเวลาไม่เนิ่นช้าอีกด้วย


---๔)ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ คือ ให้ด้วยความปรารถนาจะช่วยผู้รับในเรื่องหนึ่งๆ อย่างแท้จริง เช่น เมื่อเลือกซื้อยาสีฟันถวายพระ ก็หยิบเอายี่ห้อดีที่สุด ที่เราทราบว่ามีคุณภาพในการรักษาเหงือกและฟัน โดยไม่เกี่ยงงอนเรื่องราคา อย่างนี้ถือว่าให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ถ้าให้ทานโดยปราศจากจิตคิดอนุเคราะห์ แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยจิตคิดอนุเคราะห์ดีแล้ว ก็จะเป็นผู้มีรสนิยมดี เลือกใช้ของมาทำความเพลิดเพลินเจริญสุขอันเป็นไปด้วยกามคุณ ๕ ได้อย่างฉลาดอีกด้วย (ตรงนี้ขอให้สังเกตว่าบางคนเงินไม่ได้เนรมิตทุกสิ่งในชีวิตให้ดูดีโดยอัตโนมัติ บางคนมีเงินมากก็จริง แต่ไม่รู้จักร้านอร่อย ซื้ออาหารผิดสุขลักษณะ เลือกของแต่งบ้านไม่เป็น นั่งทำงานในที่สกปรกรุงรัง งกเสียจนแม้ข้าวของเครื่องใช้ผุพังก็ดันทุรังใช้ต่อ ในขณะที่บางคนมีทรัพย์สมบัติเพียงปานกลาง แต่ความเป็นอยู่ดูดีคุ้มเงินยิ่ง)


---๕)ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ ให้โดยไม่ประชด ให้โดยไม่แข่งขันชิงดี ให้โดยไม่คิดเอาหน้าเกินใคร ขอให้สังเกตว่า บางคนอยากได้บุญเป็นอันดับหนึ่ง นึกว่าเป็นเช่นนั้นได้ก็ด้วยการไปอยู่หัวแถวสุดเสมอ แทบจะใช้แขนปาดกวาดต้อนคนอื่นไปอยู่ข้างหลังเลยทีเดียว หรือบางคนก็ทำบุญแบบเกทับกัน เช่นเ ห็นเขาให้ก่อน ๕๐๐ ตัวเองรีบหยิบแบงก์พันขึ้นมาสู้ จิตมีอาการคิดเบ่ง คิดทำให้เขาเสียหน้าหรือน้อยหน้า ถ้าให้ทานด้วยจิตคิดกระทบกระทั่ง แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยจิตไม่คิดกระทบกระทั่งดีแล้ว ก็จะทำให้ทรัพย์สินปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น

 

---ถ้าหากเกิดข้อสงสัยว่าเราจะมีอาการทางใจถึง ๕ ประการพร้อมๆ กันได้อย่างไร ในเมื่อคนเราคิดได้ทีละอย่าง ก็ขอให้หมั่นฝึกสังเกตเถิดว่าเรายังมี ‘ข้อเสีย’ ในการทำทานอย่างไรอยู่บ้าง เมื่อรู้ตัวก็ฝึกใหม่ เช่น ขณะหนึ่งในการให้ รู้สึกว่าเป็นการให้เพียงด้วยกิริยาทางกาย ใจ ไม่เป็นสุข แห้งแล้งเหมือนดอกไม้ขาดฝน ก็ควรศึกษาประโยชน์ของทานทั้งปัจจุบันและอนาคตให้ดี น้อมใจว่าการให้ทาน ก็คือ การสละยางเหนียวเหนอะหนะของความตระหนี่ เมื่อทำลายความทึบย่อมเกิดความรู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย และการให้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาว่าผลทานจะบันดาลสุขทางโภคทรัพย์ยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต จิตก็จะได้คิดปลื้ม เลิกทำทานแบบบัวแล้งน้ำเสียได้ การสังเกตข้อเสียในการทำทานไปทีละข้อ จนเห็นว่าไม่เหลือข้อเสียแล้วนั่นแหละ เป็นที่มาของกรรมทางใจที่จะบันดาลผลให้มั่งคั่งสูงสุด


---คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดอยู่ว่า ทำแบบใหญ่พรวดพราดโครมเดียวแล้วจะรวยทันใจ ทั้งปัจจุบันและอนาคต ความจริง คือ ถ้าอาการทางใจยังไม่สมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว ผลของทานก็มักจะยังไม่ปรากฏตัว ต่อเมื่อใจเริ่มเป็นสุข มีความสมัครใจ มีความยินดีแท้จริงจากส่วนลึกว่า ‘อยากให้’ โดยปราศจากเงื่อนไขทั้งปวง จะเหมือนพลังความสุขแห่งทานเอ่อล้นจากภายใน ส่งคลื่นรบกวนเหตุการณ์ภายนอกให้แปรปรวน กลับดำเป็นขาว กลับมืดเป็นสว่าง กลับแคบเป็นเปิดกว้างไปด้วย ต่อให้เคยฝืดเคืองลำบากลำบนอย่างไร ก็เหมือนจะมีตัวช่วย ตัวหล่อลื่นให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


---และถ้ามีน้ำจิตเป็นทาน หรือที่เรียกว่า มีทานจิตอย่างสมบูรณ์ วันไหนไม่มีโอกาสสละให้แล้วรู้สึกเหมือนชีวิตขาดบางอย่างไป นั่นแหละกรรมได้เตรียมภพอันเปิดกว้างสว่างสบายตามจิตไว้แล้ว เมื่อเคลื่อนจากชาติปัจจุบัน ละโลกนี้ไปแล้ว กรรมย่อมเลือกสรรให้ไปอยู่ในภพซึ่งมีความสุกสว่างรุ่งโรจน์ทางการเงินอย่างแน่นอน

 

*ประเภทของผู้รับที่ขยายผลทานเป็นต่างๆ


---จากหัวข้อก่อนคงเห็นแล้วว่าแม้แต่การให้ ก็เป็นของที่ต้องฝึก ไม่ใช่สักแต่ให้ๆ ไปก็ได้ผลเหมือนกัน คนทั้งโลกผิดแผกแตกต่างหลายหลากก็เพราะ ‘การสมัครใจฝึกตน’ นี่เองและเหมือนธรรมชาติจะกลัวเกมกรรมไม่สนุกพอ พอทำเงื่อนไขฝ่ายผู้ให้ครบถ้วน ก็มาเจอเงื่อนไขฝ่ายผู้รับเข้าอีก เปรียบเหมือนการหว่านพืช แค่เมล็ดพันธุ์ดียังไม่ถึงการนับว่าสมบูรณ์แบบ ต้องดูด้วยว่าเอาไปใส่ในดินดีแค่ไหน ถ้าลงในดินดีพืชก็เจริญงอกงาม ถ้าลงในดินเสียก็เหี่ยวเฉาหรือแทบปลูกไม่ขึ้นเอาเลย


---อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงผู้รับทาน พระพุทธองค์จะตรัสไว้ครบ ไม่ให้คิดลำเอียงอยากทำทานกับใครโดยเฉพาะ ดังเช่นที่ท่านตรัสว่า เรากล่าวว่าแม้ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะหรือน้ำล้างขัน ไปที่บ่อน้ำครำหรือในบ่อโสโครกข้างประตูบ้าน ซึ่งมีสัตว์อาศัยอยู่  ด้วยความตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยแหล่งน้ำนั้น จะดำรงชีพอยู่ได้ด้วยของที่สาดไป ก็เป็นเหตุ เป็นที่มาแห่งบุญแล้ว


---ขอให้พิจารณาดีๆ แม้สัตว์ซึ่งอยู่ในอบายภูมิ เช่น หมา แมว หรือปู ปลา นั้น ก็เป็นที่มาแห่งบุญได้ และที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เพียงเท่านี้ ก็เป็นเรื่องน่าคิดต่อหลายๆ ประการ เช่น บุญนั้นสำเร็จด้วยกิริยาทางใจ ไม่ใช่สำเร็จด้วยกิริยาทางกาย คนสาดน้ำทิ้งไปเหมือนๆ กัน แต่แค่คิดต่างกันหน่อยเดียวยังเป็นบุญได้เลย


---อีกประการหนึ่ง เราควรมองให้เห็นว่าบุญนั้นเรียงรายให้หยิบฉวยอยู่ตลอดวันตลอดคืน ไม่ควรดูดายว่าเป็นของเสียเวลาเปล่า ไม่ควรเห็นโอกาสใดๆ เป็นเพียงของเล็ก และไม่ควรดูเบาว่า การทำบุญเล็กๆ นั้นไม่สมศักดิ์ศรี ขอเพียงรู้ทางมาแห่งบุญ เป็นผู้เต็มใจกระทำกิจอันเป็นบุญด้วยความร่าเริง ในที่สุดย่อมเหมือนหยอดกระปุกทีละสิบยี่สิบ รวมไปรวมมาเป็นปีๆ อาจได้นับหมื่น เหนือกว่าพวกเก็บทีละร้อยทีละพันแบบนานทีปีหนเสียอีก


---ประการสุดท้าย ลองพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ทานอันเกิดจากการสาดน้ำทิ้งนั้น เป็นที่มาแห่งบุญ คือ เป็นที่ตั้งของจิตอันเป็นทานได้ ดังนั้น ถ้าให้ด้วยศรัทธาในบุญ ให้โดยไม่ดูแคลนว่าเป็นบุญเพียงน้อย กำหนดใจให้อย่างสม่ำเสมอทุกครั้งที่สาดน้ำทิ้ง ด้วยความคิดอนุเคราะห์  เช่น ขอให้อาหารในน้ำทิ้งจงทำให้เขาอิ่มหนำ กับทั้งให้โดยไม่ได้คิดเล็กคิดน้อย  เช่น ประชดตัวเอง ที่ขาดวาสนาทำบุญใหญ่จึงทำบุญได้มากสุดแค่ด้วยน้ำทิ้ง ด้วยอาการทางใจที่พรั่งพร้อมเช่นนี้ การสาดน้ำทิ้งก็เป็นทางมาของความร่ำรวยได้ เพราะจิตที่มีความสำราญในการให้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นเอง เป็นผู้ก่อภพแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย

 

---การให้ทานกับสัตว์เป็นของดี เพราะโดยมากเราจะไม่หวังการตอบแทนในทางใดๆ จากสัตว์ โดยเฉพาะถ้าเป็นสัตว์ข้างถนน หรือสัตว์ในน้ำที่ไม่มีใครสนใจ การฝึกให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนั้น นับเป็นก้าวแรกอันประเสริฐ หากให้ทานเป็นมูลค่าอาหารเพียงเล็กๆ น้อยๆ กับสัตว์ แต่มีใจใหญ่ ใจคิดสละให้อย่างถูกต้องตามหลักการที่กล่าวแล้วข้างต้น ทุกคนจะสามารถกล่าวอ้างเป็นสัจจะ ว่าทานกับสัตว์เราทำด้วยดีแล้ว ก็ขออธิษฐานให้ได้ทำทานกับผู้รับที่ทรงคุณใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเถิด


---การทำบุญด้วยใจซื่อต่อทาน ประกอบกับการคิดไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นนี้ มีผลแน่นอนประการหนึ่ง คือ ผลของทานจะงอกเงยขึ้นทีละน้อย และจะได้พบมนุษย์ที่สมควรรับทานจากเรา  โดยที่เราไม่มีความเดือดร้อนแม้แต่นิดเดียว กับทั้งมีกำลังใจในอันที่จะบริจาคหรือสละทรัพย์สินหรือสิ่งของส่วนเกินออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีร่มคันหนึ่งที่ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ก็จะมีบุคคลที่กำลังประสบความลำบากจากฝนฟ้า ซึ่งเราเห็นแล้วจะนึกขึ้นได้ว่าตัวเองมีร่มให้เขาเอาไว้ใช้โดยไม่จำเป็นต้องมาคืน


---เมื่อทำทานจนสัมผัสถึงประกายสุขจากใจ อิ่มเอมเปรมปลื้มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง ก็จะอยากทำทานให้ยิ่งๆ ขึ้นเอง แม้ยังไม่มีเงินทองเป็นกองภูเขา แต่ใจเราก็จะไม่ตระหนี่ถี่เหนียว อยากกักไว้เป็นส่วนตัวเฉยๆ เหมือนเก่า ที่ตรงนั้นก็จะเริ่มคิดถวายพระสงฆ์องค์เจ้าขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติทีเดียว เพราะทานจิตย่อมทำให้เราเกิดสัญชาตญาณรู้ขึ้นเองว่าให้กับใครถึงจะอิ่มใจยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา

 

---ในการจะบอกพวกเราว่าผู้รับทานจากเรานั้น มีส่วนขยายผลเป็นอัตราส่วนมากน้อยเพียงใด พระพุทธองค์จะตรัสโดยเปรียบเอาการมีสมบัติหนึ่งชิ้นเป็นบุญหนึ่งหน่วย เหมือนเรามีทุนอยู่หนึ่งบาท พอทำทานแล้วจะคืนกำไรกลับมากี่บาท ท่านจำแนกไว้พอให้เป็นที่ประมาณเอาด้วยจินตนาการดังนี้

 

---๑)ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลร้อยเท่า


---๒)ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลพันเท่า


---๓)ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลแสนเท่า


---๔)ให้ทานในบุคคลนอกศาสนา ผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลแสนโกฏิเท่า (แสนโกฏิเป็นสำนวนที่บอกว่า มีมากเหลือเกิน เพื่อความสบายใจและจินตนาการถูก จะตัดเอาแสนออกเหลือแต่คำว่าโกฏิซึ่งแปลว่า ‘สิบล้าน’ ก็น่าจะได้ เพราะยังอยู่ในอัตราส่วนที่ไม่กระโดดเกินไปจากข้อก่อน)


---๕)ให้ทานในผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง (บรรลุมรรคผลขั้นแรก) พึงหวังผลอันนับประมาณไม่ได้

 

---นอกจากนี้ ท่านยังแจกแจงต่อไปอีกว่า ถ้าทำทานกับอริยบุคคล (คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์) ตลอดไปจนกระทั่งพระปัจเจกสัมมาสัมพุทธเจ้า (คือ ท่านผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเองแต่ไม่ก่อตั้งพระพุทธศาสนา) และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (คือ ท่านผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเองและมีบารมีพอจะก่อตั้งพระพุทธศาสนา) จะยิ่งไม่อาจประมาณผลเลยว่า ควรได้ผลตอบแทนกลับมาเพียงใด


---ดังที่กล่าวแล้วว่า เพื่อจินตนาการง่ายจึงได้เปรียบสมบัติที่มีอยู่เป็นเงินหนึ่งบาท เมื่อซื้อขนมให้สัตว์ ๑ บาทจะมีผลตอบกลับเป็นรูปธรรม ๑๐๐ บาท ให้ค่ารถแก่โจรโฉด ๑ บาทจะมีผลตอบกลับเป็นรูปธรรม ๑,๐๐๐ บาท แต่ถ้าช่วยซื้อน้ำแก้วละบาทดับกระหายให้แก่คนดีมีศีลสัตย์ จะเท่ากับลงทุนแบบมีกำไรใหญ่ตอบคืนกลับมาถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาทถ้วน


---หากกำลังรู้สึกว่าเป็นอัตราส่วนที่เหลือเชื่อ เราให้ไปตั้งเท่าไหร่ไม่เห็นรับผลตอบกลับคืนเป็นแสนเป็นล้านสักที ก็ขอให้พิจารณาดีๆ ว่ามีกี่ครั้งที่เราคิดให้จริงๆ โดยมากคนในโลกยุคปัจจุบันจดจ้องจะตะครุบข้าวของเงินทองคนอื่นเสียมากกว่า แม้แต่พ่อแม่ของตัวเองยังไม่ค่อยมีน้ำใจคิดอยากให้ตอบแทนที่พวกท่านมอบชีวิตมาทั้งชีวิตด้วยซ้ำ


---อีกประการหนึ่ง ลำดับการให้ผลของทานเป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรู้ ทานที่ให้ไปนิดๆ หน่อยๆ ด้วยใจไม่เต็มร้อยนั้น มักเข้าคิวรอให้ผลอีกนาน หรืออย่างวิธีคิดของบางคนที่ทำทานหวังสวรรค์ ก็จำเป็นต้องตายเสียก่อนจึงจะได้รับผลทานตามเจตนาของตน


---แล้วก็เหมือนการลงทุนทั่วไป โดยธรรมดาจะไม่ได้กำไรกลับมาโครมเดียว แต่จะกระจายตัว ทยอยคืนมาทีละส่วน ซึ่งธนาคารกรรมเขารู้ของเขาเองว่า จะปันผลผ่อนส่ง ให้ทีละกี่เปอร์เซนต์เป็นระยะเวลานานเพียงใด ตรงนี้เราจะไม่มีทางทราบเลยว่ากำลังได้รับการเลี้ยงดูจากกรรมใดในอดีตอยู่บ้าง


---อันที่จริงในโลกของกรรมอันเป็นนามธรรมนั้น การเปรียบเป็นเงินบาท เงินเหรียญอย่างนี้ไม่ถูกต้องนัก โดยมากผู้ฝึกวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้าจนได้สมาธิผ่องแผ้ว จะเห็นกรรมเป็นดวงสว่างหรือดวงมืดกว้างขวางประมาณหนึ่ง มีกำลังประมาณหนึ่ง สบช่องให้ผลในระยะใกล้ไกลประมาณหนึ่ง


---การมีเงินหนึ่งบาท จัดเป็นวิบากจากความสว่างในบุญเก่าหนึ่งหน่วย แต่เมื่อมองไปอีกแง่ เมื่อเห็นสภาพจิตที่หวงแหนไว้ ตระหนี่ไว้ กอดรัดเงินหนึ่งบาทนั้นไว้กับตัว โดยไม่ทำอะไร แค่พึงใจกับความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของเงินบาท เงินบาทเดียวนั้นจัดเป็นความมืดทึบในซอกมุมหนึ่งของจิตใจเราไปแล้ว


---ต่อเมื่อเห็นตามจริงว่า หนึ่งบาทนั้นเป็นส่วนเกินที่ไม่ต้องใช้ แล้วคิดให้ไปกับบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา ซอกมุมมืดในจิตใจจะถูกทำลายไปหน่วยหนึ่งทันที แม้ซื้อขนมให้สัตว์ราคาหนึ่งบาท ค่าเดิมของเงินบาทก็ทวีตัวขึ้นเป็นร้อยเท่าได้จริงๆ เห็นชัดเป็นความสว่างเหมือนเปลวไฟร้อยแรงเทียนที่จุดขึ้นจากแสงเทียนริบหรี่เพียงเล่มเดียว


---ความสว่างร้อยแรงเทียนนั้นไม่ได้คืนกลับมาเป็นเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้เพียงอย่างเดียว แต่บางทีอยู่ในรูปของปัญญาเห็นทางดีทางชอบ ตลอดจนซื้อสิทธิ์เห็นต้นทางไปสวรรค์นิพพาน ซึ่งนั่นเกินค่าเงินประมาณร้อยพันไปไม่รู้กี่เท่าตัว


---อีกประการหนึ่ง จำนวนเงินและความร่ำรวยบนโลกมนุษย์นั้นเป็นของน้อย จัดเป็นเพียงเศษบุญเก่าเท่านั้น เพราะแม้บางคนมีร้อยล้านพันล้าน ก็ไถ่ตัวเองออกจากทุกข์ไม่ได้ ต่างจากปริมาณความสว่างแห่งบารมีที่จะได้ไปรู้กันบนสวรรค์ บางทีการทำทานทั้งหมดถ้าไม่สบช่องให้ผลบนโลกมนุษย์ ก็จะรวบยอดไปให้ผลจริงจังกันบนสวรรค์หลังจากตายแล้วนั่นเอง


---หากจะตีค่าความสุขบนสวรรค์ด้วยเงินทองบนโลกมนุษย์ เราอาจต้องทุ่มเงินนับล้านๆ บาท เพื่อแลกกันตรงๆ กับการได้ดื่มน้ำอมฤตจอกเดียวที่ข้างสระโบกขรณี แต่ขอเพียงมีใจอนุเคราะห์เต็มกำลังช่วยเหลือคนดีๆ ด้วยเงินเพียงร้อยบาท น้ำอมฤตจอกนั้นก็ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อมเสียแล้ว


---โดยสรุป พระพุทธองค์ทรงตรัสตามจริง คือ มิได้ทรงตั้งแง่ว่าต้องทำบุญกับคนของพระองค์จึงจะได้บุญ แต่ทรงระบุว่า แม้ทำกับสัตว์หรือคนชั่วก็ได้ผลเป็นร้อยเป็นพันเท่าแล้ว หรือทำกับคนนอกศาสนาที่เพียรปฏิบัติเพื่อละกามก็ได้ผลเป็นสิบล้านเท่าแล้ว จะกล่าวไปไยถึงการทำบุญกับคนในศาสนาผู้รู้ทางมรรคผล และกำลังปฏิบัติด้วยใจซื่อต่อมรรคผลที่เขาทราบทางนั้น

 

*ทานที่ให้แบบไม่เลือกหน้า


---ในข้อก่อนเป็นความรู้เบื้องต้น เพื่อใช้จินตนาการจำแนกได้ถูก ว่าให้ทานกับบุคคลเช่นไร จะสะท้อนกลับมาเป็นความร่ำรวยระดับไหน


---หัวข้อนี้จะบอกว่า  ถ้าเราทำทานโดยเจตนาว่าจะทำกับคนนั้นคนนี้ เรียกว่าเป็นการให้ทานแบบเจาะจง ทานนั้นจะให้ผลแบบตรงตัว  ตามเกณฑ์การขยายผลดังที่กล่าวมาแล้ว แต่หากหว่านทานไปแบบไม่เลือกหน้า ก็จะกลายเป็นทานอีกแบบหนึ่งซึ่งมีผลแบบเหมารวม


---ขอเปรียบเทียบว่า การทำทานแบบเจาะจงนั้น เหมือนการโยนหินลงในสระน้ำที่มีเขตจำกัด ต่อให้ทุ่มหินแรงๆ จนเกิดการกระเพื่อมเป็นวงคลื่นมากมายเพียงใด  ก็ไม่เกินความกว้างยาวของสระ เราพอประมาณถูกว่าวงคลื่นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ส่วนการทำทานแบบไม่เลือกหน้านั้น เหมือนการโยนหินลงในผืนทะเลเรียบสุดลูกหูลูกตา เมื่อเกิดวงกระเพื่อมขึ้นแล้วก็จะขยายใหญ่ออกไปโดยที่เราไม่อาจประมาณว่าจะกินอาณาเขตกว้างขวางเพียงใดกว่าจะสิ้นสุดการไล่ตัวของระลอกคลื่น


---การฝึกให้ทานแบบไม่เลือกหน้านั้น จิตไม่รู้ว่าทานตกไปถึงมือใครบ้าง อาจเป็นผู้ทุศีลหรือมีศีล อาจเป็นคนนอกศาสนาหรือในศาสนา อาจเป็นผู้หวังละกามหรือยังหวงกาม อาจเป็นผู้ปฏิบัติตรงทางเพื่อบรรลุมรรคผลหรือเป็นผู้ไม่มีความรู้เรื่องมรรคผลสู่ความพ้นทุกข์เลย สาระอยู่ที่ ‘จิตคิดให้ไม่จำกัด’ ก็จะให้ผลเป็นอนันต์ตามประมาณแห่งเจตนา


---ตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง ที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการตั้งจิตขณะให้ทาน เครื่องของเหมือนกัน แต่ตั้งจิตไว้ต่างกัน ก็อาจให้ผลเป็นคนละเรื่อง บางคนเฝ้าคิดอยู่แต่ว่าทำอย่างไรหนอ จึงได้ทำบุญใหญ่กับพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส บางคนก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยความศรัทธา เชื่อถือส่วนตัวว่า ท่านที่เราเคารพน่าจะเป็นพระอรหันต์ ก็ขอให้ดูเรื่องของพ่อค้าฟืนนามทารุกัมมิกะ


---ทารุกัมมิกะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในครั้งหนึ่ง และครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสถามว่า เธอยังทำบุญทำทานอยู่บ้างหรือไม่ ทารุกัมมิกะกราบทูลว่า เขายังทำบุญทำทานอยู่ และเป็นการถวายทานแด่พระอรหันต์ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ผู้เที่ยวบิณฑบาตรเป็นวัตร ผู้นุ่งห่มผ้าห่อศพเป็นวัตร


---นั่นหมายความว่า ทารุกัมมิกะตัดสินพระอรหันต์จากวัตรปฏิบัติที่ทำอยู่เป็นประจำ ภิกษุใดเคร่งครัดเข้มงวด อยู่ในป่าเขา หาข้าวด้วยลำแข้ง (คือไม่ใช่เอาแต่รอรับนิมนต์) และใช้เครื่องนุ่งห่มแบบมักน้อย คือ พระอรหันต์สำหรับเขา พระพุทธเจ้าปรารถนาจะสงเคราะห์ทารุกัมมิกะและบุคคลผู้ไม่รู้ทั้งหลาย จึงตรัสว่า

 

---ดูกรพ่อค้าฟืน เธอเป็นชาวบ้าน บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีในเงินทองอยู่ จึงยากที่จะทราบว่าภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ดูกรพ่อค้าฟืน ถ้าแม้ภิกษุซึ่งถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็สมควรถูกติเตียน

 

---นอกจากนั้น พระพุทธองค์ยังตรัสจาระไนโดยพิสดาร สรุปความว่า จะอยู่ป่าหรืออยู่บ้าน จะบิณฑบาตหรือรับนิมนต์ จะใช้ผ้าห่อศพหรือรับจีวรที่ชาวบ้านถวาย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย สำคัญที่จิตอันเป็นของภายใน ว่าดีหรือไม่ดี ถ้าจิตดีแล้วท่านจะมีวัตรอย่างไรก็สมควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น


---และในเมื่อชาวบ้านผู้บริโภคกามไม่อาจรู้ตื้นลึกหนาบางอันเป็นของภายในจิตของภิกษุได้ ดังนี้จะควรทำเช่นไร พระพุทธเจ้าตรัสสรุปว่า

 

---ดูกรพ่อค้าฟืน เธอจงให้สังฆทานเถิด เมื่อเธอให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส และเมื่อเธอเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

 

---คำแนะนำของพระพุทธเจ้านั้นมุ่งประโยชน์สูงสุดเสมอ ท่านไม่ให้พ่อค้าฟืนคิดแบบใจแคบอยู่ว่าจะต้องถวายพระอรหันต์ (ตามแบบฉบับการยึดมั่นถือมั่นของชาวบ้านซึ่งไม่สามารถรู้วาระจิตผู้อื่น) แต่แนะการตั้งจิตคิดเลื่อมใสในการถวายสังฆทานแทน เพราะเป็นประกันว่าจะต้องได้บุญใหญ่หลวงเสมอ ไม่ว่าสังฆทานนั้นจะโดนตัวหรือไม่โดนตัวพระอรหันต์ โดนตัวหรือไม่โดนตัวผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

 

---จะเห็นว่า ระหว่างการให้แบบเจาะจงกับการให้แบบไม่เลือกหน้านั้น การให้แบบไม่เลือกหน้า มีผลใหญ่กว่าอย่างประมาณมิได้ และการให้กับมนุษย์ผู้ดำรงชีวิตเพื่อละกาม สละกิเลสเพื่อความพ้นทุกข์นั้น จัดเป็นการให้กับจิตวิญญาณที่มีความสูงส่งเหนือกว่าการให้กับบุคคลประเภทอื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่น


---กล่าวโดยรวบยอด คือ สังฆทานเป็นยอดแห่งทาน เป็นส่วนขยายผลอันเยี่ยมยอดถึงที่สุด


---แต่ยุคเรามักสับสนเกี่ยวกับสังฆทานกันมาก เช่น มีข้อสงสัยว่าอย่างไรจึงเรียกสังฆทาน การถวายสังฆทานอย่างถูกต้องมีพิธีรีตองอย่างไร ถวายแล้วต้องกรวดน้ำให้ใคร ฯลฯ ก็ขอกล่าวรวมๆ ไว้ในที่นี้เพื่อเป็นแนวทางตัดสินว่า เราทำสังฆทานไปบ้างหรือยัง

 

---๑)ของที่ถวายอาจเป็นอะไรก็ได้ แต่ควรเป็นปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เพื่อความสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม เรื่องน่าอีหลักอีเหลื่ออยู่ตรงที่ ของแบบนี้คนใช้ไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนซื้อเลยไม่รู้ว่าควรซื้ออะไรบ้าง เว้นแต่เป็นผู้เคยบวช หรือไปมาหาสู่ ปวารณาตัวรับใช้พระ จัดหาของให้พระตามประสงค์เป็นประจำ ถึงค่อยรู้เรื่องเครื่องของอันควรถวายหน่อย ในที่นี้ขอแนะนำเฉพาะขอบเขตของปัจจัย ๔ เบื้องต้น


---อาหาร-จะเป็นของคาวหวานอย่างไรก็ได้ไม่จำกัด แต่ขอให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าห้ามพระไม่ให้ฉันเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสิงโต เนื้อเสือ และเนื้อหมี


---เครื่องนุ่งห่ม-ได้แก่ ผ้าไตรจีวร


---ยารักษาโรค-ถ้าไม่ทราบว่ามียาใดจำเป็นมาก ก็อาจซื้อชุดยาสามัญประจำบ้านกล่องเล็กหรือกล่องใหญ่ได้


---ที่อยู่อาศัย-คงมีน้อยคนที่ฐานะเอื้ออำนวยพอจะปลูกกุฏิหรือซื้อที่ดินให้พระด้วยกำลังของตนเองตามลำพัง จะใช้วิธีทยอยบริจาคตามตู้ที่วัดเปิดรับก็ได้

 

---ตามปกติถ้าถวายแบบชาวบ้านธรรมดา ก็อาจมีเครื่องของสำคัญและจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แชมพู ใบมีดโกน ผงซักฟอก นอกจากนั้น จะเสริมอะไรเข้าไปก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัย ขอให้เพ่งประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเป็นหลัก การซื้อของด้วยอาการหยิบฉวยถังที่ใส่ของไว้แล้วนั้น ใจจะไม่รู้ถึงประโยชน์ของของแต่ละชิ้น และโดยมากปัจจุบันมีการ ‘จับยัด’ ของคุณภาพต่ำแบบมั่วๆ นำมาวางขายแก่ผู้ไม่ทราบเบื้องลึกเบื้องหลัง ฉะนั้น เดินเลือกของตามซูเปอร์มาเก็ตเอาเองได้เป็นดีที่สุด

 

---๒)คำว่า ‘ถวายสังฆทาน’ หมายถึง การถวายแด่หมู่สงฆ์โดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่พระรูปหนึ่งรูปใด คือ กำหนดใจไว้ว่าของที่ถวายนี้จะมีพระรูปใดเป็นผู้นำไปใช้สอย ก็สุดแท้แต่จะมีการแบ่งสรรปันส่วนกันในหมู่ของพวกท่าน ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ที่นางสุภัททานิมนต์พระเรวตะและภิกษุอื่นอีก ๗ รูป มารับภัตตาหาร เดิมทีทานนั้นเป็นทานแบบเจาะจง ไม่เป็นสังฆทาน พระเรวตะให้นางสุภัททาตั้งจิตเสียใหม่ว่า นี่คือ การถวายแด่หมู่สงฆ์ คือ ดูแค่ผ้าเหลือง ไม่ต้องดูหน้า เท่านั้น ทานแบบเจาะจงก็เปลี่ยนเป็นสังฆทาน คือ ให้แบบไม่เลือกหน้าทันที ซึ่งก็จะมีอานิสงส์ต่างกันเป็นล้นพ้น


---เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างว่า ถ้านิมนต์พระ  ๑๐๐ รูป มารับสังฆทาน โดยที่เรารู้จักพระทั้ง ๑๐๐ รูป นั้น และกำหนดจำเพาะว่า ของของเราจงเป็นของพระเหล่านี้เท่านั้น นี่ไม่เรียกว่า เป็นสังฆทาน แต่หากตอนใส่บาตรตอนเช้ามีใจคิดถวายแด่สงฆ์โดยไม่เลือกหน้า ไม่ทราบว่าจะเป็นพระรูปไหนโคจรมารับ อย่างนี้เรียกว่า เป็นสังฆทาน


---อย่างไรก็ตามสังฆทานที่นำไปให้ถึงที่นั้นมีผลมากกว่า เพราะสะท้อนให้เห็นว่ามีใจศรัทธา มีความเคารพในสงฆ์ มีจิตคิดอนุเคราะห์ไม่อยากให้ท่านลำบากเดินทาง ข้อนี้ขอให้ทราบไว้เท่านั้นว่า จะนิมนต์พวกท่านมารับที่บ้านหรือไปถวายเองไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ใจไม่เลือกจำเพาะเจาะจงเป็นหลัก


---๓)คำว่า ‘สงฆ์’ หรือ ‘สังฆะ’ นั้น จะมุ่งหมายเอาการชุมนุมภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ที่ต้องเป็นตัวเลขนี้ เพราะสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่ำกว่านี้จะประกอบสังฆกรรมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากไปถึงวัดแล้วหาพระได้เพียงรูปเดียว จะถวายฝากท่านไว้โดยมีเจตนาให้ของเหล่านั้น เป็นสมบัติของสงฆ์จะได้หรือไม่ ต้องตอบว่า "ได้" เพราะกรรมทุกอย่างตั้งต้นที่จิตคิด จิตคิดอย่างไรสำคัญที่สุด


---ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับการถวายแบบไม่เลือกหน้า ไม่เลือกจำนวนชัดๆ ได้แก่ การปลูกกุฏิเพื่อเป็นที่อยู่ของพระและสามเณร โดยไม่สนใจว่าพระหรือเณรใดจะได้มาอาศัยอยู่บ้าง ขอเพียงกำหนดไว้ว่าให้อยู่ในเขตวัด และพระเณรใดจะมาใช้ประโยชน์ได้ก็นับว่าสมประสงค์แล้ว


---๔)เรื่องพิธีรีตองในการถวายสังฆทาน อย่างเช่น การกรวดน้ำ นั้นไม่ได้มีผลให้กระบวนการถวายสมบูรณ์หรือบกพร่องแต่อย่างใด ตามธรรมเนียมอันเป็นข้อวินัยสงฆ์นั้น ต้องมีชาวบ้านกล่าวถวายและประเคนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และท่านรับประเคนกับมือ หรือให้ผู้แทนรับไว้เท่านั้น พูดง่ายๆ ฝ่ายชาวบ้านผู้ให้ ได้ถวายสังฆทานโดยอาการครบ ๓ คือ ด้วยใจคิด ด้วยปากเอ่ยวาจา และด้วยกายยกของประเคนแล้ว ถือว่าสมบูรณ์ที่ตรงนั้น อย่าไปกังวลเรื่องความต่างระหว่างธรรมเนียมของแต่ละวัด อย่าไปพะวงว่าเราท่องบทสวดถวายไม่ชำนาญ ปัจจุบันพระท่านมักช่วยเหลือด้วยวิธีต่างๆ เช่น เตรียมหนังสือมนต์พิธีให้ หรือสวดนำด้วยตัวท่านเองบ้าง

 

---นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำพิเศษเพื่อให้การถวายสังฆทาน ให้ผลรวดเร็วและหนักแน่นชนิดเห็นทันตาในปัจจุบัน คือ ลองตระเวนถวายไม่เลือกที่ เพื่อให้จิตเปิดแผ่ออกไปเต็มที่ไม่อึดอัดคับแคบ ขอแนะให้กำหนดบ้านตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วกำหนดวัดทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกให้ครบ ๔ ทิศ จากนั้น ตระเวนถวายสังฆทานวัดละ ๔ ชุด  เว้นห่างไม่เกินแห่งละอาทิตย์  จะรู้สึกถึงความสมดุลแห่งจิต  ที่กระจายไปโดยปราศจากความลำเอียง ไม่ติดที่  ไม่เกาะเกี่ยวกับพระรูปใดรูปหนึ่ง  ที่ตรงนั้นจะรู้สึกถึงความหมายของการถวายทานแด่สงฆ์ขึ้นมาจริงๆ จังๆ รวมทั้งสัมผัสความสว่างไสวแห่งกองบุญอันเรืองโรจน์โชติช่วงออกมาจากภายใน

 

*กรรมที่ทำให้เกิดความต่างระหว่างคนรวย


---แม้จะเป็นบุคคลร่ำรวยเหมือนๆ กัน แต่คนรวยก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน แตกต่างกันออกไปมาก บางทีชัดมากจนเกินกว่าจะเชื่อว่าเป็นความบังเอิญ ขอจำแนกเป็นหลักๆ ตามที่สงสัยกันทั่วไปดังนี้

 

*๑)ความรวยแบบได้มาอย่างที่คาดคิด


---บางคนที่ได้รับฉายาว่าเป็นพ่อมดในวงการธุรกิจการเงิน เพราะเป็นผู้มีสายตาแหลมคมราวกับมีตาทิพย์รู้อนาคต พยากรณ์ถูกไปหมดว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร พลิกผันได้แค่ไหน ทำให้ลงทุนแทบไม่เคยพลาด เป็นผู้ชนะตลอดกาลในเกมการเก็งกำไร


---ความรวยชนิดนี้ เป็นผลมาจากการอยู่ใกล้ผู้ทรงคุณ เช่น นักบวชในลัทธิหรือศาสนา ที่เพียรทำความดี มีใจพยายามพรากจากกาม แล้วเมื่อท่านขอก็ให้ตามที่ท่านขอ หรือบางทีก็มีใจนึกครึ้ม ท่านขอแค่สิบแต่เกิดอยากให้เป็นร้อยเป็นพัน อย่างนี้ผลยิ่งไพบูลย์ คือ เก็งกำไรไว้ประมาณหนึ่ง ผลออกมากลับท่วมท้นจนขนลุก หากทำทานแบบใจใหญ่เป็นครั้งๆ ก็ได้ประหลาดใจเป็นครั้งๆ หากใจใหญ่อยู่เสมอก็ได้ผลเสมอๆ ส่วนพวกที่อยู่ใกล้นักบวชดีๆ แล้วไม่เคยให้ตามที่พวกท่านขอ ก็มักทำมาค้าขายไม่ค่อยขึ้น คิดอะไรสมเหตุสมผลแค่ไหนก็ไม่ได้อย่างใจนึกสักเท่าไหร่


---นอกจากนั้น ยังมีความรวยแบบปานกลางหรือค่อนข้างสูงที่ได้มาจากการเป็นลูกจ้าง ที่กินเงินเดือนประจำสม่ำเสมอ ความรวยประเภทนี้เป็นผลมาจากการให้ทานอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นทานในสัตว์หรือผู้ต่ำต้อย บุญจะส่งให้ได้งานดีพอควร แต่หากเป็นทานในนักบวชผู้ทรงศีล บุญจะส่งให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูง ต่อให้การศึกษาต่ำก็ได้เงินเดือนดีๆ สูงเกินระดับเฉลี่ยไปมาก

 

*๒)ความรวยที่ไม่อาจพยากรณ์ความแน่นอน


---บางคนเจอกับเหตุการณ์ท่าดีทีเหลวเป็นประจำ นึกว่าจะได้กลับไม่ได้ ไม่นึกว่าจะได้กลับได้ ขนาดที่ว่าแน่ๆ เช่น  ฝ่ายการตลาดของบางบริษัทวางแผนอย่างดิบดี ใช้ทุนรอน ใช้เวลาวิจัย ใช้กำลังคนมากมาย แต่ท้ายที่สุดกลับต้องงุนงงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคตัวจริง ว่าเหตุใดจึงไม่เหมือนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเอาเลย พูดง่ายๆ พอสินค้าออกวางตลาดจริง เจ๊งไม่เป็นท่า ทั้งที่ตอนทดลองกับกลุ่มผู้บริโภคตัวอย่างแล้ว ชอบใจกันมากมาย แต่บางทีนึกว่าทำสินค้าขัดตาทัพไปพลางๆ ลงทุนน้อย ไม่หวังกำไรตอบแทนมาก กลับมีใครต่อใครแห่ซื้อกันล้นหลามชนิดมืดฟ้ามัวดิน


---ความรวยชนิดนี้ เป็นผลมาจากการเป็นนิสัยไม่อยู่กับร่องกับรอย โดยเฉพาะเกี่ยวกับความคิดให้ทาน บางทีหลอกให้คนเขารอเก้อเล่นเสียอย่างนั้น บางทีโลเลกลับไปกลับมาเดี๋ยวอยากให้  เดี๋ยวไม่อยากให้ บางทีนึกอยากให้ดีใจหรือประหลาดใจก็เทกระเป๋าให้แทบเกลี้ยง บางทีก็สำนึกเห็นขึ้นมาว่า ไม่ควรผิดคำพูดกับคนอื่น ความคิดที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่อาจพยากรณ์ได้นี้ ส่งผลชัดในชาติที่ผลทานงอกเงย หรือในชาติที่เป็นพ่อค้า ผลกำไรตอบแทนเอาแน่เอานอนไม่ได้  ส่วนความรวยที่แน่นอนและสามารถพยากรณ์ได้ จะมาจากการทำทานแบบพูดคำไหนคำนั้น หรือกระทั่งคิดอย่างไรทำตามนั้น ซื่อสัตย์แม้กระทั่งกับความคิดของตัวเอง อย่าต้องกล่าวถึงเมื่อให้สัญญากับผู้อื่นไว้

 

*๓)ความรวยที่ได้มายาก


---บางคนต้องลำบากมากกว่าจะรวยได้ เรียกว่า หืดจับ หรือรอจนแก่ กว่าจะได้ลิ้มรสของความมานะพยายามทั้งชีวิต


---ความรวยชนิดนี้ เป็นผลมาจากความขยันทำงาน หมั่นเก็บออม และมีสติปัญญาเพียงปานกลางหรือเล็กน้อยในการทำงาน แต่อดีตชาติเคยเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ค่อยทำบุญสุนทาน กว่าจะทำแต่ละที ยากเย็นแสนเข็ญ อาจทำเพราะเสียไม่ได้ที่โดนคนตื๊อ หรืออาจทำเพราะสงสารใครจับใจจริงๆ


---แต่ขอให้เข้าใจด้วยว่า ถ้าเคยถึงขั้นตระหนี่ระดับพาล ดีแต่กีดขวางญาติพี่น้องที่อยากทำทาน พูดจาถากถางให้คนเขาเสียกำลังใจได้ลงคอ อันนี้ไม่ใช่แค่ยากที่จะรวย แต่จะเข้าขั้นเกิดมายากจนข้นแค้น หาเสื้อผ้าและเครื่องอยู่ได้ลำบาก หาความสนุกสนานบันเทิงเริงใจได้ยาก พูดง่ายๆ ว่า ถ้าโชคดีเป็นมนุษย์ก็ต้องระเห็จไปอยู่แถวๆ เอธิโอเปียโน่น หรือถึงมีสิทธิ์เกิดในแดนศิวิไลซ์ ก็อาจต้องเดินเท้าเปล่าอยู่ริมถนนเป็นส่วนใหญ่

 

*๔)ความรวยที่ต้องเกลือกกลั้วกับธุรกิจเลวร้ายหรือคนร้ายๆ


---บางคนร่ำรวยมากก็จริง แต่ทั้งชีวิตไม่ค่อยเป็นสุขกับเงินทองข้าวของที่มี เพราะมัวแต่เกร็ง ใจต้องคอยระแวดระวัง ว่าอาจถูกลอบสังหารได้ทุกเมื่อ ทั้งจากคู่แข่งที่เป็นมาเฟีย หรือกระทั่งคนใกล้ชิดที่อาจเป็นหอกข้างแคร่ เขาอาจเกิดมาท่ามกลางธุรกิจสกปรก เช่น ค้าอาวุธ ค้าสุรา ค้ายาพิษ ค้าชีวิตสัตว์หรือมนุษย์


---ความรวยชนิดนี้ เป็นผลมาจากการที่เคยยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจสกปรกเทือกเดียวกันมาก่อน เมื่อใช้กรรมในอบายภูมิแล้ว ยังพอมีบุญมาเกิดใหม่ในภพมนุษย์ ก็จะต้องเวียนว่ายในวงจรอุบาทว์เดิม แบบหนีไปไหนไม่รอด


---เป็นที่น่าสังเกตว่า คนในแวดวงธุรกิจที่แปดเปื้อนมลทินนั้น ไม่ใช่ว่ามีจิตใจเลวร้าย ขาดสำนึกผิดชอบชั่วดีเหมือนผู้ร้ายในหนังเสมอไป ตรงข้าม บางคนชอบทำบุญ และมีใจดิ้นรนอยากเป็นคนดีในสังคมอย่างมาก บางคนพยายามช่วยเหลือสังคม ทำบุญสร้างวัดวาอารามใหญ่โต เป็นการชดเชยความรู้สึกด้านลบ ที่ทำอาชีพอันเป็นบาป ผลบุญที่เขาทำในระหว่างมือเปื้อนบาปนั้น ส่งผลให้ร่ำรวยได้ในชาติต่อๆ มา แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปอยู่ท่ามกลางธุรกิจดิบๆ เถื่อนๆ ร่ำไป


---อีกประการหนึ่ง ความรวยชนิดนี้ อาจเป็นผลมาจากการให้ทานที่ไม่บริสุทธิ์ กล่าวคือ ของที่ได้มาให้ทานหรือถวายสังฆทานนั้น ได้มาโดยไม่สุจริต อย่างเช่น ตำนานโรบินฮู้ด ปล้นทรัพย์คนรวยมาแจกจ่ายคนจนอะไรทำนองนั้น

 

*๕)ความรวยที่ได้มาแบบลาภลอย


---บางคนเกิดมายากจน แต่มักมีลาภลอยประเภทซื้อหวยรวยลอตเตอรี่ หรืออยู่ๆ ก็มีคนตกรางวัลให้ด้วยเหตุเพียงทำดีเล็กๆ น้อยๆ แล้วเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือบังเอิญเข้าตากรรมการอย่างไม่คาดฝัน


---ความรวยชนิดนี้ มาจากการให้ทานแบบไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน เช่น เดินไปเจอขอทานในต่างถิ่น ก็คิดอยากให้เศษสตางค์ หรือเดินทางกลางป่าพบพระธุดงค์ถึงกับนำอาหารที่เตรียมมาเพื่อตนเองถวายท่านหมดแบบไม่เสียดมเสียดาย ทานชนิดนี้เป็นการให้แบบที่ส่งลาภลอยให้คนอื่น จึงสะท้อนกลับมาเป็นลาภลอยไม่คาดฝันเช่นกัน


---ชาวบ้านป่าที่อาศัยอยู่ในเขตพระธุดงค์โคจร เป็นระยะ มักได้ทำบุญประเภทนี้ คือ ร้อยวันพันปีอาจไม่ค่อยชอบทำบุญทำทาน หรือขาดโอกาสทำบุญทำทาน แต่ปะเหมาะเคราะห์ดี เกิดเจอพระธุดงค์ท่านผ่านทางมา แล้วมีใจปลาบปลื้มยินดี ขนข้าวของที่มีติดตัว ให้ท่านมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากเผอิญพระธุดงค์ท่านเป็นผู้สำเร็จธรรม ก็มักได้ผลเป็นลาภลอยก้อนใหญ่  เช่น ลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑


---เฉพาะกรณีชาวบ้านป่าทำบุญกับพระธุดงค์นี้ หากเห็นพระแล้วเกิดจิตคิดเลื่อมใส อยากทำทานทันที ก็มักได้ลาภลอยตั้งแต่ต้นวัยและเป็นลาภใหญ่ หากเห็นแล้วคิดชั่งใจอยู่เล็กน้อยว่า จะให้ดีหรือไม่ให้ดี จากนั้นจึงถวาย ก็มักได้ลาภลอยประมาณกลางวัยและเป็นลาภปานกลาง แต่หากเห็นแล้วชั่งใจอยู่นานว่าจะเอาอย่างไรกับพระรูปนี้ จากนั้นจึงถวาย ก็มักได้ลาภลอยเอาปลายชีวิตและเป็นลาภเล็กน้อย

 

*๖)ความรวยที่ทำให้กลายเป็นโรคไม่รู้จักพอ


---หลายคนรวยก็แล้ว ประสบความสำเร็จทางธุรกิจสม่ำเสมอก็แล้ว จับอะไรเป็นทองไปหมดก็แล้ว แต่ยังไม่อิ่มไม่พอ เป็นทุกข์ทางใจอยู่ไม่ขาด กลัวมีจะหมด กลัวธุรกิจไม่ทำเงินเพิ่ม กลัวความล้มเหลวในอนาคต ฯลฯ ในหมู่เศรษฐีจะมีโรคทางใจชนิดนี้อยู่เป็นปกติ แต่คนฐานะต่ำกว่าจะคาดกันไม่ถึงว่าอย่างนี้ก็มีด้วย


---ความรวยที่เป็นเหตุแห่งโรคทางใจนี้ เป็นผลมาจากกรรมทั้งปัจจุบันและอดีต ว่ากันเรื่องกรรมในปัจจุบันก่อน ตั้งต้นจากความโลภธรรมดาๆ คือ ใจคนเราส่วนใหญ่มักละโมบเกินตัว อยากมีเกินกว่าที่มีอยู่เป็นปกติกันทั้งนั้น จากกฎธรรมดาข้อนี้ จะเป็นคำตอบว่า ทำไมมีแล้วไม่รู้จักพอเสียที ต่อให้ครองโลกทั้งใบ ก็อยากได้ดาวอังคารไว้ในมืออีกสักดวง


---ความโลภแบบไร้ขีดจำกัดนั้น เป็นผลมาจากการเป็นคนไม่รู้จักให้ ไม่คิดเฉลี่ยเงินไปอุปถัมภ์สังคม หรือไม่รู้จักสละแรงกายแรงใจไปช่วยคนอื่นเสียบ้าง หรือบางทีทำก็จริง แต่ไม่พอดีสัดส่วนกับทรัพย์สมบัติที่มี จึงไม่เกิดความชุ่มฉ่ำเบิกบานใจอย่างแท้จริง เพราะที่ให้ไปเป็นแค่เศษเดนของตนเท่านั้น


---ว่ากันเรื่องกรรมในอดีตชาติ ได้แก่ ทานที่เจตนาหวังผลกำไรตอบแทน หรือเจือด้วยความคิดแก่งแย่งชิงดี หรือเจือด้วยความอยากเอาหน้า พูดรวบรัดสั้นๆได้ว่า ถ้าให้ทานบนพื้นฐานของความโลภเป็นประจำ ก็จะทำให้รวยจริง แต่ได้โรคทางใจพกพามาเป็นของแถมด้วย


---ทางที่ดีถ้ารู้ตัวว่ามีเชื้อหรือมีนิสัยอันเป็นเหตุของโรคทางใจ ก็ควรอธิษฐาน ขอให้สละความโลภได้เหมือนสละทรัพย์สิ่งของ หรือเหมือนถ่มเสลดออกจากปาก ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ อยากทำทานชะล้างสิ่งโสโครกทางใจประการเดียว พอฝึกให้ทานด้วยอาการเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะพบความน่าอัศจรรย์ยิ่งว่า  โรคทางใจไม่รู้จักพอนั้น ละลายหายสูญเป็นปลิดทิ้ง

 

*๗)ความรวยที่ถึงความหายนะด้วยอุบัติภัยต่างๆ


---บางคนรวยแล้วไม่เป็นสุขเพราะมีเหตุที่น่าเห็นใจ คือ สมบัติพัสถานมักไม่ค่อยอยู่ดี ต้องมีอันเป็นไปต่างๆ ก่อนกาลอันควรเสมอๆ ด้วยเหตุอันสุดวิสัย ควบคุมป้องกันไม่ได้


---ความรวยที่มีทรัพย์สินสำคัญๆ ถึงความวิบัตินั้น มาจากการที่เคยลักทรัพย์มาก่อน ถ้าเคยลักทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ ทรัพย์สินก็จะประสบความวิบัติเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าลักทรัพย์แบบที่ทำให้เจ้าของเดือดเนื้อร้อนใจ ทรัพย์สินก็จะประสบความวิบัติอย่างมโหฬาร


---สำหรับคนรวยที่รวยทีไร แทบหายนะด้วยอุบัติภัยทุกที ควรสันนิษฐานว่า เคยปล้นครั้งใหญ่มาก่อน อาจในรูปของการปล้นชาติแบบนักการเมือง หรืออาจในรูปของการเคยยักยอกทรัพย์ของวัด เพราะกรรมที่ทำกับประชาชนหรือกับวัดนั้น เวลาเผล็ดผลแล้วจะหนักหน่วงและร้อนแรงมาก ให้ผลยืดเยื้อราวกับไม่มีวันสิ้นสุด นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะที่รวยได้นั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยประกอบกันหลายอย่าง เมื่อเกิดในชาติที่จำไม่ได้ว่าเคยฉ้อโกงประชาชนหรือยักยอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ย่อมงงงัน ทดท้อ ว่าเหตุใดทรัพย์ที่หามาได้จึงไม่อาจตั้งอยู่นาน

 

*บทสำรวจตนเอง


---ถ้าเรากำลังรวยอยู่ ก็บอกตนเองอย่างมั่นใจว่าเป็นเพราะความขยัน หมั่นออม ประกอบกับทานและศีลในอดีต ถ้ากำลังยากจนก็เป็นตรงข้าม แต่จะอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่า เรากำลังสร้างเหตุแห่งความมั่งมีไว้ในอนาคตอันใกล้และอนาคตที่ยืดยาวต่อไปเบื้องหน้าหรือเปล่า

 

---๑)ถามตัวเองเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสถามทารุกัมมิกะ ว่าเรายังเป็นผู้ทำบุญทำทานอยู่หรือ


---๒)หากเป็นผู้ที่ยังทำทานอยู่ ลองสำรวจว่า เราให้ด้วยอาการทางใจอย่างไร วิธีคิดในการให้ทานเป็นอย่างไร


---๓)ทบทวนดีๆ ว่าเราเป็นผู้รักษาศีล ไม่เป็นผู้ลักทรัพย์ ไม่เป็นผู้ฉ้อฉล ไม่เป็นผู้เล็งละโมบคิดเอาสมบัติผู้อื่นมาเป็นของตนโดยมิชอบหรือไม่

 

*สรุป


---ผู้มีปัญญาบางท่านกล่าวไว้ตามจริงว่า  "ความจน" เป็นต้นทางแห่งกรรมชั่วได้มากมายหลายหลาก  เพราะเมื่อจนกรอบ ก็ยากที่จะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมดีๆ  ยากที่จะไม่เจอสภาพบีบคั้น ให้ทำผิดคิดร้าย ยากที่จะหลีกหนีสิ่งยั่วยุนานัปการ มีความโน้มเอียงที่จะเล็งโลภอยากได้ของจำเป็นบ้าง ของที่ยังไม่มีแต่น่ามีบ้าง ตลอดไปจนกระทั่งของที่ไม่ต้องมีแต่เกิดอยากจะลองมีบ้าง


---บางคนมองว่า  ความรวยเป็นเรื่องน่ารังเกียจ  อาจหัวก้าวหน้าขนาดเป็นผู้นำในการปฏิวัติสังคม  ไปสู่ระบอบการปกครองใหม่  ให้ทุกคนมีสมบัติที่จัดแบ่งไว้อย่างเสมอภาค แล้ว ก็มักพบความจริงว่าเป็นไปไม่ได้ จะมีข้อจำกัดของระบอบการปกครองที่ต้องให้อำนาจบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไว้เสมอ  ซึ่งถ้าเมื่อใดอำนาจตกอยู่ในมือทรราช  เมื่อนั้นอย่าว่าแต่ความเสมอภาค กะแค่สิทธิ์ในการร้องบอกว่า ฉันกำลังเดือดร้อน ฉันกำลังจะอดตายยังไม่มี


---ที่โลกเป็นเช่นนี้ ก็เพราะเบื้องหลังความรวยความจน  ไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญเกิดที่นั่นที่นี่  แต่สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทุกคนมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นผู้จำแนกชั้นวรรณะ และความร่ำรวยก็บันดาลขึ้นจากความสว่างของ ‘ทานจิต’ และ ‘ศีลจิต’ เท่านั้น ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือกว่านี้


---อายุคนนั้นสั้น เก็บของไว้กับกายได้เดี๋ยวเดียว แต่ถ้าฉลาดในการเดินทางไกล แจกสิ่งที่มีเป็นส่วนเกินให้กับคนอื่นไป กระแสทานจะเป็นกระแสธารที่โอบอุ้มเราแบบไม่ร้อยรัด และพัดพาเราไปบนเส้นทางที่เยือกเย็น มั่งมีศรีสุขยืดยาวเกินอายุของกายนี้ไปมาก


---ด้วยความไม่รู้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า เกิดหนเดียวตายหนเดียว ความไม่รู้ที่ฝังแน่นนี้ ทำให้เราคิดจะเอาๆ ท่าเดียว เมื่อพบพุทธศาสนาแล้ว ทราบเบาะแสของความอัตคัดขัดสนแล้ว ก็สมควรเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเสียใหม่ ไม่ต้องถึงขนาดจะให้ๆ ท่าเดียว แต่ให้บ้างเพื่อเป็นเสบียงไว้เลี้ยงตัวต่อไปก็ยังดี.





........................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 28 กันยายน 2558

แก้ไขแล้ว ปานรดา


Tags :

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

*

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท20/04/2024
ผู้เข้าชม6,667,630
เปิดเพจ10,432,855
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view